Skip to content

คุณ เอกอนงค์ บัวมาศ ส่งเสริมพาณิชย์ ช่วยคิดค้าขาย สร้างรายได้สู่เมืองนคร

นครศรีธรรมราช เมืองที่มีชื่อเสียงด้านศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติ และอาหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด การที่จะสร้างรายได้สู่เมืองนครจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมให้คำแนะนำ เป็นที่พึ่งพาของผู้ประกอบการและผู้ผลิต คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการค้าภายในประเทศ มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ เข้าใจถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ  คุณ เอกอนงค์ บัวมาศ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วยคิดค้าขาย สร้างรายได้สู่เมืองนคร

การสร้างตัวตนผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ในวัยเด็ก

คุณเอกอนงค์ เติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำอาชีพค้าขาย  คุณเอกอนงค์เป็นน้องสาวคนสุดท้องโตมากับพี่ชาย 4 คน ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มเพื่อนของพี่ชายแต่ละคน ได้เรียนรู้ความหลากหลายของคนในสังคม ความแตกต่างของแต่ละอาชีพ ค่านิยมในการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงนั้น รวมทั้งด้านมืดและด้านสว่างของชุมชน สภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้คุณเอกอนงค์มีมุมมองการใช้ชีวิตที่กว้าง มีความคิดที่เป็นอิสระ และแน่นอนว่าค่อยๆ ซึมซับการค้าขายตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะได้มาทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวและประสบการณ์เหล่านี้

คุณเอกอนงค์ เล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กที่ไม่ได้ใฝ่ฝันไว้ว่าโตขึ้นอยากจะทำงานอะไร การที่เป็นคนรักการอ่านช่วยเปิดมุมมองต่างๆ นอกเหนือจากสิ่งที่พบเจอในชุมชน การเติบโตท่ามกลางผู้คนที่หลากหลายหล่อหลอมให้คุณเอกอนงค์มีทักษะในการสื่อสารและการเข้าสังคม ชีวิตวัยมัธยมนอกจากเรื่องเรียนแล้ว คุณเอกอนงค์ยังเป็นเด็กกิจกรรมเช่นกัน สิ่งที่ถือเป็นความภูมิใจในช่วงนั้นคือ การทำวารสารร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งคุณเอกอนงค์รับหน้าที่ในตำแหน่งบรรณาธิการ หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย คุณเอกอนงค์มีความตั้งใจอยากเป็นครู แต่ทางคุณพ่ออยากให้เรียนด้านกฏหมาย จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้เวลา 3 ปีในการจบการศึกษา ในช่วงที่ฝึกงานเป็นทนาย คุณเอกอนงค์มีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งได้ชักชวนให้ไปสอบในตำแหน่งนิติกรณ์ ปรากฏว่าคุณเอกอนงค์สอบได้ จึงตัดสินใจเข้ารับราชการที่กรมการค้าภายใน สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ย้ายไปทำงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การทำงานที่กรมการค้าภายใน สังกัดกระทรวงพาณิชย์

คุณเอกอนงค์ เล่าว่า ตนเองแทบไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับงานที่ทำเลย งานในช่วงแรกที่ได้รับมอบหมายคือ เช็คราคาสินค้าเกษตรตามตลาด สินค้าอุปโภคตามร้านค้า ดูแนวโน้มราคาสินค้าในอนาคต ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีการเก็บรวบรวมฐานข้อมูล หน้าที่ของกรมการค้าภายในคือ รักษาระดับราคาสินค้าเกษตร รักษาความเป็นธรรมทางการค้า ส่งเสริมระบบตลาด ดูแลในเรื่องการฉกฉวยโอกาสหรือการค้ากำไรเกินควร เมื่อทำงานได้ 3 ปี คุณเอกอนงค์รู้สึกไม่ชอบในงานที่ทำ อยากที่จะหางานด้านกฎหมายตามที่ได้ร่ำเรียนมา แต่ก็มีคำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่จังหวัดระยอง หลังจากนั้นจึงขอโอนย้ายไปที่กรมทะเบียนการค้า ทำให้ได้เรียนรู้งานในอีกรูปแบบหนึ่ง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ได้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายตามที่เรียนมา เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ การส่งสินค้าไปต่างประเทศ ภาษีธุรกิจ เป็นต้น การที่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายท่าน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ในสิ่งที่คุณเอกอนงค์เองไม่เคยรู้มาก่อน ได้เรียนรู้กระบวนการทำธุรกิจ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

จนถึงยุคที่ปฏิรูปกฎหมายและโครงสร้างระบบราชการ ซึ่งใช้กำหนดบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ดียิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อวิธีคิดในการทำงานของคุณเอกอนงค์เช่นกัน ซึ่งมองว่าเจ้าหน้าที่คือ ตัวแทนที่ถูกเลือกเพื่อใช้ศักยภาพที่มีทั้งหมดเข้ามาช่วยเหลือประชาชน จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เกิดขึ้นส่งผลให้คุณเอกอนงค์พัฒนาตัวเองไปพร้อมกับองค์กร

บทบาทหน้าที่พาณิชย์จังหวัด

เมื่อมีการเปิดรับสมัครสอบตำแหน่งพาณิชย์จังหวัด คุณเอกอนงค์ได้ตัดสินใจเข้าสอบ แต่ใช่ว่าจะได้มาง่าย เพราะพลาดโอกาสถึง 3 ครั้ง จนความพยายามเป็นผลสำเร็จในการสอบครั้งที่ 4  ซึ่งคุณเอกอนงค์เข้าใจว่าตัวเองพลาดในจุดใด ในขณะนั้นคุณเอกอนงค์กำลังศึกษาระดับปริญญาโท ทำให้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น มองความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายที่ชัดเจนขึ้น ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายในเชิงรัฐศาสตร์ กฎหมายเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้จำกัดแค่มุมมองของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าใจมุมมองของผู้บริโภคและเกษตรกรมากขึ้นอีกด้วย ไม่ว่างานจะยากแค่ไหน ต้องอาศัยความอดทนเพียงใด นี่คืองานที่คุณเอกอนงค์ภาคภูมิใจ เพราะเป็นหน้าที่ที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคน ไม่จำกัดแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพาณิชย์จังหวัดมีหน้าที่หลักคือ การรักษากลไกทางการตลาดให้ได้ และมีความเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น คุณเอกอนงค์ เล่าว่า อย่างสินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้น ทางกระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปตรวจสต็อควัตถุดิบ ดูว่ามีการกักตุนหรือไม่ ต้องหาให้เจอว่าปัญหาเกิดจากสาเหตุใด เพื่อออกมาตรการในการจัดการ

นครศรีธรรมราชในมุมมองของคุณเอกอนงค์ ด้วยความที่เป็นเมืองแห่งอารยธรรม อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ  แน่นอนว่าหลายคนรู้สึกภูมิใจกับบ้านเกิดของตัวเอง จนบางครั้งไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ด้วยความที่นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการค้าในแต่ละพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับบริบทและมุมมองทางความคิดของคนในชุมชนนั้นๆ ปัญหาเดียวกันอาจไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันได้ อย่างผลผลิตทางการเกษตรที่มีทุกอำเภอในนครศรีธรรมราช แต่กลับไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมด คุณเอกอนงค์ ให้ความเห็นว่า ในแง่ของการพัฒนาเมือง นครศรีธรรมราชค่อนข้างเสียเปรียบในเรื่องขาดความชัดเจน เพราะเป็นทั้งเมืองเกษตรกรรม ศูนย์กลางวัฒนธรรม อาหารท้องถิ่น และการท่องเที่ยว จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างเด่นชัดขึ้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือ ความเชื่อและศิลปะ ทางพาณิชย์จังหวัดจึงมีหน้าที่ในการสื่อสารและผลักดันให้เป็นผลสำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค ล้วนมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับการส่งเสริมการค้าในนครศรีธรรมราช อะไรคือจุดขายที่สะท้อนความเป็นตัวตนของนครศรีธรรมราชได้มากที่สุด หากมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ