แม่ชีนมเหล็ก ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

แม่ชีนมเหล็ก
ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

 

ตำนานท้องถิ่น

ความสนุกของการได้ลงพื้นที่โมคลานอย่างหนึ่งคือ การได้ฟังเรื่องเล่าแบบไม่ซ้ำ แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่อนุภาคน้อยใหญ่ภายในกลับขยายบ้าง หดบ้าง ไปตามสิ่งแวดล้อมที่เรื่องเล่านั้น ๆ เข้าไปขออาศัย ความจริงอาจไม่ได้เป็นเฉพาะบ้านโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้เท่านั้น แต่พื้นที่ใดที่เรื่องเล่าทำหน้าที่มากกว่าเรื่องที่ถูกเล่าแล้ว ก็เป็นอันจะได้เห็นอาการหดขยายที่ว่าไปตามกัน

.

ความจริงเคยได้ยิน “พระพวยนมเหล็ก” มาก่อน “แม่ชีนมเหล็ก” ตอนนั้นอาสาเป็นยุวมัคคุเทศก์อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จำได้ว่าเป็นเรื่องกระซิบที่ผู้ใหญ่ท่านห้ามหยิบมาเล่าด้วยสรุปความไว้ตรงนั้นว่า “เหลวไหล”

.

ก็ไม่ได้สนใจอะไรต่อ จนมาได้สัมภาษณ์ชาวโมคลานจึงถึงบางว๊าว (ถัดจากบางอ้อไปหลายบาง) ว่าเรื่องกระซิบที่ “ในพระ” มามีมั่นคงในดง “โมก” เล่ากันว่า

.

เศรษฐีจีนนายหนึ่งพร้อมบริวารพร้อมพรั่ง

ลงสำเภาใช้ใบแล่นเข้าปากน้ำ

แล้วล่องมาตามคลองปากพยิงถึงแผ่นดินโมคลาน

สมัยนั้นมีลำน้ำสัญจรได้สองสายหนึ่งคือคลองปากพยิงที่ว่ากับอีกหนึ่งคือคลองท่าสูง

.

เศรษฐีจีนขึ้นฝั่งมาพบรักกับนางพราหมณีนาม “สมศักดิ์” หากนามนี้เป็นชื่อตัวก็คงชี้ความเป็นคนมีฐานะอันพอจะสมเหตุสมผลให้สามารถร่วมวงศ์วานเป็นเมียผัวกับเศรษฐีนายนั้นได้ นางพราหมณ์สมศักดิ์เป็นคนในตระกูลไวศยะ ทำค้าขายมีตั้งลำเนาอยู่ในท้องที่มาช้านาน ลือกันในย่านว่ารูปงามหานางใดเปรียบ ด้วยผูกพันฉันคู่ชีวิตประกอบกับกิจของทั้งสองครัวไม่ต่างกัน เศรษฐีจีนผู้รอนแรมมาจึงปักหลักตั้งบ้านขึ้นที่นี่

.

ขณะนั้น พระพุทธคำเภียร หัวหน้าสมณะทูตจากลังกา กำลังบวชกุลบุตรสถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์อยู่ที่เมืองเวียงสระ แล้วเผยแผ่พระธรรมต่อมายังโมคลานสถานซึ่งขณะนั้นร้างอยู่ บังเกิดให้เศรษฐีจีนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประกาศจะบริจาคทรัพย์สร้างกุฎี โบสถ์ วิหาร และ ศาสนสถานอันควรแก่สงฆ์บริโภค กับมีใจจะบูรณะสิ่งปรักหักพังขึ้นให้งามตาอย่างแต่ก่อน

.
เหตุเกิดเมื่อนางพราหมณ์ไม่ยอม จะมีปากเสียงมากน้อยไม่ได้ยินเล่า แต่ผลคือเมื่อเศรษฐีจีนถูกขัดใจหนึ่งว่าเรือขวางน้ำที่กำลังเชี่ยว ก็ตัดสินใจทิ้งสมบัติพัสถาน ทั้งลูก เมีย บริวาร หนีลงสำเภาของสหายกลับไปเมืองจีนเสีย

.

นางเมียผู้อยู่ข้างหลัง ครั้นเป็นหม้ายผัวหนีก็สำนึกผิด โศกเศร้า ตรอมใจ หนึ่งว่ามิ่งไร้ขวัญ ชีวิตไร้วิญญาณ พร่ำเพ้อ ละเมอเหม่อลอย ลางทีก็หวีดร้องขึ้นปานว่าชีวิตจะแหลกสลาย นางเฝ้าคอยทางที่ผัวจากไปและคอยถ้าฟังข่าวผัวอยู่ปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่กลับมา

.

นางอ้อนวอนเทพเจ้าทุกองค์บรรดามีในลัทธิของนาง เพื่อหวังให้ช่วยดลจิตดลใจผู้ผัวให้คืนสู่ครัวแต่ก็เปล่าประโยชน์ แม้จะตั้งบัตรพลีบวงสรวงประกอบเป็นพิธีอย่างยิ่งอย่างถูกต้องบริบูรณ์ ทุกอย่างก็ว่างเปล่าดั่งสายลม

.

ในท้ายที่สุด นางก็ทิ้งลัทธิเดิมปลงผมบวชเข้าเป็นชีพุทธ คงด้วยหวังว่าจะเอารสพระธรรมมาเป็นที่พึ่ง สมบัติทั้งสิ้นถูกจัดสรรปันแบ่งให้ลูกไปตามส่วน เหลือนั้นเอามาทำกุฎี โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ตามอย่างเจตนาผัวแต่ก่อน

.
ใจหนึ่งก็หวังว่าแรงบุญจะหนุนส่งให้ได้ผัวกลับ ความอาลัยอาวรณ์ติดตามตัวนางเข้าไปเคล้าคลึงถึงในชีเพศ นางเฝ้าพะวงหลงคอยอยู่ชั่วนาตาปี จนจิตใจของนางวิปริตคลุ้มคลั่งเข้า จึงในที่สุด นางก็ผูกคอตาย

.

แม่ชีนมเหล็ก

สังขารของนางเมื่อเผา

ปรากฎเป็นอัศจรรย์ว่า

ส่วนอื่นไหม้เป็นจุลไปกับไฟ

เว้นแต่นมสองเต้าไฟที่ไม่ไหม้และกลับแข็งเป็นเหล็ก

.

แต่นั้น แม่ชีสมศักดิ์ก็ถูกเรียก “แม่ชีนมเหล็ก” และเรียกสืบมาจนทุกวันนี้

.

พระพวย

เล่าต่อว่า

ลูกและญาติพี่น้องของแม่ชีนมเหล็กได้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง

บรรจุอัฐิและนมเหล็กทั้งสองเต้าเข้าไว้ในองค์พระ

พระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

คือองค์ที่เรียกว่า “พระพวย” สถิต ณ พระวิหารโพธิ์ลังกา

.

ความจริงเห็นอะไรหลายอย่างจากเรื่องนี้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโมคลานกับเมืองนครที่คลี่ปากคำมามากกว่าลายแทง “ตั้งดินตั้งฟ้า” ที่เคยเขียนไว้ครั้งก่อน การเป็นเมืองท่าสำคัญที่รับอารยธรรมจากทั้งจีนและอินเดีย โดยมีเศรษฐีจีนและนางพราหมณีในเรื่องเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ทั้งสองฟากฝั่ง อีกอันคงเป็น “นมเหล็ก” ที่เหลือจากการเผา ดูเหมือนว่าจะเคยได้ยิน “ตับเหล็ก” ในทำนองคล้ายกันด้วย เหตุที่เหลือ เชื่อกันว่าด้วยคุณวิเศษของผู้ตาย แต่ก็เหมือนจะมีผู้รู้ท่านลองอนุมานอยู่กลาย ๆ ว่าน่าจะได้แก่ก้อนเนื้อร้ายพวกมะเร็งด้วยเหมือนกัน

.

จาก “แม่ชีนมเหล็ก” ถึง “พระพวย”

ชีหนึ่งเดี๋ยวนี้มีรูปหล่อให้ได้ระลึกถึงตำนาน

ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญวัดโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนพระนั้น ปัจจุบันเป็นสรณะของผู้ไร้บุตรจะได้บนบานศาลกล่าวร้องขอ

ว่ากันว่าจะบันดาลให้ตามบุคลิกลักษณะในคำอธิษฐาน

.

จากนมเหล็กแม่ชี มาเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูป

แม้ว่า “ความจริง” คงเป็นสิ่งที่เค้นเอาได้ยากจาก “ความเชื่อ”

แต่ทุก “ความเชื่อ” ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเคารพ

เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็ต่างเชื่อกันว่ามันจริงฯ

 

หญ้าเข็ดมอน ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

หญ้าเข็ดมอน
ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า
ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

 

เป็นเวลาสักระยะแล้ว ที่จ่อมจมอยู่กับปริศนาลายแทงโมคลาน ทวนสอบตัวเองดูอย่างจริงจังรู้สึกว่า ลึก ๆ ที่ย้ำคิดย้ำทำอยู่ตรงนั้น ก็เพราะอยากแก้ลายแทงเป็นเหตุหลัก แต่ด้วยความรับรู้เดิมที่ถูกกักขังไว้ว่า ลายแทงมักไม่มีใครแก้ได้ ส่วนที่แก้ๆ กันไปอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หมิ่นเหม่ว่าจะคลาดเคลื่อนเลื่อนลอย พลอยให้ต่างคนต่างแก้ไปนานา ลายแทงจึงยังคงเป็นอาหารอร่อย ที่เว้นแต่ผู้ปรุงแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ารสชาติแท้จริงเป็นอย่างไร

.

ลายแทงโมคลาน

ลองดู “ลายแทงโมคลาน”

ตามกันไปอีกครั้ง

 

“…ตั้งดินตั้งฟ้า

ตั้งหญ้าเข็ดมอน

โมคลานตั้งก่อน

เมืองนครตั้งหลัง

ข้างหน้าพระยัง

ข้างหลังพระภูมี

ต้นศรีมหาโพธิ์

ห้าโบสถ์หกวิหาร

เจ็ดทวาร

แปดเจดีย์…”

 

โมคลาน

ดูเหมือนว่าความในตอนท้ายจะคล้ายกับสารบัญนำชมศาสนสถานในข้างพุทธ อันประกอบด้วย พระศรีมหาโพธิ์ โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ส่วนถ้าจะยึดเอาวรรคนำเรื่องก็คงชี้ลงว่า ศาสนสถานที่กำลังแทงลายลงไปนี้ คือ “โมคลาน” ที่เมื่อครั้งผูกลายแทง คงมีสถานะเป็น “วัด” ในพระพุทธศาสนาแล้ว ส่วนคำว่า “แล้ว” ซึ่งห้อยท้ายอยู่นั้น ก็เพราะว่า วรรคนำเรื่องอย่าง “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” เป็นร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การมาแสดงเป็นข้อเท้าความอยู่ตรงนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า ลายแทงกำลังแสดงความหลงเหลืออยู่ของคติพราหมณ์ในความทรงจำชาวโมคลาน ซึ่งทำให้เห็นว่า พราหมณ์คงเป็นเจ้าของเดิมอยู่ก่อน จากนั้นพุทธจึงค่อยเข้าใช้สอยพื้นที่เป็นลำดับ

.

การสร้างโลกมีในคัมภีร์พราหมณ์ กล่าวว่าเป็นเทวกิจของพระพรหม ประเด็นนี้ ดิเรก พรตตะเสน ให้รายละเอียดว่า

“…โลกของเรานี้ พระพรหมผู้เป็นใหญ่ของพราหมณ์เขาเป็นผู้สร้าง

แรกก็สร้างน้ำก่อน สร้างน้ำแล้วก็ตั้งดินตั้งฟ้า

ต่อจากนั้นจึงหว่านพืชลงในดิน พืชอันดับแรก

คือที่เราเรียกหญ้าเข็ดมอนนี้เอง

พืชอันที่สองคือหญ้าคา อันดับที่สามหญ้าแซมไซ…”

.

หญ้าเข็ดมอน

ดินและฟ้าจะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ จะขอชวนให้ใคร่ครวญกันเฉพาะสามหญ้าในฐานะพืชแรกบนโลกตามคติพราหมณ์ เล่าว่า “…เมื่อคราวเทวดากวนเกษียรสมุทร ให้เป็นน้ำทิพย์สำหรับเทวดาจำได้กินกันให้เป็น “อมร” นั้น พญาครุฑฉวยโอกาสโฉบเอาน้ำทิพย์บินหนี ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องออกขัดขวาง ขณะที่รบชิงน้ำทิพย์กันอุตลุตบนท้องฟ้านั้น กระออมใส่น้ำทิพย์กระฉอก น้ำทิพย์กระเซ็นตกลงมายังโลกมนุษย์ เผอิญให้ถูกเอาหญ้าเข็ดมอน หญ้าคา และหญ้าแซมไซ…”

.
เหตุนี้จึงทำให้ความอมฤตไปเป็นเครื่องทวีความศักดิ์สิทธิ์ให้กับหญ้าทั้งสาม จากที่เป็นหญ้าที่เกิดก่อนพืชทั้งปวงบนโลกแล้ว ยังมีความ “ไม่ตาย” เป็นคุณวิเศษอีกชั้น ที่แม้น้ำจะท่วมโลกหรือเกิดไฟบัลลัยกัลป์เผาผลาญล้างโลกก็ทำอะไรสามหญ้านี้ไม่ได้

.

หญ้าคา:

โบราณเอามาถักเข้าเป็นเส้น

วงรอบเรือนหรือปริมณฑลที่ต้องการเป็นมงคล

กันผี กันอุบาทว์ จัญไรได้ทุกชนิด

.

หญ้าแซมไซ:

ยังค้นไม่พบสรรพคุณเฉพาะ

แต่ “เข้ายา” รวมกับอีกสองหญ้าได้

ว่ากันว่าหากต้มใช้กินประจำ

จะทำให้อายุยืน คงกระพันชาตรี

.

หญ้าเข็ดมอน:

โบราณนิยมเอารากมาถักสำหรับผูกข้อมือเด็ก

กันผีแก้แม่ซื้อรังควาญ

ต้มกินก็จะสามารถแก้พิษร้อนได้

.
การมี “หญ้าเข็ดมอน” เป็นบทนำของลายแทง จึงถือเป็นภาพสะท้อนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมของโมคลานได้อย่างหลวมๆ ว่า พื้นที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ที่อาศัยของบรรดาพราหมณ์ผู้มี “ภูมิ” ซึ่งนอกจากจะรู้พระคัมภีร์อยู่เฉพาะตนแล้ว อาจได้ถ่ายทอดสู่ศาสนิกโดยเฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยการสร้างโลกและสรรพสิ่งของพระผู้เป็นเจ้า ที่เอาเข้าจริงก็มีการกล่าวถึงการกำเนิดโลกและมนุษย์อยู่ในทุกศาสนา ความหมายเกี่ยวกับการสร้างโลกของแต่ละศาสนาจึงถือเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่กระทำในดินแดนโมคลาน พื้นที่ซึ่งปัจจุบันมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในละแวกที่ปรากฏเทวลัยอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์และครอบครองโดยวัดของพระพุทธศาสนา

.

บทกาดครูโนรา

ความจริงควรจะจบตรงนี้ แต่ด้วยว่าได้คัดเอาบทกาดครูโนราที่แสดงฉากสร้างโลกซึ่งมีการกล่าวถึงหญ้าเข็ดมอนมาด้วยแล้ว จึงขอส่งท้ายกับสิ่งที่ว่านั้น กับทั้งข้อสังเกตว่า “ผู้สร้าง” ในบทนี้เป็น “พระอิศวร” ต่างจากที่ร่ายมาข้างบน ซึ่งอาจทำให้เห็นว่า ไม่เฉพาะระหว่างศาสนาเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์ของการช่วงชิงความหมาย แต่ภายในเองก็มีสิ่งละอันพันละน้อยที่แทรกซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน กับที่ส่วนตัวเห็นว่าการผลิตซ้ำคติสร้างโลกของพราหมณ์ลงบนมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้ ควรค่ายิ่งแก่การค้นคว้าเพื่อสร้างชุดความรู้สู่สาธารณะ

.

ไหว้พระอิศวรพ่อทองเนื้อนิล

พ่อได้ตั้งแผ่นดินตั้งแผ่นฟ้า

พ่อตั้งแผ่นดินเท่าลูกหมากบ้า

ตั้งแผ่นฟ้าโตใหญ่เท่าใบบอน

พ่อตั้งสมุทรพ่อตั้งสายสินธุ์

ตั้งเขาคีรินทร์เขาอิสินธร

พ่อตั้งไว้สิ้นพ่อตั้งไว้เสร็จ

ตั้งหญ้าคาชุมเห็ดหญ้าเข็ดมอน

พ่อตั้งหญ้าคาเอาไว้ก่อน

หญ้าเข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

พ่อได้ตั้งพฤกษาตั้งป่าชะมัว

พ่อได้ตั้งบัวนาบัวครั่ง

เข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

พระจันทร์เดินกลางเดินกลางคืน

พระอาทิตย์งามชื่นเดินกลางวัน

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

สว่างฉันทั่วโลกชโลกา

พ่อได้ตั้งสิ้นตั้งสุด

ตั้งเหล่าชาวมนุษย์ไว้ใต้หล้า

พ่อตั้งหญิงคนชายคน

ให้เป็นพืดยืดผลต่อกันมา

พ่อตั้งนางเอื้อยให้เป็นเจ้าที่

พ่อตั้งนางอีเป็นเจ้านา

พ่อตั้งนายคงเป็นเจ้าดิน

พ่อตั้งนายอินเป็นเจ้าป่า

พ่อตั้งนายทองเป็นเจ้าแดน

ตั้งนายไกรพลแสนเฝ้ารักษาฯ

“เข็ดมอน” จากหญ้าดึกดำบรรพ์ สู่น้ำมันนวด KM Oil

“เข็ดมอน” เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง เติบโตตามธรรมชาติ พบได้ทั่วไปบนดินทรายในพื้นที่ภาคใต้ โดยฉพาะตามแนวสันทรายโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ปรากฏในสำนวนท้องถิ่นที่จดจำและเล่าต่อกันเป็นมุขปาฐะว่า “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” การถูกทรงจำในลักษณะที่มีต้นกำเนิดมาพร้อมดินและฟ้า ทำให้หญ้าเข็ดมอนมีอีกสถานะคือการเป็น “หญ้าดึกดำบรรพ์”

หญ้าเข็ดมอนที่พบบนสันทรายโมคลานมี 2 ชนิด “ลุงชม” หรือ นายชม พันธิ์เจริญ ปราชญ์ท้องถิ่นตำบลโมคลานวัย 76 ปี อธิบายว่า “…หญ้าเข็ดมอนมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือหญ้าเข็ดมอนตัวผู้ และหญ้าเข็ดมอนตัวเมีย ทั้ง 2 นี้ มีสรรพคุณในทางยา…”

ลุงชม เล่าให้คณะทำงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งพื้นที่ตำบลโมคลานบ้านลุงชมอยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี ผศ.ดร. รุ่งระวี จิตภักดี เป็นหัวหน้าโครงการ ฟังว่า ลุงชมได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและการทำน้ำมันนวดมาจากคุณปู่ ในระยะแรกได้ทดลองทำน้ำมันจากสมุนไพร 3 ชนิด คือ ผักเสี้ยนผี ขมิ้นอ้อย และน้ำมันมะพร้าว เมื่อทดลองใช้เองแล้วได้ผลพอสมควรจึงแสวงหาสมุนไพรในท้องถิ่นเพิ่มเติมเพื่อสรรพคุณที่มากกว่า จนพบว่า “หญ้าเข็ดมอน” มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อย ตามชื่อที่ชาวปักษ์ใต้เรียกอาการปวดเมื่อยว่า “เข็ด”

ลุงชมได้สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโดยการสกัดสรรพคุณจากสมุนไพรหญ้าเข็ดมอนออกมาใช้ประโยชน์ พร้อมกับส่วนประกอบต่าง ๆ อีก 19 ชนิด เป็นน้ำมันสมุนไพรที่สามารถใช้นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ป้ายแผลเปื่อย แผลสด แผลน้ำร้อนลวก แผลในปากจากอาการร้อนใน ชโลมหนังศีรษะรักษาอาการผมร่วงเนื่องจากเชื้อรา

ในระยะแรก บรรจุภัณฑ์และแบรนด์ภายใต้ภาพและชื่อ “ลุงชม” สนนราคาอยู่ที่ขวดละเพียง 20 บาท มีจำหน่ายเฉพาะที่บ้านของลุงชมเท่านั้น ผศ.ดร. รุ่งระวีฯ และคณะทำงานจึงมีความเห็นร่วมกันว่า หญ้าเข็ดมอนคือของขวัญจากบรรพชน คือจุดเชื่อมร้อยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน คือภูมิปัญญาที่สามารถพัฒนาสู่อาชีพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่มีขึ้นเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับชุมชน หญ้าเข็ดมอนจึงควรได้รับการพัฒนาให้กลับมาทรงจำของคนในยุคปัจจุบันอีกครั้งในฟังก์ชันที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและกระแสสังคม โดยเบื้องต้นได้วางแผนในการ Rename Repackeging และ Remarketing เพิ่มมูลค่าตลอดจนการขยายผลสู่การส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่องให้กับชุมชน เพื่อให้ “หญ้าเข็ดมอน” จากหญ้าดึกดำบรรพ์ จะได้ถูกพัฒนาสู่น้ำมันนวด KM Oil ลุงชมเคเอ็มออยล์ จึงเป็นการผสมสานศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมและการแพทย์พื้นบ้าน KM ที่มาจาก Khed Mon จึงคล้ายว่าเป็นคุณค่าและความหมายเดียวกันกับ Knowledge Management

ไผ่พาสเทล โมคลาน ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นมากกว่าเครื่องจักสาน

ไผ่พาสเทล โมคลาน

โมคลาน” เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ทอดตัวไปในแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับชายฝั่งทะเลตะวันออก มีภูมิประเทศตั้งอยู่บนสันทรายระหว่างเทือกเขานครศรีธรรมราชและทะเลอ่าวไทย ทำให้ทั้งดินและน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงทั้งผู้คน สรรพสัตว์ และพืชพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ต้นไผ่” ซึ่งเป็นไม้ชั้นดีที่ต่างก็ยอมรับกันในเรื่องคุณภาพ ตั้งแต่หน่อไม้ถึงปลายลำ ถูกนำมาใช้สอยได้นานาประโยชน์ ไผ่ดีด้วยดินดี น้ำดี ดังกล่าวแล้วว่าโมคลานตั้งอยู่บนสันทรายอันอุดมสมบูรณ์ “ไผ่” จึงเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การเกษตรที่สำคัญบนสันทรายนี้

โมคลานมีปราชญ์ท้องถิ่นคนสำคัญอย่าง “นายกิบหลี หมาดจิ” หรือ “ป๊ะกิบหลี” ทำให้ “ไผ่” ถูกประดิษฐ์ประดอยด้วยภูมิปัญญาอันสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น กระเชอ ชะลอม กระด้ง กระจาด ตะกร้า เป็นต้น นอกจากการสืบสานงานหัตถกรรมเหล่านี้แล้ว ป๊ะกิบหลียังพัฒนาฝีมือด้วยการประยุกต์สานกระบอกใส่แก้วน้ำแบบพกพา โคมไฟ และอีกสารพัด สุดแต่จะได้รับออเดอร์ คล้ายกับว่าทั้งผู้ทำและผู้ใช้ต่างก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์

มากไปกว่าการเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ป๊ะกิบหลี ยังเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชนและต้อนรับนักท่องเที่ยว เหมาะสำหรับใครที่กำลังมองหากิจกรรมสำหรับครอบครัวด้วยงาน DIY Handicraft ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ให้เด็กๆ ร่วมกันออกแบบบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ของครอบครัว แถมยังฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยง ทีมเวิร์ค และสมาธิหลักสูตรระยะสั้นกันได้ภายในระยะเวลา 1 วันก็ได้เลยทีเดียว

ไผ่จากป่า มาสู่งานฝีมือ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ความโดดเด่นจากการไล่สีของเปลือกไผ่ทำให้ได้โทนพาสเทลแบบออแกนิก ปลอดภัยสำหรับการใช้สอยที่ต้องสัมผัสกับอาหาร แถมยังได้ชื่นชมกับคุณค่าจากสีธรรมชาติของตอกไผ่บนผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ของที่นี่โมคลาน…