ชาวนครโบราณ จัดการ “โรคระบาด” กันอย่างนี้

“…เสด็จออกไปตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราช…
ได้ทรงสืบสวนได้ความว่า ราษฎรแถวนั้น
เขามีธรรมเนียมป้องกันโรคติดต่อเช่นนี้มาเป็นอย่างหนึ่ง
คือถ้าบ้านใดเกิดไข้ทรพิศม์ก็ดี เกิดอหิวาตกะโรคก็ดี
เจ้าของบ้านปักเฉลวที่ประตูบ้าน
แลไม่ไปมาหาสู่ผู้หนึ่งผู้ใด
ส่วนเพื่อนบ้านเมื่อเห็นเฉลวแล้วก็ไม่ไปมาหาสู่จนกว่าโรคจะสงบ
ต่อเมื่อทำเช่นนี้ไม่มีผลแล้ว
ชาวบ้านจึงได้อพยพไปอยู่อื่นเสียชั่วคราว
เป็นธรรมเนียมมาอย่างนี้…”

รายงานประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. ๑๓๑

จากวิธีปฏิบัติสู่ “ธรรมเนียม” ชาวนคร

ความตอนหนึ่งจากรายงานข้างต้น ทำให้ทราบ “ธรรมเนียม” ของชาวนครศรีธรรมราชว่า เจ้าบ้านต้องปัก “เฉลว” ไว้ที่ประตูบ้านประการหนึ่ง กับ “ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด” อีกหนึ่งประการ ทั้งสองเป็นวิธีปฏิบัติที่อาจได้ผลในยุคนั้น จึงถูกยอมรับและใช้เป็นธรรมเนียมสำหรับการจัดการสังคมทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวมท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งห้วงพุทธศักราช ๒๔๕๕ ในรายงานนั้น โรคที่เป็นที่รู้จักและมักแพร่ระบาดคือ “ไข้ทรพิษ” กับ “อหิวาตกโรค”

“…เจ้าของบ้าน
ปักเฉลวที่ประตูบ้าน…”

เฉลว อ่านว่า ฉะเหฺลว พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า เฉลวเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยตอกหรือหวายหักขัดกันเป็นมุม ตั้งแต่ ๓ มุมข้ึนไป แพทย์แผนไทยใช้เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์สำหรับปักหม้อยา เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และป้องกันการละลาบล้วงเครื่องยาในหม้อ มักทำกัน ๔ แบบ คือ

เฉลว ๓ มุม หมายถึง ไตรสรณคมน์ (มะ-มหาปุริสะ, อะ-อะโลโก, อุ-อุตมปัญญา) 
เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ (ปถวี อาโป วาโย และเตโช)
เฉลว ๕ มุม หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ (นะโมพุทธายะ)
และเฉลว ๘ มุม หมายถึง ทิศแปด (อิติปิโสแปดทิศ – บูรพา อาคเณย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร อีสาน)

นอกจากนี้ แต่โบราณยังใช้เฉลวหรือในบางท้องที่เรียก “ฉลิว” หรือ “ตาเหลว” ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของซึ่งจะขาย ปักบอกเขต หรือด่านเสียค่าขนอน จึงเป็นที่รู้กันว่าเฉลวคือสัญลักษณ์ในการสื่อความอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับบริบทของที่อยู่แห่งเฉลว เช่นว่า ถ้าอยู่ที่หม้อยา ก็หมายถึงยาหม้อนั้นปรุงสำเร็จแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดปรับแปลงอีกต่อไป กับทั้งเป็นเครื่องกันคุณไสยด้วยพุทธานุภาพตามพระคาถาที่แสดงอยู่ด้วยจำนวนแฉก และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ เฉลว เป็นสัญลักษณ์บอกว่าในบ้านนั้นมีคนป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่กำลังรักษาและอาจแพร่ระบาดกับผู้ไปมาหาสู่

“…ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด…”

เมื่อเป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้วถึง “สัญญะ” ของ “เฉลว” จึงอาจตีความได้ว่า “เฉลว” คือนวัตกรรมอย่างหนึ่งของคนในยุคโบราณ เพื่อแสดงเขตกักกันผู้ติดเชื้อ การไปมาหาสู่ซึ่งอาจทำให้เป็นเหตุของการติดเชื้อเพิ่มจึงเป็นข้อห้ามไว้ใน “ธรรมเนียม” เมื่อ “มาตรการทางสังคม” มีพื้นฐานบนความเชื่อทางไสยศาสตร์ แล้วเชื่อมโยงกับหลักคิดทางพระพุทธศาสนา สิ่งนี้อาจเป็นคำตอบของประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในอดีตของชาวนครศรีธรรมราชได้อย่างดี

วันพระ สืบสกุลจินดา

๑๓ เมษายน ๒๕๖๔