Skip to content

วันเด็กของ “ไอ้ไข่” เด็กวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช

วันเด็กของ “ไอ้ไข่”

เด็กวัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช

 

วันเด็ก-วัยเด็ก

วันเด็กในที่นี้

ไม่ได้หมายความว่าเป็นเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมอย่างทุกปี

แต่ตั้งใจจะให้กินความเดียวกันกับ “วัยเด็ก”

และ “เด็กนครศรีธรรมราช” ทั้งที่ “เด็กๆ” หรือไม่ “เด็ก” แล้วก็ต้องรู้จัก

เป็นใครไปไม่ได้ในยุคนี้ นอกจาก “ไอ้ไข่”

.

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไอ้ไข่”

แต่จะด้วยสถานะใดหรือแง่ไหน

ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะเข้าถึงกันเฉพาะบุคคล

.

ขอได้ ไหว้รับ

ไอ้ไข่ ในความรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน ถูกอธิบายด้วยหลักคิดของความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณแก่ผู้เซ่นสรวงบูชา ดังคำกล่าวติดหูว่า “ขอได้ ไหว้รับ”

.

เล่ากันว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กวัด ที่บ้างก็เท้าความไปผนวกกับตำนานหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด โดยเป็นศิษย์ผู้อุปฐากใกล้ชิด แล้วมามีเหตุให้ต้องแยกกัน ณ ตำแหน่งที่ปัจจุบันเป็นวัดเจดีย์ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่ภายหลังจะเป็นไป แล้วเหลือแต่สภาพที่รู้จักกันในชื่อ “วิญญาณ” กับอีกแหล่งเชื่อว่า เป็นเด็กวัดที่นั่นมาแต่เดิม ส่วนครึ่งหลังกล่าวพ้องกัน

.

ในที่นี้ บรรดาอิทธิและปาฏิหาริย์ของไอ้ไข่ ไม่อยู่ในขอบเขตของบทความที่จะทำความเข้าใจไปถึง เพราะสามารถสืบความได้จากโซเชียลมีเดีย กับหาฟังโดยตรงได้จากผู้มีประสบการณ์ร่วม

.

มุมที่อยากชวนมองคือ “ไอ้ไข่” ในฐานะของการสะท้อนภาพของ “เด็ก” ชาว “นครศรีธรรมราช” อย่างน้อยก็ในทศวรรต ๒๕๒๐

.

รูปสลักดั้งเดิมของไอ้ไข่ เป็นฝีมือของผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ผู้ได้นามว่า “เที่ยง หักเหล็ก” มีลักษณะเป็นรูปเด็กผู้ชายไว้จุก ตรงนี้เองเป็นที่มาของข้อสังเกตประการแรกสุดคือเรื่องอายุของไอ้ไข่ ธรรมเนียมการไว้จุกของไทยสำหรับเด็กผู้ชาย มีกำหนดจัดพิธีโกนจุกเมื่ออายุครบ ๑๓ ขวบปี ก็สอดคล้องกับเรื่องเล่าโดยประมาณว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กชายอายุ ๑๐ ขวบ

.

สิ่งที่เด็กจะได้รับในวันโกนจุกพร้อมกับสถานะวัยรุ่นคือ “ชื่อ” ตรงนี้หมายความว่า “ไอ้ไข่” เป็นสรรพนามเรียกแทนตัวก่อนที่จะมีชื่อทางการ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมว่า เมื่อแรกเกิดจนถึงโกนจุก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายจะถูกเรียกแทนด้วยลักษณะตัว อวัยวะ รูปร่าง เช่นว่า ดำ เขียว แดง แห้ง อ้วน สั้น ยาว ตาดำ บ้างก็เรียกตามนิสัยในวัยเด็กเช่น ขี้ร้อง หรือบ้างก็อาศัยของใกล้ตัว ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ เช่น เรือน แมว ทอง เป็นต้น

.

ไข่-นุ้ย

ไข่ ก็รวมอยู่ในนี้ ซึ่งเป็นชื่อแทนตัวที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยมเนื่องจากแสดงเพศสภาพของผู้ถูกเรียกได้ชัดเจน กับทั้งอาจมีความสืบเนื่องจากคติเรื่อง “ลึงค์” ตามที่นักมานุษยวิทยาบางท่านพยายามอธิบายความก็เป็นได้ ทั้งนี้ “ไข่” มักจะคู่กับ “นุ้ย” โดยที่นุ้ยก็เป็นชื่อแทนตัวที่ได้รับความนิยมสำหรับใช้เรียกเด็กผู้หญิงก่อนโกนจุกเช่นเดียวกัน

.

คำว่า “นุ้ย” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านภาษาของนครศรีธรรมราช เป็นคำสำคัญที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างต่ำ แถมยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มักใช้ใน ๒ กรณี กรณีเป็นชื่อตัว อาทิ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยใหญ่” ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยเล็ก” ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งทั้ง ๒ เจ้าจอมมารดานี้ เป็นธิดาในเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) กับเจ้าหญิงชุ่ม พระธิดาในพระเจ้านครศรีธรรมราช

.

ส่วนอีกกรณีคือการใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ แทนตัวผู้พูดนั้น ยังคงได้ยินจนถึงปัจจุบัน คือ นุ้ยอย่างนั้น นุ้ยอย่างนี้ ดังที่หลายคนก็อาจจะยังคงใช้แทนตัวอยู่ จะพบว่า หลายครั้ง ชื่อเรียกแทนตัวเช่นว่า “นุ้ย” นี้ กลายมาเป็นชื่อตัวไปด้วยโดยปริยาย

.

ธรรมเนียมการตั้งชื่อเหล่านี้ค่อยคลี่คลายลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น และก็คงคลี่คลายไปพร้อมกับการตั้งพิธีโกนจุกทั้งของเด็กผู้ชายในวัย ๑๓ และเด็กผู้หญิงในวัย ๑๑ (ตามการสัมภาษณ์บุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช)ฯ