ลาวหลังพระธาตุ ความทรงจำที่กำลังถูกถมไปพร้อมสายคลอง

คลองลาว

ถมในที่นี้ชี้ไปในความหมายเดียวกับคำว่า “ลืม” ก็ถ้าไม่ได้คุยกับบังยมและคุณลุงชาวมะม่วงสองต้นอีกท่านที่มานั่งรอ “ปลาดุกคลองลาว” ตรงท่อระบายน้ำของร่องถนนพุทธภูมิ ผมเองก็คงไม่คิดว่าลาวจะมามีชื่อมีชุมชนอยู่ในเมืองนครไปอย่างไรได้
.
ความจริงเช้าวันนั้นไปเดินตามหาความสุขที่อาจจะหล่นหายเสียรายทาง เพราะความอยากได้ มี เป็น เที่ยวไปเห็นอะไรๆ ที่เขาสุกๆ กันแล้วอยากจะสุกขึ้นเองบ้าง ลืมนึกไปว่าของจริงอันแท้ต้องสุข ที่เห็นๆ อยู่คร่ำไปนี้ มันแค่สุก
.
ข้อคิด ข้อธรรม ไม่ใช่สาระหลักที่จะเขียนถึง แต่เป็นเหตุตั้งต้นให้เกิดเรื่อง จึงจั่วหัวไว้แต่น้อย
.
“ถ้าปลาดุกคลองลาวไม่ขึ้นกะเปลา”
คุณลุงท่านหนึ่งตอบผมด้วยท่าทางจริงจัง ในมือกำและสะพายแหไว้ในท่าเตรียมพร้อม ปากคีบใบจากไว้มวนหนึ่ง ควันละลอกลอดออกมาผุยๆ ตามจังหวะพูด
.
“คลองลาว อยู่ไหนหล่าวลุง ?”
ตานี้ บังยมที่ตามมาสมทบได้สักพักเป็นฝ่ายตอบแทน แกชี้โพล้งไปที่หน้าศาลาแม่ตะเคียน ตรงนั้นมีสระอยู่อันหนึ่ง แล้วตอบว่า “เขาถมเหลือหิดเดียวเท่านั้นแล้ว เป็นเขตอภัยทาน ปลาดุกจังเสีย พอน้ำขึ้นมันล่องออกมาอยู่ปล้องนี้”
.
“ถึงลาวนี้พันพรือครับ ? โหมลาวงั้นหึลุง ?”

“หมัน โหมฝ่ายนู้แหละ เขาเล่ากันมาพันนั้น ว่ามาช่วยทำพระธาตุ แล้วกะอยู่แถวนี้ เท่าฮั้นแหละ ถ้าเขาหก เรากะหกต่อเพ้อไปแหละ ไม่ที่ทำพรือ” แล้วก็ชวนกันหัวเราะยกใหญ่
.
ถ้าจะลองจับต้นชนปลายดูรอบกำแพงพระมหานครศรีธรรมราช ทิศเหนือมีตลาดแขก ทิศตะวันออกมีป่าขอม ทิศใต้มีวัดท้าวโคตร (มอญ) ทิศตะวันตกมีคลองลาว ก็นานาชาติพันธุ์ล้อมเราอยู่อย่างนี้ จะไม่ให้เป็นเมืองสิบสองชาติ สิบสองภาษา สิบสองนักษัตรไปอย่างไรไหว ?
.
แต่ลาวนี้ถูกลืม ลืมไปพร้อมกับการถมสายคลองเมื่อสมัยไหนก็ลืมถาม แต่ลาวมาแน่ มีแน่
.
ลองทวนความทรงจำดูเพลินๆ

๑. ถ้าลาวคือที่ราบสูงสองฝั่งแม่น้ำโขง

“กัจฉปะชาดก” อันที่เพิ่งรู้ใหม่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ก็มีแพร่หลายเป็นทั้งศิลปกรรมและคติชนที่แพร่อยู่มากในอีสานสอดคล้องกันดีอยู่ข้อหนึ่ง อีกอันที่พี่ กอก้าน ไม้เรียว เล่าไว้ว่า “ปลาใส่อวน ที่คลองลาวมีวิธีการหมักคล้ายๆ การหมักปลาร้านะคะ เพราะใส่ข้าวคั่วและหมักไว้ในไหจนเปรี้ยวด้วยค่ะ ไม่เหมือนการหมักปลาเค็มของทางใต้ที่เน้นการหมักเกลือ และตากแดดเก็บไว้นะคะ” อันนี้เป็นของตกค้างในวัฒนธรรมอาหารจำพวกเน่าแต่อร่อยกระเดียดไปข้างปลาแดกของทางนั้นสำทับได้ดีอยู่ข้อหนึ่ง

๒. ถ้าลาวคือฝ่ายเหนือ

อันนี้มีกล่าวในบันทึกประวัติศาสตร์ว่าสมเด็จพระราเมศวรเทครัวหัวเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือลงมานครศรีธรรมราช ตรงนี้ยุคสมัยอาจแย้งกับที่ชาวมะม่วงสองต้นเล่ากันว่ามาช่วยทำพระธาตุเพราะเก่าก่อนยุคต้นกรุงศรีอยุธยาอยู่มาก แต่ก็ไม่ควรตัดทิ้ง เพราะนัยยะเกี่ยวกับโครงเรื่องทำพระธาตุนี้มีแพร่หลายอยู่ทั่วไป คล้ายกับว่าของสำคัญควรเมือง ใครๆ ก็อยากมีประสบการณ์ร่วม
.
ไม่ว่าจะเป็น ๑. หรือ ๒. ก็รวมความไว้ได้ก่อนว่าเป็นชาว “ข้างบน” ที่มาช่วยกันทำพระธาตุ ถ้าเราเอาพระธาตุเป็นศูนย์กลาง คราวนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าผู้มาช่วยสร้างบ้านแปงเมืองนั้นมาจาก “ทั่วสารทิศ” อย่างแท้ทรู
.
บนขวา มีรอยลาว ที่คลองลาว
บนซ้าย มีรอยมอญ ที่ท่ามอญ, วัดท้าวโคตร
ล่าง มีรอยมลายู ที่ตลาดแขก
.
แน่นอนว่าเมื่อลาวมาอยู่หลังพระธาตุในพื้นที่นานี้ ต้องเป็นอะไรเกี่ยวข้องเนื่องกันให้ตามต่อ แม้คลองลาวในปัจจุบันจะมีชื่อฝากอยู่แค่ในความทรงจำของชาวมะม่วงสองต้น แต่ก็น่าคิดว่า อะไรคือปัจจัยที่ไม่ทำให้คนท้องถิ่นถมประวัติศาสตร์สำคัญของตัวเองไปพร้อมคลองฯ