ผศ.ดร.เมธาวี จำเนียร สื่อสาร สืบทอด ต่อยอดทุนวัฒนธรรมชุมชน

ในแต่ละชุมชนย่อมมีวัฒนธรรมและขนบประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของตนและสืบทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมเหล่านี้อาจจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนนั้น ๆ ก็ว่าได้ แต่เมื่อโลกหมุนเวียนเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี วัฒนธรรมชุมชนอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเองก็เริ่มจะเลือนหายทั้งการถูกละเลยจากคนรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงการไม่สามารถพัฒนาให้ร่วมสมัยได้ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะวัฒนธรรมบางอย่างหากสามารถนำไปต่อยอดได้ก็จะสร้างทั้งโอกาสและรายได้ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้เองจึงมีบุคคลต้นแบบท่านหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนให้คงอยู่ผ่านกระบวนการสื่อสาร เผยแพร่วัฒนธรรมนั้นให้เป็นที่รู้จัก บุคคลต้นแบบที่เราจะพาไปทำความรู้จักผู้นี้ก็คือ ผศ.ดร.เมธาวี จำเนียร หรืออาจารย์แม้ว อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

วัยเด็กจากหาดใหญ่สู่การเป็นนักวิจัยที่มาทำประโยชน์ให้กับนครศรีธรรมราช

อาจารย์แม้วไม่ใช่คนจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด อาจารย์มีบ้านเดิมอยู่ในพื้นที่หาดใหญ่จังหวัดสงขลา ในวัยเด็กของอาจารย์เกิดและเติบโตอยู่ภายในพื้นที่จังหวัดสงขลามาโดยตลอดจนกระทั่งเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ด้วยความชื่นชอบในด้านการเขียนและเคยได้เขียนบทความลงวารสารต่าง ๆ มาแล้วอาจารย์แม้วจึงเริ่มหันเหความสนใจเข้าสู่แวดวงของการสื่อสารมวลชนโดยเข้าศึกษาต่อที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในด้านการประชาสัมพันธ์รวมถึงเป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันแห่งนี้ด้วย

ในวันหนึ่งอาจารย์แม้วมองเห็นโอกาสที่จะได้ลองเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงได้ลองสมัครงานในตำแหน่งอาจารย์ที่คณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชในปี 2551 และได้รับโอกาสให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มาเลเซีย ภายหลังเรียนจบจึงได้กลับมาทำงานด้านวิชาการและการวิจัยที่ราชภัฏนครศรีธรรมราชทั้ง ๆ ที่แต่แรกนั้นอาจารย์แม้วไม่ได้รู้สึกอยากที่จะเป็นนักวิจัยเลยด้วยซ้ำ

จุดเริ่มต้นของการทำงานคือการมองเห็นของดีที่หลากหลายในพื้นที่นครศรีธรรมราช

ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่อาจารย์แม้วได้มาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ่งที่อาจารย์แม้วมองเห็นคือ “ความหลากหลายของวัฒนธรรมและทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่” รวมไปถึง “ความอุดมสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้านของจังหวัดนี้” แต่แม้จะมีความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์มากเพียงใด ของดีหลาย ๆ อย่างกลับถูกละเลยและมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่นอกจากจะมีพันธกิจในด้านการสอนแล้ว อาจารย์แม้วยังมีพันธกิจในเรื่องของการวิจัยและการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนด้วย อาจารย์แม้วจึงต้องการที่จะผลักดันของดีในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นภายใต้องค์ความรู้ด้านการสื่อสารมวลชนที่อาจารย์แม้วมี

3 ของดี 3 วัฒนธรรมชุมชนได้รับการต่อยอดจนสร้างชื่อและสร้างโอกาสให้ชุมชน

เมื่ออาจารย์แม้วตั้งใจที่จะช่วยผลักดันวัฒนธรรมชุมชนอันเป็นของดีในแต่ละพื้นที่ให้เป็นที่รู้จัก อาจารย์แม้วจึงเริ่มมองหาวัฒนธรรมแรกที่ต้องการสืบทอดและต่อยอดให้ร่วมสมัยมากขึ้น โดยของดีแรกที่อาจารย์แม้วเลือกก็คือ “รำโทนนกพิทิด” อันเป็นการละเล่นพื้นบ้านของตำบลกรุงชิง ซึ่งอาจารย์แม้วได้มีโอกาสได้เข้าไปทำความรู้จักกับผู้นำชุมชน และพบว่าการละเล่นพื้นบ้านนี้แม้จะเป็นของดีแต่กลับมีผู้ที่สืบสานน้อยมาก อาจารย์แม้วจึงได้เข้าไปช่วยสร้างกระบวนการรับรู้การละเล่นพื้นบ้านนี้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ทั้งการสร้างสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กรวมถึงการบันทึกวิดีโอท่ารำและเพลงประกอบ จนในภายหลังทางมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสืบสานวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้เกิดการวิจัยในลักษณะของการร่วมมือกันในแต่ละศาสตร์เพื่อเข้ามาช่วยเหลือและยกระดับวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน รำโทนนกพิทิดจึงได้รับการยกระดับสืบสานอย่างเป็นระบบและมีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มีความร่วมสมัยมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนได้ในที่สุดซึ่งรวมไปถึงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นพวงกุญแจ ถุงหอมรูปนกพิทิด เป็นต้น

ของดีต่อมาที่ได้รับการยกระดับให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นก็คือ “ขนมลา” อันเป็นของดีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชเช่นกัน แต่ด้วยผู้คนยังติดภาพว่าขนมลาจะมีจำหน่ายในช่วงเดือนสิบตามงานประเพณีสารทเดือนสิบและเป็นขนมที่เป็นที่นิยมในผู้สูงอายุเท่านั้น ทางอาจารย์แม้วและทีมวิจัยจึงต้องสร้างการรับรู้ใหม่รวมถึงปรับปรุงภาพลักษณ์และรูปแบบของสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงการสื่อสารให้ขนมลาสูตรปรับปรุงใหม่นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นจนในปัจจุบันมีเพจที่รวบรวมผู้ประกอบการจำหน่ายขนมลาเกิดขึ้นและได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากเช่นกัน

ไฮไลต์ของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชซึ่งมีอาจารย์แม้วเป็นหนึ่งในทีมวิจัยต่อยอดของดีในชุมชนก็คือ “การยกระดับปลาใส่อวน” ให้เป็นที่รู้จัก สำหรับปลาใส่อวนนั้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะรู้จักในชื่อของปลาส้ม ดังนั้นความยากของโปรเจกต์นี้ก็คือจะทำอย่างไรให้ปลาใส่อวนหรือปลาส้มของนครศรีธรรมราชเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยทางทีมวิจัยได้พยายามหาอัตลักษณ์เฉพาะของปลาใส่อวนที่แตกต่างจากปลาส้มของจังหวัดอื่น ๆ และอัตลักษณ์เฉพาะของปลาใส่อวนของนครศรีธรรมราชก็คือการนำ “ข้าวคั่ว” มาหมักปลาซึ่งจะทำให้ปลาใส่อวนมีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะแตกต่างจากปลาส้มของพื้นที่อื่น ๆ  นั่นเอง

นอกเหนือจากการนำข้าวคั่วมาใช้ ปลาใส่อวนของนครศรีธรรมราชยังโดดเด่นที่การใช้เนื้อปลาที่หลากหลายและมีสูตรเฉพาะในแต่ละพื้นที่ซึ่งตอบโจทย์ความชอบที่หลากหลายของคนที่ได้รับประทานด้วยเช่นกัน โดยโปรเจกต์นี้อาจเรียกได้ว่ามีความยากอยู่พอสมควรเพราะนอกจากจะต้องทำให้ปลาใส่อวนเป็นที่รู้จัก ทางทีมงานต้องพยายามช่วยกันขบคิดเพื่อยกระดับปลาใส่อวนนี้ขึ้นสู่สากลให้ได้ทั้งการแปรรูปสินค้า การสร้างแบรนด์ การโปรโมตการตลาดเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ปลาใส่อวนหนึ่งในของดีประจำนครศรีธรรมราชนี้ขึ้นมาให้ได้

พลังของสื่อสารมวลชน พลังแห่งการสรรสร้างประโยชน์เพื่อสังคม

อาจารย์แม้วได้ทิ้งท้ายถึงพลังของการสื่อสารมวลชนที่อาจารย์ได้นำมาช่วยสื่อสารเพื่อสืบทอดและต่อยอดวัฒนธรรมชุมชนได้อย่างน่าสนใจว่า เป็นพลังที่สามารถสรรสร้างให้โลกไปในทิศทางที่ดีได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์แยกแยะเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นในทุก ๆ ครั้งก่อนที่เราจะพูดหรือโพสต์สิ่งใดออกมาเราจำเป็นที่จะต้องคิดก่อนที่จะทำการสื่อสารในทุกครั้ง และหากสิ่งที่เราสื่อสารออกมานั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ก็นับได้ว่าสิ่งที่เราสมควรทำเพื่อสร้างสรรประโยชน์ให้แก่สังคมที่เราอาศัยอยู่นั่นเอง

ชมคลิป VDO สัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ