ประเพณีชิงเปรต แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต ! เดี๋ยวนี้ยัง “สาเสด เวดนา” กันไหมหนอ ?

ทำบุญเหอ
ทำบุญวันสารท
ยกหมรับดับถาด
ไปวัดไปวา

พองลาหนมแห้ง
ตุกแตงตุกตา
ไปวัดไปวา
สาเสดเวดนา เปรตเหอฯ

หลังเพลงช้าน้องที่ยกมา
เรามาเข้าเรื่องกันเลยที่คำถามเปิดหัวว่า แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต !
ใจจริงก็สงสัยว่าทำไมต้องไป “ชิง” ของ “เปรต” ด้วย
ในเมื่อตั้งใจจะ “อุทิศ” ไปให้เปรตเหล่านั้นแล้วตั้งแต่ต้น
พบบันทึกของท่านขุนอาเทศคดีฉบับนี้ เป็นอันถึงบางอ้อ…
“…เคยเห็นแต่นักโทษที่เรือนจำ
ปล่อยให้เที่ยวหากินตามลำพัง
กับพวกขอทานต่างแย่งชิงกันเก็บเอาไป
เรียกกันว่า ชิงเปรต เด็กๆ ชอบดูกันเห็นเป็นการสนุกสนาน…”
.

ประเพณีชิงเปรต

“ชิงเปรต” ในปัจจุบันเข้าใจกันว่าเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีบุญเดือนสิบ ที่เริ่มต้นด้วยการ “ตั้งเปรต” คือการนำ “หมรับ” (อ่านว่า หฺมฺรับ) อันได้แก่ สำรับกับข้าวคาว-หวาน ขนมเดือนสิบ เช่น พอง ลา บ้า ดีซำ ไข่ปลา รวมถึง ผลไม้ หมาก พลู เงิน และ ดอกไม้ ธูป เทียน ไปอุทิศรวมกันไว้ที่ “ร้านเปรต” หรือบางวัดจัดไว้เป็น “หลาเปรต” เชื่อกันว่าคือการให้ทานโดยสาธารณะแก่วิญญาณเปตะชน(ผู้ละโลกนี้ไปแล้ว)ที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญ

.การชิงเปรตจะเริ่มขึ้นหลังจากพระสงฆ์ดึงสายสิญจ์ซึ่งเดิมโยงจากบรรดาหมรับที่ตั้งเปรตไว้เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า พิธีทางศาสนาได้สมบูรณ์แล้วประการหนึ่ง กับถึงเวลาที่จะสามารถ “ชิงเปรต” กันได้แล้วประการหนึ่ง บรรดาคนหนุ่ม คนสาว ไม่เว้นแม้แต่พ่อเฒ่ามีแก่ที่ต่างจดจ่อรอเวลาอยู่รอบร้านเปรตหลาเปรต ก็กรูกันเข้าฉก ชิง แย่ง ยื้อ กันชุลมุน

.ในพริบตาก็เหลือร้างไว้เพียงหลาหรือร้านที่ว่างเปล่ากับร้อยยิ้ม เสียงหัวเราะ และถ้อยคำอธิษฐานก่อนแบ่งปันกันรับประทาน เพราะต่างก็มีความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล บ้างก็เก็บไว้เพื่อนำไปโปรยในไร่นาหวังให้ผลอาสินผลิช่อออกลูกอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานบ้านไหนป่วยไข้บ่อย บนบานกันไว้ว่าหากหายจะพาไปชิงเปรต ก็มี (ข้อมูลจากคณะทำงาน U2T ตำบลโมคลาน)

.เอาเข้าจริงแล้ว

บุญเดือนสิบของเมืองนครศรีธรรมราช
ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
.
ส่วนที่ระบุว่าเป็นอะไรๆ เทือกนี้
หากมองให้ชัดจะเห็นว่าเป็นเพียงการสร้างความสนใจต่อสิ่งที่งอกขึ้นใหม่
ทั้งนี้ยังคงต้องมีคำว่าบุญเดือนสิบ หรืออะไรที่มีอยู่ในนั้น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติตามระบบ
.
จะเห็นว่าบุญนี้เริ่มต้นที่ครอบครัว
โดยใช้วัดเป็นสื่อกลางประกอบพิธี
ดังนั้นเมื่อเอาเข้าจริงจะมีก็เพียงบ้านกับวัดเท่านั้น
ที่ควรเป็นพื้นที่เป้าหมาย
.
ก็ยังไม่เคยเห็น
ว่าหน่วยงานใดจับจุดเสริมแรงได้ถึงแก่นพิธีกรรมในวัด
ซึ่งส่วนตัวมองว่า
การไร้แรงแห่งรัฐลงถึงแก่นสาระของบุญเดือนสิบนี้
เป็นเรื่องที่ดี และดีมากด้วย
เพราะทุกบ้าน – ทุกวัด
จะยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียม
จารีตรูปรอยของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมั่นคง
.
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าสิ่งนี้มีคุณจริง
จึงไม่มีทีท่าว่าจะเลื่อนลอย
ถูกค้ำยันด้วยจิตสำนึกของผู้คน
มิหนำซ้ำตัวมันเองก็หยั่งรากนี้ลงถึงก้นบึ้งของวิญญาณ
กับทั้งยังมีกลไกทลายเปลือกปลอมบางประการ
และสถาปนาความเป็นลูกหลานอย่างเสมอตัวถ้วนหน้า
ใครจะยิ่งใหญ่คับฟ้ามาจากไหน
กลับบ้าน ถึงวัด ก็ต้องกลายเป็นลูกหลานไปโดยปริยาย
ติดระบบระเบียบ อุกอาจหาญกล้าอย่างไร
ก็ต้องจำนนต่อลักษณะวิธีของสาธารณชนอยู่นั่นเอง
.
บุญเดือนสิบจึงตัดขาดจากงานเดือนสิบ
การรื่นเริงที่ละเลงละลานอยู่ทั่วไปนี้เป็นอย่างหลัง
มองแง่ดีเป็นการรองรับผู้คนที่เดินทางกลับบ้าน
ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกันนอกบ้าน
.
เมื่อแรกคิดการเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
ท่านผู้ริเริ่มอาจคิดเห็นว่าวิถีนี้ไม่ควรจะแตะก็เป็นได้
จึงเลือกพื้นที่จัดงานครั้งแรกที่สนามหน้าเมือง
และคงเป็นกุศลที่ท่านทั้งหลายนั้นเลือกถูก
.
บุญเดือนสิบจึงยังคงเป็นบุญเดือนสิบ
และงานเดือนสิบก็ปล่อยให้เป็นส่วนของงานเดือนสิบไป
เพราะบางอย่าง ยิ่งส่งเสริม ยิ่งสาบสูญฯ

ว่าด้วย “หมรับ” คำอ่าน ภาษาเขียน และข้อเรียนรู้

หมรับเอยแห่เลยเช้าเข้าหว่างเพล
ยกประเคนเครื่องประกอบชอบกุศล
ตามแต่มีบรรดาได้ในเรือนตน
สาละวนประดับประดาสาระพัน
.
ตองตานีถี่เย็บเก็บวงรอบ
รับทรงสอบลู่รี่ชี้สวรรค์
สลักพองรองไข่ปลาลาลอยมัน
ชะลูดหลั่นอย่างมหามงกุฎชัย
.
ทำมุขทิศบิดทางข้างละจั่ว
จำหลักตัวนาดสะดุ้งพยุงไหว
ทำช่อฟ้าแต่งระกาด้วยมาลัย
หน้าบันในแสดงเห็นเป็นเรื่องทอง
.
ปางประสูติพระสัมมาหน้าที่หนึ่ง
ตรัสรู้จึงแจกแจงไว้แห่งสอง
แสดงธรรมเทศนาที่สามรอง
ที่สี่ของดับขันธปรินิพานฯ
(วันพระ สืบสกุลจินดา, 2560)
.
บทสนทนาระหว่างสีแก้วและยอดทอง
(โหมดภาษาใต้)
(สีแก้ว)
เฮ คำนี้เขียนพรือหละไอ้ทอง ?
.
(ยอดทอง)
บอกว่า “หมรับ” กะ “หมรับ” ตะ !
แหลงมาก เจ็บคอจังแล้ว
พจนานุกรมภาษาถิ่นกะมีอยู่โทงๆ
หลักการทางภาษาศาสตร์ก็ยืนยันอยู่เห็นๆ
อิมาทำพี่พอได้บัญญัติให้หรอยแต่คำว่าหมรับพรือ
.
คันพันนั้นกะใส่ หฺมฺรัก เสียกันตะ
สากลัวคนอิอ่านว่า หม – รัก
ถึงนู้อีกหลายคำกะใส่พินทุเสียให้ฉาด
สากลัวว่าอิอ่านว่า หม – รัง, หม – รา, หม – ราบ
.
ใครอ่านโถกไม่โถกกะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับปัญญาตะ
คำอื่นอ่านยากอิอับสับเห็นยังแข้นอ่านกันออก
แม่เหยแม่คันคำเดียวเท่านี้ ทำมาหวังเหวิด
แลใหม่ให้ดีตะ มันคืออัตลักษณ์ที่ไม่จำเป็นต้องไปปรับให้ผิดหลักผิดแบบเอื้อกับไอ้ไหร่ๆ นิ
ดีเสียเหลยจะได้พากันพยายามเข้าใจความเป็นเรา ความเป็นตัวตนของเรา
.
อย่าดูถูกผู้อ่านด้วยการเขียนคำว่า “หมรับ” ด้วยคำอ่านอีกเลย
เขียนไปเป็นคำเขียนนี้แหละ
จากมเหยงคณ์ อิอ่านเป็น มะ – เหยง กะช่างหัวมันแหละทีนี้หึ
บอกเพื่อนว่าเมืองนักปราชญ์
คันคำเดียวเท่านี้อ่านไม่โถกกะไม่ที่ทำพรือ
ฮาโรย !!!!
.
(โหมดภาษากลาง)
ควรเขียนว่า “หมรับ” แล้วอ่านว่า “หฺมฺรับ”
เหตุที่ควรเขียนโดยไม่มีพินทุนั้นก็เพราะว่าการใส่พินทุเป็นการแสดงคำอ่านไม่ใช่การเขียน โดยใส่พินทุข้างล่างพยัญชนะเพื่อใช้ระบุอักษรนำและอักษรควบกล้ำ เช่นคำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อย่างคำว่า หมรับ มีพยัญชนะ ๓ ตัว คือ ห นำ ม แล้วนำ ร อีกที จึงวางพินทุที่ ห และ ม เพื่อชี้ว่า ทั้ง ๒ ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นอักษรนำ
.
(สีแก้ว)
ฮาเอาทองเอา ถูกเอาหมลักแม่เหยแม่
.
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเขียนคำว่า “หมรับ” และวัฒนธรรมใหม่ที่มีจุดกำเนิดมาจากความแพร่หลายของความคลาดเคลื่อนนี้ ส่งผลให้ในยุคปัจจุบันสำรวจไม่พบคำอธิบายของการเขียนในลักษณะอื่นๆ เช่น หฺมฺรับ, หฺมรับ, หมฺรับ, หฺมฺรบ, หมฺรบ, หมฺรบฺ, หมรบฺ เป็นต้น
.
จากการค้นคว้าพบว่า คำว่า “หมรับ” นี้ ไม่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอย่างที่มีเอกสารหลายฉบับได้อ้างถึงว่าเขียนไว้ว่า “หฺมฺรับ” แต่กลับปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคใต้ระบุการเขียนไว้ว่า “หมรับ” และคำอ่านแบบเทียบเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า “Mrap”
หากจะอธิบายถึงจุดด้านล่างตัวอักษร (เครื่องหมายพินทุ) นั้น สามารถอธิบายได้ว่า เครื่องหมายพินทุมีหลักการใช้ ๒ กรณี คือใช้เป็นเครื่องหมายระบุอักษรนำในการเขียนคำอ่าน เช่น คำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อีกกรณีคือการเขียนกำกับตัวสะกดในภาษาบาลี เช่นคำว่า สัมมาสัมพุทโธ (สมฺมาสมฺพุทฺโธ) ทั้งนี้หากเขียนคำว่า “หมรับ” เป็นคำอ่าน ก็จะเขียนได้ว่า “หฺมฺรับ” และเขียนเป็นภาษาบาลีจะได้ว่า หมรบฺ
.
จึงใคร่ขอทำความเข้าใจใหม่ในความถูกต้องที่มีมาแต่ก่อนเก่า เกี่ยวกับคำสำคัญอันมีที่มาจากประเพณีสำคัญซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลกของเรานี้ ตามหลักการเขียนที่ถูกต้องว่า “หมรับ” ไม่ใช่ตามหลักการอ่านด้วยพินทุหรือรูปแบบการเขียนในภาษาบาลีที่พบเห็นเป็นความคลาดเคลื่อนอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน
.
ก็เหตุที่การเขียนต้องเขียนด้วยภาษาเขียนประการหนึ่ง แลหมรับคำนี้เป็นการรวบคำมาจากคำว่า “สำรับ” จึงเป็นบาลีไปเสียไม่ได้อีกหนึ่ง

เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช

เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบ ฉบับเมืองนครศรีธรรมราช

นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีความผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา  บทบาททางพระพุทธศาสนาแฝงอยู่ในวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับประเพณีและพิธีกรรม  ดังจะเห็นว่ามีประเพณีที่นับเนื่องในพระพุทธศาสนาถูกเคล้าเข้าด้วยคตินิยมและธรรมเนียมท้องถิ่นอย่างลงตัว เช่น ประเพณีบุญเดือนห้า ชักพระ (บางแห่งเรียกลากพระ) โดยเฉพาะประเพณีบุญสารทเดือนสิบซึ่งถือว่าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช

ประเพณีเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช หลักฐานเก่าสุดในเอกสารโบราณตำรา 12 เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เรียก “พิธีสารท” เป็นประเพณีที่สำคัญอยู่คู่กับเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่มีข้อสรุป แต่ในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการสนับสนุนคุณค่ายกระดับขึ้นเป็นเทศกาลและเป็นวิถีปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน มีการสืบทอดในเรื่องทัศนคติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ความเชื่อเรื่องกรรม สวรรค์ นรก และวิญญาณ ผู้ทำดีเมื่อถึงแก่กรรมย่อมสู่สุคติภูมิบนสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำความชั่ว เมื่อถึงแก่ความตายย่อมสู่แดนแห่งทุกข์ตกอยู่ในนรก รับผลกรรมที่ก่อ ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานทำให้แต่ละปีมายังชีพ

ประเพณีทำบุญเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ล่วงลับที่เรียกว่า “เปรต” ให้ขึ้นมาจากนรก และจะเรียกตัวกลับไปในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10  ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวนครจะจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นการต้อนรับญาติที่ขึ้นมาจากนรกเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย” หรือ “วันหมรับเล็ก” (หมรับ อ่านว่า หฺมฺรับ มาจากคำว่า สำรับ แปลว่า ของหรือคนที่รวมกันเข้าได้ไม่ผิดหมู่ผิดพวกเป็นชุดเป็นวง)และในวันแรม 15 ค่ำ เรียกว่านี้ว่า “วันส่งตายาย” หรือ  “วันหมรับใหญ่” ด้วยการจัดหมรับโดยการนำเครื่องอุปโภค บริโภค และขนมอันเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมดีซำ และขนมบ้า

เมื่อจัดหมรับเรียบร้อยจึงยกหมรับไปวัด ฉลองหมรับและบังสุกุล ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป หลังจากนั้นจะเป็นการตั้งเปรต แต่เดิมทำโดยเอาอาหารอีกส่วนหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้คือขนม 5 อย่างข้างต้น ไปวางไว้ตามตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด หรือตามโคนต้นไม้

ภายหลังมีการสร้างร้านขึ้นสูงพอสมควรเรียกว่า “หลาเปรต” แล้วนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อสวดบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรตเพื่อแผ่ส่วนกุศล เมื่อเสร็จพิธี ประธานสงฆ์ก็จะชักสายสิญจน์เป็นสัญญาณให้ลูกหลานเข้าไปเสสัง มังคะลาฯ บรรดาของที่ตั้งไว้นั้นกันตามธรรมเนียม และด้วยว่าเป็นประเพณีประจำปีที่มีคนหมู่มากรวมตัวกันร่วมพิธี

การเข้าไปขอคืนเศษภัตตาหารอันมงคลที่เหลือเหล่านั้นจึงติดไปข้างชุลมุนจนต้องแย่งต้องชิงกัน กิจนี้จึงมีคำเรียกว่า  “ชิงเปรต” ตามอาการที่เป็น เพราะล้วนมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้กินจะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อถึงเทศกาลประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ชาวนครศรีธรรมราชต่างกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อร่วมพิธีกรรมอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ทั้งนี้ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีการจัดในหลายพื้นที่ของภาคใต้  ส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช นับว่ามีการจัดแบบประเพณีประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น ขบวนแห่หมรับที่งดงามจากหลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมงานประเพณี มีการประกวดหมรับซึ่งคนในพื้นที่เขตอำเภอต่างๆ จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มร่วมกันจัดทำรถหมรับที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มตนเองโดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งในขบวนแห่ที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต ในขบวนแห่หมรับมีการจัดทำหุ่นเปรต รวมไปถึงยมทูต ยมบาลที่อยู่ในนรก เพื่อแสดงให้ลูกหลานเกรงกลัว และไม่ประพฤติตนผิดศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา  ด้านศิลปวัฒนธรรมก็มีการประกวดประชันหลายกิจกรรม เช่น หนังตะลุง มโนห์รา เพลงร้องเรือ กลอนสด หลายกิจกรรมมีการอนุรักษ์สืบทอดมาตั้งแต่อดีต

ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้ให้ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบก็เป็นอีกหนึ่งในนั้นที่ส่งเสริมด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดกิจกรรม   ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างและสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น  แต่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดมีดังต่อไปนี้ 

สถานที่จัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มต้นครั้งแรกใน ปีพ.ศ. 2466 โดยใช้สถานที่จัดงานบริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช  และจัดติดต่อกันจนกระทั่งปี พ.ศ.2535  จึงได้ย้ายไปจัดบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  ในปี พ.ศ.2549 มีการจัดงานเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการฉลองเนื่องในมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9  ซึ่งทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

โดยกำหนดสถานที่จัดงาน 3 แห่งคือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  และต่อมาได้มีการลดสถานที่ในการจัดลงเหลือเพียงแค่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  สำหรับปี พ.ศ. 2563 นี้  ทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานเป็นสถานที่เดียวกันคือ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) 

ระยะเวลาในการจัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบในช่วงแรกๆ  มีการจัดเพียง 3 วัน 3 คืน  คือเริ่มตั้งแต่  วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10  ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จัดขึ้นเพียงเพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ  แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มระยะเวลาในการจัดงานขึ้นมาเป็น 10 วัน 10 คืน  และได้เพิ่มเติมในส่วนกิจกรรมต่างๆมากมาย  เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช  ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สำหรับประจำปี พ.ศ. 2563 นี้  กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11 – 20 กันยายน 2563 

กิจกรรมภายในงาน

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการอนุรักษ์และสืบทอดสิ่งเหล่านี้จึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆขึ้น ดังนี้

กิจกรรม วันที่จัดงาน เงินรางวัล หน่วยงานรับผิดชอบ
1. การประชันหนังตะลุงอาชีพชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบคัดเลือก

13–15 กันยายน 2563

รอบคัดเลือก

20 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช

2. การประกวดเพลงร้องเรือชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระดับเยาวชนรุ่นอายุ              ไม่เกิน 19 ปี

17 กันยายน 2563

ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป รุ่นอายุ 19 ปีขึ้นไป

18 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

อาศรมวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย                  วลัยลักษณ์

3. การประชันหนังตะลุงเยาวชน   อบจ.นศ.
4. การประกวดมโนห์ราเยาวชน   อบจ.นศ.
5.การประกวดกลอนสด   อบจ.นศ. ร่วมกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
6. การประกวดหุ่นเปรต  และขบวนแห่หุ่นเปรต 15 กันยายน 2563 อบจ.นศ. ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าว                 จ.นครศรีธรรมราช
7. ขบวนแห่หมรับ 16 กันยายน 2563

 

อัตลักษณ์ของงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

4.1 ขบวนแห่หมรับ

ในอดีตคือการที่คนในหมู่บ้านร่วมกันแห่เพื่อนำหมรับไปกอบพิธีกรรมที่วัดคือ  ชาวบ้านจะช่วยกันตั้งขบวนการจัดจนไปถึงขั้นตอนการนำหมรับไปประกอบพิธีกรรม  แต่การแห่หมรับในปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมจัดขบวนแห่หมรับขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวตนรวมถึงอัตลักษณ์ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งสะท้อนผ่านขบวนแห่ในหลายๆ ด้าน เช่น

1) ศิลปวัฒนธรรม นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปะและวัฒนธรรมมากมาย ทั้งหนังตะลุง มโนห์รา  รวมไปถึงประเพณีต่างๆของจังหวัด  เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด  ในขบวนแห่ก็มีการแสดงให้เห็นถึงประเพณีโดยมีการสร้าง พระบรมธาตุเจดีย์จำลองขึ้นมาร่วมกันแห่ในขบวนแห่หมรับ มีการเชิดหนังตะลุง  มโนห์รา เป็นต้น จากที่ยกตัวอย่างมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการสื่อให้เห็นว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างดี

2) วิถีชีวิต  และความเป็นอยู่ ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองเกษตรกรรม  มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับการทำเกษตร  ทั้งการประกอบอาชีพ  ทำนา ทำสวนยาง เป็นต้น  ทั้งที่ในปัจจุบันคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็มีการปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพ ตามภาวะทางเศรษฐกิจ มีการเข้าไปทำงานในระบบอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น การทำการเกษตรก็ลดน้อยลง  แต่ก็ยังคงมีคนในหลายอำเภอที่ยังคงยึดการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม  และผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัด เช่น มังคุด คีรีวงที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ  และส้มโอทับทิมสยาม เป็นต้น

3) การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากขึ้น  ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  ของใช้ และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารที่แสดงถึงศักยภาพ มีคุณค่า  และเอกลักษณ์  ยกตัวอย่างเช่น ผ้ายกเมืองนคร  หัตถกรรมกระจูด  ปลาดุกรา  จักสานย่านลิเภา  เป็นต้น สินค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มีการนำมาร่วมในขบวนแหม่หมรับด้วย

4) ความร่วมมือร่วมใจของคนนครศรีธรรมราช  ที่ได้รับความร่วมมือจากหลาย ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีขบวนจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน ห้างร้าน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช  องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  และคนในเขตพื้นที่อำเภอต่างๆ  ซึ่งจะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มจะร่วมกันจัดทำรถหมรับ และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มจนเองผ่านขบวนที่จัดทำขึ้น  โดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา  กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

4.2 เปรต 

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต  มีการจัดทำหุ่นเปรต ในขบวนแห่ รวมถึงการประกวดหุ่นเปรตและขบวนแห่ เพื่อแสดงให้เกรงกลัว และไม่ประพฤติตนที่ไม่ดี ซึ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องการสอนให้ลูกหลานประพฤติตนตามหลักธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา

เปรตมีการแบ่งเป็น 4 ประเภท 12 ตระกูล 21 ชนิด

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนามีการกล่าวถึง “เปรต” อยู่หลายแห่ง อย่างในไตรภูมิพระร่วง   อันเป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท (พระธรรมราชาที่ 3) ที่สอนให้คนกลัวบาปและทำความดี ได้มีการกล่าวถึง  “เปรตภูมิ” ว่าเป็นหนึ่งในอบายภูมิ 4 ซึ่งคนชั่วตายแล้วต้องไปเกิดเพื่อชดใช้กรรม ภูมิทั้ง ๔ ได้แก่ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสุรกายภูมิ โดยเปรตภูมิ นั้น เป็นดินแดนของผู้ที่ต้องรับกรรมด้วยความทุกข์ทรมานจากความหิวโหยอดอยากบ้าง จากความร้อนหนาวอย่างที่สุดบ้าง จากความเจ็บปวดอย่างที่สุดบ้าง และเปรตมีอยู่หลายจำพวกอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งบนเขา ในน้ำ ในป่า ตามต้นไม้ใหญ่ บางพวกข้างแรมเป็นเปรต ข้างขึ้นเป็นเทวดา บางพวกเป็นเปรตไฮโซ ได้อยู่ปราสาทแก้ว มีกำแพงแก้ว คูแก้วที่สวยงามล้อมรอบ บางพวก ก็มีข้าทาสบริวาร มียวดยานพาหนะขี่ท่องเที่ยวไปในอากาศได้ และมีบางพวกที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว  น่าเวทนา ต้องทรมานเพราะอดข้าวอดน้ำ ต้องกินสิ่งสกปรกโสโครก กินเนื้อหนังของตนเอง ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ขึ้นกับความหนักเบาของกรรมชั่วที่ก่อนั่นเอง ดังตัวอย่างเช่น เปรตบางตนตัวงามดั่งทอง แต่ปากเหม็นมาก มีหนอนเต็มปาก เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเคยรักษาศีลมาก่อนตัวจึงงาม แต่เพราะได้ติเตียนยุยงพระสงฆ์ให้แตกแยก ปากจึงเหม็นมีหนอนเจาะไช เปรตบางตนเคยเป็นนายเมืองตัดสินความโดยรับสินบน กลับผิดเป็นถูก ไม่มีความยุติธรรม เมื่อตายไป จะเป็นเปรตที่มีวิมานเหมือนเทวดา มีเครื่องประดับแก้วแหวนเงินทองมีนางฟ้าเป็นบริวาร แต่จะได้รับความลำบากคือไม่มีอาหารจะกิน ต้องเอาเล็บขูดเนื้อหนังตัวเองมากิน เปรตบางพวกกระหายน้ำ แต่ดื่มไม่ได้ เพราะน้ำจะกลายเป็นไฟเผาตน พวกนี้ตอนมีชีวิตอยู่ชอบรังแกคนที่อ่อนแอลำบากกว่าเอาของเขามาเป็นของตน และชอบใส่ร้ายคนอื่น

ส่วนในพระไตรปิฎกก็มีการกล่าวถึงพระสาวกว่าได้พบเห็นและมีโอกาสสนทนากับเปรตโดยเปรตแต่ละตนก็จะเล่าว่าตนได้ทำกรรมอะไรบ้างสมัยเป็นมนุษย์ ครั้นตายลงจึงต้องมาเสวยผลกรรมดังที่เห็น

สำหรับเปรตที่มีการแบ่งเป็นหลายพวกหลายประเภทและมีชื่อเรียกต่างๆ ส่วนใหญ่ จะอยู่ในอรรถกถา ซึ่งเป็นคำภีร์ที่รวบรวมคำอธิบายความในพระไตรปิฎกในภาษาบาลี เรียกว่า คัมภีร์อรรถกถา บ้าง ปกรณ์อรรถกถาบ้าง แต่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพียงแต่เป็นการอธิบายความหรือคำยากเพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น

หนึ่งในอรรถกถาได้พูดถึง เปตวัตถุ (วัตถุที่นี้ แปลว่า เรื่อง เปตวัตถุ = เรื่องของเปรต) ว่าแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ปรทัตตูปชีวิกเปรต (ปอ-ระ-ทัด-ตู-ปะ-ชี-วิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการรับอาหารที่ผู้อื่นให้ โดยการเซ่นไหว้ เป็นต้น และเป็นเปรตประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศล ที่มนุษย์อุทิศให้

2. ขุปปีปาสิกเปรต (ขุบ-ปี-ปา-สิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่อดอยาก จะหิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา

3. นิชฌามตัณหิกเปรต (นิ-ชา-มะ-ตัน-หิ-กะ-เปด) คือ เปรตที่ถูกไฟเผาไหม้ให้เร่าร้อนอยู่เสมอ

กาลกัญจิกเปรต (กา-ละ-กัน-จิ-กะ-เปด) คือ เปรตจำพวกอสุรกาย มีร่างกายใหญ่โต    แต่กลับไม่มีเรี่ยวแรง มีปากเล็กเท่ารูเข็มอยู่บนกลางศีรษะ ตาโปนเหมือนตาปู

นอกจากแบ่งตามข้างต้นแล้ว ในคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์ (คัมภีร์ที่อธิบายถึงการเกิดของมนุษย์และภพภูมิต่างๆ) รวมถึง ฉคติทีปนีปกรณ์ (คัมภีร์ว่าด้วยความรู้แจ้งแห่งภพทั้ง 6) ได้แบ่งเปรตออกเป็น 12 ตระกูลและได้พูดถึงกรรมที่ทำให้ไปเป็นเปรตแต่ละตระกูล ดังนี้

1. วันตาสาเปรต เป็นเปรตที่กินน้ำลาย เสมหะและอาเจียนเป็นอาหาร กรรมคือ ชาติก่อนเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เห็นใครมาขออาหารก็ถ่มน้ำลายใส่ด้วยความรังเกียจ หรือเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่เคารพสถานที่ ถ่มน้ำลายเสลดในสถานที่เหล่านั้น

2. กุณปาสทาเปรต เป็นเปรตที่กินซากศพคนหรือสัตว์เป็นอาหาร กรรมคือ เคยเป็นคนตระหนี่ ใครมาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยต้องการแกล้งประชด ไม่เคารพในทานที่ทำ

3. คูถขาทกเปรต เป็นเปรตที่กินอุจจาระเป็นอาหาร กรรมคือ ตระหนี่จัด เมื่อญาติตกทุกข์ได้ยากหรือมีใครมาขอความช่วยเหลือขอข้าว ขอน้ำ จะเกิดอาการขุ่นเคืองทันที แล้วชี้ให้คนที่มาขอไปกินมูลสัตว์แทน

4. อัคคิชาลมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเปลวไฟลุกในปากตลอดเวลา กรรมคือ ตระหนี่เหนียวแน่น ใครมาขอ อะไร ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวเขาดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังกลั่นแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบและเลิกมาขอ

5. สุจิมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเท้าใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะกินแต่ละทีต้องทุกข์ทรมานมาก กรรมคือ ใครมาขออาหารก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาจะถวายทานแก่สมณพราหมณ์หรือผู้ทรงศีล หวงทรัพย์

6. ตัณหัฏฏิตเปรต เป็นเปรตที่หิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา แม้จะมองเห็นแหล่งน้ำแล้ว พอไปถึงก็กลับกลายเป็นสิ่งอื่นดื่มกินไม่ได้ กรรมคือ เป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อหม้อข้าว ไม่ให้คนอื่นกิน

7. นิชฌามกเปรต เป็นเปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา ตัวสูงชะลูด มือเท้าเป็นง่อย ปากเหม็น กรรมคือ เป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลจะโกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่าท่านเหล่านั้นจะมาขอของๆ ตน จึงแสดงกิริยาหยาบคายและขับไล่ท่านเหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่แก่เฒ่าเกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็แกล้งให้ท่านตายไว ตัวจะได้ครองสมบัติของท่าน

8. สัพพังคเปรต เป็นเปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้าคมเหมือนมีดและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาข่วนร่างกายเป็นแผลและกินเลือดเนื้อตัวเองเป็นอาหาร กรรมคือ ชอบขูดรีดหรือเอาเปรียบชาวบ้าน หรือชอบรังแกหยิกข่วนพ่อแม่

9. ปัพพตังคเปรต เป็นเปรตที่มีร่างกายใหญ่โตเหมือนภูเขา แต่ต้องถูกไฟเผาคลอกอยู่ตลอดเวลา กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์ได้เอาไฟไปเผาบ้านเผาเรือนผู้อื่น

10. อชครเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์เดียรัจฉาน และจะถูกเผาไหม้ทั้งวันทั้งคืน กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เห็นผู้มีศีลมาเยือนก็มักด่าเปรียบเปรยว่าท่านเป็นสัตว์ เพราะไม่อยากทำทาน

11. มหิทธิกเปรต เป็นเปรตที่มีฤทธิ์มากและรูปงามเหมือนเทวดา แต่อดอยากหิวโหยตลอดเวลา เมื่อเจอของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหาร กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เคยบวชเรียน และพยายามรักษาศีล จึงมีรูปงาม แต่เกียจคร้านต่อการบำเพ็ญธรรม จิตใจจึงยังเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง

12. เวมานิกเปรต เป็นเปรตที่มีวิมานคล้ายเทวดา แต่จะเสวยสุขได้เฉพาะกลางวัน พอกลางคือก็จะเสวยทุกข์ กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์

นอกเหนือจากเปรตข้างต้นแล้ว ในพระวินัยและลักขณสังยุตต์พระบาลี ยังได้พูดถึงเปรตอีก   21 จำพวก ได้แก่

1. อัฏฐีสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อนๆ แต่ไม่มีเนื้อ

2. มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้นๆ แต่ไม่มีกระดูก

3. มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อนๆ

4. นิจฉวิเปรต เปรตที่ไม่มีหนังหุ้ม

5. อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์

6. สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก

7. อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู

8. สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม

9. ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มอีกแบบ

10. กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก

11. คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ

12. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ

13. นิจฉวิตกิเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง

14. ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า

15. โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ

16. อลิสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ

17. ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนพระ

18. ภิกขุนีเปรตเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนภิกษุณี

19. สิกขมานเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็น

เวลา 2 ปี เพื่อบวชเป็นภิกษุณี)

20. สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณร

21. สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณรี

จะเห็นว่า เปรตในพระคัมภีร์แต่ละฉบับนั้นใช้หลักเกณฑ์ในการแบ่งประเภทแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ใน พระคัมภีร์อรรถกถาแบ่งตามฐานะ พระคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์แบ่งตามกรรม และพระวินัยลักขณะสังยุตต์พระบาลีแบ่งตามลักษณะ

 กิจกรรมและประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับเปรตของนครศรีธรรมราชที่มีและใช้กันในปัจจุบันมีหลายลักษณะ  เช่น

ด้านสำนวนภาษา  มีสำนวนที่เกี่ยวกับเปรตอยู่มาก  โดยนำมาเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมขึ้น  และมักจะเป็นความหมายในแง่ไม่ดี  เช่น

สูงเหมือนเปรต               :   สูงผอมชะลูดเกินไปจนผิดส่วน

ผอมเหมือนเปรต             :   ผอมมากจนผิดปกติ

กินเหมือนเปรต              :   กินตะกละอย่างตายอดตายอยากมานาน

เสียงเหมือนเปรต            :   เสียงแหลม เล็ก สูง เกินคนธรรมดา

ขี้คร้านเหมือนเปรต         :   ไม่ค่อยทำอะไร  คอยแต่จะพึ่งผู้อื่น  (คอยรับส่วนบุญ)

อยู่เหมือนเปรต               :   รูปไม่งาม  (โหมระ)  จนผิดปกติ

การทำอาหาร  ขนมเดือน 10  จะเห็นได้ว่าชาวนครศรีธรรมราชมีภูมิปัญญาในการถนอมอาหารเป็นอย่างดี  ขนมที่นำไปในพิธีรับส่งเปรตจะเป็นประเภทเก็บไว้ได้นาน  โดยไม่ต้องมีตู้เย็น  เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมซำ  และขนมไข่ปลา  ล้วนเป็นประเภทไม่เสียง่าย สามารถเก็บไว้ได้นานพอสมควร

สะท้อนให้เห็นวิธีการอบรมความประพฤติและพฤติกรรมของคนในสังคมให้ประพฤติและปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร  ไม่ทำชั่ว  โดยอาศัยความเชื่อเรื่อง  กรรม  บาปบุญคุณโทษ  ควบคุมกาย วาจา และใจ  ให้ปฏิบัติและสิ่งที่ดี  ละชั่ว  โดยใช้เปรตเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษผู้กระทำผิด ขู่ให้เกรงกลัวไม่อยากเป็นและอยู่ในภาวะของเปรตทำให้สังคมสงบสุขได้ ความคิดความเชื่อเรื่องเปรต  จึงมีประโยชน์ต่อคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชพอสมควร 

 4.3 ขนมที่ใช้ในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

ขนมเดือนสิบที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย มี 5 ชนิด  คือ  ขนมพอง  ขนมลา  ขนมบ้า  ขนมดีซำ  และขนมไข่ปลา  ขนมทั้ง 5 ชนิดนี้นำไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการจัดหมรับ  ซึ่งขนมทุกชนิดมีความหมายในการที่จะให้บรรพบุรุษนำไปใช้เป็นสิ่งของแทนสิ่งต่างๆ ในนรกภูมิ มีการใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงเครื่องใช้ที่แตกต่างกันดังนี้

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม ความหมายอื่นๆ
ขนมลา แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม  – ห้วงมหรรณพ

– อาหารของเปรตปากเท่ารูเข็มเนื่องจากขนมลามีเส้นเล็ก เชื่อว่าเปรตปากเท่ารูเข็มจะสามารถกินได้

ขนมพอง แพ  สำหรับล่องข้ามห้วงมหรรณพ  หมายถึงการนำไปสู่การเข้านิพพาน  – เรือ

– เครื่องประดับ

– ยานพาหนะ

ขนมบ้า สะบ้า เหรียญเงิน
ขนมกง

หรือขนมไข่ปลา

เครื่องประดับ
ขนมดีซำ

ขนมเบซำ

ขนมเจาะรู

ขนมเจาะหู

–   เงินเบี้ย

–  เงิน

ต่างหู

นอกจากขนมเดือนสิบ  5 อย่างที่ระบุข้างต้นแล้ว  ยังมีขนมอื่นๆ  ที่ใช้อีกเช่นกันคือ

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม
ขนมเทียน หมอนหนุน
ขนมต้ม เสบียงในการเดินทาง
ขนมรังมด
ขนมก้านบัว
ขนมฉาวหาย
ขนมขาไก่
ขนมจูจน

ขนมจูจุน

ขนมจู้จุน

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่สำคัญยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันมีเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของนครศรีธรรมราช ทั้งคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  และบุคคลภายนอกต่างหลั่งไหลเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากมีกิจกรรมมากมายทั้งในส่วนที่เป็นจารีตดั้งเดิมและเทศกาลเพื่อสนับสนุนประเพณี จนเมื่อกล่าวถึงงานบุญสารทเดือนสิบแล้ว ใครๆ ก็ต่างต้องนึกถึงเมืองนครศรีธรรมราช

_____

ขอบพระคุณข้อมูลจาก สารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนสิบ’๖๓