เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช

เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบ ฉบับเมืองนครศรีธรรมราช

นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีความผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา  บทบาททางพระพุทธศาสนาแฝงอยู่ในวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับประเพณีและพิธีกรรม  ดังจะเห็นว่ามีประเพณีที่นับเนื่องในพระพุทธศาสนาถูกเคล้าเข้าด้วยคตินิยมและธรรมเนียมท้องถิ่นอย่างลงตัว เช่น ประเพณีบุญเดือนห้า ชักพระ (บางแห่งเรียกลากพระ) โดยเฉพาะประเพณีบุญสารทเดือนสิบซึ่งถือว่าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช

ประเพณีเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช หลักฐานเก่าสุดในเอกสารโบราณตำรา 12 เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เรียก “พิธีสารท” เป็นประเพณีที่สำคัญอยู่คู่กับเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่มีข้อสรุป แต่ในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการสนับสนุนคุณค่ายกระดับขึ้นเป็นเทศกาลและเป็นวิถีปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน มีการสืบทอดในเรื่องทัศนคติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ความเชื่อเรื่องกรรม สวรรค์ นรก และวิญญาณ ผู้ทำดีเมื่อถึงแก่กรรมย่อมสู่สุคติภูมิบนสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำความชั่ว เมื่อถึงแก่ความตายย่อมสู่แดนแห่งทุกข์ตกอยู่ในนรก รับผลกรรมที่ก่อ ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานทำให้แต่ละปีมายังชีพ

ประเพณีทำบุญเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ล่วงลับที่เรียกว่า “เปรต” ให้ขึ้นมาจากนรก และจะเรียกตัวกลับไปในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10  ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวนครจะจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นการต้อนรับญาติที่ขึ้นมาจากนรกเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย” หรือ “วันหมรับเล็ก” (หมรับ อ่านว่า หฺมฺรับ มาจากคำว่า สำรับ แปลว่า ของหรือคนที่รวมกันเข้าได้ไม่ผิดหมู่ผิดพวกเป็นชุดเป็นวง)และในวันแรม 15 ค่ำ เรียกว่านี้ว่า “วันส่งตายาย” หรือ  “วันหมรับใหญ่” ด้วยการจัดหมรับโดยการนำเครื่องอุปโภค บริโภค และขนมอันเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมดีซำ และขนมบ้า

เมื่อจัดหมรับเรียบร้อยจึงยกหมรับไปวัด ฉลองหมรับและบังสุกุล ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป หลังจากนั้นจะเป็นการตั้งเปรต แต่เดิมทำโดยเอาอาหารอีกส่วนหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้คือขนม 5 อย่างข้างต้น ไปวางไว้ตามตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด หรือตามโคนต้นไม้

ภายหลังมีการสร้างร้านขึ้นสูงพอสมควรเรียกว่า “หลาเปรต” แล้วนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อสวดบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรตเพื่อแผ่ส่วนกุศล เมื่อเสร็จพิธี ประธานสงฆ์ก็จะชักสายสิญจน์เป็นสัญญาณให้ลูกหลานเข้าไปเสสัง มังคะลาฯ บรรดาของที่ตั้งไว้นั้นกันตามธรรมเนียม และด้วยว่าเป็นประเพณีประจำปีที่มีคนหมู่มากรวมตัวกันร่วมพิธี

การเข้าไปขอคืนเศษภัตตาหารอันมงคลที่เหลือเหล่านั้นจึงติดไปข้างชุลมุนจนต้องแย่งต้องชิงกัน กิจนี้จึงมีคำเรียกว่า  “ชิงเปรต” ตามอาการที่เป็น เพราะล้วนมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้กินจะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อถึงเทศกาลประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ชาวนครศรีธรรมราชต่างกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อร่วมพิธีกรรมอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ทั้งนี้ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีการจัดในหลายพื้นที่ของภาคใต้  ส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช นับว่ามีการจัดแบบประเพณีประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น ขบวนแห่หมรับที่งดงามจากหลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมงานประเพณี มีการประกวดหมรับซึ่งคนในพื้นที่เขตอำเภอต่างๆ จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มร่วมกันจัดทำรถหมรับที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มตนเองโดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งในขบวนแห่ที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต ในขบวนแห่หมรับมีการจัดทำหุ่นเปรต รวมไปถึงยมทูต ยมบาลที่อยู่ในนรก เพื่อแสดงให้ลูกหลานเกรงกลัว และไม่ประพฤติตนผิดศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา  ด้านศิลปวัฒนธรรมก็มีการประกวดประชันหลายกิจกรรม เช่น หนังตะลุง มโนห์รา เพลงร้องเรือ กลอนสด หลายกิจกรรมมีการอนุรักษ์สืบทอดมาตั้งแต่อดีต

ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้ให้ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบก็เป็นอีกหนึ่งในนั้นที่ส่งเสริมด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดกิจกรรม   ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างและสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น  แต่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดมีดังต่อไปนี้ 

สถานที่จัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มต้นครั้งแรกใน ปีพ.ศ. 2466 โดยใช้สถานที่จัดงานบริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช  และจัดติดต่อกันจนกระทั่งปี พ.ศ.2535  จึงได้ย้ายไปจัดบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  ในปี พ.ศ.2549 มีการจัดงานเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการฉลองเนื่องในมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9  ซึ่งทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

โดยกำหนดสถานที่จัดงาน 3 แห่งคือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  และต่อมาได้มีการลดสถานที่ในการจัดลงเหลือเพียงแค่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  สำหรับปี พ.ศ. 2563 นี้  ทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานเป็นสถานที่เดียวกันคือ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) 

ระยะเวลาในการจัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบในช่วงแรกๆ  มีการจัดเพียง 3 วัน 3 คืน  คือเริ่มตั้งแต่  วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10  ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จัดขึ้นเพียงเพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ  แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มระยะเวลาในการจัดงานขึ้นมาเป็น 10 วัน 10 คืน  และได้เพิ่มเติมในส่วนกิจกรรมต่างๆมากมาย  เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช  ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สำหรับประจำปี พ.ศ. 2563 นี้  กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11 – 20 กันยายน 2563 

กิจกรรมภายในงาน

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการอนุรักษ์และสืบทอดสิ่งเหล่านี้จึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆขึ้น ดังนี้

กิจกรรม วันที่จัดงาน เงินรางวัล หน่วยงานรับผิดชอบ
1. การประชันหนังตะลุงอาชีพชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบคัดเลือก

13–15 กันยายน 2563

รอบคัดเลือก

20 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช

2. การประกวดเพลงร้องเรือชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระดับเยาวชนรุ่นอายุ              ไม่เกิน 19 ปี

17 กันยายน 2563

ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป รุ่นอายุ 19 ปีขึ้นไป

18 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

อาศรมวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย                  วลัยลักษณ์

3. การประชันหนังตะลุงเยาวชน   อบจ.นศ.
4. การประกวดมโนห์ราเยาวชน   อบจ.นศ.
5.การประกวดกลอนสด   อบจ.นศ. ร่วมกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
6. การประกวดหุ่นเปรต  และขบวนแห่หุ่นเปรต 15 กันยายน 2563 อบจ.นศ. ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าว                 จ.นครศรีธรรมราช
7. ขบวนแห่หมรับ 16 กันยายน 2563

 

อัตลักษณ์ของงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

4.1 ขบวนแห่หมรับ

ในอดีตคือการที่คนในหมู่บ้านร่วมกันแห่เพื่อนำหมรับไปกอบพิธีกรรมที่วัดคือ  ชาวบ้านจะช่วยกันตั้งขบวนการจัดจนไปถึงขั้นตอนการนำหมรับไปประกอบพิธีกรรม  แต่การแห่หมรับในปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมจัดขบวนแห่หมรับขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวตนรวมถึงอัตลักษณ์ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งสะท้อนผ่านขบวนแห่ในหลายๆ ด้าน เช่น

1) ศิลปวัฒนธรรม นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปะและวัฒนธรรมมากมาย ทั้งหนังตะลุง มโนห์รา  รวมไปถึงประเพณีต่างๆของจังหวัด  เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด  ในขบวนแห่ก็มีการแสดงให้เห็นถึงประเพณีโดยมีการสร้าง พระบรมธาตุเจดีย์จำลองขึ้นมาร่วมกันแห่ในขบวนแห่หมรับ มีการเชิดหนังตะลุง  มโนห์รา เป็นต้น จากที่ยกตัวอย่างมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการสื่อให้เห็นว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างดี

2) วิถีชีวิต  และความเป็นอยู่ ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองเกษตรกรรม  มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับการทำเกษตร  ทั้งการประกอบอาชีพ  ทำนา ทำสวนยาง เป็นต้น  ทั้งที่ในปัจจุบันคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็มีการปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพ ตามภาวะทางเศรษฐกิจ มีการเข้าไปทำงานในระบบอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น การทำการเกษตรก็ลดน้อยลง  แต่ก็ยังคงมีคนในหลายอำเภอที่ยังคงยึดการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม  และผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัด เช่น มังคุด คีรีวงที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ  และส้มโอทับทิมสยาม เป็นต้น

3) การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากขึ้น  ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  ของใช้ และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารที่แสดงถึงศักยภาพ มีคุณค่า  และเอกลักษณ์  ยกตัวอย่างเช่น ผ้ายกเมืองนคร  หัตถกรรมกระจูด  ปลาดุกรา  จักสานย่านลิเภา  เป็นต้น สินค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มีการนำมาร่วมในขบวนแหม่หมรับด้วย

4) ความร่วมมือร่วมใจของคนนครศรีธรรมราช  ที่ได้รับความร่วมมือจากหลาย ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีขบวนจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน ห้างร้าน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช  องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  และคนในเขตพื้นที่อำเภอต่างๆ  ซึ่งจะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มจะร่วมกันจัดทำรถหมรับ และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มจนเองผ่านขบวนที่จัดทำขึ้น  โดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา  กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

4.2 เปรต 

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต  มีการจัดทำหุ่นเปรต ในขบวนแห่ รวมถึงการประกวดหุ่นเปรตและขบวนแห่ เพื่อแสดงให้เกรงกลัว และไม่ประพฤติตนที่ไม่ดี ซึ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องการสอนให้ลูกหลานประพฤติตนตามหลักธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา

เปรตมีการแบ่งเป็น 4 ประเภท 12 ตระกูล 21 ชนิด

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนามีการกล่าวถึง “เปรต” อยู่หลายแห่ง อย่างในไตรภูมิพระร่วง   อันเป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท (พระธรรมราชาที่ 3) ที่สอนให้คนกลัวบาปและทำความดี ได้มีการกล่าวถึง  “เปรตภูมิ” ว่าเป็นหนึ่งในอบายภูมิ 4 ซึ่งคนชั่วตายแล้วต้องไปเกิดเพื่อชดใช้กรรม ภูมิทั้ง ๔ ได้แก่ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสุรกายภูมิ โดยเปรตภูมิ นั้น เป็นดินแดนของผู้ที่ต้องรับกรรมด้วยความทุกข์ทรมานจากความหิวโหยอดอยากบ้าง จากความร้อนหนาวอย่างที่สุดบ้าง จากความเจ็บปวดอย่างที่สุดบ้าง และเปรตมีอยู่หลายจำพวกอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งบนเขา ในน้ำ ในป่า ตามต้นไม้ใหญ่ บางพวกข้างแรมเป็นเปรต ข้างขึ้นเป็นเทวดา บางพวกเป็นเปรตไฮโซ ได้อยู่ปราสาทแก้ว มีกำแพงแก้ว คูแก้วที่สวยงามล้อมรอบ บางพวก ก็มีข้าทาสบริวาร มียวดยานพาหนะขี่ท่องเที่ยวไปในอากาศได้ และมีบางพวกที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว  น่าเวทนา ต้องทรมานเพราะอดข้าวอดน้ำ ต้องกินสิ่งสกปรกโสโครก กินเนื้อหนังของตนเอง ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ขึ้นกับความหนักเบาของกรรมชั่วที่ก่อนั่นเอง ดังตัวอย่างเช่น เปรตบางตนตัวงามดั่งทอง แต่ปากเหม็นมาก มีหนอนเต็มปาก เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเคยรักษาศีลมาก่อนตัวจึงงาม แต่เพราะได้ติเตียนยุยงพระสงฆ์ให้แตกแยก ปากจึงเหม็นมีหนอนเจาะไช เปรตบางตนเคยเป็นนายเมืองตัดสินความโดยรับสินบน กลับผิดเป็นถูก ไม่มีความยุติธรรม เมื่อตายไป จะเป็นเปรตที่มีวิมานเหมือนเทวดา มีเครื่องประดับแก้วแหวนเงินทองมีนางฟ้าเป็นบริวาร แต่จะได้รับความลำบากคือไม่มีอาหารจะกิน ต้องเอาเล็บขูดเนื้อหนังตัวเองมากิน เปรตบางพวกกระหายน้ำ แต่ดื่มไม่ได้ เพราะน้ำจะกลายเป็นไฟเผาตน พวกนี้ตอนมีชีวิตอยู่ชอบรังแกคนที่อ่อนแอลำบากกว่าเอาของเขามาเป็นของตน และชอบใส่ร้ายคนอื่น

ส่วนในพระไตรปิฎกก็มีการกล่าวถึงพระสาวกว่าได้พบเห็นและมีโอกาสสนทนากับเปรตโดยเปรตแต่ละตนก็จะเล่าว่าตนได้ทำกรรมอะไรบ้างสมัยเป็นมนุษย์ ครั้นตายลงจึงต้องมาเสวยผลกรรมดังที่เห็น

สำหรับเปรตที่มีการแบ่งเป็นหลายพวกหลายประเภทและมีชื่อเรียกต่างๆ ส่วนใหญ่ จะอยู่ในอรรถกถา ซึ่งเป็นคำภีร์ที่รวบรวมคำอธิบายความในพระไตรปิฎกในภาษาบาลี เรียกว่า คัมภีร์อรรถกถา บ้าง ปกรณ์อรรถกถาบ้าง แต่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพียงแต่เป็นการอธิบายความหรือคำยากเพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น

หนึ่งในอรรถกถาได้พูดถึง เปตวัตถุ (วัตถุที่นี้ แปลว่า เรื่อง เปตวัตถุ = เรื่องของเปรต) ว่าแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ปรทัตตูปชีวิกเปรต (ปอ-ระ-ทัด-ตู-ปะ-ชี-วิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการรับอาหารที่ผู้อื่นให้ โดยการเซ่นไหว้ เป็นต้น และเป็นเปรตประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศล ที่มนุษย์อุทิศให้

2. ขุปปีปาสิกเปรต (ขุบ-ปี-ปา-สิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่อดอยาก จะหิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา

3. นิชฌามตัณหิกเปรต (นิ-ชา-มะ-ตัน-หิ-กะ-เปด) คือ เปรตที่ถูกไฟเผาไหม้ให้เร่าร้อนอยู่เสมอ

กาลกัญจิกเปรต (กา-ละ-กัน-จิ-กะ-เปด) คือ เปรตจำพวกอสุรกาย มีร่างกายใหญ่โต    แต่กลับไม่มีเรี่ยวแรง มีปากเล็กเท่ารูเข็มอยู่บนกลางศีรษะ ตาโปนเหมือนตาปู

นอกจากแบ่งตามข้างต้นแล้ว ในคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์ (คัมภีร์ที่อธิบายถึงการเกิดของมนุษย์และภพภูมิต่างๆ) รวมถึง ฉคติทีปนีปกรณ์ (คัมภีร์ว่าด้วยความรู้แจ้งแห่งภพทั้ง 6) ได้แบ่งเปรตออกเป็น 12 ตระกูลและได้พูดถึงกรรมที่ทำให้ไปเป็นเปรตแต่ละตระกูล ดังนี้

1. วันตาสาเปรต เป็นเปรตที่กินน้ำลาย เสมหะและอาเจียนเป็นอาหาร กรรมคือ ชาติก่อนเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เห็นใครมาขออาหารก็ถ่มน้ำลายใส่ด้วยความรังเกียจ หรือเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่เคารพสถานที่ ถ่มน้ำลายเสลดในสถานที่เหล่านั้น

2. กุณปาสทาเปรต เป็นเปรตที่กินซากศพคนหรือสัตว์เป็นอาหาร กรรมคือ เคยเป็นคนตระหนี่ ใครมาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยต้องการแกล้งประชด ไม่เคารพในทานที่ทำ

3. คูถขาทกเปรต เป็นเปรตที่กินอุจจาระเป็นอาหาร กรรมคือ ตระหนี่จัด เมื่อญาติตกทุกข์ได้ยากหรือมีใครมาขอความช่วยเหลือขอข้าว ขอน้ำ จะเกิดอาการขุ่นเคืองทันที แล้วชี้ให้คนที่มาขอไปกินมูลสัตว์แทน

4. อัคคิชาลมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเปลวไฟลุกในปากตลอดเวลา กรรมคือ ตระหนี่เหนียวแน่น ใครมาขอ อะไร ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวเขาดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังกลั่นแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบและเลิกมาขอ

5. สุจิมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเท้าใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะกินแต่ละทีต้องทุกข์ทรมานมาก กรรมคือ ใครมาขออาหารก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาจะถวายทานแก่สมณพราหมณ์หรือผู้ทรงศีล หวงทรัพย์

6. ตัณหัฏฏิตเปรต เป็นเปรตที่หิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา แม้จะมองเห็นแหล่งน้ำแล้ว พอไปถึงก็กลับกลายเป็นสิ่งอื่นดื่มกินไม่ได้ กรรมคือ เป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อหม้อข้าว ไม่ให้คนอื่นกิน

7. นิชฌามกเปรต เป็นเปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา ตัวสูงชะลูด มือเท้าเป็นง่อย ปากเหม็น กรรมคือ เป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลจะโกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่าท่านเหล่านั้นจะมาขอของๆ ตน จึงแสดงกิริยาหยาบคายและขับไล่ท่านเหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่แก่เฒ่าเกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็แกล้งให้ท่านตายไว ตัวจะได้ครองสมบัติของท่าน

8. สัพพังคเปรต เป็นเปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้าคมเหมือนมีดและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาข่วนร่างกายเป็นแผลและกินเลือดเนื้อตัวเองเป็นอาหาร กรรมคือ ชอบขูดรีดหรือเอาเปรียบชาวบ้าน หรือชอบรังแกหยิกข่วนพ่อแม่

9. ปัพพตังคเปรต เป็นเปรตที่มีร่างกายใหญ่โตเหมือนภูเขา แต่ต้องถูกไฟเผาคลอกอยู่ตลอดเวลา กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์ได้เอาไฟไปเผาบ้านเผาเรือนผู้อื่น

10. อชครเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์เดียรัจฉาน และจะถูกเผาไหม้ทั้งวันทั้งคืน กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เห็นผู้มีศีลมาเยือนก็มักด่าเปรียบเปรยว่าท่านเป็นสัตว์ เพราะไม่อยากทำทาน

11. มหิทธิกเปรต เป็นเปรตที่มีฤทธิ์มากและรูปงามเหมือนเทวดา แต่อดอยากหิวโหยตลอดเวลา เมื่อเจอของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหาร กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เคยบวชเรียน และพยายามรักษาศีล จึงมีรูปงาม แต่เกียจคร้านต่อการบำเพ็ญธรรม จิตใจจึงยังเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง

12. เวมานิกเปรต เป็นเปรตที่มีวิมานคล้ายเทวดา แต่จะเสวยสุขได้เฉพาะกลางวัน พอกลางคือก็จะเสวยทุกข์ กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์

นอกเหนือจากเปรตข้างต้นแล้ว ในพระวินัยและลักขณสังยุตต์พระบาลี ยังได้พูดถึงเปรตอีก   21 จำพวก ได้แก่

1. อัฏฐีสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อนๆ แต่ไม่มีเนื้อ

2. มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้นๆ แต่ไม่มีกระดูก

3. มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อนๆ

4. นิจฉวิเปรต เปรตที่ไม่มีหนังหุ้ม

5. อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์

6. สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก

7. อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู

8. สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม

9. ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มอีกแบบ

10. กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก

11. คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ

12. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ

13. นิจฉวิตกิเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง

14. ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า

15. โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ

16. อลิสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ

17. ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนพระ

18. ภิกขุนีเปรตเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนภิกษุณี

19. สิกขมานเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็น

เวลา 2 ปี เพื่อบวชเป็นภิกษุณี)

20. สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณร

21. สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณรี

จะเห็นว่า เปรตในพระคัมภีร์แต่ละฉบับนั้นใช้หลักเกณฑ์ในการแบ่งประเภทแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ใน พระคัมภีร์อรรถกถาแบ่งตามฐานะ พระคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์แบ่งตามกรรม และพระวินัยลักขณะสังยุตต์พระบาลีแบ่งตามลักษณะ

 กิจกรรมและประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับเปรตของนครศรีธรรมราชที่มีและใช้กันในปัจจุบันมีหลายลักษณะ  เช่น

ด้านสำนวนภาษา  มีสำนวนที่เกี่ยวกับเปรตอยู่มาก  โดยนำมาเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมขึ้น  และมักจะเป็นความหมายในแง่ไม่ดี  เช่น

สูงเหมือนเปรต               :   สูงผอมชะลูดเกินไปจนผิดส่วน

ผอมเหมือนเปรต             :   ผอมมากจนผิดปกติ

กินเหมือนเปรต              :   กินตะกละอย่างตายอดตายอยากมานาน

เสียงเหมือนเปรต            :   เสียงแหลม เล็ก สูง เกินคนธรรมดา

ขี้คร้านเหมือนเปรต         :   ไม่ค่อยทำอะไร  คอยแต่จะพึ่งผู้อื่น  (คอยรับส่วนบุญ)

อยู่เหมือนเปรต               :   รูปไม่งาม  (โหมระ)  จนผิดปกติ

การทำอาหาร  ขนมเดือน 10  จะเห็นได้ว่าชาวนครศรีธรรมราชมีภูมิปัญญาในการถนอมอาหารเป็นอย่างดี  ขนมที่นำไปในพิธีรับส่งเปรตจะเป็นประเภทเก็บไว้ได้นาน  โดยไม่ต้องมีตู้เย็น  เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมซำ  และขนมไข่ปลา  ล้วนเป็นประเภทไม่เสียง่าย สามารถเก็บไว้ได้นานพอสมควร

สะท้อนให้เห็นวิธีการอบรมความประพฤติและพฤติกรรมของคนในสังคมให้ประพฤติและปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร  ไม่ทำชั่ว  โดยอาศัยความเชื่อเรื่อง  กรรม  บาปบุญคุณโทษ  ควบคุมกาย วาจา และใจ  ให้ปฏิบัติและสิ่งที่ดี  ละชั่ว  โดยใช้เปรตเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษผู้กระทำผิด ขู่ให้เกรงกลัวไม่อยากเป็นและอยู่ในภาวะของเปรตทำให้สังคมสงบสุขได้ ความคิดความเชื่อเรื่องเปรต  จึงมีประโยชน์ต่อคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชพอสมควร 

 4.3 ขนมที่ใช้ในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

ขนมเดือนสิบที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย มี 5 ชนิด  คือ  ขนมพอง  ขนมลา  ขนมบ้า  ขนมดีซำ  และขนมไข่ปลา  ขนมทั้ง 5 ชนิดนี้นำไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการจัดหมรับ  ซึ่งขนมทุกชนิดมีความหมายในการที่จะให้บรรพบุรุษนำไปใช้เป็นสิ่งของแทนสิ่งต่างๆ ในนรกภูมิ มีการใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงเครื่องใช้ที่แตกต่างกันดังนี้

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม ความหมายอื่นๆ
ขนมลา แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม  – ห้วงมหรรณพ

– อาหารของเปรตปากเท่ารูเข็มเนื่องจากขนมลามีเส้นเล็ก เชื่อว่าเปรตปากเท่ารูเข็มจะสามารถกินได้

ขนมพอง แพ  สำหรับล่องข้ามห้วงมหรรณพ  หมายถึงการนำไปสู่การเข้านิพพาน  – เรือ

– เครื่องประดับ

– ยานพาหนะ

ขนมบ้า สะบ้า เหรียญเงิน
ขนมกง

หรือขนมไข่ปลา

เครื่องประดับ
ขนมดีซำ

ขนมเบซำ

ขนมเจาะรู

ขนมเจาะหู

–   เงินเบี้ย

–  เงิน

ต่างหู

นอกจากขนมเดือนสิบ  5 อย่างที่ระบุข้างต้นแล้ว  ยังมีขนมอื่นๆ  ที่ใช้อีกเช่นกันคือ

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม
ขนมเทียน หมอนหนุน
ขนมต้ม เสบียงในการเดินทาง
ขนมรังมด
ขนมก้านบัว
ขนมฉาวหาย
ขนมขาไก่
ขนมจูจน

ขนมจูจุน

ขนมจู้จุน

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่สำคัญยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันมีเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของนครศรีธรรมราช ทั้งคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  และบุคคลภายนอกต่างหลั่งไหลเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากมีกิจกรรมมากมายทั้งในส่วนที่เป็นจารีตดั้งเดิมและเทศกาลเพื่อสนับสนุนประเพณี จนเมื่อกล่าวถึงงานบุญสารทเดือนสิบแล้ว ใครๆ ก็ต่างต้องนึกถึงเมืองนครศรีธรรมราช

_____

ขอบพระคุณข้อมูลจาก สารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนสิบ’๖๓

ตำนานถ้ำขุนคลัง และเรื่องเล่าจากบันทึกของนักสำรวจมือสมัครเล่น

ตำนานถ้ำขุนคลัง และเรื่องเล่าจากบันทึกของนักสำรวจมือสมัครเล่น
โดย ธีรยุทธ บัวทอง

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่เขาโพรงเสือ (วันที่ 20-21 กรกฎาคม 2562) ผมก็ได้ออกเดินทางไกลไปยังอำเภอนบพิตำ พื้นที่แห่งหุบเขาและกำแพงกั้นลมทางด้านทิศตะวันตกของเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้เส้นทางทะลุเข้าสู่ถนนสายพรหมคีรี-กรุงชิง เดิมทีการเดินทางใช้เวลาเพียง 45-60 นาที แต่ช่วงที่เราเดินทางไปนั้น กรมทางหลวงกำลังปรับปรุงถนนพอดิบพอดี ผนวกกับฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นไถลจากเนินเขา ทำให้การเดินทางครั้งนี้ต้องใช้ความระมัดระวังและเวลานานมากกว่าเดิม

วัดเปียน คือสถานที่แรกที่เราแวะ เนื่องจากสหายครีม ครูแห่งวัดเปียน ได้แนะนำให้เข้าไปพบกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อสอบถามข้อมูล ทำให้ทราบข้อมูลของพื้นที่กรุงชิงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวตำนานของถ้ำขุนคลัง ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

“…ที่มาของชื่อถ้ำขุนคลังนั้น เล่ากันว่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 สมัยอยุธยาเสียกรุงครั้งที่สอง ทำให้ขุนนางในวังพากันหลบลี้ออกจากเมือง หนึ่งในนั้นคือขุนคลังฤทธิเดช ผู้รับผิดชอบเงินท้องพระคลัง พร้อมพวกพ้อง และธิดาของเจ้าเมือง (ไม่ทราบแน่ชัดว่าคือใคร) หลบหนีลงมาทางใต้ อีกทั้งทรัพย์สินเงินทองมากมาย และได้ใช้ถ้ำแห่งนี้พักอาศัย จนกระทั่งเกิดไข้ห่า ทำให้ทุกคนจบชีวิตลง ส่วนเงินทองได้กล่าวเป็นหินงอกหินย้อย…”

นอกจากนั้นยังได้สนทนาภาษาธรรม และชื่นชมโบราณวัตถุที่ท่านเก็บไว้เป็นอย่างดี ยากแก่บุคคลภายนอกจะได้เห็น แต่คงด้วยชะตาที่ต้องกันจึงทำให้ผมและสหายโกบได้รับโอกาสดี ๆ เช่นนี้

สำหรับพื้นที่ของกรุงชิง (นบพิตำ) มีการค้นพบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องด้วยลักษณะพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหุบเขาสลับซับซ้อนเต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมในอดีตที่ยากลำบาก อีกทั้งในช่วงหลังถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวเข้าถึงยากขึ้นไปอีก ส่งผลให้โบราณวัตถุหลายชิ้นถูกแลกเปลี่ยนซื้อขายออกไปภายนอกจำนวนเยอะ ผนวกกับอาการกลัวกรมศิลปากร ทำให้การสำรวจไม่ค่อยครบถ้วนสมบูรณ์ และปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์น้อยกว่าความเป็นจริงมาก

การสนทนาดำเนินผ่านนานกว่าสองชั่วโมง จึงได้เวลาอันสมควรที่จะขออนุญาตกราบนมัสการลาท่านเจ้าอาวาส เพื่อออกเดินทางต่อไปยังถ้ำขุนคลัง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากวัดเปียนมากนัก ซึ่งเส้นทางในช่วงแรก ๆ เป็นพื้นถนนคอนกรีตขับสบาย หลังจากนั้นก็ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนลูกรัง มุ่งตรงไปยังเขาขนาดใหญ่อันตั้งอยู่ภายในสวนผลไม้ของชาวบ้านอีกเช่นเคย

ขับรถมาไม่นานก็พบกับปากถ้ำทางด้านทิศใต้ ซึ่งประจวบเหมาะกับสายลมที่พัดโชยกลิ่นมูลค้างคาวออกมาจากถ้ำชวนให้คลื่นไส้เป็นระยะ ๆ แต่นั้นก็ไม่สามารถหยุดยั้งความอยากรู้ของพวกเราทั้งสองคนได้ ผมจึงเร่งชวนสหายโกบเดินทางเข้าไปในถ้ำ ซึ่งมี 2-3 ทางให้เลือก แต่พวกเราตัดสินใจเลือกปากทางเข้าถ้ำด้านซ้าย เนื่องจากมีขนาดใหญ่สุด

เมื่อเดินเข้าไปภายในถ้ำ สามารถมองเห็นแสงสว่างจากปากถ้ำอีกฟากหนึ่ง ภายในมีการปรับพื้นที่และสร้างทางลาดพื้นซีเมนต์ปูกระเบื้องอย่างดี แต่ด้วยความมืดมิดจึงต้องอาศัยแสงสว่างจากไฟฉายช่วยส่องนำทาง ทว่าการเปิดไฟฉายนั้นส่งผลให้ค้างคาวบนผนังใกล้ศีรษะของพวกเราตื่นตกใจ จนบินออกมาหลายสิบตัว และดูเหมือนว่ายิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งไม่แน่ใจกับเส้นทางข้างหน้าว่าจะเจอกับฝูงค้างคาวหรืองูหรือไม่ จึงตัดสินใจเบี่ยงเส้นทางลงมาบนพื้นดินด้านล่าง ซึ่งโล่งและมองเห็นแสงสว่างจากปากถ้ำได้มากกว่า

ภายในถ้ำแห่งนี้ชาวบ้านเล่าว่าเคยพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน และเศษกระดูกมนุษย์ที่ได้นำมารวบรวมไว้

เดินไปได้สักครู่ก็ต้องหยุดชะงักอยู่บริเวณพื้นที่ต่างระดับ พวกเราจึงมองหน้ากันก่อนจะตัดสินใจเลี้ยวกลับมาสู่ปากถ้ำเพื่อหาเส้นทางอื่นอ้อมไปเสียดีกว่า

ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นส่งผลดีต่อซะด้วย เนื่องจากทำให้พบกับเส้นทางน้ำสายเล็ก ๆ ที่ใสจนสามารถมองเห็นพื้นดินและกรวดด้านล่าง ชาวบ้านเรียกกันว่า คลองปง ซึ่งกำลังไหลอ้อมเขาไปอย่างช้า ๆ และไหลเชื่อมต่อกับคลองกลาย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนามคมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเมืองนครศรีธรรมราช

ด้วยเห็นว่าน้ำตื้นเขินจึงกระโดดลงไปสัมผัสกับความเย็น พร้อมชำระล้างหน้าตากันอย่างสดชื่น จากนั้นจึงใช้สองมือสองเท้าปีนป่ายขึ้นจากลำธาร มุ่งเข้าไปในป่า บนพื้นที่ราบอันกว้างขวางที่เต็มไปด้วยต้นบุก จนกระทั่งพบปากถ้ำอีกทางหนึ่ง และกำลังก้าวย่างเข้าไปในถ้ำแห่งนั้นอีกครั้ง

“ชั๊บๆๆ…” (เสียงดังมาจากด้านหลัง) พวกเราต่างหันกลับไปดูด้วยความสงสัย เสียงนั้นไม่ใช่เสียงอื่นใด หากแต่เป็นเสียงของลุงคนหนึ่งกำลังถากหญ้าด้วยพร้าเล่มเก่า เพื่อเปิดทางซึ่งรกไปด้วยวัชพืชและเถาวัลย์

สืบเท้าเข้ามาจนถึงจุดที่สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน ผมและสหายโกบจึงเริ่มทักทายด้วยการกล่าวคำสวัสดี พร้อมพนมมือไหว้ด้วยความเคารพ แบบไทยๆ ก่อนจะเข้าสู่บทสนทนาถึงข้อคำถามเรื่องถ้ำขุนคลังอีกแห่งที่อยู่ใกล้กัน

ลุงชี้นิ้ว พร้อมเดินนำหน้าไปอย่างมุ่งมั่น ชายหนุ่มสองคนจึงไม่ลังเลที่จะเดินตามไป แต่ในใจก็คิดเพียงว่าแกคงไปชี้จุดบริเวณปากทางเข้าถ้ำให้เท่านั้น

แต่ทว่าเมื่อเดินไปเกือบสองร้อยเมตร ลุงหยุดอยู่กับที่พร้อมตั้งท่าเตรียมไต่ขึ้นไปตามทางอันจะนำเราขึ้นไปสู่ถ้ำด้านบน ซึ่งอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 20 เมตร ตอนนั้นพวกเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก จึงเร่งรีบติดตามไปอย่างใกล้ชิด จนปีนป่ายมาถึงจุดซึ่งเรียกว่าถ้ำ

ภายในถ้ำขุนคลังแห่งนี้มีความงดงามของหินปูนและมนต์เสน่ห์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ ลมพัดโกรกเย็นสบาย และได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอจากปากถ้ำทางทิศตะวันออก เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ปลอดภัยจากสัตว์ป่าและน้ำป่าไหลหลาก โดยข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่าได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวนหนึ่ง ในบริเวณพื้นที่แห่งนี้

หลังจากชื่นชมบรรยากาศและสำรวจภายในถ้ำเสร็จสิ้น ลุงจึงนำกลับลงมาทางเดิม  และพามาชมถ้ำด้านล่างอีกครั้งหนึ่ง พร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการค้างศพภายในถ้ำ การเก็บมูลค้างคาว และสิงสาราสัตว์ในพื้นที่โดยรอบ

เมื่อดูเหมือนจะเสร็จสิ้นภารกิจ ลุงจึงขอตัวลาจากไป และด้วยความขอบน้ำใจ พวกเราจึงพนมมือไหว้ พร้อมกล่าวขอบคุณลุงขวยด้วยใจจริง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ จึงสันนิษฐานได้ว่าบริเวณถ้ำขุนคลังทั้งสองแห่งเคยเป็นแหล่งที่พักอาศัยถาวรของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหินใหม่ อย่างแน่นอน อาจมีอายุประมาณ 4,000 – 2,000 ปี โดยพึ่งพาแหล่งน้ำสายสำคัญ คือ คลองปงและคลองกลาย สำหรับการคมนาคม การเกษตรกรรม รวมทั้งติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์ในพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีอื่นซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง ส่วนการดำรงชีวิตยังคงมีการล่าสัตว์และหาผลไม้เหมือนเดิม แต่อาจพัฒนาด้านกสิกรรมขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบใกล้แหล่งน้ำเหมาะแก่การปลูกพืชพรรณธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณ พงศธร ส้มแป้น สืบสานหนังตะลุง มุ่งมั่นรักษาวัฒนธรรม ฅนต้นแบบเมืองนคร

หนังตะลุง ศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย ที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นภาคใต้แต่ละยุคสมัย เมื่อเวลาผ่านไปน้อยคนนักที่รู้จักและมีโอกาสได้ชมศิลปะพื้นบ้านนี้ อย่างการแกะรูปหนังตะลุงต้องอาศัยช่างฝีมือผู้มีความชำนาญ ส่วนการแสดงหนังตะลุงไม่ใช่ฝึกกันได้ง่ายๆ และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายคนหลายองค์ประกอบ เช่นเดียวกับแขกรับเชิญฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจวัฒนธรรมพื้นบ้าน เริ่มจากความชื่นชอบสู่ความตั้งใจในการสืบสานหนังตะลุงให้เป็นที่รู้จัก คุณพงศธร ส้มแป้น เยาวชนดีเด่นแห่งชาติสาขาศิลปวัฒนธรรม

ความชื่นชอบ พรสวรรค์ และแรงบันดาลใจ

คุณพงศธร เล่าว่า จากคำบอกเล่าของคุณแม่นั้นคุณพงศธรชื่นชอบหนังตะลุงตั้งแต่วัยเด็ก ช่วงวัยประถมมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหารนครศรีธรรมราชกับทางโรงเรียน ได้นำเงินค่าขนมทั้งหมดที่คุณแม่ให้ไปซื้อหนังตะลุง ส่วนตัวชอบฟังรายการแสดงหนังตะลุงทางสถานีวิทยุที่ออกอากาศทุกวัน โดยที่คุณพ่อมักจะวาดหนังตะลุงลงบนกระดาษให้คุณพงศธรเล่น เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบหนังตะลุงอย่างจริงจัง จึงเริ่มติดตามการแสดงอยู่เรื่อยๆ ตามโอกาสต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังพากษ์เทปที่บันทึกเสียงการแสดงหนังตะลุง พร้อมกับการเชิดหนังตะลุง การแสดงรูปแบบนี้หาดูได้ง่ายกว่าหนังตะลุงพากย์สดที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่ามาก คุณพงศธรค่อยๆ ซึมซับศิลปะการแสดงหนังตะลุงโดยไม่รู้ตัว ถึงขนาดที่ว่าสามารถแสดงได้โดยที่ไม่เคยดูเทปนั้นมาก่อน

ช่วงอายุประมาณ 11-12 ปี คุณพ่อพาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน (คุณสุชาติ หรือที่รู้จักในนาม “หนังสุชาติ” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง) ในตอนนั้นคุณพ่อได้ฝากฝังคุณพงศธรให้เป็นลูกศิษย์กับหนังอาจารย์สุชาติ เริ่มฝึกฝนกับหนังพากย์เทปมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้รับงานแรกในชีวิตมีญาติเป็นผู้ว่าจ้าง สร้างความตื่นเต้นให้กับคุณพงศธรอย่างมาก จากนั้นได้มีโอกาสแสดงหนังตะลุงตามงานศพ เมื่อคุณพ่อเห็นพรสวรรค์ทางด้านนี้จึงสร้างโรงหนังตะลุงขึ้นเพื่อให้ฝึกฝน เมื่อเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมต้น มีอาจารย์ในโรงเรียนท่านหนึ่งได้เปิดสอนวิชาหนังตะลุง คุณพงศธรจึงไม่พลาดโอกาสนี้ ในช่วงแรกอาจารย์ให้ศึกษาผ่านรูปแบบหนังตะลุงพากย์เทป ระหว่างนั้นคุณพงศธรก็หารายได้พิเศษผ่านการแสดงหนังตะลุงพากย์เทปเช่นกัน

จุดเปลี่ยนในชีวิตกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพื่อยืดหยัดในการแสดงหนังตะลุง

วันหนึ่งคุณพงศธรได้ข่าวว่ามีคณะหนังตะลุงจากพัทลุงมาทำการแสดงแถวละแวกบ้าน จึงได้มีโอกาสทำความรู้จักกับหนังอาจารย์ทวี พรเทพ คำพูดของอาจารย์ที่เชิญชวนให้แวะไปที่บ้าน เหมือนเป็นการจุดไฟในการแสดงหนังตะลุงให้ลุกโชนขึ้น ช่วงปิดเทอมปีนั้นคุณพงศธรตัดสินใจเดินทางไปหาหนังอาจารย์ทวีเพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์และฝึกฝนอย่างจริงจัง ในช่วง 20 วันแรกอาจารย์ให้คุณพงศธรดูการแสดงหนังตะลุงตามงานต่างๆ ของคณะ งานแรกที่ได้แสดงให้กับอาจารย์ทวีคือ งานฉลองเรือพระที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หากช่วงไหนที่ไม่มีงาน อาจารย์ทวีจะพาไปที่ศูนย์การเรียนรู้หอศิลป์หนังตะลุง สถานที่เผยแพร่สืบทอดเรื่องราวเกี่ยวกับหนังตะลุง ก่อตั้งโดยอาจารย์กิตติทัต ศรวงศ์ ครูช่างที่มีความสามารถในการแกะตัวหนังตะลุง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณพงศธรได้ฝึกการแสดงหนังตะลุงอย่างจริงจัง แม้ในช่วงเปิดเทอมก็ได้แบ่งเวลาไปฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

จนมาถึงจุดพลิกผันของชีวิตในวัยประมาณ 15 ปี ทางบ้านไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ ในขณะที่ทางบ้านยื่นขอเสนอให้ช่วยงานที่บ้าน ทางฝั่งของอาจารย์อยากให้ศึกษาต่อแต่ต้องย้ายไปอยู่ที่พัทลุง คุณพงศธรได้ตัดสินใจเดินทางไปพัทลุงโดยที่ไม่ได้บอกทางบ้าน เมื่อไปถึงก็ได้ทำงานกับคณะหนังตะลุงในตำแหน่งลูกคู่หนัง (ทำหน้าที่เล่นดนตรี) เพื่อเก็บเงินเพื่อส่งตัวเองเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุงโดยมีอาจารย์คอยช่วยเหลือจุนเจือ ที่นั่นมีร้านน้ำชาที่บรรดาคณะหนังตะลุงเกือบ 20 คณะจะมานั่งดื่มน้ำชาและพูดคุยกันทุกเช้า ทำให้คุณพงศธรมีโอกาสได้เจอกับคณะที่ตัวเองชื่นชอบ และเริ่มไปเป็นลูกคู่ให้กับคณะอื่นๆ การแสดงหนังตะลุงแบบจริงจังครั้งแรกเกิดขึ้นที่งานสมโภชเจ้าแม่กวนอิม ในตอนแรกคุณพงศธรตั้งใจจะแสดงหนังตะลุงพากย์เทป แต่พอไปถึงทางผู้จัดงานได้เตรียมโรงหนังตะลุงพร้อมเครื่องดนตรีไว้ให้ คุณพงศธรกับเพื่อนที่ไปด้วยกันจึงตัดสินใจทำการแสดงสด นับเป็นก้าวแรกที่สร้างความตื่นเต้นและประทับใจไม่น้อย

ในช่วงที่เรียนวิทยาลัยนาฏศิลปได้เทอมแรก คุณพงศธรตั้งคำถามกับตัวเองว่า หลังจากเรียนจบแล้วจะทำอะไรต่อไป ตอนนั้นมีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูสอนวิชาภาษาไทย ก็มาคิดว่าเมื่อเรียนจบสาขาปี่พาทย์จะสามารถสอนหนังสือได้หรือไม่ จึงตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัยเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนพัทลุงพิทยาคม หลังจากที่มีโอกาสได้ออกโรงแสดงหนังตะลุงแล้ว ต้องผ่านพิธีที่เรียกว่า “ครอบมือหนังตะลุง” เพื่อแสดงการยอมรับนับถือครูหนังแต่ครั้งบุพกาล ถือเป็นการผ่านพิธีโดยสมบูรณ์ หลังจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมได้เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีโอกาสรู้จักและขอฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์จำเนียร คำหวาน นายหนังตะลุงชื่อดังของอำเภอท่าศาลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณพงศธรนั่นเอง

ดูหนังตะลุงอย่างไรให้สนุกและได้ความรู้

หนังตะลุง เป็นการแสดงเรื่องราวผ่านตัวละครหนังตะลุง แต่ละเรื่องจะถ่ายทอดองค์ความรู้ สะท้อนเรื่องราวต่างกันไป มักจะมีคติสอนใจแฝงอยู่ เนื้อเรื่องที่นำมาแสดงหนังตะลุงมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ในยุคก่อนได้รับอิทธิพลจากการแสดงรามเกียรติ์ ยุคต้นมีการนำบทละครมาจากวรรณคดีไทย ยุคกลางนำเค้าโครงวรรณกรรมประเภทบทละครนอก มาประพันธ์ใหม่กลายเป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน ส่วนยุคปลายเป็นการแสดงหนังตะลุงลูกทุ่งมีการผสมผสานตัวละครในชีวิตจริงจึงไม่มีบทยักษ์ปรากฏ

คุณพงศธร เล่าว่า วรรณกรรมหนังตะลุงได้มาจากการแสดงของอาจารย์หลายท่านที่ตัวเองนับถือ ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้เพื่อเป็นการสืบทอดผลงานของอาจารย์ แต่ก็มีบางส่วนที่เกิดจากการผสมผสานเรื่องราวที่ชอบแทรกเข้ามา เช่น การแสดงบางตอนของคณะที่ชื่นชอบ เค้าโครงวรรณกรรมไทย รวมถึงซีรีย์ต่างประเทศ สำหรับตัวละครหนังตะลุง ส่วนตัวคุณพงศธร แบ่งเป็น 5 หมวด คือ

  • รูปครู เช่น พระอิศวร ฤาษี เป็นตัวละครศักดิ์สิทธิ์
  • รูปยอด เช่น ยักษ์ เจ้าเมือง นางเมือง ขุนผล เป็นตัวละครที่มียศถาบรรดาศักดิ์
  • รูปเดิน เช่น พระเอก นางเอก ตัวร้าย เป็นตัวละครที่ใช้ดำเนินเรื่อง
  • รูปกาก เช่น ไอ้เท่ง หนูนุ้ย ยอดทอง ตัวละครที่เป็นตัวตลก
  • รูปเบ็ดเตล็ด เช่น ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ

การที่จะดูหนังตะลุงให้สนุก ผู้ชมต้องตั้งใจชมการแสดง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากดูเพื่ออะไร เช่น เพื่อความบันเทิง  เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของคนสังคม เพราะเนื้อหาที่นำมาแสดงของแต่ละคณะนั้นต่างกัน นายหนังแต่ละคนมีความถนัดและรูปแบบการถ่ายทอดไม่เหมือนกัน

การแสดงหนังตะลุงถูกถ่ายทอดผ่านองค์ความรู้ บริบททางสังคม และประสบการณ์ของบรรพชน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่ละยุคสมัย คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก หากมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา ทางเราอยากที่จะเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อสืบสานให้คงอยู่ต่อไป

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณพงศธร ส้มแป้น  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

 

ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลตลาดเมืองสงขลา

ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลตลาดเมืองสงขลา

ธีรยุทธ บัวทอง

ศุขาภิบาลเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นสำหรับท้องถิ่นที่ยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งเป็นเทศบาล โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นกรรมการ มีรายได้จากการเก็บภาษีโรงเรือนในท้องถิ่นนั้นๆ ศุขาภิบาลแห่งแรกในประเทศไทย คือ ศุขาภิบาลกรุงเทพฯ จัดตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2440 ตามพระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2440 หาใช่ศุขาภิบาลท่าฉลอม ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร อย่างที่หลายคนเข้าใจไม่ เนื่องจากศุขาภิบาลท่าฉลอมได้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2448 และเป็นเพียงศุขาภิบาลส่วนภูมิภาคเท่านั้น หลังจากนั้นจึงเริ่มกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งในบทความนี้ขอกล่าวถึงศุขาภิบาล 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช

 

1.ศุขาภิบาลตำบลตลาดเมืองสงขลา

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2452 พระยาชลบุรานุรักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้มีใบบอกเข้ามายังกระทรวงมหาดไทยระบุว่าเมืองสงขลานั้นเป็นสถานที่ตั้งของย่านการค้า และบ้านเรือนของราษฎรจำนวนมาก สมควรแก่การจัดตั้งเป็นศุขาภิบาลตามพระราชบัญญัติศุขาภิบาล แต่ควรเริ่มจัดตั้งในบริเวณตำบลตลาดเสียก่อน ดังนั้นจึงได้เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคฤหบดีในตำบลตลาดมาปรึกษาร่วมกัน จากนั้นจึงได้กำหนดเขตสุขาภิบาลดังนี้คือ

ด้านตะวันตกของถนนนคร ถนนวิเชียรชม ต่อจากถนนพัทลุงไปจรดถนนไทรบุรีที่ป่าสน ยาวประมาณ 44 เส้น 18 วา กับถนนริมน้ำเคียงถนนนคร ยาวประมาณ 16 เส้น

ด้านเหนือถนนไทรบุรีจากฝั่งทะเลสาบริมโรงตำรวจภูธรไปตามป่าสนผ่านหน้าสงขลาสโมสร เลี้ยวไปทางตะวันออกผ่านบ้านข้าราชการไปจรดประตูไชยใต้ ยาวประมาณ 83 เส้น 12 วา

ด้านใต้ถนนพัทลุงจากถนนไทรบุรีผ่านถนนจนถึงฝั่งทะเลสาบ ยาวประมาณ 5 เส้น 5 วา ระหว่างถนนไทรบุรีด้านเหนือถึงถนนพัทลุงด้านใต้ มีถนนซอยอีก 3 สาย คือ ถนนตรังกานู ยาวประมาณ 12 เส้น ถนนนกลันตัน ยาวประมาณ 13 เส้น และถนนบ้านใหม่ ยาวประมาณ 5เส้น รวมทั้งสิ้นยาวประมาณ 30 เส้น

 

2.ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้มีใบบอกเข้ามายังกระทรวงมหาดไทยระบุว่า เมืองนครศรีธรรมราชนั้นเป็นที่ตั้งของย่านการค้า และบ้านเรือนราษฎรจำนวนมาก สมควรแก่การจัดตั้งเป็นศุขาภิบาล

โดยเริ่มจากตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลประตูไชยเหนือและตำบลพระเสื้อเมืองก่อน ดังนั้นจึงรับสั่งให้พระยาศิริธรรมบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคฤหบดีทั้ง 4 ตำบลมาปรึกษาหารือร่วมกัน จากนั้นจึงได้กำหนดเขตศุขาภิบาลดังนี้คือ ด้านเหนือ จรดถนนซอยริมกำแพงด้านใต้ของวัดประดู่ ไปจนถึงคลองไปท่าแพและทุ่งนาฝ่ายตะวันออกกว้างประมาณ 15 เส้น ด้านใต้ จรดกำแพงเมืองด้านใต้จนถึงคลองบ้านหัวท่า และมุมกำแพงตะวันออก กว้างประมาณ 13 เส้น 14 วา ด้านตะวันออก จรดกำแพงเมืองและทุ่งนาหยาม ยาวประมาณ 110 เส้น 18 วา และด้านตะวันตก จรดคลองท่าดีฝั่งตะวันตกยาวประมาณ 107 เส้น 15 วา

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2474 ได้มีการปรับปรุงเขตศุขาภิบาลเมืองนครใหม่ เพื่อความเป็นระบบและชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้คือ

ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองเตยฝั่งตะวันตก เป็นเส้นขนานจากริมถนนวัดมะขามชุมฟากเหนือตรงไปตัดกับริมคลองที่นั้น และเลียบริมถนนวัดมะขามชุมฟากเหนือกับริมถนน ซอยฟากเหนือ ซึ่งตรงข้ามกับถนนวัดมะขามชุมไปทางทิศตะวันออกโดยวัดจากปากถนนซอยนี้ออกไปประมาณ 450 เมตร จนจรดหลักเขตหมายเลขที่ 2

ด้านตะวันออก ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 2 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้ จนจรดหลักเขตหมายเลขที่ 3 บริเวณริมคลองหน้าเมืองฝั่งใต้ห่างจากมุมตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 250 เมตร จรดริมคลอง จากหลักเขตหมายเลขที่ 3 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้จรดหลักเขตหมายเลขที่ 4 บริเวณมุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

ด้านใต้ ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 4 เลียบริมกำแพงเมืองด้านทิศใต้ไปทางทิศตะวันตก จากแนวกำแพงออกไปถึงคลองท่าดีฝั่งตะวันตกจรดหลักเขตหมายเลขที่ 5

ด้านตะวันตก ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 5 เลียบคลองท่าดี คลองท้ายวัง คลองทุ่งปรัง และคลองเตยฝั่งตะวันตกไปทางเหนือจนกระทั่งบรรจบกับหลักเขตหมายเลขที่ 1

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าศุขาภิบาลในระยะเริ่มแรกในมณฑลนครศรีธรรมราชมีการกำหนดอาณาเขตเพื่อบริหารจัดการอย่างชัดเจน แม้ว่าบางพื้นที่อาจถูกเปลี่ยนชื่อหรือถูกทำให้ลบเลือนไปแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจัดตั้งศุขาภิบาลเมืองสงขลาและเมืองนครฯให้พร้อมในอดีตเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนมาเป็นเทศบาล ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจ ยังผลให้บ้านเมืองพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างทั่วถึง

 

อ้างอิง

ธีรยุทธ บัวทอง. มณฑลนครศรีธรรมราช เกร็ดประวัติศาสตร์ในราชกิจจานุเบกษา. นครศรีธรรมราช: เสือฟิน         การพิมพ์. 2561, 184.

ประกาศใช้พระราชบัญญัติศุขาภิบาลตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลประตูไชยเหนือ ตำบลพระเสื้อเมือง

ท้องที่อำเภอเมือง ๆ นครศรีธรรมราช. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 วันที่ 4 กันยายน ร.ศ. 129,

หน้า 62 – 64.

ประกาศใช้พระราชบัญญัติศุขาภิบาลในตำบลตลาดเมืองสงขลามณฑลนครศรีธรรมราช. ราชกิจจานุเบกษา           เล่ม 26 วันที่ 5 กันยายน ร.ศ. 128, หน้า 62 – 64.

____

ขอบพระคุณภาพจาก https://www.gotonakhon.com

เคยเล่นหม้าย ? การเล่น: รวมเรื่องเล่าเมื่อครั้งฉันยังเด็ก

เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวนานาสารพัน ทั้งดีและร้าย เราทุกคนต่างล้วนย้อนกลับไปนึกถึงภาพในวัยเด็กอันแสนสุข (และแสนเศร้า) บ้างก็นำมาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างยุคสมัย หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่วงที่สื่อเทคโนโลยียังไม่ได้ส่งถึงมือเด็ก ไม่มี Social Media ไม่มีความห่างไกลที่เกิดจากเทคโนโลยี มีเพียงการเล่นรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ช่วงชีวิตในหมู่เพื่อนไม่เคยห่างการเล่นที่ต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณ การเล่นที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์การเล่นที่เสี่ยงอันตราย การเล่นที่ส่อถึงอบายมุข ซึ่งทุกการเล่นมันมีนัยสำคัญที่ซ่อนเร้นและมีส่วนหล่อหลอมให้เราเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวอย่างการเล่นที่เป็นที่นิยมของเด็กกึ่งเมืองกึ่งชนบทอย่างเช่นผู้เขียน เช่น

(1) เข้หยบ หรือที่ภาษากลางเรียกกันว่า “ซ่อนแอบ” เป็นการเล่นยอดฮิตในบรรดาเด็ก ๆ แทบทุกพื้นที่ สามารถเล่นได้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ยิ่งเยอะคนยิ่งสนุก รวมทั้งสามารถเล่นได้แทบจะทุกสถานที่ก็ว่าได้

(2) เข้ยิก หรือที่ภาษากลางเรียกกันว่า “วิ่งไล่จับ” เป็นการเล่นยอดฮิตในบรรดาเด็กๆแทบทุกพื้นที่ แต่จำต้องกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการวิ่งสักหน่อยว่ามีขนาดกว้างเพียงใด

(3) ซัดมอ เป็นการเล่นซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์สองอย่าง คือ ลูกเทนนิส และกระป๋องนม (ยี่ห้อใดก็ได้)จากนั้นให้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กัน โดยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นฝ่ายวิ่ง (ฝ่ายเรียง) และอีกฝ่ายต้องเป็นฝ่ายซัด (ฝ่ายทำลาย) จากนั้นฝ่ายซัดต้องส่งตัวแทนมาจัดเรียงกระป๋องนม ให้ลดหลั่นกันไป โดยชั้นล่างจะต้องมีกระป๋องนมเยอะที่สุด ชั้นถัดไปมีจำนวนลดลงอย่างน้อยหนึ่งกระป๋อง เมื่อจัดเรียงเสร็จแล้ว ให้ส่งตัวแทนออกมาซัดกระป๋องนมให้ล้ม เพื่อส่งสัญญาณเริ่มเกมที่แท้จริง ฝ่ายวิ่งต้องหาวิธีเข้ามาเรียงกระป๋องนมให้มี ลักษณะเหมือนเดิมให้ได้ เมื่อเรียงเสร็จให้พูดคำว่า “มอ” ก็จะกลายเป็นผู้ชนะ

(4) นาฬิกาเข้าแล้วเป็นการเล่นชนิดหนึ่ง ไม่ทราบว่าชื่อจริง ๆของมันเรียกว่าอย่างไร แต่ผมและเพื่อน ๆ มักเรียกกันว่า “นาฬิกาเข้าแล้ว” ตามคำพูดที่ต้องใช้เมื่อเวลาเล่น วัสดุอุปกรณ์ในการเล่น ประกอบไปด้วยสายเชือก และวัสดุถ่วงน้ำหนัก เช่น ขวดพลาสติกใส่น้ำหรือทราย ท่อนไม้ ก้อนหิน เป็นต้น เมื่อได้วัสดุทั้งสองพร้อมแล้ว ให้นำปลายเชือกข้างหนึ่งมาผูกติดไว้กับวัสดุถ่วงน้ำหนัก

จากนั้นให้เลือกคนแกว่งเชือกมาคนหนึ่ง ที่เหลือเป็นผู้เล่น เกมจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อคนแกว่งทำการแกว่งเชือกและร้องตะโกนว่า “นาฬิกาเข้าแล้ว”เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้เลนวิ่งเข้ามาภายในบริเวณศูนย์กลางของเชือก และเมื่อผู้เล่นเข้ามาครบทุกคน คนแกว่งต้องร้องตะโกนอีกครั้งว่า “นาฬิกาออกแล้ว” เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้เล่นวิ่งออกจากวง หากผู้เล่นคนใดวิ่งเข้า-ออก แล้วโดนเชือกหรือวัสดุถ่วงน้ำหนักปะทะกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จะกลายเป็นผู้แพ้และต้องมาเป็นคนแกว่งแทน

(5) ปลาเป็นปลาตาย มีลักษณะการเล่นที่คล้ายกับโพงพาง แต่ตอนเด็กผมไม่รู้หรอกว่าโพงพางคืออะไร มีแต่จะเล่นปลาเป็นปลาตายตามประสาเด็กบ้าน ๆ กึ่งเมืองกึ่งชนบท กติกาการเล่นมีอยู่ว่า ให้ผู้เล่นกำหนดเขตพื้นที่ที่ใช้สำหรับเล่นตามความเหมาะสม หากคนน้อยพื้นที่จะแคบ แต่หากคนเยอะพื้นที่ก็จะกว้างขึ้น จากนั้นให้ทำการคว่ำหมาย เพื่อหาคนที่ต้องถูกปิดตา เมื่อได้คนที่ถูกปิดตาเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นที่เหลือต้องช่วยกันนำผ้ามาปิดตาคน ๆ นั้นเอาไว้ ต่อจากนั้นให้ช่วยกันหมุนตัวของผู้ที่ถูกปิดตา ประมาณ 5-10 ครั้ง และร้องพร้อมกันว่า “ปลาเป็น ปลาตาย ปลาร้องไห้ หรือปลาหัวเราะ”

เมื่อร้องเสร็จ ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องรีบวิ่งออกไปให้ห่างที่สุด ก่อนคำสั่งของผู้ที่ถูกปิดตาจะเอ่ยออกมา (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ซึ่งความหมายของคำทั้ง 4 คือ ปลาเป็น = ผู้เล่นสามารถเดินได้แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ปลาตาย = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่ ปลาร้องไห้ = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่และส่งเสียงร้องไห้ และปลาหัวเราะ = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่และส่งเสียงหัวเราะ หลังจากนั้นผู้ที่ถูกปิดตาต้องเดินไปรอบ ๆ วง โดยใช้มือในการไขว่คว้า ลูบคลำร่างกายคน ๆ นั้นและทายชื่อว่าเป็นใคร หากทายถูกต้อง คน ๆ นั้นจะกลายมาเป็นผู้ถูกปิดตาแทน แต่หากทายผิดจะต้องเป็นซ้ำอีกรอบ

นอกจากนี้ยังมีการเล่นอื่น ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นกระโดดยาง ปางนูซัดลิง ทอยเส้น ซัดดินน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งการเล่นทั้งหลายล้วนมีส่วนเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต กระชับความสัมพันธ์กับหมู่เพื่อน และพัฒนาสติปัญญาทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เป็นอย่างดี หากเราลองเฝ้านั่งคิดทบทวนหวนถึงอดีต และรื้อฟืนเรื่องราวความทรงจำผ่านการเล่น ก็จะทำให้เกิดความคงอยู่ของความสุขในวัยเด็กและกลายเป็นความทรงจำระยะยาวในอนาคต

ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาชีวิตให้มีศักยภาพ ไม่ใช่แค่การสร้างให้คนมีความรู้เท่านั้น หลายครั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเป้าหมายให้กับชีวิต การศึกษานั้นไม่มีวันสิ้นสุด ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่การศึกษานอกจากจะเปลี่ยนชีวิตแล้ว ในบทบาทของนักวิชาการการศึกษาได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปใช้พัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองและร่วมกันพัฒนาประเทศ รวมถึงผลงานในบทบาทของอดีตนักการเมืองท้องถิ่น ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม นักวิชาการบริการสังคม เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ความยากลำบากในวัยเด็ก เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตมีเป้าหมาย

ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช เกิดที่อําเภอเชียรใหญ่ นอกจากบทบาทหน้าที่ในการเป็นอาจารย์ อีกหนึ่งบทบาทที่คนนครฯ รู้จักคืออดีตนักการเมืองท้องถิ่น ปัจจุบันทำงาทั้งสายการศึกษาและภาคประชาสังคม เป็นคณะทำงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานภาคประชาสังคมของทุกจังหวัดภาคใต้

ดร. สุพัฒพงศ์ เติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพทำนา แม้ทางบ้านมีฐานะยากจนแต่ด้วยความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและการสนับสนุนจากคุณแม่ กลายเป็นแรงผลักดันให้ดร. สุพัฒพงศ์ มีความคิดที่อยากจะทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงทำตามความใฝ่ฝันของคุณแม่ที่อยากเห็นลูกเรียนจบระดับปริญญาเอก และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยให้ได้ เมื่อเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ได้เปลี่ยนความคิดอยากจะเป็นปลัดอำเภอ จึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขารัฐศาสตร์การปกครอง

ระหว่างที่เรียนนั้น ดร. สุพัฒพงศ์ ได้ทำงานควบคู่ไปด้วย จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลังจบการศึกษาได้ทำงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประมาณ 7 ปี ในระหว่างนั้นได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ควบคู่กับการทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ

ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก หลักสูตรรัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสยาม และเรียนทางด้านนิติศาสตร์ เพราะมีความใฝ่ฝันว่าเมื่อถึงวัยเกษียณอยากที่จะเปิดสำนักงานกฎหมายเพื่อประชาชน

นอกจากนี้ ดร. สุพัฒพงศ์ ยังผลงานทางวิชาการทั้งบทความในวารสารต่างๆ และหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น และยังเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน นำศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาบูรณาการกับงานภาคประชาสังคม ดร. สุพัฒพงศ์ มักจะบอกลูกศิษย์อยู่เสมอว่า ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนแค่ 10%  ที่เหลือต้องรู้จักไขว่คว้า เพราะองค์ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราเท่านั้น

การศึกษาเปลี่ยนชีวิต เป็นประตูนำไปสู่โอกาสต่างๆ

ดร. สุพัฒพงศ์ให้ความเห็นว่า การศึกษาทำให้ได้รับการยอมรับในสังคม ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสต่างๆ ให้เข้ามาในชีวิต  ดร. สุพัฒพงศ์เองก็มีความใฝ่ฝันว่าหากมีโอกาสก็อยากเป็นนักการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพัฒนาประเทศให้มากที่สุด ก่อนหน้านี้ดร. สุพัฒพงศ์ เคยมีโอกาสเป็นสมาชิกสภาจังหวัด การทำงานในตอนนั้นทั้งสนุกและมีอุปสรรค แต่ก็ยังอยากที่จะเดินหน้าต่อไปตามอุดมการณ์ แม้ตอนนี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองแต่ก็ยังลงพื้นที่ทำงานในฐานะนักการศึกษาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ในแง่ของความสำเร็จ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตของดร. สุพัฒพงศ์ ไปได้ไกลและอยากที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา หากจะให้พูดถึงความล้มเหลวในชีวิต ดร. สุพัฒพงศ์ มองว่าตัวเองพบกับความล้มเหลวมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่เคยมองว่าความล้มเหลวนั้นเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการใช้ชีวิต อย่าปล่อยให้มีความล้มเหลวทางความคิดมาทำลายความฝัน ดร. สุพัฒพงศ์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยเหลือสังคมได้มากเท่านั้น นำความล้มเหลวมาเป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย อะไรคือสิ่งที่เราอยากเป็น อะไรคือสิ่งที่เราไม่อยากเป็น หาความชอบของตัวเองให้เจอและทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น

เรียนรู้เพื่อพัฒนาคน ศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ดร. สุพัฒพงศ์ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเองมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น แต่การทำงานกับชุมชนจำเป็นจะต้องศึกษาศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือ ต้องพร้อมรับความคิดเห็น คำวิจารณ์อยู่เสมอ จากประสบการณ์การทำงานการเมืองท้องถิ่นและความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา เมื่อนำมาถ่ายทอดแก่นักศึกษาช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น การทำงานภาคประชาสังคม ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา สำหรับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น ต้องรู้ว่าองค์ความรู้ประเภทไหนที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับชุมชน เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็งก็จะเกิดเป็นภาคประชาชน

จากนั้นเกิดเป็นภาคประชาสังคมที่มีหน่วยงานภาครัฐมารองรับโดยการขับเคลื่อนของชุมชน จึงเป็นที่มาของชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ที่มี ดร. สุพัฒพงศ์ เป็นที่ปรึกษาการบูรณาการออกแบบกระบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชน ยกตัวอย่าง กองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละ 1 บาท ชาวบ้านออมเงินวันละ 1 บาท  หน่วยงานท้องถิ่นสมทบ 1 บาท และหน่วยงานรัฐบาลสมทบ 1 บาท รวมเป็น 3 บาทต่อวัน ช่วยให้ชาวบ้านได้รับสวัสดิการตามเงื่อนไขของกองทุน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักการเมือง

บทบาทของนักพัฒนาชุมชน ที่นำองค์ความรู้ไปพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ดร. สุพัฒพงศ์ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรให้อำเภอเชียรใหญ่ที่เป็นบ้านเกิดมีการพัฒนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยกฎระเบียบ กระบวนการของภาครัฐที่มีหลายขั้นตอน ส่งผลให้การแก้ไขปัญหา ปรับปรุงพัฒนาท้องถิ่นนั้นใช้เวลาดำเนินการนานมาก เฉพาะถนนในพื้นที่เขตเทศบาลก็มีหลายส่วนที่รับผิดชอบ เช่น อบต.  อบจ. กรมทางหลวงชนบท ถนนส่วนบุคคล เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับการเมือง นี่จึงเป็นตัวจุดประกายให้ลาออกจากบทบาทเจ้าหน้าที่ภาครัฐสู่นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองหลายอย่างของ ดร. สุพัฒพงศ์ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยังมีระบบอำนาจความชอบธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายต่างๆ

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนักวิชาการทางการเมือง ดร. สุพัฒพงศ์มีความเห็นว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองหลายคนมักจะเบือนหน้าหนี แต่การเมืองนั้นเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แทรกอยู่ในทุกมิติของชีวิต แทรกอยู่ในศาสตร์ทุกแขนง อย่างการทำงานในองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการเมือง  ไม่ใช่แค่อำนาจเท่านั้น  การเจรจาต่อรอง การค้าขาย เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การศึกษา ล้วนได้รับอิทธิพลทางการเมืองทั้งสิ้น

ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างประเทศให้ก้าวหน้า การศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ ไม่ใช่แค่วัยเรียนเท่านั้น ในวัยทำงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หากเรามีองค์ความรู้ มีทักษะความชำนาญทางวิชาชีพจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยิ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้มีศักยภาพในการทำงาน กลายเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพทั้งต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ

ติดตามคลิปสัมภาษณ์  ดร. สุพัฒพงศ์ แย้มอิ่ม  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ถ่านลาน : วิธีแห่งคนสู้ชีวิต อาชีพท้องถิ่นอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

“เรียนจบกลับไปทำงาน ขุดดินเผาถ่าน อยู่เมืองกาญจน์บ้านเรา… บอกกล่าวให้เขารู้กัน อาชีพผมนั้น ทุกวันเผาถ่าน…” นี่คือเนื้อเพลงคนเผาถ่าน ต้นฉบับขับร้องโดยมนต์รัก ขวัญโพธิ์ไทย ที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินและได้ฟัง สะท้อนให้เห็นถึงอาชีพเผาถ่านของผู้คนเมืองกาญจนบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ของสังคมไทย อันเป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม

เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการใช้ไฟในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การนำไม้หรือเศษวัสดุมาเป็นเชื้อเพลิงจึงได้รับความนิยม แต่ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายพันปี มนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการทางความคิดในการกักเก็บความร้อนและลดปัญหาเขม่าควันดำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเศษไม้ จึงคิดค้นกรรมวิธีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งออกมาในรูปแบบของถ่านที่ผู้อ่านหลายท่านเคยใช้ในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นถ่านเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร ดูดซับคลอรีน ฟอกอากาศ และปรับสภาพดิน เป็นต้น ฉะนั้นวันนี้ผู้เขียนจึงขอนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับอาชีพเผาถ่านลานแห่งอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชกัน

แต่เอ๊ะ ! ถ่านลาน คืออะไร ? ถ่านลาน คือ กรรมวิธีการเผาถ่านรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ใช้เตาในการเผา มีเพียงพื้นที่ลาน

ขั้นตอนที่ 1 จัดเตรียมพื้นที่ให้มีลักษณะโล่งเตียน (ขนาดตามความต้องการ)

ขั้นตอนที่ 2 จัดเตรียมไม้สำหรับการเผา ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาใช้มี 2 ประเภท คือ หัวไม้(เบญจพรรณ) ราคาถูก และไม้ปลีก (ไม้ยางพารา) จากโรงงานแถบบ้านทานพอ ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง และบ้านหนองดี ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อได้ไม้มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นำมาจัดเรียงทับซ้อนกัน ขนาดกว้างคูณยาวตามต้องการ

แต่สำหรับพื้นไม้แถวด้านล่างสุด ต้องนำเศษไม้มารองรับให้ห่างจากพื้นดิน เพื่อเพิ่มช่องระบายอากาศ

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อจัดเรียงไม้ทับซ้อนกันเสร็จ ให้นำทางมะพร้าวหรือทางปาล์ม มาทับด้านบน จากนั้นนำขี้เลื่อย และขี้เถ้ามากลบรอบกองฟืนที่เตรียมไว้ตามลำดับ โดยระหว่างที่กลบนั้นต้องนำแผ่นไม้มากั้นทั้งสี่ด้าน และต้องคอยอัดเศษขี้เลื่อยขี้เถาลงไป เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟมายังผนังไม้กั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา

ขั้นตอนที่ 4 เจาะขี้เลื่อยขี้เถาที่กลบไว้ด้านใดด้านหนึ่งให้มีขนาดประมาณ 30 x 30 (หรือมากน้อยกว่านี้ตามความเหมาะสม) จากนั้นนำยางมาจุดเป็นเชื้อนำไฟ ก่อนจะกลบขี้เลื่อยขี้เถาลงไป พร้อมทั้งเจาะช่องระบายอากาศไว้ด้านล่าง และรอเวลาให้ไฟค่อย ๆ ลุกลามไปทั่วทั้งกองฟืน

ขั้นตอนที่ 5 ระหว่างที่ไฟค่อย ๆ ลุกลาม คนทำแต่ละคนต้องหมั่นตรวจสอบสีของควันอยู่เสมอ หากควันสีขาวหมายความว่า ปกติ แต่หากควันสีเขียว (หรือสีเหลือง) เมื่อไหร่จำต้องเร่งนำขี้เถาไปกลบและฉีดน้ำด้านบนให้ชื้น เพื่อลดความร้อนภายในอันจะส่งผลให้ถ่านแหลกกลายเป็นผุยผง

จะรู้ได้อย่างไรว่ากองฟืนด้านในถูกเผาไหม้กลายเป็นถ่านตามที่ต้องการ ?

ให้สังเกตจากการยุบของกองถ่านด้านบน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเป็นอย่างมาก

ขั้นตอนที่ 6 เมื่อไฟลุกลามไปทั่วทั้งกองฟืนและปราศจากควันไฟ นั่นแสดงให้เห็นว่าไม้ด้านล่างกลายเป็นถ่านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คนทำต้องนำสายยางอัดลงไปจากด้านบนสู่ด้านล่าง เพื่อฉีดน้ำดับความร้อน จากนั้นพักไว้ประมาณ 1-2 วัน ก็ให้ยกเครื่องร่อนมาตั้งไว้ใกล้ ๆ โดยในอดีตใช้วิธีการร่อนแบบเดียวกับการร่อนแร่ แต่ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นเครื่องร่อนถ่านขึ้นมา เพื่อประหยัดเวลาและใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงได้ดีทีเดียว

เครื่องร่อนถ่านมีขนาดยาวประมาณ 3.60 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีความลาดชันเล็กน้อย เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายถ่านลงไปสู่ตะกร้า โดยชั้นบนสุดจะมีขนาดของช่องตาข่าย ประมาณ 2.5 ซ.ม. x 1.3 ซ.ม. ส่วนชั้นที่สองจะมีขนาดของช่องตาข่าย ประมาณ 0.5 ซ.ม. x 0.5 ซ.ม.

ขั้นตอนการร่อน เริ่มต้นจากการเปิดเครื่อง ซึ่งใช้ระบบกลไกมอเตอร์อย่างง่าย จากนั้นนำถ่านมาเทไว้ด้านบนของ เครื่องร่อนเพื่อทำการแยกขนาดของถ่าน ซึ่งถ่านที่มีขนาดใหญ่จะตกตะกอนอยู่ด้านบน ส่วนผงถ่านที่มีขนาดเล็กจะตกลงมาสู่ด้านล่าง

โดยขนาดของถ่านที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ คือ ถ่านชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งจะไหลลงมาสู่ตะกร้าด้านล่าง

ส่วนเศษถ่านชั้นล่างสุด สามารถนำมาจำหน่ายได้เช่นกันแต่ราคาจะถูกมาก รวมทั้งยังใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาถ่านลานครั้งต่อไปได้อีกด้วย

หากรวมระยะเวลาตั้งแต่การจัดเตรียมไม้จนกระทั่งถึงกระบวนการร่อนถ่าน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้การเผาถ่านลานจำเป็นต้องใช้ระบบหมุนเวียน กล่าวคือ ต้องทำมากกว่าหนึ่งกองฟืน จึงจะทำให้ประหยัดเวลาและคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของแรงงาน ปริมาณของไม้ และสภาพดินฟ้าอากาศ

เนื่องจากอาชีพเผาถ่านลานต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเฝ้าคอยดูแล หากเร่งความร้อนมากจนเกินไปจะทำให้ถ่านกลายเป็นผงละเอียดจำหน่ายไม่ได้ราคา แต่หากเร่งรีบเสียก่อนก็จะทำให้การเผาไหม้ไม่เต็มร้อย ก่อให้เกิดการขาดทุน คนทำงานเผาถ่านลานจึงต้องทนอดหลับอดนอนในยามค่ำคืนเพื่อตรวจตราดูควันไฟ และต้องทนแดดแผดเผาในยามกลางวัน ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่ย่ำแย่ ต้นทุนสูง โดยเฉพาะไม้มีราคาแพง แต่ราคาถ่านปรับขึ้นได้เพียงอัตราร้อยละ 6.5

ซึ่งราคาถ่านจะคิดเป็นกระสอบ ๆ ละ 320 บาท (บางแห่งราคาสูงถึง 400 บาท) ส่วนเศษผงถ่านจะอยู่ที่กระสอบละ 60 บาท โดยจะมีบริษัทจากกรุงเทพฯ ประมาณ 3-4 บริษัทมารับผลผลิตอยู่เสมอ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 กระสอบต่อสัปดาห์

ค่าจ้างของลูกน้อง ขึ้นอยู่กับการทำงาน และได้รับค่าตอบแทนในอัตรากระสอบละ 60 บาท (หากทำคนเดียวตั้งแต่จัดเตรียมและร่อนถ่าน) หากมีความขยันขันแข็งก็สามารถเผาถ่านได้หลายกระสอบต่อสัปดาห์

ดังนั้นหากคำนวณความคุ้มค่าของการลงทุนของนายจ้างและการลงแรงของลูกจ้าง ก็ถือว่าอยู่ในระดับ “พอเลี้ยงชีพ” ไม่ขาดทุนหรือได้กำไรมากนัก แม้จะเป็นอาชีพที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงหลายประการ และพบเห็นได้ยากในสังคมปัจจุบัน แต่อย่างน้อยก็เป็นอาชีพหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และยังคงมองเห็นถึงความสุขใจจากรอยยิ้มของคนทำงานเผาถ่านลานอยู่เสมอ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณพี่มร ลุงคม และพี่ ๆ คนเผาถ่านลานทุกคนสำหรับข้อมูลและน้ำใจที่มีให้แก่กัน ขอขอบพระคุณด้วยใจสัตย์จริงครับ !

๗ เรื่องแปลกเมื่อแรกเสด็จฯ ตามรอยกรมพระยาปวเรศฯ ที่เมืองนคร

การเสด็จเมืองนครศรีธรรมราชของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2407 ซึ่งขณะนั้นยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย มีการสันนิษฐานว่าการเสด็จเมืองนครฯ ครานั้น คงเนื่องมาจากรัชกาลที่ 4โปรดให้เสด็จมานมัสการพระบรมธาตุเมืองนครฯ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จมานมัสการแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2402 และอาจเป็นการเสด็จไปศึกษารูปแบบของพระเจดีย์ที่มีฐานขนาดใหญ่ เพื่อนำมาปรับใช้ในการซ่อมแซมองค์พระปฐมเจดีย์ที่พังทลายลง เมื่อ พ.ศ. 2403

พระองค์ได้พระนิพนธ์เรื่องราวของการเสด็จครานั้นไว้ใน “กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช”

โดยจุดเริ่มต้นแรกนั้นพระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ (ไม่ได้ระบุว่าคือที่ใด แต่คาดว่าน่าจะเสด็จจากวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ประทับ) เมื่อปี จ.ศ. 1226 (ตรงกับ พ.ศ. 2407) เรือล่องมาถึงด่าน (น่าจะหมายถึงด่านพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ) ผ่านกุยบุรี เกาะหลัก อ่าวชุมพร เกาะสมุย อ่าวไชยาพิไสย อ่าวท่าทอง จนกระทั่งเดินเรือมาถึงที่ปากน้ำปากนคร พวกขุนนางได้นำเรือมาดเก๋งออกมารับเสด็จ แต่เนื่องจากทางคดโค้งและตื้นเขินจึงต้องใช้เวลามากกว่าจะมาถึงท่าโพธิ์ ถัดจากนั้นจึงขึ้นฝั่งบริเวณท่าวัง เพื่อเสด็จไปยังพระบรมธาตุเจดีย์นครฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ให้การสนใจมากเป็นพิเศษ

นอกจากนั้นพระองค์ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้พระองค์ได้สดับรับฟังและเห็นมา เช่น สวนพระบริเวณพระบรมธาตุนครฯ ที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าวลำต้นสูงยาวกว่าต้นตาลเกือบวา มีต้นจำปาสูงมากผิดปกติ ต้นยอขนาดใหญ่สูงกว่ายอดไผ่ที่วัดดิงดง ต้นเตยที่มียอดสูงยอดต้นตาล ต้นจำปีที่มีลำต้นเกือบเท่ากะบุง ตลอดการชื่นชมและตำหนิผลไม้ที่ได้เสวย คือ แตงโมอร่อย แต่ทุเรียนกลิ่นไม่น่าพิสมัย ในด้านทรัพยากรน้ำ ผู้คนชาวเมืองนครได้กินน้ำที่สะอาดจากบ่อน้ำใต้ดินที่ถูกขุดขึ้นบริเวณต่าง ๆ ภายในตัวเมือง จึงทำให้คนนครฉลาดว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณ ทำการงานชัดเจน และสร้างสรรค์งานช่างที่แปลกตาออกมาได้ดี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประทับอยู่เมืองนครฯ เป็นระยะเวลา 3 วัน จึงเสด็จกลับทางชลมารคผ่านเส้นทางเดิม

จากการศึกษากลอนกาพย์พระนิพนธ์ฯ ข้างต้นอย่างละเอียด ทำให้ทราบถึงลักษณะสภาพความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมของชาวเมืองนครในอดีตได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งสำหรับชาวนครที่ควรแก่การศึกษาค้นคว้า

 

อ้างอิงข้อมูล

ธีรยุทธ บัวทอง. ย้อนรอยเส้นทางเสด็จของกรมพระยาปวเรศฯ ณ เมืองนคร. สานครศรีธรรมราช ปีที่ 48

ฉบับที่ 12 เดือนธันวาคม 2561, หน้า 31-41

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จ

คุณณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

หลายคนมักจะกลัวความผิดพลาดก่อนที่จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ ที่ยากยิ่งกว่าคือการเอาชนะความกลัวของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนภาษาสำหรับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เชื่อว่าหากเรามีความฝันและความมุ่งมั่นมากพอ เราจะสามารถทำได้สำเร็จ เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ที่มาร่วมแชร์ความฝัน แบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ รองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 ซึ่งภาษาอังกฤษได้กลายเป็นแรงผลักดันและตัวแปรสำคัญในชีวิตของเธอ อยากที่จะมอบโอกาสดีๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านโครงการสอนภาษาอังกฤษควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

ความชื่นชอบภาษาอังกฤษในวัยเด็กกลายเป็นแรงผลักดันให้กล้าที่จะทำตามฝัน

คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ เป็นคนนครศรีธรรมราชแต่กำเนิด ชีวิตวัยเรียนได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศหลักสูตร EP หรือ English Program ทำให้สนใจเกี่ยวกับเรื่องภาษา รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละชาติ อยากออกเดินทางไปเห็นโลกกว้าง จึงบอกกับทางครอบครัวว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปได้หรือไม่ ด้วยความที่ครอบครัวรู้จักกับคนที่อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงตัดสินใจส่งคุณนิต้าไปเรียนที่นั่นเป็นเวลา 8 ปี

จากประสบการณ์ที่ได้ไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้คุณนิต้าเรียนรู้ว่าที่นั่นสอนให้ทุกคนกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะแสดงออกทางความคิด กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ หากเราได้พูดในสิ่งที่ปรารถนา ไม่แน่ว่าเราอาจทำสิ่งนั้นให้กลายเป็นจริงได้ เธอเชื่อว่าโอกาสอยู่รอบตัวเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ บางทีคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วยนั้นอาจเป็นผู้ที่หยิบยื่นโอกาสให้ก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายให้คุณนิต้าในวัย 25 ปี อยากที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยกล้าที่จะทำตามความฝันและกล้าลงมือทำ

หลังจากเรียนจบแล้วกลับมานครศรีธรรมราช คุณนิต้าได้พูดคุยกับคุณแม่ว่าอยากที่จะทำโครงการ Junior Guide เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ชาวนครศรีธรรมราช เรียนผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คำขวัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปแบบการสอนผ่านการเล่นเกม ทำกิจกรรมต่างๆ ฝึกให้เด็กๆ กล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษ ลองผิดลองถูกในการใช้ภาษาอังกฤษ

โครงการนี้เรียกได้ว่าเป็น Miracle of Dream ของเธอ คลาสเรียนภาษาอังกฤษที่คุณนิต้าสอน นักเรียนที่เข้าร่วมมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่กล้าที่จะพูดออกมา ทักษะด้านภาษานั้นต้องอาศัยการฝึกฝน ต้องกล้าที่จะผิดเพื่อเรียนรู้ให้ถูกต้อง เธอมักจะบอกกับเด็กๆ อยู่เสมอว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะพูดผิด ทุกคนที่มาเรียนต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เด็กๆ ควรภูมิใจในตัวเองที่กล้าเรียนรู้ภาษาอื่น สำหรับบางคนนี่ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ไม่ใช่เพราะการเรียนภาษานั้นยากเกินไป แต่การก้าวผ่านความกลัวของตัวเองได้นั้นคือสิ่งที่ทำได้ยากนั่นเอง

ครอบครัวคือ แรงสนับสนุนและกำลังใจสำคัญให้คุณนิต้าทำตามความฝันได้สำเร็จ

คุณนิต้า เล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอ ไม่ว่าคุณนิต้าอยากที่จะทำอะไร มักจะบอกกับทางครอบครัวเสมอ การที่ครอบครัวคอยซัพพอร์ตในทุกเรื่องที่อยากทำ สิ่งเหล่านั้นคอยหล่อหลอมให้เธอเป็นตัวเองในวันนี้ เส้นทางในการประกวดนางสาวไทย เริ่มต้นจากเวทีการประกวดนางงามที่นครศรีธรรมราช ซึ่งโครงการ Junior Guide ที่เธอทำมีส่วนช่วยให้ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชมากขึ้น กิจกรรมเข้าค่าย เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัด คือสิ่งที่คุณนิต้าชื่นชอบมาก เพราะได้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เธอแทบจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

จากเวทีแรกก็ได้เดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ จนมาถึงเวทีที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตอย่างการประกวดนางสาวไทย นิยามของนางงามตามทัศนคติของคุณนิต้า คือ เราสนใจอะไรและเราเป็นใคร แสดงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด เป็นคนที่มีความจริงใจและเข้าถึงได้ สามารถสร้างกำลังใจให้แก่ผู้อื่นได้ เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด คุณนิต้า เล่าว่า เธอเป็นคนที่ได้รับโอกาสที่ดีมาตลอดจึงอยากสร้างโอกาสให้กับคนที่ไม่ได้รับโอกาส นี่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตของเธอ ชีวิตเธอก็มีบางช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกับคนอื่นๆ วันไหนที่เจอเรื่องแย่ๆ ก็พยายามคุยกับตัวเอง ดึงตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้ได้ เป็นเพื่อนสนิทกับตัวเองให้ได้

ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

ภาษาเป็นประตูสู่โลกกว้าง” การที่เรารู้แค่หนึ่งภาษา ก็จะรู้แค่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับของภาษานั้น แต่ถ้ารู้ภาษาอื่น เช่น ภาษาจีน นอกจากได้เรียนรู้เรื่องภาษาแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวกับประเทศจีนเช่นกัน การเรียนรู้ของเราก็จะกว้างขึ้น ทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น เราจะรู้สึกตัวเล็กลง กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น กล้าที่จะฝัน คุณนิต้าให้ความเห็นว่า การสอนภาษาอังกฤษในไทยค่อนข้างแตกต่างกับการนำไปใช้จริง โฟกัสกับการสอบมากเกินไป ทำให้เราไม่กล้าพูดเมื่อเจอกับชาวต่าวชาติ การเรียนรู้ที่ดีต้องรู้สึกสนุก เพราะภาษาคือทักษะที่ต้องฝึกฝน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะลองผิดลองถูก

ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์มากมายให้เราได้เรียนรู้ภาษา คุณนิต้าได้ทำคลิปใน TikTok  มาประมาณ 2 ปี แชร์ความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่น คำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ สำนวนที่ให้กำลังใจแก่เด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ติดตามของเธอ โดยเฉพาะเรื่องความภูมิใจในตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น แน่นอนว่าช่องทางออนไลน์ทำให้ผู้คนเข้าถึงกันง่ายขึ้น การที่เธอมีตำแหน่งรองนางสาวไทย ไม่ว่าเธอจะพูดหรือทำอะไรย่อมมีผลต่อสังคมในวงกว้าง จึงต้องมั่นใจว่าสิ่งที่โพสต์ไปต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

คำถามที่มักจะได้ยินเมื่อเดินทางไปต่างประเทศคือ คุณมาจากที่ไหน? เมื่อตอบออกไปว่ามาจากประเทศไทย ชาวต่างชาติที่ถามคำถามนี้มักจะรู้จักประเทศไทยแค่กรุงเทพ ภูเก็ต และเชียงใหม่ แน่นอนว่าไม่มีใครรู้จักจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ความภูมิใจในความเป็นคนนครศรีธรรมราช ทำให้คุณนิต้าพยายามที่จะบอกเล่าว่าจังหวัดบ้านเกิดของเธอนั้นมีอะไรบ้าง ทุกความทรงจำที่มีในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เธอมีในทุกวันนี้

การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเธอมักจะบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดของเธอให้แก่คนอื่นๆ มาตั้งแต่อายุ 15  จนเมื่อกลับมายังประเทศไทย เรื่องราวที่เธอเล่าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ นอกจากนี้เธอยังชื่นชอบดนตรีไทยและสนใจอยากเรียนรำมโนราห์ จากการที่คุณนิต้าได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 จึงได้รับการติดต่อให้ร่วมรณรงค์ โครงการ “พระบรมธาตุสู่มรดกโลก” ถือเป็นเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการ Junior Guide ที่เธอทำ

เมื่อเจอปัญหาอย่าท้อ เมื่อเจออุปสรรคอย่าถอย

ชีวิตคุณนิต้า หลายคนอาจจะดูเหมือนได้รับการสนับสนุนในทุกเรื่อง แต่ใครจะรู้ว่าบนใบหน้าที่มีรอยยิ้มแววตาที่สดใสนี้ เบื้องหลังแล้วก็มีปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานาที่ต้องประสบ บ่อยครั้งที่ต้องนอนร้องไห้คนเดียว

ทว่าคุณนิต้ากลับลุกขึ้นมาฝ่าฟันกับปัญหาเหล่านั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถือเป็นประสบการณ์ในการก้าวเดินไปข้างหน้า คุณนิต้าแนะนำว่า “เราต้องเป็นเพื่อนสนิทของตัวเองให้ได้” นั่นคือต้องเข้าใจตัวเองให้ได้มากที่สุด ยามสำเร็จก็มีตัวเราเองนี่แหละที่จะชื่นชมความสำเร็จเราได้ดีที่สุด เช่นกัน ในยามล้มเหลว ผิดหวัง ทุกข์ ก็ตัวเราเองอีกนั่นแหละที่จะเป็นเพื่อนคอยปลอบใจ ให้กำลังใจตัวเราเองได้ดีที่สุด

จงกล้าที่จะผิด กล้าที่จะลอง กล้าที่จะล้มเหลว เพราะทุกความล้มเหลว คือ ประตูที่จะเปิดโอกาสสู่ความสำเร็จเสมอ

ทุกคนล้วนมีความฝัน แต่บางครั้งก็ขาดโอกาสในการสานต่อความฝันนั้น หากเราได้รับโอกาส จงใช้ให้คุ้มค่า อย่ากลัวที่จะลงมือทำ เพราะความผิดพลาดคือสิ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ถ้าเราไม่กล้าลองอะไรเลย เราก็ไม่รู้ว่าผิดตรงไหน จะไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่เกิดการพัฒนา ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าเราเสียโอกาสนั้นไปเปล่าประโยชน์

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ