Skip to content

ครูเฟิร์ส ปิยะพัฒน์ รักษ์บางบูรณ์ แนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิต คนต้นแบบเมืองนคร

วัยมัธยมเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผู้ปกครองหลายคนมักกังวล ช่วงเวลาที่เด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน ความคาดหวังต่างๆ จึงตกอยู่ที่ครูผู้สอน สำหรับครูบางท่านมองว่า บทบาทหน้าที่ไม่ใช่แค่การให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชีวิตเช่นกัน  คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน ครูที่คอยแนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิตแก่ลูกศิษย์ ครูเฟิร์ส ปิยะพัฒน์ รักษ์บางบูรณ์ หัวหน้างานแนะแนวและประชาสัมพันธ์ โรงเรียนจรัสพิชากร

จุดเริ่มต้นจากเด็กกิจกรรมโรงเรียนสู่โครงการเพื่อชุมชน

ครูเฟิร์สเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนจรัสพิชา ชีวิตในวัยเด็กช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์มักจะไปช่วยคุณแม่และคุณยายขายขนมและผลไม้ที่ตลาด ชื่นชอบการพบปะพูดคุยกับผู้คนและการทำกิจกรรมกับทางโรงเรียน ช่วงวัยมัธยมต้นมีโอกาสเข้าร่วมอบรมมัคคุเทศก์ และได้ฝึกงานเป็นมัคคุเทศก์อาสาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งทางกลุ่มมัคคุเทศก์ได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในตอนนั้น ทำให้มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกับทางกลุ่ม

ครูเฟิร์สมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสันทนาการที่จัดขึ้นตามที่ต่างๆ เมื่อเข้าสู่มัธยมปลายทางโรงเรียนได้ส่งครูเฟิร์สและเพื่อนๆ เข้าอบรมในโครงการ “แผนที่สุขภาพ เพื่อเพิ่มพี้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยง รอบโรงเรียน” โดยมีโจทย์ว่าหลังจบการอบรมแล้ว ต้องสามารถสร้างเครือข่ายในโรงเรียนให้ได้ ครูเฟิร์สและเพื่อนๆ ได้พูดคุยน้องๆ นักเรียนที่พักอาศัยอยู่ใกล้โรงเรียน เพื่อพัฒนาให้ชุมชนบริเวณนั้นน่าอยู่ขึ้น ดูว่าพื้นที่ตรงไหนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงในความคิดสำหรับเด็กๆ โดยให้ความสำคัญกับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการเป็นสำคัญ ให้ช่วยกันวางแผนและจัดการงานด้วยตัวเอง

จากนั้นเริ่มมีผู้ปกครองให้ความสนใจ และเข้าร่วมเครือข่าย ในวันแรกของการเปิดงานได้รับความสนใจจากคนในชุมชนไม่น้อย เมื่อทางนายกเทศมนตรีทราบข่าวก็ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในการปรับปรุงพื้นที่

บทบาทหน้าที่ของการเป็น “ครู”

หลังจากครูเฟิร์สจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่จังหวัดสงขลา ครูเฟิร์สมีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กรุงเทพมหานคร จากนั้นเดินทางกลับนครศรีธรรมราช และได้รับการทาบทามจากท่านผู้อำนวยการโรงเรียนจรัสพิชากรให้มาช่วยงาน ทำให้ครูเฟิร์สนึกถึงคุณครูท่านหนึ่งที่ให้หนังสือที่ชื่อว่า “ทำแค่นี้ก็มีความสุข” ทำให้ภาพในวันปัจฉิมนิเทศน์ได้ย้อนกลับมา ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ครูเฟิร์สมีความผูกพันธ์อย่างมาก

ในตอนนั้น ครูเฟิร์สเป็นคุณครูที่อายุน้อยที่สุด บทบาทในวันวานจากนักเรียนสู่อาชีพครู ครูเฟิร์สเล่าว่า ค่อนข้างกดดันพอสมควร เนื่องจากต้องร่วมงานกับคุณครูท่านอื่นซึ่งเคยสอนครูเฟิร์สมาก่อน ในวันที่ต้องแนะนำตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ครูเฟิร์สกล่าวว่า แม้ตัวเองเป็นเพื่อนร่วมงานกับอาจารย์ แต่ความเคารพนั้นยังคงอยู่เสมอ แต่ในฐานะเพื่อนร่วมงานก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด รังฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมพัฒนาองค์กร ด้วยช่องว่างระหว่างวัยของครูเฟิร์สกับนักเรียนไม่ห่างกันมาก ซึ่งวิชาแนะแนวเป็นหนึ่งในวิชาที่ครูเฟิร์สสอน ต้องมีการพูดคุยกับนักเรียน  ทำให้นักเรียนกล้าที่จะเปิดใจคุยมากขึ้น สำคัญคือ ต้องทำให้นักเรียนไว้ใจเรา

วิชาแนะแนว วิชาทักษะชีวิต แนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิต

ในมุมมองของครูเฟิร์สสำหรับวิชาแนะแนวและวิชาทักษะชีวิตที่ตัวเองเป็นผู้สอนนั้น ครูเฟิร์สให้นิยามว่า เป็นวิชาแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน นักเรียนมีความต้องการอะไรก็ขอให้บอก ครูทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยรับฟัง ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและส่งเสริม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเหมาะสม บางเรื่องที่เรารู้สึกว่าไม่ถูกต้องก็อย่าเพิ่งไปตัดสิน พยายามพูดในเชิงบวก เพื่อเสริมแรง เสริมสร้างกำลังใจแก่นักเรียนที่เข้ามาปรึกษาวิธีนี้ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ รู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างนักเรียนบางคนที่มีปัญหาทางการเงิน ทางโรงเรียนก็ให้การสนับสนุนอาหารกลางวัน หรือขอความอนุเคราะห์จากทางผู้ประกอบการในชุมชนให้ช่วยรับนักเรียนเข้าทำงานหลังเลิกเรียน เป็นการช่วยลดภาระทางบ้าน คลายความกังวลใจของนักเรียน

ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนสามารถมาโรงเรียนได้ตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น ครูเฟิร์สเล่าว่า เพราะเด็กทุกคนนั้นแตกต่างกัน แต่ละคนมีมุมมองความคิด การเข้าถึงโอกาส และปัญหาที่ต่างกัน เด็กบางคนที่มีโอกาสที่ดีทางโรงเรียนจะช่วยส่งเสริมผลักดันอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่มีภาระต้องช่วยงานทางบ้านแล้วเข้าเรียนสายก็สามารถแจ้งเหตุผลกับทางโรงเรียนได้ อย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนมาเป็นออนไลน์ ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทางคุณครูเองก็ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกัน จนเกิดความกังวลว่าเด็กจะได้รับประโยชน์จากการเรียนออนไลน์มากน้อยแค่ไหน เด็กคนไหนที่ไม่พร้อม ทางโรงเรียนสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร การวัดผลก็ต้องคำนึงถึงตรงนี้เช่นกัน ต้องปรับไปตามรายบุคคล

แรงบันดาลใจที่อยากเป็นครู กับบทบาทของครูที่ช่วยเหลือสังคม

ครูเฟิร์สเล่าว่า นักเรียนส่วนใหญ่มักจะมีบุคคลที่ชื่นชอบอยู่ในใจ ใฝ่ฝันว่าอยากจะเดินตามเส้นทางนั้นและประสบความสำเร็จ เหตุผลของการเป็น “ครู” สำหรับครูเฟิร์สนั้นเพราะอยากที่จะทำงานร่วมกับเด็กๆ อยากที่จะรับฟังพวกเขา อย่างบางเรื่องที่เด็กๆ ไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้  ครูเฟิร์สอยากจะเป็นคนที่เด็กสามารถเล่าให้ฟังได้ พร้อมที่จะช่วยเหลือและให้โอกาสอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่ครูเฟิร์สเคยได้รับโอกาสจากครูผู้สอนในวัยเด็ก เมื่อทางสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ทราบว่าคุณครูเฟิร์สได้มาเป็นคุณครูที่โรงเรียนจรัสพิชากร จึงได้ยื่นเรื่องโครงการแผนที่สุขภาพ ปีที่ 2 จากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเรียนแกนนำโครงการ

ปัจจุบันได้มาเป็นครูที่ปรึกษาโครงการ ปล่อยให้นักเรียนได้มีอิสระทางความคิด ครูมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ครูเฟิร์สเล่าว่า โครงการแผนที่สุขภาพ ไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นที่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานที่ได้รับมอบหมาย ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการแก้ปัญหา บางคนค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรและอยากที่จะศึกษาต่อด้านไหนจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ครูเฟิร์สมองว่า การทำงานลักษณะนี้ทำให้ทั้งเด็กและครูต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การเปิดใจรับฟัง ฟังอย่างเป็นกลาง ไม่ตัดสิน คอยชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควร พยายามช่วยเหลือและให้กำลังใจ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตด้วยความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่เดินในเส้นทางที่ทำให้ตัวเองและคนที่รักเราต้องเสียใจ ขอเพียงมีใครสักคนเข้าใจและมอบโอกาสให้ คอยอยู่เคียงข้างในวันที่ท้อแท้ แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคก็สามารถจัดการกับปัญหาและกลับมาเดินได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ