บ้านสวนอาย ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

บ้านสวนอาย
ประวัติ เรื่องราว และเรื่องเล่า

 

ยอมแลกกับชั้นเรียนการวิเคราะห์ข้อมูลทางวัฒนธรรมศึกษาในภาคเช้า และวัฒนธรรมกับโลกาภิวัตน์ของช่วงบ่าย คิดเอาเองว่ากิจกรรมนี้จะเป็นภาคปฏิบัติของทั้งสองรายวิชา ตามและเห็นกำหนดการจากเฟซบุ๊คพี่เจี๊ยบว่าเป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “เรื่องเล่าชุมชน” ให้สมชื่อโครงการว่า “การจัดการความรู้เรื่องเล่าบ้านสวนอาย” (วันเสาร์ ที่ 22 มกราคม 2565 ณ ศาลาการเปรียญวัดสวนอาย ตำบลละอาย อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช)

.

อาจารย์ ดร. จิตติมา ดำรงวัฒนะ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำเวทีด้วย 4 เครื่องมือ ผังเครือญาติ แผนที่ทรัพยากรชุมชน เรื่องเล่าชุมชน และปฏิทินวิถีชีวิต

.

เท่าที่โน้ตไว้มีราว 22 เรื่องน่าสนใจ ที่ทั้งท่านคม ตาเล็น พี่ขลุด ตาพร้อม ครูกิต พี่ผา พี่เปี๊ยก ลุงทร ลุงฉุย ลุงกิ่ง พี่อ้น น้าเชษ ครูแอน พี่ทัย น้องที พี่ขวัญ และน้องๆ กศน.ตำบลละอาย ช่วยกันเล่าช่วยกันฟัง

.

ถัดนี้ทราบจากพี่เจี๊ยบคนต้นเรื่องว่าจะไปกันต่อ ส่วนตัวรีบขออนุญาตนำฉบับสังเขปลงเพจและเว็บไซต์ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช เสียในโอกาสเดียวกัน ในนั้นอธิบายว่า

.

บ้านสวนอาย

บ้านสวนอายเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 โดยมี นายเกตุ-นางวิน องอาจ นายเลื่อม- นางแข เพชรชนะ สองพี่น้องเขามาอยู่ครั้งแรก จากการแนะนำของนายจูน-นางคง วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ที่รู้สภาพของพื้นที่ป่าคลองอายเป็นอย่างดี คลองอายเป็นชื่อเรียกกันมาช้านานตามชื่อลำคลอง ที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ คลองละอาย ต่อมามีนายทุ่ม นายเอื้อม วงศ์สวัสดิ์ นายเซี่ย นายซ่าน มัฏฐาพันธ์ สี่คนพ่อลูกได้เข้ามาอาศัยทำมาหากินด้วย ต่อมาจึงได้มีญาติพี่น้องตามกันมาอีก ได้แก่ นายทอง นางพัน จำนามสกุลไม่ได้ พร้อมด้วยนายฟุ้ง นางชื่น สิทธิสมบูรณ์ครอบครัวทั้งหมดได้มาอาศัยอยู่ร่วมกันในระยะแรก แล้วค่อยๆ ทยอยปลูกกระท่อมใกล้ๆ กันเป็นกลุ่มบ้าน เพราะพื้นที่ขณะนั้นเป็นป่าดงดิบจะมีสัตว์ร้ายชุกชุม เช่น เสือ ช้างป่า ซึ่งสามารถทำอันตรายได้

.

เครือญาติ

พี่น้องที่เข้ามาอาศัยในขณะนั้นจึงมีความรัก ความสามัคคีกันเป็นอย่างมาก รวมตัวกันอยู่ได้ประมาณ 5 ปีกว่า การทำมาหากินเริ่มสะดวกมั่นคงไม่ต้องนำข้าวปลาอาหารจากที่อื่น จึงได้แยกย้ายกันไปปลูกสร้างกระท่อม(ขนำ) บ้านเรือนในที่ของตนเอง ต่อมาก็มีการชักนำบุคคลญาติ พี่น้องเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี เจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดชื่อ นายพร้อม พันเสือ ได้เข้ามาตัดแนวเขต โดยวางแนวเป็นที่บ้านนายม่วง นางเพียน ศรีเปารยะ ปรากฏว่าบ้านสวนอายได้ติดอยู่ในป่าสงวนทั้งหมด จึงทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นายเกตุ นายเหลื่อม นายฟุ้ง ได้ปรึกษาหารือกัน แล้วจึงไปหา นายชาย สุมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียก ครูช้อง จึงได้รับคำแนะนำให้ทำหนังสือเสนอกระทรวงเกษตร โดยนายชาย เป็นผู้ร่างหนังสือให้ พร้อมทำความเข้าใจในคำพูดของชาวบ้านสวนอายกับข้าราชการกระทรวง

.

ขอบเขตหมู่บ้าน

อยู่มาประมาณ 1 ปีเศษ (ประมาณปี 2480) หลังจากส่งหนังสือถึงกระทรวงเกษตรได้มีคำสั่งจากกระทรวงถึงจังหวัด ให้เลื่อนเขตป่าสงวนใหม่ เพราะ เขตเดิมราษฎรได้ทำมาหากินประกอบอาชีพ จึงได้มีเจ้าหน้าที่มาวางเขตป่าสงวนใหม่คือนายอรุณ รุจิกัญหะ โดยนายเกตุและนาย เลื่อม เป็นผู้นำในการตัดเขต พร้อมด้วยลูกจ้างตัดเขตป่าสงวนหลายคนเท่าที่จำได้ ได้แก่ 1.นายเลื่อน เพชรประพันธ์ 2.นายนบ วงศ์สวัสดิ์ 3. นายจำรัส นิยมกิจ คณะของเจ้าหน้าที่ตัดเขตป่าสงวน ได้มาพักแรมที่บ้านนายทอย-นางแอบ พิบูลย์ จนตัดแนวเขตออกไปถึงคลองเศลา เวลาผ่านไปชาวบ้านก็ทยอยเข้ามาอาศัยทำมาหากินในบ้านสวนอาย เพิ่มขึ้นอีก เท่าที่สามารถจำและลำดับเหตุการณ์ได้ ได้แก่ นายดาว นางทรัพย์ แวววงศ์ นายไข่ นางเขียด แกล้วกล้า นายเจริญ นางน้อง เลิศไกร นายบาย พิบูลย์ นายหีด สิทธิเชนทร์ นายประคอง นางตั้น หัตถิยา นายคล้าย นางเฟือง ฤทธิชัย ต่อมานางเฟือง เสียชีวิต นายคล้ายจึงได้สมรสกับนางรุ่ง นายเกื้อ นางแกล้ม จงจิต และยังมีพี่น้องชาวบ้านเข้ามาประกอบอาชีพในบ้านสวนอายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีครัวเรือนเเน่นหนา

.

พ่อท่านคล้ายกับถนนเส้นแรก

การสร้างถนนของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เข้าบ้านสวนอาย ในปีนี้ (พ.ศ. 2484) มีการสร้างถนนซอยระหว่างหมู่บ้าน ในเขตตำบลละอายหลายสาย เช่น ถนนสายบ้านสวนอาย สายบ้านทอนวังปราง สายบ้านป่าพาด สายบ้านโคกยาง สายบ้านคลองระแนะ สายบ้านเสหลา เป็นต้น การสร้างถนน ในตำบลละอาย มีเรื่องเล่าของพระอ้วน เล่าไว้ว่า พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ “พูดไหรเป็นนั้น” และเป็นพระที่ชอบช่วยเหลือชาวบ้าน ทำสะพาน ทำถนน หนทาง สร้างวัด สร้างโรงเรียน ขุดบ่อน้ำ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทำถนนกับจอบ ไม่ว่าถนนสายไหนจะเป็นถนนของพ่อท่านคล้ายเกือบทั้งหมด

.

สะพานไม้ทุกแห่งจะเป็นสะพานของพ่อท่านคล้ายส่วนมาก การทำถนนสมัยนั้น ก่อนจะบุกเบิกทำถนน ชาวบ้านแถวนั้นต้องไปหามพ่อท่านคล้ายมาก่อน ทำที่พักอาศัยอย่างเรียบร้อย ชาวบ้านพอรู้ข่าวว่าพ่อท่านคล้ายมาทำถนนสายนั้น ก็ชวนกันมาทั้งคนหญิงชาย “ทั้งคนแก่ และลูกเด็ก” ต่างคนต่างเอาจอบและพร้า ขวาน พวกที่มีพร้า ขวานก็ถางไป พวกมีจอบก็ขุดกันไป ยืนเรียงแถวพอได้ระยะ แล้วขุดกันไปน่าดูเพลินสนุกสาน ไม่มีการขัดแย้งกันเลย ทั้งกลางวัน กลางคืน มีความร่มเย็นสบายใจของผู้ที่ไปช่วยงาน เพราะอำนาจบารมีของพ่อท่านคล้าย ช่วยคุ้มครองปกป้องผองภัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่มาร่วมทำถนนมีกำลังใจทั่วถึงกันหมด มีความสามัคคี ปรองดอง ช่วยเหลือกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน

.

พ่อท่านคล้ายมีวาจาศักดิ์สิทธิ์มากในครั้งนั้น ได้ทำถนนเข้าบ้านสวนอาย สถานที่แห่งนั้นมีกอไม้ไผ่มากแต่ไม้ไผ่กอนั้นใหญ่และอยู่ตรงกลางถนนพอดี แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันขุดโดยรอบและลึกมากจนรอบกอ พ่อท่านก็ใช้ให้คนไปหาเชือกเส้นใหญ่มาผูกรอบกอไผ่ เพื่อให้ชาวบ้านช่วยลากขึ้นจากหลุม แต่พอดีช่วงนั้นมีช้างเดินผ่านมา ชาวบ้านก็บอกควาญช้างให้ช่วยลากให้ ควาญช้างก็เอาโซ่ พันรอบกอไผ่นั้น แล้วให้ช้างลาก ปรากฏว่าโซ่ขาด ควาญช้างก็ชักโมโหรีบไล่ช้างไปให้พ้น

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดกับนายหมี สิทธิเชนทร์ (ชาวบ้านสวนอายที่มาช่วยทำงาน) ว่า

“ขึ้นแล้วหรือยัง เณรหมี”

“ยังไม่ขึ้นทีพ่อท่าน” ลุงหมีแกก็บอกพ่อท่านคล้ายว่า “ช้างลากก็ไม่เลื่อน โซ่ขาด เจ้าของช้างโกรธไปเสียแล้ว”

 

พ่อท่านคล้ายก็ใช้นายหมี สิทธิเชนทร์ให้เอาเชือกหวายข้อลึกสองเส้นไปพันกอไผ่ ให้คนได้เข้ามาช่วยลาก

นายหมี สิทธิเชนทร์ก็ได้พูดขึ้นว่า

“ช้างก็ลากไม่เลื่อน คนลากก็ไม่ขึ้นนี่พ่อท่านแรงคนครึ่ง ของแรงช้างก็ไม่ได้”

“มึงลองลากแลทีลุงหมี”

นายหมีและนายแอน สิทธิเชนทร์สองคนพี่น้องไม่ขัดคำของพ่อท่าน จึงเอาหวายเข้าไปผูก ผูกเสร็จ แล้วลุงหมีก็เรียกคนให้ฉวยเชือก (จับเชือก) พร้อมกันหัวไผ่เลื่อนขึ้นจากหลุม ไม่น่าเชื่อ

 

พ่อท่านคล้ายก็พูดขึ้นทันที

“หนักไม่หนักละเณรหมี”

“ไม่หนักพ่อท่านเหอ” ลุงหมีกับลุงแอนนั่งหัวเราะ

“เชื่อแล้ว พ่อท่านเหอ ผมเองก็ไม่นึกว่ากอไผ่นั้นจะขึ้น

นับจำนวน คนแล้ว สิบสี่คนเท่านั้น”

 

นี่คือวาจาสิทธิ์ของพ่อท่านคล้าย พ่อท่านคล้ายได้สร้างสะพานที่ท่าต้นโพธิ์ บ้านใหม่ สะพานข้ามน้ำคลองใหญ่ (คลองตาปี) มีชาวบ้านที่นั่นชื่อลุงแดงหกเหลี่ยม เป็นคนชอบทำงานส่วนรวม ลุงแดงขึ้นไปติดไม้พยุง เพื่อจะมุงหลังคาสะพานบังเอิญพลาดตกลงมา ในคลองที่ไม่มีน้ำนอนนิ่ง ชาวบ้านตามไปบอกพ่อท่านคล้ายอย่างเร่งรีบ พ่อท่านคล้ายก็เอาน้ำมนต์มาพรมให้เสร็จแล้ว พ่อท่านคล้ายก็เรียกว่าเณรแดง พันพรือ เณรแดง ลุงแดงก็บอกว่า ไม่พรือพ่อท่านเหอ มีที่หัวเข่า ถลอกนิดเดียว ตกลงว่าลุงแดงไม่เจ็บตรงไหนนี่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อท่านคล้ายให้ปรากฏ

.

การขยายหมู่บ้าน

 

กำนันในขณะนั้นคือ นายขาบ วงศ์สวัสดิ์ จึงได้ประสานกับอำเภอฉวางซึ่งมีนายแจ้ง ฤทธิเดช เป็นนายอำเภอ ของแบ่งแยกหมู่บ้าน จากหมู่ที่ 1 เป็นหมู่ที่9 ของตำบลละอาย โดยมีนายพัว วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมาเมื่อนายพัว ได้ออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจึงได้เลือกนายกาจ องอาจ เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 และได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านมาเสมอต้นเสมอปลาย

.

จากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีอีกหลายเรื่องราวและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ซึ่งคณะทำงานจะได้รวบรวม เรียบเรียง เพื่อใช้สอยประโยชน์ตามเหตุตามปัจจัยต่อไป รวมถึงที่ยกมานี้ก็พอสังเขป ในฉบับร่างยังระบุเรื่องทับหรั่ง สถานการณ์คอมมิวนิสต์ วันคืนสู่เหย้า การรับเสด็จหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ศาลาประชาคมหลังแรกของหมู่บ้าน การขยายหมู่บ้านครั้งที่ 2 ลำดับผู้ใหญ่บ้าน ขุนพิปูน การทำนา และการทำสวนยางพาราอีกด้วย