คนต้นแบบเมืองนคร ผู้พันฝายมีชีวิต พันเอกพิเศษ ภัทรชัย แทนขำ

https://youtu.be/LMMrzDBaRLc

            การที่จะมีใครสักคนที่ตั้งปณิธานที่จะทำเพื่อคนอื่นนั้นถือได้ว่าหายากยิ่งในยุคปัจจุบัน  ใครสักคนที่พร้อมจะยึดถือประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน ลงมือให้ความช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเพียงเพื่อแค่ว่าตนเองจะทำประโยชน์ให้ชุมชนได้แค่ไหน และท้ายที่สุดคนอื่นจะได้รับความสุขจากสิ่งที่ทำขนาดไหน หากมีใครสักคนที่สามารถทำได้เช่นนี้ บุคคลผู้นั้นก็น่าจะเป็นต้นแบบที่ควรค่าแก่การทำความรู้จักเป็นอย่างยิ่ง ในวันนี้เราได้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับบุคคลต้นแบบที่ว่าผู้ซึ่งยอมเสียสละประโยชน์ของตนเองและลงมือทำเพื่อคนอื่นจนเป็นที่ประจักษ์แจ้งจนได้รับสมญานามว่าเป็น “ผู้พันฝายมีชีวิต” เราจะมาทำความรู้จักแง่คิดในการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนกับบุคคลต้นแบบที่ว่าซึ่งก็คือ “พันเอก(พิเศษ)ภัทรชัย แทนขำ”  

แรงบันดาลใจที่เป็นจุดกำเนิดก็คือความกตัญญูต่อคุณพ่อคุณแม่

            พันเอก(พิเศษ) ภัทรชัย แทนขำ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งในฝ่ายเสนาธิการของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งในวัยเด็กนั้นผู้พันมีความฝันที่อยากจะเป็นตำรวจตามรอยของคุณพ่อ แต่เมื่อคุณพ่อแนะนำให้ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในเหล่าทหารบก ท่านผู้พันก็ลองไปสอบดูและสามารถสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารได้ในที่สุด ผู้พันเล่าว่าในช่วงที่เข้าเรียนใหม่ ๆ ผู้พันเองก็พบเจอกับความเหนื่อยยากและลำบาก แต่ก็สู้กัดฟันทนจนผ่านมาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากให้คุณพ่อและคุณแม่เสียใจ อยากให้ท่านทั้งสองสบายใจ ภูมิใจ เพราะการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารในครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจที่ไม่เฉพาะแต่ท่านผู้พันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความภูมิใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน ท่านผู้พันจึงถือเป็นความรับผิดชอบต่อความใฝ่ฝันของคุณพ่อคุณแม่และใช้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจจนก้าวมาถึงวันนี้

ตามหาความหมายของชีวิตเมื่อได้เข้าสู่แวดวงราชการทหารอย่างเต็มตัว

            ในช่วงที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและก้าวออกมาเป็นนายทหารหนุ่มอย่างเต็มตัว ตัวของผู้พันเองก็ยังตามหาตัวตนของตนเองไม่เจอ จึงได้ใช้ชีวิตในช่วงนั้นเป็นดั่งวัยรุ่นทั่วไปคือกินและเที่ยวไปตามปกติ จนกระทั่งเมื่อได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำหน่วยที่ต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชาในปกครอง ความคิดของผู้พันก็เปลี่ยนไป เพราะอยากที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่น ให้ตนเองสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ผู้อื่นได้ ในขณะนั้นกองร้อยที่ท่านผู้พันเข้าประจำการเป็นกองร้อยที่มีเกณฑ์คะแนนที่ต่ำที่สุดในกองพันเดียวกัน ท่านผู้พันจึงใช้ความรู้ ความเป็นผู้นำมาพลิกฟื้นให้กองร้อยนั้นดีดตัวเองจนไปอยู่ในระดับที่สูงของกองพันได้สำเร็จ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากนิสัยส่วนตัวที่เมื่อได้ลงมือทำอะไรแล้วจะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงและต้องอยู่ในจุดที่สุดยอดเท่านั้น ถ้าเราต้องไปอยู่ในจุดไหนเราต้องทำให้จุดนั้นไปอยู่ในระดับสูงสุดให้ได้

            แต่จุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญที่สุดที่เปลี่ยนให้ผู้พันที่เริ่มแรกไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นทหารคือตัวตนของตนเองก็คือคำขวัญประจำกองทัพบกซึ่งก็คือ “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน” ได้หล่อหลอมให้ท่านผู้พันค้นพบตนเอง ค้นพบสิ่งที่เป็นตัวตนของตัวเองซึ่งก็คือการทำเพื่อประชาชน ผู้พันจึงมีการนำกำลังทหารลงไปช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำท่วม การปลูกป่า หรือแม้แต่การทำความสะอาด เพราะท่านผู้พันเห็นว่าทหารต้องเสียสละ การลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชนและเห็นความสุขของประชาชนจากสิ่งที่ตนเองทำจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้พันค้นพบความหมายที่แท้จริงของตัวเองนั่นเอง

งานสาธารณประโยชน์และการสร้างแรงบันดาลใจคือสิ่งที่ผู้พันให้ความใส่ใจมาโดยตลอด

            นับตั้งแต่ค้นพบตัวเอง ท่านผู้พันก็ไม่เคยหยุดทำประโยชน์เพื่อสังคมเลยเพราะครั้งหนึ่งในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผบ.หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ผู้พันพยามที่จะสร้างและบ่มเพาะนักศึกษาวิชาทหารซึ่งก็คือเยาวชนเหล่านั้นให้มีจิตสาธารณะหรือจิตอาสา มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นชมรมโดยให้เวทีเหล่านั้นให้แก่เยาวชน และผู้พันเป็นผู้ให้การสนับสนุนให้โจทย์และแนะแนวทางซึ่งเยาวชนที่เป็นนักศึกษาวิชาทหารเหล่านั้นก็ต่อยอดความคิดจนเกิดเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ และสามารถกลายเป็นแกนหลักให้ชุมชนได้ในอนาคต กิจกรรมจิตอาสาที่ผู้พันได้นำนักศึกษาวิชาทหารเหล่านั้นลงมือทำก็มีตั้งแต่การพัฒนาชุมชน ขุดลอกคูคลอง ปลูกต้นไม้ ทำฝายเป็นต้น

            และเมื่อผู้พันได้มาเป็น ผบ.กองพัน 15ที่ทุ่งสง ผู้พันก็มีแนวความคิดอยากให้หน่วยพัฒนา โดยมุ่งหวังให้ทหารในหน่วยมีความพร้อมในทุกด้าน และสิ่งที่ผู้พันได้ทำนอกเหนือจากการดูแลความพร้อมของกำลังพล ผู้พันยังให้แนวความคิดที่จะดูแลความพร้อมให้กับครอบครัวของกำลังพลเหล่านั้น เพราะท่านผู้พันมีแนวคิดที่ว่าหากกำลังพลได้รับความสบายใจ คนที่อยู่เบื้องหลังมีความสุขย่อมส่งผลดีต่อขวัญและกำลังใจของกำลังพลในหน่วย ผลลัพธ์ที่ได้รับกลับมาคือกำลังพลเหล่านั้นจะกลับมาซัพพอร์ตหน่วยให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นสมดั่งที่ผู้พันต้องการจะให้เป็นนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ท่านผู้พันใช้เป็นหมัดเด็ดมาตลอดก็คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกำลังพลในหน่วย

 

            แรงบันดาลใจที่ผู้พันสร้างให้กับกำลังพลก็คือเรื่องเล่า คำสอน คำแนะนำการใช้ชีวิตให้กับกำลังพลในหน่วยในยามที่มีการเรียกรวมแถว พยายามอธิบายและปลูกฝังเป้าหมายของการเป็นทหารผ่านการบอกเล่าประสบการณืของตนเอง ช่วยสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับกำลังพล แม้ในช่วงแรกจะเป็นการบังคับให้ทำ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเมื่อกำลังพลได้รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นสร้างประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะเต็มใจที่จะทำในที่สุด ในขณะที่กำลังพลรายใดที่อาจจะแตกแถวไปบ้าง ท่านผู้พันก็ไม่เคยใช้วิธีการลงโทษเป็นหลัก แต่มักจะมอบโอกาสให้กำลังพลเหล่านั้นกลับใจ ซึ่งท้ายที่สุดกำลังพลหลายรายก็กลับมาทำงานและทำประโยชน์ให้กับหน่วยได้ในที่สุด

การมีส่วนร่วมในการทำฝายคือจุดกำเนิดสมญานาม “ผู้พันฝายมีชีวิต”

            จุดเริ่มต้นของสมญาผู้พันฝายชีวิตอยู่ที่ครั้งหนึ่งท่านผู้พันได้ไปพบเห็นรูปฝายหน้าตาแปลก ๆใน facebook จึงได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปหาข้อมูลของฝายชนิดนี้ และจากการลงพื้นที่ทำให้พบว่าฝายที่กำลังสร้างอยู่นั้นต้องการทหารเข้ามาช่วยเหลืออยู่พอดี ท่านผู้พันจึงไม่ลังเลใจที่จะนำทหารลงไปในพื้นที่เพื่อช่วยกันสร้างฝายที่ว่านี้ และที่นี่เองที่ทำให้ท่านผู้พันได้มีโอกาสเห็นความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างทหารและชาวบ้านเพื่อพัฒนาชุมชน ทั้งยังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างพี่น้องชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมยังผลให้การสร้างฝายนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ความประทับใจนี้เองที่ทำให้ท่านผู้พันได้ถือโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้นำโครงการและเสนอตัวที่จะขอเข้าร่วมโครงการในครั้งต่อ ๆไป

            โดยทางทหารจะเข้าไปตั้งแต่ขั้นตอนการทำความเข้าใจและในขั้นตอนที่ร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างฝาย และต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างทหารและชาวบ้านเท่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของทหารเพียงฝ่ายเดียว โครงการนี้เป็นการเชื่อมต่อชุมชนโดยฝายในพื้นที่ 14 จังหวัดจนครบ 106 ฝาย ต่อมาในปลายปี 2558 ทางผู้พันได้จัด “กิจกรรม 100 ใจ 100 ฝายถวายในหลวง” โดยในครั้งนี้มีคนต่างพื้นที่มาร่วมและเป็นจุดกำเนิดการสร้างฝายนอกพื้นที่ภาคใต้เป็นครั้งแรกที่แม่สอด

สร้างฝายด้วยหลักการสู่โครงการที่เล็งประโยชน์ต่อชุมชน

            โครงการฝายมีชีวิตจะยึดหลักการ 3 ประการคือ “การทำความเข้าใจ งบประมาณ และความร่วมมือ” โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนและโดยเฉพาะในขั้นตอนสำคัญอย่างการสร้างฝายที่อาศัยความร่วมมือร่วมใจตั้งแต่การหาอุปกรณ์และการลงมือทำฝายจนสำเร็จเป็นรูปร่างบนหลักการพื้นฐานของการได้ประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง กิจกรรมนี้ทำให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในปัจจุบันมีฝายกว่า 1,000 แห่งใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ

แรงบันดาลใจที่ส่งต่อโดยผู้พันฝายมีชีวิต

            โครงการนี้ยืนอยู่ได้เพราะไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ผู้พันเป็นแค่เพียงผู้สนับสนุนให้โครงการเดินหน้าเมื่อโครงการแล้วเสร็จชุมชนก็คือเจ้าของ เพราะผู้พันยึดหลัก “การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง ให้ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง”  การทำให้ส่วนรวมมีความสุขเมื่อพวกเขามีความสุขเราก็มีความสุขเช่นกัน และอยากทำตัวให้เป็นต้นแบบในการทำเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นเหมือนอย่างที่ท่านผู้พันทำมาแล้ว ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ดีแล้วเราร้อยเรียงความดีไปด้วยกันก็จะเกิดสิ่งที่ดีสิ่งที่สามขึ้นตามมา

 

วิสาขปูรณมี ชาวนครเคยใช้วันนี้ “ขึ้นปีใหม่”

๑ มกราฯ (ไม่ใช่)ปีใหม่เมืองนคร
ไม่ใช่แม้แรมหนึ่งเดือนอ้าย ขึ้นค่ำเดือนห้า
๑ เมษาฯ และมหาสงกรานต์

ก่อนที่จะข้ามไปถึงคำตอบ
ว่าปีใหม่ของชาวนครศรีธรรมราช
ตรงกับวันใด มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด
.
ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเรื่อง “ปีใหม่” ก่อนว่า
“ปี” กำหนดชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาราว ๓๖๕ วัน หรือ ๑๒ เดือน
เมื่อยึดเอาดวงอาทิตย์ฉะนี้ จึงเรียก “สุริยคติ”
.
จึงหมายความว่าเมื่อโลกเริ่มต้นวนอีกครั้ง
ก็จะเท่ากับว่ากำลังเริ่ม “ปีใหม่” เนื่องต่อกันไป
.
แต่ก่อนมีหมุดหมายกำหนดวันขึ้นปีใหม่หลายระลอก
ได้แก่ แรมค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย, ขึ้น ๑ ค่ำเดือนห้า
๑ เมษายน และ ๑ มกราคม ที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบัน
.
จะเห็นว่ามีทั้งการยึดทั้งตามสุริยคติและจันทรคติ
ซึ่งเป็นการยึดโยงกับสิ่ง “นอกโลก”
.
ตานี้ย้อนกลับมาในโลก
อันมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงจรรโลงใจ
หมุดหมายของวันขึ้นปีใหม่
ที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญของศาสนาใด
ก็จะแปรผันตรงกับศักราชในศาสนานั้น
.
เช่นว่า อิสลามคติ ที่ใช้เดือนมุฮัรรอม
ประกอบกับการมองเห็นดวงจันทร์
เป็นวันจบปีจบเดือนเริ่มฮิจเราะห์ศักราชใหม่
หรือ พุทธคติ ก็เปลี่ยนพุทธศักราช
โดยใช้วันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นอาทิ
.
“…ครั้นถึงเทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ…”

ข้อความนี้คัดจากเอกสารเลขที่ ๑๖๔
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี)
ซึ่งพระครูเหมเจติยาภิบาลได้กำหนดนับจัดหมวดใหม่เป็น
พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช หมายเลข ๒
.
มีข้อบ่งชี้บางประการถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
ที่แพร่และเจริญอยู่ในดินแดนนี้
คือการใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันเพ็ญ เดือนหก
.
“วิสาขปุรณมีบูชา”
จึงคือวันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา”
ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากล
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒
ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง
ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า
คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน,
ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ
ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
.
ทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖
.
หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้า
เสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงคือวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล
.
แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก
วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
มีข้อความระบุว่า

“…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก
เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”

เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชโดยท่านครูมีชื่อแล้ว

พบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนา ที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ
.
อีกหลักฐานชี้ชัดที่แทบไม่ต้องตีความ

ปรากฏในจารึกแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์เมื่อยอดหักที่อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตไว้ มีว่า

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…”

พระพรรษาเศษได้สี่วัน หมาย ถึงหลังปีใหม่ ๔ วัน
เมื่อย้อนกลับไป ๔ วัน
วันปีใหม่จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖
ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
.
ความน่าสนใจอีกประการนอกจากคำตอบว่า ชาวนครศรีธรรมราช ใช้วันใดเป็นหมุดหมายขึ้นปีใหม่ คือการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีการเฉลิมฉลองกันอย่างไรในเมืองนี้
.
แน่นอนว่ามี “ทำขวัญพระธาตุ” แล้วอย่างหนึ่งตามจารึกข้างต้น ในภาพซึ่งปรากฏเสาต้นไม้เพลิงนี้ มีคำอธิบายเขียนไว้กำกับต้นฉบับว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” แต่ไม่ระบุว่างานอะไร อาจกล่าวโดยกว้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระหนึ่ง
.
จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่คงต้องอาศัยหลักฐานประกอบเพื่อทำหน้าที่ให้ปากคำจนจิ๊กซอว์ภาพนี้ต่อกันบริบูรณ์