ต้นฉบับภาพเก่าโนรา ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต้นฉบับภาพเก่าโนรา

ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

เมื่อราว 2 ปีก่อน บังเอิญมีโอกาสได้รับมอบหมายจาก ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ คณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สู่มรดกโลก ให้เป็นผู้ประสานงานกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อขอคัดสำเนาภาพถ่ายเก่าที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครศรีธรรมราช ได้ความกรุณาไว้หลายรายการ หนึ่งในนั้นเป็นสำเนาต้นฉบับที่บันทึกกิจกรรมภายในวัดของคณะบุคคลไว้ วาระนี้จะคัดออกเผยแพร่เฉพาะที่เห็นว่าเป็นภาพ “โนรา” ในวันสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสปักษ์ใต้ และดังระบุแล้วว่าได้คัดสำเนาแบบดิจิทัลจากต้นฉบับโดยตรง แม้หลายท่านจะเคยเห็นภาพเหล่านี้บ้างแล้ว แต่เชื่อว่าการเมื่อคลี่ขยายออกดูรายละเอียดจากต้นฉบับนี้ จะทำให้สามารถเห็นหรือเป็นประเด็นศึกษาต่อได้มากขึ้น

หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
เมื่อลองขยายดูส่วนประกอบต่าง ๆ
   
พราน ถ้าเป็นภาพสีแล้วเห็นเป็นหน้าขาวเสียหนึ่ง คงพอจะชี้ลงได้ว่าเป็นทาสีหนึ่ง พรานหนึ่ง
แต่อนุมานเอาก่อนจากสีพรานผู้ถอดเสื้อว่าคงเป็นพรานทั้งสอง ถอดเสื้อหนึ่ง ใส่หนึ่ง
 
โนรา เสียดายก็แต่ไม่ได้เห็นเครื่องทรงเต็มองค์ แต่พอจะสังเกตเห็นเล็บทั้ง 4 ที่ดูเหมือนจะสอดลูกปัดไว้เล็บละเม็ดสองเม็ด
  ดูเหมือนว่าท่าจับในลักษณะนี้จะพบเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน อาการที่หัวจุกใช้ร่องศอกขวาเกี้ยวขาขวาขึ้นเป็นท่าขี้หนอน
ในขณะที่มือกำกระบองสั้นไว้ ส่วนมือซ้ายก็ยื้อยุดกับหัวจุกอีกคนในท่าเดียวกัน
โนรา เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าถ้าโนราเกี้ยวขาขึ้นแล้วเป็นอันรับรู้ร่วมกันว่าคือท่าขี้หนอน
ขี้หนอนนี้เป็นชื่อเรียกกินนรอย่างทางใต้ ขี้หนอนจึงอาจคือท่าเอกลักษณ์ของโนรา
โดยส่วนตัวตรึงตากับโนรานายนี้มาก
จะติดก็แต่จินตนาการไม่ออกว่าท่าส่งขึ้นขี้หนอนนี้มาอย่างไรและจะเยื้องท่าไปอย่างไรต่อ
ภาพนี้เห็นส่วนสนับเพลา คือส่วนที่ครูมโนห์รารุ่นก่อนมักเรียกว่า “ขากางเกง”
มีเฉพาะส่วนขา ปลายสุดสอดเชือกไว้สำหรับรูดคล้ายปลอกหมอนข้างในปัจจุบัน
มีของโบราณอย่างที่ว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิหารคด วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ตรงนี้น่าสนใจ เพราะอาจสะท้อนความเชื่อโบราณว่าหากยังเป็นหัวจุกอยู่จะสวมเทริดไม่ได้
ต้องผ่านพิธีตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดเสียก่อน ในภาพนี้ดูจะเป็นโนราที่เยาว์นักเมื่อเทียบกับนายขี้หนอนก่อนหน้า
อาจเป็นไปได้ว่าจะตัดจุกตามคติโบราณฝ่ายนครเหมือนที่เคยคุยกับบุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช ว่าเด็กชายตัด 13 เด็กหญิงตัด 11
คิดว่าคงเพิ่งผ่านพิธีกรรมตัดจุกผูกผ้าครอบเทริดมาหมาดๆ
ส่วนพรานผู้นั่งมหาราชลีลาในท่าประนมมือพร้อมผ้าพาดบ่านั้น ไม่ตีบทอยู่ ก็กำลังอัญชลีผู้อยู่หลังกล้อง
ลูกคู่ สังเกตจากภาพแล้วดูเหมือนจะนั่งล้อมวงกันมุมนี้เห็นหลังนายโหม่ง
สวมเสื้อแพร นั่งเสื่อท่าพับเพียบเก็บปลายเท้าเสียด้วย
โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้นฯ
___
ภาพปก หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 74M00036
ภาพในเรื่องและภาพส่วนขยาย หมายเลขกำกับภาพของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 59M00005
ปล. ท่านผู้ประสงค์จะนำภาพไปใช้เพื่อกิจใด ๆ ขอความกรุณาศึกษาวิธีการใช้ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้ถี่ถ้วนก่อนนะครับ