ประวัติอำเภอท่าศาลา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอท่าศาลา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากท่าศาลานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

 

ท่าศาลา จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า เจ้าศรีมหาราชาบุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เจ้าเมืองเวียงสระได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อยกไพร่พลเข้าตั้งอยู่ในเมืองเรียบร้อยแล้ว คิดจำทการซ่อมแซมพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ส่งคนออกมาทำนาที่ทุ่งกระโดน (ตำบลท่าศาลา) ทุ่งหนองไผ่ (ตำบลท่าขึ้น) และทำนารักษาพระที่วัดนางตรา (ตำบลท่าศาลา) และให้คนเข้าไปอยู่บ้านกรุงชิง

.

ส่วนในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ระบุถึงท้องที่ต่าง ๆ ในอำเภอนี้ ได้ตั้งเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีนายที่ปกครองหลายตำบล คือที่ตำบลไทยบุรี ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม ศักดินา 1,200 ไร่ ฝ่ายซ้ายที่ตำบลนบพิตำ นายที่ชื่อขุนเดชธานี ที่กลาย นายที่ชื่อขุนสัณห์ธานี

.

บรรดานายที่เหล่านั้น ปรากฏว่าที่ไทยบุรีเป็นแขวงใหญ่กว่าที่อื่น นายที่มีตราประจำตำแหน่งเป็นรูปโค เครื่องยศมีช้างพลาย 1 จำลอง 1 ทวน 1 ขวด 1 แหลน 20 ปืนนกสับหลังช้าง 1 กระบอก ปืนนกสับเชลยศักดิ์ 6 กระบอก ปืนกระสุนนิ้วกึ่งเชลยศักดิ์ 1 กระบอก หอกเขต 15 ทวนเท้า 6 และได้รับพระราชทานไพร่เลวที่ไทยบุรี ได้รับพระราชทานค่าคำนับฤชาภาษีส่วย มีกรมการคือขุนราชบุรี เป็นรองนายที่ หมื่นเทพบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นบาลบุรี เป็นสมุห์บัญชี หมื่นสิทธิสารวัด เป็นสารวัตร เมืองท่าสูง เมืองเพ็ชรชลธี ขึ้นไทยบุรี และบ้านเปียน บ้านปากลง บ้านกรุงบาง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาตำบลนบพิตำ ชาวบ้านได้หนีสักเมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 เข้าไปตั้งบ้านเรียนหลบซ่อนอยู่ บัดนี้กลายเป็นหมู่บ้านและตำบลนบพิตำ

.

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แขกเมืองไทรบุรีเป็นขบถตั้งแข็งเมือง เจ้าเมืองนครต้องยกทัพออกไปทำการปราบปราม ออกหลวงไทยบุรีศรีมหาสงคราม นายที่ไทยบุรี ได้ยกกองทัพไปช่วยเมืองนครทำการปราบปรามด้วย เดินทัพจากไทยบุรีไปยังนครศรีธรรมราช ทางที่ออกหลวงไทยบุรีเดินทัดนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่าทางทัพหลวงไทย เป็นทางด่วนสาธารณะกั้นเขตแดนระหว่างตำบลไทยบุรีกับตำบลกะหรอปัจจุบัน

.

นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาดังกล่าวข้างต้น อาจทราบได้จากโบราณสถาน วัดวาอารามต่าง ๆ ในท้องที่ เช่น วัดนางตรา และวัดโมคลาน ซึ่งเป็นโบราณสถานที่นักโบราณคดีประมาณอายุว่าสร้างในราว พ.ศ.1400 – 1800 เป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง เนื่องจากภัยสงครามเมื่อครั้งพม่ามาตีเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 1 เพราะที่ตั้งวัดอยู่ใกล้เส้นทางเดินทัพพม่า

.

อำเภอกลาย

พุทธศักราช 2430 ได้รวบรวมท้องที่ต่าง ๆ ตั้งเป็น “อำเภอกลาย” มี 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าศาลา ท่าขึ้น สระแก้ว กลาย ไทยบุรี กะหรอ นบพิตำ หัวตะพาน โมคลาน ดอนตะโก นายอำเภอคนแรกชื่อนายเจริญ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมทะเลบ้านปากน้ำท่าสูง และย้ายไปตั้งที่วัดชลธาราม (วัดเตาหม้อ) ครั้งสุดท้ายย้ายมาตั้งที่ตลาดท่าศาลา ต่อมาในปี 2459 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกลายเป็น “อำเภอท่าศาลา”

.

ท่าศาลา

ชื่ออำเภอนั้น ตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้งที่ว่าการอำเภอท่าศาลา คือบ้านท่าศาลา บ้านท่าศาลานี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลา ซึ่งเป็นคลองเล็กแยกมาจากคลองท่าสูง เป็นท่าจอดเรือสินค้าจากต่างเมือง ที่ท่าเรือมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่หนึ่งหลัง เดิมเป็นศาลาชั่วคราวมุงจาก ต่อมาปลูกเป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา มุงสังกะสี ครั้น พ.ศ.2510 ได้รื้อศาลานี้ปลูกใหม่เป็นทรงไทย มุงกระเบื้อง พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหินขัด กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร โดยบริษัท ท่าศาลาเหมืองแร่ จำกัด เป็นผู้อุทิศเงินในการก่อสร้างจำนวน 70,000 บาท ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลาน้ำ” ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลาใกล้ท่าจอดเรือในสมัยก่อน แต่เดียวนี้ลำคลองตื้นเขินใช้เป็นท่าเรือไม่ได้แล้ว แต่ยังมีศาลาเป็นอนุสรณ์อยู่

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.