หมรับเอยแห่เลยเช้าเข้าหว่างเพล
ยกประเคนเครื่องประกอบชอบกุศล
ตามแต่มีบรรดาได้ในเรือนตน
สาละวนประดับประดาสาระพัน
.
ตองตานีถี่เย็บเก็บวงรอบ
รับทรงสอบลู่รี่ชี้สวรรค์
สลักพองรองไข่ปลาลาลอยมัน
ชะลูดหลั่นอย่างมหามงกุฎชัย
.
ทำมุขทิศบิดทางข้างละจั่ว
จำหลักตัวนาดสะดุ้งพยุงไหว
ทำช่อฟ้าแต่งระกาด้วยมาลัย
หน้าบันในแสดงเห็นเป็นเรื่องทอง
.
ปางประสูติพระสัมมาหน้าที่หนึ่ง
ตรัสรู้จึงแจกแจงไว้แห่งสอง
แสดงธรรมเทศนาที่สามรอง
ที่สี่ของดับขันธปรินิพานฯ
(วันพระ สืบสกุลจินดา, 2560)
.
บทสนทนาระหว่างสีแก้วและยอดทอง
(โหมดภาษาใต้)
(สีแก้ว)
เฮ คำนี้เขียนพรือหละไอ้ทอง ?
.
(ยอดทอง)
บอกว่า “หมรับ” กะ “หมรับ” ตะ !
แหลงมาก เจ็บคอจังแล้ว
พจนานุกรมภาษาถิ่นกะมีอยู่โทงๆ
หลักการทางภาษาศาสตร์ก็ยืนยันอยู่เห็นๆ
อิมาทำพี่พอได้บัญญัติให้หรอยแต่คำว่าหมรับพรือ
.
คันพันนั้นกะใส่ หฺมฺรัก เสียกันตะ
สากลัวคนอิอ่านว่า หม – รัก
ถึงนู้อีกหลายคำกะใส่พินทุเสียให้ฉาด
สากลัวว่าอิอ่านว่า หม – รัง, หม – รา, หม – ราบ
.
ใครอ่านโถกไม่โถกกะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับปัญญาตะ
คำอื่นอ่านยากอิอับสับเห็นยังแข้นอ่านกันออก
แม่เหยแม่คันคำเดียวเท่านี้ ทำมาหวังเหวิด
แลใหม่ให้ดีตะ มันคืออัตลักษณ์ที่ไม่จำเป็นต้องไปปรับให้ผิดหลักผิดแบบเอื้อกับไอ้ไหร่ๆ นิ
ดีเสียเหลยจะได้พากันพยายามเข้าใจความเป็นเรา ความเป็นตัวตนของเรา
.
อย่าดูถูกผู้อ่านด้วยการเขียนคำว่า “หมรับ” ด้วยคำอ่านอีกเลย
เขียนไปเป็นคำเขียนนี้แหละ
จากมเหยงคณ์ อิอ่านเป็น มะ – เหยง กะช่างหัวมันแหละทีนี้หึ
บอกเพื่อนว่าเมืองนักปราชญ์
คันคำเดียวเท่านี้อ่านไม่โถกกะไม่ที่ทำพรือ
ฮาโรย !!!!
.
(โหมดภาษากลาง)
ควรเขียนว่า “หมรับ” แล้วอ่านว่า “หฺมฺรับ”
เหตุที่ควรเขียนโดยไม่มีพินทุนั้นก็เพราะว่าการใส่พินทุเป็นการแสดงคำอ่านไม่ใช่การเขียน โดยใส่พินทุข้างล่างพยัญชนะเพื่อใช้ระบุอักษรนำและอักษรควบกล้ำ เช่นคำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อย่างคำว่า หมรับ มีพยัญชนะ ๓ ตัว คือ ห นำ ม แล้วนำ ร อีกที จึงวางพินทุที่ ห และ ม เพื่อชี้ว่า ทั้ง ๒ ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นอักษรนำ
.
(สีแก้ว)
ฮาเอาทองเอา ถูกเอาหมลักแม่เหยแม่
.
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเขียนคำว่า “หมรับ” และวัฒนธรรมใหม่ที่มีจุดกำเนิดมาจากความแพร่หลายของความคลาดเคลื่อนนี้ ส่งผลให้ในยุคปัจจุบันสำรวจไม่พบคำอธิบายของการเขียนในลักษณะอื่นๆ เช่น หฺมฺรับ, หฺมรับ, หมฺรับ, หฺมฺรบ, หมฺรบ, หมฺรบฺ, หมรบฺ เป็นต้น
.
จากการค้นคว้าพบว่า คำว่า “หมรับ” นี้ ไม่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอย่างที่มีเอกสารหลายฉบับได้อ้างถึงว่าเขียนไว้ว่า “หฺมฺรับ” แต่กลับปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคใต้ระบุการเขียนไว้ว่า “หมรับ” และคำอ่านแบบเทียบเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า “Mrap”
หากจะอธิบายถึงจุดด้านล่างตัวอักษร (เครื่องหมายพินทุ) นั้น สามารถอธิบายได้ว่า เครื่องหมายพินทุมีหลักการใช้ ๒ กรณี คือใช้เป็นเครื่องหมายระบุอักษรนำในการเขียนคำอ่าน เช่น คำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อีกกรณีคือการเขียนกำกับตัวสะกดในภาษาบาลี เช่นคำว่า สัมมาสัมพุทโธ (สมฺมาสมฺพุทฺโธ) ทั้งนี้หากเขียนคำว่า “หมรับ” เป็นคำอ่าน ก็จะเขียนได้ว่า “หฺมฺรับ” และเขียนเป็นภาษาบาลีจะได้ว่า หมรบฺ
.
จึงใคร่ขอทำความเข้าใจใหม่ในความถูกต้องที่มีมาแต่ก่อนเก่า เกี่ยวกับคำสำคัญอันมีที่มาจากประเพณีสำคัญซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลกของเรานี้ ตามหลักการเขียนที่ถูกต้องว่า “หมรับ” ไม่ใช่ตามหลักการอ่านด้วยพินทุหรือรูปแบบการเขียนในภาษาบาลีที่พบเห็นเป็นความคลาดเคลื่อนอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน
.
ก็เหตุที่การเขียนต้องเขียนด้วยภาษาเขียนประการหนึ่ง แลหมรับคำนี้เป็นการรวบคำมาจากคำว่า “สำรับ” จึงเป็นบาลีไปเสียไม่ได้อีกหนึ่ง