จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน” ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

เป็นเรื่องชวนให้ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนจะได้รับการทาบทามหรือการตั้งคำถามทำนองว่า

“พอจะทราบประวัติตั้งนั้น ตรงนี้ไหม ?”

ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ถามก็เป็น “คนในนั้น”

.

ข้อสังเกตอันแรก คงเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ประวัติ” ที่เราถูกหล่อหลอมผ่านระบบการศึกษาว่ามักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ราชวงศ์ และราชการ ทำให้ “ความทรงจำ” ของ “คนใน” ถูกกีดออกจากคำว่า “ประวัติ” ทั้งที่จริงแล้วล้วนเป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่สำคัญมาก และส่วนใหญ่มักสะท้อนให้เห็น “วิถี” และ “ชีวิต” ของผู้คนอีกด้วย

.

ข้อสองคงเป็นเพราะความเกร็งและเกรงใจภาษาราชการ ทำให้เมื่อจำเป็นต้องถ่ายทอดออกเป็นลายลักษณ์อักษร ประเด็น นัยและใจความสำคัญมักหล่นหาย เพราะติดกับดักโครงสร้างการเขียนประวัติศาสตร์อย่างทางการ

.

เมื่อวันอังคาร ที่ 18 มกราคม 2565 มีเหตุให้เจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติ พ.ศ. 2487 แห่งวัดสวนป่านทลายลง ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านสมภารเจ้าวัด นอกจากการฟื้นคืนสภาพของเจดีย์อนุสรณ์ดังกล่าวแล้ว ยังอาจต้องมีแผนสำหรับการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนสถาน โดยได้เสนอไป 3 ประเด็นอย่างคร่าว ๆ ว่า

 

ส่วนอดีต

ควรมีแผนการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับศาสนสถาน-วัตถุ

โดยอาจเริ่มที่การรวบรวมแล้วเรียบเรียงเป็นฐานทำสารบบ

รวมถึงการประเมินสภาพและความเสี่ยง

 

ส่วนปัจจุบัน

ควรมีแผนการพัฒนาพื้นที่โดยคำนึงถึงแผนแรก

ควบคู่ไปกับแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยอาจจัดแบ่งเป็นเขตตามความสำคัญหรือลักษณะการใช้สอย

 

ส่วนอนาคต

ควรมีแผนจัดการความเสี่ยง

การทบทวนและประเมินสภาพรอบปี

 

ประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักร

มีคู่มือเบื้องต้นสำหรับการศึกษาประวัติวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีในเล่มที่ 23 ฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. 2547 ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการรวบรวมจากเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ในส่วนของวัดสวนป่านปรากฏอยู่ในหน้าที่ 510 โดยจะขอคัดมาเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการสืบความกันต่อไป ดังนี้

 

วัดสวนป่าน ตั้งอยู่เลขที่ 153 ถนนพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 2100 มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 งาน 9 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 990

 

อาณาเขต

ทิศเหนือจดถนนโรงช้าง

ทิศใต้จดซอยเหมชาลา

ทิศตะวันออกจดถนนพระบรมธาตุ

ทิศตะวันตกจดถนนวัดสวนป่าน

 

อาคารเสนาสนะ

อุโบสถ

กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

 

พระประธานประจำอุโบสถ

ปางสะดุ้งมาร

หน้าตักกว้าง 58 นิ้ว

สูง 79 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525

 

ศาลาการเปรียญ (อาคารทรงไทย ชั้นเดียว)

กว้าง 13.50 เมตร

ยาว 18.25 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

 

พระประธานประจำศาลาการเปรียญ

ปางสมาธิ

หน้าตักกว้าง 35.50 นิ้ว

สูง 51 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

พระพุทธรูปเนื้อเงิน 2 องค์

สูง 65 นิ้ว และ 45 นิ้ว

 

กุฏิสงฆ์ จำนวน 10 หลัง

เป็นอาคารไม้ 4 หลัง

ครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลัง

และตึก 3 หลัง

 

วิหาร (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก)

กว้าง 14.60 เมตร

ยาว 21 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480

 

ศาลาอเนกประสงค์ (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นเดียว)

กว้าง 6.30 เมตร

ยาว 12.50 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540

 

ศาลาบำเพ็ญกุศล

จำนวน 1 หลัง

เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้

 

นอกจากนี้มี หอระฆัง โรงครัว กุฏิเจ้าอาวาส และเรือนรับรอง

.

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

วัดสวนป่าน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2452 วัดตั้งมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ในช่วงเปลี่ยนการปกครองเป็นสมุหเทศาภิบาล ต่อมาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช ได้ยกถวายให้ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) และได้ตั้งวัดให้ชื่อว่า “วัดใหม่กาแก้ว” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสวนป่าน” เพราะเรียกตามชื่อคนดูแลสวนของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเดิม

.

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2525

เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

.

ลำดับเจ้าอาวาส

พ.ศ. 2442 – 2449 พระครูกาแก้ว

พ.ศ. 2449 – 2460 พระญาณเวที

พ.ศ. 2460 – 2478 พระครูโภธาภิรามมุนี

พ.ศ. 2478 – 2489 พระครูวินัยธร

พ.ศ. 2489 – 2500 พระปลัดส่อง โชติกโร

พ.ศ. 2500 – ไม่ระบุ พระครูจิตรการประสาท

 

เดิมตั้งแต่ พ.ศ.2505 เปิดเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมด้วย

.

จะเห็นว่ายังมีศาสนสถานและวัตถุอีกหลายรายการที่ไม่ได้ระบุไว้ในเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติที่เพิ่งทลายลงไปนี้ด้วย กับทั้งข้อวิเคราะห์ต่าง ๆ เช่นว่า ความสำคัญและบทบาทต่อชุมชน เส้นเวลา ภูมินาม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องที่ต้องรอผู้สนใจใฝ่รู้เติมเต็มต่อในอนาคต