พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร
บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

นครศรีธรรมราช มีสถานะซึ่งพัฒนาการจากมหานครสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้นำมาสู่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมจำนวนมหาศาล ต้องอาศัยการค้นคว้าเพื่อนำไปสู่การตีความหลักคิด วิเคราะห์รูปการณ์ และเชื่อมเหตุโยงผลกันด้วยทฤษฎีต่างๆ
.

ปาฏลีบุตร

สมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

.

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)

นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร

สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย

มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่

นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช

พระเจ้านครศรีธรรมราช

อาจแปลรวมความได้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”

ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิม

___

ภาพจากปก :
ส่วนหนึ่งของภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติหมายเลข na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

วังวัว • จานเรียว • ในเหลิง • วัวหลุง เรื่องเล่าภูมินามที่มาจาก “วัว” ตัวเดียวกัน

วังวัว • จานเรียว • ในเหลิง • วัวหลุง
เรื่องเล่าภูมินามที่มาจาก “วัว” ตัวเดียวกัน

 

เรื่องเล่าเป็นงานสร้างสรรค์อันมีผู้สร้าง

ใน “เรื่องเล่า” จึงมี “ผู้เล่า” ปรากฏตัวอยู่ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งหรือทั้งหมด

สิ่งที่ถูกส่งออกมาพร้อมกับภาษาคือ “สาร” และ “ความหมาย”

ซึ่งอนุญาตให้ผู้อ่านมีเสรีภาพในการ “ตีความ”

เรื่องเล่าหนึ่ง ๆ จึงมีได้มากกว่าหนึ่งความหมาย

เพราะทันทีที่เรื่องถูกเล่า หน้าที่ของผู้เล่าก็จบลง

.

บ้านวังวัว

ปัจจุบัน วังวัว เป็นชื่อบ้านในเขตอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนอีกสามบ้าน ได้แก่ จานเรียว ในเหลิง และวัวหลุง ติดเขตอำเภอร่อนพิบูลย์ ทั้งสี่บ้านอยู่คนละปละ แต่ยังพอทำเนาได้ว่าเป็นหยอมเดียวกัน

.

เรื่องเล่าของทั้งสี่บ้านถูกเคล้าให้อยู่ในนิทานพื้นถิ่นเรื่องเดียวกัน โดยมี “วัว” เป็น “ตัวเดินเรื่อง” อากัปกิริยาและพฤติการณ์ในนั้นเป็นเหตุของชื่อบ้าน ดังจะเล่าตามที่ ดิเรก พรตตะเสน เล่าไว้ในสารนครศรีธรรมราช ต่อไปนี้

.

“เล่ากันว่า วันดีคืนดี จะมีวัวตัวผู้สีทองตัวหนึ่งผุดจากส่วนลึกของวังน้ำขึ้นมาร้องอย่างคึกคะนองอยู่บนฝั่ง ถ้าใครพบเห็น เจ้าวัวตัวนั้นก็จะหันบั้นท้ายของมันให้ แล้วยกหางขึ้นสูง แย้มลิ่มทองสุกปลั่งออกมาให้เห็นทางรูทวารหนัก และทันทีมันจะกระโจนตูมลงในวังน้ำ ดำมุดหายไปต่อหน้าต่อตา ตำแหน่งนั้นรู้จักกันในชื่อ “วังวัว” “วัง” ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงวังเจ้านาย หากหมายถึงแหล่งน้ำลึกของลำคลอง หรือแม่น้ำลำธารต่าง ๆ ส่วน “วัว” ก็คืออย่างเดียวกับที่คนนครออกเสียงว่า “งัว”

.

เมื่อเจ้าวัวสีทองประพฤติในทางยั่วมนุษย์ให้เกิดโลภะโทสะอยู่เป็นนิจดังนี้ ชาวบ้านก็เกิดกระตือรือร้นที่จะจับวัวสีทองตัวนั้นเอาทองมาให้ประโยชน์ให้ได้ จึงรวมกันเข้าเป็นหมู่ใหญ่ วางแผนพิชิตวังทองอย่างรัดกุม แผนสำคัญที่จะพลาดไม่ได้คือ เมื่อเจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่ง คนหมู่หนึ่งจะต้องรวมกำลังกันขึงพืดริมฝั่ง พยายามกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำของมัน ซึ่งถ้ากันให้เจ้าวัวสีทองค้างอยู่บนบกได้ ถึงมันจะเตลิดไปไหน ๆ ก็ตามจับได้เป็นแน่นอน

.

ครั้นแล้ววันหนึ่ง เจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่งตามเคย และแล้วความพยายามของมนุษย์ในอันที่จะกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำก็สำเร็จตามแผน แต่เจ้าวัวสีทองตัวนั้นไม่ใช่วัวธรรมดาที่จะจับกันได้ง่าย ๆ เมื่อหนทางที่มันจะกระโจนกลับวังน้ำถูกกีดกัน มันก็แหวกวงล้อมเตลิดไปทางตะวันตก ข้างชาวบ้านก็ฮือไล่ตามอย่างกระชั้นชิด

.

ครั้งหนึ่ง วัวสีทองไปจนมุมที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง ริมริมจะจับได้แล้วทีเดียว แต่เนื่องจากชาวบ้านที่ตามประชิดติดพันในตอนนั้นน้อยตัวเกินไป จึงไม่สามารถจะตีวงล้อมเข้าถึงตัวมันได้ สิ่งสำคัญที่จะใช้จับวัวคือเชือกก็ไม่ติดมา หลังจากเล่นเอาเถิดเจ้าล่อชุลมุนกันพักใหญ่ ก็ตกลงใจกันจะจับตาย ชาวบ้านคนหนึ่งมีฝีมือในทางเขวี้ยงพร้า ก็เขวี้ยงพร้าในมือหวือไปทันที หมายตัดขาหน้าเจ้าวัวทองให้ขาดหกคะเมนตีแปลงลงตรงนั้น แต่ก็อัศจรรย์ ฝีมืออันเคยฉมังกลับพลาด พร้าหมุนติ้วตัดอากาศเหนือหลังวัวสีทอง หวือหายไปในความลึกของซอกเขา เจ้าวัวสีทองสบโอกาสแหวกวงล้อมหลุดออกไปได้อีก เล่นเอาพวกตามพิชิตวัวเกือบสิ้นพยายาม ต่างทรุดลงนั่งลงอย่างหมดแรง และทั้งนี้ เพื่อจะรอเพื่อนคนเขวี้ยงพร้า ซึ่งเดินดุ่มเข้าไปเก็บพร้าของตนในซอกเขาลึกด้วย

.

เกือบหนึ่งชั่วยาม กะทาชายนายเจ้าของพร้าจึงได้พร้าของตนกลับมา เพื่อน ๆ ที่นั่งรอจนหายเหนื่อยตั้งนานแสนนานและกำลังร้อนใจจะแกะรอยวัวทองต่อไป พากันกระชากเสียงถามด้วยความขุ่นเคืองเป็นเสียงเดียวกันว่า

 

“เข้าไปถึงไหนวะ”

“ถึงเหลิงเว้ย” เจ้าของพร้าตอบแล้วชวนกันแกะรอยวัวทองต่อไป

.

บ้านในเหลิง

เหตุนี้เอง ซอกเขาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เหลิง” หรือเขียนตามสำเนียงใต้ได้เป็น “เลิ่ง” หมายถึง ที่สุดแห่งความลึกเว้าของซอกเขา ในที่นี้คือในวงโอบของเขาหมากกับเขาแดง

.

เนื่องจากทิ้งระยะกันนานเกินไป จากในเหลิงพวกชาวบ้านต้องวกไปวนมา หาเส้นทางเดินของเจ้าวัวทองหลายตลบ จนกระทั่งพบรอย “จานเยี่ยว” ของมันเข้ารอยหนึ่ง จึงแกะรอยตามติดไปตามเส้นทางอันถูกต้องได้ต่อไป

.

บ้านจานเรียว

ที่เจ้าวัวทอง “จานเยี่ยว” แห่งนี้ ในสภาพภูมิประเทศปัจจุบันก็คือตรงที่ตั้งที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์นั้นเอง หมู่บ้านแถบนี้ชื่อหมู่บ้าน “จานเรียว” ว่ากันว่า “เยี่ยว” ถูกแปลงให้สุภาพเป็น “เรียว” ความหมายเลยวิบัติไปจากเดิม

.

ถึงตอนนี้ เห็นจะต้องทำความเข้าใจ “จาน” กันสักหน่อย “จาน” ที่ประกอบ “เยี่ยว” ไม่ได้หมายถึงภาชนะหรือคำกร่อนจาก “ประจาน” ที่บ่นถึงการประกาศความชั่ว “จาน” เป็นคำไทยโบราณที่ชาวปักษ์ใต้ออกเสียงใกล้เคียงสำเนียงภาคกลางอย่างที่สุด และยังใช้ติดปากอยู่ในความหมายเดิมไม่ลืมเลือน โดยแปลว่า “เจือด้วยน้ำ” เช่นหากคนภาคกลางพูดว่า “ขอน้ำแกงราดข้าว” คนปักษ์ใต้ก็จะพูดเป็น “ขอน้ำแกงจานข้าว” ใช้ “จาน” แทน “ราด” เพราะมันเป็นคำติดปาก ที่อำเภอร่อนพิบูลย์นี้ ยังมีทุ่งกว้างแห่งหนึ่งเรียกกันว่า “ทุ่งน้ำจาน” เพราะว่าทุ่งแห่งนั้นมีน้ำเอิบซึมเปียกอยู่เป็นนิจ

.

บ้านวัวหลุง

กลุ่มชาวบ้านตามวัวทองซึ่งบ่ายหน้าไปตะวันตกจนกระทั่งทัน และล้อมติดจับได้ที่บ้าน “วัวหลุง” อีกครั้งหนึ่ง “หลุง” คือคำกร่อนจาก “ถลุง” พวกชาวบ้านจับวัวทองได้ก็จัดแจงหาฟืนมาติดไฟขึ้นคิดจะเผาวัวเอาทอง หรือ “ถลุงวัว” ให้เป็นทองกันโดยไม่ชักช้า แต่ก็ไม่สำเร็จ วัวทองเจ้ากรรมหลุดไปได้ บ้าน “วัวหลุง”

.

วัวทองดิ้นหลุดมือมนุษย์ได้อย่างหวุดหวิดแล้วก็มุ่งกลับไปตะวันออก นัยว่าจะกลับวังน้ำของมัน แต่ชาวบ้านรู้จึงสกัดไว้ วัวทองบ่ายหน้าขึ้นเหนือ ในที่สุดก็ถูกล้อมจับได้อีกที่บ้าน “หลุงทอง” ครั้งนี้วัวทองถูกล้อมตีด้วยไม้กระบองสั้นยาวจนตาย แต่แล้วในขณะที่พวกชาวบ้านบ้างหาฟืนบ้านติดไปชุลมุนอยู่นั้นเอง เจ้าวัวทองซึ่งถูกรุมตีจนน่วมขาดใจตายไปแล้วกลับฟื้นขึ้นและเผ่นหนีไปได้อีก แต่พวกมนุษย์ก็ยังหายอมแพ้เดียรัจฉานวิเศษตัวนี้ไม่ กรูเกรียวกันตามกันต่อไปอีกอย่างไม่ลดละ ในที่สุดก็ไปถึงภูเขาสูงชันในถ้ำแห่งหนึ่ง วัวทองพรวดพราดเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งในเชิงภูเขานั้น ชาวบ้านก็ตามติดเข้าไปด้วย แต่เมื่อก้นถ้ำซึ่งทึบตัน เข้าไปทางไหนก็ต้องออกทางนั้นทุกซอกทุกมุม จนอ่อนใจไม่หาวัวทองตัวนั้นไม่ วัวทองสูญหายไร้ร่องรอยไปอย่างอัศจรรย์” เรื่องก็จบลงแต่เท่านี้

.

มีข้อสังเกตน่าสนใจเกี่ยวกับ “บ้านวังวัว” อยู่สองประการ อย่างแรกคือการมีทำเลอยู่ในกลุ่มชุมชนพราหมณ์โบราณเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ บ้านหนองแตน บ้านพระเพรง และบ้านแพร่ ละแวกนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น รวมถึงซากที่เข้าใจกันว่าเป็นเทวสถานหลายจุด สอดคล้องกับข้อสังเกตประการที่สอง คือเรื่องเล่าว่า เทวาลัยแห่งหนึ่งมี “วัวทองคำ” เป็นเครื่องมหรรฆภัณฑ์ นัยว่าจะนับถือเป็นโคนนทิพาหนะพระอิศวร ครั้นเมื่อห่าลงเมือง บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายได้อัญเชิญวัวทองจำเริญลงฝากไว้กับพระแม่คงคา ส่วนจะเป็นวัวเดียวกับที่มีในนิทานดังเล่ามาแล้วหรือไม่นั้น คิดว่าคงเข้าเค้าฯ

หญ้าเข็ดมอน ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

หญ้าเข็ดมอน
ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า
ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

 

เป็นเวลาสักระยะแล้ว ที่จ่อมจมอยู่กับปริศนาลายแทงโมคลาน ทวนสอบตัวเองดูอย่างจริงจังรู้สึกว่า ลึก ๆ ที่ย้ำคิดย้ำทำอยู่ตรงนั้น ก็เพราะอยากแก้ลายแทงเป็นเหตุหลัก แต่ด้วยความรับรู้เดิมที่ถูกกักขังไว้ว่า ลายแทงมักไม่มีใครแก้ได้ ส่วนที่แก้ๆ กันไปอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หมิ่นเหม่ว่าจะคลาดเคลื่อนเลื่อนลอย พลอยให้ต่างคนต่างแก้ไปนานา ลายแทงจึงยังคงเป็นอาหารอร่อย ที่เว้นแต่ผู้ปรุงแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ารสชาติแท้จริงเป็นอย่างไร

.

ลายแทงโมคลาน

ลองดู “ลายแทงโมคลาน”

ตามกันไปอีกครั้ง

 

“…ตั้งดินตั้งฟ้า

ตั้งหญ้าเข็ดมอน

โมคลานตั้งก่อน

เมืองนครตั้งหลัง

ข้างหน้าพระยัง

ข้างหลังพระภูมี

ต้นศรีมหาโพธิ์

ห้าโบสถ์หกวิหาร

เจ็ดทวาร

แปดเจดีย์…”

 

โมคลาน

ดูเหมือนว่าความในตอนท้ายจะคล้ายกับสารบัญนำชมศาสนสถานในข้างพุทธ อันประกอบด้วย พระศรีมหาโพธิ์ โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ส่วนถ้าจะยึดเอาวรรคนำเรื่องก็คงชี้ลงว่า ศาสนสถานที่กำลังแทงลายลงไปนี้ คือ “โมคลาน” ที่เมื่อครั้งผูกลายแทง คงมีสถานะเป็น “วัด” ในพระพุทธศาสนาแล้ว ส่วนคำว่า “แล้ว” ซึ่งห้อยท้ายอยู่นั้น ก็เพราะว่า วรรคนำเรื่องอย่าง “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” เป็นร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การมาแสดงเป็นข้อเท้าความอยู่ตรงนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า ลายแทงกำลังแสดงความหลงเหลืออยู่ของคติพราหมณ์ในความทรงจำชาวโมคลาน ซึ่งทำให้เห็นว่า พราหมณ์คงเป็นเจ้าของเดิมอยู่ก่อน จากนั้นพุทธจึงค่อยเข้าใช้สอยพื้นที่เป็นลำดับ

.

การสร้างโลกมีในคัมภีร์พราหมณ์ กล่าวว่าเป็นเทวกิจของพระพรหม ประเด็นนี้ ดิเรก พรตตะเสน ให้รายละเอียดว่า

“…โลกของเรานี้ พระพรหมผู้เป็นใหญ่ของพราหมณ์เขาเป็นผู้สร้าง

แรกก็สร้างน้ำก่อน สร้างน้ำแล้วก็ตั้งดินตั้งฟ้า

ต่อจากนั้นจึงหว่านพืชลงในดิน พืชอันดับแรก

คือที่เราเรียกหญ้าเข็ดมอนนี้เอง

พืชอันที่สองคือหญ้าคา อันดับที่สามหญ้าแซมไซ…”

.

หญ้าเข็ดมอน

ดินและฟ้าจะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ จะขอชวนให้ใคร่ครวญกันเฉพาะสามหญ้าในฐานะพืชแรกบนโลกตามคติพราหมณ์ เล่าว่า “…เมื่อคราวเทวดากวนเกษียรสมุทร ให้เป็นน้ำทิพย์สำหรับเทวดาจำได้กินกันให้เป็น “อมร” นั้น พญาครุฑฉวยโอกาสโฉบเอาน้ำทิพย์บินหนี ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องออกขัดขวาง ขณะที่รบชิงน้ำทิพย์กันอุตลุตบนท้องฟ้านั้น กระออมใส่น้ำทิพย์กระฉอก น้ำทิพย์กระเซ็นตกลงมายังโลกมนุษย์ เผอิญให้ถูกเอาหญ้าเข็ดมอน หญ้าคา และหญ้าแซมไซ…”

.
เหตุนี้จึงทำให้ความอมฤตไปเป็นเครื่องทวีความศักดิ์สิทธิ์ให้กับหญ้าทั้งสาม จากที่เป็นหญ้าที่เกิดก่อนพืชทั้งปวงบนโลกแล้ว ยังมีความ “ไม่ตาย” เป็นคุณวิเศษอีกชั้น ที่แม้น้ำจะท่วมโลกหรือเกิดไฟบัลลัยกัลป์เผาผลาญล้างโลกก็ทำอะไรสามหญ้านี้ไม่ได้

.

หญ้าคา:

โบราณเอามาถักเข้าเป็นเส้น

วงรอบเรือนหรือปริมณฑลที่ต้องการเป็นมงคล

กันผี กันอุบาทว์ จัญไรได้ทุกชนิด

.

หญ้าแซมไซ:

ยังค้นไม่พบสรรพคุณเฉพาะ

แต่ “เข้ายา” รวมกับอีกสองหญ้าได้

ว่ากันว่าหากต้มใช้กินประจำ

จะทำให้อายุยืน คงกระพันชาตรี

.

หญ้าเข็ดมอน:

โบราณนิยมเอารากมาถักสำหรับผูกข้อมือเด็ก

กันผีแก้แม่ซื้อรังควาญ

ต้มกินก็จะสามารถแก้พิษร้อนได้

.
การมี “หญ้าเข็ดมอน” เป็นบทนำของลายแทง จึงถือเป็นภาพสะท้อนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมของโมคลานได้อย่างหลวมๆ ว่า พื้นที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ที่อาศัยของบรรดาพราหมณ์ผู้มี “ภูมิ” ซึ่งนอกจากจะรู้พระคัมภีร์อยู่เฉพาะตนแล้ว อาจได้ถ่ายทอดสู่ศาสนิกโดยเฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยการสร้างโลกและสรรพสิ่งของพระผู้เป็นเจ้า ที่เอาเข้าจริงก็มีการกล่าวถึงการกำเนิดโลกและมนุษย์อยู่ในทุกศาสนา ความหมายเกี่ยวกับการสร้างโลกของแต่ละศาสนาจึงถือเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่กระทำในดินแดนโมคลาน พื้นที่ซึ่งปัจจุบันมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในละแวกที่ปรากฏเทวลัยอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์และครอบครองโดยวัดของพระพุทธศาสนา

.

บทกาดครูโนรา

ความจริงควรจะจบตรงนี้ แต่ด้วยว่าได้คัดเอาบทกาดครูโนราที่แสดงฉากสร้างโลกซึ่งมีการกล่าวถึงหญ้าเข็ดมอนมาด้วยแล้ว จึงขอส่งท้ายกับสิ่งที่ว่านั้น กับทั้งข้อสังเกตว่า “ผู้สร้าง” ในบทนี้เป็น “พระอิศวร” ต่างจากที่ร่ายมาข้างบน ซึ่งอาจทำให้เห็นว่า ไม่เฉพาะระหว่างศาสนาเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์ของการช่วงชิงความหมาย แต่ภายในเองก็มีสิ่งละอันพันละน้อยที่แทรกซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน กับที่ส่วนตัวเห็นว่าการผลิตซ้ำคติสร้างโลกของพราหมณ์ลงบนมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้ ควรค่ายิ่งแก่การค้นคว้าเพื่อสร้างชุดความรู้สู่สาธารณะ

.

ไหว้พระอิศวรพ่อทองเนื้อนิล

พ่อได้ตั้งแผ่นดินตั้งแผ่นฟ้า

พ่อตั้งแผ่นดินเท่าลูกหมากบ้า

ตั้งแผ่นฟ้าโตใหญ่เท่าใบบอน

พ่อตั้งสมุทรพ่อตั้งสายสินธุ์

ตั้งเขาคีรินทร์เขาอิสินธร

พ่อตั้งไว้สิ้นพ่อตั้งไว้เสร็จ

ตั้งหญ้าคาชุมเห็ดหญ้าเข็ดมอน

พ่อตั้งหญ้าคาเอาไว้ก่อน

หญ้าเข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

พ่อได้ตั้งพฤกษาตั้งป่าชะมัว

พ่อได้ตั้งบัวนาบัวครั่ง

เข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

พระจันทร์เดินกลางเดินกลางคืน

พระอาทิตย์งามชื่นเดินกลางวัน

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

สว่างฉันทั่วโลกชโลกา

พ่อได้ตั้งสิ้นตั้งสุด

ตั้งเหล่าชาวมนุษย์ไว้ใต้หล้า

พ่อตั้งหญิงคนชายคน

ให้เป็นพืดยืดผลต่อกันมา

พ่อตั้งนางเอื้อยให้เป็นเจ้าที่

พ่อตั้งนางอีเป็นเจ้านา

พ่อตั้งนายคงเป็นเจ้าดิน

พ่อตั้งนายอินเป็นเจ้าป่า

พ่อตั้งนายทองเป็นเจ้าแดน

ตั้งนายไกรพลแสนเฝ้ารักษาฯ

วัดเจ้านคร ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

วัดเจ้านคร
ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

ความจริงไม่ใช่ครั้งแรกที่แวะเข้ามา
แต่ความรู้สึกยังเหมือนครั้งก่อนนั้น
คือไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่าเดิม

.

คำว่า “เจ้านคร” นี้ ทำให้ปฏิเสธได้ยากว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเมืองนคร และพระองค์เดียวที่มีสถานะเป็นเจ้าในยุคที่ยังคงตกค้างชื่อเรียกว่าอย่างนั้นอยู่ก็ได้แก่ “พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” ผู้ผ่านฟ้าเมืองนครในสมัยกรุงธนบุรี

.

เรื่องพระเจ้านครศรีธรรมราชนี้เป็นที่น่าค้นคว้าและสนใจอยู่มาก จนถึงกับได้ตั้งชื่อหนังสือไว้ตามพระนามนั้น แต่ก็ยังหากำหนดคลอดไม่ได้ ด้วยค้างมืออยู่หลายสิ่ง กับดูเหมือนว่าต้องตั้งหลักหาเอกสารอีกหลายฉบับ

.

วัดเจ้านคร

วัดเจ้านครนี้ ว่ากันว่าเจ้านครทรงสร้างเมื่อครั้งถูกตามตัวจากปัตตานีให้ขึ้นมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่พลับพลาตำบลแหลมสน มีกำหนด ๑ เดือนก่อนเสด็จนิวัต เจ้านครเห็นว่าการที่ทรงพระกรุณาให้พ้นราชภัยในครั้งนั้นเป็นบุญแก่ตัวและวงศ์วาน จึงได้อุทิศถวายสร้างวัดแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์

.

เดี๋ยวนี้เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมถนนท่าช้าง – อ่างเก็บน้ำกระเสียว หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีพระอธิการสมชาย สุจิตโต เป็นเจ้าอาวาส

.

ภายในรั้วรอบขอบชิด มีพระอุโบสถหลังหนึ่งตั้งอยู่บนลูกควน เพิ่งผ่านงานผูกพัทธสีมาไปเมื่อ ๘ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ชานควนมีศาลาไม้หลังงาม คงเป็นสถานเก่าสุดในบรรดามี ข้างกันมีโรงธรรมถือปูนใต้ร่มไม้ กับหอบูรพาจารย์ มีสมเด็จเจ้าพะโคะเป็นประธาน พ่อท่านคล้าย สมเด็จฯ โต พระครูวิจารณ์ศาสนกิจ (เลื่อน ปานังกะโร) และตาปะขาวชีหนึ่ง ตีนควนเป็นสังฆาวาสกับพื้นที่ใช้สอยเป็นฮวงซุ้ยจีนและเปรวไทย

.

ไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ร่มรื่น แถวต้นพิกุลคงเคยทำหน้าที่รั้ววัดมาแต่เดิม ถามทุกคนที่พบไม่มีใครทรงจำและรับรู้ไปมากกว่านี้ เห็นคงจะมีก็แต่สะตอต้นหนึ่งเท่านั้น ที่โยกหัวโหม้งไปมาตามแรงลม ประหนึ่งจะเย้าว่า เท่านี้ก็ถมไปแล้วไอ้นุ้ยเหอ

.

พระเจ้านครศรีธรรมราช

ย้อนไปสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

.

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย
.

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)
.
นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร
.
สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย
.
มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
.
พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่
.
นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช
.
อาจแปลรวมความได้ว่าพระเจ้านครศรีธรรมราชพระองค์นี้เป็น “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

.

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”
.
ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

.

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิมฯ

 

ตำนานร่อนพิบูลย์: พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

ตำนานร่อนพิบูลย์:
พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

เมื่อแรกขึ้นล่องด้วยรถไฟ มักเลือกที่นั่งให้ติดหน้าต่างไว้เสมอ ทัศนะตอนมองออกไประหว่างโดยสารอยู่บนราง ทำให้สองข้างทางดูคล้ายภาพที่กำลังถูกดอลลี่ ส่วนเพลงประกอบและคำบรรยายแล่นแปลบปลาบอยู่แล้วในหูในหัวตามนิสัยพวกมีจินตนาการสูง

.

เส้นทางรถไฟสายแยกจากเขาชุมทองขึ้นไปจนสุดที่นครศรีธรรมราชนั้น ว่ากันว่าเป็นคุณอันประเสริฐของท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าเมื่อสถิตที่พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สองฟากยังเพียบพร้อมดีด้วยรอยเจริญแรกนั้นกับที่ตกค้างอยู่ก่อนหน้า ทั้งชุมชน โรงเรียน และวัดวาอาราม

.

วัดหนา

วัดหนา อยู่ในเขตหมู่ที่ ๕ ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีชื่ออย่างไทยๆ ว่า “วัดสระแก้ว” คำว่า “หนา” นี้ ได้ความจากพระครูปลัดธงชัย วิปุโล เจ้าอาวาส ว่ามาจากรูปการณ์ที่มีคนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น

.

ท่านครูยังเล่าต่อไปอีกว่า บริเวณตั้งวัดนี้เป็นโคกสูง แต่ก่อนเป็นที่รกร้างช้างนอนมีน้ำรอบ คลองโคกครามเป็นเส้นสัญจรหลักเข้านอกออกใน มีเขามหาชัยเป็นหัวท่ากับทะเลหลวงเป็นปากบาง ดูเหมือนว่าคลองมีชื่อนี้จะเป็นที่มาของตำนานคู่วัดเสียด้วย

.

เล่าว่า สองเจ้าฟ้าพระนามลำลองว่าวิเวกและวิวง หนีราชภัยเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าไสยลือไทผู้พระราชบิดาลงสำเภาใช้ใบมาจนถึงอ่าวนครศรีธรรมราช ล่องขึ้นไปจนถึงอู่ตะเภาแล้วแยกลงโคกคราม

.

ครั้นเห็นตำบลหนึ่ง เป็นที่สัปปายะสถานก็ผนวชบวชพระองค์ลงทรงศีล ส่วนเจ้าฟ้าวิวงผู้น้องล่องไปตะวันออกต่อแล้วจึงเลือกดอนหนึ่งขึ้นกอปรกิจเดียวกัน

.

เจ้าฟ้าทรงจระเข้

ลือกันติดปากจนเดี๋ยวนี้ ว่าพระน้องพระพี่เมื่อจะไปมาหาสู่กันนั้น ต่างกำหนดจิตเรียกเอาพระยากุมภีลชาติขึ้นมาเป็นพาหนะ ด้วยว่าคลองโคกครามนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกคลอง คือเป็นที่อาศัยของจระเข้ และดูเหมือนว่ายิ่งใกล้บ้านเรือนผู้คนก็ยิ่งชุกชุม บุญญานุภาพที่ต่อปากกันไปในเรื่องนี้ ทำให้ทั้งสองพระองค์เป็นที่เคารพนับถือโดยดุษณี

.

ท่าน้ำหน้าบ้านต่างผูกกระดิ่งไว้ เมื่อเจ้าขุนดำจระเข้ทรงว่ายไปถึงก็จะกระทบกระแทกพอให้กระดิ่งสั่นเป็นสัญญาณว่าเสด็จออกรับบิณฑบาตถึงหน้าเรือนแล้ว ส่วนเมื่อฤดูแล้งเล่ากันว่าทรงเสือ แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีอะไรเป็นสัญญาณ คงเป็นเสียงคำรนอ่อนๆ ในลำคออย่างวิสัยแมวใหญ่กระมัง

.

โพธิ์พุ่มหนึ่งเล่าว่าเคยเป็นที่ปักกลดทรงศีล แต่แรกเป็นต้น “บองยักษ์” เมื่อตายลงโพธิ์และไทรขึ้นโอบแทน โบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระประธานองค์หนึ่ง กับองค์ปูนปั้นขนาดย่อมอีก ๔ มีแผ่นสังกะสีจารึกว่าซ่อมใหญ่หลังพายุแฮเรียต

หน้าโบสถ์มีพระเจดีย์งามอยู่สามองค์ หัวนอนย่อมุมว่าเป็นที่เก็บกระดูกเจ้าขุนดำจระเข้ทรง องค์กลางทรงพระอัฐิเจ้าฟ้าวิเวกเป็นอย่างพระธาตุนครแต่เอวคอดไร้เสาหาน เบื้องตีนนอนรักษาเถ้าอังคารของพระอุปัชฌาย์ทัด

.

พระลากสองกษัตริย์

มรดกตกทอดสำคัญคือพระลากคู่ขวัญ มีชื่ออย่างทางการว่า “พระพุทธชัยมงคล” เล่าว่าแรกนั้นมีอยู่ ๓ ทอง ๑ เงิน ๑ สำริด ๑ องค์ทองเสด็จโดยสารรถไฟไปวัดพระมหาธาตุเสียนานแล้ว องค์สำริดทรงเทริดถมเงินอย่างนคร องค์เงินหล่อตันทั้งองค์ มีจารึกฐานระบุบอกว่าหลวงพรหมสุภา สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

.

ฟังไปเพลินไป ประเด็นที่ค้างใจเก็บตั้งไว้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว เช่นว่า เส้นทางน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับนครศรีธรรมราช ตัวตนของเจ้าฟ้ามีชื่อทั้ง ๒ วัดพี่ – วัดน้อง และสถาปัตยกรรมที่พบ เป็นอาทิฯ

สังเกตไหม ? ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช น้ำไม่เคยท่วมถึง

สังเกตไหม ?

ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

น้ำไม่เคยท่วมถึง

 

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต
.
เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์
.
แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล
.
ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”
.
บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?
.
น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง
.
สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
.
พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้
.
มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน
.
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต
.
ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”
.

น้ำท่วมนครศรีธรรมราช

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลงฯ

“เพลงบอก” ทอกหัวได บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี

“เพลงบอก” ทอกหัวได
บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี

 

ผ่านหูบ่อยครั้งว่า “เพลงบอก” มีที่มาสองกระแส หนึ่งว่ามาจากกิริยาบอกศก บอกนักษัตร บอกลักษณะนางสงกรานต์ อีกข้างว่ามาจากนามเต็มคือ “กระบอก” ก่อนจะกร่อนเหลือ “บอก” ตามวิสัยชาวเรา แล้วเรื่องก็ห้วนอยู่เทียมนั้น

.

เพลงบอก

รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เล่าความไว้ในหนังสือตำนานการละเล่น และภาษาชาวใต้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับวรรคแรกท่านตั้งชื่อว่า “เพลงบอก การละเล่นที่กำลังจะสูญ”

.

เมื่อแรกไปรำโนราที่ปัตตานี ได้ยินลูกคู่รับบทเพลงทับเพลงโทนแบบเดียวกับที่ทอยเพลงบอก ตั้งข้อสังเกตไว้เดี๋ยวนั้นว่า เพลงบอกนี้ต้องแสดงความสัมพันธ์อะไรบางประการระหว่างชุมชนในรัฐโบราณเป็นแน่ รอยจางๆ ข้างปัตตานี อาจเป็นเค้าลางในประเด็นนี้ได้อย่างดี

.

“คณะเพลงบอกมีอย่างน้อย ๖-๗ คน

ประกอบด้วยแม่เพลง ลูกคู่

เครื่องดนตรีมี ฉิ่ง กรับ ปี่ ขลุ่ย และทับ”

.

วรรคนี้ของ รศ.ประพนธ์ฯ ทำให้ผุดภาพลูกคู่โนราขึ้นมาเทียบเคียง กับอีกอันคือเคยได้ยินว่ามีการแสดง “เพลงบอกทรงเครื่อง” เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งภาพที่ผุดและข้อความที่ยกมา เข้าใจว่าคงออกรสไม่ต่างกันนัก เว้นเสียแต่เสียงกลองและโหม่ง ข้อนี้แสดงเส้นเวลาอย่างหยาบและพลวัตของเพลงบอกที่ชวนให้ต้องศึกษาต่อ

.

แปดบท

ในเล่มแสดงผังไว้แต่ไม่ได้ระบุชื่อฉันทลักษณ์ ด้วยเหตุที่จับด้วยฉันทลักษณ์ในหลักภาษาไทยใดไม่ลง จึงจะตู่เอาตามที่เคยได้ยินมาอีกว่าเป็นฉันทลักษณ์ที่เรียกกันในนครศรีธรรมราชว่า “แปดบท” อย่างเดียวกับที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ให้นายเรือง นาใน นั่งท้ายช้างขับไปตามระยะทางตีเมืองไทรบุรีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แปดบทนี้ก็น่าสนใจใช่ย่อย ว่ากันว่าเป็นการละเล่นโต้ตอบแบบด้นสดกันไปมา ว่าแล้วก็ช่างมาคล้ายกับความทรงจำของหลายคนถึงการประชันปฏิภาณของเพลงบอกชั้นครูอย่าง “ปานบอด-รอดหลอ” และ “ปานบอด-เพลงบอกรุ้ง” ที่ รศ.ประพนธ์ฯ ยกในเล่มว่า

 

เพลงบอกปาน – เพลงบอกรุ้ง

เพลงบอกรุ้ง:

เราเปรียบปานเหมือนชูชก

มันสกปรกอยู่กลางบ้าน

เรื่องหัวไม้ขอทาน

ใครใครไม่รานหมัน

.

คนด้นเขาไม่เกรง

สำหรับนักเลงทุกวัน

แต่ว่าคนด้านเหมือนปานนั้น

ถึงฉันก็เกรงใจ

.

พัทลุงเมืองสงขลา

ตลอดมาถึงเมืองนคร

ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อน

คนอื่นไม่พักไขว่

.

เพราะมันเป็นเชื้อพงศ์ชูชก

มันสกปรกจนเกินไป

จะไปที่ไหนเขาทั้งลือทั้งยอ

เรื่องที่หมันขอทาน

.

เพลงบอกปาน:

ฟังเสียงรุ้งคนรู้

พิเคราะห์ดูช่างหยิบยก

(ขาดวรรค)

.

เป็นชูชกก็รับจริง

เพราะว่ายิ่งเรื่องขอทาน

ทั้งพี่น้องชาวบ้าน

ทุกท่านก็เข้าใจ

.

แต่จะเปรียบรุ้งผู้วิเศษ

ให้เป็นพระเวสสันดร

ปานชูชกเข้ามาวอน

รุ้งให้ไม่เหลือไหร

.

ทั้งลูกทั้งเมียและเหลนหลาน

ครั้นชูชกปานขอไป

จะขอสิ่งใดรุ้งนาย

แกต้องให้เป็นรางวัล

.

เพลงบอกรุ้ง:

ก็ไม่เป็นพระเวสสันดร

เพราะจะเดือดร้อนที่สุด

กูจะเป็นนายเจตบุตร

ที่ร่างกายมันคับขัน

.

ควยยิงพุงชูชก

ที่สกปรกเสียครัน

ถือเกาทัณฑ์ขวางไว้

มิให้หมึงเข้าไป

.

เพลงบอกปาน:

ดีแล้วนายเจตบุตร

เป็นผู้วิสุทธิ์สามารถ

เป็นบ่าวพระยาเจตราช

ที่เขาตั้งให้เป็นใหญ่

.

ถือธนูหน้าไม้

คอยทำลายคนเข้าไป

เขาตั้งให้เป็นใหญ่

คอยเฝ้าอยู่ปากประตูปาน

.

คนอื่นมีชื่อเสียง

เขาได้เลี้ยงวัวควาย

แต่เจตบุตรรุ้งนาย

เขาใช้ให้เลี้ยงหมาฯ

.

มุตโต

เชาวน์ไวไหวพริบชนิดปัจจุบันทันด่วนนี้ ในวงศิลปินเรียกกันว่ามุตโต เข้าใจว่าหากแปลตามบริบทการใช้งานว่าคือการใช้ความสามารถในการแสดงแบบไม่ต้องเตรียมตัว ร้องกลอนกันสดๆ เล่นสด รำสด รากศัพท์เดิมของคำนี้คงมาจากภาษาบาลีว่า “มุทโธ” อันแปลว่า ศีรษะหรือเหงือก การแสดงชนิดด้นกลอนสด รำสด จึงบ่งบอกถึงการใช้ “ศีรษะ” อวดสติปัญญาและความสามารถของผู้แสดงกระมัง ที่สำคัญคือ จะเห็นว่าในการเปรียบเปรยนั้น ศิลปินต้องมีภูมิรู้ในเรื่องราวนั้นๆ อย่างดีและแตกฉานจึงจะสามารถแก้แง่ที่ถูกตั้งขึ้นให้คลายได้อย่างงดงาม

.

นอกจากบทเพลงบอกที่จำและถ่ายทอดกันมาแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง ได้กรุณาเล่าผ่านช่องแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คว่า “สมัยเด็กมีเพลงร้องตลกๆ กันว่า “เพลงบอกมาทอกหัวได มดคันข็อบไข หวาไหรเพลงบอก””

.

ตานี้มาที่ชื่อของ “เพลงบอก” เดิมส่วนตัวเทไปข้าง “บอกศักราช” มากกว่า “กระบอก” แต่ถัดนี้ไปอาจกลับลำด้วยจำนนต่อข้อมูลของ รศ.ประพนธ์ฯ บวกเข้ากับรูปการณ์บางอย่าง ดังจะได้กล่าวต่อไป

.

“คณะเพลงบอกจะมีกระบอกไม้ไผ่นัยว่าบรรจุน้ำมนต์ (อาจจะเป็นเมรัยก็ได้) ถือไปในวงด้วย…พวกเพลงบอกจะนำกระบอกไม้ไผ่ ไปกระแทกกระทุ้งตรงบันไดบ้าน เพื่อปลุกเจ้าของบ้านให้ตื่น ถ้ากระบอกแตกที่บ้านใด ถือว่าปีใหม่นั้นเจ้าของบ้านซวยตลอดปี”

.

วรรคของ รศ.ประพนธ์ฯ นี้ มาขมวดเข้ากับรูปการณ์เท่าที่สังเกตได้ ๒ อย่าง หนึ่งคือการเรียกการแสดงเพลงบอกว่า “ทอก” ซึ่งคืออาการพรรค์อย่างเดียวกับกระทุ้งที่ท่านว่า กับสองคือสำนวนที่คงค้างอยู่ในปัจจุบันที่ว่า “เพลงบอกทอกหัวได” ที่ช่างมาตรงกับขนบวิธีของนักเลงเพลงบอกแต่แรกนักฯ

นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา วรรณกรรมท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา

วรรณกรรมท้องถิ่น เมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น

เรื่องนายดั่น เป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่แต่งโดยขุนสิทธิ์ ขุนนางเวรเฝ้าศาลาว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าอาจร่วมสมัยกับนายเรือง นาใน กวีคนสำคัญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชทั้งคู่
.
ต้นฉบับที่แพร่หลายจัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๒๑ คัดจากหนังสืองานทำบุญฉลองอายุครบ ๖ รอบของนายเชวง ไชยานุพงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ พบที่วัดท่าเสริม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
.
เรื่องย่อมีอยู่ว่า นายดั่น ชายพิการสายตาแต่กำเนิด อาศัยอยู่บ้านปราจินกับบิดามารดาผู้มีทรัพย์มาก ว่ากันว่าเพราะกรรมเก่าที่เมื่อชาติปางก่อนเกิดเป็นเศรษฐี แต่เพิกเฉยต่อการทำบุญสุนทาน ถึงขนาดพระสงฆ์เดินบิณฑบาตผ่านต่อหน้าก็ไม่รู้ร้อน
.
นายดั่นเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดเชาว์ไวไหวพริบดีกว่าใครทั้งหมดในกลุ่มเพื่อน จะเพลงเสภาหรือบทโนรา นายดั่นเป็นจำได้ท่องได้หมด ไม่เว้นแม้แต่ดนตรีปี่กลอง ก็เชี่ยวชาญจนใครๆ ในย่านนับเอาว่าเป็น “นักเลง”
.
เมื่อวัยได้ ๓๐ ขวบปี ก็นึกอยากจะมีเมียไว้อยู่กินและปรนนิบัติตัว พ่อแม่แม้เมื่อแรกนั้นทัดทานด้วยเห็นว่าคนตาดีที่ไหนจะอยากได้คนตาบอดทำผัว แต่เมื่อถูกรบเร้าบ่อยเข้าก็ใจอ่อน ทราบความจากนายดั่นว่าไปหมายใจเอาไว้นางหนึ่ง คือลูกยายทองสา เป็นสาวกำพร้าพ่อ ชื่อนางไร
.
ยายอีทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่ไปเจรจา ก็สำเร็จตามประสงค์ ด้วยว่าฝ่ายเจ้าสาวไม่รู้ความว่านายดั่นนั้นตาบอด
.
การสู่ขอ พิธีหมั้น และแต่งงาน ถูกรวบรัดให้กำหนดไว้ในวันเดียวกัน นายดั่น ครั้นจะว่าไปแล้วหากมองภายนอกก็เหมือนคนตาดีทั่วไป เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยไร้พิรุธก็จึงต้องทำทีเป็นคนปกติเสียอย่างขัดไม่ได้
.
แม้จะฉลาดเพียงใด แต่สถานที่อันไม่เคยไปก็ทำให้นายดั่นประหวั่นพรั่นพรึงเอาการ แล้วปฏิภาณของเขาก็เริ่มถูกกระตุ้นให้ใช้ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นว่า บ้านแม่ยายยกใต้ถุนสูง ในระหว่างที่คนอื่นๆ ขึ้นเรือน นายดั่นกลับมุ่งไปใต้ถุน เมื่อมีผู้ร้องทัก ก็บอกปัดไปว่าคนบนเรือนนั่งอยู่มาก กระดานเรือนจะหักลง เมื่อขึ้นได้บนเรือนก็ลงนั่งที่นอกชาน แก้ว่าเหยียบขี้ไก่ไม่กล้าเข้า เป็นต้น
.
นางไร ไม่เกิดเฉลียวใจสิ่งใดแก่นายดั่นแม้แต่น้อย ด้วยว่านายดั่นได้ขอให้อ้ายเหล็กหลานชายอยู่กับตัวคอยดูแล อ้ายเหล็กนำทางไปสำรวจนอกในจนทั่วบริเวณและถูกกำชับให้อยู่ติดตัวนายดั่นไว้ตลอดเว้นแต่ตอนนอน
.
ในระหว่างอยู่กินกันปีหนึ่ง เกิดเรื่องให้เสียวหลังวูบวาบหลายคราว แต่ก็เอาตัวรอดไปได้ทุกครั้งทั้งเล็กใหญ่
.
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อถึงทีจะกินหมากแต่คลำหาปูนไม่เจอ นางเมียนั่งทอหูกอยู่ใต้ถุน อ้ายเหล็กไม่อยู่ใกล้มือ ร้องถามก็ได้ความว่าอยู่ปลายตีน ครั้นควานแล้วควานอีกยังไม่พบ ก็บริภาษเสียงดังไปนานา คำสำคัญแทงใจดำคือ “ถ้าใครมาหาพบ ตบสักทีกูมิว่า ให้ยีที่หนวยตา ให้ฟ้าผ่าไม่น้อยใจ”
.
นางไรด้วยความโมโห เมื่อขึ้นถึงเรือน เห็นปูนห่อใบไม้วางอยู่ก็ควักเอาไปขยี้ที่ดวงตาตามคำท้าทันที ข้างนายดั่นได้ช่อง จึงร้องโอดโอยร่ำไห้ปริเทวนาการไปสารพัน
.
ถึงทีจะหมดกรรมของนายดั่น เมื่อนางไรเที่ยวหายาจากทั่วสารทิศ จนได้ยาผีบอกของพ่อตาหมอบัวศรี สัปเหร่อชาวหัวไทร เข้ารักษา ตาที่บอดสนิทอันที่จริงก็แต่กำเนิดนั่นแหละก็มาหายเอาเมื่อวัย ๓๑ ด้วยปัญญากับยาผี
.
เรื่องเล่าไปต่อว่าสิบปีต่อมานายดั่นและนางไรต่างทำมาค้าขายได้กำไรร่ำรวย มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง เป็นชาย ตั้งชื่อว่าทองดึง แล้วจึงนายดั่นผู้เป็นพ่อลาเมียลาลูกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
.
เรื่องนายดั่นนี้ เห็นจะใช้เป็นหนังสือสวดอ่านกันในวัด กับบ้านเรือนผู้รู้หนังสือ และจำกันต่อไปเป็นมุขปาฐะ คงจะมีสำนวนแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่นแต่ก็ยืนโครงเรื่องเดียวกัน สื่อไปในทางจะสอนใหรู้จักวิบากกรรมในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
.
นอกจากข้อคิดที่ได้ วรรณกรรมฉบับนี้ยังสะท้อนวิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะเรื่องของการแต่งงานได้อย่างดี เช่น ความเชื่อก่อนแต่งที่ต้องมีการ “บูนทาย” หมายถึงการทำนายดวงชะตาว่าสมพงหรือปฏิปักษ์ หรือเมื่อส่งตัวเข้าหอในช่วง ๓ คืนแรกห้ามเสพกามคุณ ชายต้องนอนสีหไสยาตะแคงขวา หันหัวไปทิศหัวนอน หันหน้าทางตะวันออก เป็นต้น
.
นายดั่นเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องแรกที่อ่านจบในมือเดียว เพราะส่วนใหญ่จะสแกนหาเฉพาะสิ่งหรือท่อนที่จะต้องใช้งาน คราวนี้คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะประวัติศาสตร์สามารถศึกษาได้ผ่านวรรณกรรม
.
เมื่อบรรพกวีต่างสร้างสรรค์ผลงานออกมาจากสิ่งที่นึกคิดและพบเห็น ใดใดที่เกิดไม่ทันเห็นและเขลากว่าจะนึกคิด ก็ขอคารวะทุกดวงจิตวิญญาณเหล่านั้นเพื่อได้โปรดเป็นสรณะมาโดยนัยนี้ฯ

พญามือเหล็ก พญามือไฟ: ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

พญามือเหล็ก พญามือไฟ
ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

 

ครูหมอโนรา

ในชั้นนี้จะเว้นการนิยามคำว่าครูหมอกับตายาย

เพราะส่วนตัวเชื่อว่าหากสืบขึ้นไปลึกๆ

คงพล่ายกันแยกไม่ขาด

.

ห้วง ๑๕ วันตามความเชื่อ

ตั้งแต่แรกรับตายายมาในวันแรมค่ำ ๑ เดือนสิบ

บังเอิญให้ใคร่จะอ่านพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ในความหนา ๘๐๐ หน้า

จึงตั้งใจว่าจะแค่กวาดสายตา

หาคำว่า “นครศรีธรรมราช” เป็นพื้น

.

ยังไม่ทันถึงที่หมาย ภารกิจที่ว่าก็เสร็จเสียก่อน

เลยเปิดเล่นไปมา อ่านทวนแต่ละเรื่องเพื่อสอบความ

.

ความจริง

เคยมีแรงบันดาลใจให้ค้นเรื่องทำนองนี้แล้วครั้งหนึ่ง

จากเล่มเดียวกันนี้

คราวนั้นพบตำแหน่งมหาดเล็ก

ปรากฏในชื่อขุนนางวังหลวง ฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า

“หลวงนายศักดิ์ หลวงนายสิทธิ์ หลวงนายฤทธิ์ หลวงนายเดช”

ซึ่งก็ไปช่วยคลี่คลายบางอย่าง

เกี่ยวกับชื่อบุคคลที่ปรากฏอยู่ในบทกาศครูของชาตรี

“แต่แรกพ่อเป็นหลวงนายฯ”

แม้คำตอบที่ได้จะเป็นเพียงการยืนยันการมีตัวตน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาตรีกับราชสำนัก

เป็นอะไรที่อาจสาวความไปได้จากจุดนี้

.

เช่นเดียวกัน

พญามือเหล็ก และ พญามือไฟ

ก็ปรากฏในบทกาศครูของชาตรีว่า

“ไหว้(พ)ญามือเหล็ก(พ)ญามือไฟ

จะไหว้ใยตาหลวงคงคอฯ”

.

ทั้งสองพญามีชื่อ

ก็ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ว่ามีชีวิตในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช

เป็นแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต

มีบทบาทสำคัญในศึกชิงเมืองพระพิษณุโลก

.

อย่างที่กล่าวแล้วว่า

นอกจากความนี้จะยืนยันตัวตนประการหนึ่ง

ความสัมพันธ์ของพื้นที่ต้นขั้วกับแหล่งวัฒนธรรมปัจจุบัน

เป็นเรื่องน่าสนใจ

การตกค้างผูกพันอยู่กับความเชื่อในฐานะบรรพชน

ทำให้เชื่อได้ว่าคนลาวกับชาวใต้

มีการยักย้ายถ่ายเทสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ

มานานแล้วตั้งแต่อดีต

ก่อนที่ความลาว ความไทย และความใต้

จะมาแยกเราขาดจากกัน

.

บทความอันนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างคร่าวๆ

ระหว่างนั่งรถกลับนคร

ไม่มีอะไรเป็นสรณะนอกจากหนังสือเล่มที่ว่า

ขอบพระคุณความเห็นจากกัลยาณมิตร ดังนี้

.

พี่สุรพงศ์ เอียดช่วย

“หวังว่าซักวันหนึ่ง

เราจะสืบค้นระบุการมีตัวตนของครูต้นได้ชัดเจน

ว่าท่านคือผู้ใดบ้างในห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

.

ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา

“ลอง search ดู เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ครับ

พระญาข้อมือเหล็ก สมัยหริภุญไชย

น่าจะปรากฏอยู่ใน ตำนานมูลศาสนา ถ้าจำไม่ผิด

ที่ลำปาง ก็มี เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

ส่วนเชียงใหม่ มีศาลเจ้าพ่อแขนเหล็ก

อยู่บริเวณที่เคยเป็นวังพระญามังราย กลางเมืองเชียงใหม่ ครับ

อาจจะเป็นตำแหน่งที่มีมาแต่เดิมในยุค ทวารวดี

เพราะ พระญาข้อมือเหล็ก เป็นตำแหน่งเสนาบดี

คู่พระญาบ่อเพ็ก ของพระนางจามเทวี ที่มาจากละโว้ ครับ”

.

ดร.วิทยา อาภรณ์

“จำได้ว่าที่ภาคเหนือพบเจ้าข้อมือเหล็ก

พญาข้อมือเหล็กเป็นผีชั้นสูงประจำพื้นที่ ผีขุนน้ำบ่อยเลย ชาวบ้านเลี้ยงประจำปี

น่าคิด มีเวลาน่าขยายจริง ๆ รูปแบบภาษา ประเพณี บ้านเรือน ยังพอให้สืบได้ ช้าไปก็ยิ่งจาง”

.

แต่คิดดูแล้ว เรื่องนี้เป็นประโยชน์

อย่างน้อยก็ในระดับความเข้า(ไปใน)ใจ

กับทั้งเป็นเครื่องพยุงศรัทธาของลูกหลาน

เพื่อยืนกรานสิ่งที่เรียกว่า “ความกตัญญู”

แม้ในชีวิตจริง เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน

เพราะถ้าปลายทางแจ้งอยู่กับใจ

ก็ใช่ว่าจะต้องเที่ยวใส่บ่าแบกหามภาระใดให้หนักตัว

 

ปล. การเทครัวปากเหนือลงมาปากใต้สมัยพระราเมศวรคงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องตามต่อ
ขอบพระคุณภาพปกจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จำหน่ายในหมู่ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๑

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว
ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ประเพณีชักพระ

หลังจากได้ฟังที่มาของประเพณีชักพระจากผู้ร่วมเสวนาทั้ง ๒ ท่าน ผู้เขียนก็เปิดประเด็นด้วยการลองตั้งข้อสังเกตดูเล่นๆ ไว้ เป็นหลายขยัก เช่นว่า คำถามที่ควรจะมีกับประเพณีชักพระอาจต้องต่อออกไปอีก ๒ ข้อ จากที่ตั้งลูกขี้ไว้ที่ ชักพระทำไม ? เพิ่มด้วย ชักอย่างไร ? และ ชักแล้วจะได้อะไร ? ขยักต่อมาเป็นรอยที่เห็นเติมขึ้นเป็นสาม คือ พราหมณ์ พุทธ และพื้นถิ่น สุดท้ายคือขยักเรื่องวาระและเวลาในการชักที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่เดือนสิบเอ็ด แรมค่ำ อย่างที่เราเคยเข้าใจไว้

.

เมื่อฟังว่าไอเดียของชักพระมาแต่พิธีแห่เทพเจ้าของพราหมณ์ ก็พลอยทำให้เป็นข้อมูลไปสนับสนุนว่า แต่เดิมเรื่องของหมุดเวลาคงยืดหยุ่นไปตามบริบทด้วย คล้ายกับที่พราหมณ์จะอารตีเทพเจ้าพระองค์ใดก็ต้องเนื่องมาจากฉากในเทพปกรณัมของเทพเจ้าพระองค์นั้น ๆ ตานี้เมื่อคนพื้นเมืองยังนับถือผีและธรรมชาติอยู่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า หมุดหมายของเวลาที่จะแห่พระจึงต้องขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ การผลิช่อออกรวงของบรรดาผลอาสิน หรือฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นต้น ตรงส่วนนี้เองทำให้เราพอเห็นเค้าลางของการลากพระเดือนห้า และเมื่อคืนก่อนที่เพิ่งได้ยินมาจากท่านอาจารย์เฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตอนสัมภาษณ์ความทรงจำว่าด้วยเรื่องลากพระ ท่านก็เปรยว่า เดือนสิบสองตอนน้ำทรง สมัยเด็กยังเคยเห็นเรือพระลอยลำอยู่กลางน้ำ ซึ่งไม่ได้เป็นการค้างไว้จากเดือนสิบเอ็ด แต่เป็นการชักลากออกมาในเดือนสิบสองเพื่อส่งน้ำ ลากพระจึงยืดหยุ่นได้ตามเป้าประสงค์ของคนและเจตจำนงของการลาก

.

ความสนุกอยู่ตรงที่ เราจะเริ่มเห็นเส้นเวลาคร่าว ๆ ของชักพระ

จากรอยพรามณ์ ถึงคนพื้นเมือง แล้วมาสู่วิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้

รอยพราหมณ์ ก็จากเค้าโครงของพิธีกรรมการแห่เทพเจ้า

มาถึงคนพื้นเมือง ก็ที่เชื่อมเอาธรรมชาติเข้าไปผูกโยง

ส่วนวิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้ ก็คือการสร้างชุดความรู้ว่าด้วยการจำลองพุทธประวัติฉากเสด็จจากดาวดึงส์ไปเป็นความหมายให้กับประเพณี

.

ทั้งสามส่วนนี้ จะมีส่วนของคติชนเข้าไปจับ แต่ถ้าจะลองเลาะออกให้เห็นเพียงแค่ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันดูอย่างสามัญๆ เลย ก็ให้ความน่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าลองเอากรอบของพิธีกรรมออก เราก็จะเห็นทักษะในการเคลื่อนย้ายสิ่งของของมนุษย์ ชักพระบก คือการเคลื่อนย้ายพระไปทางบก ชักพระน้ำก็คือการเคลื่อนย้ายไปทางน้ำ พออธิบายมาถึงตอนนี้หลายท่านคงนึกขึ้นได้หรือไม่ก็เคยผ่านตาข้อมูลการชะลอพระพุทธรูปสำคัญจากกรุงเก่าลงมากรุงเทพ อันนั้นก็ถือว่าลากพระ ที่เอกสารโบราณเรียกอาการอย่างนั้นว่า “ชัก”

.

ตานี้ในปัจจุบันจะมาเป็น “ลาก” หรือกำลังมีการถกกันว่าควรใช้คำใด อันนี้ก็สุดแท้แต่จะมีฉันทามติ  เพราะฝ่ายที่ใช้ “ชัก” ก็จะมีหลักฐานจากปากคำที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนฝ่าย “ลาก” ก็อ้างอิงจากคำเรียก “พระลาก” จึงว่าควรเป็น “ลากพระ” แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ในภาษาพูดเดี๋ยวนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังใช้ปนกันอยู่ รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็ตาม

.

ตานี้กลับมาที่ ชักพระที่ไม่ได้เนื่องในประเพณีกัน โดยจะขอละของทางภูมิภาคอื่นไว้ ที่นครศรีธรรมราชมีหลักฐานฉบับหนึ่งเป็นพระราชหัตเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร ซึ่งถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ กล่าวถึงการเชิญพระบรมราชาไว้อย่างน่าสนใจว่า

.

“เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘ เวลาบ่ายได้ขับรถไปตามถนนรอบกำแพงเมือง ไปนั่งมุขพระธรรมศาลา ในวัดพระบรมธาตุ ดูแห่พระพุทธรูป ซึ่งเรียกว่าพระบรมราชา พระนั้นได้เชิญขึ้น “บุษบกวางบนตะเค่” ให้คนฉุดมา คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง พระองค์นี้มีชื่อเสียงว่าปฏิบัติสับประดนต่างๆ มีขึ้นล่วงเรือนเขาบ้าง ขึ้นหาลูกสาวเขาบ้าง ตามเรื่องว่าไล่กันมาถึงวัด เห็นผู้ร้ายหายเข้าไปในพระวิหารพระบรมราชา ผู้ที่ไล่วิ่งตามเข้าไปยังได้เห็นโคลนเปื้อนพระบาทอยู่ ถึงกับล่ามโซ่ไว้ ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ จึงจับตัวผู้ร้ายได้ เรื่องราวก็จบลง แต่ที่แลไม่เห็นนั้น คือเหตุไฉนจึงอุสาหะมีคนเชื่อได้ ดูไม่น่าเชื่อเลยว่าพระพุทธรูปจะเที่ยวเล่นซุกซนได้เช่นนั้น ฝ่ายเจ้าผู้เป็นต้นคิด ซัดพระพุทธรูปขึ้นด้วยนั้น ก็ควรจะยอมรับว่ามันช่างรู้อัทยาไศรยของเพื่อนกันดีจริงๆ”

.

ประเด็นที่เห็นจากบันทึกฉบับนี้ มีหลายประการ เช่นว่า

 

“บุษบกวางบนตะเค่”

อันนี้หมายถึง “พนมพระ” เหตุที่ไม่เรียกอย่างนั้นเพราะเข้าใจว่าไม่มีผู้ถวายรายงาน จึงทรงพรรณนาลักษณะไว้ตามที่ได้ทอดพระเนตรและทรงคุ้นเคย ข้อนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะแม้จะไม่ได้เห็นรูปพนมพระนั้น แต่ทำให้เข้าใจว่าครึ่งล่างคือ “ตะเฆ่” ที่ในพจนานุกรมออนไลน์หลายแหล่งให้ความหมายไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกันว่า “เครื่องลาก เข็น หรือบรรทุกของหนัก รูปเตี้ย ๆ มีล้อ ราง หรือเลื่อน,แม่แรงชนิดหนึ่ง” (LONGDO Dict) และครึ่งบนเป็นบุษบก

.

“คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ

บรรยากาศของการ “เอาบุญ” ร่วมกัน เห็นความคึกคักคึกครื้น เกลียวเชือกกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ใช้ “บุญ” เป็นเครื่องทลายเส้นแบ่งด้านเพศสภาพโดยสมบูรณ์

.

“เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง

.

ตำนานพระลาก

วรรคนี้อาจเป็นวรรคทองที่ทำให้เห็นว่าตำนานพระลากมีการใช้โครงเรื่องที่ใกล้เคียงกัน คือเริ่มที่เป็นของสำคัญสมบัติของชนชั้นสูงแล้วมีเหตุให้อันตราธาน จนไปพบในพื้นถิ่นใดพื้นถิ่นหนึ่ง บ้างก็ว่าผุดขึ้นกลางท้องไร่ท้องนา บ้างก็ว่าลอยน้ำ จากนั้นมีพิธีกรรมของคนพื้นถิ่นนั้นเพื่อเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ ที่อันควร แล้วถวายพระนามให้กับพระพุทธรูป ลางองค์เป็นสตรีนาม ในขณะที่ลางองค์เป็นบุรุษนาม

.

อย่างที่ได้จั่วหัวไว้แต่ต้นจากข้อสังเกตเรื่องรอยทั้งสามแล้ว ถ้าลองคลี่โครงเรื่องตำนานพระลากออกดู เราจะเห็นมือของคนพื้นถิ่นที่พยายามเข้ามากระชับความหมาย ด้วยวิธีการนิยามความหมายของรูปสัญญะขึ้นใหม่ ซึ่งแต่เดิม  “พระพุทธรูป” หมายถึง “พระพุทธเจ้า” แต่เมื่อผ่านพิธีกรรมตั้งแต่การเชิญขึ้น บางแห่งว่ามีทำขวัญ แล้วถวายนาม พระพุทธรูปนั้นก็จะหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นถิ่นนั้นๆ ไปทันที ส่วนข้อที่ว่าลางองค์เป็นสตรีนามนั้น ก็อาจตอบอย่างเร็วและลวกไว้ว่าคงขึ้นอยู่กับการเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละถิ่นไป หรือจะใช้แนวคิดเรื่องคติผู้หญิงเป็นใหญ่และเคยเป็นหัวหน้าผู้ประกอบพิธีกรรมก็ยังไม่ขัด เพราะส่วนตัวยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจริงจังมากพอ

.

สิ่งที่เห็นต่อหลังจากการถวายนาม คือธรรมเนียมเรื่อง “คู่” ของพระลาก ทั้งคู่ขวัญและคู่พี่น้อง ที่ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่กันในลักษณะใดก็คงสื่อแสดงเครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ ส่วนจะเกี่ยวดองกันในรูปแบบอย่างหัวเกลอ คู่การค้า หรือเครือญาติ อันนี้อาจต้องลองเจาะกรณีศึกษาเป็นแห่ง ๆ ไป

.

ประเด็นสุดท้ายคือวันที่ที่ลงไว้ว่าตรงกับ “วันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘” ลองเปิดปฏิทินร้อยปีแล้วไปตกเอาเดือนเจ็ด ซึ่งไม่ใช่ทั้งเดือนสิบเอ็ด เดือนห้า หรือเดือนสิบสอง ส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะสาระสำคัญของชักพระก็คือการ “ชักพระ” แต่ดูเหมือนว่าชักพระที่เรารับรู้และเข้าใจกันเดี๋ยวนี้ จะเป็นชักพระที่ผ่านกระบวนการ “เลือก” ซึ่งหมายความว่าอีกหลายชักพระถูก “ตีตก” และทำให้กลายเป็นชักพระของคนเล็กคนน้อย หากจะลองย้อนกลับไปมองประเด็นการถวายนามอย่างสามัญให้กับพระพุทธรูปและตำนานพระลาก เป็นไปได้หรือไม่ที่วิธีการนี้ จะถูกใช้เป็นกลยุทธ์ของคนพื้นถิ่นในการสร้างตัวตนและแย่งชิงเอาความหมายของชักพระกลับมาสู่คนพื้นเมืองเดิม ในท่ามกลางการขับเน้นด้วยฉากจำลองเสด็จดาวดึงส์เพื่อยื้อหมุดเวลาไว้ที่แรมค่ำหนึ่งเดือนสิบเอ็ดของพระพุทธศาสนาที่มาใหม่ฯ

 

ปล. บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งและผลจากการประมวลความคิดหลังจากการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ประเพณีชักพระ” เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ได้รับเชิญจากอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงมีข้อจำกัดในการคิดและเขียนอยู่มาก และหากธุระเรื่องวิทยานิพนธ์ทุเลาลง คงได้เวลาค้นและเรียบเรียงใหม่อย่างตั้งใจฯ