คุณณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ฅนต้นแบบเมืองนคร

หลายคนมักจะกลัวความผิดพลาดก่อนที่จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ ที่ยากยิ่งกว่าคือการเอาชนะความกลัวของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนภาษาสำหรับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เชื่อว่าหากเรามีความฝันและความมุ่งมั่นมากพอ เราจะสามารถทำได้สำเร็จ เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ที่มาร่วมแชร์ความฝัน แบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ รองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 ซึ่งภาษาอังกฤษได้กลายเป็นแรงผลักดันและตัวแปรสำคัญในชีวิตของเธอ อยากที่จะมอบโอกาสดีๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านโครงการสอนภาษาอังกฤษควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น

ความชื่นชอบภาษาอังกฤษในวัยเด็กกลายเป็นแรงผลักดันให้กล้าที่จะทำตามฝัน

คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ เป็นคนนครศรีธรรมราชแต่กำเนิด ชีวิตวัยเรียนได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศหลักสูตร EP หรือ English Program ทำให้สนใจเกี่ยวกับเรื่องภาษา รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละชาติ อยากออกเดินทางไปเห็นโลกกว้าง จึงบอกกับทางครอบครัวว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปได้หรือไม่ ด้วยความที่ครอบครัวรู้จักกับคนที่อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงตัดสินใจส่งคุณนิต้าไปเรียนที่นั่นเป็นเวลา 8 ปี

จากประสบการณ์ที่ได้ไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้คุณนิต้าเรียนรู้ว่าที่นั่นสอนให้ทุกคนกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะแสดงออกทางความคิด กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ หากเราได้พูดในสิ่งที่ปรารถนา ไม่แน่ว่าเราอาจทำสิ่งนั้นให้กลายเป็นจริงได้ เธอเชื่อว่าโอกาสอยู่รอบตัวเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ บางทีคนที่เรากำลังคุยอยู่ด้วยนั้นอาจเป็นผู้ที่หยิบยื่นโอกาสให้ก็เป็นได้ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายให้คุณนิต้าในวัย 25 ปี อยากที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยกล้าที่จะทำตามความฝันและกล้าลงมือทำ

หลังจากเรียนจบแล้วกลับมานครศรีธรรมราช คุณนิต้าได้พูดคุยกับคุณแม่ว่าอยากที่จะทำโครงการ Junior Guide เพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ชาวนครศรีธรรมราช เรียนผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คำขวัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปแบบการสอนผ่านการเล่นเกม ทำกิจกรรมต่างๆ ฝึกให้เด็กๆ กล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษ ลองผิดลองถูกในการใช้ภาษาอังกฤษ

โครงการนี้เรียกได้ว่าเป็น Miracle of Dream ของเธอ คลาสเรียนภาษาอังกฤษที่คุณนิต้าสอน นักเรียนที่เข้าร่วมมีความชื่นชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่กล้าที่จะพูดออกมา ทักษะด้านภาษานั้นต้องอาศัยการฝึกฝน ต้องกล้าที่จะผิดเพื่อเรียนรู้ให้ถูกต้อง เธอมักจะบอกกับเด็กๆ อยู่เสมอว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะพูดผิด ทุกคนที่มาเรียนต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เด็กๆ ควรภูมิใจในตัวเองที่กล้าเรียนรู้ภาษาอื่น สำหรับบางคนนี่ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ไม่ใช่เพราะการเรียนภาษานั้นยากเกินไป แต่การก้าวผ่านความกลัวของตัวเองได้นั้นคือสิ่งที่ทำได้ยากนั่นเอง

ครอบครัวคือ แรงสนับสนุนและกำลังใจสำคัญให้คุณนิต้าทำตามความฝันได้สำเร็จ

คุณนิต้า เล่าว่า ตัวเองเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอ ไม่ว่าคุณนิต้าอยากที่จะทำอะไร มักจะบอกกับทางครอบครัวเสมอ การที่ครอบครัวคอยซัพพอร์ตในทุกเรื่องที่อยากทำ สิ่งเหล่านั้นคอยหล่อหลอมให้เธอเป็นตัวเองในวันนี้ เส้นทางในการประกวดนางสาวไทย เริ่มต้นจากเวทีการประกวดนางงามที่นครศรีธรรมราช ซึ่งโครงการ Junior Guide ที่เธอทำมีส่วนช่วยให้ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชมากขึ้น กิจกรรมเข้าค่าย เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัด คือสิ่งที่คุณนิต้าชื่นชอบมาก เพราะได้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เธอแทบจะไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

จากเวทีแรกก็ได้เดินสายประกวดตามเวทีต่างๆ จนมาถึงเวทีที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตอย่างการประกวดนางสาวไทย นิยามของนางงามตามทัศนคติของคุณนิต้า คือ เราสนใจอะไรและเราเป็นใคร แสดงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด เป็นคนที่มีความจริงใจและเข้าถึงได้ สามารถสร้างกำลังใจให้แก่ผู้อื่นได้ เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด คุณนิต้า เล่าว่า เธอเป็นคนที่ได้รับโอกาสที่ดีมาตลอดจึงอยากสร้างโอกาสให้กับคนที่ไม่ได้รับโอกาส นี่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตของเธอ ชีวิตเธอก็มีบางช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกับคนอื่นๆ วันไหนที่เจอเรื่องแย่ๆ ก็พยายามคุยกับตัวเอง ดึงตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้ได้ เป็นเพื่อนสนิทกับตัวเองให้ได้

ส่งเสริมภาษาที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

ภาษาเป็นประตูสู่โลกกว้าง” การที่เรารู้แค่หนึ่งภาษา ก็จะรู้แค่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับของภาษานั้น แต่ถ้ารู้ภาษาอื่น เช่น ภาษาจีน นอกจากได้เรียนรู้เรื่องภาษาแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวกับประเทศจีนเช่นกัน การเรียนรู้ของเราก็จะกว้างขึ้น ทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น เราจะรู้สึกตัวเล็กลง กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น กล้าที่จะฝัน คุณนิต้าให้ความเห็นว่า การสอนภาษาอังกฤษในไทยค่อนข้างแตกต่างกับการนำไปใช้จริง โฟกัสกับการสอบมากเกินไป ทำให้เราไม่กล้าพูดเมื่อเจอกับชาวต่าวชาติ การเรียนรู้ที่ดีต้องรู้สึกสนุก เพราะภาษาคือทักษะที่ต้องฝึกฝน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะลองผิดลองถูก

ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์มากมายให้เราได้เรียนรู้ภาษา คุณนิต้าได้ทำคลิปใน TikTok  มาประมาณ 2 ปี แชร์ความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ เช่น คำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ สำนวนที่ให้กำลังใจแก่เด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ติดตามของเธอ โดยเฉพาะเรื่องความภูมิใจในตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น แน่นอนว่าช่องทางออนไลน์ทำให้ผู้คนเข้าถึงกันง่ายขึ้น การที่เธอมีตำแหน่งรองนางสาวไทย ไม่ว่าเธอจะพูดหรือทำอะไรย่อมมีผลต่อสังคมในวงกว้าง จึงต้องมั่นใจว่าสิ่งที่โพสต์ไปต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

คำถามที่มักจะได้ยินเมื่อเดินทางไปต่างประเทศคือ คุณมาจากที่ไหน? เมื่อตอบออกไปว่ามาจากประเทศไทย ชาวต่างชาติที่ถามคำถามนี้มักจะรู้จักประเทศไทยแค่กรุงเทพ ภูเก็ต และเชียงใหม่ แน่นอนว่าไม่มีใครรู้จักจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ความภูมิใจในความเป็นคนนครศรีธรรมราช ทำให้คุณนิต้าพยายามที่จะบอกเล่าว่าจังหวัดบ้านเกิดของเธอนั้นมีอะไรบ้าง ทุกความทรงจำที่มีในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เธอมีในทุกวันนี้

การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเธอมักจะบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดของเธอให้แก่คนอื่นๆ มาตั้งแต่อายุ 15  จนเมื่อกลับมายังประเทศไทย เรื่องราวที่เธอเล่าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ นอกจากนี้เธอยังชื่นชอบดนตรีไทยและสนใจอยากเรียนรำมโนราห์ จากการที่คุณนิต้าได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 นางสาวไทย ประจำปี 2563 จึงได้รับการติดต่อให้ร่วมรณรงค์ โครงการ “พระบรมธาตุสู่มรดกโลก” ถือเป็นเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการ Junior Guide ที่เธอทำ

เมื่อเจอปัญหาอย่าท้อ เมื่อเจออุปสรรคอย่าถอย

ชีวิตคุณนิต้า หลายคนอาจจะดูเหมือนได้รับการสนับสนุนในทุกเรื่อง แต่ใครจะรู้ว่าบนใบหน้าที่มีรอยยิ้มแววตาที่สดใสนี้ เบื้องหลังแล้วก็มีปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานาที่ต้องประสบ บ่อยครั้งที่ต้องนอนร้องไห้คนเดียว

ทว่าคุณนิต้ากลับลุกขึ้นมาฝ่าฟันกับปัญหาเหล่านั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถือเป็นประสบการณ์ในการก้าวเดินไปข้างหน้า คุณนิต้าแนะนำว่า “เราต้องเป็นเพื่อนสนิทของตัวเองให้ได้” นั่นคือต้องเข้าใจตัวเองให้ได้มากที่สุด ยามสำเร็จก็มีตัวเราเองนี่แหละที่จะชื่นชมความสำเร็จเราได้ดีที่สุด เช่นกัน ในยามล้มเหลว ผิดหวัง ทุกข์ ก็ตัวเราเองอีกนั่นแหละที่จะเป็นเพื่อนคอยปลอบใจ ให้กำลังใจตัวเราเองได้ดีที่สุด

จงกล้าที่จะผิด กล้าที่จะลอง กล้าที่จะล้มเหลว เพราะทุกความล้มเหลว คือ ประตูที่จะเปิดโอกาสสู่ความสำเร็จเสมอ

ทุกคนล้วนมีความฝัน แต่บางครั้งก็ขาดโอกาสในการสานต่อความฝันนั้น หากเราได้รับโอกาส จงใช้ให้คุ้มค่า อย่ากลัวที่จะลงมือทำ เพราะความผิดพลาดคือสิ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ แต่ถ้าเราไม่กล้าลองอะไรเลย เราก็ไม่รู้ว่าผิดตรงไหน จะไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่เกิดการพัฒนา ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าเราเสียโอกาสนั้นไปเปล่าประโยชน์

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณนิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ อาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง ฅนต้นแบบ งานต้นแบบเมืองนคร

การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับสายอื่น การที่จะผลักดันให้เด็กไปได้ไกลในสายอาชีพของตนเอง ครูผู้สอนมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนเช่นกัน ทางนครศรีสเตชั่นมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ บุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ครูผู้สร้างโอกาสให้นักเรียนอาชีวศึกษา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) กับงานต้นแบบอาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง

สร้างคุณค่า สร้างตัวตน บนเส้นทางชีวิตที่กำหนดเอง

เรืออากาศโทสมพรใช้ชีวิตโดยถือคติที่ว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช ช่วงชีวิตในวัยเด็กมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อในชุมชนมีงานอะไรก็ตามมักจะอาสาช่วยเหลืออยู่เสมอ รับจ้างทำงานต่างๆ ประสบการณ์ในวัยเด็กจึงหล่อหลอมให้เรืออากาศโทสมพรเติบโตมาเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ในชีวิต

เมื่อเรียนจบ มศ.5 ก็มีเจตจำนงค์ว่าจะเป็นทหารให้ได้ เพราะเป็นทหารจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน จึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงเทพฯ เรียนในโรงเรียนจ่าอากาศ ในที่สุดก็ได้เข้ารับเรียนในสาขา เหล่าทหารถ่ายรูป รุ่นที่ 26  ชีวิตราชการที่ต้องประจำการอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เรืออากาศโทสมพร ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองและหน่วยงานที่สังกัด จึงได้อุทิศตนทำงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆเพื่อหน่วยงาน จนมีผลงานได้รับเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นของกองทัพอากาศ จากนั้นได้รับการทาบทามให้ไปเป็นอาจารย์สอนระดับมัธยม แต่ด้วยวุฒิการศึกษาในระดับนั้นเรืออากาศโทสมพรมองว่า หากจะไปเป็นอาจารย์ควรมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่านี้

ด้วยความคนที่มีผลงานดีเยี่ยม และมีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรืออากาศโทสมพร มีติดตัวมาตั้งแต่เริ่มจำความได้  ร่วมกับการที่มีจิดสาธารณะ จึงได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชาส่งเสริม ให้การอนุเคราะห์นักเรียนทุนของกองทัพอากาศ ได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ จากนั้นสอบเทียบได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร  หนึ่งในผลงานที่ได้ทำระหว่างรับราชการเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนจ่าอากาศ คือ การมีส่วนร่วมในการ รับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อ ของโรงเรียนจ่าอากาศได้รับการเทียบวุฒิในระดับ ปวช.ของอาชีวศึกษา

ด้วยผลงานนี้เอง เรืออากาศโท สมพร ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาสนับสนุนให้เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 62 ซึ่งถือเป็นความภูมิใจสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิตของ เรืออากาศโท สมพร

จากนั้นจึงตัดสินใจไปเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ทำให้มีโอกาสพบปะกับผู้คนหลายสาขาอาชีพ นอกจากนี้เรืออากาศโทสมพรยังมีผลงานต่างๆ มากมาย ทั้งด้านปฏิบัติงาน ด้านสังคม ด้านศาสนา เช่น มีส่วนช่วยในการก่อตั้งสมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราช ในแวดวงศิลปหัตถกรรมได้รวบรวมบรรดาศิลปินพื้นบ้านก่อตั้งเป็นสมาคมศิลปินพื้นบ้านนครศรีธรรมราช ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ เป็นต้น

สร้างคน สร้างงาน เชื่อมโยงผ่านวิถีชีวิต

เมื่อได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยการอาชีพพรหมคีรี เรืออากาศโทสมพรมีแนวคิดการทำงานที่ว่าโลกของการศึกษากับอาชีพต้องเชื่อมโยงกัน การศึกษาที่แท้จริง คือ การช่วยเหลือให้นักเรียน นักศึกษานำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประกอบอาชีพได้ หากสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนหันมาเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น

จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จะสร้างโรงงานในโรงเรียน ทำโรงเรียนให้เป็นโรงงาน เชื่อมโยงการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านการทำงานกับบริษัทในการผลิตรถราง เกิดเป็นโครงการที่ชื่อว่า “เล่ารถชมเมือง เล่าเรื่องพระเจ้าตากสิน” ประกอบด้วยครู นักเรียนช่าง นักเรียนแผนกการโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพรหมคีรีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นไกด์ ขับรถแวะไปตามสถานที่สำคัญ สวนผักผลไม้ ร้านอาหาร

เมื่อเริ่มต้นโครงการได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคสิชล ริเริ่มให้มีการซื้อเครื่องมือช่างประจำตัวให้กับนักเรียนนักศึกษา สร้างหลักสูตรระยะสั้นให้บุคลากรเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่ม เน้นพัฒนาทักษะสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษเพื่อให้ร้านค้าในชุมชนสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้

จากนั้นเรืออากาศโทสมพรได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ด้วยจำนวนนักเรียนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับวิทยาลัยก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องมาคิดทบทวนใหม่ว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้เก่งขึ้น “จิตอาสา” จึงเป็นสิ่งที่ทางเรืออากาศโทสมพรอยากให้นักเรียนอาชีวศึกษาทุกรุ่นพึงมี เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นักเรียนอาชีวศึกษามักจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยเหลือ

อย่างประเพณีสารทเดือนสิบก็มีบริการปะยางฟรี 24 ชม. เป็นไอเดียที่สร้างสรรค์และช่วยสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ดีทีเดียวเมื่อใดที่สถานศึกษาเห็นความสำคัญของเยาวชน รวมถึงบุคลากรเป็นตัวอย่างที่ดี เยาวชนเหล่านั้นก็จะถูกรายล้อมไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตสาธารณะที่อยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชน

ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ที่จะช่วยสร้างคนดีคืนสู่สังคม

หนึ่งในหลักคิดหลักการทำงานของ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ คือ การที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และยึดหลักความกตัญญูเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกตัญญูต่อพ่อแม่ กตัญญูต่อหน่วยงาน กตัญญูแต่ชุมชน รวมถึงกตัญญูต่อประเทศชาติ ความกตัญญูนี้จะช่วยให้เราทำงานประสบความสำเร็จ เป็นที่รักใคร่ของคนที่ได้มีโอกาสได้ร่วมงาน

ความกตัญญูนี่เอง เรืออากาศโท สมพร พยายามถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ ผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยการสั่งสอนแนะนำ รวมถึงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อหวังที่จะสร้างคนดีคือสู่หน่วยงาน สร้างลูกหลานอาชีวะที่ดีคืนสู่สังคม

การบูรณาการทางการศึกษาและการสร้างความร่วมมือกับชุมชน คือความอยู่รอดของประเพณี

เรืออากาศโท สมพร ได้ให้ข้อคิดและตั้งข้อสังเกตุสำหรับการดำรงไว้ซึ่งเรื่องของ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของชาวนครศรีธรรมราช คือ ภาคการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการ ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อให้มีความเชื่อมโยงประสานกันชุมชน งานศิลปะ ประเพณี หลายอย่างกำลังจะถูกลืมเลือนไป ขาดคนรุ่นใหม่รับมรดกวัฒนธรรม เช่น การทำเครื่องเงิน หนังตะลุง เหลงบอก การรำมโนราห์   ฯ เป็นต้น

ภาคการศึกษาควรหยิบยก ศิลปะ วัฒนธรรมชุมชน มาเป็นหนึ่งในหลักสูตรเพื่อสืบสานสิ่งมีค่าทางชุมชนให้ดำรงไว้ เช่นการทำหลักสูตร การแกะหนังตะลุง สานกระเป๋าย่านลิเภา หรือ การทำคณะมโนราห์ เป็นต้น สอนทั้งในมิติการภาคการผลิต คือ ผลิตบุคลากรในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งเพิ่มเติมมิติทางการตลาดเพื่อให้ผลิตผลที่ทางระบบการศึกษาผลิตคนออกมาแล้วทำให้เกิดเป็นอาชีพ มีรายได้

ทำได้อย่างนี้ ของดี ของมีค่า ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ก็ยังคงอยู่ไม่ถูกทิ้งให้สูญหายไปกลับกาลเวลา และคนรุ่นใหม่ก็ได้เห็นคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างและถ่ายทอดกันมา

วัฒนธรรม ศิลปะ ในอนาคต

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กับวิถีชีวิตและการปรับตัวของนักเรียนอาชีวศึกษา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด สำหรับนักเรียนอาชีวะซึ่งเน้นภาคปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ วิกฤตโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษา การประเมินในภาคปฏิบัติจึงทำได้ยาก ช่วงเวลาที่ต้องหยุดเรียนทำให้นักเรียนห่างเหินจากการฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อวิชาชีพ

การจัดการศึกษาของอาชีวศึกษาในตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความพร้อมของผู้เรียน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในยุคก่อนหน้านี้นักเรียนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรอาชีวศึกษา มีทั้งนักเรียนที่อยากจะเรียนสายอาชีพอยู่แล้ว และก็มีบางส่วนไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนอะไร สายวิชาการก็ไม่ถนัดจึงตัดสินใจมาเลือกเรียนอาชีวะ

อย่างการเรียนออนไลน์ใช่ว่าจะตอบโจทย์ทุกระบบการศึกษา มีนักเรียนอาชีวะจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหานี้ บุคลากรเองก็ไม่ถนัดสอนออนไลน์ มักจะเกิดปัญหาบ่อยเมื่อต้องเช็คชื่อ เมื่อครั้งที่เป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช มีเด็กไม่ผ่านกิจกรรมจำนวนหนึ่ง

หลายคนมักจะตัดสินว่าเด็กเหล่านั้นไม่สนใจเรียน แต่สำหรับเรืออากาศโทสมพรไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับมองว่าต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าเมื่อทางบุคลากรไปสืบหาข้อมูลก็ได้คำตอบว่า บางคนต้องช่วยงานที่บ้าน บางคนต้องทำงานส่งเสียตัวเองเรียน จึงขาดเช็คชื่อในคาบเรียน ทำให้เด็กเสียโอกาสครั้งสำคัญ  ครูจึงต้องสร้างสื่อการสอนที่นักเรียนสามารถเรียนเวลาใดก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีการวัดผลได้ วิธีการวัดผล ต้องมีความยืดหยุ่น ดึงเอาสาระการเรียนรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพมาใช้ในการวัดผล

สำหรับเด็กฝึกงานที่ต้องหยุดชะงักในช่วงโควิด-19 ทางโรงเรียนไม่สามารถหาที่ฝึกงานได้เทียบเคียงเท่าโรงงาน การวัดผลจึงทำไม่ได้ จึงได้แก้ปัญหาให้นักเรียนทำโครงงานที่เกิดจากการบูรณาการหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการอาชีพ อย่างบางวิชาที่ไม่อยากทำโครงงาน เช่น การก่อสร้าง ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชพานักเรียนไปซ่อมแซมบำรุงอาคารบ้านเรือนในชุมชน เพื่อทดแทนวิชาฝึกงาน

แม้วิกฤตนี้จะจบลง แน่นอนว่าหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปโดยเฉพาะด้านอาชีพ สิ่งที่เรืออากาศโทสมพรกังวลคือ การที่นักเรียนจบไปแล้วแต่ไม่มีงานทำ เด็กอาชีวะจะต้องปรับตัวในเชิงของการสร้างสรรค์ สนใจใฝ่รู้ด้วยตัวเองให้มากขึ้นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ เข้าใจเรื่องมาตรฐานอาชีพ และศักยภาพของพนักงานที่บริษัทมองหาในอนาคต

อาชีพของคนเป็นครู มักจะมีจิตวิญญาณของการเป็นครูตลอด 24 ชม. การสอนของเรืออากาศโทสมพรมุ่งเน้นให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปวิเคราะห์เพื่อเป็นต้นทุนในการตั้งต้นชีวิต ด้วยความที่ท่านมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด การพัฒนาการศึกษาต้องทำให้นักเรียนรับรู้ในหลายมิติของชุมชนที่อยู่อาศัย สามารถบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกันได้ ผ่านการเรียนรู้จากสิ่งของ ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตอาสา ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เห็นคุณค่าของดีเมืองนครให้ได้รับการสืบทอดต่อไป

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ย้อนหลังได้ ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ