Skip to content

ตำนานถ้ำขุนคลัง และเรื่องเล่าจากบันทึกของนักสำรวจมือสมัครเล่น

ตำนานถ้ำขุนคลัง และเรื่องเล่าจากบันทึกของนักสำรวจมือสมัครเล่น
โดย ธีรยุทธ บัวทอง

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่เขาโพรงเสือ (วันที่ 20-21 กรกฎาคม 2562) ผมก็ได้ออกเดินทางไกลไปยังอำเภอนบพิตำ พื้นที่แห่งหุบเขาและกำแพงกั้นลมทางด้านทิศตะวันตกของเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้เส้นทางทะลุเข้าสู่ถนนสายพรหมคีรี-กรุงชิง เดิมทีการเดินทางใช้เวลาเพียง 45-60 นาที แต่ช่วงที่เราเดินทางไปนั้น กรมทางหลวงกำลังปรับปรุงถนนพอดิบพอดี ผนวกกับฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นไถลจากเนินเขา ทำให้การเดินทางครั้งนี้ต้องใช้ความระมัดระวังและเวลานานมากกว่าเดิม

วัดเปียน คือสถานที่แรกที่เราแวะ เนื่องจากสหายครีม ครูแห่งวัดเปียน ได้แนะนำให้เข้าไปพบกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อสอบถามข้อมูล ทำให้ทราบข้อมูลของพื้นที่กรุงชิงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวตำนานของถ้ำขุนคลัง ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

“…ที่มาของชื่อถ้ำขุนคลังนั้น เล่ากันว่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 สมัยอยุธยาเสียกรุงครั้งที่สอง ทำให้ขุนนางในวังพากันหลบลี้ออกจากเมือง หนึ่งในนั้นคือขุนคลังฤทธิเดช ผู้รับผิดชอบเงินท้องพระคลัง พร้อมพวกพ้อง และธิดาของเจ้าเมือง (ไม่ทราบแน่ชัดว่าคือใคร) หลบหนีลงมาทางใต้ อีกทั้งทรัพย์สินเงินทองมากมาย และได้ใช้ถ้ำแห่งนี้พักอาศัย จนกระทั่งเกิดไข้ห่า ทำให้ทุกคนจบชีวิตลง ส่วนเงินทองได้กล่าวเป็นหินงอกหินย้อย…”

นอกจากนั้นยังได้สนทนาภาษาธรรม และชื่นชมโบราณวัตถุที่ท่านเก็บไว้เป็นอย่างดี ยากแก่บุคคลภายนอกจะได้เห็น แต่คงด้วยชะตาที่ต้องกันจึงทำให้ผมและสหายโกบได้รับโอกาสดี ๆ เช่นนี้

สำหรับพื้นที่ของกรุงชิง (นบพิตำ) มีการค้นพบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องด้วยลักษณะพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหุบเขาสลับซับซ้อนเต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมในอดีตที่ยากลำบาก อีกทั้งในช่วงหลังถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวเข้าถึงยากขึ้นไปอีก ส่งผลให้โบราณวัตถุหลายชิ้นถูกแลกเปลี่ยนซื้อขายออกไปภายนอกจำนวนเยอะ ผนวกกับอาการกลัวกรมศิลปากร ทำให้การสำรวจไม่ค่อยครบถ้วนสมบูรณ์ และปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์น้อยกว่าความเป็นจริงมาก

การสนทนาดำเนินผ่านนานกว่าสองชั่วโมง จึงได้เวลาอันสมควรที่จะขออนุญาตกราบนมัสการลาท่านเจ้าอาวาส เพื่อออกเดินทางต่อไปยังถ้ำขุนคลัง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากวัดเปียนมากนัก ซึ่งเส้นทางในช่วงแรก ๆ เป็นพื้นถนนคอนกรีตขับสบาย หลังจากนั้นก็ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนลูกรัง มุ่งตรงไปยังเขาขนาดใหญ่อันตั้งอยู่ภายในสวนผลไม้ของชาวบ้านอีกเช่นเคย

ขับรถมาไม่นานก็พบกับปากถ้ำทางด้านทิศใต้ ซึ่งประจวบเหมาะกับสายลมที่พัดโชยกลิ่นมูลค้างคาวออกมาจากถ้ำชวนให้คลื่นไส้เป็นระยะ ๆ แต่นั้นก็ไม่สามารถหยุดยั้งความอยากรู้ของพวกเราทั้งสองคนได้ ผมจึงเร่งชวนสหายโกบเดินทางเข้าไปในถ้ำ ซึ่งมี 2-3 ทางให้เลือก แต่พวกเราตัดสินใจเลือกปากทางเข้าถ้ำด้านซ้าย เนื่องจากมีขนาดใหญ่สุด

เมื่อเดินเข้าไปภายในถ้ำ สามารถมองเห็นแสงสว่างจากปากถ้ำอีกฟากหนึ่ง ภายในมีการปรับพื้นที่และสร้างทางลาดพื้นซีเมนต์ปูกระเบื้องอย่างดี แต่ด้วยความมืดมิดจึงต้องอาศัยแสงสว่างจากไฟฉายช่วยส่องนำทาง ทว่าการเปิดไฟฉายนั้นส่งผลให้ค้างคาวบนผนังใกล้ศีรษะของพวกเราตื่นตกใจ จนบินออกมาหลายสิบตัว และดูเหมือนว่ายิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งไม่แน่ใจกับเส้นทางข้างหน้าว่าจะเจอกับฝูงค้างคาวหรืองูหรือไม่ จึงตัดสินใจเบี่ยงเส้นทางลงมาบนพื้นดินด้านล่าง ซึ่งโล่งและมองเห็นแสงสว่างจากปากถ้ำได้มากกว่า

ภายในถ้ำแห่งนี้ชาวบ้านเล่าว่าเคยพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน และเศษกระดูกมนุษย์ที่ได้นำมารวบรวมไว้

เดินไปได้สักครู่ก็ต้องหยุดชะงักอยู่บริเวณพื้นที่ต่างระดับ พวกเราจึงมองหน้ากันก่อนจะตัดสินใจเลี้ยวกลับมาสู่ปากถ้ำเพื่อหาเส้นทางอื่นอ้อมไปเสียดีกว่า

ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นส่งผลดีต่อซะด้วย เนื่องจากทำให้พบกับเส้นทางน้ำสายเล็ก ๆ ที่ใสจนสามารถมองเห็นพื้นดินและกรวดด้านล่าง ชาวบ้านเรียกกันว่า คลองปง ซึ่งกำลังไหลอ้อมเขาไปอย่างช้า ๆ และไหลเชื่อมต่อกับคลองกลาย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนามคมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเมืองนครศรีธรรมราช

ด้วยเห็นว่าน้ำตื้นเขินจึงกระโดดลงไปสัมผัสกับความเย็น พร้อมชำระล้างหน้าตากันอย่างสดชื่น จากนั้นจึงใช้สองมือสองเท้าปีนป่ายขึ้นจากลำธาร มุ่งเข้าไปในป่า บนพื้นที่ราบอันกว้างขวางที่เต็มไปด้วยต้นบุก จนกระทั่งพบปากถ้ำอีกทางหนึ่ง และกำลังก้าวย่างเข้าไปในถ้ำแห่งนั้นอีกครั้ง

“ชั๊บๆๆ…” (เสียงดังมาจากด้านหลัง) พวกเราต่างหันกลับไปดูด้วยความสงสัย เสียงนั้นไม่ใช่เสียงอื่นใด หากแต่เป็นเสียงของลุงคนหนึ่งกำลังถากหญ้าด้วยพร้าเล่มเก่า เพื่อเปิดทางซึ่งรกไปด้วยวัชพืชและเถาวัลย์

สืบเท้าเข้ามาจนถึงจุดที่สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน ผมและสหายโกบจึงเริ่มทักทายด้วยการกล่าวคำสวัสดี พร้อมพนมมือไหว้ด้วยความเคารพ แบบไทยๆ ก่อนจะเข้าสู่บทสนทนาถึงข้อคำถามเรื่องถ้ำขุนคลังอีกแห่งที่อยู่ใกล้กัน

ลุงชี้นิ้ว พร้อมเดินนำหน้าไปอย่างมุ่งมั่น ชายหนุ่มสองคนจึงไม่ลังเลที่จะเดินตามไป แต่ในใจก็คิดเพียงว่าแกคงไปชี้จุดบริเวณปากทางเข้าถ้ำให้เท่านั้น

แต่ทว่าเมื่อเดินไปเกือบสองร้อยเมตร ลุงหยุดอยู่กับที่พร้อมตั้งท่าเตรียมไต่ขึ้นไปตามทางอันจะนำเราขึ้นไปสู่ถ้ำด้านบน ซึ่งอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 20 เมตร ตอนนั้นพวกเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก จึงเร่งรีบติดตามไปอย่างใกล้ชิด จนปีนป่ายมาถึงจุดซึ่งเรียกว่าถ้ำ

ภายในถ้ำขุนคลังแห่งนี้มีความงดงามของหินปูนและมนต์เสน่ห์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ ลมพัดโกรกเย็นสบาย และได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอจากปากถ้ำทางทิศตะวันออก เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ปลอดภัยจากสัตว์ป่าและน้ำป่าไหลหลาก โดยข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่าได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวนหนึ่ง ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้

หลังจากชื่นชมบรรยากาศและสำรวจภายในถ้ำเสร็จสิ้น ลุงจึงนำกลับลงมาทางเดิม  และพามาชมถ้ำด้านล่างอีกครั้งหนึ่ง พร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการค้างศพภายในถ้ำ การเก็บมูลค้างคาว และสิงสาราสัตว์ในพื้นที่โดยรอบ

เมื่อดูเหมือนจะเสร็จสิ้นภารกิจ ลุงจึงขอตัวลาจากไป และด้วยความขอบน้ำใจ พวกเราจึงพนมมือไหว้ พร้อมกล่าวขอบคุณลุงขวยด้วยใจจริง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ จึงสันนิษฐานได้ว่าบริเวณถ้ำขุนคลังทั้งสองแห่งเคยเป็นแหล่งที่พักอาศัยถาวรของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหินใหม่ อย่างแน่นอน อาจมีอายุประมาณ 4,000 – 2,000 ปี โดยพึ่งพาแหล่งน้ำสายสำคัญ คือ คลองปงและคลองกลาย สำหรับการคมนาคม การเกษตรกรรม รวมทั้งติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์ในพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีอื่นซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง ส่วนการดำรงชีวิตยังคงมีการล่าสัตว์และหาผลไม้เหมือนเดิม แต่อาจพัฒนาด้านกสิกรรมขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบใกล้แหล่งน้ำเหมาะแก่การปลูกพืชพรรณธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพ