Skip to content

คุณอานนท์ มีศรี ผลิตสื่อสร้างสุข กระบอกเสียงทุกเรื่องจากชุมชน ฅนต้นแบบเมืองนคร

ในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิต เชื่อมต่อผู้คนที่อยู่ไกลให้เข้าถึงกันมากขึ้น ทว่าการนำเสนอของสื่อบางสำนัก บวกกับการขาดวิจารณญาณของผู้บริโภคสื่อ กลับส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและกระทบต่อสุขภาพจิต การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว แต่บางครั้งกลับเข้าไม่ถึงกลุ่มคนที่กำลังประสบปัญหา สื่อชุมชนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เป็นสื่อที่เข้าถึงคนในพื้นที่ได้ง่ายที่สุด เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมายาวนาน เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนแสดงออกทางความคิดเห็น ผลิตสื่อสร้างสุข เป็นกระบอกเสียงทุกข์จากชุมชน คุณอานนท์ มีศรี นายกสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ นครศรีธรรมราช

หลายบทบาทหน้าที่บนเส้นทางชีวิตจากวิศวกรสู่สื่อสารมวลชน

คุณอานนท์ มีศรี เป็นคนอำเภอฉวาง นครศรีธรรมราช ช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนโตพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อระดับ ปวช.ที่กรุงเทพฯ จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเอเชีย ชีวิตวัยทำงานคุณอานนท์เล่าว่าตัวเองเป็นคนที่เปลี่ยนงานบ่อยมาก ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ขณะที่เป็นวิศวกรโปรเจ็คก็ได้ถูกทางบริษัทเลิกจ้าง ซึ่งอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว จึงตัดสินใจกลับนครศรีธรรมราช ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็ไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จ

จากนั้นจึงเบนเข็มเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่น ด้วยความที่เป็นคนที่พูดเก่ง ชอบการสื่อสาร บวกกับมีต้นทุนด้านวิศวกรรม จึงมีคนมาชักชวนให้ลงสมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผลปรากฏว่าได้รับเลือก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านชุมชน จากนั้นก็ลงสมัครการเมืองท้องถิ่นมาเรื่อยๆ ช่วงชีวิตในตอนนั้นไม่ได้ราบรื่นนัก จนมาเจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจึงตัดสินใจเลิกยุ่งเกี่ยวกับงานทางด้านการเมืองอย่างถาวร เหตุผลในตอนนั้นที่ตัดสินใจทำงานด้านบริหารเพราะต้องการเป็นกระบอกเสียง อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

ในช่วงที่เป็นสมาชิกอบต. มีโอกาสทำงานเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุ เป็นช่วงที่เริ่มทำงานด้านการสื่อสาร ต่อมาเมื่อได้มารู้จักกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  พบว่าทางสถาบันมีความต้องการคนทำงานด้านสื่อชุมชน จึงมีโอกาสได้ทำงานด้านสื่อชุมชนกับทาง พอช. สร้างเครือข่ายสื่อชุมชนให้คนทำสื่อในท้องถิ่นได้มาทำความรู้จักกัน

เจตนารมณ์ของคุณอานนท์ที่เข้ามาทำงานสื่อสารมวลชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้เรียนรู้ที่จะใช้ช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารให้เป็นประโยชน์อย่างเท่าทันและเท่าเทียม โดยส่วนตัวคุณอานนท์เชื่อว่า คนตัวเล็กๆ ทั่วไปอย่างชาวบ้านในชุมชนแทบไม่มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราว หรือแม้กระทั่งปัญหาในชุมชนของตัวเองผ่านองค์กรสื่อต่างๆ ทั้งๆ ที่สื่อเหล่านั้นอาจไม่เข้าถึงเรื่องราวที่แท้จริงหรือเข้าใจปัญหาที่ถูกถ่ายทอดออกไปด้วยซ้ำ

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเริ่มเป็นที่รู้จัก คุณอานนท์พยายามที่จะประยุกต์การใช้สื่อออนไลน์เข้ากับการจัดรายการวิทยุออนไลน์ จนเกิดการสร้างวิทยุเครือข่ายทั่วประเทศ เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ให้คุณอานนท์เข้าไปช่วยงานทางด้านสื่อ เลยใช้โอกาสนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมได้ใช้ประโยชน์จากสื่อมากขึ้น

ในตอนนั้นคุณอานนท์สนใจถึงเรื่องของสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เพราะสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิต จริยธรรมสื่อคือ เรื่องสำคัญที่สื่อมวลชนต้องคำนึง การทำงานในช่วงนั้นทำให้คุณอานนท์ได้รู้จักกับผู้คนมากมายจากหลายสาขาอาชีพ ขณะที่ตัวเองก็เริ่มเป็นที่รู้จักเช่นกัน จนสามารถสร้างเครือข่ายสื่อสร้างสุขครบ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเป็นช่องทางในการใช้ศักยภาพของสื่อชุมชนที่ไม่แพ้กับองค์กรสื่อขนาดใหญ่

สถานการณ์และการนำเสนอของสื่อในอดีตถึงปัจจุบัน

ในอดีตคนที่จะก้าวมาเป็นผู้ประกาศต้องผ่านการสอบ มีใบประกอบวิชาชีพ แต่ในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงและนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ จึงมีโอกาสสูงที่คนๆ นั้นจะบิดเบือนข้อเท็จจริง นำเสนอผ่านความคิดเห็น ใช้อคติ และความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก หากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะพูดอะไรออกไป ก็ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ชื่นชอบมักจะคล้อยตาม ในแต่ละวันมีข่าวสารเยอะแยะมากมายจากหลายช่องทาง จนบางครั้งก็ยากที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง เพราะคนที่นำเสนออาจไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณและจริยธรรม ซึ่งผลกระทบที่ตามมาอาจสร้างความเสียหายเกินกว่าที่จะรับผิดชอบไหว

แม้แต่บางคนที่เรียนมาทางด้านสื่อสารมวลชนแต่กลับไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ บางสื่อทำหน้าที่เกินขอบเขตความรับผิดชอบ หรือถูกกลืนด้วยอำนาจของคนบางกลุ่ม ทำให้สื่อสารเกินจริง (Fake news) ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือสื่อสารเนื้อหาไม่ครบถ้วนซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสื่อสารเลือกข้างโดยลงไปเล่นในสนามรบเสียเอง จากผู้ประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชนกลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ผู้บริโภคสื่อจึงได้รับข่าวสารเพียงด้านเดียว การรายงานข่าวของสื่อบางสำนักในยุคปัจจุบันจึงไม่ต่างกับการเล่าเรื่อง ที่ปราศจากการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ รายงานภายใต้สถานการณ์และข้อเท็จจริง

การสร้างจริยธรรมสื่อเพื่อสุขภาวะทางสังคม ผลิตสื่อสร้างสุข กระบอกเสียงทุกเรื่องจากชุมชน

            ช่องทางการสื่อสาร เครือข่าย เครื่องมือ และองค์ความรู้ ที่สะสมมายาวนานจากการคลุกคลีในแวดวงสื่อสารมวลชน เปิดโอกาสให้คุณอานนท์ได้แสดงเจตจำนงค์ตามที่ตั้งใจ ที่จะทำให้คนเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างจริยธรรมสื่อเพื่อสุขภาวะทางสังคม ช่วยให้ผู้คนเข้าใจการสื่อสารทางด้านสุขภาวะมากขึ้น ผ่าน “สมัชชาสุขภาพ” ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คือ เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 บทบาทของสมัชชาสุขภาพ เป็นการจัดกระบวนการเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ เป็นช่องทางในการรับฟังเสียงของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยกลไกของภาครัฐในการจัดการ

ทางด้านคุณอานนท์ที่ได้ขยายเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้ครบทุกจังหวัด ล่าสุดได้ดำเนินรายการ “ฟังเสียงประชาชน” เผยแพร่โดย สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ นครศรีธรรมราช เป็นการนำเสนอประเด็นที่ชาวบ้านมีความต้องการหรือกำลังประสบปัญหา เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  เป็นกระบอกเสียงร้องทุกข์จากชุมชน อุดรอยรั่วประสานรอยร้าว ผลักดันให้เสียงและความคิดเห็นของพวกเขาไปสู่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ที่ผ่านมาได้ใช้ช่องทางสื่อท้องถิ่นในการช่วยเหลือชุมชน หยิบประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ อย่างน้ำท่วมภาคใต้ปี 2560 เครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้  เรียกความสนใจจากองค์กรสื่อระดับประเทศให้มาทำข่าว เข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล สามารถระดมทุนในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยได้จำนวนไม่น้อย

นับเป็นเรื่องดีที่สื่อชุมชนเข้ามามีบทบาทในการสร้างการรับรู้เท่าทัน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสื่อได้อย่างเท่าเทียม เป็นกระบอกเสียงให้คนตัวเล็กๆ ในชุมชน ในฐานะของผู้บริโภคสื่อก็ต้องเลือกรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักคิดวิเคราะห์ อย่าเพิ่งด่วนสรุป เสพสื่ออย่างมีสติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพจิต ตลอดจนสร้างความตระหนักในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีคุณภาพ

ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ คุณ อานนท์ มีศรี ย้อนหลังได้ ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ