คุณ เรขา ปรีชาวัย อนุรักษ์ป่า พัฒนาการท่องเที่ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน

เมื่อพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราช คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หลายคนอาจไม่รู้ว่านครศรีธรรมราชมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามเช่นกัน “เขาเหมน” เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่อยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จัก คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่น สร้างรายได้สู่ชุมชน คุณ เรขา ปรีชาวัย ผู้นำการจัดการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าเขาเหมน

สานต่อกิจการครอบครัว หมั่นเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากคนรอบข้าง

คุณเรขา เล่าว่า ทางครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับบริการรถโดยสารประจำทาง หลังจากเรียนจบทางด้านอุตสาหกรรมขนส่งและการบริการ คุณเรขา ได้มารับช่วงต่อกิจการจากคุณพ่อ ดูแลบริหารเขาเหมนรีสอร์ทและครัวเขาเหมน ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง ซึ่งก่อตั้งในปี 2540 บนพื้นที่ของบรรพบุรุษ ในยุคนั้นประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งตรงกับช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมการเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว คุณพ่อของคุณเรขาเริ่มต้นทำรีสอร์ทเล็กๆ มีแปลงเพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องกับเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว ชีวิตวัยเด็กที่คลุกคลีกับคุณพ่อและคุณลุงคุณป้าที่รู้จักซึ่งทำงานด้านบริการและการท่องเที่ยวนั้น ทำให้คุณเรขาได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาตั้งแต่ตอนนั้น ได้มุมมองและแนวคิดหลายอย่าง หลังจากที่ได้สานต่อกิจการของคุณพ่อ คุณเรขาได้รู้จักกับเกษตรกรในพื้นที่มากขึ้น และได้รับความช่วยเหลือจากทางเกษตรอำเภอ ทำให้ในปี 2545  ทางเขาเหมนรีสอร์ทและครัวเขาเหมนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัลกินรี นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับชุมชน

ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม นำเสนออัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

แน่นอนว่าการทำงานย่อมเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่ก็มีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอ อย่างการนำเสนอภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น หุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ กรรมวิธีในการทำอาหารรูปแบบต่างๆ เป็นเรื่องที่สร้างความท้าทายและความสนุกให้กับการทำงาน ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอผลงานเช่นกัน ทำให้คุณเราขาได้เจอเพื่อนในวงการเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และอยากที่จะส่งความรู้สู่คนรุ่นใหม่ คุณเรขาเล่าว่า การบริหารงานด้านการท่องเที่ยวและร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับตัวเอง การที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้ประกอบการทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับงานมากขึ้น

อย่างการออกบูธเพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวหรือสินค้าของนครศรีธรรมราชก็มักจะถูกมองข้าม ไม่ค่อยมีใครแวะชมที่บูธ ต่างจากจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวที่มักจะได้รับความสนใจมากกว่า คุณเรขาจึงตัดสินใจว่าเมื่อไปออกบูธงานท่องเที่ยวครั้งหน้า นครศรีธรรมราชต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่แบ่งออกเป็นแต่ละอำเภอ เพื่อนำเสนอความเป็นนครศรีธรรมราช ต้องดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมให้ได้ ภายในบูธถูกแบ่งออกเป็น 4 โซนย่อย คือ ป่าเขา ทะเล ลุ่มน้ำ และวัฒนธรรม ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนต้องรู้เรื่องราวการนำเสนอของทุกชุมชน มีการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้เข้าชม เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักนครศรีธรรมราชในฐานะเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น

ส่วนตัวคุณเรขามองว่า การรวมกลุ่มของคนทำงานและคนที่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อบ้านเกิดนั้น ต้องเริ่มจากความชอบและทำด้วยความสุข ทำให้ทุกคนในทีมเลือกวิธีการทำงานที่ทำให้ตัวเองมีความสุขและสามารถทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้โดยไม่คาดหวังระหว่างทาง มุ่งไปที่เป้าหมาย ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ

เที่ยวเขาเหมน “หยิบหมอก หยอกเมฆ”

พอเอ่ยถึง “เขาเหมน” เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือเคยได้ยิน เขาเหมน มาจากชื่อที่เรียกกันย่อๆ ของ “เขาพระสุเมรุ” เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง สูงประมาณ 1,307 เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพอากาศหนาวเย็น ลมพัดแรง และมีเมฆปกคลุมเกือบทั้งปี มีพันธุ์ไม้ป่าที่สวยงาม พืชพันธุ์บางชนิดที่หายาก สำหรับนักท่องเที่ยวสายลุย กิจกรรมที่ห้ามพลาดเมื่อมาที่นี่คือ การเดินป่า อาบป่า ชมความงามของธรรมชาติ ชมหมอกยามเช้า ซึ่งเส้นทางขึ้นยอดเขาเหมนนั้นค่อนโหดพอสมควร ต้องเตรียมความพร้อมด้านร่างกายให้แข็งแรง

การท่องเที่ยวเขาเหมน มีความน่าสนใจตรงที่สภาพธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี คุณเรขาเล่าว่า ได้นำเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว มีกิจกรรมศึกษาดูงานจากปราชญ์ชาวบ้าน เช่น  มังคุดแปลงใหญ่ ทุเรียนแปลงใหญ่ การปลูกเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงผึ้ง ในส่วนของเขาเหมนรีสอร์ท ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีจุดชมวิวที่มองเห็นเขาเหมน ในช่วงเย็นนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับบรรยากาศพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม ทางฝั่งของครัวเขาเหมน มีอาหารท้องถิ่นให้ลิ้มรส เมนูวัตถุดิบ​เฉพาะถิ่น กินอาหารพร้อมกับชมวิวทิวทัศน์ก็สร้างความสุขในวันพักผ่อนได้ไม่น้อย

ความงดงามของธรรมชาติ เพียงได้สัมผัสชั่วครู่แต่กลับสร้างความสุขไปได้นาน เช่นเดียวกับ “เขาเหมน” สถานที่ท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนด้วยผู้คนในท้องถิ่น เพื่อนำเสนอชุมชนให้เป็นที่รู้จักและอยากทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เกิดเป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชน แน่นอนว่าการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการอนุรักษ์ป่าเขาเพื่อให้คงความสมบูรณ์ไว้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ในแง่ของการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คน…วิถีชีวิตที่ควรค่าแก่การรักษาไว้

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ประตูผีเมืองนคร เรื่องเล่าจากปากคำยายจัน

ประตูผีเมืองนคร
เรื่องเล่าจากปากคำยายจัน

ถ้าเป็นอย่างยายจันว่า
ตรงหรือไม่ไกลจากในภาพปกนี้นี่แหละ คงคือ “ประตูผี”
.
ราว 10 ปีก่อน มุมพายัพของทางสี่แพร่งนี้ (แยกถนนพระอิศวรตัดถนนศรีธรรมราช) เป็นเพียงเพิงอย่างกำมะลอ ยายจันใช้สอยร่มหลังคาเป็นร้านขายหนมจีน หนมหวาน และข้าวราดแกงที่มีให้เลือกไม่กี่หม้อ
.
บทสนทนาของเราเริ่มขึ้นหลังจากแกแน่ใจแล้วว่าผมมีความสนใจบางอย่าง อาจด้วยอาการพิรุธที่มือซ้ายถือหนังสือ มือขวากุมช้อนไว้หลวมๆ
.
พลความเป็นด้วยเรื่องสารทุกข์สุขดิบ
ใจเรื่องคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังคำถามว่า
ตรงนี้ เค้าเรียกไอไหร่นิยาย ?
.

พบอะไรที่ประตูผี

“ตูผี ตรงนี้ตูผี
เขาขุดพบเหล็กกรอบตูใหญ่โต ขึ้นเขียวหึม”
ยายจันยังเล่าต่อไปว่า
“เขาเอาศพออกนอกเมืองกันทาง “ปากตู” นี้”
.
แล้วก็รู้และจำไว้แค่นั้น มาเอะใจก็ตรงที่ นครศรีธรรมราชเคยเป็นรัฐจารีต จึงเช่นเดียวกันกับรัฐโบราณอื่นที่ต้องมีจารีตนิยม ซึ่ง “ประตูผี” เป็นหนึ่งในบรรดาสารพัน
.

ชาวโพธิ์เสด็จ คือลูกหลานแม่มด

เหมือนจะเคยผ่านตาว่า นอกจากใช้เคลื่อนศพออกแล้ว ในคราวมีพิธีไล่แม่มด เหล่าผู้ถูกอุปโลกน์ทั้งหลายก็ถูกขับออกทางประตูนี้ไปสู่นอกท่องปละตกเมือง ที่ก็ช่างไปคล้องกับเรื่องเล่าพื้นถิ่นตำบลนั้น ว่า “ชาวโพธิ์เสด็จ ต่างมีนิสัยสงบเสงี่ยมเจียมตัว ด้วยเพราะเป็นลูกหลานแม่มด”
.
ประตูผีเป็นประตูเดียวที่ปราศจากกฤติยาคุณ จึงมักพบว่ามีศาสนสถานศักดิ์สิทธ์หันไปประจันตรงปากประตูเพื่อกำราบสภาวะอื่นใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเมือง
.
สำหรับเมืองนครศรีธรรมราช หากประตูผีอยู่ตรงนี้จริงตามปากคำยายจัน ก็คงเป็นหน้าที่ของ “พระนารายณ์” ในเทวสถานริมทางหลวง ที่แต่เดิมคิดว่าตั้งตรงข้ามเป็นแกนเดียวกันกับหอพระอิศวร ทั้งที่อยู่เยื้องหนึ่งว่าผินมาชำเลืองสะกดเอาปากประตูต้นเรื่องที่ว่านี้ไว้

.

ประตูพานยม ประตูลัก ก็ต่างคือประตูผี

นอกจากประตูพี่ที่ยายจันเล่าแล้ว ยังมีอีกประตูที่ชื่อออกไปทำนองผีๆ ด้วยคือ “พานยม” ก็ว่ากันว่าประตูนี้เป็นประตูผี กับอีกประตูที่ชื่อไม่ผี แต่พอเห็นรอยในพิธีกรรมผีคือ “ประตูลัก” ที่เล่าและลือกันว่าเป็นประตู “ลักศพ” ออกนอกเมืองนครศรีธรรมราช

.

ก็เท่ากับว่า เมืองนครศรีธรรมราชมีประตูผีมากกว่าประตูหนึ่ง ส่วนเหตุที่มากกว่าเมืองอื่น ๆ นี้อาจต้องสืบความต่ออีกสักน้อยฯ

 

ชวนเที่ยวหาดท่าสูงท่าศาลา กับ 5 กิจกรรมที่ห้ามพลาด

นครศรีสเตชชั่นแนะนำที่เที่ยวครั้งนี้  เราจะพาพี่ๆน้อง ๆ และนักท่องเที่ยวทุกท่านไปเที่ยวกันที่ริมหาดท่าสูงบน ท่าศาลา นครศรีธรรมราช และวันนี้แอดมินจะมานำเสนอ 5 กิจกรรมที่ทำเมื่อไปเที่ยวริมหาดท่าสูงมีกิจกรรมอะไรบ้างไปดูกันเลย..

หาดท่าสูง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะหาดยาว ทรายขาว ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ค้าขายและรับจ้าง เป็นชุมชนขนาดเล็ก ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นชายหาดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก มีร้านอาหารขายให้บริการและลาดชายหาดที่มีขนาดกว้างเหมาะสำหรับพักผ่อนใวันหยุดอย่างสบายๆ มาสัมผัสกับวิถีชีวิตชุมชน เพลิดเพลินกับอาหารทะเลสดๆใหม่ๆ กับบรรยากาศสายลมพัดเบา ๆ ลงตัวที่สุดเลยแอดมินรับประกัน…

 

5 กิจกรรมที่ทำเมื่อมาเที่ยวที่ริมหาดท่าสูง

กิจกรรมที่ 1 เดินซื้อของกินที่ถนนคนเดินริมหาด

ถนนคนเดินริมชายหาดจะเปิดให้บริการวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา15:00 –18:00 น. เรียกได้ว่าเป็นอีก1ที่ที่มีของกินเยอะมาก หลายหลายอย่าง ทั้งของคาวและของหวานตลอดจนเสื้อผ้าต่างๆที่ให้นักท่องเที่ยวทุกท่านได้เลือกซื้อแอดมินแนะนำกำเงินไปเยอะๆไปช็อปปิ้งกันที่ถนนคนเดินริมชายหาดท่าสูง นอกจากนี้ที่ริมหาดสามารถซื้อของที่ถนนคนเดินไปนั่งทานริมทะเล มีบริการเช่าเสื่อให้นั่งทานอาหารรับลมกันแบบฟิน ๆเลยล่ะค่ะ

กิจกรรมที่ 2 นั่งชิลกับครอบครัวและเพื่อน ๆ

เป็นอีกที่เลยก็ว่าได้ที่เป็นจุดนัดพบกับเพื่อนๆ หรือการมาพักผ่อนสุดสัปดาห์กับครอบครัวเปลี่ยนที่ทานข้าวมานั่งทานของอร่อยๆรับลมฟิน ๆที่ริมทะเล เหมาะกับการพาเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมานั่งผ่อนคลายได้ การนัดเจอกับเพื่อนๆนั่งคุยกันกินข้าวท่ามกลางบรรยากาศที่ดี

กิจกรรมที่ 3 เล่นว่าว

หากพูดถึงช่วงนี้นิยมสุดๆในเด็กๆคงจะเป็นว่าวล่ะค่ะ เพราะช่วงต้นมกราคม-กุมภาพันธ์จะเป็นฤดูการละเล่นว่าวของคนที่นี่กัน เป็นอีกกิจกรรมที่นิยมมาก ๆ ในการมาริมหาดท่าสูง เราจะเห็นท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยว่าวเลยก็ว่าได้ แอดมินแนะนำเลยค่ะ เพราะตอนนี้ลมทะเลแรง เล่นว่าวได้สนุกสุด ๆแน่นอน คอนเฟิร์มค่ะ

กิจกรรมที่ 4 เล่นน้ำ ว่ายน้ำทะเล

ขึ้นชื่อว่ามาทะเลเมื่อเอ่ยปากที่บ้านเด็กๆต้องร้องกรี๊ดอย่างแน่นอน เพราะเป็นกิจกรรมสุดโปรดปรานของเด็กๆทุกคน และกิจกรรมนี้ผู้ปกครองสามารถนั่งดูน้อง ๆ เล่นน้ำได้อย่างสะดวกโดยที่ไม่ต้องเดินลงไปแล สามารถนั่งบนหาดแล้วดูแลน้อง ๆ ได้อย่างสะดวก

กิจกรรมที่ 5 เล่นฟุตบอลและกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ

กิจกรรมนี้น้อง ๆก็จะนำลูกบอลมาเตะกันที่หาดเพราะมีพื้นที่ที่กว้าง สามารถเล่นได้สะดวก และมีกิจกรรมนันทนาการอื่นอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น การก่อปราสาททราย การร่อนพารามอเตอร์ การเล่นฟุตบอลชายหาด และอีกมากมาย

นอกจากนี้ริมหาดท่าสูงไม่ได้มีแค่เพียงถนนคนเดินแต่ยังมีร้านอาหารซีฟู้ดริมทะเลอีกมากมายที่คัดสรรอาหารสด สะอาดและอร่อยไว้ที่เดียว หากใครผ่านไปผ่านมาอย่าลืมแวะเวียนเข้ามาเที่ยวที่ริมหาดท่าสูง ปักหมุดที่เที่ยวใหม่ๆ เตรียมกล้อง สะพายกระเป๋าแล้วมาเที่ยวกันที่ริมหาดท่าสูงกันนะคะ

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน” ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

เป็นเรื่องชวนให้ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนจะได้รับการทาบทามหรือการตั้งคำถามทำนองว่า

“พอจะทราบประวัติตั้งนั้น ตรงนี้ไหม ?”

ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ถามก็เป็น “คนในนั้น”

.

ข้อสังเกตอันแรก คงเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ประวัติ” ที่เราถูกหล่อหลอมผ่านระบบการศึกษาว่ามักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ราชวงศ์ และราชการ ทำให้ “ความทรงจำ” ของ “คนใน” ถูกกีดออกจากคำว่า “ประวัติ” ทั้งที่จริงแล้วล้วนเป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่สำคัญมาก และส่วนใหญ่มักสะท้อนให้เห็น “วิถี” และ “ชีวิต” ของผู้คนอีกด้วย

.

ข้อสองคงเป็นเพราะความเกร็งและเกรงใจภาษาราชการ ทำให้เมื่อจำเป็นต้องถ่ายทอดออกเป็นลายลักษณ์อักษร ประเด็น นัยและใจความสำคัญมักหล่นหาย เพราะติดกับดักโครงสร้างการเขียนประวัติศาสตร์อย่างทางการ

.

เมื่อวันอังคาร ที่ 18 มกราคม 2565 มีเหตุให้เจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติ พ.ศ. 2487 แห่งวัดสวนป่านทลายลง ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านสมภารเจ้าวัด นอกจากการฟื้นคืนสภาพของเจดีย์อนุสรณ์ดังกล่าวแล้ว ยังอาจต้องมีแผนสำหรับการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนสถาน โดยได้เสนอไป 3 ประเด็นอย่างคร่าว ๆ ว่า

 

ส่วนอดีต

ควรมีแผนการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับศาสนสถาน-วัตถุ

โดยอาจเริ่มที่การรวบรวมแล้วเรียบเรียงเป็นฐานทำสารบบ

รวมถึงการประเมินสภาพและความเสี่ยง

 

ส่วนปัจจุบัน

ควรมีแผนการพัฒนาพื้นที่โดยคำนึงถึงแผนแรก

ควบคู่ไปกับแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยอาจจัดแบ่งเป็นเขตตามความสำคัญหรือลักษณะการใช้สอย

 

ส่วนอนาคต

ควรมีแผนจัดการความเสี่ยง

การทบทวนและประเมินสภาพรอบปี

 

ประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักร

มีคู่มือเบื้องต้นสำหรับการศึกษาประวัติวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีในเล่มที่ 23 ฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. 2547 ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการรวบรวมจากเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ในส่วนของวัดสวนป่านปรากฏอยู่ในหน้าที่ 510 โดยจะขอคัดมาเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการสืบความกันต่อไป ดังนี้

 

วัดสวนป่าน ตั้งอยู่เลขที่ 153 ถนนพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 2100 มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 งาน 9 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 990

 

อาณาเขต

ทิศเหนือจดถนนโรงช้าง

ทิศใต้จดซอยเหมชาลา

ทิศตะวันออกจดถนนพระบรมธาตุ

ทิศตะวันตกจดถนนวัดสวนป่าน

 

อาคารเสนาสนะ

อุโบสถ

กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

 

พระประธานประจำอุโบสถ

ปางสะดุ้งมาร

หน้าตักกว้าง 58 นิ้ว

สูง 79 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525

 

ศาลาการเปรียญ (อาคารทรงไทย ชั้นเดียว)

กว้าง 13.50 เมตร

ยาว 18.25 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

 

พระประธานประจำศาลาการเปรียญ

ปางสมาธิ

หน้าตักกว้าง 35.50 นิ้ว

สูง 51 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

พระพุทธรูปเนื้อเงิน 2 องค์

สูง 65 นิ้ว และ 45 นิ้ว

 

กุฏิสงฆ์ จำนวน 10 หลัง

เป็นอาคารไม้ 4 หลัง

ครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลัง

และตึก 3 หลัง

 

วิหาร (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก)

กว้าง 14.60 เมตร

ยาว 21 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480

 

ศาลาอเนกประสงค์ (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นเดียว)

กว้าง 6.30 เมตร

ยาว 12.50 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540

 

ศาลาบำเพ็ญกุศล

จำนวน 1 หลัง

เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้

 

นอกจากนี้มี หอระฆัง โรงครัว กุฏิเจ้าอาวาส และเรือนรับรอง

.

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

วัดสวนป่าน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2452 วัดตั้งมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ในช่วงเปลี่ยนการปกครองเป็นสมุหเทศาภิบาล ต่อมาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช ได้ยกถวายให้ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) และได้ตั้งวัดให้ชื่อว่า “วัดใหม่กาแก้ว” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสวนป่าน” เพราะเรียกตามชื่อคนดูแลสวนของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเดิม

.

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2525

เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

.

ลำดับเจ้าอาวาส

พ.ศ. 2442 – 2449 พระครูกาแก้ว

พ.ศ. 2449 – 2460 พระญาณเวที

พ.ศ. 2460 – 2478 พระครูโภธาภิรามมุนี

พ.ศ. 2478 – 2489 พระครูวินัยธร

พ.ศ. 2489 – 2500 พระปลัดส่อง โชติกโร

พ.ศ. 2500 – ไม่ระบุ พระครูจิตรการประสาท

 

เดิมตั้งแต่ พ.ศ.2505 เปิดเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมด้วย

.

จะเห็นว่ายังมีศาสนสถานและวัตถุอีกหลายรายการที่ไม่ได้ระบุไว้ในเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติที่เพิ่งทลายลงไปนี้ด้วย กับทั้งข้อวิเคราะห์ต่าง ๆ เช่นว่า ความสำคัญและบทบาทต่อชุมชน เส้นเวลา ภูมินาม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องที่ต้องรอผู้สนใจใฝ่รู้เติมเต็มต่อในอนาคต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณ ไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ เปลี่ยนลูกไม้ เป็นงานศิลป์ สร้างรายได้ชุมชม คนต้นแบบเมืองนคร

สิ่งรอบตัวที่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับบางคนที่มองเห็นคุณค่าก็สามารถสร้างโอกาสที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลยก็ว่าได้ จากจุดเริ่มต้นในการนำวัสดุธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่สร้างความภูมิใจให้แก่ตนเอง และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผลงานต้นแบบของคนต้นแบบเมืองนคร คุณไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกไม้คีรีวง เปลี่ยนลูกไม้ เป็นงานศิลป์ สร้างรายได้ชุมชม

ความชื่นชอบเครื่องประดับ ประสบการณ์ค้าขาย และความท้าทายในชีวิต

หากพูดถึงหมู่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ที่นั่นมีการจัดตั้งกลุ่มชุมชนที่หลากหลาย เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งกลุ่มลูกไม้คีรีวงที่คุณไพโรจน์เป็นประธานกลุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น คุณไพโรจน์เล่าว่า ช่วงอายุประมาณ 20 ต้นๆ หลังจากเรียนจบจากกรุงเทพมหานคร คุณไพโรจน์ได้เดินทางกลับนครศรีธรรมราช เพื่อเริ่มต้นอาชีพทำสวนสานต่ออาชีพของครอบครัว แต่ด้วยความชื่นชอบด้านค้าขาย และชื่นชอบการแต่งตัว จึงตัดสินใจขายของตามงานเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นทั่วภาคใต้ สินค้าส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าหนัง สร้อยคอ แหวน และเคื่องประดับอื่นๆ ชีวิตที่เต็มไปด้วยการเดินทาง ทำให้คุณไพโรจน์รู้จักผู้คนเป็นจำนวนมากและได้รับประสบการณ์ในชีวิตมากมาย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อเดินทางไปต่างถิ่น เจอกับสังคมใหม่ ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และต้องหาวิธีที่ทำให้ขายสินค้าได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง จนถึงวันที่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรแน่นอน ในวันที่ต้องเจอมรสุมชีวิตคุณไพโรจน์จึงตัดสินใจเลิกค้าขาบ และกลับไปทำสวนของครอบครัว ระหว่างนั้นก็คิดทบทวนไปด้วยว่าต่อจากนี้ชีวิตจะดำเนินไปทิศทางใด สวนของคุณไพโรจน์ตั้งอยู่บนเขารายล้อมไปด้วยพืชพันธุ์หลากหลายชนิด ทำให้คุณไพโรจน์ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในป่าเขา

จนมาถึงช่วงที่หมู่บ้านคีรีวงเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านท่องเที่ยว ในชุมชนมีการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ทำสบู่สมุนไพรจากเปลือกมังคุด ทำทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และแปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ ในปี 2543 คุณไพโรจน์เริ่มต้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบ้านสมุนไพร ทำหน้าที่ช่วยเหลือประสานงานด้านต่างๆ พยายามฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในช่วงที่มีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประธานกลุ่มบ้านสมุนไพรแนะนำให้แต่ละครัวเรือนทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้วนำมารวมกันเพื่อจำหน่ายที่กลุ่ม คุณไพโรจน์จึงว่าตัวเองจะทำอะไรดี จากความชื่นชอบการแต่งตัวและเครื่องประดับ ประกอบกับตอนที่อาศัยอยู่บนเขาคุณไพโรจน์เห็นลูกไม้ป่า (เมล็ดพืช) ตกหล่นบนพื้นเป็นจำนวนมาก มีรูปร่างแตกต่างกัน จึงเก็บลูกไม้มาทำเป็นพวงกุญแจ เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก จากที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะขายได้ ปรากฏว่าขายได้ มีคนชื่นชอบ นี่จึงเป็นตัวจุดประกายไอเดียให้คุณไพโรจน์มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงานอื่นๆ อยากที่จะดีไซน์ให้สวยงาม และสร้างแบรนด์ของตัวเอง

เครื่องประดับจากวัสดุธรรมชาติ สู่การสร้างรายได้ในชุมชน

ในปี 2547 คุณไพโรจน์จัดตั้งกลุ่มลูกไม้บ้านคีรีวง ในช่วงแรกของการตั้งกลุ่ม สมาชิกสามารถสร้างรายได้เสริมเป็นจำนวนไม่น้อย ในปีเดียวกันทางกลุ่มลูกไม้บ้านคีรีวงส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดโอท็อปได้ระดับ 4 ดาว และมีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับประเทศ นอกจากพวงกุญแจ ยังมีสินค้าอื่น เช่น สร้อยคอ กำไล และเครื่องประดับ โดยการนำลูกไม้มาถักทอร้อยด้วยเชือกเทียน จากพวงกุญแจธรรมดา เริ่มมีการนำศิลปะเข้ามาทำให้ชิ้นงานดูสวยขึ้น การถักเชือกเทียนล้อมรอบลูกไม้นอกจากจะทำให้ลูกไม้ไม่หลุดแล้ว ยังไม่ต้องเจาะลูกไม้ให้เกิดรอย และยังป้องกันแมลงเข้าไปกัดกินลูกไม้ผ่านรอยเจาะอีกด้วย คุณไพโรจน์เล่าว่า การที่ตัวเองมองเห็นปัญหาของหลายๆ กลุ่ม ส่วนใหญ่มาจากการแบ่งสัดส่วนรายได้ ทางกลุ่มลูกไม้ใช้วิธีแจกจ่ายงานให้สมาชิกนำกลับไปทำที่บ้าน ใช้เวลาว่างในการทำ เมื่อทำเสร็จแล้วจึงนำมาส่ง

ในส่วนของการทำการตลาดเป็นเรื่องที่คุณไพโรจน์ให้ความสำคัญอย่างมาก ได้นำประสบการณ์ค้าขายก่อนหน้านี้มาประยุกต์ใช้กับการจำหน่ายสินค้าของทางกลุ่ม มองหาจุดเด่นเพื่อนำเสนอสินค้า ทำอย่างไรให้สินค้ามีมูลค่า อย่างการออกแบบแพคเกจจิ้งสำหรับใส่พวงกุญแจที่ทำจากลูกสวาท ก็ทำออกมา 2 แบบ ซึ่งขายในราคาต่างกัน เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน นอกจากนำลูกไม้ท้องถิ่นภาคใต้มาทำเป็นเครื่องประดับแล้ว คุณไพโรจน์ได้ติดต่อขอซื้อลูกไม้จากภาคอื่น เช่น ลูกพระเจ้าห้าพระองค์ มาสร้างสรรค์ชิ้นงานเช่นกัน มีการสร้างสตอรี่ให้กับแบรนด์โดยเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อ คุณไพโรจน์ให้ความเห็นว่า การขายสินค้าต้องมีจรรยาบรรณ อย่าหลอกลวง ลูกค้าที่เข้าใจหรือชอบเกี่ยวกับความเชื่อก็ยินดีที่จะจ่าย

ใช้ช่องทางออนไลน์สร้างรายได้เพิ่มโควิดระบาด

ช่องทางการขายก่อนช่วงโควิด-19 สินค้าวางจำหน่ายที่โฮมสเตย์ของคุณไพโรจน์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว คณะศึกษาดูงานกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ส่วนนักท่องเที่ยวคนไหนที่สนใจอยากจะทำเครื่องประดับ ทางกลุ่มก็สามารถสอนให้ได้ เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในปัจจุบัน ทางกลุ่มหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่าย เช่น เพจกลุ่มลูกไม้ วิธีไลฟ์สด Facebook  และทางไลน์ อย่างในช่วงโควิด-19 ทางกลุ่มลูกไม้คีรีวงได้ผลิตสินค้าใหม่ให้ทันกระแสความต้องการของผู้คนในช่วงนี้ คือ สายคล้องหน้ากากอนามัย โดยใช้วัสดุอื่นที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน และเพิ่มสีสันให้สวยงามยิ่งขึ้น

หากไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร ให้มองหาว่าชอบหรือถนัดด้านไหน  การได้ทำในสิ่งที่ชอบ เมื่อได้เริ่มก้าวแรกแล้ว มักจะมีก้าวต่อไปเสมอ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ สำคัญคือ การตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง อย่างการขายสินค้า การตลาดคือสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ต้องเรียนรู้ที่จะขายให้ได้ ทำการตลาดให้เป็น เมื่อเกิดวิกฤตต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

บ้านสวนอาย ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

บ้านสวนอาย
ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

 

ยอมแลกกับชั้นเรียนการวิเคราะห์ข้อมูลทางวัฒนธรรมศึกษาในภาคเช้า และวัฒนธรรมกับโลกาภิวัตน์ของช่วงบ่าย คิดเอาเองว่ากิจกรรมนี้จะเป็นภาคปฏิบัติของทั้งสองรายวิชา ตามและเห็นกำหนดการจากเฟซบุ๊คพี่เจี๊ยบว่าเป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “เรื่องเล่าชุมชน” ให้สมชื่อโครงการว่า “การจัดการความรู้เรื่องเล่าบ้านสวนอาย” (วันเสาร์ ที่ 22 มกราคม 2565 ณ ศาลาการเปรียญวัดสวนอาย ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช)

.

อาจารย์ ดร. จิตติมา ดำรงวัฒนะ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำเวทีด้วย 4 เครื่องมือ ผังเครือญาติ แผนที่ทรัพยากรชุมชน เรื่องเล่าชุมชน และปฏิทินวิถีชีวิต

.

เท่าที่โน้ตไว้มีราว 22 เรื่องน่าสนใจ ที่ทั้งท่านคม ตาเล็น พี่ขลุด ตาพร้อม ครูกิต พี่ผา พี่เปี๊ยก ลุงทร ลุงฉุย ลุงกิ่ง พี่อ้น น้าเชษ ครูแอน พี่ทัย น้องที พี่ขวัญ และน้องๆ กศน.ตำบลละอาย ช่วยกันเล่าช่วยกันฟัง

.

ถัดนี้ทราบจากพี่เจี๊ยบคนต้นเรื่องว่าจะไปกันต่อ ส่วนตัวรีบขออนุญาตนำฉบับสังเขปลงเพจและเว็บไซต์ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช เสียในโอกาสเดียวกัน ในนั้นอธิบายว่า

.

บ้านสวนอาย

บ้านสวนอายเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 โดยมี นายเกตุ-นางวิน องอาจ นายเลื่อม- นางแข เพชรชนะ สองพี่น้องเขามาอยู่ครั้งแรก จากการแนะนำของนายจูน-นางคง วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ที่รู้สภาพของพื้นที่ป่าคลองอายเป็นอย่างดี คลองอายเป็นชื่อเรียกกันมาช้านานตามชื่อลำคลอง ที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ คลองละอาย ต่อมามีนายทุ่ม นายเอื้อม วงศ์สวัสดิ์ นายเซี่ย นายซ่าน มัฏฐาพันธ์ สี่คนพ่อลูกได้เข้ามาอาศัยทำมาหากินด้วย ต่อมาจึงได้มีญาติพี่น้องตามกันมาอีก ได้แก่ นายทอง นางพัน จำนามสกุลไม่ได้ พร้อมด้วยนายฟุ้ง นางชื่น สิทธิสมบูรณ์ครอบครัวทั้งหมดได้มาอาศัยอยู่ร่วมกันในระยะแรก แล้วค่อยๆ ทยอยปลูกกระท่อมใกล้ๆ กันเป็นกลุ่มบ้าน เพราะพื้นที่ขณะนั้นเป็นป่าดงดิบจะมีสัตว์ร้ายชุกชุม เช่น เสือ ช้างป่า ซึ่งสามารถทำอันตรายได้

.

เครือญาติ

พี่น้องที่เข้ามาอาศัยในขณะนั้นจึงมีความรัก ความสามัคคีกันเป็นอย่างมาก รวมตัวกันอยู่ได้ประมาณ 5 ปีกว่า การทำมาหากินเริ่มสะดวกมั่นคงไม่ต้องนำข้าวปลาอาหารจากที่อื่น จึงได้แยกย้ายกันไปปลูกสร้างกระท่อม(ขนำ) บ้านเรือนในที่ของตนเอง ต่อมาก็มีการชักนำบุคคลญาติ พี่น้องเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดชื่อ นายพร้อม พันเสือ ได้เข้ามาตัดแนวเขต โดยวางแนวเป็นที่บ้านนายม่วง นางเพียน ศรีเปารยะ ปรากฏว่าบ้านสวนอายได้ติดอยู่ในป่าสงวนทั้งหมด จึงทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นายเกตุ นายเหลื่อม นายฟุ้ง ได้ปรึกษาหารือกัน แล้วจึงไปหา นายชาย สุมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียก ครูช้อง จึงได้รับคำแนะนำให้ทำหนังสือเสนอกระทรวงเกษตร โดยนายชาย เป็นผู้ร่างหนังสือให้ พร้อมทำความเข้าใจในคำพูดของชาวบ้านสวนอายกับข้าราชการกระทรวง

.

ขอบเขตหมู่บ้าน

อยู่มาประมาณ 1 ปีเศษ (ประมาณปี 2480) หลังจากส่งหนังสือถึงกระทรวงเกษตรได้มีคำสั่งจากกระทรวงถึงจังหวัด ให้เลื่อนเขตป่าสงวนใหม่ เพราะ เขตเดิมราษฎรได้ทำมาหากินประกอบอาชีพ จึงได้มีเจ้าหน้าที่มาวางเขตป่าสงวนใหม่คือนายอรุณ รุจิกัญหะ โดยนายเกตุและนาย เลื่อม เป็นผู้นำในการตัดเขต พร้อมด้วยลูกจ้างตัดเขตป่าสงวนหลายคนเท่าที่จำได้ ได้แก่ 1.นายเลื่อน เพชรประพันธ์ 2.นายนบ วงศ์สวัสดิ์ 3. นายจำรัส นิยมกิจ คณะของเจ้าหน้าที่ตัดเขตป่าสงวน ได้มาพักแรมที่บ้านนายทอย-นางแอบ พิบูลย์ จนตัดแนวเขตออกไปถึงคลองเศลา เวลาผ่านไปชาวบ้านก็ทยอยเข้ามาอาศัยทำมาหากินในบ้านสวนอาย เพิ่มขึ้นอีก เท่าที่สามารถจำและลำดับเหตุการณ์ได้ ได้แก่ นายดาว นางทรัพย์ แวววงศ์ นายไข่ นางเขียด แกล้วกล้า นายเจริญ นางน้อง เลิศไกร นายบาย พิบูลย์ นายหีด สิทธิเชนทร์ นายประคอง นางตั้น หัตถิยา นายคล้าย นางเฟือง ฤทธิชัย ต่อมานางเฟือง เสียชีวิต นายคล้ายจึงได้สมรสกับนางรุ่ง นายเกื้อ นางแกล้ม จงจิต และยังมีพี่น้องชาวบ้านเข้ามาประกอบอาชีพในบ้านสวนอายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีครัวเรือนเเน่นหนา

.

พ่อท่านคล้ายกับถนนเส้นแรก

การสร้างถนนของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เข้าบ้านสวนอาย ในปีนี้ (พ.ศ. 2484) มีการสร้างถนนซอยระหว่างหมู่บ้าน ในเขตตำบลละอายหลายสาย เช่น ถนนสายบ้านสวนอาย สายบ้านทอนวังปราง สายบ้านป่าพาด สายบ้านโคกยาง สายบ้านคลองระแนะ สายบ้านเสหลา เป็นต้น การสร้างถนน ในตำบลละอาย มีเรื่องเล่าของพระอ้วน เล่าไว้ว่า พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ “พูดไหรเป็นนั้น” และเป็นพระที่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ทำสะพาน ทำถนน หนทาง สร้างวัด สร้างโรงเรียน ขุดบ่อน้ำ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทำถนนกับจอบ ไม่ว่าถนนสายไหนจะเป็นถนนของพ่อท่านคล้ายเกือบทั้งหมด

.

สะพานไม้ทุกแห่งจะเป็นสะพานของพ่อท่านคล้ายส่วนมาก การทำถนนสมัยนั้น ก่อนจะบุกเบิกทำถนน ชาวบ้านแถวนั้นต้องไปหามพ่อท่านคล้ายมาก่อน ทำที่พักอาศัยอย่างเรียบร้อย ชาวบ้านพอรู้ข่าวว่าพ่อท่านคล้ายมาทำถนนสายนั้น ก็ชวนกันมาทั้งคนหญิงชาย “ทั้งคนแก่ และลูกเด็ก” ต่างคนต่างเอาจอบและพร้า ขวาน พวกที่มีพร้า ขวานก็ถางไป พวกมีจอบก็ขุดกันไป ยืนเรียงแถวพอได้ระยะ แล้วขุดกันไปน่าดูเพลินสนุกสาน ไม่มีการขัดแย้งกันเลย ทั้งกลางวัน กลางคืน มีความร่มเย็นสบายใจของผู้ที่ไปช่วยงาน เพราะอำนาจบารมีของพ่อท่านคล้าย ช่วยคุ้มครองปกป้องผองภัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่มาร่วมทำถนนมีกำลังใจทั่วถึงกันหมด มีความสามัคคี ปรองดอง ช่วยเหลือกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน

.

พ่อท่านคล้ายมีวาจาศักดิ์สิทธิ์มากในครั้งนั้น ได้ทำถนนเข้าบ้านสวนอาย สถานที่แห่งนั้นมีกอไม้ไผ่มากแต่ไม้ไผ่กอนั้นใหญ่และอยู่ตรงกลางถนนพอดี แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันขุดโดยรอบและลึกมากจนรอบกอ พ่อท่านก็ใช้ให้คนไปหาเชือกเส้นใหญ่มาผูกรอบกอไผ่ เพื่อให้ชาวบ้านช่วยลากขึ้นจากหลุม แต่พอดีช่วงนั้นมีช้างเดินผ่านมา ชาวบ้านก็บอกควาญช้างให้ช่วยลากให้ ควาญช้างก็เอาโซ่ พันรอบกอไผ่นั้น แล้วให้ช้างลาก ปรากฏว่าโซ่ขาด ควาญช้างก็ชักโมโหรีบไล่ช้างไปให้พ้น

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดกับนายหมี สิทธิเชนทร์ (ชาวบ้านสวนอายที่มาช่วยทำงาน) ว่า

“ขึ้นแล้วหรือยัง เณรหมี”

“ยังไม่ขึ้นทีพ่อท่าน” ลุงหมีแกก็บอกพ่อท่านคล้ายว่า “ช้างลากก็ไม่เลื่อน โซ่ขาด เจ้าของช้างโกรธไปเสียแล้ว”

 

พ่อท่านคล้ายก็ใช้นายหมี สิทธิเชนทร์ให้เอาเชือกหวายข้อลึกสองเส้นไปพันกอไผ่ ให้คนได้เข้ามาช่วยลาก

นายหมี สิทธิเชนทร์ก็ได้พูดขึ้นว่า

“ช้างก็ลากไม่เลื่อน คนลากก็ไม่ขึ้นนี่พ่อท่านแรงคนครึ่ง ของแรงช้างก็ไม่ได้”

“มึงลองลากแลทีลุงหมี”

นายหมีและนายแอน สิทธิเชนทร์สองคนพี่น้องไม่ขัดคำของพ่อท่าน จึงเอาหวายเข้าไปผูก ผูกเสร็จ แล้วลุงหมีก็เรียกคนให้ฉวยเชือก (จับเชือก) พร้อมกันหัวไผ่เลื่อนขึ้นจากหลุม ไม่น่าเชื่อ

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดขึ้นทันที

“หนักไม่หนักละเณรหมี”

“ไม่หนักพ่อท่านเหอ” ลุงหมีกับลุงแอนนั่งหัวเราะ

“เชื่อแล้ว พ่อท่านเหอ ผมเองก็ไม่นึกว่ากอไผ่นั้นจะขึ้น

นับจำนวน คนแล้ว สิบสี่คนเท่านั้น”

 

นี่คือวาจาสิทธิ์ของพ่อท่านคล้าย พ่อท่านคล้ายได้สร้างสะพานที่ท่าต้นโพธิ์ บ้านใหม่ สะพานข้ามน้ำคลองใหญ่ (คลองตาปี) มีชาวบ้านที่นั่นชื่อลุงแดงหกเหลี่ยม เป็นคนชอบทำงานส่วนรวม ลุงแดงขึ้นไปติดไม้พยุง เพื่อจะมุงหลังคาสะพานบังเอิญพลาดตกลงมา ในคลองที่ไม่มีน้ำนอนนิ่ง ชาวบ้านตามไปบอกพ่อท่านคล้ายอย่างเร่งรีบ พ่อท่านคล้ายก็เอาน้ำมนต์มาพรมให้เสร็จแล้ว พ่อท่านคล้ายก็เรียกว่าเณรแดง พันพรือ เณรแดง ลุงแดงก็บอกว่า ไม่พรือพ่อท่านเหอ มีที่หัวเข่า ถลอกนิดเดียว ตกลงว่าลุงแดงไม่เจ็บตรงไหนนี่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อท่านคล้ายให้ปรากฏ

.

การขยายหมู่บ้าน

 

กำนันในขณะนั้นคือ นายขาบ วงศ์สวัสดิ์ จึงได้ประสานกับอำเภอฉวางซึ่งมีนายแจ้ง ฤทธิเดช เป็นนายอำเภอ ของแบ่งแยกหมู่บ้าน จากหมู่ที่ 1 เป็นหมู่ที่9 ของตำบลละอาย โดยมีนายพัว วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมาเมื่อนายพัว ได้ออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจึงได้เลือกนายกาจ องอาจ เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 และได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านมาเสมอต้นเสมอปลาย

.

จากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีอีกหลายเรื่องราวและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ซึ่งคณะทำงานจะได้รวบรวม เรียบเรียง เพื่อใช้สอยประโยชน์ตามเหตุตามปัจจัยต่อไป รวมถึงที่ยกมานี้ก็พอสังเขป ในฉบับร่างยังระบุเรื่องทับหรั่ง สถานการณ์คอมมิวนิสต์ วันคืนสู่เหย้า การรับเสด็จหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ศาลาประชาคมหลังแรกของหมู่บ้าน การขยายหมู่บ้านครั้งที่ 2 ลำดับผู้ใหญ่บ้าน ขุนพิปูน การทำนา และการทำสวนยางพาราอีกด้วย

 

 

สวนวลัยลักษณ์และ5กิจกรรมในสวนวลัยลักษณ์

นครศรีสเตชชั่นแนะนำที่เที่ยวครั้งนี้  เราจะพาพี่ๆน้อง ๆ และนักท่องเที่ยวทุกท่านไปเที่ยวกันที่สวนวลัยลักษณ์ หรือ WU PARK และวันนี้แอดมินจะมานำเสนอ5กิจกรรมที่ทำเมื่อไปสวนวลัยลักษณ์มีกิจกรรมอะไรบ้างไปดูกันเลย..

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสวนวลัยลักษณ์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ?

 

ด้วยแนวคิดหลักของ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นแผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ Walailak Land of Glory จึงเกิดเป็นสวนวลัยลักษณ์  สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2560-2561 เป็นสวนสาธารณะที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์ พนักงานและนักศึกษา พี่น้องประชาชนชาวอำเภอท่าศาลา ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง ตลอดจนผู้ที่มาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยจากในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้มีการเปิดโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สวนวลัยลักษณ์จะเป็นแหล่งให้ผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ได้พักผ่อน สร้างความสดชื่นได้ทั้งกายและใจ

 

สวนวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่บริเวณถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย ตรงข้ามกับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 255 ไร่ แบ่งเป็นผืนน้ำ 130 ไร่และผืนดิน 125 ไร่ โดยภายในสวนวลัยลักษณ์จะมีจุดเด่นอยู่ที่ลานมโนราห์สีทอง มีระเบียงน้ำให้ผู้มาเยี่ยมเยียนได้นั่งพักผ่อน ให้อาหารปลา พร้อมนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินผ่านภูเขาหลวงซึ่งเป็นทัศนียภาพ ที่งดงามยิ่งเป็นเบื้องหลัง

 

นอกจากนี้ยังมีความร่มรื่นเขียวขจีของต้นไม้นานาชนิดและไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ มีการจัดสวนรูปแบบต่างๆ สวนอังกฤษ สวนญี่ปุ่น ลานมโนราห์สี รูปปั้นโขลงช้าง น้ำพุนกฮูก เส้นทางการวิ่ง เส้นทางการปั่นจักรยาน และที่โด่งดังและท้าทายมากคือ เขาวงกต “เข้าแล้ว ออกได้หรือไม่?”

5กิจกรรมที่ทำเมื่อมาเที่ยวสวนวลัยลักษณ์

กิจกรรมที่1 วิ่งออกกำลังกาย

เปิดให้ผู้คนทั่วไปได้วิ่งออกกำลังชมความเขียวขจีของต้นไม้และรับอากาศบริสุทธ์ของสวนวลัยลักษณ์ มีทั้งเส้นทางการเดิน-วิ่งทั่วทั้งสวน เหมาะแก่การไปออกกำลังกายชิวสุดๆ

กิจกรรมที่ 2 ปั่นจักรยาน

 

ปั่นจักรยานผ่านสวนวลัยลักษณ์ชมความเขียวขจีขแงต้นไม้นานาชนิดและรับลมธรรมชาติทั่วทั้งสวน มีเส้นทางจักณยานพาดทั่วทั้งสวนเป็นแนวยาวตลอดสายจะมีวิวทิวทัศน์ที่ทำให้เพลิดเพลินกับการปั่นจักรยานสุดๆ

กิจกรรมที่ 3 ปั่นเรือเป็ดและให้อาหารปลา

เป็นอีก 1 กิจกรรมสำหรับการมาพักผ่อนหย่อนใจของผู้ที่มาเที่ยวสวน กิจกรรมที่สนุกและท้าทาย มีทั้งการให้อาหารปลาควบคู่ไปกับวิวที่สวยงามของทะเลสาบในสวน และปล่อยใจให้ผ่อนคลายกับสถานที่พักผ่อน มีร้านขายขนมให้ได้เบือกซื้อนั่งทานชมความสวยงาม

กิจกรรมที่4 มาพักผ่อนกับครอบครัว

สวนวลัยลักษณ์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถมาเที่ยวกับครอบครัวได้ มาทำกิจกรรมร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการทานข้าวข้างนอก ริมทะเลสาบในสวน การพาเด็กๆมาวิ่งเล่น จนกระทั่งผู้สูงอายุ พามาผ่อนคลายความเครียด หรือเปลี่ยนที่ถ่ายรูป รับลมเย็นๆกับบรรยากาศที่ร่มรื่นเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลยค่ะ

กิจกรรมที่ 5 ชมวิวพระอาทิตย์ตก

เป็นอีกที่ในสวนที่ห้ามพลาดเด็ดขาดเนื่องจากวิวตรงนี้สวยมากๆแอดมินแนะนำสุดๆ ระเบียงริมทะเลสาบกับวิวพระอาทิตย์ตกดินที่สีสวยมากๆพักผ่านเทือกเขาหลวงที่เห็นได้ชัดสุดๆ

ใครผ่านไปผ่านมาอย่าลืมแวะเวียนเข้ามาเที่ยวสวนวลัยลักษณ์ ปักหมุดที่เที่ยวใหม่ๆ เตรียมกล้อง สะพายกระเป๋าแล้วมาเที่ยวกันที่สวนวลัยลักษณ์กันนะคะ

 

ข้อปฏิบัติการใช้สวนวลัยลักษณ์

  1. วันเวลาเปิด-ปิดทำการ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ถึงเวลา 20.00 น.
  2. สวนวลัยลักษณ์แห่งใช้เพื่อการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมนันทนาการตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
  3. การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย สวน เพื่อการออกกำลังกายให้ระวังอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในบ่อน้ำ หรืออุบัติเหตุอื่น หากเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น
  4. ให้ช่วยกันรักษาความสะอาดบริเวณสวน และทรัพย์สินทุกชนิดภายในสวนและไม่ทำลายทรัพย์สินด้วยประการใดๆ
  5. ให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อห้าม หลักเกณฑ์ คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยโดยเคร่งครัด

ข้อห้าม

  • ห้ามนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าในพื้นที่สวนวลัยลักษณ์โดยเด็ดขาด
  • ห้ามเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ตกแต่งสวนและต้นไม้ภายในสวน
  • ห้ามปล่อยปลาชะโดลงในแหล่งน้ำ
  • ห้ามเข้าในห้องปั๊มหลังน้ำตก
  • ห้ามปีนช้างและห้าเข้าในบริเวณช้าง
  • ห้ามปีนมโนราห์
  • ห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิด
  • ห้ามเข้าเขาวงกตในช่วงเวลา 18.00 – 08.00 น.
  • ห้ามปีนต้นไม้ และเก็บลูกมะพร้าว
  • ห้ามนำต้นไม้และอุปกรณ์ตกแต่งสวนออกจากสวนโดยเด็ดขาด
  • ห้ามเปิดน้ำพุ น้ำตก ระบน้ำในสวนและระบบไฟหากไม่ได้รับอนุญาติ
  • ห้ามใช้สวนวลัยลักษณ์หลังเวลา 20.00 – 05.00 น.
  • ห้ามผู้ใด ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายในสวน
  • ห้ามผู้ใด เล่นฟุตบอล ตะกร้อ หรือกีฬาใดๆในสวน เว้นแต่เป็นการเล่นในสถานที่จัดไว้โดยเฉพาะ
  • ห้ามผู้ใด เล่นการพนัน เสพสุรา ของมึนเมาและสารเสพติดทุกชนิดในบริเวณที่สวน
  • ห้ามผู้ใด นำ พกพา อาวุธ ทุกชนิด ยิงปืน หรือใช้ดินระเบิด จุดปะทัด หรือก่อการทะเลาะวิวาทในบริเวณสวน
  • ห้ามผู้ใด ลักขโมยทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยภายในบริเวณสวน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

คุณ สุภาวดี ขำเกิด  รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

นับเป็นเรื่องดีที่เยาวชนไทยเริ่มหันมาสนใจอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หลายคนมีจุดเริ่มต้นจากความชอบสู่การประกวดแข่งขัน บางคนสามารถต่อยอดสร้างอาชีพและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนอื่นๆ ได้ คนต้นแบบเมืองนครที่ทางนครศรีสเตชั่นอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก เป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิด การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ คุณ สุภาวดี ขำเกิด  รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

จุดเริ่มต้นจากความรักในการร้องเพลงลูกทุ่ง สู่เล่านิทานพื้นบ้าน การร้องเพลงบอก และเพลงร้องเรือ

คุณสุภาวดี หรือน้องเตย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนปากพนัง เยาวชนที่มีความสามารถในการแสดงและสืบสานศิลปวัฒนธรรม จุดเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีเชื้อสายมโนราห์ ทำให้น้องเตยค่อยๆ ซึมซับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง น้องเตยมักจะเปิดดูซีดีการแสดงมโนราห์จากศิลปินที่ชื่นชอบ เมื่อเข้าสู่วัยประถมศึกษาได้รับเลือกจากคุณครูที่โรงเรียนให้ร้องเพลงหน้าชั้นเรียน พรสวรรค์ด้านการร้องที่ฉายแววออกมาทำให้น้องเตยได้เป็นนักร้องของโรงเรียน โดยมีคุณครูช่วยฝึกสอนร้องเพลงมาเรื่อยๆ

จนมีโอกาสได้เข้าประกวดร้องเพลงเป็นครั้งแรก แม้จะไม่ชนะการประกวดแต่ก็ไม่รู้สึกเสียใจ จากเวทีแรกน้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการประกวดร้องเพลงมาโดยตลอด จนถึงวัยมัธยมก็ได้เป็นนักร้องประจำโรงเรียนปากพนัง ได้รับการชักชวนจากคุณครูวิชาภาษาไทยให้ไปฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันเล่านิทานพื้นบ้าน เมื่อน้องเตยเห็นว่ามีรุ่นพี่กำลังซ้อมเพลงบอกเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน (เพลงบอกเป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ) ก็เกิดความสนใจขึ้นทันที ซึ่งส่วนตัวน้องเตยรู้จักกับเพลงบอกเพียงแต่ทอกเพลงไม่เป็น (ทอก หมายถึง การทำซ้ำ การย้ำ เพลงบอกคือการร้องแบบซ้ำๆ)

จากวันนั้นน้องเตยเริ่มศึกษาการร้องเพลงบอกผ่านช่อง Youtube จนเมื่อโอกาสมาถึงน้องเตยเริ่มแข่งเพลงบอกในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  และไม่ว่าทางคุณครูจะเสนอกิจกรรมอะไรก็ตาม น้องเตยมักจะตอบรับเสมอ เรียกได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ซึ่งน้องเตยมองว่าการที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้นทั้งในด้านการทำงาน การใช้ชีวิต เรียนรู้ที่จะวางตัวตัวให้เหมาะสม

ก้าวสู่เวทีการประกวดแข่งขันระดับประเทศ

จากจุดเริ่มต้นของการประกวดในระดับท้องถิ่นตั้งแต่วัยประถมจนถึงปัจจุบัน น้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ นำเอาข้อผิดพลาดมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ความกระตือรือร้นในการฝึกซ้อม บวกกับการขอคำแนะนำจากผู้อื่น ช่วยเพิ่มพูนทักษะในการร้องให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาน้องเตยเคยก้าวสู่เวทีการประกวดร้องเพลงในรายการไมค์ทองคำ (รายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง) ซึ่งตัวเธอเองมีดีกรีเป็นถึงแชมป์ 2 สมัยในการแข่งขันเพลงร้องเรือ ที่จัดขึ้นในงานทำบุญสารทเดือนสิบของนครศรีธรรมราช ในส่วนของเพลงบอก ซึ่งเป็นการละเล่นประเภทการขับร้องที่ต้องใช้สำเนียงภาษาถิ่นใต้ในการร้องบท

จากการที่ได้เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนฝึกซ้อมเพลงบอก บวกกับความสนใจส่วนตัว ทำให้น้องเตยมีโอกาสได้ฝึกซ้อมเป็นลูกคู่ ความยากอยู่ตรงที่คีย์ร้องที่ต่างกันระหว่างเสียงของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเพลงบอกส่วนใหญ่จะร้องโดยผู้ชาย เป็นเสียงต่ำกว่าผู้หญิง น้องเตยจึงต้องปรับเสียงคีย์ร้องของตัวเองให้ต่ำลงกว่าเสียงปกติ และอีกหนึ่งผลงานที่น่าภาคภูมิใจของน้องเตยและสมาชิกในทีมคือ การได้เข้าร่วมการแข่งขันเพลงบอกเยาวชนโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี น้องเตยเล่าว่า บรรยากาศการแข่งขันในตอนนั้น ทางกรรมการมีญัตติมาให้ (ได้ญัตติหัวข้อ “ถ้าฉันได้เป็นนายกรัฐมนตรี”) ซึ่งทีมผู้เข้าแข่งขันต้องเตรียมเนื้อร้องกันเอง การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบ คัดเหลือ 5 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการตัดสินทีมของน้องเตยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

น้องเตยเล่าว่า ทางครอบครัวน้องเตยมีเชื้อสายมโนราห์มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดยายทวด จากจุดนี้ทำให้ตัวเธอมีความชื่นชอบศิลปการแสดงภาคใต้ แม้ไม่เก่งในศาสตร์มโนราห์ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ น้องเตยมักจะนำเสนอศิลปะการแสดงท้องถิ่นใต้สอดแทรกเข้าไปด้วย การที่เติบโตมากับศิลปวัฒนธรรม น้องเตยจึงรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปได้ และอยากที่จะอนุรักษ์ไว้ เธอจึงรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ อย่างโนราห์นั้นเพิ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สร้างความภูมิใจให้กับชาวไทยทั่วทุกภาคไม่เฉพาะแค่ภาคใต้เท่านั้น

ส่วนในอนาคตหลังจากเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา น้องเตยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะศึกษาต่อทางครุศาสตร์ เอกภาษาไทย เธอให้ความเห็นว่าอย่างน้อยก็มีในเรื่องของกาพย์ โคลง กลอน ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องเตยคุ้นเคยสามารถนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนของเธอได้ โดยผ่านการทำกิจกรรม เป็นการช่วยให้คนรุ่นใหม่ต่อจากนี้รับรู้ถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมภาคใต้

ไม่ใช่แค่ความชื่นชอบเท่านั้นที่จะพาเราไปสู่โอกาสในชีวิต แต่การเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่เข้ามาในชีวิต ฝึกฝนทักษะให้กับตัวเองอยู่เสมอต่างหากที่เป็นแรงผลักดันให้เราอยากที่จะแสวงหาโอกาสนั้น ซึ่งน้องเตยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรสวรรค์ ความชอบ บวกกับความทุ่มเทนั้น ทำให้เธอเดินทางมาไกลแค่ไหน ที่สำคัญคือ การไม่ลืมที่จะระลึกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเอง ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และอยากที่จะรักษาของเก่าไว้ นำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย พร้อมที่จะส่งต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่านี้สู่คนรุ่นหลังสืบไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

ประวัติอำเภอลานสกา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอลานสกา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอลานสกานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ลานสกา จากเขาแก้ว

เดิมเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล บริเวณอำเภอลานสกานี้ก็ถูกกำหนดให้เป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอเขาแก้ว” เพราะที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้ว ต่อมาได้ยุบตำบลเขาแก้วมาขึ้นกับตำบลลานสกา ที่ว่าการอำเภอก็ติดอยู่ในตำบลลานสกา ถึงแม้ว่าจะแยกตำบลเขาแก้วออกจากตำบลลานสกาแล้วในปัจจุบัน และที่ว่าการอำเภอจะตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้วก็ตาม ก็ยังคงเรียกว่า “กิ่งอำเภอลานสกา” ตามเดิมตลอดมา

.

อำเภอลานสกา

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2500

ทางราชการได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอลานสกา

เป็น “อำเภอลานสกา” จนถึงทุกวันนี้

.

ลานสกา

คำว่า “ลานสกา” อธิบายได้เป็นสามนัย ดังนี้

 

1.

ชื่อมาจากภาษาของชาวหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งได้นำศาสนาฮินดูและพุทธเข้ามาครั้งแรก เรียกว่า “แลงกา” แปลว่า “หุบเขา” “หว่างเขา” ซึ่งก็ตรงกับภูมิประเทศ แล้วก็เรียกเพี้ยนไปจนเป็น “ลานสกา”

 

2.

ชื่อนี้เป็นไทยแท้ คือ ลาน หมายถึง ที่ราบหรือที่เตียน เล่ากันว่าในครั้งก่อน ฝูงกาลงมารวมพวกพ้องส่งเสียงร้องกันสนุกสนานเป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกสถานอันโล่งเตียนนั้นว่า “ลานสกา”

.

ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาสร้างเมือง “ศิริธรรมนคร” ที่หาดทรายแก้วนั้น ช่วงหนึ่งได้เกิดไข้ห่าหรือโรคระบาดขึ้นในเมือง พระองค์จึงอพยพราษฎรไปตั้งชั่วคราวอยู่ในเขตตำบลลานสการาวห้าปี เมื่อโรคระบาดได้สงบลงแล้วจึงอพยพกลับมาอยู่ที่หาดทรายแก้วตามเดิม จากหลักฐานนี้อาจเป็นไปได้ที่ว่าฝูงกาลงมากินซากศพของคนตาย เมื่อครั้งที่เกิดโรคระบาด

 

3.

สกา เป็นเครื่องเล่นการพนันที่ใช้ลูกเต๋าทอด “ลานสกา” จึงมีความหมายไปในทางเล่นการพนันสกา

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

คุณ พรเทพ เซ่งรักษา คนต้นแบบเมืองนคร ใช้วัฒนธรรม นำการท่องเที่ยว

หากพูดในแง่ของการท่องเที่ยว เรื่องราวความเป็นมาที่ต่างกันของแต่ละสถานที่ ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน นครศรีธรรมราชเป็นอีกจังหวัดที่ผู้คนให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้มีบทบาทในการสนับสนุนและผลักดันให้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นที่รู้จัก โดยใช้วัฒนธรรม นำการท่องเที่ยว คุณ พรเทพ เซ่งรักษา ประธานชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากความชื่นชอบการท่องเที่ยว สู่ประธานชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช

            ชีวิตในวัยเด็กของคุณพรเทพในตอนนั้น ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในละแวกบ้านเท่าไรนัก เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปช่วยทางบ้านทำนา เติบโตท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น หลังจากเรียนจบทางด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนของวิถีชีวิตสังคมเมืองและต่างจังหวัด จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปที่นครศรีธรรมราช และมีโอกาสได้ทำงานด้านการเมืองท้องถิ่นจนขึ้นไปถึงระดับผู้บริหาร ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีโอกาสได้มาทำงานทางด้านนี้

จนเมื่อคุณพรเทพได้พบกับปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่า ชายทะเลของอำเภอปากพนังในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ บริเวณนั้นน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่ติดตรงที่ยังไม่มีใครริเริ่ม ทั้งที่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่พร้อมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรม คุณพรเทพจึงตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งชมรมมัคคุเทศก์ และจัดกิจกรรมเรื่อยมาจนกระทั่งเจอกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง

บทบาทของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น กับการท่องเที่ยววิถีชุมชน

ชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งนั้นเป็นงานด้านอาสา คุณพรเทพ ให้ความเห็นว่า ต้องยอมรับว่าในส่วนของมัคคุเทศก์จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังขาดความเชื่อมโยงและการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แต่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ของนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัคคุเทศก์มากเท่าไรนัก

ดังนั้นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้คือ แต่ละชุมชนต้องนำเสนอตัวเอง ส่วนในเรื่องของวัฒนธรรมความเป็นคนนครศรีฯ การที่พยายามจะสื่อไปให้คนภายนอกรับรู้ได้นั้น หากนำเสนอผ่านทางมัคคุเทศก์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการในการประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงความสนใจให้คนอื่นๆ รู้จักกับภาคการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชมากขึ้น

อย่างในปี 2550 เป็นช่วงที่นครศรีธรรมราชกำลังอยู่ในความสนใจอย่างมาก สาเหตุจากกระแสความดังของ “องค์จตุคามรามเทพ” (หนึ่งในวัตถุมงคลที่เคยได้รับความนิยม) ส่วนในปี 2563 นครศรีธรรมราชได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง เกิดจากผู้คนมากมายที่ศรัทธา “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” ต่างแวะกันไปไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณพรเทพมองว่านี่ไม่ใช่แก่นแท้จริง และมักจะบอกกับทางมัคคุเทศน์ว่าให้แนะนำนักท่องเที่ยวไปกราบสักการะบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาสนสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย

เชื่อมโยงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว

คุณพรเทพ ให้ความเห็นว่า มีเพียงมัคคุเทศก์ไม่กี่คนเท่านั้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราช แม้แต่ตัวคุณพรเทพเองก็มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากเช่นกัน คุณพรเทพ มองว่า ผู้ประกอบการ หน่วยงานเอกชน และภาครัฐควรส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะแต่ละคนได้รับความรู้จากแหล่งที่มาต่างกัน เมื่อนำเสนอสู่นักท่องเที่ยวกลายเป็นว่าไม่รู้จะเชื่อใครดี จึงควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องแยกให้ออกว่าอันไหนคือเรื่องเล่า อันไหนคือเรื่องจริงที่มีหลักฐานอ้างอิง

แม้คุณพรเทพไม่สันทัดด้านศิลปะการแสดงของภาคใต้ แต่ด้วยสายเลือดของชาวใต้จึงมีความชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อยากที่จะส่งเสริมเยาวชน เพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทำและดำรงตนในทางที่ถูกต้อง ที่ผ่านมามีการพาเด็กๆ ไปแข่งขันประกวดร้องเพลงตามรายการทีวีชื่อดัง มีการจัดตั้งชมรมเยาวชนคนลุ่มน้ำ เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เช่น เพลงบอก เพลงร้องเรือ โนราห์ รวมทั้งสอนร้องเพลง เมื่อใดก็ตามที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ทางชมรมจะนำการแสดงของเด็กๆ และเยาวชนไปโชว์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงวัฒนธรรมภาคใต้ อย่างพิธีแห่หมรับ งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบเมืองนคร งานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณพรเทพ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านหลากหลายอาชีพ เป็นการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน

การปรับตัวด้านการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตโควิด-19

โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นโครงการของภาครัฐเพื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จัก และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน อย่างชุมชนวัดศรีสมบูรณ์หรือบ้านหอยราก เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งผลิตขนมลา ทางคุณพรเทพอยากที่จะชาวบ้านหยิบเอาวัตถุดิบอื่นๆ ในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็นอาหาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริม ในช่วงวิกฤตโควิด เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ไม่เกิดการใช้จ่ายขึ้น สินค้าท้องถิ่นที่สามารถจัดส่งได้จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ โดยใส่เรื่องราวลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เพราะนครศรีธรรมราชขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งวัฒนธรรมทางอาหาร คุณพรเทพ เล่าว่า ช่วงแรกที่ทำก็เจอกับปัญหาเช่นกัน แต่อยากให้ชาวบ้านมองว่าเราสามารถนำเอาเรื่องใกล้ตัวมาสร้างเป็นรายได้ไม่มากก็น้อย

แม้รูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง ในฐานะเจ้าบ้านนอกจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแล้ว สามารถนำเสนอเอกลักษณ์ชุมชน อาหารขึ้นชื่อที่ไม่ควรพลาด ของดีประจำถิ่นควบคู่กันไปด้วย เพื่อดึงความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวให้อยากแวะมาสักครั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยกันสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ