Skip to content

ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาชีวิตให้มีศักยภาพ ไม่ใช่แค่การสร้างให้คนมีความรู้เท่านั้น หลายครั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเป้าหมายให้กับชีวิต การศึกษานั้นไม่มีวันสิ้นสุด ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่การศึกษานอกจากจะเปลี่ยนชีวิตแล้ว ในบทบาทของนักวิชาการการศึกษาได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปใช้พัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองและร่วมกันพัฒนาประเทศ รวมถึงผลงานในบทบาทของอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม นักวิชาการบริการสังคม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ความยากลำบากในวัยเด็ก เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตมีเป้าหมาย

ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช เกิดที่อําเภอเชียรใหญ่ นอกจากบทบาทหน้าที่ในการเป็นอาจารย์ อีกหนึ่งบทบาทที่คนนครฯ รู้จักคืออดีตนักการเมืองท้องถิ่น ปัจจุบันทำงาทั้งสายการศึกษาและภาคประชาสังคม เป็นคณะทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานภาคประชาสังคมของทุกจังหวัดภาคใต้

ดร. สุพัฒพงศ์ เติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพทำนา แม้ทางบ้านมีฐานะยากจนแต่ด้วยความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและการสนับสนุนจากคุณแม่ กลายเป็นแรงผลักดันให้ดร. สุพัฒพงศ์ มีความคิดที่อยากจะทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงทำตามความใฝ่ฝันของคุณแม่ที่อยากเห็นลูกเรียนจบระดับปริญญาเอก และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยให้ได้ เมื่อเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ได้เปลี่ยนความคิดอยากจะเป็นปลัดอำเภอ จึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขารัฐศาสตร์การปกครอง

ระหว่างที่เรียนนั้น ดร. สุพัฒพงศ์ ได้ทำงานควบคู่ไปด้วย จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลังจบการศึกษาได้ทำงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประมาณ 7 ปี ในระหว่างนั้นได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ควบคู่กับการทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ

ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก หลักสูตรรัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสยาม และเรียนทางด้านนิติศาสตร์ เพราะมีความใฝ่ฝันว่าเมื่อถึงวัยเกษียณอยากที่จะเปิดสำนักงานกฎหมายเพื่อประชาชน

นอกจากนี้ ดร. สุพัฒพงศ์ ยังผลงานทางวิชาการทั้งบทความในวารสารต่างๆ และหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น และยังเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน นำศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาบูรณาการกับงานภาคประชาสังคม ดร. สุพัฒพงศ์ มักจะบอกลูกศิษย์อยู่เสมอว่า ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนแค่ 10%  ที่เหลือต้องรู้จักไขว่คว้า เพราะองค์ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราเท่านั้น

การศึกษาเปลี่ยนชีวิต เป็นประตูนำไปสู่โอกาสต่างๆ

ดร. สุพัฒพงศ์ให้ความเห็นว่า การศึกษาทำให้ได้รับการยอมรับในสังคม ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสต่างๆ ให้เข้ามาในชีวิต  ดร. สุพัฒพงศ์เองก็มีความใฝ่ฝันว่าหากมีโอกาสก็อยากเป็นนักการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพัฒนาประเทศให้มากที่สุด ก่อนหน้านี้ดร. สุพัฒพงศ์ เคยมีโอกาสเป็นสมาชิกสภาจังหวัด การทำงานในตอนนั้นทั้งสนุกและมีอุปสรรค แต่ก็ยังอยากที่จะเดินหน้าต่อไปตามอุดมการณ์ แม้ตอนนี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองแต่ก็ยังลงพื้นที่ทำงานในฐานะนักการศึกษาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ในแง่ของความสำเร็จ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตของดร. สุพัฒพงศ์ ไปได้ไกลและอยากที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา หากจะให้พูดถึงความล้มเหลวในชีวิต ดร. สุพัฒพงศ์ มองว่าตัวเองพบกับความล้มเหลวมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่เคยมองว่าความล้มเหลวนั้นเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการใช้ชีวิต อย่าปล่อยให้มีความล้มเหลวทางความคิดมาทำลายความฝัน ดร. สุพัฒพงศ์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยเหลือสังคมได้มากเท่านั้น นำความล้มเหลวมาเป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย อะไรคือสิ่งที่เราอยากเป็น อะไรคือสิ่งที่เราไม่อยากเป็น หาความชอบของตัวเองให้เจอและทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ดร. สุพัฒพงศ์ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเองมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น แต่การทำงานกับชุมชนจำเป็นจะต้องศึกษาศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือ ต้องพร้อมรับความคิดเห็น คำวิจารณ์อยู่เสมอ จากประสบการณ์การทำงานการเมืองท้องถิ่นและความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา เมื่อนำมาถ่ายทอดแก่นักศึกษาช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น การทำงานภาคประชาสังคม ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา สำหรับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น ต้องรู้ว่าองค์ความรู้ประเภทไหนที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับชุมชน เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็งก็จะเกิดเป็นภาคประชาชน

จากนั้นเกิดเป็นภาคประชาสังคมที่มีหน่วยงานภาครัฐมารองรับโดยการขับเคลื่อนของชุมชน จึงเป็นที่มาของชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ที่มี ดร. สุพัฒพงศ์ เป็นที่ปรึกษาการบูรณาการออกแบบกระบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชน ยกตัวอย่าง กองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละ 1 บาท ชาวบ้านออมเงินวันละ 1 บาท  หน่วยงานท้องถิ่นสมทบ 1 บาท และหน่วยงานรัฐบาลสมทบ 1 บาท รวมเป็น 3 บาทต่อวัน ช่วยให้ชาวบ้านได้รับสวัสดิการตามเงื่อนไขของกองทุน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักการเมือง

บทบาทของนักพัฒนาชุมชน ที่นำองค์ความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ดร. สุพัฒพงศ์ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรให้อำเภอเชียรใหญ่ที่เป็นบ้านเกิดมีการพัฒนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยกฎระเบียบ กระบวนการของภาครัฐที่มีหลายขั้นตอน ส่งผลให้การแก้ไขปัญหา ปรับปรุงพัฒนาท้องถิ่นนั้นใช้เวลาดำเนินการนานมาก เฉพาะถนนในพื้นที่เขตเทศบาลก็มีหลายส่วนที่รับผิดชอบ เช่น อบต.  อบจ. กรมทางหลวงชนบท ถนนส่วนบุคคล เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับการเมือง นี่จึงเป็นตัวจุดประกายให้ลาออกจากบทบาทเจ้าหน้าที่ภาครัฐสู่นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองหลายอย่างของ ดร. สุพัฒพงศ์ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยังมีระบบอำนาจความชอบธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายต่างๆ

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนักวิชาการทางการเมือง ดร. สุพัฒพงศ์มีความเห็นว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองหลายคนมักจะเบือนหน้าหนี แต่การเมืองนั้นเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แทรกอยู่ในทุกมิติของชีวิต แทรกอยู่ในศาสตร์ทุกแขนง อย่างการทำงานในองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการเมือง  ไม่ใช่แค่อำนาจเท่านั้น  การเจรจาต่อรอง การค้าขาย เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การศึกษา ล้วนได้รับอิทธิพลทางการเมืองทั้งสิ้น

ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างประเทศให้ก้าวหน้า การศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ ไม่ใช่แค่วัยเรียนเท่านั้น ในวัยทำงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หากเรามีองค์ความรู้ มีทักษะความชำนาญทางวิชาชีพจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยิ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้มีศักยภาพในการทำงาน กลายเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพทั้งต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ

ติดตามคลิปสัมภาษณ์  ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ