พญามือเหล็ก พญามือไฟ: ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

พญามือเหล็ก พญามือไฟ
ครูหมอ-ตายายโนราในพระราชพงศาวดาร

 

ครูหมอโนรา

ในชั้นนี้จะเว้นการนิยามคำว่าครูหมอกับตายาย

เพราะส่วนตัวเชื่อว่าหากสืบขึ้นไปลึกๆ

คงพล่ายกันแยกไม่ขาด

.

ห้วง ๑๕ วันตามความเชื่อ

ตั้งแต่แรกรับตายายมาในวันแรมค่ำ ๑ เดือนสิบ

บังเอิญให้ใคร่จะอ่านพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ในความหนา ๘๐๐ หน้า

จึงตั้งใจว่าจะแค่กวาดสายตา

หาคำว่า “นครศรีธรรมราช” เป็นพื้น

.

ยังไม่ทันถึงที่หมาย ภารกิจที่ว่าก็เสร็จเสียก่อน

เลยเปิดเล่นไปมา อ่านทวนแต่ละเรื่องเพื่อสอบความ

.

ความจริง

เคยมีแรงบันดาลใจให้ค้นเรื่องทำนองนี้แล้วครั้งหนึ่ง

จากเล่มเดียวกันนี้

คราวนั้นพบตำแหน่งมหาดเล็ก

ปรากฏในชื่อขุนนางวังหลวง ฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า

“หลวงนายศักดิ์ หลวงนายสิทธิ์ หลวงนายฤทธิ์ หลวงนายเดช”

ซึ่งก็ไปช่วยคลี่คลายบางอย่าง

เกี่ยวกับชื่อบุคคลที่ปรากฏอยู่ในบทกาศครูของชาตรี

“แต่แรกพ่อเป็นหลวงนายฯ”

แม้คำตอบที่ได้จะเป็นเพียงการยืนยันการมีตัวตน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาตรีกับราชสำนัก

เป็นอะไรที่อาจสาวความไปได้จากจุดนี้

.

เช่นเดียวกัน

พญามือเหล็ก และ พญามือไฟ

ก็ปรากฏในบทกาศครูของชาตรีว่า

“ไหว้(พ)ญามือเหล็ก(พ)ญามือไฟ

จะไหว้ใยตาหลวงคงคอฯ”

.

ทั้งสองพญามีชื่อ

ก็ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ว่ามีชีวิตในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช

เป็นแม่ทัพฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต

มีบทบาทสำคัญในศึกชิงเมืองพระพิษณุโลก

.

อย่างที่กล่าวแล้วว่า

นอกจากความนี้จะยืนยันตัวตนประการหนึ่ง

ความสัมพันธ์ของพื้นที่ต้นขั้วกับแหล่งวัฒนธรรมปัจจุบัน

เป็นเรื่องน่าสนใจ

การตกค้างผูกพันอยู่กับความเชื่อในฐานะบรรพชน

ทำให้เชื่อได้ว่าคนลาวกับชาวใต้

มีการยักย้ายถ่ายเทสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ

มานานแล้วตั้งแต่อดีต

ก่อนที่ความลาว ความไทย และความใต้

จะมาแยกเราขาดจากกัน

.

บทความอันนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างคร่าวๆ

ระหว่างนั่งรถกลับนคร

ไม่มีอะไรเป็นสรณะนอกจากหนังสือเล่มที่ว่า

ขอบพระคุณความเห็นจากกัลยาณมิตร ดังนี้

.

พี่สุรพงศ์ เอียดช่วย

“หวังว่าซักวันหนึ่ง

เราจะสืบค้นระบุการมีตัวตนของครูต้นได้ชัดเจน

ว่าท่านคือผู้ใดบ้างในห้วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

.

ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา

“ลอง search ดู เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ครับ

พระญาข้อมือเหล็ก สมัยหริภุญไชย

น่าจะปรากฏอยู่ใน ตำนานมูลศาสนา ถ้าจำไม่ผิด

ที่ลำปาง ก็มี เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

ส่วนเชียงใหม่ มีศาลเจ้าพ่อแขนเหล็ก

อยู่บริเวณที่เคยเป็นวังพระญามังราย กลางเมืองเชียงใหม่ ครับ

อาจจะเป็นตำแหน่งที่มีมาแต่เดิมในยุค ทวารวดี

เพราะ พระญาข้อมือเหล็ก เป็นตำแหน่งเสนาบดี

คู่พระญาบ่อเพ็ก ของพระนางจามเทวี ที่มาจากละโว้ ครับ”

.

ดร.วิทยา อาภรณ์

“จำได้ว่าที่ภาคเหนือพบเจ้าข้อมือเหล็ก

พญาข้อมือเหล็กเป็นผีชั้นสูงประจำพื้นที่ ผีขุนน้ำบ่อยเลย ชาวบ้านเลี้ยงประจำปี

น่าคิด มีเวลาน่าขยายจริง ๆ รูปแบบภาษา ประเพณี บ้านเรือน ยังพอให้สืบได้ ช้าไปก็ยิ่งจาง”

.

แต่คิดดูแล้ว เรื่องนี้เป็นประโยชน์

อย่างน้อยก็ในระดับความเข้า(ไปใน)ใจ

กับทั้งเป็นเครื่องพยุงศรัทธาของลูกหลาน

เพื่อยืนกรานสิ่งที่เรียกว่า “ความกตัญญู”

แม้ในชีวิตจริง เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน

เพราะถ้าปลายทางแจ้งอยู่กับใจ

ก็ใช่ว่าจะต้องเที่ยวใส่บ่าแบกหามภาระใดให้หนักตัว

 

ปล. การเทครัวปากเหนือลงมาปากใต้สมัยพระราเมศวรคงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องตามต่อ
ขอบพระคุณภาพปกจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จำหน่ายในหมู่ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๑