Skip to content

คุณ นรานันทน์ จันทร์แก้ว  ฅนต้นแบบเมืองนคร สร้างเรื่องราว บอกเรื่องเล่าตำนานผ่านเนื้อเพลง

การร้องเพลงเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สื่อสารผ่านน้ำเสียง ถ่ายทอดเนื้อร้องควบคู่กับท่วงทำนอง ทำให้เกิดความเพลิดเพลินแก่ผู้ฟัง เนื้อร้องมักถูกกลั่นกรองมาจากประสบการณ์และความรู้สึกของผู้แต่ง แต่ละบทเพลงมีความหมายที่ต่างกันออกไป เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่สร้างสรรค์บทเพลงอันไพเราะ จนได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงในวงการเพลงไทย นักประพันธ์เพลงที่สามารถสร้างเรื่องราว บอกเล่าตำนานท้องถิ่น ผ่านเนื้อเพลงที่สื่อถึงนครศรีธรรมราช คุณ นรานันทน์ จันทร์แก้ว

พรสวรรค์และความชื่นชอบในวัยเด็ก สู่จุดเริ่มต้นของนักประพันธ์เพลง

คุณนรานันทน์ หรือครูบอย มีความชื่นชอบและรักในเสียงเพลงตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง ครั้งแรกที่ได้ฟังเพลง “นัดพบหน้าอำเภอ” ที่ขับร้องโดยอดีตราชินีเพลงลูกทุ่ง คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ สร้างความประทับใจให้คุณนรานันทน์เป็นอย่างมาก และเป็นเพลงเดียวที่คุณนรานันทน์ร้องได้ในตอนนั้น เมื่อโอกาสในการแสดงความสามารถได้มาถึง ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทางโรงเรียนได้จัดการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง แม้ไม่ได้รับรางวัล แต่เป็นการตอกย้ำความชื่นชอบในเสียงเพลง จนไปเจอกับเทปเทปคาสเซ็ทที่อยู่ในบ้าน เมื่อได้ลองเปิดฟังก็ชอบในเสียงร้องของศิลปินผู้นั้น โดยที่ตอนนั้นคุณนรานันทน์ไม่ทราบว่าคือ คุณเอกชัย ศรีวิชัย (นักร้องลูกทุ่งชาวใต้ชื่อดัง) จากนั้นได้ติดตามผลงานเรื่อยมา จนกลายมาเป็นศิลปินในดวงใจ

เนื้อเพลงแรกที่เขียนเริ่มต้นจากได้รับโจทย์จากอาจารย์ในวิชาดนตรี ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ทำนองจากเพลง “รักเก่าที่บ้านเกิด” มาใส่เนื้อร้องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพสังคมในยุคสมัยนั้น (ตรงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540)

จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้นคุณนรานันทน์ได้เขียนเพลงสะสมมาเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้แต่งเพลงในกิจกรรมต่างๆ ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

คุณนรานันทน์ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมักจะพกสมุดเขียนเพลงติดตัวอยู่เสมอ ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ทางมหาวิทยาลัยได้เชิญอาจารย์สลา คุณวุฒิ (ศิลปินและนักประพันธ์เพลงแนวลูกทุ่งอีสาน) มาเป็นวิทยากร เมื่อคุณนรานันทน์มีโอกาสนำเสนอบทเพลงที่เขียนให้อาจารย์สลาได้ฟัง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงมากขึ้น จากการเก็บเกี่ยวความรู้จากการอ่านหนังสือ พร้อมกับฝึกเขียนเพลงมาเรื่อยๆ

จนวันหนึ่งคุณนรานันทน์ได้รับการติดต่อจากค่ายเพลงชื่อดัง (จากการแนะนำของอาจารย์สลา) แม้ว่าบทเพลงที่เขียนยังไม่ได้นำเสนอสู่สาธารณชน แต่ก็ไม่ทำให้คุณนรานันทน์รู้สึกท้อ แม้จะเป็นเพียงนักแต่งเพลงมือสมัครเล่น แต่ก็หวังว่าสักวันจะมีโอกาสแต่งเพลงให้กับศิลปินชื่อดัง

สร้างเรื่องราว บอกเรื่องเล่าตำนานผ่านเนื้อเพลง และโอกาสที่ได้แต่งเพลงให้ศิลปินในดวงใจ

คุณนรานันทน์ มีแนวคิดว่า หากนำเรื่องราวต่างๆ ในนครศรีธรรมราชมาบอกเล่าผ่านบทเพลง ผู้ฟังน่าจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ได้ง่ายขึ้น บทเพลงก็เหมือนกับการเขียนเรื่องสั้นที่สรุปสาระสำคัญให้สามารถเข้าใจได้ง่าย มีหลายบทเพลงที่คุณนรานันทน์แต่งเกี่ยวกับนครศรีธรรมราช หยิบเรื่องราวที่น่าสนใจของนครศรีธรรมราชมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่งเพลง อย่าง “เพลงเทพบุตรพญานคร”ที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในเวทีการประกวดเทพบุตรพญานคร ช่วงงานประเพณีสารทเดือนสิบ ต้องนำเสนอเรื่องราวของนครศรีธรรมราชให้เหมาะสมกับงานโชว์ และที่สำคัญคือ ต้องเป็นแนวเพลงที่เข้ากับคุณเอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งเป็นศิลปินผู้ขับร้องเพลงนี้ ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากสำหรับคุณนรานันทน์

“เพลงนุ้ยเคยไลน์” บทเพลงที่หยิบเอาความแตกต่างทางภาษามาขยายความ เป็นเพลงที่โด่งดังมากในภาคใต้ เปิดกันแทบทุกงานประเพณีของทางใต้ จุดเริ่มต้นจากการที่คุณนรานันทน์ได้ยินบทสนทนาทางโทรศัพท์ของบุคคลที่นั่งอยู่ข้างๆ กับคำถามจากปลายสายว่า “เคยไลน์หม้าย?” กลายเป็นไอเดียที่คุณนรานันทน์อยากนำมาเขียนเพลง โดยนำเอาทำนองเพลงมอญท่าอิฐมาเป็นท่อนสร้อย (ท่อนที่จะร้องซ้ำ) บวกกับแรงบันดาลใจจากเนื้อเพลงบางส่วนของ “เพลงฉันทนาที่รัก” จนได้เพลงนุ้ยเคยไลน์ที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน คนใต้ฟังแล้วจะหรอย ขับร้องโดยศิลปิน นุ้ย สุวีณา อาร์สยาม ซึ่งเพลงนี้มียอดวิวใน Youtube แตะหลักล้าน ตอกย้ำความนิยมในตัวศิลปิน และเป็นอีกผลงานที่สร้างชื่อให้คุณนรานันทน์

อยากเป็นนักแต่งเพลง เริ่มต้นอย่างไร

อยากเป็นนักแต่งเพลง ไม่ใช่แค่ชอบเขียนเรื่องราวต่างๆ และรักในเสียงเพลงเท่านั้น ต้องฟังเพลงให้เยอะ ฝึกเขียนบ่อยๆ นำทั้งสองอย่างมาเชื่อมโยงกัน และศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการแต่งเพลงเพิ่มเติม คุณนรานันทน์ ให้ความเห็นว่า ศิลปะไม่มีผิดหรือถูก ไม่มีขอบเขต เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล การเขียนเพลงต้องรู้ว่า เขียนให้ใคร เขียนเพื่ออะไร เขียนเพลงแนวไหน เช่น เขียนเพลงให้นักร้องคนหนึ่ง ต้องรู้ว่านักร้องคนนั้นมีแนวเสียงเป็นอย่างไร ควรใช้คำหรือเล่าเรื่องอะไรให้ตรงกับคาแร็กเตอร์  แต่ละแนวเพลงไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถนำมาดัดแปลงผสมผสานกันได้ ทุกครั้งที่จรดปากกาเขียนเพลง คุณนรานันทน์จะบันทึกช่วงเวลาไว้ทั้งหมด สำหรับบทเพลงลูกทุ่ง ฉันทลักษณ์คือสิ่งสำคัญมาก รูปแบบในการแต่งเพลง สามารถแบ่งได้ 3 แบบ คือ เริ่มจากการเขียนกลอนแปด ค่อยใส่ทำนองทีหลัง สร้างทำนองขึ้นมาก่อน แล้วใส่เนื้อร้องทีหลัง แต่งเนื้อร้องและทำนองไปพร้อมกัน เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด

ดนตรีเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน แม้ผู้ฟังสื่อสารด้วยภาษาที่ต่างกัน แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงบทเพลงนั้น การสร้างสรรค์งานดนตรีจึงไม่เคยหยุดนิ่ง ทำนองอันไพเราะไม่เพียงแต่สร้างความผ่อนคลาย ความสนุกสนาน หรือก่อให้เกิดความสุขเท่านั้น แม้แต่ท่วงทำนองแห่งความเงียบ ก็มีบางอย่างที่ถูกถ่ายทอดออกมา ขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่าสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้หรือไม่…นั่นเอง

ดูคลิปสัมภาษณ์

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ