วัดเจ้านคร ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

วัดเจ้านคร
ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

ความจริงไม่ใช่ครั้งแรกที่แวะเข้ามา
แต่ความรู้สึกยังเหมือนครั้งก่อนนั้น
คือไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่าเดิม

.

คำว่า “เจ้านคร” นี้ ทำให้ปฏิเสธได้ยากว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเมืองนคร และพระองค์เดียวที่มีสถานะเป็นเจ้าในยุคที่ยังคงตกค้างชื่อเรียกว่าอย่างนั้นอยู่ก็ได้แก่ “พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” ผู้ผ่านฟ้าเมืองนครในสมัยกรุงธนบุรี

.

เรื่องพระเจ้านครศรีธรรมราชนี้เป็นที่น่าค้นคว้าและสนใจอยู่มาก จนถึงกับได้ตั้งชื่อหนังสือไว้ตามพระนามนั้น แต่ก็ยังหากำหนดคลอดไม่ได้ ด้วยค้างมืออยู่หลายสิ่ง กับดูเหมือนว่าต้องตั้งหลักหาเอกสารอีกหลายฉบับ

.

วัดเจ้านคร

วัดเจ้านครนี้ ว่ากันว่าเจ้านครทรงสร้างเมื่อครั้งถูกตามตัวจากปัตตานีให้ขึ้นมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่พลับพลาตำบลแหลมสน มีกำหนด ๑ เดือนก่อนเสด็จนิวัต เจ้านครเห็นว่าการที่ทรงพระกรุณาให้พ้นราชภัยในครั้งนั้นเป็นบุญแก่ตัวและวงศ์วาน จึงได้อุทิศถวายสร้างวัดแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์

.

เดี๋ยวนี้เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมถนนท่าช้าง – อ่างเก็บน้ำกระเสียว หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีพระอธิการสมชาย สุจิตโต เป็นเจ้าอาวาส

.

ภายในรั้วรอบขอบชิด มีพระอุโบสถหลังหนึ่งตั้งอยู่บนลูกควน เพิ่งผ่านงานผูกพัทธสีมาไปเมื่อ ๘ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ชานควนมีศาลาไม้หลังงาม คงเป็นสถานเก่าสุดในบรรดามี ข้างกันมีโรงธรรมถือปูนใต้ร่มไม้ กับหอบูรพาจารย์ มีสมเด็จเจ้าพะโคะเป็นประธาน พ่อท่านคล้าย สมเด็จฯ โต พระครูวิจารณ์ศาสนกิจ (เลื่อน ปานังกะโร) และตาปะขาวชีหนึ่ง ตีนควนเป็นสังฆาวาสกับพื้นที่ใช้สอยเป็นฮวงซุ้ยจีนและเปรวไทย

.

ไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ร่มรื่น แถวต้นพิกุลคงเคยทำหน้าที่รั้ววัดมาแต่เดิม ถามทุกคนที่พบไม่มีใครทรงจำและรับรู้ไปมากกว่านี้ เห็นคงจะมีก็แต่สะตอต้นหนึ่งเท่านั้น ที่โยกหัวโหม้งไปมาตามแรงลม ประหนึ่งจะเย้าว่า เท่านี้ก็ถมไปแล้วไอ้นุ้ยเหอ

.

พระเจ้านครศรีธรรมราช

ย้อนไปสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

.

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย
.

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)
.
นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร
.
สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย
.
มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
.
พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่
.
นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช
.
อาจแปลรวมความได้ว่าพระเจ้านครศรีธรรมราชพระองค์นี้เป็น “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

.

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”
.
ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

.

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิมฯ