ประวัติอำเภอทุ่งสง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอทุ่งสง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอทุ่งสงนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชระบุว่า ประมาณศักราช 1588 ปีมะเมีย เจ้าศรีราชา บุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเมืองนครร้างอยู่เนื่องจากเกิดไข้ยมบนในเมือง คนหนีออกจากเมืองไปอยู่ป่า เมื่อเจ้าศรีราชาได้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็ได้ยกช้าง ม้า รี้พลมาจากเมืองเวียงสระเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองนครฯ จัดการซ่อมแซมบ้านเมืองพระบรมธาตุและวัดวาอาราม จึงแต่งคนออกไปสร้างป่าเป็นนา ในตำบลพระเขาแดงชะมาย (ตำบลชะมายปัจจุบัน) เข้าใจว่าคงตั้งเป็นบ้านเมืองมาแต่สมัยนั้น

.

นายที่

จนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งพระยาสุธหทัยออกมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้จัดการปกครองบ้านเมือง ตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งชำระใหม่ครั้งรัชกาลที่ 2 ได้ความว่าพื้นที่อำเภอนี้เคยเป็นแขวงขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 4 แขวง มี 4 นายที่ปกครอง ได้แก่ ขุนวังไกร นายที่แก้ว หมื่นอำเภอ นายที่ทุ่งสง ขุนกำแพงธานี นายที่ชะมาย หมื่นโจมธานี นายที่นาบอน

.

อำเภอทุ่งสง

ครั้นต่อมาจึงได้รวบรวมพื้นที่ 4 แขวง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2440 เรียกว่าอำเภอทุ่งสง แบ่งการปกครองออกเป็น 22 ตำบลขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

อำเภอทุ่งสงมีพื้นที่ปกครองกว้างขวางมาก ไม่สะดวกในการปกครอง จึงได้แยกตำบลลำทับ ให้ไปขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแยกตำบลท่ายาง ตำบลกุแหระ ตำบลทุ่งสัง ไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นชื่อ “กิ่งอำเภอกุแหระ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กิ่งอำเภอท่ายาง” แล้วยกฐานะเป็นอำเภอชื่อ “ทุ่งใหญ่” อำเภอทุ่งสงจึงเหลือการปกครองเพียง 16 ตำบล

.

พ.ศ. 2518 ได้แยกตำบลนาบอน ตำบลทุ่งสง และตำบลนาโพธิ์บางส่วนตั้งเป็น “กิ่งอำเภอนาบอน”

.

นายอำเภอคนแรก

ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง แต่เดิมตั้งสำนักงานอยู่ที่เทศบาลตำบลปากแพรก แล้วย้ายไปอยู่ ณ ที่ปัจจุบันเมื่อ 2474 โดยมีหลวงพำนักนิคมคาม (เที่ยง ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรก (พ.ศ.2441 – 2443)

.

เสด็จฯ ทุ่งสง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสอำเภอทุ่งสงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จจากเมืองตรังโดยกระบวนช้าง ผูกเครื่อง จัดริ้วขบวนตามธรรมเนียมเก่าของเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านตำบลกะปาง ตำบลที่วัง ไปยังอำเภอร่อนพิบูลย์ และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2458 เสด็จเยี่ยมมณฑลปักษ์ใต้ ทรงให้ข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชทานพระแสงราชศัสตราสำหรับเมือง และจัดตั้งกองเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จประพาสน้ำตกโยง และทอดพระเนตรการจับช้างป่าที่อำเภอทุ่งสง

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.