นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา วรรณกรรมท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น: ชายตาบอดยอดปัญญา

วรรณกรรมท้องถิ่น เมืองนครศรีธรรมราช

นายดั่น

เรื่องนายดั่น เป็นวรรณกรรมร้อยกรองที่แต่งโดยขุนสิทธิ์ ขุนนางเวรเฝ้าศาลาว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าอาจร่วมสมัยกับนายเรือง นาใน กวีคนสำคัญยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชทั้งคู่
.
ต้นฉบับที่แพร่หลายจัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๒๑ คัดจากหนังสืองานทำบุญฉลองอายุครบ ๖ รอบของนายเชวง ไชยานุพงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ พบที่วัดท่าเสริม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
.
เรื่องย่อมีอยู่ว่า นายดั่น ชายพิการสายตาแต่กำเนิด อาศัยอยู่บ้านปราจินกับบิดามารดาผู้มีทรัพย์มาก ว่ากันว่าเพราะกรรมเก่าที่เมื่อชาติปางก่อนเกิดเป็นเศรษฐี แต่เพิกเฉยต่อการทำบุญสุนทาน ถึงขนาดพระสงฆ์เดินบิณฑบาตผ่านต่อหน้าก็ไม่รู้ร้อน
.
นายดั่นเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดเชาว์ไวไหวพริบดีกว่าใครทั้งหมดในกลุ่มเพื่อน จะเพลงเสภาหรือบทโนรา นายดั่นเป็นจำได้ท่องได้หมด ไม่เว้นแม้แต่ดนตรีปี่กลอง ก็เชี่ยวชาญจนใครๆ ในย่านนับเอาว่าเป็น “นักเลง”
.
เมื่อวัยได้ ๓๐ ขวบปี ก็นึกอยากจะมีเมียไว้อยู่กินและปรนนิบัติตัว พ่อแม่แม้เมื่อแรกนั้นทัดทานด้วยเห็นว่าคนตาดีที่ไหนจะอยากได้คนตาบอดทำผัว แต่เมื่อถูกรบเร้าบ่อยเข้าก็ใจอ่อน ทราบความจากนายดั่นว่าไปหมายใจเอาไว้นางหนึ่ง คือลูกยายทองสา เป็นสาวกำพร้าพ่อ ชื่อนางไร
.
ยายอีทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่ไปเจรจา ก็สำเร็จตามประสงค์ ด้วยว่าฝ่ายเจ้าสาวไม่รู้ความว่านายดั่นนั้นตาบอด
.
การสู่ขอ พิธีหมั้น และแต่งงาน ถูกรวบรัดให้กำหนดไว้ในวันเดียวกัน นายดั่น ครั้นจะว่าไปแล้วหากมองภายนอกก็เหมือนคนตาดีทั่วไป เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยไร้พิรุธก็จึงต้องทำทีเป็นคนปกติเสียอย่างขัดไม่ได้
.
แม้จะฉลาดเพียงใด แต่สถานที่อันไม่เคยไปก็ทำให้นายดั่นประหวั่นพรั่นพรึงเอาการ แล้วปฏิภาณของเขาก็เริ่มถูกกระตุ้นให้ใช้ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นว่า บ้านแม่ยายยกใต้ถุนสูง ในระหว่างที่คนอื่นๆ ขึ้นเรือน นายดั่นกลับมุ่งไปใต้ถุน เมื่อมีผู้ร้องทัก ก็บอกปัดไปว่าคนบนเรือนนั่งอยู่มาก กระดานเรือนจะหักลง เมื่อขึ้นได้บนเรือนก็ลงนั่งที่นอกชาน แก้ว่าเหยียบขี้ไก่ไม่กล้าเข้า เป็นต้น
.
นางไร ไม่เกิดเฉลียวใจสิ่งใดแก่นายดั่นแม้แต่น้อย ด้วยว่านายดั่นได้ขอให้อ้ายเหล็กหลานชายอยู่กับตัวคอยดูแล อ้ายเหล็กนำทางไปสำรวจนอกในจนทั่วบริเวณและถูกกำชับให้อยู่ติดตัวนายดั่นไว้ตลอดเว้นแต่ตอนนอน
.
ในระหว่างอยู่กินกันปีหนึ่ง เกิดเรื่องให้เสียวหลังวูบวาบหลายคราว แต่ก็เอาตัวรอดไปได้ทุกครั้งทั้งเล็กใหญ่
.
อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อถึงทีจะกินหมากแต่คลำหาปูนไม่เจอ นางเมียนั่งทอหูกอยู่ใต้ถุน อ้ายเหล็กไม่อยู่ใกล้มือ ร้องถามก็ได้ความว่าอยู่ปลายตีน ครั้นควานแล้วควานอีกยังไม่พบ ก็บริภาษเสียงดังไปนานา คำสำคัญแทงใจดำคือ “ถ้าใครมาหาพบ ตบสักทีกูมิว่า ให้ยีที่หนวยตา ให้ฟ้าผ่าไม่น้อยใจ”
.
นางไรด้วยความโมโห เมื่อขึ้นถึงเรือน เห็นปูนห่อใบไม้วางอยู่ก็ควักเอาไปขยี้ที่ดวงตาตามคำท้าทันที ข้างนายดั่นได้ช่อง จึงร้องโอดโอยร่ำไห้ปริเทวนาการไปสารพัน
.
ถึงทีจะหมดกรรมของนายดั่น เมื่อนางไรเที่ยวหายาจากทั่วสารทิศ จนได้ยาผีบอกของพ่อตาหมอบัวศรี สัปเหร่อชาวหัวไทร เข้ารักษา ตาที่บอดสนิทอันที่จริงก็แต่กำเนิดนั่นแหละก็มาหายเอาเมื่อวัย ๓๑ ด้วยปัญญากับยาผี
.
เรื่องเล่าไปต่อว่าสิบปีต่อมานายดั่นและนางไรต่างทำมาค้าขายได้กำไรร่ำรวย มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง เป็นชาย ตั้งชื่อว่าทองดึง แล้วจึงนายดั่นผู้เป็นพ่อลาเมียลาลูกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
.
เรื่องนายดั่นนี้ เห็นจะใช้เป็นหนังสือสวดอ่านกันในวัด กับบ้านเรือนผู้รู้หนังสือ และจำกันต่อไปเป็นมุขปาฐะ คงจะมีสำนวนแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่นแต่ก็ยืนโครงเรื่องเดียวกัน สื่อไปในทางจะสอนใหรู้จักวิบากกรรมในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
.
นอกจากข้อคิดที่ได้ วรรณกรรมฉบับนี้ยังสะท้อนวิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะเรื่องของการแต่งงานได้อย่างดี เช่น ความเชื่อก่อนแต่งที่ต้องมีการ “บูนทาย” หมายถึงการทำนายดวงชะตาว่าสมพงหรือปฏิปักษ์ หรือเมื่อส่งตัวเข้าหอในช่วง ๓ คืนแรกห้ามเสพกามคุณ ชายต้องนอนสีหไสยาตะแคงขวา หันหัวไปทิศหัวนอน หันหน้าทางตะวันออก เป็นต้น
.
นายดั่นเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องแรกที่อ่านจบในมือเดียว เพราะส่วนใหญ่จะสแกนหาเฉพาะสิ่งหรือท่อนที่จะต้องใช้งาน คราวนี้คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะประวัติศาสตร์สามารถศึกษาได้ผ่านวรรณกรรม
.
เมื่อบรรพกวีต่างสร้างสรรค์ผลงานออกมาจากสิ่งที่นึกคิดและพบเห็น ใดใดที่เกิดไม่ทันเห็นและเขลากว่าจะนึกคิด ก็ขอคารวะทุกดวงจิตวิญญาณเหล่านั้นเพื่อได้โปรดเป็นสรณะมาโดยนัยนี้ฯ