Skip to content

พระพุทธสิหิงค์เมืองนคร เคยมีพระเกตุมาลาทองคำ

จำข่าวดีเมื่อไม่กี่ปีก่อนได้ไหมครับ ?
สำหรับท่านที่ไม่ได้ปูเสื่อรอ
ขอเท้าความไว้หน่อยหนึ่ง ดังนี้
.

พระพุทธสิหิงค์

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วผมพบภาพพระพุทธสิหิงค์มีพระเกตุมาลาสูงกว่าเท่าที่เคยเห็น ภาพนั้นอยู่ในหนังสืองานประจำปีเมืองนครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๔๗๗ ตอนนั้นได้รับความกรุณาจากท่าน ผอ.พรทิพย์ฯ ให้ใช้ห้องเอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติ เพื่อสืบค้นข้อมูลทำหนังสือประวัติศาสตร์อำเภอเมือง
.
ตาแรก คิดว่าเป็นองค์จำลองแล้วปรับแปลง ครั้นสอบลักษณะเฉพาะแล้วจึงรู้ ว่าเป็นองค์เดียวกันกับที่ประดิษฐานอยู่ในหอเดี๋ยวนี้
.
ในหนังสือไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรส่วนนี้
จึงได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อก่อนมี แล้วเดี๋ยวนี้ไม่มี ?
.

พระเกตุมาลาทองคำ

จนมาพบงานเขียนของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๑๓ – ๒๕๑๘) ขณะนั้นตั้งทำการอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ท่านยืนยันไว้บนปกในด้านหลังของสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ ว่า “…พระเกตุมาลาทองคำนั้น เพิ่งทำสวมเสริมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ โดยให้ช่างถมหลังวัดจันทารามเป็นผู้ทำ…”
.
ก็เป็นอันแน่นอนว่าพระเกตุมาลาทองคำนี้เคยมีอยู่ กับที่เห็นเพิ่มในลายแทงอาจารย์ประทุมฯ คือ คงสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับฐาน กับว่าช่างถมหลังวัดจันฯ นี้ คงได้ชื่อว่าเป็นช่างฝีมือดี เหมือนอย่างเจ้าคุณเฒ่า (ม่วง รัตนธโช) ผูกสำนวนไว้แต่แรกว่า “อยากเป็นช่างให้ไปวัดจัน”
.
ธรรมเนียมการสวมเกตุมาลานี้ เคยเห็นมีครอบให้กับพระลากบางองค์ด้วย คงเป็นขนบการถวายเครื่องมหรรฆภัณฑ์แด่พระพุทธรูปตามอย่างชาวนครศรีธรรมราช ทำนองคล้ายกับการหุ้มยอดพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยทองคำก็ปานกัน
.
คิดไปในทางที่ดีว่าคงมีเหตุเรื่องความปลอดภัยจึงจำเป็นให้ต้องถอดออกเพื่อเก็บรักษาไว้ แต่ก็ไม่ควรทำให้หายไปจากความรับรู้ของผู้คน อย่างน้อยก็เพื่อรู้ เพื่อทราบ ว่ายังถูกพิทักษ์ไว้อย่างดี อยู่ที่ใด ใครเป็นผู้รักษา
.

คุณค่าของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราช

ส่วนตัวเห็นว่า ควรหาวาระถวายครอบขึ้นสักมื้อหนึ่งต่อปี เพื่อให้ชาวเราได้ชื่นชมบารมี เรียนรู้วิถีศรัทธาของบรรพบุรุษ และอาจเป็นช่องให้ช่วงใช้เพื่อทวีคุณค่าของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราช ร่ายลามไปถึงเป็นกิมมิคทางการท่องเที่ยว ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม เช่นว่า เชิญออกสรงน้ำปีนี้มีพิธีถวายครอบพระเกตุมาลาทองคำก่อนเชิญขึ้นทรงบุษบก ให้ประชาชนได้สักการะกันใกล้ตา
.
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ควรเริ่มที่การสืบความว่า แล้วยังอยู่ไหม ? อยู่ไหน ? และใครพอจะทราบเรื่องราวนี้บ้าง ?
.
(แล้วก็ทิ้งท้ายโพสต์ก่อนว่า) ประจำเมืองฯ
.
หลังจากโพสต์นี้กี่เดือนจำไม่ได้ ผมรับสายจากท่าน ผอ.หช. ในเช้าวันหนึ่ง ว่าพบวัตถุชิ้นหนึ่งในคลัง พช. คล้ายกับที่กำลังถามหา ท่านขอข้อมูลเพิ่มเติมและได้ชี้ช่องไปพร้อมเสร็จ
.
จนเมื่อ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ได้เผยแพร่ภาพพร้อมคำอธิบายประกอบนี้ทางเฟซบุ๊ก ส่วนตัวคิดว่าเป็นชิ้นเดียวกันกับที่ตามหา ดังจะตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้
.
นายสันต์ เอกมหาชัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๒ แต่ไปมีข้อมูลรูปภาพว่าพระเกตุมาลาทองคำนี้เคยครอบถวายพระพุทธสิหิงค์มาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ก่อนมาดำรงตำแหน่งถึง ๒๓ ปี ประกอบกับปากคำของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ อดีตหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๘ ที่ว่าสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๕ โดยช่างถมทองวัดจันทร์
.
จึงเป็นไปได้ไหมที่ในประวัติว่า “สร้างถวาย” อาจจะเป็นเพียงการ “มอบไว้” เพราะพบว่าได้มอบหลังจากหมดวาระไปแล้ว ๒๑ ปี ซึ่งอาจมีคำถามต่อไปว่า เหตุใด ? หมดวาระแล้วจึงยังมีกรรมสิทธิ์ในพระเกตุมาลาทองคำนี้อยู่ ?
.
ข้อนี้ไปพล่ายกับการกำหนดอายุสมัย ส่วนตัวคิดไปว่า พช. คงจะยืนตามข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียน แต่อยากขอความกรุณาให้สอบทานหลักฐานอื่นประกอบเพิ่ม เพราะดูเหมือนจะมีนัยยะบางประการที่น่าสนใจฯ