ผศ.สุพัฒน์ นาคเสน สืบสาน ถ่ายทอด โนรามรดกโลกทางวัฒนธรรม คนต้นแบบเมืองนคร

เมื่อไม่นานมานี้ทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ  (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” หรือ “มโนราห์” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การสืบทอดโนราที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดคำถามว่า ต่อจากนี้อนาคตของโนราจะไปในทิศทางใด คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของโนรา เป็นผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ผศ.สุพัฒน์ นาคเสน สืบสาน ถ่ายทอด โนรามรดกโลกทางวัฒนธรรม

จากความชื่นชอบทางด้านนาฏศิลป์ สู่ศิลปะการแสดงโนรา

ผศ.สุพัฒน์ หรือที่ลูกศิษย์เรียกกันว่า “ครูพัฒน์” เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโนราสมัยเรียนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช ซึ่งครูพัฒน์มีความชื่นชอบทางด้านนาฏศิลป์อยู่แล้ว และมีโอกาสฝึกการร่ายรำโขนหลังจากเรียนจบได้เป็นครูสอนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ในตอนนั้นครูพัฒน์ต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเทริดมโนราห์เพิ่มเติม (เครื่องสวมศีรษะ ซึ่งศิลปินโนราถือว่าเทริดเป็นของสูง เป็นสัญลักษณ์ของครู) จึงได้ไปขอความรู้จากครูโนราท่านหนึ่ง ในตอนนั้นครูพัฒน์มองว่า คนที่จะมาสืบทอดศิลปะการแสดงมโนราห์นั้นมีจำนวนน้อยมาก จึงเกิดความคิดที่อยากจะศึกษาอย่างจริงจัง จากนั้นครูพัฒน์มีโอกาสได้ไปทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดอบรมเกี่ยวกับนาฏศิลป์ตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา หลังจากสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้ ครูพัฒน์หันมาสนใจโนราอีกครั้ง หาประสบการณ์โดยการฝึกร่ายรำกับครูโนราที่มีชื่อเสียงหลายท่าน จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิทยานิพน์เรื่อง “โนรา : รำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาว” เป็นการรำประกอบพิธีกรรมของโนราที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ การรำชุดนี้ต้องแสดงโดยนายโรงโนรา และแสดงเฉพาะในการประชันโรงเท่านั้น ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก ครูพัฒน์ทำการวิจัยโดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ และฝึกร่ายรำกับนายโรงโนราผู้ทรงคุณวุฒิด้านโนราหลายท่าน ทางครูพัฒน์เองได้ผ่านการประกอบพิธีกรรมครอบเทริด และผูกผ้าใหญ่อย่างถูกต้อง ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช เพื่อต้องการสืบทอดการรำอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้เป็นสมบัติของโนราสืบไป

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับโนรา สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ

ครูพัฒน์ให้ความเห็นว่า โนราเปรียบเหมือนแหล่งรวมองค์ความรู้ทางศิลปะอันหลากหลาย สามารถพิจารณาได้หลายประเด็น เช่น

  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร โดยใช้ร่างกายเพื่อแสดงการร่ายรำ ซึ่งการร่ายรำก็สามารถเจาะลึกลงไปได้อีกว่า จะรำอย่างไรให้ท่วงท่าดูสวยงาม ซึ่งต้องอาศัยสมาธิ มีจังหวะที่สม่ำเสมอ รู้จักวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้อง
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของดนตรี ความงาม ความไพเราะ ความเหมาะสมของจังหวะที่สอดคล้องกับเครื่องดนตรี การบรรเลงท่วงทำนองมีทั้งจังหวะช้าและเร็ว เมื่อฟังแล้วเกิดความรู้สึกไปตามจังหวะเพลง
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของวรรณศิลป์ บทกวี ภาษากลอน มีการร้องขับบทเป็นกลอนสด ซึ่งต้องอาศัยทักษะการเปล่งเสียงให้มีความไพเราะ ใช้เสียงอย่างเหมาะสมตามบทกลอน ซึ่งกลอนโนรามีหลายรูปแบบ
  • โนราเป็นสัญลักษณ์ของหัตถศิลป์ ชุดโนราประกอบด้วยงานศิลป์หลายแขนงที่มีความประณีต เช่น “เทริดโนรา” มีโครงสร้างทำด้วยโลหะ ทองเหลือง หรือไม้ไผ่สาน ตกแต่งรายละเอียดด้วยการปั้นรักติดเป็นลวดลาย ลงรักปิดทอง ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม “เครื่องทรงโนรา” หรืออีกชื่อว่า เครื่องลูกปัดโนรา เครื่องแต่งกายของโนราที่มีการนำลูกปัดหลากสีสันมาร้อยเรียงกันเป็นลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม

สติ สมาธิ และธรรมะ กับโนรา

ความเข้าใจของคนทั่วไปมักมองว่า โนราเป็นหนึ่งในศิลปะเพื่อความบันเทิง หากศึกษาให้ลึกถึงแก่นจะพบว่า ภายใต้ท่วงท่าการร่ายรำที่งดงามและบทร้องอันไพเราะนั้น โนราถือเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีรากฐานจากความเชื่อ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนทางภาคใต้ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยที่มีการรักษาเยียวยาผ่านขั้นตอนของพิธีกรรม ครูพัฒน์ เล่าว่า โนรานั้นคู่กับการพิธีกรรม ซึ่งการทำพิธีกรรมต้องมีสมาธิจึงจะเกิดผล แต่ให้ระลึกเสมอว่า เราไม่ได้ทำด้วยพลังของเราเอง แต่เราเป็นเพียงสื่อกลางที่เชิญพลังของครูหมอโนรา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ เพื่อรักษาเยียวยาอาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะตามความเชื่อ เมื่อจิตเราสงบ มีสติ สมาธิ ก็จะเกิดการระลึกถึงครูบาอาจารย์ เกิดเป็นพลังในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งการรักษาต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะท่วงทำนองที่กำลังดำเนินไป ส่วนของธรรมะกับโนรา ในอดีตมีความเชื่อว่าโนราสามารถติดต่อกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติได้ โดยผ่านพิธีกรรมบวงทรวง มีการสอดแทรกคำสอนต่างๆ เช่น พระคุณพ่อแม่ พระคุณครู การครองเรือน ปรัชญาการใช้ชีวิต เป็นต้น ผ่านบทกลอนที่ขับร้อง ซึ่งคนที่จะมาเป็นโนราได้ต้องมีความศรัทธาในตัวครูโนราทั้งครูที่มีชีวิตอยู่และครูบรรพชน

“โนรา” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ในอดีต โนรา เปรียบเหมือนสื่อในการบอกเล่า ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ คนที่เป็นโนราต้องเรียนรู้ในเรื่องของธรรมะและพิธีกรรม ต้องเป็นคนที่น่าเคารพ เป็นที่ศรัทธาของผู้อื่น ในส่วนของศิลปะการแสดง ครูพัฒน์ เล่าว่า โนราประกอบด้วยตัวละครหลัก 3 คน คือ นายโรง (โนราใหญ่) นางรำ และตัวตลก (นายพราน) เมื่อดูจากชื่อเรียกแล้ว หลายคนมักเข้าใจผิด อย่าง “นางรำ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง นางรำผู้หญิง แต่เป็นตัวละครที่มีลำดับรองลงมาจากนายโรง สามารถจำแนกตัวละครโดยดูได้จากเครื่องแต่งกาย ซึ่งโนรามีการพัฒนารูปแบบการแสดงตามยุคสมัย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมมาเรื่อยๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม ทำให้ต้องย้อนกลับมาถามว่า ทุกวันนี้โนรามีความสำคัญกับชีวิตผู้คนและสังคมอย่างไร สามารถนำไปประกอบวิชาชีพในรูปแบบใด

ในอนาคต ครูพัฒน์ให้ความเห็นว่า การที่โนราได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่จะอนุรักษ์ไว้อย่างไร ใครจะเป็นผู้รักษาไว้ คงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอนาคต ซึ่งศิลปินโนรานั้นมีส่วนสำคัญต่อหน้าที่นี้ ต้องตระหนักและรู้คุณค่าในสิ่งที่ทำ ส่วนนักวิชาการเองก็ต้องให้ความสำคัญกับมรดกภูมิปัญญานี้เช่นกัน ต้องถ่ายทอดข้อมูลให้ผู้อื่นรับรู้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง สิ่งที่ครูพัฒน์กังวลคือ ความงดงามของโนราเริ่มลดลง ในขณะที่ความสนุกสนานเพิ่มขึ้น ครูพัฒน์มักจะนำคำสอนของครูที่ท่านเคารพนับถือนั่นคือ โนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ประจำปี 2530 ถ่ายทอดต่อไปยังลูกศิษย์ ให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของโนรา รู้ถึงที่มาที่ไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลนั่นเอง

การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไปไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของชุมชนโนราทุกคนตั้งแต่ คนดู คนรักโนรา คนที่รู้เรื่องโนรา ผู้สนับสนุนโนรา ในการช่วยกันรักษาแก่นแท้ คงรูปแบบดั้งเดิมไว้ ควบคู่กับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์เพื่อความอยู่รอด

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ประวัติอำเภอท่าศาลา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอท่าศาลา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากท่าศาลานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

 

ท่าศาลา จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า เจ้าศรีมหาราชาบุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เจ้าเมืองเวียงสระได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อยกไพร่พลเข้าตั้งอยู่ในเมืองเรียบร้อยแล้ว คิดจำทการซ่อมแซมพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ส่งคนออกมาทำนาที่ทุ่งกระโดน (ตำบลท่าศาลา) ทุ่งหนองไผ่ (ตำบลท่าขึ้น) และทำนารักษาพระที่วัดนางตรา (ตำบลท่าศาลา) และให้คนเข้าไปอยู่บ้านกรุงชิง

.

ส่วนในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ระบุถึงท้องที่ต่าง ๆ ในอำเภอนี้ ได้ตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีนายที่ปกครองหลายตำบล คือที่ตำบลไทยบุรี ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม ศักดินา 1,200 ไร่ ฝ่ายซ้ายที่ตำบลนบพิตำ นายที่ชื่อขุนเดชธานี ที่กลาย นายที่ชื่อขุนสัณห์ธานี

.

บรรดานายที่เหล่านั้น ปรากฏว่าที่ไทยบุรีเป็นแขวงใหญ่กว่าที่อื่น นายที่มีตราประจำตำแหน่งเป็นรูปโค เครื่องยศมีช้างพลาย 1 จำลอง 1 ทวน 1 ขวด 1 แหลน 20 ปืนนกสับหลังช้าง 1 กระบอก ปืนนกสับเชลยศักดิ์ 6 กระบอก ปืนกระสุนนิ้วกึ่งเชลยศักดิ์ 1 กระบอก หอกเขต 15 ทวนเท้า 6 และได้รับพระราชทานไพร่เลวที่ไทยบุรี ได้รับพระราชทานค่าคำนับฤชาภาษีส่วย มีกรมการคือขุนราชบุรี เป็นรองนายที่ หมื่นเทพบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นบาลบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นสิทธิสารวัด เป็นสารวัตร เมืองท่าสูง เมืองเพ็ชรชลธี ขึ้นไทยบุรี และบ้านเปียน บ้านปากลง บ้านกรุงบาง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาตำบลนบพิตำ ชาวบ้านได้หนีสักเมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 เข้าไปตั้งบ้านเรียนหลบซ่อนอยู่ บัดนี้กลายเป็นหมู่บ้านและตำบลนบพิตำ

.

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แขกเมืองไทรบุรีเป็นขบถตั้งแข็งเมือง เจ้าเมืองนครต้องยกทัพออกไปทำการปราบปราม ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม นายที่ไทยบุรี ได้ยกกองทัพไปช่วยเมืองนครทำการปราบปรามด้วย เดินทัพจากไทยบุรีไปยังนครศรีธรรมราช ทางที่ออกหลวงไทยบุรีเดินทัดนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่าทางทัพหลวงไทย เป็นทางด่วนสาธารณะกั้นเขตแดนระหว่างตำบลไทยบุรีกับตำบลกะหรอปัจจุบัน

.

นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาดังกล่าวข้างต้น อาจทราบได้จากโบราณสถาน วัดวาอารามต่าง ๆ ในท้องที่ เช่น วัดนางตรา และวัดโมคลาน ซึ่งเป็นโบราณสถานที่นักโบราณคดีประมาณอายุว่าสร้างในราว พ.ศ.1400 – 1800 เป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง เนื่องจากภัยสงครามเมื่อครั้งพม่ามาตีเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะที่ตั้งวัดอยู่ใกล้เส้นทางเดินทัพพม่า

.

อำเภอกลาย

พุทธศักราช 2430 ได้รวบรวมท้องที่ต่าง ๆ ตั้งเป็น “อำเภอกลาย” มี 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าศาลา ท่าขึ้น สระแก้ว กลาย ไทยบุรี กะหรอ นบพิตำ หัวตะพาน โมคลาน ดอนตะโก นายอำเภอคนแรกชื่อนายเจริญ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมทะเลบ้านปากน้ำท่าสูง และย้ายไปตั้งที่วัดชลธาราม (วัดเตาหม้อ) ครั้งสุดท้ายย้ายมาตั้งที่ตลาดท่าศาลา ต่อมาในปี 2459 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกลายเป็น “อำเภอท่าศาลา”

.

ท่าศาลา

ชื่ออำเภอนั้น ตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้งที่ว่าการอำเภอท่าศาลา คือบ้านท่าศาลา บ้านท่าศาลานี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลา ซึ่งเป็นคลองเล็กแยกมาจากคลองท่าสูง เป็นท่าจอดเรือสินค้าจากต่างเมือง ที่ท่าเรือมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่หนึ่งหลัง เดิมเป็นศาลาชั่วคราวมุงจาก ต่อมาปลูกเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา มุงสังกะสี ครั้น พ.ศ.2510 ได้รื้อศาลานี้ปลูกใหม่เป็นทรงไทย มุงกระเบื้อง พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหินขัด กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร โดยบริษัท ท่าศาลาเหมืองแร่ จำกัด เป็นผู้อุทิศเงินในการก่อสร้างจำนวน 70,000 บาท ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลาน้ำ” ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลาใกล้ท่าจอดเรือในสมัยก่อน แต่เดียวนี้ลำคลองตื้นเขินใช้เป็นท่าเรือไม่ได้แล้ว แต่ยังมีศาลาเป็นอนุสรณ์อยู่

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

โนรามดลิ้น ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

โนรามดลิ้น
ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้น

.

หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เปิดให้บริการภายใต้ภาพลักษณ์และรูปโฉมใหม่ หลายวันก่อนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะห้องศรีวิชัย ที่รวบรวมข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ไว้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นมีหนังสือชื่อ “นครศรีธรรมราช” ที่ประกอบด้วยหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชไว้ในหลายมิติ ทั้งสังคม ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศที่ชุดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโนรามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงจะขอคัดที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวิประวัติของโนรารุ่นเก่าของนครศรีธรรมราช นาม “มดลิ้น ยอดระบำ” มาให้ได้อ่านกันในที่นี้ (โดยจะขอปรับคำเรียกให้พ้องตามสากลว่า “โนรา” กับทั้งชั้นนี้จะเว้นการวิเคราะห์และตีความใด ๆ ไว้ เว้นแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทำท่ารำในหนังสือตำรารำไทย ที่ระบุว่าโนราที่ปรากฏรูปคู่กับหมื่นระบำบรรเลงนั้น อาจคือ “โนราเย็น” ดังจะได้สืบความต่อไป)

.

“โนรามดลิ้น เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่น ๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร โนรามดลิ้นก็เคยเข้าไปรำเผยแพร่หน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายคราวจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเนื่องจากความสามารถในการรำโนรานี้เอง ท่านผู้นี้จึงได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ยอดระบำ”

.

ชาตกาล

โนรามดลิ้น ยอดระบำ เกิดเมื่อวันเสาร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2421 ตรงกับเดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล เป็นบุตรนายทอง นางนุ่ม เป็นหลานปู่ของนายบัวจันทร์ และย่าชุม เกิดที่บ้านหัวสะพานขอย หมู่ที่ 4 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน คือ นางบึ้ง นายมดลิ้น นางลิบ และนางลม

.

เรียนขอม

เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ พ่อท่านทวดด้วงได้พาให้ไปศึกษาหนังสือไทยสมัยเรียน นอโม-พุท-ท่อ และเรียนเวทมนต์คาถากับพ่อท่านคงที่วัดเนกขัมมาราม (หน้ากาม) อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้ดีแล้ว ท่านอาจารย์คงได้ฝากให้ไปเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์เพิ่มเติมกับท่านอาจารย์เกิดที่วัดป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง กระทั่งมีความรู้อ่านออก เขียนหนังสือขอมได้

.

อุปสมบท

ครั้นอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมภูผา อำเภอร่อนพิบูลย์ 1 พรรษา สมัยพระอาจารย์ภู่เป็นสมภาร และได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนต์คาถาเพิ่มเติมด้วย ต่อมาอายุ 22 ปี ได้สมรสกับนางทิม บุตรโนราปลอด-นางศรีทอง บ้านวังไส ตำบลสามตำบล มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ นายกลิ้ง นายคล่อง นายสังข์ นายไว นางพิน นางพัน และนายเจริญ

.

โนรามดลิ้น

โนรามดลิ้นได้ฝึกหัดรำโนราเมื่ออายุ 14 ปี โดยฝึกหัดกับโนราเดช บ้านหูด่าน อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นอาจารย์เดียวกันกับโนราหมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหมเมศ หรือ คล้ายขี้หนอน) เมื่อรำเป็นแล้วได้เที่ยวรำกับอาจารย์ หมื่นระบำบรรเลง และโนราเถื่อน บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ ในสมัยก่อนโนราส่วนมากไม่ค่อยมีสตรีร่วมแสดงเหมือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อจะแสดงเรื่องก็ใช้ผู้ชายแสดงแทน โนรามดลิ้นซึ่งกล่าวได้ว่าสมัยนั้นรูปหล่อ สุภาพ อ่อนโยน ก็ทำหน้าที่แสดงเป็นตัวนางเอกแทบทุกครั้ง และแสดงได้ถึงบทบาทจนกระทั่งคนดูสงสารหลั่งน้ำตาร้องไห้เมื่อถึงบทโศก

.

โนรามดลิ้นเที่ยวแสดงในงานต่าง ๆ แทบทั่วทั้งภาคใต้ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นอกจากนี้เคยไปแสดงในงานสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ หลายครั้ง ได้แก่

.

รำถวายหน้าพระที่นั่ง

ครั้งแรก ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานราชพิธีหน้าพระที่นั่ง มีโนราคล้าย ขี้หนอน เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปทางเรือรวมทั้งหมด 13 คน ในการรำถวายครั้งนี้ โนราคล้าย ขี้หนอน แสดงเป็นตัวพระ ส่วนโนรามดลิ้น แสดงเป็นตัวนาง หลังจากแสดงแล้วเสร็จ โนราคล้าย ขี้หนอน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นระบำบรรเลง โนรามดลิ้นได้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ” และในโอกาสเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปินในสำนักพระราชวัง ได้จดบทกลอนท่ารำโนราและบทต่าง ๆ ไว้หลายบท เพื่อถือเป็นแบบฉบับสำหรับการศึกษาต่อไป

.

ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2466 ได้ไปรำในงานพระราชพิธีที่ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหมื่นระบำบรรเลงเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยโนรามดลิ้น ยอดระบำ โนราเสือ (ทุ่งสง) โนราพรัด (ทุ้งไห้ฉวาง) โนราคลิ้ง ยอดระบำ โนราไข่ร็องแร็ง (สามตำบล) พรานทองแก้ว พรานนุ่น กับลูกคู่รวม 14 คน

.

เมื่อกลับจากการแสดงครั้งนี้ชั่วระยะไม่ถึง 2 เดือน ทางราชการได้เรียกโนราให้ไปแสดงอีก แต่เนื่องจากครั้งนั้นโนรามดลิ้นได้นำคณะโนราส่วนหนึ่งเดินทางไปแสดงที่จังหวัดกระบี่ พังงา และอำเภอตะกั่วป่า (เดินเท้า) จึงไม่สามารถกลับมาและร่วมไปแสดงได้ หมื่นระบำบรรเลง จึงรวบรวมบรรดาศิษย์ไปแสดงเอง การแสดงครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปากรได้ถ่ายรูปท่ารำโนราต่าง ๆ ของหมื่นระบำบรรเลงกับโนราเย็นไว้เป็นแบบฉบับเพื่อการเผยแพร่และการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง ดังปรากฎในหนังสือว่าด้วยตำรารำไทยในหอสมุดแห่งชาติ

.

ครั้งที่สาม เมื่อ พ.ศ. 2473 ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานพระราชพิธีหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 7 ครั้งนี้หมื่นระบำบรรเลงแก่ชรามาก จึงไม่ได้เดินทางไป มอบให้โนรามดลิ้น ยอดระบำ เป็นหัวหน้าคณะ นำโนรา 12 คนไปรำถวายแทน

.

เข้ากรมศิลปากร

ปลายปี พ.ศ. 2479 ครั้งหลวงวิจิตวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้ริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูมหรสพพื้นเมืองทั่วไป ถึงได้เดินทางมาขอชมการรำโนราแบบโบราณที่เมืองนครศรีธรรมราช โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้นำคณะแสดงให้ชมที่เรือนรับรองของข้าหลวงประจำจังหวัดในสมัยนั้น ผู้แสดงมีโนราคลิ้ง อ้น เจริญ ปุ่น และพรานบก การแสดงเป็นที่พึงพอใจของอธิบดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอตัวโนราเจริญและปุ่นไปอยู่ที่กรมศิลปากร เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโนราแบบโบราณให้แก่นักเรียนของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรได้ศึกษา และได้ให้โนราทั้งสองได้เล่าเรียนหนังสือไทยเพิ่มเติม พร้อมทั้งศึกษาท่ารำแบบต่าง ๆ ของกรมศิลปากรให้มีความรู้ความชำนาญยิ่งขึ้น โนราเจริญและปุ่น ศึกษาอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นเวลา 1 ปี จึงได้กลับมายังนครศรีธรรมราช

.

ครั้งที่สี่ เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้ไปรำในงานวันชาติที่ท้องสนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ โนรามดลิ้นไปในฐานะหัวหน้าคณะเท่านั้น เพราะแก่ชรามากแล้ว รำไม่ได้ จึงให้โนราคลิ้ง ยอดระบำ ซึ่งเป็นบุตร แสดงแทน

.

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้เคยนำคณะไปรำในงานของทางราชการบ้านเมืองอีกหลายครั้ง ที่สำคัญ เช่น รำถวายรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสภาคใต้ ซึ่งได้ทรงเสด็จในงานยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช และรำในงานต้อนรับพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

.

ส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ในอำเภอหรือในจังหวัดใกล้เคียง โนรามดลิ้นได้นำคณะไปช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเสมอ ในชีวิตของท่านจึงนับได้ว่าท่านใช้ความสามารถได้เกิดประโยชน์อย่างมาก

.

แพทยศาสตร์

นอกจากความสามารถของการรำโนราแล้ว โนรามดลิ้นยังสามารถบริการประชาชนในเรื่องยากลางบ้านอีกด้วย กล่าวคือท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ เป็นหมอรักษาผู้ที่ถูกยาสั่ง ถูกคุณไสยต่าง ๆ ตามหลักวิชาไสยศาสตร์อีกด้วย จึงนับได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางจนตลอดชีวิต

.

โนรามดลิ้น ยอดระบำ ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2511 เวลา 10.00 น. ด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 7 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ 92 ปี”

____

คัดจาก
วิเชียร ณ นคร. (2521). นครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร: อักษรสัมพันธ์.

ภาพปก
ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ช่างภาพชาวฝรั่งเศษ
เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

คุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ คนต้นแบบเมืองนคร

เราสามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้างกับผืนดินที่เรามีอยู่? เราสามารถพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นได้จากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่? สิ่งที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้ลงมือทำ โดยยึดมั่นในหลักการทำงานที่ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องเข้าไปคลุกคลี เรียนรู้ด้วยตัวเอง และทำงานให้เป็นทุกอย่าง เปลี่ยนจากผืนดินอันว่างเปล่าให้กลายเป็นนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ เกิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มชาว นา ณ คอน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคำตอบที่แทบไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เชิญทุกท่านทำความรู้จักกับคุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกฝืนผืนนาร้าง สร้างนารักษ์

จากงานสายวิชาการ มุ่งหน้าสู่งานเกษตรอินทรีย์

คุณสหธัญ เกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นกำนัน อาชีพหลักของทางบ้านคือ ทำนา ชีวิตในวัยเด็กของคุณสหธัญ จึงคุ้นชินกับการทำนา ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว อย่างในช่วงวันหยุดมักจะวิ่งเล่นตามท้องนา จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทางบ้านจึงเลิกทำนาไปในที่สุด แต่ยังคงมีเครือญาติที่ทำอาชีพนี้อยู่ คุณสหธัญเล่าว่า แม้จะคลุกคลีอยู่กับท้องนาตั้งแต่เด็ก โดยส่วนตัวนั้นไม่ชอบอาชีพนี้สักเท่าไหร่ เพราะมีความคิดว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้วเหนื่อยมาก เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน คุณสหธัญมีโอกาสได้ทำงานกับนักวิชาการ จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท แต่ยังไม่ทันจะได้เรียน ก็มีโอกาสได้ทำงานเป็นเลขานุการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นงานที่คุณสหธัญไม่คาดฝันว่าจะมีโอกาสได้ทำ ในขณะที่ทำงานคุณสหธัญได้แบ่งเวลาไปเรียนทางด้านสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควบคู่ไปด้วย จากนั้นได้เข้าทำงานฝ่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้รับโอกาสชักชวนให้ไปทำงานกับทางเทศบาล บริหารจัดการด้านศูนย์การเรียนรู้กับโจทย์ “แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตสำหรับเยาวชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช” และต้องผลักดันให้หน่วยงานนี้มีที่ยืนในระดับประเทศไปจนถึงนานาชาติ

ในปีแรกถือเป็นช่วงที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทีมงานและทางเทศบาล เมื่อเข้าสู่ปีที่สองเริ่มมีเครือข่ายจากกรุงเทพฯ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งคุณสหธัญเป็นผู้ติดต่อประสานงาน จนเข้าสู่ปีที่ 3 เริ่มมีหน่วยงานจากนานาชาติเข้ามาร่วมทำกิจกรรม เมื่อโครงการบรรลุผลตามเป้าหมาย คุณสหธัญตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาดูแลสวนยางของตัวเอง ด้วยเวลาที่ว่างมากขึ้นก็เริ่มหาพืชพันธุ์มาปลูกแสมในสวนยาง ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ต้นจำปาทอง ต้นตะเคียน ต้นมะฮอกกานี การปลูกต้นไม้ทำให้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน ปุ๋ยหมัก วัสดุคลุมดิน คุณสหธัญจึงเกิดไอเดียว่าน่าจะทำนาเพื่อต้องการนำฟางมาใช้สำหรับทำปุ๋ย เริ่มจากพื้นที่ขนาด 5 ไร่ ปลูกข้าวสังข์หยด เมื่อเพื่อนทราบข่าวว่าทำนาจึงขอสั่งจองล่วงหน้า ปรากฏว่าข้าวสารล็อตแรกขายหมดเกลี้ยง จากเดิมที่ต้องการแค่ฟาง เป้าหมายจึงเปลี่ยนไปที่การปลูกข้าวให้ได้คุณภาพ จึงขยายพื้นที่ทำนาจาก 5 ไร่เป็น 20 ไร่ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ทั้งหมด ในขณะที่การปลูกข้าวของคุณสหธัญเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ ผืนนาบริเวณโดยรอบที่ให้คนอื่นเช่านั้นใช้สารเคมี แน่นอนว่าสารเคมีนั้นปนเปื้อนไปยังดินและน้ำ คุณสหธัญจึงตัดสินใจทำนาในพื้นที่ตัวเองทั้งหมด 50 ไร่โดยไม่ให้ใครเช่า เพราะต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีก็สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้

ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการแรกและลงมือทำให้เป็น

คุณสหธัญศึกษาและเรียนรู้การทำนาผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่เตรียมเมล็ดข้าว เตรียมดิน การหว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย การดูแล และเก็บเกี่ยว การทำนาปลอดสารเคมีในแบบของคุณสหธัญ เรียกได้ว่าอาศัยสารพัดวิธี มีทั้งการหว่านถั่วเขียว แล้วรอให้งอกขึ้นมาพร้อมข้าว ธรรมชาติของถั่วเขียวนั้นไม่ทนต่อสภาพที่มีน้ำขัง ถั่วเขียวที่ตายก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าว เป็นแหล่งไนโตรเจนที่ดี มีการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ใช้มูลสัตว์เท่าที่มีในท้องถิ่น ในส่วนของศัตรูพืชใช้วิธีจ้างคนมาถอนหญ้า แต่ละปัญหาที่เจอล้วนมีเทคนิคในการแก้ไข ส่วนตัวคุณสหธัญต้องการทำนาโดยรักษาผืนดินให้อยู่ในสภาพที่ดี ทำนาโดยไม่ทำลายดิน จำนวนผลผลิตเป็นคำตอบให้กับชาวบ้านว่าแม้ไม่ใช้สารเคมีก็สามารถได้ผลผลิตตามที่คาดหวังได้ คุณสหธัญขายข้าวกล้องไม่ได้ส่งโรงสี มีโรงสีในเครือข่าย บรรจุภัณฑ์สวยงาม สามารถมอบให้เป็นของขวัญได้ จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร

สำหรับแนวคิดแบบเกษตรเชิงพานิชย์ของคุณสหธัญ เริ่มจากทำนา 50 ไร่แล้วประสบความสำเร็จ จึงขยับขยายพื้นที่ไปจนถึง 1,700 ไร่ (รวมเครือข่าย) คุณสหธัญเล่าว่า แม้ขนาดของพื้นที่ต่างกัน แต่ใช้ระยะเวลาในการทำนาไม่ต่างกัน ใช้เครื่องจักรชุดเดียวกันไม่ว่าข้าวจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูก 4-5 เดือน ดังนั้นหากทำน้อยจะเสียเปรียบ หากทำมากเราได้เปรียบ การจะส่งข้าวสารเข้าโรงสีได้ก็ต้องมีผลผลิตอย่างน้อย 50 ตัน ซึ่งการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายช่วยให้ชาวนาคนอื่นๆ แม้มีพื้นที่ทำนาแค่ไม่กี่ไร่ก็สามารถมีอำนาจในการต่อรองกับโรงสีได้ ในส่วนของการควบคุมคุณภาพ คุณสหธัญเป็นผู้ควบคุมกระบวนการผลิตเอง ช่วยจัดการและประสานงานทุกอย่าง เมื่อแต่ละแปลงเริ่มอยู่ตัวแล้ว คุณสหธัญก็เริ่มมองหาที่ดินรกร้างเพื่อสร้างประโยชน์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “พลิกนาร้าง สร้างนารักษ์” โครงการที่ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวเมล็ดฝ้าย ข้าวเล็บนก ข้าวช่อหลุมพี ข้าวไข่มดริ้น และยังเป็นการช่วยพลิกฟิ้นผืนนาที่รกร้างให้กลับมาเป็นผืนนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ได้

ผืนนา ณ เมืองคอนเป็นตัวแทนของภาคการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แสดงให้เห็นว่าหากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน เรื่องที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็สามารถทำให้เป็นไปได้และเป็นไปได้ด้วยดี เริ่มต้นจากการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนเกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของเกษตรกร เพื่ออนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพลิกฟื้นพื้นแผ่นดินบ้านเกิดให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะการทำนาไม่ใช่แค่การเรียนรู้ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้การพัฒนาชุมชนและสังคมเช่นกัน เมื่อชุมชนแข็งแกร่งก็จะนำมาซึ่งความสุขของคนในชุมชนนั่นเอง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

คุณแสนภูมิ กล้าอยู่ ผู้นำชุมชนยุคใหม่ พัฒนาความร่วมมือสร้างรายได้ชุมชน

จุดเริ่มต้นจากคนตัวเล็กที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมตั้งแต่วัยเด็ก ผสมผสานวิทยาการความรู้อันหลากหลายของคนในชุมชน บวกกับทักษะด้านภาษาของตนเอง เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนผ่านประเพณีวัฒนธรรม จนเกิดเป็นหลายโครงการที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในชุมชน ทางนครศรีสเตชั่นมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับคนต้นแบบเมืองนคร ผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังโครงการชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางดี คุณแสนภูมิ กล้าอยู่ ผู้นำชุมชนยุคใหม่ พัฒนาความร่วมมือสร้างรายได้ชุมชน

บทบาทของนักคิด นักกิจกรรม สานต่องานที่ทำตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของคุณแสนภูมิ เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมตัวยง ไม่ว่าจะเป็นนักกลอนประจำโรงเรียนที่เข้าร่วมการประกวดต่างๆ คณะกรรมการนักเรียน กิจกรรมสภาเด็ก  จนเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ยังคงทำงานในรูปแบบเดิมอยู่ มีโอกาสได้เป็นผู้นำนักศึกษา ทำกิจกรรมเกี่ยวกับค่ายอาสา ภาคีเครือข่ายที่สร้างสัมพันธภาพกับทางชุมชน รวมถึงงานของสภาเด็กและเยาวชนตำบลเสาเภาที่ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี เด็กๆ ต่างเรียกขานคุณแสนภูมิว่า “ป้าแสน”  ซึ่งโครงการแต้มสีแต้มใจน้อง เป็นกิจกรรมแรกของคุณแสนภูมิที่ทำร่วมกับทางสงขลาฟอรั่ม ในตอนนั้นถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือจากเด็กๆ และผู้ปกครองเป็นอย่างดี

ในช่วงชั้นปีที่ 3 ขณะกำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาต้องฝึกงาน คุณแสนภูมิเลือกฝึกงานที่โรงเรียนที่ตัวเองเคยเป็นนักเรียนมาก่อน ฝึกสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6  และดูแลในส่วนของคณะกรรมการนักเรียน ช่วยไกด์ไลน์กิจกรรมต่างๆ อย่างกิจกรรม Zero Project เริ่มจากการทาสีชั้นวางหนังสือของห้องสมุดโรงเรียน เปลี่ยนโฉมห้องสมุดให้น่าเข้ามากขึ้น กิจกรรมสภาเด็กที่ทำให้นักเรียนเข้าใจ และเข้าถึงชุมชนที่ตัวเองอยู่อาศัยมากขึ้น เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัด โรงเรียน และชุมชน วาดกำแพงวัดผ่านการทำกิจกรรมและใช้สื่อการเรียนรู้ต่างๆ เช่น กิจกรรมเขียนฝันวรรณศิลป์ ที่คุณแสนภูมิใช้ความถนัดส่วนตัวอย่างการเขียนกลอนมาฝึกสอนนักเรียน กิจกรรมวาดฝันวรรณทัศน์ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านกำแพงวัดและกิจกรรมคหกรรมนำอาชีพ การทำผ้ามัดย้อมที่สกัดสีจากต้นปอทะเล การทำเรือพนมพระ โดยแบ่งหน้าที่ให้เด็กๆ แต่ละคนรับผิดชอบ จากนั้นเด็กๆ ต้องหาทีมงานและบริหารจัดการงานที่ได้รับมอบหมายด้วยตัวเอง เป็นการฝึกทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ผู้นำชุมชนยุคใหม่ พัฒนาความร่วมมือสร้างรายได้ชุมชน

การที่จะชักชวนให้คนในชุมชนร่วมกันทำกิจกรรมอะไรสักอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กิจกรรมการเข้าร่วมการประกวดขบวนแห่เรือพนมพระในนามวัดขรัวช่วย ตำบลเสาเภา ในครั้งแรกนั้นเรียกได้ว่าติดขัดแทบทุกเรื่อง ซึ่งคุณแสนภูมิมีความตั้งใจว่าจะเข้าไปขอความร่วมมือจากทุกกลุ่มชุมชน ทั้งช่างศิลป์ ช่างไม้ นางรำ ผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน เมื่อคนในชุมชนทยอยกันช่วยงาน บวกกับการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทำให้คนอื่นๆ ในชุมชนเกิดการตื่นตัวและสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้เรือพระของวัดขรัวช่วยมีจำนวนคนในขบวนเยอะที่สุด และได้รับรางวัลขบวนแห่ยอดเยี่ยม คุณแสนภูมิมองว่า จุดเริ่มต้นจากพลังของเด็กๆ ส่งต่อไปยังผู้ปกครอง จนเกิดการชักชวนต่อไปยังคนรู้จัก เกิดเป็นภาคีเครือข่ายในชุมชนขึ้นมา ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันของคนในชุมชน เมื่อถึงงานประเพณีชักพระ กลายเป็นว่าร้านค้าในชุมชนต่างพากันปิดร้านเพื่อไปร่วมงาน แทบทุกบ้านร่วมมือร่วมใจกัน

กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางดี ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล ที่คุณแสนภูมิเป็นประธานกลุ่ม จุดเริ่มต้นจากการที่มีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์พัชรี สุเมโธกุล  (หนึ่งในคนต้นแบบนครศรีสเตชั่น) บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของชุมชนในโครงการที่อาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษา การพูดคุยในตอนนั้นคุณแสนภูมิมีความรู้สึกว่าอยากที่จะทำชุมชนการท่องเที่ยวมาก แต่ยังไม่รู้ว่าจะประสานงานกับคนในชุมชนได้อย่างไร คุณแสนภูมิให้เหตุผลว่าถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับชุมชน เมื่อทางอาจารย์พัชรีเข้ามาให้ความช่วยเหลือ คุณแสนภูมิจึงระดมกลุ่มคนที่รู้จัก ดึงแต่ละเครือข่ายในชุมชนมาเข้าร่วม เพื่อวางแผนเส้นทางการเดินทาง พัฒนาอาหารท้องถิ่น กิจกรรมพายเรือคายัคชมอุโมงค์โกงกางบ้านบางดี กินอาหารท้องถิ่นประจำฤดูกาล ซึ่งบางดีมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นแหล่งอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์ อย่างฤดูฝนต้องกินข้าวมันมะพร้าวกับพร้าวคั่ว และน้ำพริกส้มขามอ่อน ฤดูร้อนก็ต้องกินข้าวมันทะเล เป็นต้น

เอกลักษณ์ของคนบ้านบางดีจะเป็นคนที่สนุกสนาน ชอบกิจกรรมร้องรำทำเพลง มีความใกล้ชิดกับศิลปวัฒนธรรมอย่างโนราห์และหนังตะลุง เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย เมื่อเปิดตัวโครงการชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางดีให้คนในพื้นที่รู้จัก ก็ได้รับความร่วมมือจากหลายสื่อในการช่วยเหลือประชาสัมพันธ์โครงการ มีคณะทัวร์ให้ความสนใจ แต่โชคไม่ดีนักที่จังหวะนั้นทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  แต่คุณแสนภูมิมองว่าอย่างน้อยก็ได้เริ่มลงมือทำ คนในชุมชนเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้นกว่าเดิม ทุกฝ่ายมีเวลาได้เตรียมตัวกันมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ เตรียมผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าในการจำหน่าย ได้รื้อฟื้นงานหัตถกรรมประจำท้องถิ่น เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้น ทางชุมชนก็พร้อมที่จะเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว

แน่นอนว่าแต่ละชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรและวัฒนธรรมที่ต่างกัน อย่างโครงการชุมชนท่องเที่ยวซึ่งเป็นการนำเสนอเอกลักษณ์ของชุมชน จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด แล้วนำมาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในชุมชน การที่คนในชุมชนจะร่วมมือกันได้ต้องอาศัยความเชื่อใจกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน ผู้นำจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงคนทุกวัยเข้าหากัน แม้ต้องเจอกับอุปสรรค ความท้าทายต่างๆ แต่เมื่อก้าวแรกได้เริ่มต้นแล้ว ก้าวต่อไปย่อมเกิดขึ้นเสมอ แม้เป็นก้าวเล็กๆ ก็อาจนำไปสู่การเดินทางที่เราเองคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ประวัติอำเภอปากพนัง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอปากพนัง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากพนังนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

หลักฐานตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชสมัยรัชกาลที่ 2 ระบุว่าท้องที่ปากพนังก่อนตั้งเป็นอำเภอมีสถานะเป็นหัวเมืองฝ่ายขวา ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

อำเภอปากพนัง

หัวเมืองที่มารวมตั้งเป็นอำเภอปากพนังนั้น ได้แก่ เมืองพนัง เมืองพิเชียร ที่เบี้ยซัด และที่ตรง

.

ในสมัยปฏิรูปการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชวินิจฉัยเห็นว่า ภายหลังที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เจ้าเมืองนครถัดมาไม่เข้มแข็งในการปกครองเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูอันเป็นประเทศราชกระด้างกระเดื่อง ขณะเดียวกันอังกฤษก็เข้ามามีเมืองขึ้นประชิดพรมแดน และได้ดำเนินการแทรกแซงกิจการภายในเมืองไทรบุรีมากขึ้น พระองค์ทรงเห็นว่าลักษณะและเหตุการณ์เช่นนี้ ย่อมจะเป็นอันตรายต่อสยามอย่างแน่นอน จึงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดการแก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้โดยรีบด่วน

.

มณฑลนครศรีธรรมราช

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เสนอให้รวมเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลาเข้าเป็นมณฑลเดียวกัน เรียกว่า “มณฑลนครศรีธรรมราช” ที่ว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้จัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เข้าสู่ระเบียบแบบแผนสมัยใหม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116

.

การจัดการปกครองท้องที่ในสมัยนั้น ได้ตั้งกรมการอำเภอ ให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกตำบล หมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง เบี้ยซัด ร่อนพิบูลย์ กลาย สิชล ลำพูน ฉวาง ทุ่งสง และเขาพังไกร

.

อำเภอเบี้ยซัด

อำเภอเบี้ยซัด ตั้งขึ้นโดยรวบรวมหัวเมืองฝ่ายขวา 4 ตำบล คือเมืองพนัง พิเชียร ที่ตรง และที่เบี้ยซัด ตั้งเป็นอำเภอเมื่อพุทธศักราช 2440 นายอำเภอคนแรกคือหลวงพิบูลย์สมบัติ ที่ว่าการอำเภอชั่วคราวตั้งที่โรงสีเอี่ยมเส็ง ตำบลปากพนัง แล้วย้ายไปตั้งที่ตลาดสด ครั้งที่ 3 ย้ายมาตั้งที่กองกำกับตำรวจน้ำปากพนัง

.

ความในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 9 กรกฎาคม ร.ศ.124 ว่า

.

วันที่ 9 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 124 ถึงมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมรักษาพระนคร เพื่อจะให้รายงานการที่มาเที่ยวครั้งนี้ให้สำเร็จบริบูรณ์ตามที่ควรจะบอก จึงเขียนบอกฉบับนี้อีกฉบับหนึ่ง

.

แม่น้ำปากพนังใหญ่เท่าเจ้าพระยา

วันที่ 8 เวลาเช้า 3 โมง ได้ลงเรือมาด (ไม่ใช่เพราะน้ำตื้น แต่เพราะเพื่อจะหาความสุข) เรือไฟเล็กลากออกมาจากเรือมหาจักรี ที่จอดอยู่ในเมืองปากพนัง ซึ่งอยู่ท้ายอ่าวตะลุมพุกนี้ 3 ชั่วโมงหย่อน ถึงปากพนัง แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ บ้านนายอำเภอตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำ ต่อนั้นขึ้นไปเป็นบ้านเรือนทั้งสองฟากแน่นหนา เพราะมีพลเมืองถึง 46,000 คนเศษ มีจีนมาก เป็นจีนไหหลำเป็นพื้น รองจำนวนจีนไหหลำเป็นจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋วมีน้อย เสียงจุดประทัดสนั่นไป

.

ที่ว่าการอำเภอหลังเก่า

มีเรือยาวสำปั้นราษฎรลงมารับที่ปากอ่าวประมาณสัก 80 ลำ โห่ร้องตามมาสองข้าง ได้ขึ้นไปตามลำน้ำหลายเลี้ยว จึงถึงโรงสีไฟจีนโค้วหักหงี ซึ่งตั้งชื่อใหม่ (คือโรงสีไฟยี่ห้อเตาเซ้ง) มีความปรารถนาจะให้เปิดโรงสีนั้น เมื่อไปถึงจีนหักหงี น้อง แลบุตรหลายคนและราษฎรซึ่งอยู่ในคลองริมโรงสีนั้นเป็นอันมาก ได้ต้อนรับโดยแข็งแรง ตั้งแต่ไปจากเรือมหาจักรีจนถึงโรงสีนั้นกินเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ได้ขึ้นเดินดูโรงสีทั่วไป และไต่ถามถึงการงานที่ค้าขายแล้ว กลับมาขึ้นที่บ้านนายอำเภอ เพราะที่ว่าการอำเภอเก่าตั้งอยู่เหนือน้ำขึ้นไป ที่ว่าการอำเภอใหม่ทำยังไม่แล้ว หลังที่ทำใหม่นี้เท่ากับที่ว่าการอำเภอเมืองตานี กินข้าวบนเรือนนั้น จีนหักหงีเลี้ยงเกาเหลาอย่างจีน ข้าหลวงเทศาภิบาลเลี้ยงอย่างไทย

.

ไทย จีน แขก

แล้วเดินไปดูร้านซึ่งข้าราชการและราษฎรมาตั้งอย่างขายของ แต่ที่แท้เป็นของถวายทั้งนั้น มีพันธุ์ข้างต่าง ๆ น้ำตามต่าง ๆ เครื่องสาน ผลไม้ ขนม ยา เลี้ยงขนเรือที่ไป พวกราษฎรเฝ้าพร้อมกันทั้งบกทั้งน้ำแน่นหนามาก บรรดาการเล่นอันมีอยู่ในตำบลนั้นได้มาเล่นทั้งไทย จีน แขก เวลาบ่าย 3 โมงเครึ่ง จึงได้ลงเรือมหาจักกรีเกือบจะ 2 ทุ่ม

.

ปากแพรก

อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงที่ยังรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้ น้ำตื้นมีอยู่แต่ที่ตอนปากน้ำประมาณ 200 เส้น เข้าข้างในน้ำลึกตลอด จนถึงหน้าโรงสีน้ำยังลึกถึง 3 วา ถ้าเวลาน้ำมากเรือขนาดพาลีและสุครีพเข้าไปได้ ต่อโรงสีขึ้นไปไม่มากถึงปากแพรก ซึ่งเป็นแม่น้ำสองแยก ๆ หนึ่งเลียบไปตามทะเลถึงตำบลทุ่งพังไกร ซึ่งเป็นที่นาอุดมดี ข้างจีนกล่าวกันว่าดีกว่านาคลองรังสิต และมีที่ว่างเหลืออยู่มาก จะทำนาขึ้นได้ใหม่กว่าที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้อีก 10 เท่า เขากะกำลังทุ่งนั้นว่า ถ้ามีนาบริบูรณ์จะตั้งโรงสีได้ประมาณ 10 โรง ขาดแต่คนเท่านั้น นาทั้งมณฑลนครศรีธรรมราชไม่มีที่ไหนสู้ ลำน้ำนั้นเรือกลไฟขนาดศรีธรรมราชขึ้นไปได้ตลอดถึงพังไกรเวลาหน้าแล้ง ต่อพังไกรไปเป็นลำคลองเล็ก แต่ถ้าหน้าน้ำเรือศรีธรรมราชไปได้ถึงอำเภอระโนด แขวงสงขลา ตกทะเลสาบ

.

คลองอีกแยกหนึ่งแต่ปากแพรกนั้น ไปทิศตะวันตกถึงอำเภอปราน ที่อำเภอปรานนี้มีไม้เคี่ยม ไม้ตะเคียน และไม่กระยาเลยต่าง ๆ จีนหักหงีได้ขออนุญาตตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่ริมโรงสีไฟใช้หม้ออันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ตั้งเครื่อง มีไม้จอดอยู่ริมตลิ่งมาก

.

ไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง

ทางไปอำเภอกลางเมือง มาตามคลองปากพญาแล้วมาคลองบางจาก ออกทะเลหน่อยหนึ่งจงเข้าปากพนัง แต่พระยาสุขุมฯ ได้ขุดคลองตั้งแต่ระหว่างหมู่บ้านคนไปถึงคลองบางจาก เดินทางในมีเรือลูกค้ามาแต่กลางเมืองและร่อนพิบูลย์จอดอยู่หลายร้อยลำ ในลำนั้นมเรือกำปั่นแขก สำเภาจีนค้าขายทอดอยู่กลางน้ำเกือบ 30 ลำ เหล่านี้มาแต่เมืองสิงคโปร์และเมืองแขกโดยมาก ห้างอีสต์อินเดียตั้งเอเย่นไว้สำหรับรับสินค้าไปบรรทุกลงเรือเมล์ด้วยเหมือนกัน ข้าวกลับไปเข้ากรุงเทพฯ ก็มี เพราะเหตุแต่ก่อนมีแต่ลำฝั่งน้ำตลอดมีหลายสิบโรง เมื่อจะคิดว่าตำบลนี้มีราคาเท่าใด เทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้ น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง

.

มีขัดก็แต่ปากอ่าวตื้นเรือใหญ่เข้าไม่ได้ พวกลูกค้ามีความประสงค์ที่จะให้ขุดมาก จีนหักหงีนี้เองได้ยื่นเรื่องราวว่า ถ้าจะขุด ตัวจะขอออกเงินให้ 80,000 บาท พวกจีนลูกค้าที่นี่เห็นพร้อมกันว่าจะต้องขุดทุกปียอมให้เก็บค่าขุดตามกำลังเรือ เพราะเหตุว่าเวลานี้ลำบากด้วย เครื่องลำเลียงข้าวมาบรรทุกเรือใหญ่เสียค่าจ้างเป็นอันมาก โดยจะต้องเสียค่าขุดยังจะถูกกว่าค่าจ้างเรือลำเลียง และขอให้ปิดคลองบางจากซึ่งเป็นทางน้ำเค็มเข้าคลองสุขุมนั้นเสีย น้ำในคลองนั้นจะแรงขึ้นอีก และจะได้น้ำจืดมาใช้ในปากพนัง ตำบลปากพนังนี้คงเป็นท่าเรือของเมืองนครศรีธรรมราช ปากอื่น ๆ ปิดหมดอยู่เองเพราะเข้าออกลำบาก

.

น้ำ

ตำบลนี้ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำ ๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก 30 เส้น กลับได้น้ำจืด แต่ระยะทางไกล เดี๋ยวนี้ราษฎรได้อาศัยน้ำในคลองสุขุม แต่น้ำคลองบางจากมักทำให้เค็ม จึงอยากขอปิดคลองบางจากนั้น

.

การปิดคลองบางจาก นึกมีบ้านที่จะต้องลำบากอยู่ตำบลเดียว เพราะอยู่ปากคลองสุขุมออกมา เขากล่าวติเตียนกันอยู่ว่า จีนที่มาอยู่แต่ก่อนเป็นพวกไหหลำมาก มักไม่ใคร่จะคิดทำการหาเงินใหญ่โต ได้ประมาณพันหนึ่งสองพันเหรียญก็กลับบ้าน แต่บัดนี้จีนแต้จิ๋วกำลังรู้ว่าที่นี้ดี เห็นจะมีมาอีกมาก ไม่ช้าตำบลนี้จะเจริญใหญ่โตสู้เมืองสงขลาได้ในทางผลประโยชน์ ทุกวันนี้มีแต่โทรศัพท์ พวกลูกค้าจีนต้องการจะให้มีโทรเลข ถ้าจะมีผู้อื่นใช้โทรเลขนอกราชการแล้ว จะมีที่นี่มากกว่ากลางเมือง

.

ดิน

อนึ่งดินที่นี่ดี เผาอิฐแกร่งเหมือนอิฐสงขลา ที่ว่าการอำเภอหลังใหญ่ ซึ่งทำใหม่ได้ใช้เงินงบประมาณ 2,000 บาท นอกนั้นใช้แรงคนโทษซึ่งจ่ายมาแต่เมืองนครศรีธรรมราชทำอิฐ ราษฎรพากันมาแลกสิ่งของซึ่งต้องการเป็นไม้เป็นเหล็ก แรงที่ทำใช้แรงคนโทษ พื้นล่างเสาก่ออิฐ ข้างบนเป็นไม้มึงจาก ยังขาดแต่ฝาไม่แล้วเสร็จ แต่ถึงว่ามีสิ่งที่ดีอยู่หลายอย่างเช่นนี้ ก็มีสิ่งที่ไม่ดีคือยุงชุมเกินประมาณ”

.

ที่ว่าการอำเภอดังกล่าวนี้ปรากฏว่าได้เกิดไฟไหม้ 2 ครั้ง ครั้งหลังสุดเกิดไฟไหม้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2494 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปสร้างในที่ใหม่คือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ริมถนนสายปากพนัง – ชายทะเล หมู่ที่ 3 ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก เขตการปกครองของอำเภอปากพนัง เมื่อตั้งเป็นอำเภอครั้งแรกได้รวมท้องที่อำเภอเชียรใหญ่ด้วย

.

ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460

.

พ.ศ. 2467 ลดฐานะอำเภอเขาพังไกร ลงเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอหัวไทร” ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2480 แบ่งท้องที่ด้านทิศใต้ของอำเภอปากพนังตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอเชียรใหญ่” ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2481 ยกฐานะกิ่งอำเภอหัวไทรเป็น “อำเภอหัวไทร” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

พ.ศ. 2490 ยกฐานะกิ่งอำเภอเชียรใหญ่เป็น “อำเภอเชียรใหญ่” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง

.

กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

ประวัติอำเภอทุ่งสง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอทุ่งสง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอทุ่งสงนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า ประมาณศักราช 1588 ปีมะเมีย เจ้าศรีราชา บุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเมืองนครร้างอยู่เนื่องจากเกิดไข้ยมบนในเมือง คนหนีออกจากเมืองไปอยู่ป่า เมื่อเจ้าศรีราชาได้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็ได้ยกช้าง ม้า รี้พลมาจากเมืองเวียงสระเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองนครฯ จัดการซ่อมแซมบ้านเมืองพระบรมธาตุและวัดวาอาราม จึงแต่งคนออกไปสร้างป่าเป็นนา ในตำบลพระเขาแดงชะมาย (ตำบลชะมายปัจจุบัน) เข้าใจว่าคงตั้งเป็นบ้านเมืองมาแต่สมัยนั้น

.

นายที่

จนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งพระยาสุธหทัยออกมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้จัดการปกครองบ้านเมือง ตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งชำระใหม่ครั้งรัชกาลที่ 2 ได้ความว่าพื้นที่อำเภอนี้เคยเป็นแขวงขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 4 แขวง มี 4 นายที่ปกครอง ได้แก่ ขุนวังไกร นายที่แก้ว หมื่นอำเภอ นายที่ทุ่งสง ขุนกำแพงธานี นายที่ชะมาย หมื่นโจมธานี นายที่นาบอน

.

อำเภอทุ่งสง

ครั้นต่อมาจึงได้รวบรวมพื้นที่ 4 แขวง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2440 เรียกว่าอำเภอทุ่งสง แบ่งการปกครองออกเป็น 22 ตำบลขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

อำเภอทุ่งสงมีพื้นที่ปกครองกว้างขวางมาก ไม่สะดวกในการปกครอง จึงได้แยกตำบลลำทับ ให้ไปขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแยกตำบลท่ายาง ตำบลกุแหระ ตำบลทุ่งสัง ไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นชื่อ “กิ่งอำเภอกุแหระ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กิ่งอำเภอท่ายาง” แล้วยกฐานะเป็นอำเภอชื่อ “ทุ่งใหญ่” อำเภอทุ่งสงจึงเหลือการปกครองเพียง 16 ตำบล

.

พ.ศ. 2518 ได้แยกตำบลนาบอน ตำบลทุ่งสง และตำบลนาโพธิ์บางส่วนตั้งเป็น “กิ่งอำเภอนาบอน”

.

นายอำเภอคนแรก

ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง แต่เดิมตั้งสำนักงานอยู่ที่เทศบาลตำบลปากแพรก แล้วย้ายไปอยู่ ณ ที่ปัจจุบันเมื่อ 2474 โดยมีหลวงพำนักนิคมคาม (เที่ยง ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรก (พ.ศ.2441 – 2443)

.

เสด็จฯ ทุ่งสง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสอำเภอทุ่งสงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จจากเมืองตรังโดยกระบวนช้าง ผูกเครื่อง จัดริ้วขบวนตามธรรมเนียมเก่าของเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านตำบลกะปาง ตำบลที่วัง ไปยังอำเภอร่อนพิบูลย์ และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2458 เสด็จเยี่ยมมณฑลปักษ์ใต้ ทรงให้ข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชทานพระแสงราชศัสตราสำหรับเมือง และจัดตั้งกองเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จประพาสน้ำตกโยง และทอดพระเนตรการจับช้างป่าที่อำเภอทุ่งสง

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

 

5 ร้านเด็ด Street Food ท่าศาลา

นครศรีสเตชั่นแนะนำที่กินครั้งนี้  เราจะพาพี่ๆน้องๆและนักท่องเที่ยวทุกท่านไปกิน ช็อปกันที่ Street Food @ท่าศาลา 5ร้านเด็ดที่แอดมินแนะนำรับรองได้ว่าอร่อยจนต้องยกนิ้วกันเลยทีเดียว จะมีร้านไหนบ้างที่ไม่ควรพลาด ไปดูกันเลย..

ร้านเด็ดร้านที่1 ร้านผัดไทบังผาด

ร้านผัดไทบังผาดหรืออีกหนึ่งชื่อที่เป็นที่รู้จักกันในยานท่าศาลาคือ ผัดไทหน้ากรุงไทย ร้านผัดไทเจ้าดังในท่าศาลาที่หากพูดถึงก็ต้องเป็นที่รู้จักของใครหลายๆคนอย่างแน่นอน เพราะผัดไทร้านนี้อร่อยมากๆ เส้นที่เหนียวนุ่มและน้ำซอสรสเด็ดดวงของทางร้าน สาดพริกถั่วปนและผักลงไป ผัดให้เขากันดี เส้นจันท์ดูดน้ำผัดไทเข้าพอดี ห่อด้วยไข่ เสิร์ฟมาคู่กับผักเคียง สุดยอดที่สุด!! และตามมาติดๆกับหอยทอดกร๊อบ กรอบ ร้านนี้หอยตัวใหญ่มากๆ ให้กันกินอิ่มไปเลย ทอดในน้ำมันร้อนๆจนเหลืองกรอบทานคู่กับถั่วงอก และที่สำคัญคือ น้ำจิ้มทางร้านเข้ากับหอยทอดเป็นที่สุด ..

มาถึงขนาดนี้แล้ว มาเที่ยวต้องสัญญากันว่าห้ามพลาดผัดไท/หอยทอดร้านนี้เด็ดขาดเลยนะคะ 

 

ข้อมูลติดต่อ

  • ร้านตั้งอยู่บริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย เปิดวันจันทร์-วันเสาร์
  •  ร้านเปิดเวลา 15:00-20:00น.

ติดต่อ : 084-2909413

ร้านเด็ดร้านที่ 2  อันวาร์ซีฟู้ด

เป็นร้านยำไข่หมึกฮาลาลเจ้าเดียวในตลาดนัดหน้าโลตัส เป็นร้านยำไข่หมึกที่เด็ดดวง น้ำจิ้มคือที่สุดมาก เสิร์ฟพร้อมไข่หมึกแน่นๆ อร่อยมาก แอดมินคอนเฟิร์ม และร้านนี้ยังมียำลูกชิ้นนึ่งสมุนไพรอีกด้วย พูดมาขนาดนี้น้ำลายคงหกกันแล้ว เพราะงั้นกำเงินแน่นๆและไปช็อปปิ้งกันที่ตลาดหน้าโลตัส ห้ามลืมร้านอันวารืซีฟู้ดกันนะคะ

ข้อมูลติดต่อ

  • ร้านตั้งอยู่ตรงทางเข้าตลาด ซ้ายมือติดกับร้านขายไก่ต้มน้ำปลา
  • ร้านเปิดเวลา 16:00-19:00น.

ร้านเด็ดร้านที่ 3 ยูริ ทาโกะยากิ

ร้านยูริทาโกะยากิเป็นร้านทาโกะยากิที่มีไส้หลากหลายให้ได้เลือกทาน แป้งที่นุ่มกับไส้แน่นๆที่ทางร้านใส่มาให้แบบจุกๆ ทอดกันสดๆหน้าร้านทำให้ทาโกะยากิร้อนตลอด และราดด้วยน้ำซอสพิเศษของทางร้าน ท็อปด้วยสาหร่ายทานร้อนๆบอกได้คำเดียวว่า อร่อยมากเลยค่ะ แอดมินแนะนำว่า เป็นอีกร้านที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนท่าศาลา

 

ข้อมูลติดต่อ

  • ร้านจะตั้งอยู่ที่หน้าธนาคารกสิกรไทย ในตลาดท่าศาลา เปิดบริการวัน จันทร์-พฤหัสบดี และในวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ร้านจะเปิดในตลาดนัดหน้าโลตัส
  • ร้านเปิดเวลา : 16:00-21 :00 น.
  • ติดต่อสอบถามได้ที่ : 081- 8499101  , FB :  ยูริ ทาโกะยากิ/Yuri Takoyaki
  • App Delivery Food panda : ยูริทาโกะ

ร้านเด็ดร้านที่ 4 น้ำเต้าหู้หน้ากรุงไทย

ร้านนี้เป็นอีกร้านที่แอดมินโปรดมากและซื้อเยอะมาก เป็นร้านน้ำเต้าหู้ทำธรรมดาแต่รสชาติไม่ธรรมดา เพราะว่าร้านน้ำเต้าหู้ร้านนี้ให้เครื่องเยอะมากและมีเครื่องให้เลือกมากมาย ที่แอดมินชอบที่สุดคือถั่วแดงเม็ดเล็ก กับเต้าหู้ชาเขียวหวานน้อย ทานร้อนๆหน้าฝนตอนนี้ ฟินสุดๆไปเลย นอกจากนี้เมนูเสริมในแต่ละวันยังไม่ซ้ำกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ น้ำฟักทอง และเต้าทึง และอีกมากมาย เพราะนั้นแล้ว ร้านนี้แอดมินคอนเฟิร์ม ห้ามพลาด!!

ข้อมูลติดต่อ

  • ร้านตั้งอยู่หน้าเซเว่นเยื้องธนาคารกรุงไทย เปิดบริการทุกวัน จันทร์-อาทิตย์
  • ร้านเปิดเวลา 16:00-18:00น.

ร้านเด็ดร้านที่ 5 ตลาดหน้าโลตัส

ตลาดหน้าโลตัสเป็น Local Market อีกที่หนึ่งในท่าศาลา เป็นตลาดนัดที่มีของให้เลือกจับจ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของคาว หวาน ตลอดจนกับข้าว ผัก ปลา เป็นตลาดนัดอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะร้านอาหารและของกินเล่นเยอะมากๆ ละไม่เพียงเท่านี้ ร้านค้าที่มาเปิดรสชาติอร่อยมากๆเช่นเดียวกัน  มีที่จอดรถสะดวกสบาย เดินทางมาง่าย และที่สำคัญก็คือ พกเงินมาเยอะๆด้วยนะคะ มาเที่ยวกันได้ที่ตลาดหน้าโลตัสค่ะ

ข้อมูลติดต่อ

  • ตลาดนัดหน้าโลตัสตั้งอยู่ในลานจอดรถหน้าโลตัสฝั่งติดกับถนน จะเปิดให้บริการในวันศุกร์-อาทิตย์
  • ตลาดนัดจะเปิดให้บริการเวลา 15:00-19:00น.

ท่าศาลาธรรมดาที่ไหน ใครที่ชื่นชอบอาหารแนวStreet Food แอดมินมาชี้ทางเสียเงินในแล้วนะคะ อย่าลืมไปลองกันนะคะ ห้ามพลาดเลยจริงๆ ! ไม่เพียงเท่านี้ท่าหลาบ้านเรายังมีร้านอาหารซีฟู้ดมากมายให้ได้นั่งทานรับลมเย็นๆของทะเล มาพักผ่อนหย่อนใจกันได้นะคะ พาครอบครัวมา พาเด็กๆมาวิ่งเล่นทานอาหารอร่อยๆของสดๆของคนบ้านเรากันนะคะ…

ประวัติอำเภอสิชล ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอสิชล
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอสิชลนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

จอมเมืองหาญ และ จอมเมืองศรีศาสนา

เมื่อราว พ.ศ. 2300 ตัวเมืองเดิมคือบริเวณตั้งอำเภอในปัจจุบันในครั้งโบราณ หัวหน้าผู้นำชุมชนของท้องถิ่นมีอยู่ด้วยกันสองคน คือ “จอมเมืองหาญ” และ “จอมเมืองศรีศาสนา” บุคคลทั้งสองมีความนิยมนับถือทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด และเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป

.

ครั้งหนึ่งเมื่อกองทัพพม่าเดินทางมาถึงเขาหัวช้าง และได้เข้ามาจับกุมบุคคลในปกครองของสองจอมเมืองทั้งชายและหญิงไว้เป็นเชลยจำนวนหนึ่ง เชลยที่เป็นชายนั้นแม่ทัพพม่าก็ได้สั่งให้นำไปฆ่าเสีย โดยใช้วิธีการจับโยนบ่อ ห้วย และเหว ทำให้ราษฎรในชุมชนนั้นตกใจแตกตื่นหลบหนีเพื่อเอาตัวรอดไปคนละทิศคนละทาง ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้แก่พม่าเป็นจำนวนมาก

.

ต่อมาพม่าได้สืบทราบว่า ในชุมชนนี้จอมเมืองหาญและจอมเมืองศรีศาสนาเป็นหัวหน้า จึงได้สั่งให้ทหารติดตามจับกุมบุคคลทั้งสอง ทหารพม่าที่ติดตามจับกุมได้ฆ่าคนของจอมเมืองทั้งสองเสียเป็นจำนวนมาก และเกิดการรบพุ่งขึ้น ในที่สุด พม่าก็สามารถจับกุมทั้งสองจอมเมืองได้ และนำตัวไปประการชีวิตโดยวิธีใช้เหล็กตอกขมับจนตาย

.

ทุ่งหัวนา

แม่ทัพพม่าได้สั่งให้ทหารตั้งทัพอยู่ที่นั้น และให้ทหารทำนาเป็นเสบียงสำหรับส่งให้กองทัพหลวงต่อไป เรียกที่ตั้งทัพว่า “ทุ่งหัวนา” ซึ่งยังมีที่นาและคันนาปรากฏเป็นหลักฐานอยู่จนบัดนี้ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสี่ขีด)

.

ทุ่งพลีเมือง

ต่อมามีชายคนหนึ่งชื่อเจ้าจอมทอง ได้ทำการรวบรวมพวกที่หลบหนีหม่ากระจัดกระจายทั่วไป เมื่อได้สมัครพรรคพวกพอสมควรแล้ว ได้จัดตั้งชุมชนขึ้นใหม่ที่ทุ่งพลีเมือง (ปัจจุบันคือบ้านห้วยถ้ำ) เจ้าจอมทองได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าชุมชน ทำการรวมผู้คนได้จำนวนหนึ่ง จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเจ้าและทำพิธีบนบานว่าหากกองทัพพม่าแตกพ่าย ได้อิสรภาพและราษฎรอยู่อย่างสงบสุขแล้วจะสร้างวัดถวายให้อยู่

.

ฝ่ายพม่าเมื่อได้สืบทราบว่าคนไทยจัดตั้งสมัครพรรคพวกขึ้นต่อต้าน ก็นำทหารมาปิดล้อมและได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ ผลคือทัพทหารพม่าแตกกระจัดกระจายไป เจ้าจอมทองจับเชลยและอาวุธได้จำนวนมาก กองทัพพม่าถอยร่นไปทางบ้านยางโพรง ผ่านตำบลฉลอง ไปสมทบกับกองทัพหลวงที่เมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดจอมทอง

ต่อมาอีกประมาณสองปี พม่าได้ยกทัพมาทางทะเลถึงปากน้ำสุชน ได้ส่งทหารขึ้นไปเจรจากับเจ้าจอมทองให้เป็นเมืองขึ้นโดยดี แต่เจ้าจอมทองไม่ยอม จึงได้รบกันทางเรือที่ปากน้ำสุชนเป็นสามารถ ก่อนการสู้รบต่อกันเจ้าจอมทองได้บวงสรวงเทพเจ้าขอความช่วยเหลือและคุ้มครอง พอดีกับขณะที่รบกันนั้นเกิดคลื่นลมจัดขึ้นทันที ทำให้ทัพพม่าแตกกระจายไม่เป็นกระบวน เจ้าจอมทองจึงได้ยกทัพและกำลังเข้าโจมตี จับกุมเชลยและอาวุธได้เป็นจำนวนมาก เมื่อสงบศึกกับพม่าเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าจอมทองจึงได้สร้างวัดตามที่ได้บนบานไว้ เรียกว่า “วัดจอมทอง”

.

เมื่อได้มีการปกครองบ้านเมือง โดยแบ่งการปกครองเป็นมณฑลและมีเทศาภิบาลปกครอง จึงได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้น เรียกว่า “อำเภอสุชน” มีตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอนี้ 9 ตำบล คือ สุชน ทุ่งปรัง ฉลอง เสาเภา เปลี่ยน ขนอม ท้อนเนียน ไชยคราม และดอนสัก

.

ต่อมาในปี พ.ศ.2502 ได้มีการโอนตำบลดอนสักและไชยคราม ไปขึ้นกับอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโอนตำบลขนอมและท้อนเนียน มาจัดตั้งเป็นอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

จากสุชน เป็นสิชล

ชื่อ “สุชน” นั้น เมื่อสมัยท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ไปตรวจราชการฝ่ายสงฆ์ที่อำเภอนี้ ได้พิจารณาเห็นว่าที่สุชนนี้น้ำดี ใสสะอาด บริสุทธิ์ และจืดสนิท จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “สุชล” เป็น “สิชล” และทางราชการก็ได้ใช้ชื่อว่าอำเภอสิชลตั้งแต่นั้นมา โดยมีหลวงอนุสรสิทธิกรรม (บัว ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรกฯ

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

ต้นฉบับภาพเก่าโนรา ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต้นฉบับภาพเก่าโนรา

ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

เมื่อราว 2 ปีก่อน บังเอิญมีโอกาสได้รับมอบหมายจาก ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ คณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สู่มรดกโลก ให้เป็นผู้ประสานงานกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อขอคัดสำเนาภาพถ่ายเก่าที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช ได้ความกรุณาไว้หลายรายการ หนึ่งในนั้นเป็นสำเนาต้นฉบับที่บันทึกกิจกรรมภายในวัดของคณะบุคคลไว้ วาระนี้จะคัดออกเผยแพร่เฉพาะที่เห็นว่าเป็นภาพ “โนรา” ในวันสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสปักษ์ใต้ และดังระบุแล้วว่าได้คัดสำเนาแบบดิจิทัลจากต้นฉบับโดยตรง แม้หลายท่านจะเคยเห็นภาพเหล่านี้บ้างแล้ว แต่เชื่อว่าการเมื่อคลี่ขยายออกดูรายละเอียดจากต้นฉบับนี้ จะทำให้สามารถเห็นหรือเป็นประเด็นศึกษาต่อได้มากขึ้น

หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
เมื่อลองขยายดูส่วนประกอบต่าง ๆ
   
พราน ถ้าเป็นภาพสีแล้วเห็นเป็นหน้าขาวเสียหนึ่ง คงพอจะชี้ลงได้ว่าเป็นทาสีหนึ่ง พรานหนึ่ง
แต่อนุมานเอาก่อนจากสีพรานผู้ถอดเสื้อว่าคงเป็นพรานทั้งสอง ถอดเสื้อหนึ่ง ใส่หนึ่ง
 
โนรา เสียดายก็แต่ไม่ได้เห็นเครื่องทรงเต็มองค์ แต่พอจะสังเกตเห็นเล็บทั้ง 4 ที่ดูเหมือนจะสอดลูกปัดไว้เล็บละเม็ดสองเม็ด
  ดูเหมือนว่าท่าจับในลักษณะนี้จะพบเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน อาการที่หัวจุกใช้ร่องศอกขวาเกี้ยวขาขวาขึ้นเป็นท่าขี้หนอน
ในขณะที่มือกำกระบองสั้นไว้ ส่วนมือซ้ายก็ยื้อยุดกับหัวจุกอีกคนในท่าเดียวกัน
โนรา เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าถ้าโนราเกี้ยวขาขึ้นแล้วเป็นอันรับรู้ร่วมกันว่าคือท่าขี้หนอน
ขี้หนอนนี้เป็นชื่อเรียกกินนรอย่างทางใต้ ขี้หนอนจึงอาจคือท่าเอกลักษณ์ของโนรา
โดยส่วนตัวตรึงตากับโนรานายนี้มาก
จะติดก็แต่จินตนาการไม่ออกว่าท่าส่งขึ้นขี้หนอนนี้มาอย่างไรและจะเยื้องท่าไปอย่างไรต่อ
ภาพนี้เห็นส่วนสนับเพลา คือส่วนที่ครูมโนห์รารุ่นก่อนมักเรียกว่า “ขากางเกง”
มีเฉพาะส่วนขา ปลายสุดสอดเชือกไว้สำหรับรูดคล้ายปลอกหมอนข้างในปัจจุบัน
มีของโบราณอย่างที่ว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิหารคด วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ตรงนี้น่าสนใจ เพราะอาจสะท้อนความเชื่อโบราณว่าหากยังเป็นหัวจุกอยู่จะสวมเทริดไม่ได้
ต้องผ่านพิธีตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดเสียก่อน ในภาพนี้ดูจะเป็นโนราที่เยาว์นักเมื่อเทียบกับนายขี้หนอนก่อนหน้า
อาจเป็นไปได้ว่าจะตัดจุกตามคติโบราณฝ่ายนครเหมือนที่เคยคุยกับบุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช ว่าเด็กชายตัด 13 เด็กหญิงตัด 11
คิดว่าคงเพิ่งผ่านพิธีกรรมตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดมาหมาดๆ
ส่วนพรานผู้นั่งมหาราชลีลาในท่าประนมมือพร้อมผ้าพาดบ่านั้น ไม่ตีบทอยู่ ก็กำลังอัญชลีผู้อยู่หลังกล้อง
ลูกคู่ สังเกตจากภาพแล้วดูเหมือนจะนั่งล้อมวงกันมุมนี้เห็นหลังนายโหม่ง
สวมเสื้อแพร นั่งเสื่อท่าพับเพียบเก็บปลายเท้าเสียด้วย
โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้นฯ
___
ภาพปก หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 74M00036
ภาพในเรื่องและภาพส่วนขยาย หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
ปล. ท่านผู้ประสงค์จะนำภาพไปใช้เพื่อกิจใด ๆ ขอความกรุณาศึกษาวิธีการใช้ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้ถี่ถ้วนก่อนนะครับ