วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

วันเจ้าเมืองเก่า วันเจ้าเมืองใหม่ รอยสงกรานต์เมืองนคร

หมุดหมายของประเพณีสงกรานต์คือการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านประจำปี โดยกำหนดเอาวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ ที่ต้องให้เป็น “มหา” เพราะอินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน ด้วยว่าราศีมีปกติย้ายไปตามวาระ แต่ที่ยิ่งสุดคือจากมีนสู่เมษเพราะต้องเปลี่ยนทั้งเดือนและปี ในที่นี้ให้ความสำคัญเฉพาะการเปลี่ยนศกที่เป็นจุลศักราช เพราะปีนักษัตรจะเปลี่ยนในเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่ง ข้อนี้น่าสนใจเพราะอินเดียไม่มีปีนักษัตร ไทยรับสิ่งนี้มาจากวัฒนธรรมจีน[1] หากจะให้ถูก ก็ต้องถือปฏิบัติตามอย่างปฏิทินหลวง คือเปลี่ยนปีนักษัตรในเดือนอ้าย (แปลว่า ๑ หมายถึงเดือนแรก) ตามจันทรคติ

มีต้นเค้าจากตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ระบุถึงพระราชพิธีหลายประการที่ปัจจุบันเป็นวิถีปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ของเมืองนครศรีธรรมราช พระราชพิธีสรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง          =          พิธีขึ้นเบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์
พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก                    =          พิธีขึ้นเบญจาสรง/รดน้ำปูชนียบุคคล
การพระราชกุศลก่อพระทราย                 =          ก่อพระเจดีย์ทราย
การพระราชกุศลตีข้าวบิณฑ์                  =          ตีข้าวบิณฑ์ (ปัจจุบันพบในเกาะสมุย)

เบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ วันว่างพุทธศักราช ๒๕๖๒

มองทั่วไปอาจดูเหมือนพระราชพิธีของศูนย์กลางอำนาจ ส่งอิทธิพลต่อประเพณีของเมืองนครศรีธรรมราช แต่กลับกันเมื่อพบข้อความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เอกสารโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ลงวันจันทร์ เดือน ๘ หลัง แรม ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕ ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๓๖) ระบุว่า “…พระพุทธองค์เจ้ามีพระประสงค์ตำราพระราชพิธีตรุษสาร์ทสำหรับเมืองนคร…ข้าฯ คณะลังกาแก้วได้ทำการพิธีมาจำได้เป็นมั่นคง…” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีรอยบางประการใช้คติเดียวกันเป็นคู่ขนาน รับ-ส่ง เกื้อกูลกัน ในขณะที่หลายอย่างยังคงเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชกระทั่งปัจจุบัน

ลักษณะการปฏิบัติ  พิธีกรรม ความเชื่อ และคุณค่า

 เมืองนครศรีธรรมราชมีการกำหนดเรียกวันในห้วงของสงกรานต์ไว้เป็นลักษณะเฉพาะ ๓ วันดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า 
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันสุดท้ายที่เทวดาผู้รักษาเมืองได้พิทักษ์รักษา เป็นวันเดียวกันกับที่เทวดาพระองค์นั้นๆ จะขึ้นไปชุมนุมกันยังเทวสภาบนสวรรค์

วันว่าง 
ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง

วันเจ้าเมืองใหม่ 
ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันต้อนรับเทวดาผู้รักษาเมืองพระองค์ใหม่ ที่จะเสด็จมาพิทักษ์รักษาต่อไปจนตลอดศักราช

คำว่าวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชเรียกแทนด้วยคำว่า “วันว่าง” และมักเข้าใจว่าคือทั้ง ๓ วัน ในความเป็นจริงปีหนึ่งมีกิจใหญ่สำคัญ ๒ ครั้ง คือบุญเดือนห้าและบุญเดือนสิบ บุญเดือนห้า หมายถึงสงกรานต์ กิจส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ส่วนบุญเดือนสิบ (สารทเดือนสิบ) ก็มีนัยยะเดียวกันแต่เพื่ออุทิศถึงบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว 

แต่เดิมก่อนที่จะถึงวันว่างจะมีคณะเพลงบอกออกขับกลอนตามบ้านเรือนต่างๆ ถึงบันไดบ้านเพื่อบอกศักราช บอกกำหนดวาระวันทั้งสาม บอกวันใดเป็นวันวันดี – วันอุบาทว์ นางสงกรานต์ ตลอดจนสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้าน และการชาขวัญหรือสดุดีพระแม่โพสพ เรียกกันว่า “เพลงบอกทอกหัวได”

ในส่วนของห้วงสงกรานต์ทั้ง ๓ วัน มีระเบียบปฏิบัติต่างกัน ดังนี้

วันเจ้าเมืองเก่า

ทุกครัวเรือนจะเร่งรัดการทำงานที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิจากเพื่อนบ้านและญาติมิตร ถือเป็นการฝ่าฝืนจารีตไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง และจะต้องตระเตรียมอาหารสำรองสำหรับสามวันให้พร้อม ทั้งข้าวเหนียว น้ำตาม และมะพร้าวใช้สำหรับทำขนม บิดามารดาก็ต้องเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับตนเองและลูกหลานสำหรับสวมใส่ในวันว่าง รวมถึงน้ำอบน้ำหอมไว้สำหรับสระหัวอาบน้ำผู้อาวุโส ทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ตลอดจนตัดเล็บ ตัดผมให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ยังมีพิธีลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่างๆ ลอยตามเจ้าเมืองเก่าที่กลับไปชุมนุมบนสวรรค์ บางท้องถิ่นมีพิธีกรรมเฉพาะเรียกว่า “เกิดใหม่”

วันว่าง

ชาวบ้านชาวเมืองจะงดเว้นการตระเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อวันข้างหน้า งดเว้นการทำงานต่างๆ งดเว้นการสีข้าวสาร การออกหาปูปลาอาหาร ห้ามไม่ให้อาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดผมตัดเล็บ ห้ามตัดต้นไม้กิ่งไม้ ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่กล่าวคำหยาบคายหรือดุด่าใครทั้งสิ้น ห้ามขึ้นต้นไม้ 

นอกจากข้อห้ามแล้วก็ยังมีข้อปฏิบัติ เช่นว่า ให้ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกหากินอย่างเสรีไม่มีการผูกล่ามให้ออกหากินได้ตามอิสระ มีการละเล่นกันอย่างสนุกสนานทั้งของเด็กเล็กและผู้ใหญ่ อาทิ ตี่ เตย สะบ้า ชนวัว ฯลฯ ซึ่งเรียกกันว่า “เล่นว่าง”

วันเจ้าเมืองใหม่

ในหนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๒ จังหวัดนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร กำหนดชื่อเรียกวันนี้ไว้อีกชื่อว่า วันเบญจา เนื่องมาจากในวันนี้จะมีการปลูกโรงเบญจา เป็นพลับพลามีหลังคา ๕ ยอด เป็นเรือนไม้ประดับด้วยการฉลุลายกาบต้นกล้วยหรือที่เรียกเฉพาะว่าการ “แทงหยวก” อย่างวิจิตรงดงาม แทรกม่านผ้าและกลไกการไขน้ำจากฝ้าเพดาน โดยสมมติเอาโรงเบญจาเป็นโลกทั้ง ๓ เหนือเพดานผ้าเป็นสวรรคโลก โถงเบญจาเป็นมนุษยโลก และใต้พื้นโรงพิธีเป็นบาดาล กราบนิมนต์พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่หรือปูชนียบุคคลนั่งในโถงเบญจาเพื่อรับน้ำคล้ายอย่างการสรงมุรธาภิเษก อาจารย์ประทุม ชุมเพ็งพันธุ์ กล่าวในหนังสือวิถีชีวิตชาวใต้ ประเพณีและวัฒนธรรมว่าอาการอย่างนี้เรียก “พิธีขึ้นเบญจา” ซึ่งจะกระทำโดยลูกหลานที่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าตายายในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ของวงศ์ตระกูล

ซ้าย เบญจาสรงน้ำพระรัตนธัชมุนี (๒๕๑๙) ขวา เบญจาสรงน้ำพระเทพวินยาภรณ์ (๒๕๖๒)
ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

ในการขึ้นเบญจานั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช เพราะเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนผู้ยังมีชีวิตอยู่ของตนดังกล่าวแล้วได้อย่างเห็นชัดแจ้ง แต่ละพื้นที่คงมีความแตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนหลักการนั้นเหมือนกัน คือการใช้น้ำเป็นสื่อกลาง ครอบครัวที่มีฐานะก็ปลูกโรงเบญจาให้วิลิศมาหราอย่างไรก็ตามแต่จะมี แล้วลดหลั่นกันไปตามอัตภาพ อย่างง่ายก็นุ่งกระโจมอก อาบน้ำ ประทินผิว เปลี่ยนผ้าใหม่ เป็นจบความ สาระสำคัญอยู่ที่การรวมลูกหลานญาติมิตร โดยอ้างเอาผู้อาวุโสที่สุดอันเป็นที่เคารพสักการะเป็นประมุขในพิธี

เบญจาสรงน้ำพระเดชพระคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
วันเจ้าเมืองใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๒

อย่างไรก็ดี แม้จะแตกต่างกันตามมีตามเกิด ก็พบว่ามีขั้นตอนและวิธีการร่วมกันเป็นลำดับดังนี้

๑. นัดหมายรวมญาติ กำหนดพื้นที่พิธี และเชิญผู้อาวุโสซึ่งควรแก่การสักการะ

๒. กล่าวคำขอขมา

๓. สรง / อาบน้ำ (ในระหว่างนี้จะมีส่วนของพิธีสงฆ์ที่จะสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ก่อนสรง/อาบ และขณะสรง/อาบพระสงฆ์จะสวดชัยมงคลคาถา)

๔. เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่

๕. รับพร

นอกจากนี้ ชาวทั่วไปจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วเตรียมสำรับกับข้าวไปวัดที่บรรพชนของตนเคยไปทำบุญเป็นประจำสืบมา หรือไม่ก็วัดที่เผาศพและเก็บอัฐิเอาไว้ และจะมัดเอารวงข้าวที่จะนำไปทำขวัญข้าวประจำลอมข้าวโดยใช้ด้านสีแดงสีขาวมัดรวบอย่างสวยงามวางไว้บนพานหรือถาด นำไปทำขวัญข้าวร่วมกันที่วัด เรียกว่า “ทำขวัญใหญ่” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การทำนาเพาะปลูกสืบไป 

เมื่อประกอบศาสนพิธีเรียบร้อยแล้ว ก็จะนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลแก่บรรพชนผู้ล่วงลับ แล้วแยกย้ายกันไปสักการะบัว (ที่บรรจุอัฐิของบรรพชน) จากนั้นก็จะแยกย้ายกันสรงน้ำพระพุทธรูป หรือทำบุญอื่นๆ กันตามอัธยาศัย คล้ายกับว่าเป็นการทำบุญปีใหม่นั่นเอง

ในท้ายที่สุดภาคกลางคืน มีกิจกรรมเฉลิมฉลองเถลิงศก เช่น มหรสพพื้นบ้าน การจุดดอกไม้เพลิง รับเจ้าเมืองใหม่ การก่อ – เฉลิมฉลอง – และถวายพระเจดีย์ทราย เป็นต้น


[1] เมืองนครศรีธรรมราช ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ว่ามีสถานะเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร บรรดาเมืองรายล้อมทั้ง ๑๒ เมือง ใช้ตรานักษัตรแต่ละปีเป็นดวงตราประจำเมือง หากปีนักษัตรเป็นการรับมาจากจีนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งข้อสังเกตว่า เมืองนครศรีธรรมราชในอดีต มีการติดต่อโดยตรงกับจีนหรือรับผ่านพันธมิตรจากเมืองใด