หนานรูปทุ่งใหญ่ ที่กำลังถูกพูดถึงในติ๊กต็อก

ค่ำวันก่อน ครูแอนส่งลิงก์ติ๊กต็อกมาทางเมสเซนเจอร์
หลังจากดูจบผมตอบไปทันทีว่า “กรมศิลป์เคยลงพื้นที่แล้วครับ” ในนั้นเป็นคลิปความยาวไม่ถึงนาทีแต่ดูเหมือนว่ากำลังเป็นที่กล่าวถึงและส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ ถัดนั้นในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เพจสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราชก็ได้เผยแพร่องต์ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว
.
ผมผ่านตาเรื่องนี้ครั้งหนึ่งเมื่อครูแพน ธีรยุทธ บัวทอง เคยส่งบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ในสารนครศรีธรรมราช โดยใช้ชื่อ “จากพื้นที่รกร้างบนลานหินหนาน สู่เส้นทางประวัติศาสตร์ตำบลทุ่งใหญ่” ก่อนผมจะปรับเป็น “หนานใหญ่ • หนานนุ้ย • หนานรูป: เรื่องเล่าและเรื่องราวของชาวทุ่งใหญ่” แล้วนำลงเผยแพร่ในเพจสารนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ ๔​ พฤษภาคม ปีก่อน
.
ดังจะได้ยกมารีโพสต์ผ่านนครศรีสเตชั่นอีกคำรบ ดังนี้
.
วัดขนานตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จัก (สำหรับผม) ก็เมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เนื่องจากมีการค้นพบภาพสลักบนหิน และได้ออกข่าวหลายสำนักจนทำให้กระผมใคร่อยากเดินทางมาเห็นด้วยตาของตนเอง แต่ทว่าด้วยเวลาและระยะทางจึงไม่มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชม
.
จนเวลาล่วงเลยผ่านไปนานกว่า ๒ ปี การสอบบรรจุครูผู้ช่วยสำเร็จก็ชักนำให้กระผมขยับเข้ามาสู่พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ และกระทำการลงพื้นที่ เก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมบันทึกเรื่องราวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนภายนอกได้รับทราบมากยิ่งขึ้น
.
สำหรับบทความครั้งนี้กระผมจะขอนำเสนอข้อมูลอันประกอบด้วย ๕ ประเด็น คือ
๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา
๒. ประวัติความเป็นมา
๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ
๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
๕. แนวทางในการอนุรักษ์
.

๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา

วัดขนาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหินทราย หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “หินหนาน” อันหมายถึงพื้นที่ต่างระดับที่มีทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งตามหลักธรณีวิทยานั้น หินแถบนี้จัดอยู่ในหมวดหินพุนพิน (Kpp) ประกอบไปด้วยหินทรายอาร์โคส (Arkosic Sandstone) สีแดงม่วง ชั้นหนา มีหินดินดานและหินทรายแป้งสลับเป็นชั้นบาง ๆ เนื้อของหินทรายค่อนข้างร่วนและมีไมกา (Mica) อยู่บ้าง มีชั้นเฉียงระดับแบบ Trough Cross Bedding อยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสะสมตัวในลำน้ำแบบ Braided Stream ความหนาไม่เกิน ๕๐ เมตร ไม่พบซากบรรพชีวิน
.
และมีความสัมพันธ์กับหมวดหินเขาสามจอม (JKsc) ซึ่งมีลักษณะเป็นหินกรวดมน วางตัวอย่างต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินลำทับ ตอนล่างของหมวดหินนี้เป็นหินทรายสลับหินกรวดมนและหินโคลน ปริมาณของหินกรวดมนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชั้นหนา แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นหินทรายอาร์โคสเนื้อหยาบ ร่วนมาก ความหนาทั้งหมดประมาณ ๑๐ เมตร คาดว่าเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำในยุค Jurassic-Cretaceous
.
และจากการทับถมรวมกันจนกลายเป็นหินทรายที่มีความเปราะบาง ง่ายต่อการผุพังสลายอันเนื่องมาจากการกัดเซาะของน้ำ ดังนั้นเราจึงมักเห็นพื้นที่ด้านล่างของหินมีลักษณะเป็นโพรง (บางแห่งเชื่อมต่อกัน) คล้าย ๆ ถ้ำ โพรงเหล่านี้เป็นทางไหลผ่านของน้ำ และบางแห่งก็ตื้นเขินจนสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้

๒. ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการพบภาพสลักบนหินทราย (หินหนาน) ก็ช่วยไขอดีตได้ในระดับหนึ่ง
.
โดยภาพสลักที่ถูกค้นพบและเป็นข่าวออกไปในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น แท้ที่จริงคือการค้นพบซ้ำบนพื้นที่เดิม เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้เข้าไปสำรวจ และมีรายงานระบุว่า
“อำเภอทุ่งใหญ่รับแจ้งจากนายสมชาย ศรีกาญจน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๔ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าได้พบภาพแกะสลักบนเพิงผามีลักษณะเป็นรูปพญาครุฑจับนาค ทางอำเภอจึงมีหนังสือที่ นศ.๑๑๒๗/๒๔๔๗ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๘ แจ้งให้หน่วยศิลปากรที่ ๘ (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช) ดำเนินการตรวจสอบ
.
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสำรวจพบว่าตัวแหล่งอยู่บริเวณเนินดินตั้งอยู่เชิงเนินเขาหินทรายซึ่งลาดลงสู่ลำน้ำเก่า มีลักษณะเป็นถ้ำลึกเข้าไปในเพิงผาหินทรายแดง ซึ่งตัดตรงเกือบจะตั้งฉากกับพื้น (ลักษณะนี้ท้องถิ่นเรียกว่า หนาน)
.
ปากถ้ำถูกดินปิดทับเหลือช่องว่างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร บริเวณด้านบนของปากถ้ำมีการสลักลักษณะคล้ายซุ้มประตูด้านซ้ายและขวาของปากถ้ำมีร่องรอยการสกัดหินทรายให้มีลักษณะเป็นเกล็ดยกออกมา แต่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากถูกพงไม้ปกคลุมอยู่เกือบทั้งหมด
.
รายละเอียดของรูปแกะสลักจากด้านซ้ายมือแกะสลักเป็นรูปกลีบบัว ๒ กลีบ ระหว่างกลีบเจาะช่องเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายเลียนแบบเครื่องไม้ ขอบบนและขอบล่างของกลีบบัวแกะสลักเป็นเส้นลวดคาดไว้ เหนือเส้นลวดขอบบนแกะสลักเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กหรือกระจังสามเหลี่ยม ถัดมาเกือบตรงกลางแผ่นหินสลักเป็นรูปบุคคลเคลื่อนไหวคล้ายกำลังเต้นรำ ยกมือทั้งสองจับคันศร หรือพญานาคไว้เหนือศีรษะ ถัดจากภาพบุคคลไปทางขวาแกะสลักเป็นรูปคล้ายเศียรพญานาค ส่วนลำตัวเห็นไม่ชัดเจน และจากการสำรวจที่วัดขนานยังได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยยุโรปผลิตในประเทศเนเธอแลนด์ และเครื่องทองเหลืองจำนวนมากด้วย”
.
และผลการสำรวจเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีรายละเอียดระบุไว้ว่า
“…ภาพสลักบนผนังหินทราย มีความยาวประมาณ ๑.๔ เมตร สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป เนื่องจากส่วนบนปรากฏลักษณะเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กเรียงกันจำนวน ๑๑ กลีบ… อาจตีความว่าเป็นช่องหน้าต่าง ส่วนด้านล่างเป็นขาโต๊ะ และตรงกลางเป็นลายผ้าทิพย์…(ส่วนภาพสลักที่เคยระบุว่าเป็นรูปบุคคลนั้น อาจไม่ใช่) หากพิจารณาจากเท้าซ้าย พบว่าเป็นลักษณะของสัตว์ประเภทลิง… ทำให้นึกถึงภาพของตัวละครในหนังใหญ่ เช่น วานรยุดนาค… ในเบื้องต้นกำหนดอายุภาพสลักจากลวดลายที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าน่าจะทำขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นรัตนโกสินทร์…”
.
ดังนั้นจึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่ของหินหนาน (บริเวณวัดขนาน) คงมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างน้อยในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีลักษณะเป็นชุมชนโบราณขนาดเล็ก อาศัยเส้นทางคมนาคมหลัก คือ คลองวัดขนาน ซึ่งเชื่อมต่อไปยังคลองเหรียง พื้นที่ของท่าเรือโบราณ และออกสู่แม่น้ำตาปีในที่สุด ตลอดจนผู้คนที่อาศัยอยู่คงมีความรู้ความสามารถด้านศิลปกรรมประเภทประติมากรรมบนแผ่นหิน และมีความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่มาแต่ดั้งแต่เดิม
.
แต่ภาพสลักวานรยุดนาคนั้นยังคงไม่ชัดเจนมากนัก เพราะบางคนเชื่อว่าเป็นอสูรตามคติความเชื่อของพราหมณ์ และบางคนก็เชื่อว่าเป็นอาฬวกยักษ์ตามเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนผมตั้งความเป็นไปได้ไว้ ๓ ประการ (ให้ช่วยกันพิจารณา) ด้วยกันดังนี้
.
หากเป็นภาพสลักรูปอสูรยุดนาค อันเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ตอนเกษียรสมุทร (กูรมาวตาร) ก็จะมีความคล้ายคลึงกับภาพที่ปรากฏหลักฐานอยู่ ณ ซุ้มประตูเมืองนครธมแห่งอาณาจักรขอม ฉะนั้นผู้สร้างคงเป็นชาวขอมหรือไม่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ อีกทั้งยังช่วยระบุถึงลักษณะของผู้คนแรกเริ่มในบนลานหินหนานได้อีกด้วย
.
แต่หากเป็นภาพสลักรูปอาฬวกยักษ์ ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาในท้องถิ่นแห่งนี้ ซึ่งได้รับมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย (สอดคล้องกับเหตุการณ์ภายหลังสร้างเจดีย์ศรีวิชัยขึ้นที่เขาหลัก)
.
และหากเป็นภาพวานรยุดนาค ซึ่งเป็นการแสดงมหรสพที่ปรากฏหลักฐานค่อนข้างชัดเจนในสมัยอยุธยาตอนต้น ก็จะสะท้อนให้เราเห็นถึงอิทธิพลของหนังใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ได้เฉกเช่นเดียวกัน
.
แต่ไม่ว่าภาพสลักนั้นจะเป็นรูปแสดงถึงสิ่งใด ความชัดเจนในเรื่องความรู้ความสามารถด้านประติมากรรมบนแผ่นหินอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาก็ยังคงเด่นชัดอยู่เสมอ แม้การสรรสร้างอาจไม่แล้วเสร็จ และยังคงเป็นปริศนาที่รอการค้นคว้าก็ตาม
.
นอกจากนี้การค้นพบเครื่องถ้วยยังช่วยยืนยันประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อีกด้วย โดยเครื่องถ้วยซึ่งกระผมได้เห็นมากับดวงตาตัวเองนั้น มีอยู่ ๓ ใบ (ของเก่า ๒ ของใหม่ ๑) ใบหนึ่งเป็นเครื่องถ้วยจีน เพราะปรากฏอักษรจีนอยู่ภายนอก ส่วนอีกใบเป็นของสกอตแลนด์ ซึ่งภายนอกใต้ก้นชามได้มีข้อความเขียนไว้ว่า
.
WILD ROSE
COCHRAN GLASGOW
D
.
พร้อมมีตราประจำแผ่นดินสกอตแลนด์ รูปราชสีห์ & ยูนิคอร์น (Dieu Et Mon Droit) ประทับอย่างสวยงาม
.
จากหลักฐานประเภทเครื่องถ้วยข้างต้น จึงสอดรับกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนโบราณแถบหินหนาน และยืนยันความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับผู้คนภายนอกในพื้นที่ริมคลองเหรียง ซึ่งเป็นเขตของท่าเรือโบราณในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา
.
ต่อมาด้วยเหตุใดมิอาจทราบได้แน่ชัด จึงเกิดการร้างของผู้คน จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นป่ารก เหมาะแก่การธุดงค์ของเหล่าพระภิกษุสงฆ์และนักปฏิบัติธรรม จนกระทั่งปีใน พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงพ่อนาค (พระครูอานนท์สิกขากิจ) ได้เข้ามาจัดสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้น
.
ถัดจากนั้นอีก ๑๐ ปี หลวงพ่อหมื่นแผ้ว ได้เดินทางมาจากสถานที่อื่น และเข้ามาจำพรรษา พร้อมทั้งชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันหักร้างถางพงบริเวณริมคลองบ้านหัวสะพาน (คลองวัดขนาน) เพื่อก่อสร้างเป็นวัดหนาน (วัดขนาน) ขึ้น ตลอดจนได้สร้างโรงเรียนขึ้นอีกด้วย ซึ่งสถานที่ดังกล่าวในปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดเก่า โรงเรียนเก่า”
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อรื่นได้เข้ามาจำพรรษาปฏิบัติธรรม และชอบพอสถานที่ทางด้านทิศตะวันออกของสถานที่ตั้งโรงเรียนวัดหนานเก่า ซึ่งเป็นที่เนินสูงและเป็นสถานที่สถิตของเทวดาหนานนุ้ย โดยทางด้านทิศตะวันออกของเนินสูงมีลักษณะเป็นตาน้ำซึ่งผุดขึ้นมาจากหินหนาน และมีความแรงของน้ำตลอดทั้งปี
.
ถัดจากนั้นก็ได้มีพระภิกษุสงฆ์หลายรูปเข้ามาจำพรรษา ได้แก่ หลวงพ่อเลื่อน ศรีสุขใส (พระครูไพศาลธรรมโสภณ) หลวงพ่อแสง ชูชาติ อดีตพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดภูเขาหลัก หลวงพ่อส้วง ดาวกระจาย หลวงพ่อเริ่ม แสงระวี หลวงสวาท อโสโก ผู้สร้างโรงธรรมไม้หลังเก่า พระสมุห์ประสิทธ์ จิตตฺโสภโณ ตามลำดับ
.
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้เปลี่ยนชื่อจากวัดหนานมาเป็นวัดขนาน
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางวัดขนานได้อนุญาตให้โรงเรียนทุ่งใหญ่เฉลิมราชอนุสรณ์ รัชมังคลาภิเษก ใช้พื้นที่ทางด้านทิศเหนือเป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาคู่วัดคู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูพิศาลเขตคณารักษ์
.

๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ

ผู้คนซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณหินหนานล้วนมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกกันว่า “เทวดาหนาน” ชาวบ้านเชื่อกันว่าเทวดาหนาน คือ ผู้พิทักษ์รักษาประจำท้องถิ่น จึงได้สร้างศาลเคารพบูชา โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

เทวดาหนานใหญ่

ตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑

เทวดาหนานนุ้ย

ตั้งอยู่ใกล้กับวัดขนาน ทางด้านทิศตะวันตก

เทวดาหนานรูป

ซึ่งพบภาพสลักข้างต้น แต่หนานรูปไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้
.
ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานทั้งสามถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่
.
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องพญานาค (งูใหญ่) เพราะถือว่าเป็นยานพาหนะของเทวดา และเนื่องด้วยลักษณะที่เป็นแอ่งหินและโพรงถ้ำขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นที่รองรับน้ำ จึงช่วยเสริมความเชื่อเรื่องที่อยู่อาศัยของพญานาคมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อกันว่าพญานาคจะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำในบางครั้งบางครา และปรากฏแก่สายตามผู้มีบุญญาธิการ
.
นอกจากนั้นเรื่องพญานาคยังคงปรากฏให้เห็นในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระลอตามไก่” แต่เอ๊ะ ! นี่มันคือนิทานพื้นบ้านของเมืองแพร่ ซึ่งเราเคยร่ำเคยเรียนกันมา แต่เหตุไฉนจึงมาปรากฏ ณ ที่แห่งนี้
.
ไม่แน่ชัดว่าพระลอตามไก่ของทุ่งใหญ่มีที่มาที่ไปเช่นไร แต่สันนิษฐานว่าคงได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากคนภาคเหนือหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงสมัยอยุธยา (อาจจะถูกกวาดต้อนหรืออพยพเข้ามาเองก็มิอาจทราบได้) ส่วนเรื่องราวของพระลอตามไก่ฉบับทุ่งใหญ่ จะมีความแตกต่างกับของเมืองสรองอย่างชัดเจน ดังมีเรื่องราวดังต่อไปนี้
.
“พระลออาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ของหินหนาน พระองค์มียศเป็นพระยา ชอบเลี้ยงไก่ป่าเป็นกิจวัตรประจำวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ออกล่าไก่ป่า โดยใช้วิธีการต่อไก่ให้มาติดกับดักสำหรับจับไก่ป่า และได้แอบซ่อนตัวอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่ท่าที่ที่ไก่ป่าจะผ่านมา ก็ปรากฏว่าได้มีมูสัง เข้ามาหมายจะกินไก่เป็นอาหาร พระลอเห็นดังนั้นก็โกรธมาก จึงหยิบเอาไม้ทัง (ไม้ลำทัง ) ขว้างไปถูกมูสัง จนทำให้มันชักดิ้นกระเสือกกระสนด้วยความเจ็บปวด ซึ่งการดิ้นของมูสังในครั้งนั้นทำให้ป่าแถบนั้นเตียนโล่งเป็นเนื้อที่กว้างขวางกลายเป็นทุ่งนา เรียกกันว่า ทุ่งสัง
.
ส่วนไม้ทังนั้นได้กระเด็นกระดอนออกไปจนกลายเป็นภูเขา เรียกว่า เขาลำทัง ส่วนเจ้าตัวมูสังที่ตายได้กลายมาเป็นเขา(มู)สัง และไก่ต่อของพระยาลอซึ่งผูกติดอยู่กับหลัก ก็ตายและกลายเป็นภูเขาเรียกว่า เขาหลัก ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา”
.

๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

จากความเชื่อความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นในข้างต้น ทำให้ผู้คนรู้สึกผูกพันและเคารพนอบน้อมโดยผ่านการแสดงออกเชิงพฤติกรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำพิธีขอขมาเทวดาหนาน การสร้างศาลเคารพบูชา การทำพิธีบนบานสานกล่าวและแก้บนเทวดา เป็นต้น
.
อีกทั้งการเลี้ยงไก่แจ้ของชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังสอดคล้องกับนิทานพื้นบ้านเรื่องพระลอตามไก่อีกด้วย ถึงแม้การเลี้ยงไก่เหล่านี้อาจจะเข้ามาภายหลังก็ตาม แต่ทว่าไก่แจ้ก็ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นทุ่งใหญ่ไปเสียแล้ว
.
นอกจากนี้ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ยังได้มีประเพณีอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะถิ่น คือ ประเพณีแห่จาดสารทเดือนสิบ ซึ่งมีความแตกต่างจากประเพณีสารทเดือนสิบที่อื่นตรงที่ชาวบ้านจะนำไม้มาประกอบกันให้มีลักษณะเหมือนบ้านหรือปราสาท โดยขึ้นโครงด้วยไม้เนื้ออ่อนน้ำหนักเบา ประดับประดาด้วยกระดาษสีที่แกะเป็นลวดลายต่างๆสลับกัน ตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์หลากสีหลายรูปแบบ ส่วนพื้นที่ภายในจาดจะมีที่ว่างไว้สำหรับใส่ของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมบ้า ขนมกง (ขนมไข่ปลา) รวมทั้งผลไม้ตามฤดู และข้าวสารอาหารแห้งทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่เงิน
.
ซึ่งการทำจาดมิได้มีเพียงพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่เท่านั้น หากแต่สามารถพบได้ทั่วไปในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอฉวาง และอำเภอใกล้เคียง ตลอดจนพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ ซึ่งบางแห่งก็อ้างว่าต้นฉบับความคิดเรื่องการทำจาดมาจากพื้นที่ของตน ซึ่งนั้นมิใช่สิ่งสำคัญเลย เพราะวัฒนธรรมมันสามารถถ่ายทอดและผสมผสานจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมกันได้ ความภูมิใจและความร่วมไม่ร่วมมือเพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
.

๕. แนวทางในการอนุรักษ์

ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์เป็นแนวทางสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระผมได้ลองนั่งใคร่ครวญและพิจารณาถึงหนทางซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นในอนาคต ๔ ประการ ดังนี้
.

ประการแรก

คงต้องเริ่มจาก “การศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล” ให้เยอะ (มากกว่าบทความนี้) โดยข้อมูลที่ได้อาจมาจากเอกสารหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คำบอกเล่า หรือหลักฐานทางโบราณคดี แต่ก็ต้องไม่ลืมวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานด้วย
.

ประการที่สอง

“เผยแพร่ข้อมูล” การเผยแพร่ข้อมูลเป็นการนำเสนอเรื่องราวให้บุคคลภายนอกได้รับทราบ และป้องกันการสูญหายของข้อมูลเชิงลายลักษณ์อักษร โดยในปัจจุบันเราสามารถเลือกนำเสนอข้อมูลได้หลากรูปแบบหลายช่องทาง เช่น บทความ หนังสือเล่มเล็ก Videos แผนที่ โมเดลจำลอง เป็นต้น
.

ประการที่สาม

“ปรับปรุงพื้นที่และสร้างแหล่งเรียนรู้” พื้นที่บางพื้นที่เหมาะแก่การปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ และให้ความรู้แก่บุคคลภายนอก อีกทั้งยังสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ในอนาคต
.

ประการที่สุดท้าย

“สร้างเยาวชนผู้สืบสาน” การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และสืบสานที่สำคัญลำดับต้น ๆ คือ การสร้างเยาวชนผู้สืบสานขึ้นมา เสมือนมัคคุเทศก์น้อยในพื้นที่ ซึ่งอาจจะรวมตัวกันในรูปแบบของชมรม องค์กร หรือคณะอื่นใด เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนกับบุคคลภายนอก โดยใช้วิธีการถ่ายทอดชุดความรู้ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้แก่บุคคลที่สนใจผ่านช่องทางต่าง ๆ
.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการดังกล่าวไว้ข้างต้นจะสำเร็จได้นั้น คงต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์และสืบสานประวัติศาสตร์ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชในอนาคตอย่างยั่งยืน
ภาพจากปก : เพจสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

ชมรายการ Live สด  “รวมเรื่องเมืองนคร” ได้ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ