ตำนานร่อนพิบูลย์: พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

ตำนานร่อนพิบูลย์:
พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

เมื่อแรกขึ้นล่องด้วยรถไฟ มักเลือกที่นั่งให้ติดหน้าต่างไว้เสมอ ทัศนะตอนมองออกไประหว่างโดยสารอยู่บนราง ทำให้สองข้างทางดูคล้ายภาพที่กำลังถูกดอลลี่ ส่วนเพลงประกอบและคำบรรยายแล่นแปลบปลาบอยู่แล้วในหูในหัวตามนิสัยพวกมีจินตนาการสูง

.

เส้นทางรถไฟสายแยกจากเขาชุมทองขึ้นไปจนสุดที่นครศรีธรรมราชนั้น ว่ากันว่าเป็นคุณอันประเสริฐของท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าเมื่อสถิตที่พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สองฟากยังเพียบพร้อมดีด้วยรอยเจริญแรกนั้นกับที่ตกค้างอยู่ก่อนหน้า ทั้งชุมชน โรงเรียน และวัดวาอาราม

.

วัดหนา

วัดหนา อยู่ในเขตหมู่ที่ ๕ ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีชื่ออย่างไทยๆ ว่า “วัดสระแก้ว” คำว่า “หนา” นี้ ได้ความจากพระครูปลัดธงชัย วิปุโล เจ้าอาวาส ว่ามาจากรูปการณ์ที่มีคนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น

.

ท่านครูยังเล่าต่อไปอีกว่า บริเวณตั้งวัดนี้เป็นโคกสูง แต่ก่อนเป็นที่รกร้างช้างนอนมีน้ำรอบ คลองโคกครามเป็นเส้นสัญจรหลักเข้านอกออกใน มีเขามหาชัยเป็นหัวท่ากับทะเลหลวงเป็นปากบาง ดูเหมือนว่าคลองมีชื่อนี้จะเป็นที่มาของตำนานคู่วัดเสียด้วย

.

เล่าว่า สองเจ้าฟ้าพระนามลำลองว่าวิเวกและวิวง หนีราชภัยเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าไสยลือไทผู้พระราชบิดาลงสำเภาใช้ใบมาจนถึงอ่าวนครศรีธรรมราช ล่องขึ้นไปจนถึงอู่ตะเภาแล้วแยกลงโคกคราม

.

ครั้นเห็นตำบลหนึ่ง เป็นที่สัปปายะสถานก็ผนวชบวชพระองค์ลงทรงศีล ส่วนเจ้าฟ้าวิวงผู้น้องล่องไปตะวันออกต่อแล้วจึงเลือกดอนหนึ่งขึ้นกอปรกิจเดียวกัน

.

เจ้าฟ้าทรงจระเข้

ลือกันติดปากจนเดี๋ยวนี้ ว่าพระน้องพระพี่เมื่อจะไปมาหาสู่กันนั้น ต่างกำหนดจิตเรียกเอาพระยากุมภีลชาติขึ้นมาเป็นพาหนะ ด้วยว่าคลองโคกครามนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกคลอง คือเป็นที่อาศัยของจระเข้ และดูเหมือนว่ายิ่งใกล้บ้านเรือนผู้คนก็ยิ่งชุกชุม บุญญานุภาพที่ต่อปากกันไปในเรื่องนี้ ทำให้ทั้งสองพระองค์เป็นที่เคารพนับถือโดยดุษณี

.

ท่าน้ำหน้าบ้านต่างผูกกระดิ่งไว้ เมื่อเจ้าขุนดำจระเข้ทรงว่ายไปถึงก็จะกระทบกระแทกพอให้กระดิ่งสั่นเป็นสัญญาณว่าเสด็จออกรับบิณฑบาตถึงหน้าเรือนแล้ว ส่วนเมื่อฤดูแล้งเล่ากันว่าทรงเสือ แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีอะไรเป็นสัญญาณ คงเป็นเสียงคำรนอ่อนๆ ในลำคออย่างวิสัยแมวใหญ่กระมัง

.

โพธิ์พุ่มหนึ่งเล่าว่าเคยเป็นที่ปักกลดทรงศีล แต่แรกเป็นต้น “บองยักษ์” เมื่อตายลงโพธิ์และไทรขึ้นโอบแทน โบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระประธานองค์หนึ่ง กับองค์ปูนปั้นขนาดย่อมอีก ๔ มีแผ่นสังกะสีจารึกว่าซ่อมใหญ่หลังพายุแฮเรียต

หน้าโบสถ์มีพระเจดีย์งามอยู่สามองค์ หัวนอนย่อมุมว่าเป็นที่เก็บกระดูกเจ้าขุนดำจระเข้ทรง องค์กลางทรงพระอัฐิเจ้าฟ้าวิเวกเป็นอย่างพระธาตุนครแต่เอวคอดไร้เสาหาน เบื้องตีนนอนรักษาเถ้าอังคารของพระอุปัชฌาย์ทัด

.

พระลากสองกษัตริย์

มรดกตกทอดสำคัญคือพระลากคู่ขวัญ มีชื่ออย่างทางการว่า “พระพุทธชัยมงคล” เล่าว่าแรกนั้นมีอยู่ ๓ ทอง ๑ เงิน ๑ สำริด ๑ องค์ทองเสด็จโดยสารรถไฟไปวัดพระมหาธาตุเสียนานแล้ว องค์สำริดทรงเทริดถมเงินอย่างนคร องค์เงินหล่อตันทั้งองค์ มีจารึกฐานระบุบอกว่าหลวงพรหมสุภา สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

.

ฟังไปเพลินไป ประเด็นที่ค้างใจเก็บตั้งไว้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว เช่นว่า เส้นทางน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับนครศรีธรรมราช ตัวตนของเจ้าฟ้ามีชื่อทั้ง ๒ วัดพี่ – วัดน้อง และสถาปัตยกรรมที่พบ เป็นอาทิฯ