Skip to content

คุณ พรเทพ เซ่งรักษา คนต้นแบบเมืองนคร ใช้วัฒนธรรม นำการท่องเที่ยว

หากพูดในแง่ของการท่องเที่ยว เรื่องราวความเป็นมาที่ต่างกันของแต่ละสถานที่ ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน นครศรีธรรมราชเป็นอีกจังหวัดที่ผู้คนให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้มีบทบาทในการสนับสนุนและผลักดันให้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นที่รู้จัก โดยใช้วัฒนธรรม นำการท่องเที่ยว คุณ พรเทพ เซ่งรักษา ประธานชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช

จากความชื่นชอบการท่องเที่ยว สู่ประธานชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช

            ชีวิตในวัยเด็กของคุณพรเทพในตอนนั้น ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในละแวกบ้านเท่าไรนัก เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปช่วยทางบ้านทำนา เติบโตท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น หลังจากเรียนจบทางด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนของวิถีชีวิตสังคมเมืองและต่างจังหวัด จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปที่นครศรีธรรมราช และมีโอกาสได้ทำงานด้านการเมืองท้องถิ่นจนขึ้นไปถึงระดับผู้บริหาร ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีโอกาสได้มาทำงานทางด้านนี้

จนเมื่อคุณพรเทพได้พบกับปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่า ชายทะเลของอำเภอปากพนังในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ บริเวณนั้นน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่ติดตรงที่ยังไม่มีใครริเริ่ม ทั้งที่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่พร้อมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรม คุณพรเทพจึงตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งชมรมมัคคุเทศก์ และจัดกิจกรรมเรื่อยมาจนกระทั่งเจอกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง

บทบาทของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น กับการท่องเที่ยววิถีชุมชน

ชมรมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดนครศรีธรรมราช วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งนั้นเป็นงานด้านอาสา คุณพรเทพ ให้ความเห็นว่า ต้องยอมรับว่าในส่วนของมัคคุเทศก์จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังขาดความเชื่อมโยงและการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แต่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ของนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัคคุเทศก์มากเท่าไรนัก

ดังนั้นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้คือ แต่ละชุมชนต้องนำเสนอตัวเอง ส่วนในเรื่องของวัฒนธรรมความเป็นคนนครศรีฯ การที่พยายามจะสื่อไปให้คนภายนอกรับรู้ได้นั้น หากนำเสนอผ่านทางมัคคุเทศก์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการในการประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงความสนใจให้คนอื่นๆ รู้จักกับภาคการท่องเที่ยวนครศรีธรรมราชมากขึ้น

อย่างในปี 2550 เป็นช่วงที่นครศรีธรรมราชกำลังอยู่ในความสนใจอย่างมาก สาเหตุจากกระแสความดังของ “องค์จตุคามรามเทพ” (หนึ่งในวัตถุมงคลที่เคยได้รับความนิยม) ส่วนในปี 2563 นครศรีธรรมราชได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง เกิดจากผู้คนมากมายที่ศรัทธา “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” ต่างแวะกันไปไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณพรเทพมองว่านี่ไม่ใช่แก่นแท้จริง และมักจะบอกกับทางมัคคุเทศน์ว่าให้แนะนำนักท่องเที่ยวไปกราบสักการะบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ศาสนสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย

เชื่อมโยงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว

คุณพรเทพ ให้ความเห็นว่า มีเพียงมัคคุเทศก์ไม่กี่คนเท่านั้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราช แม้แต่ตัวคุณพรเทพเองก็มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากเช่นกัน คุณพรเทพ มองว่า ผู้ประกอบการ หน่วยงานเอกชน และภาครัฐควรส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะแต่ละคนได้รับความรู้จากแหล่งที่มาต่างกัน เมื่อนำเสนอสู่นักท่องเที่ยวกลายเป็นว่าไม่รู้จะเชื่อใครดี จึงควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องแยกให้ออกว่าอันไหนคือเรื่องเล่า อันไหนคือเรื่องจริงที่มีหลักฐานอ้างอิง

แม้คุณพรเทพไม่สันทัดด้านศิลปะการแสดงของภาคใต้ แต่ด้วยสายเลือดของชาวใต้จึงมีความชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อยากที่จะส่งเสริมเยาวชน เพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทำและดำรงตนในทางที่ถูกต้อง ที่ผ่านมามีการพาเด็กๆ ไปแข่งขันประกวดร้องเพลงตามรายการทีวีชื่อดัง มีการจัดตั้งชมรมเยาวชนคนลุ่มน้ำ เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เช่น เพลงบอก เพลงร้องเรือ โนราห์ รวมทั้งสอนร้องเพลง เมื่อใดก็ตามที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ทางชมรมจะนำการแสดงของเด็กๆ และเยาวชนไปโชว์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงวัฒนธรรมภาคใต้ อย่างพิธีแห่หมรับ งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบเมืองนคร งานแห่ผ้าขึ้นธาตุ ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณพรเทพ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านหลากหลายอาชีพ เป็นการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน

การปรับตัวด้านการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตโควิด-19

โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นโครงการของภาครัฐเพื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จัก และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน อย่างชุมชนวัดศรีสมบูรณ์หรือบ้านหอยราก เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งผลิตขนมลา ทางคุณพรเทพอยากที่จะชาวบ้านหยิบเอาวัตถุดิบอื่นๆ ในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็นอาหาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริม ในช่วงวิกฤตโควิด เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ไม่เกิดการใช้จ่ายขึ้น สินค้าท้องถิ่นที่สามารถจัดส่งได้จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ โดยใส่เรื่องราวลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เพราะนครศรีธรรมราชขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งวัฒนธรรมทางอาหาร คุณพรเทพ เล่าว่า ช่วงแรกที่ทำก็เจอกับปัญหาเช่นกัน แต่อยากให้ชาวบ้านมองว่าเราสามารถนำเอาเรื่องใกล้ตัวมาสร้างเป็นรายได้ไม่มากก็น้อย

แม้รูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง ในฐานะเจ้าบ้านนอกจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแล้ว สามารถนำเสนอเอกลักษณ์ชุมชน อาหารขึ้นชื่อที่ไม่ควรพลาด ของดีประจำถิ่นควบคู่กันไปด้วย เพื่อดึงความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวให้อยากแวะมาสักครั้ง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยกันสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ