Skip to content

คุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ คนต้นแบบเมืองนคร

เราสามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้างกับผืนดินที่เรามีอยู่? เราสามารถพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นได้จากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่? สิ่งที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้ลงมือทำ โดยยึดมั่นในหลักการทำงานที่ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องเข้าไปคลุกคลี เรียนรู้ด้วยตัวเอง และทำงานให้เป็นทุกอย่าง เปลี่ยนจากผืนดินอันว่างเปล่าให้กลายเป็นนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ เกิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มชาว นา ณ คอน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคำตอบที่แทบไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เชิญทุกท่านทำความรู้จักกับคุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกฝืนผืนนาร้าง สร้างนารักษ์

จากงานสายวิชาการ มุ่งหน้าสู่งานเกษตรอินทรีย์

คุณสหธัญ เกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นกำนัน อาชีพหลักของทางบ้านคือ ทำนา ชีวิตในวัยเด็กของคุณสหธัญ จึงคุ้นชินกับการทำนา ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว อย่างในช่วงวันหยุดมักจะวิ่งเล่นตามท้องนา จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทางบ้านจึงเลิกทำนาไปในที่สุด แต่ยังคงมีเครือญาติที่ทำอาชีพนี้อยู่ คุณสหธัญเล่าว่า แม้จะคลุกคลีอยู่กับท้องนาตั้งแต่เด็ก โดยส่วนตัวนั้นไม่ชอบอาชีพนี้สักเท่าไหร่ เพราะมีความคิดว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้วเหนื่อยมาก เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน คุณสหธัญมีโอกาสได้ทำงานกับนักวิชาการ จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท แต่ยังไม่ทันจะได้เรียน ก็มีโอกาสได้ทำงานเป็นเลขานุการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นงานที่คุณสหธัญไม่คาดฝันว่าจะมีโอกาสได้ทำ ในขณะที่ทำงานคุณสหธัญได้แบ่งเวลาไปเรียนทางด้านสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควบคู่ไปด้วย จากนั้นได้เข้าทำงานฝ่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้รับโอกาสชักชวนให้ไปทำงานกับทางเทศบาล บริหารจัดการด้านศูนย์การเรียนรู้กับโจทย์ “แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตสำหรับเยาวชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช” และต้องผลักดันให้หน่วยงานนี้มีที่ยืนในระดับประเทศไปจนถึงนานาชาติ

ในปีแรกถือเป็นช่วงที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทีมงานและทางเทศบาล เมื่อเข้าสู่ปีที่สองเริ่มมีเครือข่ายจากกรุงเทพฯ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งคุณสหธัญเป็นผู้ติดต่อประสานงาน จนเข้าสู่ปีที่ 3 เริ่มมีหน่วยงานจากนานาชาติเข้ามาร่วมทำกิจกรรม เมื่อโครงการบรรลุผลตามเป้าหมาย คุณสหธัญตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาดูแลสวนยางของตัวเอง ด้วยเวลาที่ว่างมากขึ้นก็เริ่มหาพืชพันธุ์มาปลูกแสมในสวนยาง ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ต้นจำปาทอง ต้นตะเคียน ต้นมะฮอกกานี การปลูกต้นไม้ทำให้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน ปุ๋ยหมัก วัสดุคลุมดิน คุณสหธัญจึงเกิดไอเดียว่าน่าจะทำนาเพื่อต้องการนำฟางมาใช้สำหรับทำปุ๋ย เริ่มจากพื้นที่ขนาด 5 ไร่ ปลูกข้าวสังข์หยด เมื่อเพื่อนทราบข่าวว่าทำนาจึงขอสั่งจองล่วงหน้า ปรากฏว่าข้าวสารล็อตแรกขายหมดเกลี้ยง จากเดิมที่ต้องการแค่ฟาง เป้าหมายจึงเปลี่ยนไปที่การปลูกข้าวให้ได้คุณภาพ จึงขยายพื้นที่ทำนาจาก 5 ไร่เป็น 20 ไร่ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ทั้งหมด ในขณะที่การปลูกข้าวของคุณสหธัญเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ ผืนนาบริเวณโดยรอบที่ให้คนอื่นเช่านั้นใช้สารเคมี แน่นอนว่าสารเคมีนั้นปนเปื้อนไปยังดินและน้ำ คุณสหธัญจึงตัดสินใจทำนาในพื้นที่ตัวเองทั้งหมด 50 ไร่โดยไม่ให้ใครเช่า เพราะต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีก็สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้

ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการแรกและลงมือทำให้เป็น

คุณสหธัญศึกษาและเรียนรู้การทำนาผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่เตรียมเมล็ดข้าว เตรียมดิน การหว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย การดูแล และเก็บเกี่ยว การทำนาปลอดสารเคมีในแบบของคุณสหธัญ เรียกได้ว่าอาศัยสารพัดวิธี มีทั้งการหว่านถั่วเขียว แล้วรอให้งอกขึ้นมาพร้อมข้าว ธรรมชาติของถั่วเขียวนั้นไม่ทนต่อสภาพที่มีน้ำขัง ถั่วเขียวที่ตายก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าว เป็นแหล่งไนโตรเจนที่ดี มีการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ใช้มูลสัตว์เท่าที่มีในท้องถิ่น ในส่วนของศัตรูพืชใช้วิธีจ้างคนมาถอนหญ้า แต่ละปัญหาที่เจอล้วนมีเทคนิคในการแก้ไข ส่วนตัวคุณสหธัญต้องการทำนาโดยรักษาผืนดินให้อยู่ในสภาพที่ดี ทำนาโดยไม่ทำลายดิน จำนวนผลผลิตเป็นคำตอบให้กับชาวบ้านว่าแม้ไม่ใช้สารเคมีก็สามารถได้ผลผลิตตามที่คาดหวังได้ คุณสหธัญขายข้าวกล้องไม่ได้ส่งโรงสี มีโรงสีในเครือข่าย บรรจุภัณฑ์สวยงาม สามารถมอบให้เป็นของขวัญได้ จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร

สำหรับแนวคิดแบบเกษตรเชิงพานิชย์ของคุณสหธัญ เริ่มจากทำนา 50 ไร่แล้วประสบความสำเร็จ จึงขยับขยายพื้นที่ไปจนถึง 1,700 ไร่ (รวมเครือข่าย) คุณสหธัญเล่าว่า แม้ขนาดของพื้นที่ต่างกัน แต่ใช้ระยะเวลาในการทำนาไม่ต่างกัน ใช้เครื่องจักรชุดเดียวกันไม่ว่าข้าวจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูก 4-5 เดือน ดังนั้นหากทำน้อยจะเสียเปรียบ หากทำมากเราได้เปรียบ การจะส่งข้าวสารเข้าโรงสีได้ก็ต้องมีผลผลิตอย่างน้อย 50 ตัน ซึ่งการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายช่วยให้ชาวนาคนอื่นๆ แม้มีพื้นที่ทำนาแค่ไม่กี่ไร่ก็สามารถมีอำนาจในการต่อรองกับโรงสีได้ ในส่วนของการควบคุมคุณภาพ คุณสหธัญเป็นผู้ควบคุมกระบวนการผลิตเอง ช่วยจัดการและประสานงานทุกอย่าง เมื่อแต่ละแปลงเริ่มอยู่ตัวแล้ว คุณสหธัญก็เริ่มมองหาที่ดินรกร้างเพื่อสร้างประโยชน์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “พลิกนาร้าง สร้างนารักษ์” โครงการที่ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวเมล็ดฝ้าย ข้าวเล็บนก ข้าวช่อหลุมพี ข้าวไข่มดริ้น และยังเป็นการช่วยพลิกฟิ้นผืนนาที่รกร้างให้กลับมาเป็นผืนนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ได้

ผืนนา ณ เมืองคอนเป็นตัวแทนของภาคการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แสดงให้เห็นว่าหากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน เรื่องที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็สามารถทำให้เป็นไปได้และเป็นไปได้ด้วยดี เริ่มต้นจากการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนเกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของเกษตรกร เพื่ออนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพลิกฟื้นพื้นแผ่นดินบ้านเกิดให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะการทำนาไม่ใช่แค่การเรียนรู้ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้การพัฒนาชุมชนและสังคมเช่นกัน เมื่อชุมชนแข็งแกร่งก็จะนำมาซึ่งความสุขของคนในชุมชนนั่นเอง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ