ผศ.เฉลิมพล จันทรโชติ ส่งเสริมงานศิลป์ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี

ศิลปะการแสดงพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด ความเชื่อ ชีวิตความเป็นอยู่ และอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่น มรดกทางภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ท่วงท่าการร่ายรำที่สอดคล้องไปกับจังหวะดนตรี ทำให้ผู้ชมอย่างเราไม่อาจละสายตาขณะรับชมไปได้ เช่นเดียวกับที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่ได้พัฒนาต่อยอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้เข้ากับยุคสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ผ่านงานต้นแบบที่แฝงมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ ผศ.เฉลิมพล จันทรโชติ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

ความชื่นชอบในการร่ายรำ กับการฝึกฝนอย่างหนัก

            ผศ.เฉลิมพล พื้นเพเป็นคนสงขลา เริ่มเรียนนาฏศิลป์ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มีความชื่นชอบในการร้องรำ จึงตัดสินใจเข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สาขาวิชาโขนพระ สำเร็จการศึกษาคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เรียกได้ว่าอาจารย์อยู่ในสายศิลปินตั้งแต่วัยเด็ก อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า การฝึกซ้อมร่ายรำต้องอาศัยความพยายามและความอดทนอย่างมาก ในขณะที่ครูบาอาจารย์ค่อนข้างเคี่ยวเข็ญอย่างหนักเช่นกัน เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาในการปั้นแต่ง เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด แต่ละคนจึงมีคาแรกเตอร์แตกต่างกันไปตามตัวละครที่ได้สวมบทบาท

            ซึ่งวิชานาฏศิลป์ที่สอนกันตามโรงเรียนทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจงว่าใครต้องรำเป็นตัวละครใด มีอิสระในการเลือก แต่สำหรับวิทยาลัยนาฏศิลปไม่เป็นเช่นนั้น ผู้เรียนจะได้รับการคัดเลือกว่าควรเรียนสาขาใด โดยดูจากลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคลว่าเหมาะสมกับตัวละครใด ให้ความสำคัญตั้งแต่การปูพื้นฐานท่ารำของตัวละครในสาขาวิชาเอกที่เราเรียน เพื่อที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า ตัวพระกับตัวนาง นอกจากท่วงท่าการร่ายรำที่ต่างกันแล้ว การใช้พละกำลังก็ต่างเช่นกัน ตัวนางมีการเคลื่อนไหวที่ดูอ่อนโยนจึงใช้พลังน้อยกว่าตัวพระที่ต้องดูสง่างามเข้มแข็งตลอดเวลา  อาจารย์เฉลิมพล มองว่า การทำงานในอนาคตไม่จำกัดแค่ความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องมีความรู้ที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้ในการทำงาน ในฐานะที่เป็นอาจารย์จำเป็นจะต้องสอนทั้งตัวพระและตัวนาง จึงอยากให้เด็กๆ มีพื้นฐานที่แน่นก่อน แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปฝึกฝนตามตัวละครที่ชื่นชอบ

จากศิลปินกับการก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นอาจารย์

หลังจากจบการศึกษาระดับชั้นปริญญษตรี อาจารย์เฉลิมพลได้ทำงานเป็นนักวิชาการการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  จากนั้นได้ผันตัวมาเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มีโอกาสได้รับทุนจากรัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย เป็นช่วงเวลาที่ได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิต ได้เรียนรู้วิธีการร่ายรำใหม่ๆ จากเจ้าของวัฒนธรรม อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่อยู่บาหลี ตัวเองต้องพยายามเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาสอนลูกศิษย์ จากนั้นอาจารย์ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ควบคู่กับการเรียนภาษาอังกฤษ และเดินทางไปบาหลีเพื่อไปเรียนรู้นาฏศิลป์บาหลีจากศิลปินที่นั่นจนมีความรู้ในระดับนึง หลังจากที่สำเร็จการศึกษาสาขาศิลปการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัย จนมีโอกาสสอบในตำแหน่งอาจารย์ และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช

บทบาทของหัวหน้างานวิจัยสร้างสรรค์ที่อาจารย์เฉลิมพลได้รับ ทำหน้าหน้าที่หลักในการผลิตผลงานให้กับทางวิทยาลัย มีทั้งศิลปนิพนธ์ในเรื่องของงานอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของงานวิจัย เช่น ศึกษากลวิธีการรำของครูอาจารย์รุ่นเก่า เพื่อบันทึกเก็บเป็นข้อมูล  วิเคราะห์กระบวนการรำว่าเทคนิควิธีการของครูสมัยก่อนเป็นอย่างไร และในส่วนของงานสร้างสรรค์ เป็นงานที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ครีเอทงานนาฏศิลป์ตามความต้องการของตนเอง

ส่งเสริมงานศิลป์ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ผ่านการแสดงที่แฝงอัตลักษณ์ท้องถิ่น

อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า การแสดงแต่ละชุดใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยที่นักเรียนมีส่วนร่วมในชิ้นงานนั้น อย่างนาฏศิลป์สร้างสรรค์ชุด “ลายถมเมืองนคร” แรงบันดาลใจเกิดจากลวดลายที่สวยงามของเครื่องถม นำเสนอความงามของลายถมผ่านเครื่องแต่งกายของนักแสดง เปรียบเหมือนเป็นเครื่องถมชิ้นหนึ่ง อาศัยแนวคิดจากศาสตร์ 4 DNA  ซึ่งก็คือ ศาสตร์ที่ช่วยดึงจุดเด่นของจังหวัด มาต่อยอดพัฒนาสินค้าและศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การแสดงชุด “ลายถมเมืองนคร” ผสมผสานการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองนคร โดยนำท่ารำโนราห์กับนาฏยลักษณ์ของวังเจ้าพระยานครมาผสมกัน มีการใช้ดนตรีไทยและดนตรีภาคใต้ในการให้จังหวะ ซึ่งท่ารำถอดแบบมาจากลวดลายเครื่องถมเช่นกัน เป็นผลงานที่แฝงไว้ด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ระบำสร้างสรรค์ชุด “สราญราษฎร์สักการะ” แนวคิดมาจากพิธีการสักการะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (ปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช) แน่นอนว่าใช้คอนเซปท์ถอด DNA เมืองนคร ส่วนงานสร้างสรรค์การแสดงชุด “สาวปากใต้” คำว่า ปากใต้ เป็นคำโบราณก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ปักษ์ใต้” การแสดงชุดนี้ไม่ได้สื่อถึงวิถีชีวิต แต่สื่อถึงความเป็นผู้หญิง ความคาดหวังที่มีต่อผู้หญิง ภายใต้แนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงความนุ่มนวลและความแข็งแกร่ง โดยพูดในองค์รวมของความเป็นผู้หญิงภาคใต้ ผสมผสานท่ารำท้องถิ่นแบบองค์รวมของวัฒนธรรมชาวใต้และชาวมลายู เช่น โนราห์ รองเง็ง ให้เกิดความกลมกลืนกัน ในส่วนของเครื่องแต่งกายใช้ผ้าพื้นเมือง ลายผ้า สีสัน ทรงผม เครื่องประดับ ดอกไม้ และองค์ระกอบอื่น ทุกอย่างล้วนแฝงไปด้วยความหมายที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์สาวปากใต้

การถ่ายทอดองค์ความรู้ของอาจารย์มักจะบอกแนวคิดและวิธีการเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและสามารถสืบสานต่อยอดผลงานได้ เมื่อเราเห็นถึงคุณค่าของงานที่ทำและได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง อยากที่จะส่งต่อความงดงามของสุนทรียศาสตร์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้

ชมคลิป VDO

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

โนราจำเนียร คำหวาน: ลูกหนังร่าน หลานหนังเรื้อย เหลนหนังรอด

โนราจำเนียร คำหวาน

ลูกหนังร่าน หลานหนังเรื้อย เหลนหนังรอด

โนราเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความเป็นพลวัตสูงมาก การศึกษาโนราจึงสามารถพลิกจับและคลี่มองกันได้หลายมิติ ล่าสุดรับชม Live : รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว  ตั้งชื่อตอนว่า นาฏศิลป์ไทย ไม่อินเดีย “โนรา” ละครอยุธยาลงใต้ ออกอากาศเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 20.00 น. ชื่อตอนเป็นทั้งข้อเสนอและสรุปอยู่ในตัวว่า “โนรา” เป็นละครอยุธยาที่แพร่กระจายลงมาสู่คาบสมุทร ในรายการอธิบายเพิ่มเติมว่ามีเพชรบุรีเป็นจุดพักและนครศรีธรรมราชเป็นจุดหมาย สุจิตต์ วงศ์เทศ เกริ่นนำข้อเสนอเหล่านั้นว่าอภิปรายกันบน “หลักฐาน” ไม่ใช่ “ความรู้สึก” ในขณะที่เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการกล่าวเชื้อเชิญให้ “เปิดใจรับฟัง” คล้ายกับว่าทั้งสองท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเสียงที่แตกต่างในประเด็นเดียวกันนี้มาบ้างแล้ว (สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/KhanchaiSujit/videos/5306028399427586 )
.
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยได้เสวนากับหนังกุ้ง พงศธร ว่าด้วยเรื่องราวของโนราจำเนียร คำหวาน ผู้เป็นทั้งครูโนราและครูหนังตะลุงอาวุโสของเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนี้อายุ 83 ปี มาลงเอยกันที่บทความที่อาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม ท่านโพสต์ไว้เมื่อสองสามปีก่อน จึงขออนุญาตคัดมาไว้เพื่อเผยแพร่สมทบภาพที่ได้โพสต์ผ่านเพจไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนี้ (ในนี้ แม้ความจะออกไปยืนเล่าที่ข้างหนังเป็นหลัก แต่ก็สะท้อนลักษณะบางประการของโนราและหนังลุงให้มองต่อได้ดี จึงขอคงต้นฉบับไว้ทั้งความ ตัวอักษร และตัวเลข)
.

หนังจำเนียร เล่าว่า…

.
หนังจำเนียร คำหวาน ศิลปินหนังตะลุงต้นแบบอาวุโส วัย ๘๐ ปี (๒๕๖๒) เล่าถึงต้นเค้าสายตระกูลศิลปินโนรา-หนังลุงว่า…
.

“หนังรอด”

เป็นทวดของหนังจำเนียร มีภรรยา ๒ คน คนแรกจำไม่ได้ คนที่สองชื่อ ทุ่ม (ทวดหญิงของหนังจำเนียร)
หนังรอดบ้านอยู่ที่ทุ่งนาลาน ทางตะวันออกของวัดด่าน (วัดสโมสร) ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา
หนังรอดมีลูก ๔ คน คือ หนังจาบ หนังเรื้อย หนังริ่น และหนังเริ่ม (หนังเริ่มเป็นหนังหญิงที่ฝึกเล่นหนังได้แต่ไม่ได้ออกโรงแสดงทั่วไป)
.

“หนังจาบ”

ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลูกชายเป็นหนังคนหนึ่งชื่อ หนังรุ่น
.

“หนังเรื้อย”

เป็นปู่ของหนังจำเนียร ฝึกเล่นหนังกับหนังทองมี ซึ่งอยู่ที่บ้านข้างวัดขุนโขลง ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา
หนังเรื้อยมีภรรยาหลายคน มีลูกหลายคน เป็นหนังตะลุงและโนรา ได้แก่ หนังร่าน หนังรุ่ม หนังชุ่ม โนราถนอม หนังดอกไม้ โนราปลีก โนราอิ่ม โนรารอบ โนราจำรัส หนังนุกูล
หนังเรื้อยแสดงทั้งหนังตะลุงและโนราควบคู่กันไป
.

“หนังริ่น”

เป็นตาของหนังจำเนียร นอกจากแสดงหนังแล้ว ยังมีความสามารถในการตัดรูปหนังด้วย
หนังริ่นมีลูกหญิงเป็นยิ่เกป่าและโนรา ได้แก่ ยี่เกเปลี่ยว โนราเวด โนราวาด โนราสายชล
หนังริ่นมีลูกศิษย์หนังตะลุงหลายคน เช่น หนังขำ หนังจวน (เพลงบอกจวน จะนะดิษฐ์ บ้านทุ่งชน หัวตะพาน)
.

“หนังร่าน”

เป็นพ่อของหนังจำเนียร มีลูกคนเดียวคือ หนังจำเนียร หนังร่านเป็นทั้งหนังตะลุงและโนรา
.

“หนังจำเนียร”

อยู่กับปู่ (หนังเรื้อย) มาตั้งแต่เด็กๆ ไปไหนมาไหนก็ขี่คอปู่ไป หนังเรื้อยไปแสดงที่ไหนก็พาหลานรัก (หนังจำเนียร) ไปด้วย และถ่ายทอดวิชาหนัง-โนราให้หลานรักมาตลอดเวลาที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน หลานรักอยู่บนคอปู่่ ปู่ก็พาเดินและฝึกให้ขับบทกลอนไปด้วย หนังเรื้อยแสดงหนังบนโรง หลานรักก็นอนซุกตัวหลับอยู่ข้างๆปู่ เป็นอย่างนี้จนซึมซับซาบซึ้งอยู่ในวิถี

เรียนหนังสือ

หนังจำเนียร เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนวัดด่าน (วัดสโมสร) ข้างบ้าน เริ่มแสดงโนราก่อน เพราะปู่ยังไม่ให้เล่นหนัง บอกว่า “ให้โปตายก่อนแล้วมึงค่อยเล่นหนัง สี่ปีกะดัง” แต่หลานรักก็ไปแอบปู่ไปฝึกเล่นหนังกับคนข้างบ้านก่อนตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ
ครั้นอายุ ๑๔ ปี ปู่ (หนังเรื้อย) เสียชีวิต จึงได้เริ่มแสดงหนังตะลุง โดยแสดงครั้งแรกที่วัดท่าสูง อำเภอท่าศาลา เพื่อเป็นมหรสพให้ชาวบ้านที่มาช่วยกันถากหญ้าในวัดได้ชม แสดงติดต่อกันหลายคืน ทั้งนี้โดยการอุปถัมภ์ของพ่อท่านคช (พระครูอาทรสังฆกิจ) เจ้าอาวาสวัดท่าสูง ตามที่หนังเรื้อยผู้เป็นปู่ได้ฝากฝังพ่อท่านคชไว้ให้ช่วยดูแลหลานด้วย

นางโนรา

เมื่อเริ่มต้นแสดงหนังนั้นไม่มีรูปหนังเป็นของตัวเอง ต้องยืมรูปหนังของหนังขำมาใช้ เป็นครั้งคราว
เรื่องที่แสดงในครั้งแรกๆนั้น เช่นเรื่อง “นางโนรา” (จำมาจากปู่-หนังเรื้อย) เรื่องสังข์ศิลป์ชัย เรื่องโคคาวี เรื่องแก้วหน้าม้า เรื่องโกมินทร์ เรื่องปลาบู่ทอง เป็นต้น ส่วนหนึ่งอาศัยเรื่องราวจาก “หนังสือวัดเกาะ” ที่พิมพ์จำหน่ายอยู่ในเวลานั้น
หลังจากที่แสดงหนังที่วัดท่าสูงอยู่ ๒-๓ ปี ต่อมาก็ได้ไปแสดงประจำที่โรงก๋งท่าศาลา ในช่วงประเพณีไหว้ก๋งประจำปี (ก่อนหน้านั้นหนังเรื้อย และหนังดอกไม้ แสดงมาก่อน) ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เป็นไปตามคำสั่งของปู่หนังเรื้อยที่ว่า “สี่ปีกะดัง”
หนังจำเนียรแสดงหนังตะลุงที่โรงก๋งท่าศาลาเป็นประจำทุกปี แต่ละปีแสดงติดต่อกันทุกคืนเป็นเวลาแรมเดือน ใช้เวลาแสดงตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืน ได้ค่าราดโรงตั้งแต่คืนละ ๓๕ บาท จนค่าราดโรงขึ้นเป็นหลายพันบาท ติดต่อกันเป็นเวลาร่วม ๔๐ ปี
ชื่อเสียงของหนังจำเนียรเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ครั้งที่โด่งดังที่สุดครั้งแรกๆก็คือ การประชันโรงและชนะหนังหมุนนุ้ย จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหนังรุ่นใหญ่มีชื่อเสียงทั่วภาคใต้ แข่งขันกันที่วัดศรีทวี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นอกนั้นก็คือการแสดงแข่งขันประชันโรงในงานเทศกาลเดือนสิบแทบทุกปี ที่ผู้จัดงานต้องรับหนังจำเนียรไปแสดงเพื่อดึงดูดผู้คนจากท่าศาลาให้ไปเที่ยวชมงาน
สำหรับผู้แต่งเรื่องหนังตะลุงให้หนังจำเนียรแสดงมีหลายคน เช่น ครูริ่น บัณฑิต ลุงข้ำ ชื่นชม ลุงเขียน บ้านหนองหว้า เป็นต้น
หนังจำเนียรมีลูก ๙ คน ลูกชายฝึกเล่นหนัง ๒ คน คือ “เณรหมู-สมรักษ์ และ เณรนก-จุลทอง” แต่ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพ โดยลูกทุกคนเป็นโนรา และต้องทำพิธีไหว้ครูเป็นประจำ
.
เรื่องราวจากคำบอกเล่าของ “หนังจำเนียร คำหวาน” ยังไม่จบ ยังมีอีกมากมายที่พรั่งพรูออกมาจากความทรงจำที่บอกเล่าโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย..
ค่อยๆทยอยเก็บมาบอกเล่ากันไปเรื่อยๆนะครับ…
ลุงบุญเสริม
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
(เก็บความจากการตั้งวงเสวนากับหนังจำเนียร คำหวาน เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ เรือนสัมมนาในสวนขวัญ จิรวรรณ แก้วพรหม)
.
เมื่อวัฒนธรรมเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงความหมายอย่างไม่รู้จบ
โนราจึงเป็นโนราทั้งในแบบที่โนราเป็น ต้องเป็น และจำเป็นต้องเป็น
สายธารเรื่องราวของโนราที่ทยอยไหลบ่าเข้าหากัน
เป็นผลให้เกิดการผนวกผสาน เรียงลำดับ และจัดกลุ่มองค์ความรู้
ที่สำคัญคือ โนราเป็นวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจและผู้เป็นเจ้าของ
เจ้าของวัฒนธรรมโนรานับได้ตั้งแต่ตัวโนรา นักดนตรี เจ้าภาพ ผู้ชม
หรือไปกว้างสุดที่คนใต้ทั้งหมดก็ไม่น่าจะผิด
ไม่ว่าจะด้วยการผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมฝ่ายบรรพชนหรืออย่างไรก็ตามแต่
เหล่านั้นทำให้โนราไม่เคยถูกตัดขาดออกจากวิถีชีวิตของผู้คนได้เลย
อีกจะเห็นได้ว่า บทบาทหน้าที่ของผู้ที่นิยามและถูกนิยามว่าเป็นโนรา
มักเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในกระบวนการเข้าใกล้ความรู้ว่าด้วยโนราอยู่เนือง ๆ
.
อย่างที่เกริ่นแล้วว่าโนรามีความเป็นพลวัตสูงในหลายมิติ ประกอบกับการเป็นวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตชีวาและผู้ร่วมเป็นเจ้าของ การสถาปนาความใดๆ ให้กับโนรา นอกจากเกิดส่วนได้ในวงนั้นๆ แล้ว ผลกลับกันที่จะมีต่อผู้ที่ถูกกีดออกนอกเกณฑ์ นอกย่าน นอกโยด เป็นสิ่งที่ควรต้องระแวงระวัง หรือไม่ก็ต้องจัดหาที่ทางและคำตอบไว้รองรับอย่างเหมาะสมฯ