ตำนานพระธาตุเมืองนคร ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

ตำนานพระธาตุเมืองนคร
ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

 

ไม้คู่หนึ่งเกลียว ส่วนที่เหลือเป็นต้นเดี่ยวแบ่งฉาก

ว่าด้วยเรื่องทำพระธาตุ ที่ศรีธรรมราชมหานคร

.

วัดวังตะวันตก

วัดวังตะตก มีนานาเรื่องเล่าสำคัญเป็นของตัวเองอยู่ในมือ แต่เหตุใดไม่ร่ายเพิ่มเป็นตำนานประวัติศาสตร์ห้อยท้ายตำนานปรัมปราตามอย่างขนบการแต่งตำนานเหมือนสำนวนอื่นๆ ในท้องถิ่น เรื่องทำพระธาตุฉบับใดและเพราะเหตุใดที่จิตรกรเลือกใช้เป็นตัวแบบ สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฎในภาพ แสดงสัญลักษณ์หรือเข้ารหัสความคิด-ความรู้ใดเอาไว้บ้าง

.

เหล่านี้ เป็นคำถาม

เพื่อกระตุ้นความสนใจส่วนตัว

.

ฟังว่าเป็นภาพวาดสีพาสเทลเมื่อราว 40 ปีก่อน ฝีมือครูอุดร มิตรรัญญา ได้ต้นเค้ามาจากคัมภีร์พระนิพพานโสตรไม่สำนวนใดก็สำนวนหนึ่ง ฉากต้นยกเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระขึ้นแสดง ฉากปลายทำรูปสองกษัตริย์ (พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกับพระเจ้าอู่ทอง) ปันแดนที่ไม้แกวก

.

ตำนานพระบรมธาตุ

ถ้าไม่นับบทละครตำนานพระบรมธาตุและเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพุทธศักราช 2513 บทประกอบการแสดงแสงเสียง เรื่อง ตำนานพระบรมธาตุ ประจำปี 2537 และบทพากษ์ประกอบแสง สี เสียง มินิไลท์ แอนด์ ซาวด์ ในห้วงทศวรรษ 2550 แล้ว จิตรกรรมชิ้นนี้ถือเป็น “ภาคแสดง” ของทั้งเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการ “ทำพระธาตุ” ผ่านภาพวาดที่น่าศึกษา และสำหรับเรื่องนี้ คงเป็นหนึ่งเดียวในนครศรีธรรมราช จึงไม่พักจะพรรณนาว่าล้ำค่าสักปานใด

.

กราบอนุโมทนากับจิตรกรผู้ล่วงลับอย่างที่สุด เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้สนทนา-สัมภาษณ์ จึงถือเป็นหน้าที่ส่วนที่เหลือของผู้ชมโดยสมบูรณ์ ตามว่า The Death of the Author (แต่อันนี้ Death จริงใช่เพียงแค่เปรียบเปรย)

.

ในฉากมีอะไรให้ตื่นตาอยู่มาก จึงละเสียมาสังเกตของกั้นฉากทั้ง 27 ที่ทำเป็นไม้ยืนต้น ยังดูไม่ค่อยออกว่าเป็นต้นอะไร ในหนังสือ “คัมภีร์พระนิพพานโสตร ตำนานแห่งพระธาตุเมืองนคร นานาของดีกลางเมืองนคร” ยกว่ามี สะตอ ทุเรียน ขนุน เป็นพื้น

.

ไม้คู่เกลียวหนึ่ง

สังเกตเห็นไม้คู่เกลียวหนึ่ง ในท่ามกลางของกั้นอื่นๆ ที่เป็นต้นเดี่ยวทั้งหมด ฉากซ้ายมือหนังสือนั้นว่าเป็น “ฉากที่ 6 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว” ส่วนทางขวาเป็น “ฉากที่ 7 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารได้รับความช่วยเหลือจากเรือพ่อค้า”

.

หากไม้เกลียวคู่นี้ถูกเข้ารหัส

และมาแสดง ณ เหตุการณ์ที่สองกษัตริย์ขึ้นหาดทรายแก้ว

มีข้อพิจารณาใดที่พอจะถอดความได้บ้าง ?

.

ตั้งแต่ฉากแรกมาจนถึงฉากทางซ้ายของไม้คู่นี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่มีกล่าวในมหาปรินิพพานสูตร แล้วมาต่อกับตำนานพระเขี้ยวแก้วหรือทาฐาวังสะฝ่ายลังกา ส่วนถัดแต่ฉากไม้คู่ไป ว่าด้วยเหตุการณ์เรือแตก ร่ายไปจนทำพระธาตุบนหาดทรายแก้ว แล้วตั้งนครศรีธรรมราชเป็นกรุงเมือง

.

ไม่เคยอ่านต้นฉบับตำนานพระเขี้ยวแก้วของลังกา ผ่านตาเฉพาะในหนังสือ “มหาธาตุ” ของ ดร.ธนกร กิตติกานต์ ที่สรุปไว้ในตอนที่เกี่ยวข้องนี้ว่า สองกษัตริย์ (พระเหมชาลากับพระทนธกุมาร) เดินทาง “นำพระเขี้ยวแก้วไปถวายแด่พระเจ้าสิริเมฆวรรณแห่งลังกา” ในนั้นปราศจากอนุภาค “เรือแตก”

.

“ไม้คู่” แบ่งฉากตรง “เรือแตก” นี้

ต้นหนึ่งจึงอาจสื่อว่าข้างซ้ายเป็นของรับปฏิบัติมา

อีกหนึ่งบอกว่าขวาคือของเราที่ขอเคล้าด้วย

อาการเกลียวนี้จึงกำลังบอกตำแหน่งเริ่ม “เกี่ยวพัน”

.

ตำแหน่งไม้คู่

จึงอาจเป็นความพยายามของจิตรกร

ที่จะแสดงให้เห็นว่า “ตำนาน” นี้ มีต้นทางมา

กับการแตกเรื่องออกไปเป็นของท้องถิ่น

ทำนอง Oicotypification

เพื่อสร้างและอธิบายความหมาย

ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์

(ในที่นี้จะยังไม่ขอกล่าวเพิ่ม)

.

เรื่องหาด “ทรายแก้ว” นี้ก็น่าสนใจ เพราะเพิ่งรู้ว่าแปลมาจาก “รุวันเวลิ” ชื่อเรียกมหาสถูปแห่งเมืองอนุราธปุระฯ

 

ตำนานร่อนพิบูลย์: พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

ตำนานร่อนพิบูลย์:
พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

เมื่อแรกขึ้นล่องด้วยรถไฟ มักเลือกที่นั่งให้ติดหน้าต่างไว้เสมอ ทัศนะตอนมองออกไประหว่างโดยสารอยู่บนราง ทำให้สองข้างทางดูคล้ายภาพที่กำลังถูกดอลลี่ ส่วนเพลงประกอบและคำบรรยายแล่นแปลบปลาบอยู่แล้วในหูในหัวตามนิสัยพวกมีจินตนาการสูง

.

เส้นทางรถไฟสายแยกจากเขาชุมทองขึ้นไปจนสุดที่นครศรีธรรมราชนั้น ว่ากันว่าเป็นคุณอันประเสริฐของท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าเมื่อสถิตที่พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สองฟากยังเพียบพร้อมดีด้วยรอยเจริญแรกนั้นกับที่ตกค้างอยู่ก่อนหน้า ทั้งชุมชน โรงเรียน และวัดวาอาราม

.

วัดหนา

วัดหนา อยู่ในเขตหมู่ที่ ๕ ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีชื่ออย่างไทยๆ ว่า “วัดสระแก้ว” คำว่า “หนา” นี้ ได้ความจากพระครูปลัดธงชัย วิปุโล เจ้าอาวาส ว่ามาจากรูปการณ์ที่มีคนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น

.

ท่านครูยังเล่าต่อไปอีกว่า บริเวณตั้งวัดนี้เป็นโคกสูง แต่ก่อนเป็นที่รกร้างช้างนอนมีน้ำรอบ คลองโคกครามเป็นเส้นสัญจรหลักเข้านอกออกใน มีเขามหาชัยเป็นหัวท่ากับทะเลหลวงเป็นปากบาง ดูเหมือนว่าคลองมีชื่อนี้จะเป็นที่มาของตำนานคู่วัดเสียด้วย

.

เล่าว่า สองเจ้าฟ้าพระนามลำลองว่าวิเวกและวิวง หนีราชภัยเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าไสยลือไทผู้พระราชบิดาลงสำเภาใช้ใบมาจนถึงอ่าวนครศรีธรรมราช ล่องขึ้นไปจนถึงอู่ตะเภาแล้วแยกลงโคกคราม

.

ครั้นเห็นตำบลหนึ่ง เป็นที่สัปปายะสถานก็ผนวชบวชพระองค์ลงทรงศีล ส่วนเจ้าฟ้าวิวงผู้น้องล่องไปตะวันออกต่อแล้วจึงเลือกดอนหนึ่งขึ้นกอปรกิจเดียวกัน

.

เจ้าฟ้าทรงจระเข้

ลือกันติดปากจนเดี๋ยวนี้ ว่าพระน้องพระพี่เมื่อจะไปมาหาสู่กันนั้น ต่างกำหนดจิตเรียกเอาพระยากุมภีลชาติขึ้นมาเป็นพาหนะ ด้วยว่าคลองโคกครามนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกคลอง คือเป็นที่อาศัยของจระเข้ และดูเหมือนว่ายิ่งใกล้บ้านเรือนผู้คนก็ยิ่งชุกชุม บุญญานุภาพที่ต่อปากกันไปในเรื่องนี้ ทำให้ทั้งสองพระองค์เป็นที่เคารพนับถือโดยดุษณี

.

ท่าน้ำหน้าบ้านต่างผูกกระดิ่งไว้ เมื่อเจ้าขุนดำจระเข้ทรงว่ายไปถึงก็จะกระทบกระแทกพอให้กระดิ่งสั่นเป็นสัญญาณว่าเสด็จออกรับบิณฑบาตถึงหน้าเรือนแล้ว ส่วนเมื่อฤดูแล้งเล่ากันว่าทรงเสือ แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีอะไรเป็นสัญญาณ คงเป็นเสียงคำรนอ่อนๆ ในลำคออย่างวิสัยแมวใหญ่กระมัง

.

โพธิ์พุ่มหนึ่งเล่าว่าเคยเป็นที่ปักกลดทรงศีล แต่แรกเป็นต้น “บองยักษ์” เมื่อตายลงโพธิ์และไทรขึ้นโอบแทน โบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระประธานองค์หนึ่ง กับองค์ปูนปั้นขนาดย่อมอีก ๔ มีแผ่นสังกะสีจารึกว่าซ่อมใหญ่หลังพายุแฮเรียต

หน้าโบสถ์มีพระเจดีย์งามอยู่สามองค์ หัวนอนย่อมุมว่าเป็นที่เก็บกระดูกเจ้าขุนดำจระเข้ทรง องค์กลางทรงพระอัฐิเจ้าฟ้าวิเวกเป็นอย่างพระธาตุนครแต่เอวคอดไร้เสาหาน เบื้องตีนนอนรักษาเถ้าอังคารของพระอุปัชฌาย์ทัด

.

พระลากสองกษัตริย์

มรดกตกทอดสำคัญคือพระลากคู่ขวัญ มีชื่ออย่างทางการว่า “พระพุทธชัยมงคล” เล่าว่าแรกนั้นมีอยู่ ๓ ทอง ๑ เงิน ๑ สำริด ๑ องค์ทองเสด็จโดยสารรถไฟไปวัดพระมหาธาตุเสียนานแล้ว องค์สำริดทรงเทริดถมเงินอย่างนคร องค์เงินหล่อตันทั้งองค์ มีจารึกฐานระบุบอกว่าหลวงพรหมสุภา สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

.

ฟังไปเพลินไป ประเด็นที่ค้างใจเก็บตั้งไว้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว เช่นว่า เส้นทางน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับนครศรีธรรมราช ตัวตนของเจ้าฟ้ามีชื่อทั้ง ๒ วัดพี่ – วัดน้อง และสถาปัตยกรรมที่พบ เป็นอาทิฯ

ใครแต่ง ? ตำนานพระธาตุเมืองนคร

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ใช้ตั้งสมมติฐานว่าใครแต่งนี้ คือ “ฉบับกระดาษฝรั่ง” สำนวนนี้ถูกคัดมาจากหนังสือกระดาษฝรั่งเขียนเส้นหมึกในหอพระสมุดวชิรญาณ คัดมาจากหนังสือเก่าอีกทอดหนึ่งโดยถ่ายการสะกดคำตามต้นฉบับ และถูกพิมพ์ออกเผยแพร่หลายครั้ง ครั้งที่ได้เคยชวนอ่านและทบทวนกันแล้วทาง Nakhon Si sTation Platform (NSTP) เป็นฉบับที่คัดมาจากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ โปรดดู https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/

การตั้งคำถามว่า “ใครแต่ง ?” ต่อตำนานพระธาตุฯ ในฐานะสิ่งสืบทอดเป็นคติชนท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การชี้ตัวของผู้แต่งชนิดที่เค้นเอาว่าชื่อเสียงเรียงนามกระไร แต่คิดว่าจากโครงเรื่องและองค์ประกอบของเนื้อหาจะสามารถทำให้ภาพของผู้เขียนบีบแคบลงได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้เห็นความจำเป็นบางประการที่อาจจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการแต่ง ดังจะลองยกข้อสังเกตมาชวนกันพิจารณา ดังนี้

ตำนานพระธาตุ มีวิธีการเริ่มเรื่องในแต่ละฉากคล้ายบทละคร คือตั้งนามเมือง ออกพระนามของกษัตริย์และชายา โดยตัวละครที่ปรากฏมาจากการยืมจากทั้งวรรณคดี ชาดก และบุคคลในประวัติศาสตร์ ในที่นี้เนื่องจากฝ่ายกษัตริย์ต่างออกพระนามคล้ายกันคือ “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ยกเว้นเมืองทนทบุรีและชนทบุรี) จึงยกเฉพาะฝ่ายสตรีเป็นข้อสังเกต เช่น

๑. เมืองทนทบุรี (เมืองที่ประดิษฐานพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางมหาเทวี” เป็นพระอัครมเหสีของท้าวโกสีหราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาเทวี” ชื่อพี่สาวของพระเจ้าช้างเผือกแห่งเมืองเมาะตะมะ จากเรื่องราชาธิราช

๒. เมืองชนทบุรี (เมืองที่แย่งชิงพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางจันทเทวี” เป็นอัครมเหสีของอังกุศราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางมหาจันทเทวี” มเหสีพระยาอู่ กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของหงสาวดี มีพระธิดาองค์เดียวคือ “ตะละแม่ท้าว” อัครมเหสีของราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ จากเรื่องราชาธิราช ในเรื่องนี้เรียกนามนี้ว่า “มุชีพ” ส่วนอีกประเด็นคือ “จันทเทวี” เป็นอิสริยยศด้วยอย่างหนึ่งของทางหงสาวดี

๓. เมืองมัธยมประเทศ (เมืองที่ขอแบ่งพระธาตุ)

ระบุว่ามี “นางสันทมิตรา” เป็นอัครมเหสีของพระยาธรรมโศกราช
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางอสันธิมิตรา” อัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช

๔. ฝ่ายตะวันตก

ระบุว่ามี “นางจันทาเทวี” เป็นอัครมเหสีของพระยาศรีไสณรง 
น่าจะมีต้นเค้าจาก “นางจันทาเทวี” หนึ่งในมเหสีของบุเรงนองแห่งตองอู ยายของนัดจินหน่องประการหนึ่ง
“นางจันทาเทวี” ในสุวรรณสังขชาดกประการหนึ่ง และ “นางจันทาเทวี” ในสังข์ทองอีกประการหนึ่ง

๕. เมืองหงษาวดี

ระบุว่า “ท้าวเจตราช” เป็นพระราชบุตรของพญาศรีธรรมโศกราชกับนางสังขเทพ
น่าจะมีต้นเค้าจาก “เจ้าเจตราช” ผู้ครองเมืองเจตราช จากกัณฑ์ประเวศน์ เวสสันดรชาดก

ความจริงพิจารณาเท่านี้ก็น่าจะพออนุมานได้แล้ว
ว่าผู้แต่งควรมีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็น “มอญ” จากรอยที่ทิ้งไว้

เพื่อคลี่ขยายให้ชัดขึ้น เราต้องลองมาพิจารณาเนื้อความของตำนานที่อาจจะเป็น “รอยมอญ” กันต่อไป ในที่นี้จะขอยก ๒ ตำแหน่งที่อาจส่งความเกี่ยวเนื่องกัน

ตอนต้น

“ยังมีเมืองหนึ่งชื่อหงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหางมีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอดใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อพระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหสีชื่อสังขเทพี มีบุตร์ชายสองคนๆ หนึ่งชื่อท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อเจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มาเกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล

ตอนปลาย

“ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ในตอนต้น ตำนานกล่าวว่าเมื่ออพยพไพร่พลและญาติวงศ์ออกมาจากหงษาวดีแล้วไปตั้งอยู่ที่ “ริมชเล” ก่อนไข้ยุบลมหายักษ์ระลอกใหม่จะระบาดจนต้องยกย้ายไปกระหม่อมโคกแล้วสร้าง “นครศรีธรรมราชมหานคร” “ริมชเล” ที่แวะพักนั้น ในตำนานระบุว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ทำการวางแผนสร้างบ้านแปงเมือง น่าเชื่อได้ว่าจะคือส่วนหนึ่งของตะนาวศรีที่มาปรากฏอีกครั้งในตอนปลาย

ดังได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ใน “ตำนานพระธาตุเมืองนคร (ฉบับกระดาษฝรั่ง) เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?” แล้วที่ https://nakhonsistation.com/ตำนานพระธาตุเมืองนคร-เข/ ว่าตอนปลายของตำนานอาจเป็นข้อพินิจได้ด้วยว่า “ใครแต่ง ?”

จากที่ช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไปจนถึง ๒๑๙๗ เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครอง ประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีข้อสังเกตคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจเพราะในช่วงท้าย วัตถุประสงค์ของการเขียนตำนานเปลี่ยนไปจากเดิมเล่าความของพระธาตุมาเป็นการแสดงทำเนียบเจ้าเมือง หรือด้วยเพราะอาจจงใจอำพรางลางเมืองเพื่อต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

แน่นอนว่า การที่พระญาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาครองเมืองนครศรีธรรมราช จึงต้องส่งอิทธิพลต่อการแต่งและเขียนตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราชฉบับนี้อย่างไม่พ้นได้ ดังได้ยกตัวอย่างการให้ชื่อบุคคลในข้างต้นและเนื้อหาส่วนชี้ความสำคัญของเมืองตะนาวศรีแล้วในข้างท้าย (ส่วนการยืมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างประกาศิตในต้นตำนานจริงว่าอาจเป็นอีกประการร่วมพิจารณา แต่จะขอยกไว้ค้นคว้าต่อเพิ่มเติมด้วยเห็นว่าเพียงพอต่อการตั้งสมมติฐาน)

“มอญตะนาวศรี” จึงอาจคือพลังขับในการแต่งตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับนี้ 

____

ภาพจากปก :
สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 
หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๙

ตำนานพระธาตุเมืองนคร เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?

ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพื้นความรู้ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ศึกษาให้รอบด้าน เพราะนอกจากจะให้คุณค่าทางวรรณศิลป์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เพื่อสกัดเอาภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงอำนาจครอบงำความเชื่อและวิถีคิดของคนท้องถิ่น ณ จุดเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี การทำความเข้าใจตำนานพระธาตุ จึงควรก้าวให้พ้นจากการพิสูจน์จริงเท็จ ถอยออกมามองให้เห็นความหมายแฝงซึ่งซ่อนปนอยู่ในเนื้อหาแต่ละวรรค 

Nakhon Si sTation Platform (NSTP) ได้นำเสนอต้นฉบับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่งไปแล้ว (สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/ )และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกระตุ้นความสนใจด้วยข้อสังเกตที่อาจมีแรงบันดาลใจมาจากสภาวการณ์ทางสังคมปัจจุบัน คำถามในหัวหรือพิรุธบางประการในหลักฐานที่เคยคุ้นชินกันอยู่แล้ว 

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ? เป็นส่วนของคำถามที่เกิดขึ้นในหัว ซึ่งความจริงก็ไม่ถูกนักที่จะเค้นเอาคำตอบจากสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นมุขปาฐะ แต่ด้วยว่าเมื่อคำพูดถูกถ่ายทอดเป็นงานเขียน ย่อมทิ้งร่องรอยให้คิด ให้พอชวนตั้งคำถามอยู่ได้บ้าง

เขียนเมื่อไหร่ ?

๑.พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้เป็นประเดิมด้วยการอาศัยศักราชท้ายสุดที่ปรากฏในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗ ว่า “สันนิษฐานว่าแต่งในแผ่นดินพระนารายณ์ ศักราชในที่สุดบอกปีในปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง”

๒.หากใช้ศักราชสุดท้ายเป็นเหตุผลในการสันนิษฐาน มีข้อให้คิดได้อย่างหนึ่งว่าอาจเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๙๗ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง เพราะช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไป เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครองประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่

“อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ซึ่งในปีท้ายที่สุดนี้ก็อาจเป็นข้อพินิจในประเด็นที่ว่า “ใครเขียน” ดังจะได้อธิบายต่อไป ส่วนหลักฐานประกอบที่น่าสนใจอีกประการคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจด้วยจงใจอำพรางลางเมืองเพราะต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

๓.อาจต้องขอให้ลองสังเกตจากสิ่งต่อไปนี้

๓.๑ แผนผังการวางตำแหน่งศาสนสถานสำคัญตามขนบของอยุธยาตอนต้น คือ เจดีย์ประธานอยู่ตำแหน่งกลาง ทิศตะวันออกเป็นพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ

๓.๒ ตำแหน่งปัจจุบัน เจดีย์ประธานคือพระบรมธาตุเจดีย์ พระวิหารหลวงคือวิหารพระธรรมศาลา พระอุโบสถเป็นมุขของพระระเบียงคดที่ถูกดัดแปลงตัดช่องผ่ากลางให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระระเบียง

๓.๓ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ยังคงตำแหน่งเดิมเช่นเดียวกันกับวิหารพระธรรมศาลา ยกเว้นตำแหน่งพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ที่กล่าวถึงการดัดแปลงไปแล้วในข้อที่ ๒

๓.๔ ตำแหน่งที่ควรจะเป็นพระอุโบสถมีหลักฐานระบุว่าเป็น “พระธรรมรูจี” ตามใบบอกของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เรื่อง ส่งรายงาน ศก ๑๑๖ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๗ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กรณีบูรณะศาสนสถานต่างๆ รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ความว่า

“พระธรรมรูจี ต่อพระระเบียงด้านตะวันตก ทำแล้วยาว ๖ วา กว้าง ๑ วา ๓ ศอก สูง ๓ วา ๔ ห้อง พระพุทธรูป ๘ องค์ ๑ หลัง” 

๓.๕ คำว่า “ต่อ” และ “ทำ” ชี้ไปในประเด็นว่า “สร้าง” ไม่ใช่ “บูรณะ” ก็จริง แต่พบว่าในใบบอกฉบับเดียวกันมีการกล่าวถึงวิหารพระธรรมศาลาก่อนในลักษณะเดียวกัน ความว่า “พระธรรมศาลา เป็นมุขต่อพระระเบียงด้านตะวันออกพระบรมธาตุ” ซึ่งพระธรรมศาลามีประวัติการสร้างในปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ ก่อนการบูรณะในครั้งนี้ ก็พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระธรรมรูจีนี้ มีมาก่อน การ “ต่อ” และ “ทำ” จึงเป็นการ “บูรณะ” ไม่ใช่ “สร้าง”

ภาพถ่ายองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จากทิศตะวันตก
สังเกตเห็นอาคารตรงกับองค์พระบรมธาตุมีช่องประตู

๓.๖ หลักฐานแสดงการมีมาก่อนของพระธรรมรูจีคือภาพถ่ายในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ที่ยังคงใช้ประตูด้านทิศตะวันตกเป็นทางเข้าออก 

๓.๗ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ไม่ได้กล่าวถึงส่วนที่เป็น “พระธรรมรูจี” ไว้ และจากความสำคัญของแผนผังตามขนบอยุธยาที่ต้องมีพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานแต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวเลยในตำนานข้างต้น จึงอาจพอสันนิษฐานได้ว่า

“ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชแต่เดิมอาจมีการถ่ายทอดต่อในลักษณะมุขปาฐะ ต่อมาเมื่อมีการเขียนบันทึกไว้ จึงอ้างอิงจากโบราณสถานที่ยังพบเห็นอยู่ เมื่อพระธรรมรูจีได้ถูกดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวิหารพระระเบียงคดไปแล้ว จึงไม่ได้กล่าวถึง จึงเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง) น่าจะมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในยุคหลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ แต่ไม่เกินการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๗๑”

ทั้งนี้ อาจต้องพึ่งการวิเคราะห์จากหลักฐานและข้อสังเกตอื่นๆ ประกอบ ทั้งสำนวนที่ใช้ เทียบกับสำนวนของเอกสารโบราณอื่นที่ระบุเวลาในการเขียนและร่วมสมัย การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณที่เคยเป็น “พระธรรมรูจี” ว่าในปี ศก ๑๑๖ นั้น “สร้าง” หรือ “บูรณะ”

ในท้ายที่สุด แม้การสันนิษฐานทั้ง ๓ ข้อ จะมีส่วนเป็นไปได้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด ตำนานก็ได้ทำหน้าที่ของตำนานอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือการชวนคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียบเรียงและผู้ที่อ่านมาถึงวรรคนี้ มาจับเขาคุยกันอย่างจริงจัง ว่าเมื่อไหร่ ? เราควรจะเขียนตำนานฯ

____
ภาพจากปก : สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298