Skip to content

คุณ อดุลชัย รักดำ สนับสนุน ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล

ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ แต่จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมาทำให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อโควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ภาคการท่องเที่ยวจึงต้องได้รับการฟื้นฟูไม่เพียงแต่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อลมหายใจให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวให้กลับมายืนได้ด้วยตนเองอีกครั้ง คนต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักนี้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งผ่านการร่วมเป็นคณะทำงานต่าง ๆ ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้อย่างไรเราจะพาไปฟังในมุมมองของคนต้นแบบในวันนี้กัน

จากความคิดยึดเป็นอาชีพที่สองสู่การก้าวเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวเต็มตัว

คุณอดุลชัย รักดำ หรือ คุณยุทธ์ คือคนต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักกันในวันนี้ พื้นเพเดิมของคุณยุทธ์เติบโตมาในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่ตรังก่อนจะย้ายไปเรียนต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนวัดสระเกศและก้าวไปศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาในสายบริหารที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่นั้นคุณยุทธ์เคยทำงานในภาคการท่องเที่ยวมาก่อนโดยการเข้าร่วมเป็น staff ที่บริษัทรุ่งเรืองทัวร์ในตำแหน่งผู้ช่วยมัคคุเทศก์โดยเหตุผลที่เข้ามาทำงานนี้ก็เพราะอยากมองหาอาชีพที่สองให้กับตนเอง

ด้วยความชอบในภายหลังจึงเข้ารับการอบรมมัคคุเทศก์รุ่นที่ 1 อย่างจริงจังที่ราชภัฏสวนดุสิตในขณะนั้นจนได้รับบัตรประจำตัวมัคคุเทศก์จึงเริ่มต้นเป็นมัคคุเทศก์ตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างนี้คุณยุทธ์ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยเช่นกัน

ในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซบเซาคุณยุทธ์จึงได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชรวมถึงได้เคยเข้าร่วมโครงการอบรมมัคคุเทศก์ที่นครศรีธรรมราชกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

เสน่ห์ของการเป็นมัคคุเทศก์ที่คุณยุทธ์อยากนำเสนอ

คนภายนอกอาจสงสัยว่าอาชีพมัคคุเทศก์มีเสน่ห์ที่น่าสนใจอย่างไร แต่สำหรับในมุมมองของคุณยุทธ์นั้น การเป็นมัคคุเทศก์มีเสน่ห์ตรงที่การได้พบปะผู้คนมากมายทำให้ต้องฝึกให้ตนเองเป็นคนที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองในเรื่องเวลา รับผิดชอบต่อการจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในแต่ละทริปและที่สำคัญที่สุดคือการรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่นที่มาร่วมคณะทัวร์กับเรา สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ของมัคคุเทศก์ที่คุณยุทธ์ต้องการสื่อออกมาให้คนภายนอกได้รับรู้

การจะเป็นมัคคุเทศก์ที่ดีได้นั้น คุณยุทธ์ให้ทัศนะที่น่าสนใจเอาไว้ว่าควรจะเป็นคนที่ช่างสังเกตพร้อมที่จะเรียนรู้และรับฟังคำชี้แนะ แนะนำจากผู้อื่นอยู่เสมอโดยในสายอาชีพนี้สามารถก้าวหน้าได้ใน 2 แนวทางคือการเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กรเอง หรือจะเป็นในด้านของมัคคุเทศก์ก็ได้เช่นกัน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ภาคการท่องเที่ยวเองก็ต้องมีการปรับตัว

ภาคการท่องเที่ยวในอดีตแตกต่างจากในปัจจุบันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในส่วนของมัคคุเทศก์ที่มีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเช่นการทำคลิปแนะนำการท่องเที่ยว การให้บริการด้านเทคโนโลยีแก่นักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวต้องปรับตัวให้ทันกระแส ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและความน่าสนใจให้กับธุรกิจมากขึ้น

ประสบการณ์ในด้านการทำงานเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยว

นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ตัวของคุณยุทธ์เองก็มีส่วนร่วมในโครงการที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราชในโครงการการอบรมนักสื่อความหมายซึ่งได้งบประมาณโครงการมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดทำเครื่องมือสื่อสารโดยความร่วมมือกับกระทรวง DE ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดภาคการท่องเที่ยว รวมถึงวิทยากรจาก ธกส. ที่เข้ามาให้ความรู้ในภาคการบริการและสินค้าผ่านระบบซอฟแวร์และนักเรียนรู้จาก DEPA เข้ามาช่วยต่อยอดในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Line OA เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมอบรมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ

  • นักศึกษาภาควิชาท่องเที่ยวภายในพื้นที่
  • เยาวชนที่ทำ CSR ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว
  • มัคคุเทศก์ที่มีบัตรประจำตัว
  • ผู้ประกอบการที่มีสินค้าด้านการท่องเที่ยว

โดยทั้ง 4 กลุ่มจะเข้ามาทำการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น

เรียนรู้จากภูเก็ต sand box นำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในจังหวัด

คุณยุทธ์ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการภูเก็ต sand box กับทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงทำให้ได้เห็นโมเดลการทำงานเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา โดยความร่วมมือกับ สสว. ช่วยนำร่องโครงการดังกล่าวขยายไปสู่เมืองท่องเที่ยวที่เป็นเมืองใหญ่ 10 เมือง โดยโครงการนี้จะเข้าไปช่วยในเรื่องของการ up-skill และ re-skill ให้กับผู้ที่ยังอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเป็นการติดอาวุธให้กับบุคลากรในสายการท่องเที่ยวให้กลับขึ้นมาได้อีกครั้ง โดยการเรียนรู้การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในอาชีพที่ตนทำ

ความร่วมมือทุกภาคส่วนคือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโต

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีหน้าที่เหมือนกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นเลขาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการนำข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการและบุคลากรในสายการท่องเที่ยวมานำเสนอให้ทางกระทรวงได้รับทราบ โดยสภาจะมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารร่วมกันเพื่อช่วยผลักดัน ดูแลและเป็นสื่อกลางระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ สำหรับในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็มีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำจังหวัดเข้ามาดูแลเฉพาะพื้นที่จังหวัด นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัด สมาคมท่องเที่ยวขนอม และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวลานชการวมถึงชมรมมัคคุเทศก์ประจำจังหวัดเข้ามาช่วยผนึกกำลังกันพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

การท่องเที่ยวหลังโควิดกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังโควิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นกัน โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่าในช่วงหลังกลุ่มทัวร์มีขนาดเล็กลง นักท่องเที่ยวไม่นิยมมาเป็นคณะใหญ่แต่จะมาในรูปแบบของกลุ่มเล็ก ๆ และเน้นมาเป็นครอบครัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังนิยมไปยังจุดที่มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น วิธีการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปและไม่ค่อยพบเห็น travel agency ไปรับนักท่องเที่ยวเหมือนดังแต่ก่อน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวด้วยเช่นกัน

ชุมชนจะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างไรในความเห็นของคุณยุทธ์

ในตอนท้ายคุณยุทธ์ได้ให้ความเห็นในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนเอาไว้อย่างน่าสนใจคือ นอกเหนือจากที่จะโปรโมทให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นก็จะต้องสนใจในเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวซ้ำหรือเกิดการแนะนำบอกต่อให้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วหน่วยงานในส่วนของมหาวิทยาลัยเองคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องต่างเข้ามาช่วยเป็นคณะทำงานในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว จึงควรมีการเผยแพร่ข้อมูลสู่บุคคลภายนอกในการชูจุดแข็ง จุดเด่นของท้องถิ่นของตนเองให้ภายนอกรับรู้และเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของคนในชุมชนก็จะช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวของตนได้อย่างแน่นอน

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ