Skip to content

นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ นายอำเภอนักพัฒนา เพิ่มคุณค่าท้องถิ่นด้วยเรื่องเล่า

            สภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่รวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอาจตามไม่ทันโดยเฉพาะผู้คนในชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ต้องอาศัยความสามารถของตัวแทนจากภาครัฐเข้าไปบริหารจัดการ ในขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในพื้นที่เช่นกัน แต่การที่จะเข้าถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ต้องเข้าใจบริบททางสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ทางเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ นายอำเภอนักพัฒนาประจำอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทำความรู้จักกับท่านนายอำเภอนักพัฒนา

            นายอำเภอ ศรายุทธ เจียรมาศ พื้นเพเป็นคนอำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถม – มัธยมศึกษาที่จังหวัดบ้านเกิด เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิทยาเขตปัตตานี และระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ได้สอบบรรจุเพื่อเข้ารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ประจำอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 19 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2539 – 2558  ที่ท่านทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนย้ายมาประจำการที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา การทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ท่านนายอำเภอได้อาศัยความรู้ทางวิชาการที่ร่ำเรียนมา เพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม หากพูดถึงคุณวุฒิของนักปกครอง แน่นอนว่าต้องเป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ แต่หากพูดถึงการทำงานของนายอำเภอในมิติใหม่ ซึ่งต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมสมัยใหม่ ศาสตร์ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นับว่าสำคัญมากเช่นกัน

บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์การทำงาน…ร้อยเรียงผ่านตัวอักษร

            นอกจากบทบาทหน้าที่นายอำเภอในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ แล้ว อีกบทบาทที่น่าสนใจของท่านนายอำเภอศรายุทธ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่นผ่านเรื่องเล่าจากปลายปากกา เริ่มต้นงานเขียนในเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่อำเภอยะรัง จ.ปัตตานี เป็นข้อมูลที่เรียบเรียงไว้ แต่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ ส่วนงานเขียนเชิงเล่าเรื่องได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก “เสน่ห์เทพา” เมื่อครั้งที่มาประจำการเป็นปลัดอาวุโสที่อำเภอเทพา หนังสือที่ท่านนายอำเภอเขียนไม่ได้มีแค่เรื่องเล่าจากภาคใต้เท่านั้น แต่ยังเขียนหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน เล่าเรื่องเกี่ยวกับมิติทางประวัติศาสตร์และสังคมในมุมมองคนต่างถิ่น ในหนังสือที่มีชื่อว่า “นายอำเภอคนใต้…เล่าเรื่องแดนอีสาน” ซึ่ง “ภาษา” คือ เรื่องที่สร้างความแปลกใจ ไม่น้อยสำหรับท่านนายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงหรือคำศัพท์ภาษาอีสานบางคำก็คล้ายคลึงกับภาษาใต้อย่างน่าประหลาดใจ

            ในมุมมองของท่านนายอำเภอ คนที่ทำงานในแวดวงนักปกครอง จำเป็นจะต้องรู้จักคน รู้จักพื้นที่ ซึ่งการที่จะรู้จักและจดจำได้นั้น ต้องอาศัยการจดบันทึกจากการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งมีกรอบทางภูมิศาสตร์เป็นแนวทางในการบันทึก ต้องเรียนรู้จากพื้นที่จริง เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปของแต่ละชุมชน การจะเข้าถึงชุมชน ต้องเข้าถึงรากเหง้า ทำความรู้จักกับภูมิศาสตร์ในแต่ละท้องที่ แม้กระทั่ง “ภูมินาม” ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับชื่อและประวัติความเป็นมาของสิ่งต่างๆ ภูมินามของแต่ละชุมชนสามารถแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางธรรมชาติ สภาพสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

นำประวัติศาสตร์มาพัฒนาชุมชน เพิ่มคุณค่าท้องถิ่นด้วยเรื่องเล่า

            การทำงานเชิงพื้นที่ของท่านนายอำเภอ ไม่ได้อาศัยแค่สาขาวิชาการปกครองเท่านั้น แต่ต้องอาศัยข้อมูลจากสาขาวิชาต่างๆ มาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาของตนเองให้แก่ชาวบ้าน และเพื่อหาวิธีในการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ นอกจากความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาท้องถิ่น เรายังสัมผัสได้ถึงความสนใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของท่านนายอำเภอ จากการที่ท่านได้เล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน “เกลอเขา เกลอเล” ที่สืบทอดมายาวนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวนครศรีธรรมราช สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันจึงมีผลต่ออาชีพของชาวบ้านในชุมชน ส่วนเทือกเขาที่ว่านี้คือ “เขาหลวง” เทือกเขาที่พาดไปตามแนวยาวของคาบสมุทร และมียอดเขาหลวงเป็นยอดเขาที่สูงสุดในภาคใต้ คาดกันว่าเส้นทางที่เกลอทั้งสองฝั่งติดต่อกันน่าจะเป็นช่องเขา บริเวณนี้น่าจะเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในสมัยก่อน ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงเส้นทางตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

            หนึ่งในเหตุผลที่ท่านนายอำเภอสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ทำนองนี้ นอกจากได้ทำความรู้จักพื้นที่และคนในท้องถิ่นแล้ว ยังสามารถนำความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการปกครองท้องถิ่นเช่นกัน

และนำไปสู่การพัฒนาซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมที่เคยใช้สัญจรกันให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นการเพิ่มช่องทางการเดินทางที่สะดวก และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งเขาทางตะวันตกและตะวันออก ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุขโดยใช้กลไกของทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ

ในมุมมองของนักปกครอง ความสำคัญของการเล่าเรื่องคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อสังคม

            สำหรับท่านนายอำเภอศรายุทธ วิธีการเล่าเรื่องของท่านมักจะผ่านหนังสือและทางโซเชียลมีเดีย ใช้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ท่านได้ให้นิยามการทำงานเชิงพื้นที่ว่า “เปรียบเสมือนเสื้อสั่งตัด” ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการวัดขนาด เพื่อตัดเสื้อให้พอดีกับตัว หลักในการเล่าเรื่องนั้นต้องให้พี่น้องประชาชนได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับท้องถิ่นของตัวเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร เข้าใจและมองเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและภาครัฐ ในการพัฒนาชุมชนให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง         

อย่างอำเภอพิปูนที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมือง 4 น้ำ”  คือ แหล่งต้นน้ำ บ่อน้ำพุร้อน น้ำตก และอ่างเก็บน้ำ หากไม่ใช่คนพิปูนก็ไม่อาจทราบได้ และยังเป็น “เมืองทะเลสาบในหุบเขา” หรือ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า “เมืองสองอ่าง” ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขาล้อมรอบคือ เขาหลวง เขาพระ เขากะทูน ทางตะวันตกมีเขากะเปียดเป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางธรรมชาติระหว่างอำเภอพิปูนและอำเภอฉวาง ผลผลิตทางการเกษตรขึ้นชื่ออย่าง ทุเรียนพิปูนซึ่งเป็น “ทุเรียนเมืองชื้น” เนื้อทุเรียนจึงแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่น หรืออีกชื่อที่คนพิปูนพยายามสื่อสาร นั่นคือ  “ทุเรียน 2 น้ำ”  ซึ่งมาจากน้ำฝนและน้ำพระทัย (อ่างเก็บน้ำกะทูน) หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่จะพาอำเภอพิปูนก้าวไปสู่เมืองท่องเที่ยวในอนาคตได้ นับเป็นการเล่าเรื่องที่ผสมผสานอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

            จากวรรณกรรมท้องถิ่น นิทานพื้นบ้านที่ถ่ายทอดต่อกันมา หากนำมารื้อฟื้น ต่อเติมในส่วนที่ขาดหาย สร้างเรื่องราวที่เพิ่มคุณค่าให้แก่ชุมชน ไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมโยงผู้คนกับพื้นที่เข้าด้วยกัน การหยิบยกบางประเด็นหรือตั้งข้อสังเกตบางอย่างอาจนำไปสู่การพัฒนาสังคมได้ การศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด จึงมุ่งไปที่เรื่องราววิถีชีวิตชุมชนกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากยามใดเมื่อเกลอเดือดร้อน เกลอต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะ “ความเกื้อกูล” คือ รากเหง้าของท้องถิ่น การมองย้อนกลับไปในอดีต บางทีอาจช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวในปัจจุบันมากขึ้นก็เป็นได้