อ. บุญเสริม แก้วพรหม ปั้นเยาวชนเป็นคนดี กวีน้อยเมืองนคร ฅนต้นแบบเมืองนคร แต่งกลอนสอนคน

อ. บุญเสริม ไม่ได้เน้นการสอนคนโดยตรง ส่วนใหญ่มักจะบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเองต่อสถานการณ์หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะถูกหรือผิดนั้นไม่อาจทราบได้ แต่แฝงไปด้วยประเด็นบางอย่างที่ผู้อ่านสามารถนำไปขบคิดและประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

Continue reading

คำอธิษฐาน บนยอดพระธาตุเมืองนคร

ส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นเครื่องมหัฆภัณฑ์ ประกอบด้วยวัตถุห้อยแขวนประเภทเครื่องประดับชนิดต่างๆ ปลายสุดประดิษฐ์อัญมณี แก้ว และหินสีธรรมชาติเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดิษฐานไว้ ส่วนปลีสวมด้วยแผ่นทองคำร้อยรัดเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงกรวย ทั้งมีจารึกและไม่มีจารึก
.
ในส่วนจารึกเท่าที่มีการพบและอ่าน-แปลมีทั้งหมด ๔๐ แผ่น น้ำหนักรวม ๔,๒๑๗.๖ กรัม มีลักษณะเป็นทองคำแผ่นบางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละแผ่นมีขนาดและน้ำหนักไม่เท่ากัน บริเวณขอบจารึกทุกแผ่นมีรอยเย็บต่อไว้ด้วยเส้นด้ายทองคำรวมเป็นผืนใหญ่ ปนอยู่กับแผ่นทองพื้นเรียบ ไม่มีอักษรจารึก และแผ่นทองที่เขียนด้วยเหล็กแหลมเป็นลายเส้นพระพุทธรูปและรูปเจดีย์ทรงต่างๆ สภาพโดยทั่วไปชำรุด มีรอยปะเสริมส่วนที่ขาดด้วยแผ่นทองขนาดต่างๆ บางตอนมีรอยการเจาะรูเพื่อประดับดอกไม้ ทอง และอัญมณี เป็นต้น
.
นอกจากนี้ในบริเวณแกนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นโลหะก็มีจารึกอยู่ช่วงใต้กลีบบัวหงาย ต่ำลงไปประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัด แต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่าน-แปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย กลุ่มจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีการจารด้วยอักษรขอมและอักษรไทย ข้อความส่วนใหญ่บอกถึงวันเดือนปีที่ทำการซ่อม, สร้างแผ่นทอง ระบุน้ำหนักทอง และถิ่นที่อยู่ของผู้มีศรัทธาพร้อมทั้งการตั้งความปรารถนาซึ่งนิยมขอให้ตนได้พบพระศรีอาริย์ และถึงแก่นิพพาน (ข้อมูลจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน))
.
บรรดาจารึกที่ปรากฏความปรารถนาเหล่านี้ มีจารึกหนึ่งควรแก่การยกมาศึกษาในวาระปีใหม่นี้อยู่มาก ด้วยอาจถือเอาเป็นพรปีใหม่ที่กล่าวและอธิษฐานนำโดยบรรพบุรุษชาวนครศรีธรรมราช
.
“…ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ
คือมนุษยสมบัติ แลสวรรค์สมบัติ
มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นแล”

ความตอนนี้พบบนจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ๑๘ (จ. ๕๒) เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑๑.๓ เซนติเมตร ยาว ๖๘.๓ เซนติเมตร ใช้อักษรขอมธนบุรี – รัตนโกสินทร์ มี ๑ ด้าน ๓ บรรทัด อ่านและปริวรรตโดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้ความทั้งหมดว่า

“ ฯ ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ ๒๓๗๗ พระวัสสา
จุลศักราชขึ้น เป็น ๑๑๘๗ ปี
เจ้าคุณมารดา เป็นอุปถัมภก
รักษาพระศาสนา ประกอบไปด้วย
อุตสาห รักษาพระไตรสรณคมน์
ด้วยศีลห้าเป็นนิตย์แลอุโบสถศีลเป็นอดิเรก
แลได้รักษาพระสงฆ์ แลสามเณร แลชีพราหมณ์
บุคคลรักษาศีลแลมีน้ำจิตศรัทธา
ได้ทำนุบำรุงพระเจติยสถานอันบรรจุพระบรมธาตุ
และพระระเบียงล้อมพระบรมธาตุ
ให้บริบูรณ์เสร็จแล้วยังมิได้เต็มศรัทธา
จึงเอาทองคำเนื้อเจ็ดหนักสามตำลึงสามสลึง
ตราส่งแผ่นหุ้มยอดพระบรมธาตุ
ให้มีผลานิสงส์เป็นอันมาก
ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ คือ มนุษยสมบัติแล
สวรรค์สมบัติ มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้น แล”

.
เมื่อตรวจสอบรูปการณ์และศักราชที่ปรากฏบนจารึกลานทองนี้แล้ว “เจ้าคุณมารดา” ผู้ศรัทธาถวายและเป็นเจ้าของคำอธิษฐานนี้ น่าจะคือ เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัด) กับทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ (นวล) พระนัดดาในพระเจ้านครศรีธรรมราชกับหม่อมทองเหนี่ยว
.
ดังจะเห็นว่า ความมุ่งหวังสูงสุดในที่นี้ คือการได้พระนิพพานสมบัติ ตามคติของพระพุทธศาสนา โดยเจ้าคุณมารดาได้อ้างเอาบุญกุศลที่บำเพ็ญมาทั้งส่วนการปฏิบัติบูชา มีการรักษาศีลเป็นอาทิ และอามิสบูชา เช่นว่า การบำรุงพระภิกษุ สามเณร เถรชี การบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์และพระระเบียง เป็นเหตุแห่งผล
.
ในวาระแห่งการเปลี่ยนพุทธศักราชใหม่อย่างสากลนี้ ผู้อ่านท่านใดประสงค์จะให้ผลแห่งชีวิตเจริญไปอย่างที่สุดเช่นไร ก็ขอให้สมดั่งเหตุที่สั่งสมไว้มาตลอดปีเถิดฯ

ตลาดท่าชี ที่ถูกชาวนครเรียกใหม่ว่า “ถนนตักบาตร”

“นครมีท่า-ตรังมีนา-สงขลามีบ่อ” สำนวนโบราณที่บอกเล่าความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติบนผืนแผ่นดินภาคใต้ฝั่งตะวันออกนี้ เป็นเครื่องชี้ชัดว่า “เรื่องปากท้อง” ของผู้คน เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อสร้างบ้านแปงเมือง ดังประกอบเข้ากับอีกสำนวนว่า “แค่บ่อ แค่ท่า แค่นา แค่วัด”

ท่าชี เป็นหนึ่งในหลายท่าน้ำที่ยังคงปรากฏชื่ออยู่ในปัจจุบัน แต่อาจเป็นเพียง ‘ท่า’ เดียว ที่หลงเหลือกลิ่นอายความเป็นอารยชนของเมืองนครศรีธรรมราช

ปัจจุบันแม้จะไม่มีร่องรอยความเป็นท่าน้ำแล้ว แต่ท่าชีก็ฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ประหนึ่งไม้ใหญ่ที่หยั่งรากลึกลงยืนต้นต้านลมแรง แม้โลกเปลี่ยนแปลงแต่นัยยะสำคัญของท่าชียังไม่เคยเปลี่ยนไป

ท่าชี แวดล้อมไปด้วยแหล่งโบราณสถานสำคัญ ซึ่งหากลำดับตามคติความเชื่อแล้วอาจถือได้ว่าเป็น ‘ใจเมือง’ ในชั้นแรกๆ ด้วยว่ามี ‘สถานพระเสื้อเมือง’ เป็นที่เคารพสักการะในฐานะเทวดาอารักษ์ ‘เสื้อ’ ภาษาโบราณแปลว่า ‘ผี’ พระเสื้อเมืองจึงหมายถึง ‘ผีบ้าน ผีเมือง’ ซึ่ง ‘ผี’ ในที่นี้ ดั้งเดิมมีความหมายเดียวกับ ‘เทวดา’

การนับถือผีนี้ เป็นความเชื่อแรกสุดของมนุษยชาติ เป็นระบบความคิดที่นักวิชาการหลายท่านยอมรับว่าเป็น ‘ศาสนา’ ของคนพื้นถิ่นก่อนรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรวมถึงพระพุทธศาสนา ดังนั้น การเป็นสถานที่ที่มีการเคารพนับถือด้วยคติความเชื่อดั้งเดิม จึงอาจเชื่อได้ว่าต้องมีความสัมพันธ์กับความเป็นพื้นถิ่นก่อนการสถาปนาเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะเมืองแห่งพระพุทธศาสนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ท่าชี ยังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย คือ “ฐานพระสยมภูวนาถ” กรมศิลปากรกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ สันนิษฐานว่าละแวกดังกล่าว เคยเป็นแหล่งชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิม โดยมีฐานพระสยมฯ เป็นเทวาลัยประกอบศาสนกิจ ปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๙

การเป็นชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิมแต่โบราณนี้เอง เป็นที่มาของชื่อ ‘ท่าชี’ ด้วยว่า ‘ชี’ คำนี้ มาจาก ‘ชีพราหมณ์’ ผู้ถือพรตบวชในศาสนาพราหมณ์นั่นเอง

เดี๋ยวนี้ ท่าชีเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ตลาดท่าชี’ การเปลี่ยนรูปจากชุมชนศูนย์กลางทางศาสนาพราหมณ์มาเป็นชุมชนการค้าท้องถิ่น ไม่ได้ทำให้กลิ่นอายความเป็นท่าชีสูญสิ้นไป เพราะทุกเช้า เรายังสามารถเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ทยอยกันเดินทางไปทำบุญตักบาตร สักการะขอพรพระเสื้อเมือง และบูชาพระสยมภูวนาถกันไม่ขาดสาย

ท่าชี จึงอาจเป็นภาพโดยย่อของคติไทยได้อย่างดี เพราะภายในสถานที่เดียวสามารถเห็นความสัมพันธ์กันของระบบความเชื่อทั้งศาสนาผี พราหมณ์ และพุทธฯ

นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ นายอำเภอนักพัฒนา เพิ่มคุณค่าท้องถิ่นด้วยเรื่องเล่า

            สภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่รวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอาจตามไม่ทันโดยเฉพาะผู้คนในชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ต้องอาศัยความสามารถของตัวแทนจากภาครัฐเข้าไปบริหารจัดการ ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในพื้นที่เช่นกัน แต่การที่จะเข้าถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ต้องเข้าใจบริบททางสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ทางเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ นายอำเภอนักพัฒนาประจำอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทำความรู้จักกับท่านนายอำเภอนักพัฒนา

            นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ พื้นเพเป็นคนอำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถม – มัธยมศึกษาที่จังหวัดบ้านเกิด เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยาเขตปัตตานี และระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ได้สอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ประจำอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 19 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2539 – 2558  ที่ท่านทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนย้ายมาประจำการที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา การทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ท่านนายอำเภอได้อาศัยความรู้ทางวิชาการที่ร่ำเรียนมา เพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม หากพูดถึงคุณวุฒิของนักปกครอง แน่นอนว่าต้องเป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ แต่หากพูดถึงการทำงานของนายอำเภอในมิติใหม่ ซึ่งต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมสมัยใหม่ ศาสตร์ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นับว่าสำคัญมากเช่นกัน

บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์การทำงาน…ร้อยเรียงผ่านตัวอักษร

            นอกจากบทบาทหน้าที่นายอำเภอในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ แล้ว อีกบทบาทที่น่าสนใจของท่านนายอำเภอศรายุทธ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่นผ่านเรื่องเล่าจากปลายปากกา เริ่มต้นงานเขียนในเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่อำเภอยะรัง จ.ปัตตานี เป็นข้อมูลที่เรียบเรียงไว้ แต่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ ส่วนงานเขียนเชิงเล่าเรื่องได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก “เสน่ห์เทพา” เมื่อครั้งที่มาประจำการเป็นปลัดอาวุโสที่อำเภอเทพา หนังสือที่ท่านนายอำเภอเขียนไม่ได้มีแค่เรื่องเล่าจากภาคใต้เท่านั้น แต่ยังเขียนหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน เล่าเรื่องเกี่ยวกับมิติทางประวัติศาสตร์และสังคมในมุมมองคนต่างถิ่น ในหนังสือที่มีชื่อว่า “นายอำเภอคนใต้…เล่าเรื่องแดนอีสาน” ซึ่ง “ภาษา” คือ เรื่องที่สร้างความแปลกใจ ไม่น้อยสำหรับท่านนายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงหรือคำศัพท์ภาษาอีสานบางคำก็คล้ายคลึงกับภาษาใต้อย่างน่าประหลาดใจ

            ในมุมมองของท่านนายอำเภอ คนที่ทำงานในแวดวงนักปกครอง จำเป็นจะต้องรู้จักคน รู้จักพื้นที่ ซึ่งการที่จะรู้จักและจดจำได้นั้น ต้องอาศัยการจดบันทึกจากการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งมีกรอบทางภูมิศาสตร์เป็นแนวทางในการบันทึก ต้องเรียนรู้จากพื้นที่จริง เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปของแต่ละชุมชน การจะเข้าถึงชุมชน ต้องเข้าถึงรากเหง้า ทำความรู้จักกับภูมิศาสตร์ในแต่ละท้องที่ แม้กระทั่ง “ภูมินาม” ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับชื่อและประวัติความเป็นมาของสิ่งต่างๆ ภูมินามของแต่ละชุมชนสามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางธรรมชาติ สภาพสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

นำประวัติศาสตร์มาพัฒนาชุมชน เพิ่มคุณค่าท้องถิ่นด้วยเรื่องเล่า

            การทำงานเชิงพื้นที่ของท่านนายอำเภอ ไม่ได้อาศัยแค่สาขาวิชาการปกครองเท่านั้น แต่ต้องอาศัยข้อมูลจากสาขาวิชาต่างๆ มาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาของตนเองให้แก่ชาวบ้าน และเพื่อหาวิธีในการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ นอกจากความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาท้องถิ่น เรายังสัมผัสได้ถึงความสนใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของท่านนายอำเภอ จากการที่ท่านได้เล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน “เกลอเขา เกลอเล” ที่สืบทอดมายาวนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวนครศรีธรรมราช สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันจึงมีผลต่ออาชีพของชาวบ้านในชุมชน ส่วนเทือกเขาที่ว่านี้คือ “เขาหลวง” เทือกเขาที่พาดไปตามแนวยาวของคาบสมุทร และมียอดเขาหลวงเป็นยอดเขาที่สูงสุดในภาคใต้ คาดกันว่าเส้นทางที่เกลอทั้งสองฝั่งติดต่อกันน่าจะเป็นช่องเขา บริเวณนี้น่าจะเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในสมัยก่อน ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงเส้นทางตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

            หนึ่งในเหตุผลที่ท่านนายอำเภอสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ทำนองนี้ นอกจากได้ทำความรู้จักพื้นที่และคนในท้องถิ่นแล้ว ยังสามารถนำความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการปกครองท้องถิ่นเช่นกัน

และนำไปสู่การพัฒนาซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมที่เคยใช้สัญจรกันให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นการเพิ่มช่องทางการเดินทางที่สะดวก และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งเขาทางตะวันตกและตะวันออก ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุขโดยใช้กลไกของทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ

ในมุมมองของนักปกครอง ความสำคัญของการเล่าเรื่องคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อสังคม

            สำหรับท่านนายอำเภอศรายุทธ วิธีการเล่าเรื่องของท่านมักจะผ่านหนังสือและทางโซเชียลมีเดีย ใช้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ท่านได้ให้นิยามการทำงานเชิงพื้นที่ว่า “เปรียบเสมือนเสื้อสั่งตัด” ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการวัดขนาด เพื่อตัดเสื้อให้พอดีกับตัว หลักในการเล่าเรื่องนั้นต้องให้พี่น้องประชาชนได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับท้องถิ่นของตัวเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร เข้าใจและมองเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและภาครัฐ ในการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง         

อย่างอำเภอพิปูนที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมือง 4 น้ำ”  คือ แหล่งต้นน้ำ บ่อน้ำพุร้อน น้ำตก และอ่างเก็บน้ำ หากไม่ใช่คนพิปูนก็ไม่อาจทราบได้ และยังเป็น “เมืองทะเลสาบในหุบเขา” หรือ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า “เมืองสองอ่าง” ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขาล้อมรอบคือ เขาหลวง เขาพระ เขากะทูน ทางตะวันตกมีเขากะเปียดเป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางธรรมชาติระหว่างอำเภอพิปูนและอำเภอฉวาง ผลผลิตทางการเกษตรขึ้นชื่ออย่าง ทุเรียนพิปูนซึ่งเป็น “ทุเรียนเมืองชื้น” เนื้อทุเรียนจึงแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่น หรืออีกชื่อที่คนพิปูนพยายามสื่อสาร นั่นคือ  “ทุเรียน 2 น้ำ”  ซึ่งมาจากน้ำฝนและน้ำพระทัย (อ่างเก็บน้ำกะทูน) หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่จะพาอำเภอพิปูนก้าวไปสู่เมืองท่องเที่ยวในอนาคตได้ นับเป็นการเล่าเรื่องที่ผสมผสานอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

            จากวรรณกรรมท้องถิ่น นิทานพื้นบ้านที่ถ่ายทอดต่อกันมา หากนำมารื้อฟื้น ต่อเติมในส่วนที่ขาดหาย สร้างเรื่องราวที่เพิ่มคุณค่าให้แก่ชุมชน ไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมโยงผู้คนกับพื้นที่เข้าด้วยกัน การหยิบยกบางประเด็นหรือตั้งข้อสังเกตบางอย่างอาจนำไปสู่การพัฒนาสังคมได้ การศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด จึงมุ่งไปที่เรื่องราววิถีชีวิตชุมชนกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากยามใดเมื่อเกลอเดือดร้อน เกลอต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะ “ความเกื้อกูล” คือ รากเหง้าของท้องถิ่น การมองย้อนกลับไปในอดีต บางทีอาจช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวในปัจจุบันมากขึ้นก็เป็นได้

ยอดพระธาตุหัก เหตุและปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เคยถูกกล่าวถึง

ยอดพระธาตุ

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน

เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล

เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย[๑]

เมื่อยอดพระเจ้าหัก

ข้อความที่ยกมาข้างต้น เป็นการปริวรรตจารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม ก่อนที่จะวิเคราะห์เนื้อความในจารึก จะกล่าวถึงตำแหน่งที่พบจารึกตามการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าอยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ ๑.๘๐ เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน ๒ บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๓๗ ฉบับ ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม, ๒๕๓๗) ในบทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช[๒]

ต้นจารึกเป็นอักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย มีด้านเดียว ๒ บรรทัด จารึกลงบนโลหะ กำหนดอายุสมัยในพุทธศักราช ๒๑๙๐ จัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อวิเคราะห์ความได้ ๔ บรรทัด ดังนี้

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน”

บรรทัดแรกบอกศักราชเป็นพุทธศักราช ถือเป็นประโยชน์อย่างมากในการกำหนดอายุของจารึก เพราะสามารถทำหน้าที่เป็นหลักฐานชั้นต้นอย่างดีหากเป็นจารึกที่ร่วมสมัย ศักราชที่ปรากฏนี้ยังสามารถใช้พิจารณาหาบริบทแวดล้อมอื่น เพื่อมาเติมเต็มภาพของเหตุการณ์ที่ขาดหายไปให้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจึงใช้จุดเวลานี้ เป็นหลักในการศึกษาข้อมูลของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงเหตุและความน่าจะเป็นที่นำไปสู่การทำให้ “ยอดเจ้าหัก” ทั้งสามารถใช้เทียบเคียงเพื่อลำดับเหตุการณ์ร่วมกับจารึกอื่นที่พบบนปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ระบุศักราชก่อนหน้า และภายหลัง ดังจะได้กล่าวต่อไป

ปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๙๘) แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เอกสารลายลักษณ์อักษรที่จะใช้เป็นข้อมูลหลักคือตำนานพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ขาดช่วงไปไม่มีการกล่าวถึงนามของผู้ครองเมือง 

แล้วใครครองเมืองนครตอนยอดพระธาตุหัก ?

หากพิจารณาช่วงเวลาใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ คือในรัชสมัยสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (พ.ศ. ๒๑๗๒) มีการส่งขุนนางจากส่วนกลางคือออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเกิดเหตุความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มอำนาจท้องถิ่นกับกองอาสาญี่ปุ่น นำมาซึ่งการสู้รบระหว่างชาวเมืองกับทหารญี่ปุ่น จนผู้คนล้มตายและหลบหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมากจนเกือบจะเป็นเมืองร้าง ท้ายที่สุดเมืองนครศรีธรรมราชเป็นฝ่ายชนะและแข็งเมืองในปีพุทธศักราช ๒๑๗๕ จดหมายเหตุวันวลิต บันทึกว่า “ฝ่ายชาวนครศรีธรรมราช เห็นว่าตนเองหลุดพ้นจากชาวญี่ปุ่นแล้ว ก็ต้องการสลัดแอกจากการปกครองของสยาม จึงลุกฮือขึ้นเป็นกบฏและปฏิเสธไม่ยอมเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดินโดยฐานะกษัตริย์และเจ้านายที่ถูกต้องตามกฎหมาย[๓]” นำมาซึ่งการปราบปรามจากกรุงศรีอยุธยา ผลในครั้งนั้นอาจนำมาซึ่งการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็นคนในอาณัติของกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้เมืองนครศรีธรรมราชเสมือนตัวแทนของกรุงศรีอยุธยา ในการควบคุมดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด

ปัญหาคือ ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานที่ระบุชื่อของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของอาณาจักรอยุธยาในยุคดังกล่าว พบเฉพาะส่วนก่อนหน้าและตอนหลัง คือ ออกญาเสนาภิมุข (พ.ศ. ๒๑๗๒ – ๒๑๗๕) แล้วกล่าวถึงบุตรชายที่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าเมืองในนามออกขุนเสนาภิมุข ภายหลังได้ตกล่องปล่องชิ้นไปเป็นเขยของเจ้าพระยานครคนเก่า ทั้งที่กินแหนงแคลงใจด้วยเหตุสงสัยในการเสียชีวิตของบิดา จนมีเหตุจลาจลให้ต้องหนีลงเรือไปอยู่เมืองเขมร ในพุทธศักราช ๒๑๗๖[๔] เจ้าพระยานครคนเก่านี้ อาจได้แก่พระยาแก้ว ผู้เป็นหลานพระรามราชท้ายน้ำ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๑๔๔ – ๒๑๗๑) ซึ่งเป็นบุคคลสุดท้ายที่ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึง ก่อนจะข้ามช่วงเหตุการณ์ยอดพระธาตุหัก ไปที่พระยาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรี มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗[๕]

ดูเหมือนว่าตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จะละความเอาไว้ถึง ๒๖ ปี คือระหว่างพุทธศักราช ๒๑๗๑ – ๒๑๙๗ ทั้งที่ในระหว่างนั้น มีเหตุการณ์เรื่องยอดพระธาตุหัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับชื่อของตำนานโดยตรงแต่กลับไปปรากฏอยู่ในบันทึกอื่น 

“เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

ก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดของบรรทัดนี้ ขอย้อนกลับไปวรรคก่อนหน้าที่ว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน” ซึ่งเศษของสี่วันนั้นตรงกับวันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย ตามที่ปรากฏในวรรคนี้ ประเด็นคือ มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีนับพุทธศักราช ในที่นี้จะเห็นว่าหากย้อนหลับไปสี่วัน วันขึ้นปีใหม่จะตรงกับ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก” ซึ่งตรงกับวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”

“วิสาขปุรณมีบูชา” วันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ทั้ง ๓ เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้  ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๖ ทว่าต่างปีกัน ดังนั้น การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖

ดังนั้น หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว ๑ ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงควรเป็นวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า “…วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน สัตตศก เพลาชาย ๓ ชั้น พุทธศักราชได้ ๒๒๗๗…”[๖] เมื่อสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน ๑ ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปสอบทานปีพุทธศักราชและปีนักษัตรกลับพบว่า พุทธศักราช ๒๑๙๐ ไม่ตรงกับปีมะเมีย ดังที่ระบุในจารึก

เหตุและปัจจัยที่นักษัตรกับปีเคลื่อนกัน

เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือเมื่อ จุลศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล (พุทธศักราช ๒๑๘๑) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช เพื่อเสี่ยงพระบารมีแก้กลียุค แม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่าพระเจ้าอังวะปฏิเสธที่จะใช้ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งไป ในส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช มีจารึกที่ระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า “พุทธศักราชได้ ๒๑๘๓ ปีมะโรง เลิกว่าฉลู ตรีนิศก วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔”[๗] คำว่า “ปีมะโรง เลิกว่าฉลู” เป็นหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในฐานะเป็นขอบขัณฑสีมา จึงได้ย้อนปีนักษัตรขึ้นปี ๒ ปีตามพระราชประสงค์

ส่วนจารึกแกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ ระบุว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบ…วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…” กลับมีปัญหาเพราะเมื่อคำนวณทั้งตามการนับศักราชธรรมดาและลบศักราช กลับไม่ตรงทั้ง ๒ วิธี กล่าวคือ

ธรรมดา            : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีกุน
ลบศักราช         : พุทธศักราช ๒๑๙๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๐๙ ปีวอก

จึงดูเหมือนว่า ศักราชที่ปรากฏที่แกนปลีนี้ ใช้หลักการลบศักราชถึง ๒ ครั้ง คือย้อนกลับขึ้นไปถึง ๔ ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนข้อนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่พบข้อสรุป นอกจากการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะผู้จารึกที่รับข้อความให้จารึกซึ่งระบุศักราชที่ลบแล้ว แต่กลับลบซ้ำเป็นกำลัง

“เมื่อยอดพระเจ้าหัก” คำสำคัญที่ปราศจากการชี้เหตุ

ในบรรทัดที่สองซึ่งแยกออกมาใหม่นี้ มีเค้ามูลหลักที่ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีนัยยะบางประการเร้นอยู่ คือการไม่ระบุสาเหตุที่ทำให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์หักลง ทั้งส่วนของข้อเท็จจริงหรือแม้แต่จะตกค้างอยู่ในนิทานมุขปาถะเหมือนเรื่องเล่า “เจดีย์ยักษ์” ที่มีลักษณาการเดียวกัน แน่นอนว่าในชั้นนี้ อาจเพราะเจดีย์ยักษ์ไม่ได้ถูก “สร้างตรหลบหกสู่ยอด” อย่างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๔ เดือน จึงดูเหมือนว่านิทานยักษ์สร้างพระเจดีย์แข่งกับชาวเมืองจะยังคงมีอิทธิพลต่อความรับรู้ของผู้คน ตลอดไปจนส่งผลให้การพิจารณาบูรณะเจดีย์ยักษ์จำต้องดำเนินการไปเสมือนหนึ่งไม่มีส่วนปลียอดมาแล้วแต่เดิม

แม้ว่าเหตุผลที่ทำให้เจดีย์ยักษ์ยอดหักจะเป็นเพียงนิทานปรัมปรา แต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยประหนึ่งลายแทงแฝงไว้จนอาจเชื่อได้ว่า ยักษ์ที่เตะยอดเจดีย์นี้ น่าจะเป็นตัวแทนของคนหรือกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามกับคนพื้นเมือง

พระธาตุเคยทลายลงแล้วหนหนึ่งก่อนหน้าครั้งที่กำลังกล่าวถึงนี้

ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง[๘] เมื่อกล่าวถึงที่มาของพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ก็ยกฉากการก่อ“พระเจดีย์” ครั้งแรกเพื่อสรวมพระบรมสารีริกธาตุ ถัดไปหลังที่สร้าง “เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร” ณ หาดทรายแก้วแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มีรับสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อ “พระธาตุ” เป็นครั้งที่ ๒ หากเหตุการณ์ลำดับไปตามที่ตำนานระบุ ก็จะหมายความว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีการประดิษฐานอยู่แล้วก่อนสร้างเมืองแต่อาจจะยังไม่แล้วเสร็จ พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองจึงได้ทำต่อ  จากนั้นพระองค์ถัดๆ ไปก็รับเป็นธุระ ดูเหมือนว่าในตำนานจะระบุถึงการก่อ “พระมหาธาตุ” ถึง ๕ ครั้งจึงแล้วเสร็จ 

“พระเจดีย์”“พระธาตุ” และ “พระมหาธาตุ” ทั้ง ๓ คำนี้เป็นการเรียกองค์พระบรมธาตุเจดีย์จากตำนานฉบับข้างต้น ส่วนปัจจุบันตกค้างเป็นภาษาพูดของชาวนครศรีธรรมราชเฉพาะคำว่า “พระธาตุ” ซึ่งหากเป็นไปตามพระวินิจฉัยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ว่าตำนานฉบับนี้เขียนขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พุทธศักราช ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ก็เท่ากับว่าคำนี้ มีเรียกมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วเป็นอย่างต่ำ

ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระธาตุทลายลงว่า “ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่าวมาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพุทธสาท องค์หนึ่งชื่อมหาเถรพรหมสุรีย์เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลังเจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทลายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังกล่าวเล่า”[๙]   ความตอนนี้ไม่ระบุศักราช แต่มีข้อกำหนดช่วงอายุสมัยในวรรคต้นว่านายไทยเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์จึงน่าจะเกิดในยุคกรุงศรีอยุธยา คือระหว่างพุทธศักราช ๑๘๙๓ – ๒๓๑๐

เพื่อกำหนดจุดเวลาให้แคบลง จึงต้องพิจารณาศักราชที่ปรากฏอยู่ตำแหน่งก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ พบว่าตกอยู่ในมหาศักราช ๑๒๐๐ ซึ่งคือพุทธศักราช ๑๘๒๑ ส่วนตำแหน่งหลังบันทึกว่าเป็นพุทธศักราช ๑๘๑๕ ชั้นแรกจึงสรุปเป็นเบื้องต้นว่า ศักราชในตำนานฉบับนี้ อาจมีความคลาดเคลื่อนสับสน คือกระโดดไปมาไม่ลำดับ กับทั้งเหตุการณ์ “พระมหาธาตุทลายลง” ซึ่งอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๑๕ – ๑๘๒๑ นี้ มีคำชี้จุดเวลาคือ “นายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา” ทั้งที่จริงช่วงเวลาดังกล่าว กรุงศรีอยุธยายังไม่ได้สถาปนาขึ้น จึง       ชวนให้ส่อเค้าคิดไปว่าเป็นไปได้ที่การทลายลงครั้งนี้ อาจเป็นครั้งเดียวกันกับที่มีจารึกไว้รอบแกนปลี

สถานการณ์ภายในเมืองนครศรีธรรมราช

ก่อน “ยอดพระเจ้าหัก” ในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ 

ตอนท้ายของตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่ง มีการลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในลักษณะย่อหน้าละใจความ ต้นย่อหน้าระบุปีพุทธศักราชกำกับไว้ ดังนี้

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวรวงษมาเป็นเจ้าเมือง มาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจฉิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพยราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพยราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบ เสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกรบศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะ จึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือพายพลประมาณห้าหมื่นเศษรบกันเจ็ดวันเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา”[๑๐]

ดังจะพิจารณาได้ว่า ศตวรรษก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุยอดพระเจ้าหักนั้น เมืองนครศรีธรรมราชต้องประสบกับภัยสงคราม ตั้งแต่ศึกอารู้จนถึงอุชงคนะ ยืดเยื้อกินเวลาหลายขวบปี มีผลจากสงครามครั้งนั้นต่อผังเมืองในปัจจุบันให้พอเป็นที่ประจักษ์อยู่บ้าง คือถนนพัฒนาการคูขวาง ถนนที่ทอดทับตำแหน่งเดียวกันกับคูที่ “…ขุดฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ” ขวางไม่ให้กำลังพลของข้าศึกยกขึ้นประชิดเมืองได้โดยง่าย แม้ตอนท้ายของตำนาน จะทำหน้าที่คล้ายพงศาวดารเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าข้าศึกเข้าเมืองแล้วกระทำอันตรายอย่างไรต่อทรัพยากรภายใน กับทั้งกระโดดไป ๒๖ ปี ข้ามเหตุการณ์ยอดพระเจ้าหักที่เป็นโจทย์นี้ไปกล่าวถึง “…เมื่อศักราช ๒๑๙๗ มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช…”

อย่างไรก็ดี ศึกครั้งนี้เป็นศึกติดพัน เพราะความมุ่งหมายของแขกสลัดมีมากกว่าการปล้นเอาสมบัติพัสถาน การจงใจเลียบชายฝั่งผ่านเมืองท่าที่มั่งคั่งอย่างปัตตานีและมะละกา อาจเป็นสัญญาณว่า นครศรีธรรมราชคือเป้าหมายเดียวที่พอพร้อมสำหรับความต้องการบางอย่าง และเป็นไปได้ว่าปัตตานีคือหนึ่งในพันธมิตรของแขกสลัด ดังที่เริงวุฒิ มิตรสุริยะ อธิบายไว้ว่า “…พ.ศ. ๒๑๗๓ ปัตตานีก็ทำการรุกรานเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชโดยทันใด โดยเว้นไม่ยุ่งเกี่ยวกับเมืองสงขลา ที่ดูเหมือนจะประกาศตัวว่าขอออกจากพระราชอำนาจและอาณาจักรของอยุธยาไปแล้วด้วยเมืองหนึ่ง ในขณะที่นครศรีธรรมราชอ่อนแอนี้ ปัตตานีได้พันธมิตรจากยะโฮร์และโปรตุเกสร่วมด้วย อยุธยาจำต้องเกณฑ์ผู้คนจากนครศรีธรรมราชและพัทลุงออกต่อต้าน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะปัตตานีได้…”[๑๑]

สภาพของนครศรีธรรมราชขณะนั้นคงไม่ต่างไปจากสภาพของกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียแก่พม่าเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ กลับกันเมื่อเมืองสงขลากลับมีอิทธิพลมากขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๑๘๕ สงขลาจึงเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะปราบปรามลงได้ แต่ก็เป็นกบฏอีกครั้ง พ.ศ. ๒๑๙๒ ได้บุกยึดเมืองนครศรีธรรมราชไว้เป็นการชั่วคราว และดึงเอาปัตตานี พัทลุง และไทรบุรีเข้าเป็นพันธมิตร[๑๒]

ทั้งนี้แต่ไม่ทั้งนั้น สถานการณ์ร่วมสมัยกับที่ระบุในจารึกแกนปลีว่ายอดพระบรมธาตุเจดีย์หักลงในพุทธศักราช ๒๑๙๐ ที่ยกมานี้ อาจเป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่ง ที่จะทำให้พลอยโน้มเอียงใช้เป็นคำตอบถึงเหตุของการหักลงได้ จากที่โดยทั่วไป ความรู้สึกแรกเมื่อได้อ่านจารึกมักคิดอ่านไปเองเป็นเบื้องต้นว่าอาจเพราะถูกฟ้าผ่าตามธรรมชาติ จะได้มีความลังเลสงสัยเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลือก เพราะหากพระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช ปูชนียสถานมีชื่อนี้ก็ถือเป็นหมุดหมายเดียวของศัตรูที่จะเข้ายึดหรือทำลายเพื่อชัยชนะที่สมบูรณ์

ทว่าเมื่อตรวจสอบแผ่นทองคำที่มาจารึกในระบบฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) แล้ว พบว่าแทนที่เมื่อยอดหักแล้วศักราชในจารึกจะลำดับต่อไปจาก ๒๑๙๐ กลับมีแผ่นจารึกระบุปีก่อนหน้านั้น ๒ รายการ ได้แก่

“ศุภมัสดุ ศักราชได้เก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีชวด เถลิงศก วันจันทร์ชวด จัตวา พระมหาศรีราชปรีชญา เอาทองห้าตำลึงแลญาติอีกด้วยสัปปุรุษทั้งหลายช่วยอนุโมทนา เป็นทองหกตำลึง สามบาท สามสลึง ตีเป็นแผ่นสรวมพระธาตุเจ้า ในขณะออกญาพัทลุงมาเป็นพระยานครแลพระเจ้าพระครูเทพรักษาพระธาตุ”[๑๓]

รายการแรก ศักราชเก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๕๕ ถัดไปอีก ๔ ปีปรากฏในรายการที่ ๒ คือ พ.ศ. ๒๑๕๙ ซึ่งทั้ง ๒ รายการร่วมสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พุทธศักราช ๒๑๕๔ – ๒๑๗๑) จึงดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เมื่อข้าศึกยึดเอาสัญลักษณ์ประจำเมืองได้แล้วจะไม่ฉกฉวยเอาทรัพย์สินมีค่าไปใช้สอยประโยชน์ ข้อนี้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า อาจเป็นอุบายเพื่อประโลมขวัญชาวเมืองในการสร้างความยอมรับให้มีแก่กลุ่มผู้ปกครองใหม่ โดยกระทำการปฏิสังขรณ์อย่างรวดเร็วแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนดังจะได้กล่าวต่อไป

            ข้อพินิจสำคัญอีกประการคือ จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชอีกรายการหนึ่ง ปรากฏ ๒ ศักราชในลายมือที่ใกล้เคียงกัน

            ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ปริวรรตแยกบรรทัดยกมาเฉพาะศักราชได้ว่า

            บรรทัดบนซ้ายจารึก (มหาศักราช) ๑๖๒๘” เท่ากับพุทธศักราช ๒๒๔๙

            บรรทัดล่างขวาจารึก “ศกพระแต่พ้นไปแล้ว ๒๑๕๙”[๑๕]

ความใกล้เคียงกันของตัวอักษรที่แม้ว่าจะมีระยะระหว่างจารึกถึง ๙๐ ปี แถมยังปรากฏบนแผ่นเดียวกันนี้ เป็นพิรุธบางประการที่อาจเชื่อได้ว่าการระบุศักราชก่อนหน้าเหตุการณ์ยอดหักซึ่งปรากฏอยู่เพียง ๓ รายการจากทั้งหมด ๔๐ รายการนี้ เป็นเพียงการบันทึกย้อนความทรงจำ ทั้งนี้เพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ อาจต้องพึ่งการตรวจพิสูจน์ทางด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนไม่มีความสามารถในด้านนั้นเป็นการเฉพาะ

 “เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล

เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย

จากเหตุการณ์ยอดหักเมื่อต้นปีใหม่เดือนหก ถึงเมื่อสร้างแล้วเสร็จเดือนสิบ ระยะเวลาเพียงแค่ ๔ เดือนกับการปฏิสังขรณ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ แสดงให้เห็นถึงความมานะอย่างยิ่งยวดของผู้ได้รับหน้าที่ เพราะเสมือนการก่อขึ้นใหม่ตั้งแต่ตำแหน่งพระเวียนขึ้นไปจนถึงยอด ตามที่ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ได้สันนิษฐานว่า ตรงก้านฉัตรขององค์พระบรมธาตุแต่เดิมไม่มีเสาหานเช่นเดียวกับเจดีย์สุโขทัยและล้านนา แต่เมื่อส่วนยอดพังทลายลงมาถึงชั้นบัลลังก์ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงไม่ทำก้านฉัตรแบบเดิมแต่ออกแบบให้มีเสาหานช่วยพยุงตัวปล้องไฉนที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่ก็ไม่ทำเสาหานทรงกระบอกแบบที่แพร่หลายในอยุธยา[๑๖]

การเร่งปฏิสังขรณ์ขึ้นไปใหม่อย่างรวดเร็วนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ต่อสภาพจิตใจของผู้คนประการได้เป็นอย่างดี อาจเป็นการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดและเสร็จสิ้นด้วยระยะเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมาเมื่อเทียบกับระยะเวลาของการบูรณะในชั้นหลัง

พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นวัตถุธาตุในโลกที่เป็นไปตามสามัญลักษณะทั้ง ๓[๑๗] ซึ่งคือกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง แม้จะพยายามเฝ้าหวงแหนและพิทักษ์รักษาสักปานใด ก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่าจะสามารถอยู่ยั่งมั่นคงสวนกระแสธรรมดาที่ว่านี้ได้ ฉันใดที่มนุษย์รู้จักดูแลสุขภาพกายและจิตเพื่อยืดอายุขัย พลังแห่งศรัทธาปสาทะ[๑๘]ของสาธารณชน ผนวกด้วยความรับผิดชอบขององค์กรภาครัฐทั้งองคาพยพ[๑๙] จึงเสมือนยาอายุวัฒนะแก้สรรพ[๒๐]โรค พร้อมไปกับการบำรุงกำลังแห่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ตราบเท่าที่วิทยาการทางเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปถึงก็ฉันนั้น


[๑] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”. ใน ศิลปากร ๓๗. ๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๓๗) : ๒๐-๑๑๘.

[๒] https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1321 สืบค้นเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

[๓] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุทัย – อยุธยา)”. ใน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช : น. ๙๓ – ๙๔

[๔] มานิจ ชุมสาย. ม.ล.. (๒๕๒๑). “เมื่อญี่ปุ่นมาเป็นเจ้าพระยานคร ใน พ.ศ.๒๑๗๒”. ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช :น. ๕๕๐ – ๕๕๑.

[๕] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ใน รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช : น. ๙๕.

[๖] พระครูเหมเจติยาภิบาล. (๒๕๖๒). “คำอ่านจารึกฐานพระลาก (ปางอุ้มบาตร) วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.

[๗] สุรเชษฐ์ แก้วสกุล. (๒๕๖๒) . “คำอ่านจารึกระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช”.

[๘] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ตามหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึก ต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ (ปัจจุบันคือสำนักหอสมุดแห่งชาติ)

[๙] “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”. ฉบับกระดาษฝรั่ง.

[๑๐] เรื่องเดียวกัน

[๑๑] เริงวุฒิ มิตรสุริยะ. (๒๕๕๕). “สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา : ปฏิสัมพันธ์ของอำนาจจากท้องถิ่นถึงราชอาณาจักร จากสมัยอยุธยาตอนกลางถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น”. รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๕๕). (นครศรีธรรมราช : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, ๒๕๕๕). หน้า ๑๒๙. 

[๑๒] ภัคพดี อยู่คงดี. “นครศรีธรรมราช ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ (ร่วมสมัยสุโขทัย – อยุธยา)”. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช. กรมศิลปากร.

[๑๓] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”. 

[๑๔] เรื่องเดียวกัน

[๑๕] ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม. (๒๕๓๗). “คำปริวรรตจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”.

[๑๖] เกรียงไกร เกิดศิริ. (๒๕๖๑). “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มรดกพุทธศาสนาสถาปัตยกรรม ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทแห่งคาบสมุทรภาคใต้”. กรุงเทพ. หน้า ๘๕.

[๑๗] คือไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้

[๑๘] ปสาทะ หมายถึงความผ่องใส เป็นลักษณะของศรัทธา ในพระสุตตันตปิฎก ทีฑนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๕๕ ยกแยกศรัทธาไว้ ๔ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ปสาทศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ศรัทธาที่เกิดจากการบรรลุธรรม

[๑๙] แปลว่า อวัยวะน้อยใหญ่ ในที่นี้หมายถึงทุกภาคส่วน

[๒๐] อ่านว่า สับ-พะ เป็นคำอุปสรรค มีสำเนียงอ่านอย่างใต้อีกอย่างหนึ่งว่า สอ – หรบ อาจเป็นที่มาของวัดสพ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดท้าวโคตรปัจจุบัน ด้วยว่าพระประธานในร่วมพื้นที่นั้น องค์หนึ่งพระนามว่า “พระสัพพัญญุตญาณมุนี” แต่ก่อนมักเขียนโดยให้พ้องเสียงอาจเขียนเป็น สรรพ แล้วมีผู้ออกเสียงว่า สอ – หรบ จนเป็นสพในที่สุด


จากปก : ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ CFNA๐๑-P๐๐๑๙๒๒๒-๐๐๒๑

นครศรีธรรมราชแปลว่าอะไร ? มีนัยยะอย่างไรแฝงอยู่ ?

นครศรีธรรมราช แปลว่าอะไร ?

นครศรีธรรมราชแปลว่าอะไร ? มีนัยยะอย่างไรแฝงอยู่ ?
ตามหลักการตั้งชื่อบ้านนามเมืองแต่โบราณ มักใช้ลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรในท้องถิ่น หรือจุดเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นเกณฑ์ตามธรรมชาติในการกำหนดเรียก ดังนั้น ชื่อบ้านนามเมืองจึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ได้ในขั้นต้น

นครศรีธรรมราช ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ชื่อนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารภาพลักษณ์เพื่อแสดงความเป็นตัวตนต่อชุมชนและเมืองอื่น ซึ่งมีทั้งความหมายและนัยยะบางประการแฝงอยู่

แปลว่าอะไร ?
นครศรีธรรมราช เป็น ๑ คำที่ประกอบด้วย ๔ พยางค์ คือ นคร + ศรี + ธรรม + ราช
นคร (น.) แปลว่า เมืองใหญ่
ศรี (น.) แปลว่า สิริมงคล, มิ่งขวัญ, ความรุ่งเรื่อง, ความงาม, ความเจริญ, ประเสริฐ
ธรรม (น.) หมายถึง พระธรรม แปลว่า คุณความดี
ราช (น.) แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)

ทั้งนี้ คำว่า ศรี สามารถใช้เป็นคำนำหน้าคำนามอื่นเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น (ศรี)ลังกา และพระยา(ศรี)สุนทรโวหาร เป็นต้น ในที่นี้จะเห็นว่าคำว่า “ศรี” ถูกวางไว้หน้าคำว่า “ธรรม” เพื่อต้องการชี้ว่าพระธรรมหรือคุณความดีที่สถิต ณ เมืองนี้ เป็นที่ยิ่ง เป็นมิ่งขวัญแก่เมือง จึงจัดกลุ่มคำใหม่เป็น นคร + (ศรี)ธรรม + ราช

แปลรวมความได้ว่า “เมืองใหญ่อันปกครองด้วยพระราชาผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ”

มีนัยยะอะไรแฝงอยู่ ?
นคร = ชาติตามตำนานเมืองและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พบว่ามีการสถาปนาความเป็นเมืองขึ้นแล้ว สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นประการแรก คือการประดิษฐานสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาคือองค์พระบรมธาตุเจดีย์ก่อนจะขยายพระราชอาณาจักรเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร ทั้งนี้อาจเพราะเพื่อการประกาศการเปลี่ยนผ่านจากพราหมณ์เป็นพุทธอย่างเป็นทางการของพระมหานครใหม่ ตามรูปแบบการปกครองและศาสนาที่กำลังได้รับความนิยมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ (Unity) ภายใต้หลักคิดและความเชื่อเดียวกัน

(ศรี)ธรรม = ศาสนาหาก “ตามพรลิงค์” อันแปลว่าศิวลึงค์ทองแดง จะสื่อแสดงถึงสถานะของการที่มีศาสนาพราหมณ์ครอบครองแล้ว การสถาปนาเป็น “นครศรีธรรมราช” จึงให้นัยยะใหม่ของการเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา

ราช = พระมหากษัตริย์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ นั้น นอกจากพระพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาท ลังกาวงศ์ จะเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว รูปแบบการเมืองการปกครองและพระราชอำนาจของพระเจ้าอโศกมหาราชยังเป็นที่เลื่องลือและยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป ทั้งมอญ ละโว้ สะเทิม และหริภุญไชย ดังนั้นการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นในพระราชอิสริยยศเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น นัยยะที่แฝงอยู่ในชื่อเมืองนครศรีธรรมราช คือการประกาศความเป็นอาณาจักรที่ประกอบไปด้วยสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยสมบูรณ์

สาเหตุที่ตรงโน้น ตรงนี้ ต่างก็มีตำนานเท้าความถึงเมื่อแรกสร้างพระธาตุ

เรามักมองว่าการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลอง ณ สถานที่ใดในปากใต้ หรือโครงเรื่องทำนองที่ทรัพย์สมบัติเหล่าหนึ่งหมายมาสมทบทำพระธาตุแต่การเสร็จลงเสียก่อน จึงทำอนุสรณ์สถานไว้ตรงนั้นตรงนี้ เป็นสัญลักษณ์แสดงเครือข่ายความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา

นั่นก็จริง แต่มีข้อสังเกตบางประการที่ควรมองเพิ่มคือ เจดียสถานเหล่านั้น ไม่ได้มีอายุร่วมสมัยกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร แต่มักจะถูกสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เรื่อยมาจนปัจจุบันก็ยังเห็นมี.ในระยะเวลาตั้งแต่ขอบล่างดังกล่าว เป็นช่วงเดียวกันกับที่อำนาจจากรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เดิมมีแต่เพียงในนาม พยายามเข้าแทรกแซงและมีอิทธิพลเหนือเมืองนครศรีธรรมราชภายหลังการประกาศตนเป็น “เมืองสิบสองนักษัตร” ปกครองเมืองน้อยใหญ่รายรอบได้เบ็ดเสร็จ

เมื่อพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเครื่องมือสำคัญของการผนึกความรู้สึกของผู้คนให้เป็นปึกแผ่น การจะควบคุมศูนย์กลางได้สำเร็จ จึงต้องมุ่งไปที่การสลายผนึกนั้นลงอย่างแยบคายและอาศัยจังหวะที่เหมาะสม

การสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลองและตำนานอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวโยงกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครที่แพร่หลายในคาบสมุทรนี้ อีกมุมหนึ่งจึงอาจเป็นวิธีการตามนโยบายแยกแล้วปกครอง ที่กรุงศรีอยุธยาใช้ในการถ่ายโอนอำนาจจากเมืองใหญ่มาสู่ราชสำนัก

โดยจังหวะที่อาศัยนั้น น่าเชื่อว่าเป็นระลอกของการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์แต่ละคราว อย่างครั้งเก่าสุดที่พบจารึกศักราชบนแผ่นทองคำหุ้มปลียอด ตกในพุทธศักราช ๒๑๕๕ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในแผ่นดินเดียวกันนี้ มาคู่ขนานกับเหตุการณ์การพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาที่ภูมิทานเลณฑุบาตถวายข้าพระโยมสงฆ์เมืองพัทลุง

การกัลปนาครั้งนั้น ถือเป็นการกัลปนาวัดในหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งใหญ่ ที่ได้รวมเอาวัดทั้งหมดตั้งแต่หัวเขาแดงเรื่อยไปตามสันทรายจนถึงเขาพังไกรขึ้นกับวัดหลวง

ศาสนาและการเมืองจึงเป็นเครื่องมือให้แก่กัน เมื่อศาสนามีคุณวิเศษในการรวบรวมศรัทธา ผู้ปกครองที่ต้องการสิ่งเดียวกันนี้หรือประสงค์จะแยกออกจากศูนย์รวมในจุดใด ก็จำเป็นต้องผลิตซ้ำแล้วอาศัยความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดศูนย์รวมศรัทธาในที่แห่งใหม่ โดยผู้คนแทบจะไม่รู้สึกแปลกแยกออกจากฐานคิดเดิมของตนฯ

หมอพื้นบ้าน สืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษ คุณผดุงพร ฤทธิช่วยรอด หรือ (หมอจูน)

ในสถานการณ์ปัจจุบันเราเจอโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดโควิด-19 ทั่วทุกมุมโรคที่ทุกฝ่ายต่างต้องรับมือกันอย่างมากในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และเร็วๆนี้เอง แพทย์ทางเลือกอย่างแพทย์แผนไทยก็เข้ามามีบทบาทในการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยเช่นกัน วันนี้เราจึงเชิญหมอจูน ผู้ซึ่งมีองค์ความรู้เกี่ยวกับทางด้านสมุนไพร องค์รวมของธาตุในร่างกายของคน ที่สามารถรักษาผู้ป่วยจากโรคต่างๆ รวมถึงรักษาตัวเองจากโรคหัวใจให้หายได้ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยสมุนไพร

“คุณผดุงพร ฤทธิช่วยรอด” หรือ (หมอจูน)

คุณผดุงพร ฤทธิช่วยรอด หรือ (หมอจูน)

หมอจูน เป็นหมอพื้นบ้านที่ได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาทางด้านสมุนไพร และมีความรู้จากการนวดของวัดโพธิ์ แต่เส้นทางชีวิตถูกลิขิตให้มาช่วยรักษาคนจากนิมิตรในฝัน ได้คาถามาจากในนิมิตรว่า

“โอม โรคามฤคตินทร์ ติโลกะนาถัง นะวะสังข์ คงคานัง อัคคีนัง เอวัง เจวัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ โพธินัง”

ซึ่งเป็นพลังคลื่นนวสังข์ โดยใช้ศาสตร์ที่ได้จากนิมิตรมาดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะดูจากวันเดือนปีเกิด ธาตุเกิดของเจ้าเรือนคือธาตุไหน ซึ่งธาตุของแต่ละคนจะถูกกำหนดโรคของแต่ละคนมาแล้ว คนส่วนใหญ่จะป่วยจากระบบเลือดในร่างกายของตัวเอง หมอจูนจึงนำศาสตร์นี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย

ธรรมชาติได้สร้างอาหารมาให้มนุษย์

            โดยหมอจูน ได้บอกไว้ว่า จริงๆแล้วธรรมชาติได้สร้างอาหารทางธรรมชาติมาให้มนุษย์แล้ว เพียงแต่มนุษย์ไม่นำมาใช้ให้ถูกต้อง ถ้าร่างกายได้รับสารอาหารที่ถูกกับธาตุ ถูกกับสภาพอากาศ ร่างกายของเราก็จะไม่ป่วย เพราะธรรมชาติจะให้ยาเอาไว้ทุกฤดู ซึ่งในแต่ละฤดูก็จะมีอาหารที่ออกมาเพื่อไว้คอยให้เราได้บริโภค

หมอจูนให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับอาหารธรรมชาติว่า

ทำไมฤดูฝน ผลไม้จะมีรสร้อน

ทำไมฤดูหนาวต้องกินอาหารรสร้อน

ทำไมหน้าแล้ง ให้ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม สัปปะรด แตงโม

มาใช้ในการรักษา นั่นคือ ธรรมชาติให้อาหารที่ครบหมดทุกอย่าง แต่คนไม่เลือกนำมาใช้ จึงทำให้คนเจ็บป่วยได้ง่ายเท่านั้นเอง

เมื่อเรารู้แล้วว่าปัญหาที่ทำให้คนป่วยคือเรื่องของระบบเลือด หมอจูนจึงเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรคที่หมอจูนเป็น หมอจูนป่วยมาตั้งแต่กำเนิด เป็นโรคโลหิตจาง โรคทารัสซีเมียร์ และได้ทำการตรวจเช็คอย่างละเอียดปรากฏว่าหมอจูนเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และมีโรคเกี่ยวกับกระดูก จึงทำการรักษาตัวเอง เพราะถ้ายังรักษาตัวเองไม่ได้ หมอจูนก็คงรักษาคนอื่นไม่ได้เช่นกัน

ในระหว่างที่ทำการรักษาตัวเอง หมอจูนก็ได้ไปเรียนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกระดูก ศาสตร์เกาหลี เพื่อมาช่วยในการรักษาโรคกระดูกที่หมอจูนเป็น ก็ได้ทำการรักษาตัวเอง และในระหว่างการรักษาตัวเองก็ได้ทำการรักษาผู้ป่วยท่านอื่นๆด้วย รักษาผู้ป่วยอื่นมาตั้งแต่ปี 2545 เริ่มรักษาจากการนวด โดยเปิดตำรา ว่าโรคเป็นยังไง สาเหตุของโรคเป็นยังไง และการวิ่งของระบบเส้นเอ็น หรือเส้นประสาท เป็นยังไง ซึ่งระบบประสาท คือระบบพลังงานแห่งกายที่เป็นแรงสั่นสะเทือนของพลังแสง เหมือนระบบหยิน หยาง ของจีน  คือระบบพลังงานไฟฟ้าแห่งกายและก็คือระบบประสาท และเมื่ออายุหมอจูนมากขึ้นในช่วงวัยเกษียณก็เลิกรักษาด้วยการนวด เพราะด้วยร่างกายและอายุที่มากขึ้น เลยหันมาศึกษาพัฒนาเกี่ยวกับสมุนไพรแทน เพื่อที่จะผลิต ผลิตภัณฑ์ ออกมาช่วยผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อที่จะได้สามารถดูแลรักษาตัวเองได้เบื้องต้น

อย่างเช่น อาการปวดเมื่อยร่างกาย เป็นการบ่งบอกว่าร่างกายป่วยแล้ว ทำงานเยอะจนร่างกายเกร็งก็ไปบีบหลอดเลือดให้ลีบลง ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อเรานวดกระจายกล้ามเนื้อ เลือดก็จะไหลเวียนได้สะดวก อย่างที่คนโบราณกล่าว เลือดลมดี สุขภาพดี ลมเป็นตัวพัดพาเลือดไปเลี้ยงในร่างกาย จึงต้องพยายามถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น และปรับในเรื่องการทานอาหาร ถ้ากรณีที่ระบบย่อยอาหารไม่ได้ ต้องไม่ทานข้าวหลัง 4 โมงเย็น เพราะเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ธาตุไฟไม่ทำงานแล้ว ธาตุน้ำจะเริ่มทำงานแทน โดยพระอาทิตย์ธาตุไฟทำงานกลางวัน พระจันทร์ธาตุน้ำทำงานกลางคืน เพราะฉะนั้นพระจันทร์จะซ่อมแซม ถ้าไปทานอาหารตอนกลางคืนแล้วนอน ร่างกายไม่ได้ซ่อมแซม แต่อาหารที่ทานเข้าไปเกิดการหมักดอง ของเชื้อโรค อาหารก็จะเน่าเสียทันที ยิ่งตอนเช้าไม่ได้ถ่ายด้วย ร่างกายก็จะดึงของเสียนั้นไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เป็นโรคเซลล์เสื่อมโดยส่วนใหญ่ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน มาจากโรคเซลล์เสื่อม เกิดการอักเสบ ร่างกายเราจะทำงานได้ดีแค่บ่าย 2 โมง ร่างกายจะมีนาฬิกาซ่อมแซม ซึ่งสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ถ้าเราทานอาหารครบอย่างที่ธรรมชาติกำหนดไว้ให้

การรักษาในแบบของแพทย์แผนไทยถ้าเรามองให้ดีมันมีเสน่ห์ของการรักษาในศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันไปมาที่มากกว่าการแพทย์ซึ่งได้แก่

-ศาสตร์ทางพุทธศาสนา

-ศาสตร์ทางโหรศาสตร์

-ศาสตร์ทางพฤกษศาสตร์

-ศาสตร์ทางความเชื่อ

            ศาสตร์ทั้งหมดที่กล่าวมา ทางหมอจูนได้นำไปใช้รักษากับชาวห้วยปริก ในเคสล่าสุดที่ผ่านมาคือเส้นเลือดแกนสมองปริ ในทางแพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าไม่น่ารอด แต่ถ้าจะให้หมอจูนรักษาต้องเชื่อในสิ่งที่หมอจูนบอก โดยวิธีการรักษาถามวัน เดือน ปี เกิด อารมณ์ ธาตุต่างๆในร่างกาย โดยหมอจูนได้ให้ทานยาบำรุงโลหิต ยาบำรุงเส้นเอ็น และอวัยวะพิเศษ และใช้วิธีการนวดกระตุ้นเพื่อให้ระบบเลือดไหลเวียนได้เร็วที่สุด เพราะเซลล์เม็ดเลือดมีอายุได้เพียง 120 วัน และถ้าเราเปลี่ยนถ่ายเซลล์เม็ดเลือดได้ภายใน 3 เดือนก็จะสามารถฟื้นฟูได้ ยกเว้นคนนั้นเป็นโรคกรรมยางหนัก คือโรคที่เราไม่สามารถไปแก้กรรมเค้าได้

ซึ่งในการรักษาโรคต่างๆ หมอจูนได้นำศาสตร์ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยมาทำการประยุกต์เข้ารักษา เพราะ “การรักษาแผนโบราณจะรักษาได้แค่เรื่องธาตุ ปรับสมดุลธาตุ แต่ในเรื่องของทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่ป่วยแบบกะทันหัน หรือติดเชื้อ ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล หมอแพทย์แผนไทยไม่สามารถรักษาได้ ในขณะนั้น และหลังจากที่ได้รักษาแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว และต้องการมาฟื้นฟูเซลล์ เพื่อสุขภาพ เราต้องใช้ธรรมชาติในการบำบัด เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบำบัดธาตุได้ทั้งหมด”

การรักษาของหมอจูนแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

1.การรักษาด้วยวิธีทานยาต้ม อันนี้จะใช้รักษากับคนที่เป็นโรคเซลล์เสื่อม เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน กลุ่มนี้จะนวดเยอะไม่ได้จะนวดได้แค่เพื่อสุขภาพ จึงต้องใช้ยาสมุนไพรเข้ามาช่วย

2.การรักษาโดยวิธีการนวด เช่น คนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องใช้วิธีทั้งนวด และต้มยาสมุนไพรให้ทาน ถึงจะสามารถช่วยให้หายได้

นอกจากการรักษาทางแพทย์แผนไทยแล้ว ความเชื่อก็มีส่วนในการรักษาด้วยเช่นกัน เพราะการป่วยบางครั้งไม่ได้ป่วยจากโรคในกาย แต่เป็นการป่วยทางด้านจิตวิญญาณก็มี  ดังนั้นเมื่อจะรักษาเราต้องแก้ความเชื่อให้ได้ก่อน ซึ่งความเชื่อทางด้านนี้มีมากถึง 60-70%

เมื่อเราอ่านธรรมชาติให้ออก เราก็จะอ่านอาการเจ็บป่วยไม่สบายของเราได้ ต้องสังเกตตัวเองว่าธาตุเราคืออะไร ปรับสมดุลธาตุได้ไหม และการนั่งสมาธิสามารถก็สามารถช่วยรักษาโรคได้ โดยการกำหนดจิตในการหายใจลงไปยังที่สะดือให้ถูกต้อง คุณก็สามารถรักษาอาการของคุณได้

และในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดโรคโควิด หมอจูนได้แนะนำยาแพทย์แผนไทนที่ควรทาน เพื่อป้องกัน หรือช่วยบรรเทาอาการนั้น ปกติจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน คือเบญจรงค์ กับวิเชียร หรือยา 5 ราก จะเป็นยาแก้ไข้พิษ ไข้กาล และยาจันทลีลา หรือใช้หญ้าน้ำนมราชสีห์ สำหรับเวลามีไข้มากๆ ซึ่งสามารถช่วยรักษาต่อมทอลซินอักเสบได้ด้วย

ในการพูดคุยวันนี้ หมอจูนเป็นหมอพื้นบ้านที่ต้องบอกว่า นำศาสตร์ในตำนานโบราณ ที่อ่านแล้วไม่ได้เชื่อไปตามนั้นแต่เป็นการอ่านแล้วนำมาสังเคราะห์ วิเคราะห์ เอามาเชิงเปรียบเทียบกับในด้านวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน ทำให้หมอจูนสามารถรักษาตัวเองผ่านพ้นวิกฤตทางด้านร่างกายมาได้ และนำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษามา มาแบ่งปันและช่วยรักษาผู้ป่วยให้กับชาวห้วยปริก และคนนครฯ

ใครแต่ง ? ตำนานพระธาตุเมืองนคร

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ใช้ตั้งสมมติฐานว่าใครแต่งนี้ คือ “ฉบับกระดาษฝรั่ง” สำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ คัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ และถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ครั้งที่ได้เคยชวนอ่านและทบทวนกันแล้วทาง Nakhon Si sTation Platform (NSTP) เป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โปรดดู https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/

การตั้งคำถามว่า “ใครแต่ง ?” ต่อตำนานพระธาตุฯ ในฐานะสิ่งสืบทอดเป็นคติชนท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การชี้ตัวของผู้แต่งชนิดที่เค้นเอาว่าชื่อเสียงเรียงนามกระไร แต่คิดว่าจากโครงเรื่องและองค์ประกอบของเนื้อหาจะสามารถทำให้ภาพของผู้เขียนบีบแคบลงได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้เห็นความจำเป็นบางประการที่อาจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการแต่ง ดังจะลองยกข้อสังเกตมาชวนกันพิจารณา ดังนี้

ตำนานพระธาตุ มีวิธีการเริ่มเรื่องในแต่ละฉากคล้ายบทละคร คือตั้งนามเมือง ออกพระนามของกษัตริย์และชายา โดยตัวละครที่ปรากฏมาจากการยืมจากทั้งวรรณคดี ชาดก และบุคคลในประวัติศาสตร์ ในที่นี้เนื่องจากฝ่ายกษัตริย์ต่างออกพระนามคล้ายกันคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ยกเว้นเมืองทนทบุรีและชนทบุรี) จึงยกเฉพาะฝ่ายสตรีเป็นข้อสังเกต เช่น

๑. เมืองทนทบุรี (เมืองที่ประดิษฐานพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางมหาเทวี” เป็นพระอัครมเหสีของท้าวโกสีหราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาเทวี” ชื่อพี่สาวของพระเจ้าช้างเผือกแห่งเมืองเมาะตะมะ จากเรื่องราชาธิราช

๒. เมืองชนทบุรี (เมืองที่แย่งชิงพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางจันทเทวี” เป็นอัครมเหสีของอังกุศราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาจันทเทวี” มเหสีพระยาอู่ กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของหงสาวดี มีพระธิดาองค์เดียวคือ “ตะละแม่ท้าว” อัครมเหสีของราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ จากเรื่องราชาธิราช ในเรื่องนี้เรียกนามนี้ว่า “มุชีพ” ส่วนอีกประเด็นคือ “จันทเทวี” เป็นอิสริยยศด้วยอย่างหนึ่งของทางหงสาวดี

๓. เมืองมัธยมประเทศ (เมืองที่ขอแบ่งพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางสันทมิตรา” เป็นอัครมเหสีของพระยาธรรมโศกราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางอสันธิมิตรา” อัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช

๔. ฝ่ายตะวันตก

ระบุว่ามี “นางจันทาเทวี” เป็นอัครมเหสีของพระยาศรีไสณรง 
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางจันทาเทวี” หนึ่งในมเหสีของบุเรงนองแห่งตองอู ยายของนัดจินหน่องประการหนึ่ง
“นางจันทาเทวี” ในสุวรรณสังขชาดกประการหนึ่ง และ “นางจันทาเทวี” ในสังข์ทองอีกประการหนึ่ง

๕. เมืองหงษาวดี

ระบุว่า “ท้าวเจตราช” เป็นพระราชบุตรของพญาศรีธรรมโศกราชกับนางสังขเทพ
น่าจะมีต้นเค้าจาก “เจ้าเจตราช” ผู้ครองเมืองเจตราช จากกัณฑ์ประเวศน์ เวสสันดรชาดก

ความจริงพิจารณาเท่านี้ก็น่าจะพออนุมานได้แล้ว
ว่าผู้แต่งควรมีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็น “มอญ” จากรอยที่ทิ้งไว้

เพื่อคลี่ขยายให้ชัดขึ้น เราต้องลองมาพิจารณาเนื้อความของตำนานที่อาจจะเป็น “รอยมอญ” กันต่อไป ในที่นี้จะขอยก ๒ ตำแหน่งที่อาจส่งความเกี่ยวเนื่องกัน

ตอนต้น

“ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล

ตอนปลาย

“ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ในตอนต้น ตำนานกล่าวว่าเมื่ออพยพไพร่พลและญาติวงศ์ออกมาจากหงษาวดีแล้วไปตั้งอยู่ที่ “ริมชเล” ก่อนไข้ยุบลมหายักษ์ระลอกใหม่จะระบาดจนต้องยกย้ายไปกระหม่อมโคกแล้วสร้าง “นครศรีธรรมราชมหานคร” “ริมชเล” ที่แวะพักนั้น ในตำนานระบุว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ทำการวางแผนสร้างบ้านแปงเมือง น่าเชื่อได้ว่าจะคือส่วนหนึ่งของตะนาวศรีที่มาปรากฏอีกครั้งในตอนปลาย

ดังได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ใน “ตำนานพระธาตุเมืองนคร (ฉบับกระดาษฝรั่ง) เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?” แล้วที่ https://nakhonsistation.com/ตำนานพระธาตุเมืองนคร-เข/ ว่าตอนปลายของตำนานอาจเป็นข้อพินิจได้ด้วยว่า “ใครแต่ง ?”

จากที่ช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไปจนถึง ๒๑๙๗ เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครอง ประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีข้อสังเกตคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจเพราะในช่วงท้าย วัตถุประสงค์ของการเขียนตำนานเปลี่ยนไปจากเดิมเล่าความของพระธาตุมาเป็นการแสดงทำเนียบเจ้าเมือง หรือด้วยเพราะอาจจงใจอำพรางลางเมืองเพื่อต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

แน่นอนว่า การที่พระญาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาครองเมืองนครศรีธรรมราช จึงต้องส่งอิทธิพลต่อการแต่งและเขียนตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชฉบับนี้อย่างไม่พ้นได้ ดังได้ยกตัวอย่างการให้ชื่อบุคคลในข้างต้นและเนื้อหาส่วนชี้ความสำคัญของเมืองตะนาวศรีแล้วในข้างท้าย (ส่วนการยืมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างประกาศิตในต้นตำนานจริงว่าอาจเป็นอีกประการร่วมพิจารณา แต่จะขอยกไว้ค้นคว้าต่อเพิ่มเติมด้วยเห็นว่าเพียงพอต่อการตั้งสมมติฐาน)

“มอญตะนาวศรี” จึงอาจคือพลังขับในการแต่งตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับนี้ 

____

ภาพจากปก :
สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๙