เปิดจดหมายจากเด็กชายบ้านศรีธรรมราช ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เปิดจดหมายจากเด็กชายบ้านศรีธรรมราช
ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

จากแหลมตะลุมพุก
ถึงบ้านศรีธรรมราช

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบวาตภัยจากพายุโซนร้อนแฮเรียต เมื่อปีพุทธศักราช 2505 ซึ่งเป็นภาพจำสำคัญของ “แหลมตะลุมพุก” อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระองค์ทรงมีความห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรผู้ประสบภัยในครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงพระราชทานทุนทรัพย์จากเงินโดยเสด็จพระราชกุศล จำนวน 910,000.-บาท ให้กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นทุนจัดตั้งสถานสงเคราะห์เด็กขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการให้การอุปการะเด็กที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิต หรือได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัยครั้งนั้น

.

หมายความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช คือผู้พระราชทานกำเนิดสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราชนั่นเอง จึงทำให้ทุกคนที่ผ่านการดูแลอุปการะจากบ้านหลังนี้ ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นเหลือจะประมาณและพรรณนา เพราะตระหนักดีว่า ถ้า “ไม่มีพ่อ ก็ไม่มีบ้าน”

.

จนเมื่อเสด็จสู่สวรรคาลัย ยังความโศกเศร้ามาสู่พสกนิกรถ้วนไทยประเทศ กลุ่มนักเรียนทุนพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงได้เชื้อเชิญชาวนครศรีธรรมราชจัด“พิธีจุดเทียนศรัทธาถวายความอาลัย” เพื่อร่วมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กับทั้งรวมใจชาวนครศรีธรรมราชน้อมส่งเสด็จพระธรรมราชาสู่สวรรคาลัย ในวันเสาร์ ที่ 5 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.00 น.

.

พิธีดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดการ จนดำเนินมาถึงช่วงที่ผู้แทนเด็กจากสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช จะออกมาอ่าน “จดหมายถึงพ่อ” ดูเหมือนว่าเนื้อความในจดหมายจะเป็นบทสนทนาจาก “ลูก” ถึง “พ่อ” ที่สื่อสารบางอย่างถึงกัน และผู้ร่วมพิธีทั้งหมดก็ต่างรู้สึกร่วม ในจดหมายฉบับนั้น เขียนไว้สั้น ๆ แต่มันมากพอที่จะทำให้ทุกคนที่ได้ยิน ณ ขณะนั้นใจสั่นเครือ ในนั้นเขียนว่า…

 

“พ่อครับ
ผมยังจำได้ดีว่าพ่อเคยบอกกับผมและน้องๆ ในบ้าน ว่าพ่อจะอยู่ถึงอายุ 120 ปี
ในตอนนั้นผมคงจะโตเป็นหนุ่ม เรียนจบ มีงานทำและคงแบ่งเบาภาระของพ่อได้บ้างแล้ว

พ่อครับ
ตั้งแต่ผมเกิดมา ทั้งที่คนอื่นมองว่าผมกำพร้า ขาดความอบอุ่น และด้อยโอกาส
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เลย

พ่อครับ
ทุกคนในบ้าน ทั้งพ่อใหญ่ แม่บ้าน พ่อบ้าน บอกผมและน้องๆ เสมอ
ว่าบ้านนี้พ่อสร้างให้ พ่อคือคนที่คอยดูแลเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ อาหารการกิน การศึกษา พ่อห่วงแม้กระทั่งชีวิตในอนาคตเมื่อเราโตเป็นหนุ่ม

พ่ออาจจะไม่รู้
ว่าทุกครั้งก่อนกินข้าว คนแรกที่พวกเราคิดถึงคือพ่อ
เราขอบคุณพ่อทุกครั้งก่อนที่จะตักข้าวคำแรกเข้าปาก
เราพูดว่า “อาหารมื้อนี้ ที่อยู่ตรงหน้าของข้าพเจ้า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ไม่มีน้องๆ ในบ้านคนไหนไม่รู้จักพ่อ ทุกหอพักมีรูปของพ่อ เกือบทุกมุมในบ้านมีรูปของพ่อ

พ่อครับ
ลูกรู้ว่าพ่อแค่อยากทำให้ลูกสบายใจว่าพ่อจะอยู่กับลูกตลอดไป สัญญาที่พ่อบอกมันมีคุณค่า พ่อไม่ได้อยู่กับลูกเพียงแค่ 120 ปีหรอกครับ พ่อจะอยู่กับลูก และน้องๆ ในบ้านตลอดไป

รักพ่อเท่าชีวิต
ลูกของพ่อ”

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ? เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ?
เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

 

น้ำขึ้นเหอ

ขึ้นมาคลักคลัก

อย่าเล่นน้ำนัก

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

 

ถ้าเข้ขบเจ้า

ร้องเร่าหาใคร

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

ตอใดได้มาเล่าเหอฯ

 

เช้านี้ หลายคนคงง่วนอยู่กับการติดตามสถานการณ์ “น้ำ” ในพื้นที่นครศรีธรรมราชอย่างใจจดใจจ่อ พี่น้องข้างเหนือ(ลานสกา)ก็อัพเดทน้ำเหนือที่บ่าลงมา “คลัก ๆ” โหมในพระ(เมืองนครศรีธรรมราช)ทางน้ำผ่าน ก็ติดตามระดับน้ำจากกล้อง CCTV ชนิดนาทีต่อนาที ในขณะที่ชาวนอก(ปากพนัง)กำลังกุลีกุจอยกข้าวของขึ้นที่สูงเพราะน้ำใหญ่(น้ำทะเลหนุนสูง)

.

ราวสิบปีให้หลังมานี้ เราจะสังเกตเห็นว่า เมื่อน้ำท่วมภาคเหนือและอีสาน มันหมายถึงการส่งสัญญาณมาถึงภาคใต้ไปโดยปริยาย ไม่ได้หมายความว่าน้ำก้อนเดียวกันจะไหลต่อเนื่องเรื่อยลงมา แต่คือความ “ปกติใหม่” ที่แปลจากภาษาหรั่งว่า New Normal ของธรรมชาติที่เราอาจไม่ทันได้ทำความเข้าใจ

.

เราซ้อมหนีไฟ

แต่ไม่เคยมีการทำความเข้าใจน้ำ

.

ดูเหมือนว่าอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้ฝนเริ่มตั้งเค้าตกแล้วท่วมจากภาคเหนือก่อน ไล่มาภาคกลาง แล้วค่อยเป็นคิวของภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือไม่ก็ธันวาคม

.

มันสอดคล้องต้องกันกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวและบรรดาวัฒนธรรมที่เนื่องกับน้ำ ที่เห็นว่ามักจะมีลำดับตั้งแต่ เหนือ อีสาน กลาง แล้วมาสู่ใต้

.

การศึกษาธรรมชาติของน้ำ

ความสามารถในการรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้ท่วม

หรือท่วมในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

จึงคือการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าจะท่วม แต่ก็พอจะรับมือได้

.

ความจริง ชาวเราผูกพันกับสายน้ำมาแต่ไหนแต่ไร “ฤดูน้ำหลาก” หรือที่ชาวนครเรียกกันว่า “น้ำพะ” หรือ “น้ำพ่า” จึงไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกตกใจเช่นทุกวัน เพราะบ้านในที่ราบที่ลุ่มแต่แรกมักทำใต้ถุนสูง ที่สำคัญคือเราเตรียมซ่อมแซมเรือประจำบ้านของเราแล้วตั้งแต่เข้าพรรษา

.

ข้าวซังลอย

ผลิตผลทางการเกษตรก็ดูใช่ว่าจะน่าห่วงเพราะข้าวพันธุ์ “ซังลอย” ทนน้ำท่วมสูงได้ดี น้ำมากก็พายเรือชมทุ่ง พายละล่องท่องไปเยี่ยมเรือกสวนของเพื่อนบ้าน เจอเรือสาวฟากหัวนอน ก็ขยับลูกกระเดือกกระเอมเกรียวเกี้ยวกัน น่ามองก็ตอนพระท่านพายเรือรับบาตรแทนการเดินบนหัวนาเมื่อคราวหน้าแล้ง นี่ยังไม่ได้พูดถึงปลาแปลกที่เที่ยวแหวกว่ายมาล้อเรือ น้ำนี่ใสแจ๋วจนมองเห็นความแวววาวของเกล็ดปลาเลยจริงเทียว

.

อย่างเพลงช้าน้องที่ยกมาจั่วหัว ก็สะท้อนภาพการ “เข้าใจธรรมชาติ” ของคน ในลักษณะแสดงความรู้สึกร่วมมากกว่าความเป็นปฏิปักษ์ น้ำขึ้นคลัก ๆ นัยว่าน้ำแรงน้ำเชี่ยว ก็อย่าลงไปเล่นน้ำ ทั้งแรงน้ำและสัตว์ร้ายจะหมายเอาชีวิตเสีย นอกจากนี้ยังมีคติโบราณที่สะท้อนการเข้าใจธรรมชาติของคนยุคก่อนอีกมาก เช่นในสวัสดิรักษาคำกลอนตอนหนึ่งว่า

 

“อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน

อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ

เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ

จงคำนับสุริยันพระจันทรฯ”

.

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต

.

เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์

.

แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล

.

สันทรายนครศรีธรรมราช

ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”

.

บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?

.

น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง

.

สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

.

น้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช

พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้

.

มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน

.

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต

.

ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”

.

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลง

.

แล้วมรสุมระลอกนี้ รวมถึงระลอกต่อ ๆ ไป

เราจะเลือกถือและทิ้งเครื่องมือจัดการภัยพิบัติอะไรเป็นของสามัญประจำเมืองฯ

 

 

แม่ชีนมเหล็ก ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

แม่ชีนมเหล็ก
ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

 

ตำนานท้องถิ่น

ความสนุกของการได้ลงพื้นที่โมคลานอย่างหนึ่งคือ การได้ฟังเรื่องเล่าแบบไม่ซ้ำ แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่อนุภาคน้อยใหญ่ภายในกลับขยายบ้าง หดบ้าง ไปตามสิ่งแวดล้อมที่เรื่องเล่านั้น ๆ เข้าไปขออาศัย ความจริงอาจไม่ได้เป็นเฉพาะบ้านโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้เท่านั้น แต่พื้นที่ใดที่เรื่องเล่าทำหน้าที่มากกว่าเรื่องที่ถูกเล่าแล้ว ก็เป็นอันจะได้เห็นอาการหดขยายที่ว่าไปตามกัน

.

ความจริงเคยได้ยิน “พระพวยนมเหล็ก” มาก่อน “แม่ชีนมเหล็ก” ตอนนั้นอาสาเป็นยุวมัคคุเทศก์อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จำได้ว่าเป็นเรื่องกระซิบที่ผู้ใหญ่ท่านห้ามหยิบมาเล่าด้วยสรุปความไว้ตรงนั้นว่า “เหลวไหล”

.

ก็ไม่ได้สนใจอะไรต่อ จนมาได้สัมภาษณ์ชาวโมคลานจึงถึงบางว๊าว (ถัดจากบางอ้อไปหลายบาง) ว่าเรื่องกระซิบที่ “ในพระ” มามีมั่นคงในดง “โมก” เล่ากันว่า

.

เศรษฐีจีนนายหนึ่งพร้อมบริวารพร้อมพรั่ง

ลงสำเภาใช้ใบแล่นเข้าปากน้ำ

แล้วล่องมาตามคลองปากพยิงถึงแผ่นดินโมคลาน

สมัยนั้นมีลำน้ำสัญจรได้สองสายหนึ่งคือคลองปากพยิงที่ว่ากับอีกหนึ่งคือคลองท่าสูง

.

เศรษฐีจีนขึ้นฝั่งมาพบรักกับนางพราหมณีนาม “สมศักดิ์” หากนามนี้เป็นชื่อตัวก็คงชี้ความเป็นคนมีฐานะอันพอจะสมเหตุสมผลให้สามารถร่วมวงศ์วานเป็นเมียผัวกับเศรษฐีนายนั้นได้ นางพราหมณ์สมศักดิ์เป็นคนในตระกูลไวศยะ ทำค้าขายมีตั้งลำเนาอยู่ในท้องที่มาช้านาน ลือกันในย่านว่ารูปงามหานางใดเปรียบ ด้วยผูกพันฉันคู่ชีวิตประกอบกับกิจของทั้งสองครัวไม่ต่างกัน เศรษฐีจีนผู้รอนแรมมาจึงปักหลักตั้งบ้านขึ้นที่นี่

.

ขณะนั้น พระพุทธคำเภียร หัวหน้าสมณะทูตจากลังกา กำลังบวชกุลบุตรสถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์อยู่ที่เมืองเวียงสระ แล้วเผยแผ่พระธรรมต่อมายังโมคลานสถานซึ่งขณะนั้นร้างอยู่ บังเกิดให้เศรษฐีจีนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประกาศจะบริจาคทรัพย์สร้างกุฎี โบสถ์ วิหาร และ ศาสนสถานอันควรแก่สงฆ์บริโภค กับมีใจจะบูรณะสิ่งปรักหักพังขึ้นให้งามตาอย่างแต่ก่อน

.
เหตุเกิดเมื่อนางพราหมณ์ไม่ยอม จะมีปากเสียงมากน้อยไม่ได้ยินเล่า แต่ผลคือเมื่อเศรษฐีจีนถูกขัดใจหนึ่งว่าเรือขวางน้ำที่กำลังเชี่ยว ก็ตัดสินใจทิ้งสมบัติพัสถาน ทั้งลูก เมีย บริวาร หนีลงสำเภาของสหายกลับไปเมืองจีนเสีย

.

นางเมียผู้อยู่ข้างหลัง ครั้นเป็นหม้ายผัวหนีก็สำนึกผิด โศกเศร้า ตรอมใจ หนึ่งว่ามิ่งไร้ขวัญ ชีวิตไร้วิญญาณ พร่ำเพ้อ ละเมอเหม่อลอย ลางทีก็หวีดร้องขึ้นปานว่าชีวิตจะแหลกสลาย นางเฝ้าคอยทางที่ผัวจากไปและคอยถ้าฟังข่าวผัวอยู่ปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่กลับมา

.

นางอ้อนวอนเทพเจ้าทุกองค์บรรดามีในลัทธิของนาง เพื่อหวังให้ช่วยดลจิตดลใจผู้ผัวให้คืนสู่ครัวแต่ก็เปล่าประโยชน์ แม้จะตั้งบัตรพลีบวงสรวงประกอบเป็นพิธีอย่างยิ่งอย่างถูกต้องบริบูรณ์ ทุกอย่างก็ว่างเปล่าดั่งสายลม

.

ในท้ายที่สุด นางก็ทิ้งลัทธิเดิมปลงผมบวชเข้าเป็นชีพุทธ คงด้วยหวังว่าจะเอารสพระธรรมมาเป็นที่พึ่ง สมบัติทั้งสิ้นถูกจัดสรรปันแบ่งให้ลูกไปตามส่วน เหลือนั้นเอามาทำกุฎี โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ตามอย่างเจตนาผัวแต่ก่อน

.
ใจหนึ่งก็หวังว่าแรงบุญจะหนุนส่งให้ได้ผัวกลับ ความอาลัยอาวรณ์ติดตามตัวนางเข้าไปเคล้าคลึงถึงในชีเพศ นางเฝ้าพะวงหลงคอยอยู่ชั่วนาตาปี จนจิตใจของนางวิปริตคลุ้มคลั่งเข้า จึงในที่สุด นางก็ผูกคอตาย

.

แม่ชีนมเหล็ก

สังขารของนางเมื่อเผา

ปรากฎเป็นอัศจรรย์ว่า

ส่วนอื่นไหม้เป็นจุลไปกับไฟ

เว้นแต่นมสองเต้าไฟที่ไม่ไหม้และกลับแข็งเป็นเหล็ก

.

แต่นั้น แม่ชีสมศักดิ์ก็ถูกเรียก “แม่ชีนมเหล็ก” และเรียกสืบมาจนทุกวันนี้

.

พระพวย

เล่าต่อว่า

ลูกและญาติพี่น้องของแม่ชีนมเหล็กได้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง

บรรจุอัฐิและนมเหล็กทั้งสองเต้าเข้าไว้ในองค์พระ

พระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

คือองค์ที่เรียกว่า “พระพวย” สถิต ณ พระวิหารโพธิ์ลังกา

.

ความจริงเห็นอะไรหลายอย่างจากเรื่องนี้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโมคลานกับเมืองนครที่คลี่ปากคำมามากกว่าลายแทง “ตั้งดินตั้งฟ้า” ที่เคยเขียนไว้ครั้งก่อน การเป็นเมืองท่าสำคัญที่รับอารยธรรมจากทั้งจีนและอินเดีย โดยมีเศรษฐีจีนและนางพราหมณีในเรื่องเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ทั้งสองฟากฝั่ง อีกอันคงเป็น “นมเหล็ก” ที่เหลือจากการเผา ดูเหมือนว่าจะเคยได้ยิน “ตับเหล็ก” ในทำนองคล้ายกันด้วย เหตุที่เหลือ เชื่อกันว่าด้วยคุณวิเศษของผู้ตาย แต่ก็เหมือนจะมีผู้รู้ท่านลองอนุมานอยู่กลาย ๆ ว่าน่าจะได้แก่ก้อนเนื้อร้ายพวกมะเร็งด้วยเหมือนกัน

.

จาก “แม่ชีนมเหล็ก” ถึง “พระพวย”

ชีหนึ่งเดี๋ยวนี้มีรูปหล่อให้ได้ระลึกถึงตำนาน

ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญวัดโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนพระนั้น ปัจจุบันเป็นสรณะของผู้ไร้บุตรจะได้บนบานศาลกล่าวร้องขอ

ว่ากันว่าจะบันดาลให้ตามบุคลิกลักษณะในคำอธิษฐาน

.

จากนมเหล็กแม่ชี มาเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูป

แม้ว่า “ความจริง” คงเป็นสิ่งที่เค้นเอาได้ยากจาก “ความเชื่อ”

แต่ทุก “ความเชื่อ” ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเคารพ

เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็ต่างเชื่อกันว่ามันจริงฯ

 

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่ ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่
ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

โดย ปรมัตถ์ แบบไหน

 

ข้าวกาบดำ

ข้าวกาบดำเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สามารถพบได้แพร่หลายแถบอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงก็อาจจะพบได้ แต่ด้วยผมเป็นคนอำเภอเชียรใหญ่จึงรับรู้และสัมผัสกับข้าวพันธุ์นี้ตั้งแต่เด็ก

.

เชียรใหญ่

เรื่องราวความทรงจำของผมกับข้าวกาบดำคงจะเริ่มที่เห็นยายปลูกในตอนเด็ก ๆ และผู้คนละแวกบ้านก็ปลูกข้าวพันธุ์นี้ไว้กินกัน แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแบบเงินตราที่เน้นกำไรสูงสุดในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ชาวนาแถวบ้านเลยต้องหันไปปลูกข้าว กข.15 , หอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวไวแสงที่ใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 100 – 120 วัน ที่กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรสนับสนุน แทนการปลูกข้าวกาบดำ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวนาปีที่ใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนานเกือบค่อนปี โดยอาศัยฤดูกาลเป็นตัวกำหนดการเพาะปลูก

.

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นยายปลูกข้าวพันธุ์นี้ ยายจะเริ่มหวานข่าวช่วงเข้าพรรษา ยายจะบอกว่า “หว่านข้าวรับหัวษา” ความหมายคือหว่านข้าว ช่วงต้นของการเข้าพรรษา ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่จะมีฝนโปรยพอให้หน้าดินชุ่มชื้นหลังจากที่ฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือน แต่จะเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ชาวบ้านละแวกนี้จะเรียกฝนที่ตกในช่วงนี้ว่า “ฝนพลัด” ผมสันนิฐานที่มาของชื่อฝนนี้ว่า เพราะเป็นฝนที่ตกเพียงเล็กน้อย และเป็นฝนที่หลงเหลือจากการตกในฝั่งภาคใต้ตะวันตกที่มีเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นตัวแบ่ง หรือเขตเงาฝนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้นแหละ

.

ฝนพลัด ฝนออก

เมื่อข้าวที่หวานไว้ได้ความชื้นจาก “ฝนพลัด” ก็เติบโตขึ้น แต่ในช่วง 1-2 เดือนแรก ข้าวจะสูงประมาณหัวเข่า ความสูงระดับนี้ถ้าเป็นข้าวไวแสงถือว่าสูงมากแล้วนะ แต่สำหรับข้าวกาบดำถือว่ายังเตี้ยมาก ๆ เพราะ หลังจากฝนพลัดหมดไป ทิศทางลมของภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะเปลี่ยนไป โดยในช่วงเดือน 11 เดือน 12 ชาวบ้านจะเรียกฝนที่ตกช่วงนี้ว่า “ฝนออก” ความหมายคือฝนที่มาทางทิศตะวันออกเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนในช่วงนี้จะทำให้เกิดปริมาณน้ำที่มาก และท่วมได้แล้วแต่ปี

.

ถึงตอนนี้การที่ข้าวกาบดำจะทำตัวเองให้เตี้ยไม่ยอมสูงก็จะจมน้ำตายไป ข้าวกาบดำเลยยืดลำต้นสูงขึ้นสูงที่สุดอาจจะสูงถึง 150 ซม. ประมาณจากส่วนสูงของยายที่ต้นข้าวสูงถึงระดับศีรษะของท่าน ยายก็สูงประมาณ 150 – 160 ซม. ครับ

.

แกะ รวง เลียง ลอม

กว่าจะได้เก็บข้าวก็โน้นเดือน 4 กว่าจะเสร็จก็เดือน 5

เพราะยายเก็บกับ “แกะ”

เก็บที่ละ “รวง”

หลายๆรวงมัดรวมเป็น “เลียง”

หลายๆเลียงกองรวมกันเป็น “ลอม”

.

สุดท้ายนี้จะบอกว่า

ผมยุให้แม่ปลูกข้าวกาบดำ

แม่ใช้วิธีเพาะข้าวในที่ดอนก่อน

แล้วเอาไปดำ

แม่ดำนาเสร็จไปช่วงก่อนออกพรรษา

ตอนนี้ข้าวได้น้ำจาก “ฝนออก” คงกำลังเติบและโต

ปัญหาที่แม่บ่นให้ฟังคือ….

“มึงยอนให้กูปลูกข้าวกาบดำเวลาเก็บไม่รู้เก็บพรือเวทนาจัง”

___

ภาพปก
เพจ ไร่ ณ นคร – Na Nakhon Integrated Farming.

พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร
บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

นครศรีธรรมราช มีสถานะซึ่งพัฒนาการจากมหานครสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้นำมาสู่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมจำนวนมหาศาล ต้องอาศัยการค้นคว้าเพื่อนำไปสู่การตีความหลักคิด วิเคราะห์รูปการณ์ และเชื่อมเหตุโยงผลกันด้วยทฤษฎีต่างๆ
.

ปาฏลีบุตร

สมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

.

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)

นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร

สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย

มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่

นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช

พระเจ้านครศรีธรรมราช

อาจแปลรวมความได้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”

ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิม

___

ภาพจากปก :
ส่วนหนึ่งของภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติหมายเลข na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

วังวัว • จานเรียว • ในเหลิง • วัวหลุง เรื่องเล่าภูมินามที่มาจาก “วัว” ตัวเดียวกัน

วังวัว • จานเรียว • ในเหลิง • วัวหลุง
เรื่องเล่าภูมินามที่มาจาก “วัว” ตัวเดียวกัน

 

เรื่องเล่าเป็นงานสร้างสรรค์อันมีผู้สร้าง

ใน “เรื่องเล่า” จึงมี “ผู้เล่า” ปรากฏตัวอยู่ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งหรือทั้งหมด

สิ่งที่ถูกส่งออกมาพร้อมกับภาษาคือ “สาร” และ “ความหมาย”

ซึ่งอนุญาตให้ผู้อ่านมีเสรีภาพในการ “ตีความ”

เรื่องเล่าหนึ่ง ๆ จึงมีได้มากกว่าหนึ่งความหมาย

เพราะทันทีที่เรื่องถูกเล่า หน้าที่ของผู้เล่าก็จบลง

.

บ้านวังวัว

ปัจจุบัน วังวัว เป็นชื่อบ้านในเขตอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนอีกสามบ้าน ได้แก่ จานเรียว ในเหลิง และวัวหลุง ติดเขตอำเภอร่อนพิบูลย์ ทั้งสี่บ้านอยู่คนละปละ แต่ยังพอทำเนาได้ว่าเป็นหยอมเดียวกัน

.

เรื่องเล่าของทั้งสี่บ้านถูกเคล้าให้อยู่ในนิทานพื้นถิ่นเรื่องเดียวกัน โดยมี “วัว” เป็น “ตัวเดินเรื่อง” อากัปกิริยาและพฤติการณ์ในนั้นเป็นเหตุของชื่อบ้าน ดังจะเล่าตามที่ ดิเรก พรตตะเสน เล่าไว้ในสารนครศรีธรรมราช ต่อไปนี้

.

“เล่ากันว่า วันดีคืนดี จะมีวัวตัวผู้สีทองตัวหนึ่งผุดจากส่วนลึกของวังน้ำขึ้นมาร้องอย่างคึกคะนองอยู่บนฝั่ง ถ้าใครพบเห็น เจ้าวัวตัวนั้นก็จะหันบั้นท้ายของมันให้ แล้วยกหางขึ้นสูง แย้มลิ่มทองสุกปลั่งออกมาให้เห็นทางรูทวารหนัก และทันทีมันจะกระโจนตูมลงในวังน้ำ ดำมุดหายไปต่อหน้าต่อตา ตำแหน่งนั้นรู้จักกันในชื่อ “วังวัว” “วัง” ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงวังเจ้านาย หากหมายถึงแหล่งน้ำลึกของลำคลอง หรือแม่น้ำลำธารต่าง ๆ ส่วน “วัว” ก็คืออย่างเดียวกับที่คนนครออกเสียงว่า “งัว”

.

เมื่อเจ้าวัวสีทองประพฤติในทางยั่วมนุษย์ให้เกิดโลภะโทสะอยู่เป็นนิจดังนี้ ชาวบ้านก็เกิดกระตือรือร้นที่จะจับวัวสีทองตัวนั้นเอาทองมาให้ประโยชน์ให้ได้ จึงรวมกันเข้าเป็นหมู่ใหญ่ วางแผนพิชิตวังทองอย่างรัดกุม แผนสำคัญที่จะพลาดไม่ได้คือ เมื่อเจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่ง คนหมู่หนึ่งจะต้องรวมกำลังกันขึงพืดริมฝั่ง พยายามกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำของมัน ซึ่งถ้ากันให้เจ้าวัวสีทองค้างอยู่บนบกได้ ถึงมันจะเตลิดไปไหน ๆ ก็ตามจับได้เป็นแน่นอน

.

ครั้นแล้ววันหนึ่ง เจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่งตามเคย และแล้วความพยายามของมนุษย์ในอันที่จะกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำก็สำเร็จตามแผน แต่เจ้าวัวสีทองตัวนั้นไม่ใช่วัวธรรมดาที่จะจับกันได้ง่าย ๆ เมื่อหนทางที่มันจะกระโจนกลับวังน้ำถูกกีดกัน มันก็แหวกวงล้อมเตลิดไปทางตะวันตก ข้างชาวบ้านก็ฮือไล่ตามอย่างกระชั้นชิด

.

ครั้งหนึ่ง วัวสีทองไปจนมุมที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง ริมริมจะจับได้แล้วทีเดียว แต่เนื่องจากชาวบ้านที่ตามประชิดติดพันในตอนนั้นน้อยตัวเกินไป จึงไม่สามารถจะตีวงล้อมเข้าถึงตัวมันได้ สิ่งสำคัญที่จะใช้จับวัวคือเชือกก็ไม่ติดมา หลังจากเล่นเอาเถิดเจ้าล่อชุลมุนกันพักใหญ่ ก็ตกลงใจกันจะจับตาย ชาวบ้านคนหนึ่งมีฝีมือในทางเขวี้ยงพร้า ก็เขวี้ยงพร้าในมือหวือไปทันที หมายตัดขาหน้าเจ้าวัวทองให้ขาดหกคะเมนตีแปลงลงตรงนั้น แต่ก็อัศจรรย์ ฝีมืออันเคยฉมังกลับพลาด พร้าหมุนติ้วตัดอากาศเหนือหลังวัวสีทอง หวือหายไปในความลึกของซอกเขา เจ้าวัวสีทองสบโอกาสแหวกวงล้อมหลุดออกไปได้อีก เล่นเอาพวกตามพิชิตวัวเกือบสิ้นพยายาม ต่างทรุดลงนั่งลงอย่างหมดแรง และทั้งนี้ เพื่อจะรอเพื่อนคนเขวี้ยงพร้า ซึ่งเดินดุ่มเข้าไปเก็บพร้าของตนในซอกเขาลึกด้วย

.

เกือบหนึ่งชั่วยาม กะทาชายนายเจ้าของพร้าจึงได้พร้าของตนกลับมา เพื่อน ๆ ที่นั่งรอจนหายเหนื่อยตั้งนานแสนนานและกำลังร้อนใจจะแกะรอยวัวทองต่อไป พากันกระชากเสียงถามด้วยความขุ่นเคืองเป็นเสียงเดียวกันว่า

 

“เข้าไปถึงไหนวะ”

“ถึงเหลิงเว้ย” เจ้าของพร้าตอบแล้วชวนกันแกะรอยวัวทองต่อไป

.

บ้านในเหลิง

เหตุนี้เอง ซอกเขาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เหลิง” หรือเขียนตามสำเนียงใต้ได้เป็น “เลิ่ง” หมายถึง ที่สุดแห่งความลึกเว้าของซอกเขา ในที่นี้คือในวงโอบของเขาหมากกับเขาแดง

.

เนื่องจากทิ้งระยะกันนานเกินไป จากในเหลิงพวกชาวบ้านต้องวกไปวนมา หาเส้นทางเดินของเจ้าวัวทองหลายตลบ จนกระทั่งพบรอย “จานเยี่ยว” ของมันเข้ารอยหนึ่ง จึงแกะรอยตามติดไปตามเส้นทางอันถูกต้องได้ต่อไป

.

บ้านจานเรียว

ที่เจ้าวัวทอง “จานเยี่ยว” แห่งนี้ ในสภาพภูมิประเทศปัจจุบันก็คือตรงที่ตั้งที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์นั้นเอง หมู่บ้านแถบนี้ชื่อหมู่บ้าน “จานเรียว” ว่ากันว่า “เยี่ยว” ถูกแปลงให้สุภาพเป็น “เรียว” ความหมายเลยวิบัติไปจากเดิม

.

ถึงตอนนี้ เห็นจะต้องทำความเข้าใจ “จาน” กันสักหน่อย “จาน” ที่ประกอบ “เยี่ยว” ไม่ได้หมายถึงภาชนะหรือคำกร่อนจาก “ประจาน” ที่บ่นถึงการประกาศความชั่ว “จาน” เป็นคำไทยโบราณที่ชาวปักษ์ใต้ออกเสียงใกล้เคียงสำเนียงภาคกลางอย่างที่สุด และยังใช้ติดปากอยู่ในความหมายเดิมไม่ลืมเลือน โดยแปลว่า “เจือด้วยน้ำ” เช่นหากคนภาคกลางพูดว่า “ขอน้ำแกงราดข้าว” คนปักษ์ใต้ก็จะพูดเป็น “ขอน้ำแกงจานข้าว” ใช้ “จาน” แทน “ราด” เพราะมันเป็นคำติดปาก ที่อำเภอร่อนพิบูลย์นี้ ยังมีทุ่งกว้างแห่งหนึ่งเรียกกันว่า “ทุ่งน้ำจาน” เพราะว่าทุ่งแห่งนั้นมีน้ำเอิบซึมเปียกอยู่เป็นนิจ

.

บ้านวัวหลุง

กลุ่มชาวบ้านตามวัวทองซึ่งบ่ายหน้าไปตะวันตกจนกระทั่งทัน และล้อมติดจับได้ที่บ้าน “วัวหลุง” อีกครั้งหนึ่ง “หลุง” คือคำกร่อนจาก “ถลุง” พวกชาวบ้านจับวัวทองได้ก็จัดแจงหาฟืนมาติดไฟขึ้นคิดจะเผาวัวเอาทอง หรือ “ถลุงวัว” ให้เป็นทองกันโดยไม่ชักช้า แต่ก็ไม่สำเร็จ วัวทองเจ้ากรรมหลุดไปได้ บ้าน “วัวหลุง”

.

วัวทองดิ้นหลุดมือมนุษย์ได้อย่างหวุดหวิดแล้วก็มุ่งกลับไปตะวันออก นัยว่าจะกลับวังน้ำของมัน แต่ชาวบ้านรู้จึงสกัดไว้ วัวทองบ่ายหน้าขึ้นเหนือ ในที่สุดก็ถูกล้อมจับได้อีกที่บ้าน “หลุงทอง” ครั้งนี้วัวทองถูกล้อมตีด้วยไม้กระบองสั้นยาวจนตาย แต่แล้วในขณะที่พวกชาวบ้านบ้างหาฟืนบ้านติดไปชุลมุนอยู่นั้นเอง เจ้าวัวทองซึ่งถูกรุมตีจนน่วมขาดใจตายไปแล้วกลับฟื้นขึ้นและเผ่นหนีไปได้อีก แต่พวกมนุษย์ก็ยังหายอมแพ้เดียรัจฉานวิเศษตัวนี้ไม่ กรูเกรียวกันตามกันต่อไปอีกอย่างไม่ลดละ ในที่สุดก็ไปถึงภูเขาสูงชันในถ้ำแห่งหนึ่ง วัวทองพรวดพราดเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งในเชิงภูเขานั้น ชาวบ้านก็ตามติดเข้าไปด้วย แต่เมื่อก้นถ้ำซึ่งทึบตัน เข้าไปทางไหนก็ต้องออกทางนั้นทุกซอกทุกมุม จนอ่อนใจไม่หาวัวทองตัวนั้นไม่ วัวทองสูญหายไร้ร่องรอยไปอย่างอัศจรรย์” เรื่องก็จบลงแต่เท่านี้

.

มีข้อสังเกตน่าสนใจเกี่ยวกับ “บ้านวังวัว” อยู่สองประการ อย่างแรกคือการมีทำเลอยู่ในกลุ่มชุมชนพราหมณ์โบราณเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ บ้านหนองแตน บ้านพระเพรง และบ้านแพร่ ละแวกนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น รวมถึงซากที่เข้าใจกันว่าเป็นเทวสถานหลายจุด สอดคล้องกับข้อสังเกตประการที่สอง คือเรื่องเล่าว่า เทวาลัยแห่งหนึ่งมี “วัวทองคำ” เป็นเครื่องมหรรฆภัณฑ์ นัยว่าจะนับถือเป็นโคนนทิพาหนะพระอิศวร ครั้นเมื่อห่าลงเมือง บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายได้อัญเชิญวัวทองจำเริญลงฝากไว้กับพระแม่คงคา ส่วนจะเป็นวัวเดียวกับที่มีในนิทานดังเล่ามาแล้วหรือไม่นั้น คิดว่าคงเข้าเค้าฯ

หญ้าเข็ดมอน ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

หญ้าเข็ดมอน
ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า
ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

 

เป็นเวลาสักระยะแล้ว ที่จ่อมจมอยู่กับปริศนาลายแทงโมคลาน ทวนสอบตัวเองดูอย่างจริงจังรู้สึกว่า ลึก ๆ ที่ย้ำคิดย้ำทำอยู่ตรงนั้น ก็เพราะอยากแก้ลายแทงเป็นเหตุหลัก แต่ด้วยความรับรู้เดิมที่ถูกกักขังไว้ว่า ลายแทงมักไม่มีใครแก้ได้ ส่วนที่แก้ๆ กันไปอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หมิ่นเหม่ว่าจะคลาดเคลื่อนเลื่อนลอย พลอยให้ต่างคนต่างแก้ไปนานา ลายแทงจึงยังคงเป็นอาหารอร่อย ที่เว้นแต่ผู้ปรุงแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ารสชาติแท้จริงเป็นอย่างไร

.

ลายแทงโมคลาน

ลองดู “ลายแทงโมคลาน”

ตามกันไปอีกครั้ง

 

“…ตั้งดินตั้งฟ้า

ตั้งหญ้าเข็ดมอน

โมคลานตั้งก่อน

เมืองนครตั้งหลัง

ข้างหน้าพระยัง

ข้างหลังพระภูมี

ต้นศรีมหาโพธิ์

ห้าโบสถ์หกวิหาร

เจ็ดทวาร

แปดเจดีย์…”

 

โมคลาน

ดูเหมือนว่าความในตอนท้ายจะคล้ายกับสารบัญนำชมศาสนสถานในข้างพุทธ อันประกอบด้วย พระศรีมหาโพธิ์ โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ส่วนถ้าจะยึดเอาวรรคนำเรื่องก็คงชี้ลงว่า ศาสนสถานที่กำลังแทงลายลงไปนี้ คือ “โมคลาน” ที่เมื่อครั้งผูกลายแทง คงมีสถานะเป็น “วัด” ในพระพุทธศาสนาแล้ว ส่วนคำว่า “แล้ว” ซึ่งห้อยท้ายอยู่นั้น ก็เพราะว่า วรรคนำเรื่องอย่าง “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” เป็นร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การมาแสดงเป็นข้อเท้าความอยู่ตรงนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า ลายแทงกำลังแสดงความหลงเหลืออยู่ของคติพราหมณ์ในความทรงจำชาวโมคลาน ซึ่งทำให้เห็นว่า พราหมณ์คงเป็นเจ้าของเดิมอยู่ก่อน จากนั้นพุทธจึงค่อยเข้าใช้สอยพื้นที่เป็นลำดับ

.

การสร้างโลกมีในคัมภีร์พราหมณ์ กล่าวว่าเป็นเทวกิจของพระพรหม ประเด็นนี้ ดิเรก พรตตะเสน ให้รายละเอียดว่า

“…โลกของเรานี้ พระพรหมผู้เป็นใหญ่ของพราหมณ์เขาเป็นผู้สร้าง

แรกก็สร้างน้ำก่อน สร้างน้ำแล้วก็ตั้งดินตั้งฟ้า

ต่อจากนั้นจึงหว่านพืชลงในดิน พืชอันดับแรก

คือที่เราเรียกหญ้าเข็ดมอนนี้เอง

พืชอันที่สองคือหญ้าคา อันดับที่สามหญ้าแซมไซ…”

.

หญ้าเข็ดมอน

ดินและฟ้าจะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ จะขอชวนให้ใคร่ครวญกันเฉพาะสามหญ้าในฐานะพืชแรกบนโลกตามคติพราหมณ์ เล่าว่า “…เมื่อคราวเทวดากวนเกษียรสมุทร ให้เป็นน้ำทิพย์สำหรับเทวดาจำได้กินกันให้เป็น “อมร” นั้น พญาครุฑฉวยโอกาสโฉบเอาน้ำทิพย์บินหนี ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องออกขัดขวาง ขณะที่รบชิงน้ำทิพย์กันอุตลุตบนท้องฟ้านั้น กระออมใส่น้ำทิพย์กระฉอก น้ำทิพย์กระเซ็นตกลงมายังโลกมนุษย์ เผอิญให้ถูกเอาหญ้าเข็ดมอน หญ้าคา และหญ้าแซมไซ…”

.
เหตุนี้จึงทำให้ความอมฤตไปเป็นเครื่องทวีความศักดิ์สิทธิ์ให้กับหญ้าทั้งสาม จากที่เป็นหญ้าที่เกิดก่อนพืชทั้งปวงบนโลกแล้ว ยังมีความ “ไม่ตาย” เป็นคุณวิเศษอีกชั้น ที่แม้น้ำจะท่วมโลกหรือเกิดไฟบัลลัยกัลป์เผาผลาญล้างโลกก็ทำอะไรสามหญ้านี้ไม่ได้

.

หญ้าคา:

โบราณเอามาถักเข้าเป็นเส้น

วงรอบเรือนหรือปริมณฑลที่ต้องการเป็นมงคล

กันผี กันอุบาทว์ จัญไรได้ทุกชนิด

.

หญ้าแซมไซ:

ยังค้นไม่พบสรรพคุณเฉพาะ

แต่ “เข้ายา” รวมกับอีกสองหญ้าได้

ว่ากันว่าหากต้มใช้กินประจำ

จะทำให้อายุยืน คงกระพันชาตรี

.

หญ้าเข็ดมอน:

โบราณนิยมเอารากมาถักสำหรับผูกข้อมือเด็ก

กันผีแก้แม่ซื้อรังควาญ

ต้มกินก็จะสามารถแก้พิษร้อนได้

.
การมี “หญ้าเข็ดมอน” เป็นบทนำของลายแทง จึงถือเป็นภาพสะท้อนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมของโมคลานได้อย่างหลวมๆ ว่า พื้นที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ที่อาศัยของบรรดาพราหมณ์ผู้มี “ภูมิ” ซึ่งนอกจากจะรู้พระคัมภีร์อยู่เฉพาะตนแล้ว อาจได้ถ่ายทอดสู่ศาสนิกโดยเฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยการสร้างโลกและสรรพสิ่งของพระผู้เป็นเจ้า ที่เอาเข้าจริงก็มีการกล่าวถึงการกำเนิดโลกและมนุษย์อยู่ในทุกศาสนา ความหมายเกี่ยวกับการสร้างโลกของแต่ละศาสนาจึงถือเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่กระทำในดินแดนโมคลาน พื้นที่ซึ่งปัจจุบันมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในละแวกที่ปรากฏเทวลัยอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์และครอบครองโดยวัดของพระพุทธศาสนา

.

บทกาดครูโนรา

ความจริงควรจะจบตรงนี้ แต่ด้วยว่าได้คัดเอาบทกาดครูโนราที่แสดงฉากสร้างโลกซึ่งมีการกล่าวถึงหญ้าเข็ดมอนมาด้วยแล้ว จึงขอส่งท้ายกับสิ่งที่ว่านั้น กับทั้งข้อสังเกตว่า “ผู้สร้าง” ในบทนี้เป็น “พระอิศวร” ต่างจากที่ร่ายมาข้างบน ซึ่งอาจทำให้เห็นว่า ไม่เฉพาะระหว่างศาสนาเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์ของการช่วงชิงความหมาย แต่ภายในเองก็มีสิ่งละอันพันละน้อยที่แทรกซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน กับที่ส่วนตัวเห็นว่าการผลิตซ้ำคติสร้างโลกของพราหมณ์ลงบนมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้ ควรค่ายิ่งแก่การค้นคว้าเพื่อสร้างชุดความรู้สู่สาธารณะ

.

ไหว้พระอิศวรพ่อทองเนื้อนิล

พ่อได้ตั้งแผ่นดินตั้งแผ่นฟ้า

พ่อตั้งแผ่นดินเท่าลูกหมากบ้า

ตั้งแผ่นฟ้าโตใหญ่เท่าใบบอน

พ่อตั้งสมุทรพ่อตั้งสายสินธุ์

ตั้งเขาคีรินทร์เขาอิสินธร

พ่อตั้งไว้สิ้นพ่อตั้งไว้เสร็จ

ตั้งหญ้าคาชุมเห็ดหญ้าเข็ดมอน

พ่อตั้งหญ้าคาเอาไว้ก่อน

หญ้าเข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

พ่อได้ตั้งพฤกษาตั้งป่าชะมัว

พ่อได้ตั้งบัวนาบัวครั่ง

เข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

พระจันทร์เดินกลางเดินกลางคืน

พระอาทิตย์งามชื่นเดินกลางวัน

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

สว่างฉันทั่วโลกชโลกา

พ่อได้ตั้งสิ้นตั้งสุด

ตั้งเหล่าชาวมนุษย์ไว้ใต้หล้า

พ่อตั้งหญิงคนชายคน

ให้เป็นพืดยืดผลต่อกันมา

พ่อตั้งนางเอื้อยให้เป็นเจ้าที่

พ่อตั้งนางอีเป็นเจ้านา

พ่อตั้งนายคงเป็นเจ้าดิน

พ่อตั้งนายอินเป็นเจ้าป่า

พ่อตั้งนายทองเป็นเจ้าแดน

ตั้งนายไกรพลแสนเฝ้ารักษาฯ

วัดเจ้านคร ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

วัดเจ้านคร
ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

ความจริงไม่ใช่ครั้งแรกที่แวะเข้ามา
แต่ความรู้สึกยังเหมือนครั้งก่อนนั้น
คือไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่าเดิม

.

คำว่า “เจ้านคร” นี้ ทำให้ปฏิเสธได้ยากว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเมืองนคร และพระองค์เดียวที่มีสถานะเป็นเจ้าในยุคที่ยังคงตกค้างชื่อเรียกว่าอย่างนั้นอยู่ก็ได้แก่ “พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” ผู้ผ่านฟ้าเมืองนครในสมัยกรุงธนบุรี

.

เรื่องพระเจ้านครศรีธรรมราชนี้เป็นที่น่าค้นคว้าและสนใจอยู่มาก จนถึงกับได้ตั้งชื่อหนังสือไว้ตามพระนามนั้น แต่ก็ยังหากำหนดคลอดไม่ได้ ด้วยค้างมืออยู่หลายสิ่ง กับดูเหมือนว่าต้องตั้งหลักหาเอกสารอีกหลายฉบับ

.

วัดเจ้านคร

วัดเจ้านครนี้ ว่ากันว่าเจ้านครทรงสร้างเมื่อครั้งถูกตามตัวจากปัตตานีให้ขึ้นมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่พลับพลาตำบลแหลมสน มีกำหนด ๑ เดือนก่อนเสด็จนิวัต เจ้านครเห็นว่าการที่ทรงพระกรุณาให้พ้นราชภัยในครั้งนั้นเป็นบุญแก่ตัวและวงศ์วาน จึงได้อุทิศถวายสร้างวัดแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์

.

เดี๋ยวนี้เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมถนนท่าช้าง – อ่างเก็บน้ำกระเสียว หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีพระอธิการสมชาย สุจิตโต เป็นเจ้าอาวาส

.

ภายในรั้วรอบขอบชิด มีพระอุโบสถหลังหนึ่งตั้งอยู่บนลูกควน เพิ่งผ่านงานผูกพัทธสีมาไปเมื่อ ๘ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ชานควนมีศาลาไม้หลังงาม คงเป็นสถานเก่าสุดในบรรดามี ข้างกันมีโรงธรรมถือปูนใต้ร่มไม้ กับหอบูรพาจารย์ มีสมเด็จเจ้าพะโคะเป็นประธาน พ่อท่านคล้าย สมเด็จฯ โต พระครูวิจารณ์ศาสนกิจ (เลื่อน ปานังกะโร) และตาปะขาวชีหนึ่ง ตีนควนเป็นสังฆาวาสกับพื้นที่ใช้สอยเป็นฮวงซุ้ยจีนและเปรวไทย

.

ไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ร่มรื่น แถวต้นพิกุลคงเคยทำหน้าที่รั้ววัดมาแต่เดิม ถามทุกคนที่พบไม่มีใครทรงจำและรับรู้ไปมากกว่านี้ เห็นคงจะมีก็แต่สะตอต้นหนึ่งเท่านั้น ที่โยกหัวโหม้งไปมาตามแรงลม ประหนึ่งจะเย้าว่า เท่านี้ก็ถมไปแล้วไอ้นุ้ยเหอ

.

พระเจ้านครศรีธรรมราช

ย้อนไปสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

.

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย
.

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)
.
นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร
.
สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย
.
มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
.
พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่
.
นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช
.
อาจแปลรวมความได้ว่าพระเจ้านครศรีธรรมราชพระองค์นี้เป็น “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

.

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”
.
ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

.

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิมฯ

 

ตำนานร่อนพิบูลย์: พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

ตำนานร่อนพิบูลย์:
พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

เมื่อแรกขึ้นล่องด้วยรถไฟ มักเลือกที่นั่งให้ติดหน้าต่างไว้เสมอ ทัศนะตอนมองออกไประหว่างโดยสารอยู่บนราง ทำให้สองข้างทางดูคล้ายภาพที่กำลังถูกดอลลี่ ส่วนเพลงประกอบและคำบรรยายแล่นแปลบปลาบอยู่แล้วในหูในหัวตามนิสัยพวกมีจินตนาการสูง

.

เส้นทางรถไฟสายแยกจากเขาชุมทองขึ้นไปจนสุดที่นครศรีธรรมราชนั้น ว่ากันว่าเป็นคุณอันประเสริฐของท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าเมื่อสถิตที่พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สองฟากยังเพียบพร้อมดีด้วยรอยเจริญแรกนั้นกับที่ตกค้างอยู่ก่อนหน้า ทั้งชุมชน โรงเรียน และวัดวาอาราม

.

วัดหนา

วัดหนา อยู่ในเขตหมู่ที่ ๕ ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีชื่ออย่างไทยๆ ว่า “วัดสระแก้ว” คำว่า “หนา” นี้ ได้ความจากพระครูปลัดธงชัย วิปุโล เจ้าอาวาส ว่ามาจากรูปการณ์ที่มีคนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น

.

ท่านครูยังเล่าต่อไปอีกว่า บริเวณตั้งวัดนี้เป็นโคกสูง แต่ก่อนเป็นที่รกร้างช้างนอนมีน้ำรอบ คลองโคกครามเป็นเส้นสัญจรหลักเข้านอกออกใน มีเขามหาชัยเป็นหัวท่ากับทะเลหลวงเป็นปากบาง ดูเหมือนว่าคลองมีชื่อนี้จะเป็นที่มาของตำนานคู่วัดเสียด้วย

.

เล่าว่า สองเจ้าฟ้าพระนามลำลองว่าวิเวกและวิวง หนีราชภัยเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าไสยลือไทผู้พระราชบิดาลงสำเภาใช้ใบมาจนถึงอ่าวนครศรีธรรมราช ล่องขึ้นไปจนถึงอู่ตะเภาแล้วแยกลงโคกคราม

.

ครั้นเห็นตำบลหนึ่ง เป็นที่สัปปายะสถานก็ผนวชบวชพระองค์ลงทรงศีล ส่วนเจ้าฟ้าวิวงผู้น้องล่องไปตะวันออกต่อแล้วจึงเลือกดอนหนึ่งขึ้นกอปรกิจเดียวกัน

.

เจ้าฟ้าทรงจระเข้

ลือกันติดปากจนเดี๋ยวนี้ ว่าพระน้องพระพี่เมื่อจะไปมาหาสู่กันนั้น ต่างกำหนดจิตเรียกเอาพระยากุมภีลชาติขึ้นมาเป็นพาหนะ ด้วยว่าคลองโคกครามนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกคลอง คือเป็นที่อาศัยของจระเข้ และดูเหมือนว่ายิ่งใกล้บ้านเรือนผู้คนก็ยิ่งชุกชุม บุญญานุภาพที่ต่อปากกันไปในเรื่องนี้ ทำให้ทั้งสองพระองค์เป็นที่เคารพนับถือโดยดุษณี

.

ท่าน้ำหน้าบ้านต่างผูกกระดิ่งไว้ เมื่อเจ้าขุนดำจระเข้ทรงว่ายไปถึงก็จะกระทบกระแทกพอให้กระดิ่งสั่นเป็นสัญญาณว่าเสด็จออกรับบิณฑบาตถึงหน้าเรือนแล้ว ส่วนเมื่อฤดูแล้งเล่ากันว่าทรงเสือ แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีอะไรเป็นสัญญาณ คงเป็นเสียงคำรนอ่อนๆ ในลำคออย่างวิสัยแมวใหญ่กระมัง

.

โพธิ์พุ่มหนึ่งเล่าว่าเคยเป็นที่ปักกลดทรงศีล แต่แรกเป็นต้น “บองยักษ์” เมื่อตายลงโพธิ์และไทรขึ้นโอบแทน โบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระประธานองค์หนึ่ง กับองค์ปูนปั้นขนาดย่อมอีก ๔ มีแผ่นสังกะสีจารึกว่าซ่อมใหญ่หลังพายุแฮเรียต

หน้าโบสถ์มีพระเจดีย์งามอยู่สามองค์ หัวนอนย่อมุมว่าเป็นที่เก็บกระดูกเจ้าขุนดำจระเข้ทรง องค์กลางทรงพระอัฐิเจ้าฟ้าวิเวกเป็นอย่างพระธาตุนครแต่เอวคอดไร้เสาหาน เบื้องตีนนอนรักษาเถ้าอังคารของพระอุปัชฌาย์ทัด

.

พระลากสองกษัตริย์

มรดกตกทอดสำคัญคือพระลากคู่ขวัญ มีชื่ออย่างทางการว่า “พระพุทธชัยมงคล” เล่าว่าแรกนั้นมีอยู่ ๓ ทอง ๑ เงิน ๑ สำริด ๑ องค์ทองเสด็จโดยสารรถไฟไปวัดพระมหาธาตุเสียนานแล้ว องค์สำริดทรงเทริดถมเงินอย่างนคร องค์เงินหล่อตันทั้งองค์ มีจารึกฐานระบุบอกว่าหลวงพรหมสุภา สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

.

ฟังไปเพลินไป ประเด็นที่ค้างใจเก็บตั้งไว้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว เช่นว่า เส้นทางน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับนครศรีธรรมราช ตัวตนของเจ้าฟ้ามีชื่อทั้ง ๒ วัดพี่ – วัดน้อง และสถาปัตยกรรมที่พบ เป็นอาทิฯ

สังเกตไหม ? ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช น้ำไม่เคยท่วมถึง

สังเกตไหม ?

ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

น้ำไม่เคยท่วมถึง

 

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต
.
เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์
.
แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล
.
ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”
.
บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?
.
น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง
.
สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
.
พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้
.
มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน
.
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต
.
ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”
.

น้ำท่วมนครศรีธรรมราช

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลงฯ