ประกาศมหาสงกรานต์: ๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ประกาศมหาสงกรานต์:
๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ไม่มีวัฒนธรรมใดในโลกเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวปราศจากความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอื่น เช่นเดียวกับ การถือกำเนิดโดยไร้หลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คน ก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมได้ยาก เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของคน คนจึงทำหน้าที่ตัดสินใจว่า วัฒนธรรมใดควรสืบทอดคงรูปอยู่ต่อ หรือยินยอมให้เลื่อนไหลพลวัตไปตามเหตุ ตามปัจจัย หมายความว่า บรรดาวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลจากการเลือกแล้วของผู้คนในอดีต ความยากง่ายของการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม จึงอยู่ที่ ร่องรอยของหลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คนเหล่านั้น จะปรากฏเหลืออยู่ให้สืบความสักกี่มากน้อย

.

กัลยาณมิตรใน Facebook หลายท่าน แชร์และให้ความเห็นกรณีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ของเมืองนครศรีธรรมราชเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ทำนองว่า สามารถเติมคุณค่าและขับเน้นความสำคัญของการมีพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของท้องถิ่นและไทยได้อีก ในขณะที่การจัดสงกรานต์หลายแห่ง มีการแทงหยวกทำเบญจา รำโนราโรงดิน เหล่านี้คล้ายกับว่า วิถีอยู่-กินของชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้ ซึ่งเคยถูกทบทวนและเริ่มอนุรักษ์ผ่านงานสงกรานต์แต่แรกที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารเมื่อสามสี่ปีก่อนต่อกันนั้น อาจเป็นเชื้อไฟส่องให้เห็นทางที่เราเคยผ่านมา จุดที่กำลังยืนร่วมกัน และอนาคตของมรดกทางวัฒนธรรมได้ดี ส่วนการเลือกทางเหล่านั้น ก็สุดแต่บริบทจะเอื้อ

.

เคยเขียนเรื่อง “บุญเดือนห้า เมืองนครศรีธรรมราช” เผยแพร่ไว้ในสารนครศรีธรรมราชความยาว ๕๐ หน้ากระดาษ A๔ ท้ายบทความนั้นคัดเอาจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ ส่วนที่เป็นท้องตราจากเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ว่าด้วยการประกาศสงกรานต์ลงไว้ หยิบมาลงไว้อีกทีเพื่อจะได้เห็นได้ชวนกันพิจารณาในวงที่กว้างขึ้น แม้ว่าเป็นลักษณะของการสั่งการมาจากส่วนกลางถึงท้องที่ แต่ก็พอเห็นบทบาทของทั้งสองแห่งต่อสงกรานต์และภาพของมหาสงกรานต์ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ดี (ทั้ง ๔ ฉบับคัดสำเนามาจากหอสมุดแห่งชาติ)

.

โครงของทั้งสี่ฉบับคล้ายกันต่างกันที่รายละเอียด คือตอนต้นระบุสถานะของหนังสือว่ามีมาจากใครถึงใคร “พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช” เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ ได้แก่ “เจ้าพระยานครน้อย” ซึ่งถือเป็นสงกรานต์แรกในฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ถัดนั้นแจ้งฎีกามหาสงกรานต์ของพระโหราธิบดี ความเรียงไปตั้งแต่เวลาที่พระอาทิตย์ย้ายราศี นางสงกรานต์และกระบวนแห่พระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม พิธีทักษิณาทาน ประกาศวันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเฉลิงศกหรือพระยาวัน ทำนายข้าว นา ธัญญา-พลา-มังสาหาร และพิธีสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีเผด็จศก ส่วนตอนท้ายเป็นความสั่งให้เผดียงแก่พระสงฆ์และราษฎร

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ เรื่องท้องตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ประกาศมหาสงกรานต์
ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๗๔ ฉบับ ณ วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก
เลขที่ ๑๙ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีมีชื่อ ทำฎีกามหาสงกรานต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัสดุ วรพุทธศาสนาสองพันสามร้อยห้าสิบห้าพระวัสสา กาลกำหนดเจตมาส สุกรปักข์ เอการัสมี ดิถีระวีวาร ตัสสทิวากาล เพลาเช้าย่ำรุ่งแล้วสองโมง บรมเทพทินกรเสด็จจากมีนราศีประเวศสู่เมษราศีทางโคณวิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพดาองค์หนึ่ง ทรงนามชื่อว่าทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม ทรงเครื่องอาภรอันแล้วด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ พระหัตถ์ซ้ายทรงจักร ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จโคจรยืนไปเหนือหลังครุฑหาหนะ เป็นมรรคนายกนำอมรคณะเทพดาแสนโกฏิ ประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนพิมพานต์ประเทศ ขณะนั้นเทพยดาทำคารวะดุษฎี ชำระสุคนธวิเลปนะบูชายาควิธีอันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไปไว้ในถ้ำคันธุมาลีดังเก่า จึงเทพยุดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันชื่อชมนาด ใส่สุวรรณภาชน์ทอง เอาไปล้างน้ำในอโนดาตสระเจ็ดแถว เถาชุมนาดก็ละลายออกไปดังน้ำมันเนย แล้วพระเวษณุกรรมเทวบุตรจึงเนรมิตโรงอันหนึ่งชื่อภัควดี ให้หมู่เทพนิกรอัปษรกัญญาเข้านิสีทนาการพรั่งพร้อมกัน จึงสมาทานรักษาศีล เอาน้ำชมนาดเป็นทักษิณาทานแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ก็ชวนกันชื่นชมโสมนัส เดชกุศลได้กระทำนั้นก็บรรเทาโทษแห่งมหาสงกรานต์ให้อันตรธานสูญไป ความจำเริญฑีฆายุศม์สิริสมบัติก็มีแก่เทพยุดาทั้งปวง รวิวารเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทวารเป็นวันเนา ภุมวารเป็นวันเฉลิงศก หรือพระยาวัน ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมง สิ้นกปิถสังวัจฉระ เป็นกุกกุฏสังวัจฉระจุลศักราชขึ้นเป็น ๑๑๗๕ ปีระกานักษัตรเบญจศก เนาวันหนึ่งเป็นสงกรานต์ ๓ วัน ผลทำนายพสุสังกรานต์ อจีนตะสังกรานต์ สามัญสังกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณศาสตร์ พระจันทร์เป็นอธิบดี นาคราช ๔ ตัว บันดาลให้ฝน ๕๐๐ ห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า อรญิกาปิพิมพานต์ ๑๕๐ ห่า มหาสมุทร ๑๐๐ ห่า มนุษย์โลก ๕๐ ห่า ฝนต้นมือมัธยม กลางมือปลายมืออุดม เกณฑ์ธาราธิคุณลง ณ ราศมีนอโปธาตุ น้ำงามกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดี นาดอนทราม พอดีเหณฑ์ธัญญาหาร ออกเศษศูนย์ ชิวราภรณ์ข้าวกล้าในภูมินาได้ผล ๑๐ ส่วน เสียส่วนหนึ่ง ธัญญาหาร พลาหาร มังสาหารอุดม

.

ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก พนักงานชาวเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องพระมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกลดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณี สมเด็จบรมกษัตริย์สืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เมทนีดลศัตรูกระษัย แลให้เผดียงพระสงฆ์ราชาคณะเจ้าอธิการและราษฎรให้รู้จงทั่วตามรับสั่ง ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้กระทำตามจงทุกประการ

.

หนังสือมา ณ วันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอก จัตวาศก
วันพุธ เดือน ๕ ปีระกาเบญจศก หลวงเทพรามรฏก ขุนอักษรขาน ถือมาด้วยเรื่องมหาสงกรานต์

เทิม คัด / ศักดา พิมพ์ / อรรัตน์ ทาน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช เรื่องประกาศสงกรานต์ ปีจอ จ.ศ.๑๑๗๖ เลขที่ ๑
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๕๘

หนังสือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีโหรมีชื่อพร้อมกันทำดิถีมหาสงกรานต์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัศดุวรพุทธศักราช ๒๓๕๖ พระพรรษา การกำหนดเจตมาส กาฬปักษ์สัตมีดิถีฉันทวาร ทสทีวากรเพลาบ่าย ๓ โมง บรมทินกรเสด็จจากมีนประเวศสู่เมศราศี ทางโคณวิถีไกลพระเมรุมาช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทงนามชื่อนางโคราคมหาสงกรานต์มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ ทรงเครื่องอาภรณ์อันแล้วด้วยแก้วมุกดา พระหัตถ์ขวาทรงธนู พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ ภักษาหารน้ำมันงา เสด็จนิสีทนาการนั่งเหนือหลังพยัคฆพาหนะ เป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยดาแสนโกฏิประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันใส่พานทอง ประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมะภารตะประเทศ ขณะนั้น เทพยดากระทำคารวะดุษฎีชำระสุคนธวิเลปนะชูชายาควิธี อันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แก่ทักษิณาวัตรเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไว้ในถ้ำคันธุลีดังเก่า จึงเทพยดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันช่อชะมุนาฏใส่สุวรรณภาชนะทองไปล้างน้ำในอโนดาษสระ ๗ ท่า เถาชะมนาฏก็ละลายออกไปไสดุจน้ำมัน ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดมีชาติดวงแล้งได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธัญญษหารผลาหาร มัจฉมังสาหารมัธยมในปีจอ ฉศกนี้มีอาทิกวาร เดือน ๗ เป็นเดือนถ้วน พระสงฆ์ได้ลงกระทำอุโบสถกรรมเข้าพรรษาปวารณาออกพระวรรษาตามพระอาทิตย์พระจันทร์ถ้วนเป็นประธานโลก ตามขนบธรรมเนียมราชประเพณีสมเด็จพระบรมกษัตริย์สืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก ให้พระยานครกรมการเผดียงพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและอาณาประชาราษฎรให้ทั่ว ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้ทำตาม หนังสือมา ณ วันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอนักษัตร ฉศก

ชูศักดิ์ คัด / ศักดา พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๒ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศสงกรานต์
ปีขาล สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. ๑๑๘๐ ปีฉลู จ.ศ.๑๑๗๙
เลขที่ ๑๔ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหพระกลาโหมมาถึงพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อพร้อมกันหาฤกษ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายศุภมัศดุมวรพุทธศักราชสองพันสามร้อยหกสิบพระวัสสา กาลครั้นเจ็ดมาสสุกรปักษมีดิถี โสรวารตัสสทิวากาลเพลาบ่ายสองโมงแปดบาท บรมทินกรเสด็จโคจรจากมีนาประเวศสู่เมษาราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อมโหธรรมมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดทอดสามหาว ทรงอาภรณ์อันแล้วไปด้วยแก้วนิลรัตน์ พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาทรงจักร ภักษาหารมังสังทราย เสด็จทรงนั่งไปเหนือหลังมยุรปักษาพาหนะเป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยุดาแสนโกฏมารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันอุสภสังวัจฉนิรจุลศักราชขึ้นอีกพันแปดร้อยสิบปีขาล นักษัตร สัมฤทธิศก เนาวันหนึ่ง เป็นวันสงกรานต์สามวัน ผลทำนายพสุวาจินตะสามัญสงกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระเสาร์เป็นอธิบดีนาคราชสามตัวบันดาลให้ฝนสี่ร้อยห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบห่า อรัญญิกหิมพานต์ร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝนต้นมืออุดม กลางมือมัธยม ปลายมือเป็นอวสาน เกณฑ์ธาราธิคุณลงปัควราศรีสิงหเตโชธาตุน้ำน้อยกว่าปีหลังสองศอก นาลุ่มดี นาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษศูนย์เป็นปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลส่วนหนึ่งเสียสิบส่วน เกณฑ์ธัญญผลามัจฉมังสาหารเป็นมัธยมเดือนแปดแรมค่ำหนึ่งพร้อมด้วยอาสาหพฤกษ์พระบวรชีโนรศมหานาคจะได้เข้าพระวัสสาตามพระอาทิตย์ พระจันทร์อันเป็นประธานแห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีฯ สืบๆ มา ครั้นวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นแปดค่ำ เพลาเช้าสามโมงหกบาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก เจ้าพนักงานชาวพระเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกรด น้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณีสืบมา เพื่อทรงพระจำเริญราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระษัยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการเผดียงพระสังฆราชา ท่านเจ้าอธิการ แล้วป่าวร้องประกาศแก่อาณาประชาราฎรในแขวงจังหวัดเมืองนครให้จงทั่วเหมือนอย่างมหาสงกรานต์ทุกปี ครั้งหนังสือนี้มาถึงวันใด ก็ให้กระทำตาม

.

หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี่แรมห้าค่ำปีฉลูนพศก เมืองนครศรีธรรมราช

ตราพระคชสีห์วังหลวง นายช่วยถือมา ตรามหาสงกรานต์ ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก วันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีขานสัมฤทธิศก นายช่วยถือมา ตรา ๒ ฉบับ

ตรารูปคนถือปืนประจำครั่ง

.

ประเสริญ คัด ศักดา พิมพ์ วชิร ทาน ๒๘ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒
ท้องตรา ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศมหาสงกรานต์ ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. ๑๑๘๑ เลขที่ ๑
วัน เสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๘๑
ประวัติ กระทรวงมหาดไทย ถวาย หอวชิราวุธ พ.ศ. ๒๔๕๘

.

หนังสือพระเจ้าอัคมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหะพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาราชชาติเดโชไชยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อ ทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายสุพมัศดุศักราชสองพันสามร้อยหกสิบเอ็ดพรรษา กาละครั้นเจตรมาสกาลปักษทุติยะ ดิถีรวีวาระตัดราตรีกาลเพลาย่ำค่ำแล้ว สองทุ่มแปดบาทบรมเทพทินกร เสร็จโคจรจากมีนยะประเวษสู่เมศราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราชขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำฤกษกาพิมลทรงพาหุรัตทัดดอกทับทิมทรงอาภรอันแล้ว ไปด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จทรงไสยาสน์ไปเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ รวีวาระเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทรวาระภูมวาระเป็นวันเนาว์ พุทวาระเป็นวันเถลิงศก ศรีพระยาวัน ครั้น ณ วันพุธ เดือนห้าแรมห้าค่ำ เพลาเข้าสองโมงแปดบาทสื้นพยัคสังวัจฉระเป็นสัสสะสังวัจฉรศักราชขึ้น เป็นพันร้อยแปดสิบเอ็ด ปีเถาะนักษัตรเอกศกเนาว์สองวัน เป็นวันมหาสงกรานต์สี่วัน พลทำนายพสุสงกรานต์ อาจินสงกรานต์ สามัญสงกรานต์ เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระอาทิตย์เป็นอธิบดี นาคราชสองตัว บัลดาลฝน สี่ร้อยห่า อุบัตดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบ อรัญยิกาพิมพานร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝรตกมือกลางมืออุดมปลายมือ มัธยมเกณฑ์ธาราธิคุณลงปัศวราศรีซึ่งพระเตโชธาตุพินชนน้ำงามน้อยกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดีนาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษสองชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง ธัญญาหารมัชมังสาหาร พลาหารมัธยมในปีเถาะ นักษัตรเอกศกนี้มีอธิมวาระเดือนเจ็ดเป็นเดือนถ้วนเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง พระบวรชิโนรถมหานาคจะได้กระทำชำระกุฎี ลงพระอุโบสถทวิกรรมเข้าพระพรรษาปวารณาออกพระพรรษาตามวินัยพุทธบัญญัติ ให้ชอบด้วยปีเดือน ค่ำวันเทศกาล ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์เป็นประธาน แห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีแผ่นดินสืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือนแรมห้าค่ำเพลาเช้าสามโมงหกบาท เจ้าพนักงานจะได้ตั้งเครื่องพระมลธาภิเศกชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำรดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิธพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนามทรงพระมูรธาภิเศก เพื่อจะชำระพระองค์ตามพระราชประเพณีสืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระไสยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการพเดียงอาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและเป่าร้องอาณาประชาราษฎรให้รู้จักทั่ว

.

หนังสือมา ณ วัน เสาร์ เดือนห้า ขึ้นสองค่ำจุลศักราชพันร้อยแปดสิบเอ็ดปีเถาะเอกศก
(คนถือปืนประจำครั่ง) ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก
วันจันทร์ ขึ้นสามค่ำ เดือนหก ปีเถาะเอกศก หมื่นสนิทข้าในกรมถือมาตรา ๓ ฉบับ
สุเทพ คัด / พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๗ ม.ค. ๒๕๑๓

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

หมุดหมายของประเพณีสงกรานต์คือการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านประจำปี โดยกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ ที่ต้องให้เป็น “มหา” เพราะอินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน ด้วยว่าราศีมีปกติย้ายไปตามวาระ แต่ที่ยิ่งสุดคือจากมีนสู่เมษเพราะต้องเปลี่ยนทั้งเดือนและปี ในที่นี้ให้ความสำคัญเฉพาะการเปลี่ยนศกที่เป็นจุลศักราช เพราะปีนักษัตรจะเปลี่ยนในเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง ข้อนี้น่าสนใจเพราะอินเดียไม่มีปีนักษัตร ไทยรับสิ่งนี้มาจากวัฒนธรรมจีน[1] หากจะให้ถูก ก็ต้องถือปฏิบัติตามอย่างปฏิทินหลวง คือเปลี่ยนปีนักษัตรในเดือนอ้าย (แปลว่า ๑ หมายถึงเดือนแรก) ตามจันทรคติ

มีต้นเค้าจากตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ระบุถึงพระราชพิธีหลายประการที่ปัจจุบันเป็นวิถีปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ของเมืองนครศรีธรรมราช พระราชพิธีสรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง          =          พิธีขึ้นเบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์
พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก                    =          พิธีขึ้นเบญจาสรง/รดน้ำปูชนียบุคคล
การพระราชกุศลก่อพระทราย                 =          ก่อพระเจดีย์ทราย
การพระราชกุศลตีข้าวบิณฑ์                  =          ตีข้าวบิณฑ์ (ปัจจุบันพบในเกาะสมุย)

เบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ วันว่างพุทธศักราช ๒๕๖๒

มองทั่วไปอาจดูเหมือนพระราชพิธีของศูนย์กลางอำนาจ ส่งอิทธิพลต่อประเพณีของเมืองนครศรีธรรมราช แต่กลับกันเมื่อพบข้อความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เอกสารโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ลงวันจันทร์ เดือน ๘ หลัง แรม ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕ ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๓๖) ระบุว่า “…พระพุทธองค์เจ้ามีพระประสงค์ตำราพระราชพิธีตรุษสาร์ทสำหรับเมืองนคร…ข้าฯ คณะลังกาแก้วได้ทำการพิธีมาจำได้เป็นมั่นคง…” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีรอยบางประการใช้คติเดียวกันเป็นคู่ขนาน รับ-ส่ง เกื้อกูลกัน ในขณะที่หลายอย่างยังคงเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชกระทั่งปัจจุบัน

ลักษณะการปฏิบัติ  พิธีกรรม ความเชื่อ และคุณค่า

 เมืองนครศรีธรรมราชมีการกำหนดเรียกวันในห้วงของสงกรานต์ไว้เป็นลักษณะเฉพาะ ๓ วันดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า 
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันสุดท้ายที่เทวดาผู้รักษาเมืองได้พิทักษ์รักษา เป็นวันเดียวกันกับที่เทวดาพระองค์นั้นๆ จะขึ้นไปชุมนุมกันยังเทวสภาบนสวรรค์

วันว่าง 
ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง

วันเจ้าเมืองใหม่ 
ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันต้อนรับเทวดาผู้รักษาเมืองพระองค์ใหม่ ที่จะเสด็จมาพิทักษ์รักษาต่อไปจนตลอดศักราช

คำว่าวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชเรียกแทนด้วยคำว่า “วันว่าง” และมักเข้าใจว่าคือทั้ง ๓ วัน ในความเป็นจริงปีหนึ่งมีกิจใหญ่สำคัญ ๒ ครั้ง คือบุญเดือนห้าและบุญเดือนสิบ บุญเดือนห้า หมายถึงสงกรานต์ กิจส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ส่วนบุญเดือนสิบ (สารทเดือนสิบ) ก็มีนัยยะเดียวกันแต่เพื่ออุทิศถึงบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว 

แต่เดิมก่อนที่จะถึงวันว่างจะมีคณะเพลงบอกออกขับกลอนตามบ้านเรือนต่างๆ ถึงบันไดบ้านเพื่อบอกศักราช บอกกำหนดวาระวันทั้งสาม บอกวันใดเป็นวันวันดี – วันอุบาทว์ นางสงกรานต์ ตลอดจนสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้าน และการชาขวัญหรือสดุดีพระแม่โพสพ เรียกกันว่า “เพลงบอกทอกหัวได”

ในส่วนของห้วงสงกรานต์ทั้ง ๓ วัน มีระเบียบปฏิบัติต่างกัน ดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า

ทุกครัวเรือนจะเร่งรัดการทำงานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิจากเพื่อนบ้านและญาติมิตร ถือเป็นการฝ่าฝืนจารีตไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง และจะต้องตระเตรียมอาหารสำรองสำหรับสามวันให้พร้อม ทั้งข้าวเหนียว น้ำตาม และมะพร้าวใช้สำหรับทำขนม บิดามารดาก็ต้องเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับตนเองและลูกหลานสำหรับสวมใส่ในวันว่าง รวมถึงน้ำอบน้ำหอมไว้สำหรับสระหัวอาบน้ำผู้อาวุโส ทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ตลอดจนตัดเล็บ ตัดผมให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ยังมีพิธีลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามเจ้าเมืองเก่าที่กลับไปชุมนุมบนสวรรค์ บางท้องถิ่นมีพิธีกรรมเฉพาะเรียกว่า “เกิดใหม่”

วันว่าง

ชาวบ้านชาวเมืองจะงดเว้นการตระเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อวันข้างหน้า งดเว้นการทำงานต่างๆ งดเว้นการสีข้าวสาร การออกหาปูปลาอาหาร ห้ามไม่ให้อาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดผมตัดเล็บ ห้ามตัดต้นไม้กิ่งไม้ ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่กล่าวคำหยาบคายหรือดุด่าใครทั้งสิ้น ห้ามขึ้นต้นไม้ 

นอกจากข้อห้ามแล้วก็ยังมีข้อปฏิบัติ เช่นว่า ให้ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกหากินอย่างเสรีไม่มีการผูกล่ามให้ออกหากินได้ตามอิสระ มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนานทั้งของเด็กเล็กและผู้ใหญ่ อาทิ ตี่ เตย สะบ้า ชนวัว ฯลฯ ซึ่งเรียกกันว่า “เล่นว่าง”

วันเจ้าเมืองใหม่

ในหนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๒ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร กำหนดชื่อเรียกวันนี้ไว้อีกชื่อว่า วันเบญจา เนื่องมาจากในวันนี้จะมีการปลูกโรงเบญจา เป็นพลับพลามีหลังคา ๕ ยอด เป็นเรือนไม้ประดับด้วยการฉลุลายกาบต้นกล้วยหรือที่เรียกเฉพาะว่าการ “แทงหยวก” อย่างวิจิตรงดงาม แทรกม่านผ้าและกลไกการไขน้ำจากฝ้าเพดาน โดยสมมติเอาโรงเบญจาเป็นโลกทั้ง ๓ เหนือเพดานผ้าเป็นสวรรคโลก โถงเบญจาเป็นมนุษยโลก และใต้พื้นโรงพิธีเป็นบาดาล กราบนิมนต์พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หรือปูชนียบุคคลนั่งในโถงเบญจาเพื่อรับน้ำคล้ายอย่างการสรงมุรธาภิเษก อาจารย์ประทุม ชุมเพ็งพันธุ์ กล่าวในหนังสือวิถีชีวิตชาวใต้ ประเพณีและวัฒนธรรมว่าอาการอย่างนี้เรียก “พิธีขึ้นเบญจา” ซึ่งจะกระทำโดยลูกหลานที่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าตายายในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ของวงศ์ตระกูล

ซ้าย เบญจาสรงน้ำพระรัตนธัชมุนี (๒๕๑๙) ขวา เบญจาสรงน้ำพระเทพวินยาภรณ์ (๒๕๖๒)
ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

ในการขึ้นเบญจานั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนผู้ยังมีชีวิตอยู่ของตนดังกล่าวแล้วได้อย่างเห็นชัดแจ้ง แต่ละพื้นที่คงมีความแตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนหลักการนั้นเหมือนกัน คือการใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ครอบครัวที่มีฐานะก็ปลูกโรงเบญจาให้วิลิศมาหราอย่างไรก็ตามแต่จะมี แล้วลดหลั่นกันไปตามอัตภาพ อย่างง่ายก็นุ่งกระโจมอก อาบน้ำ ประทินผิว เปลี่ยนผ้าใหม่ เป็นจบความ สาระสำคัญอยู่ที่การรวมลูกหลานญาติมิตร โดยอ้างเอาผู้อาวุโสที่สุดอันเป็นที่เคารพสักการะเป็นประมุขในพิธี

เบญจาสรงน้ำพระเดชพระคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
วันเจ้าเมืองใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๒

อย่างไรก็ดี แม้จะแตกต่างกันตามมีตามเกิด ก็พบว่ามีขั้นตอนและวิธีการร่วมกันเป็นลำดับดังนี้

๑. นัดหมายรวมญาติ กำหนดพื้นที่พิธี และเชิญผู้อาวุโสซึ่งควรแก่การสักการะ

๒. กล่าวคำขอขมา

๓. สรง / อาบน้ำ (ในระหว่างนี้จะมีส่วนของพิธีสงฆ์ที่จะสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ก่อนสรง/อาบ และขณะสรง/อาบพระสงฆ์จะสวดชัยมงคลคาถา)

๔. เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่

๕. รับพร

นอกจากนี้ ชาวทั่วไปจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วเตรียมสำรับกับข้าวไปวัดที่บรรพชนของตนเคยไปทำบุญเป็นประจำสืบมา หรือไม่ก็วัดที่เผาศพและเก็บอัฐิเอาไว้ และจะมัดเอารวงข้าวที่จะนำไปทำขวัญข้าวประจำลอมข้าวโดยใช้ด้านสีแดงสีขาวมัดรวบอย่างสวยงามวางไว้บนพานหรือถาด นำไปทำขวัญข้าวร่วมกันที่วัด เรียกว่า “ทำขวัญใหญ่” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การทำนาเพาะปลูกสืบไป 

เมื่อประกอบศาสนพิธีเรียบร้อยแล้ว ก็จะนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลแก่บรรพชนผู้ล่วงลับ แล้วแยกย้ายกันไปสักการะบัว (ที่บรรจุอัฐิของบรรพชน) จากนั้นก็จะแยกย้ายกันสรงน้ำพระพุทธรูป หรือทำบุญอื่นๆ กันตามอัธยาศัย คล้ายกับว่าเป็นการทำบุญปีใหม่นั่นเอง

ในท้ายที่สุดภาคกลางคืน มีกิจกรรมเฉลิมฉลองเถลิงศก เช่น มหรสพพื้นบ้าน การจุดดอกไม้เพลิง รับเจ้าเมืองใหม่ การก่อ – เฉลิมฉลอง – และถวายพระเจดีย์ทราย เป็นต้น


[1] เมืองนครศรีธรรมราช ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีสถานะเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร บรรดาเมืองรายล้อมทั้ง ๑๒ เมือง ใช้ตรานักษัตรแต่ละปีเป็นดวงตราประจำเมือง หากปีนักษัตรเป็นการรับมาจากจีนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งข้อสังเกตว่า เมืองนครศรีธรรมราชในอดีต มีการติดต่อโดยตรงกับจีนหรือรับผ่านพันธมิตรจากเมืองใด