มือใหม่ หัดขายออนไลน์ด้วย Line marketing: เริ่มทำการตลาดใน line OA ต้องทำอย่างไร

ต้องยอมรับว่าการขายสินค้าออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ร้านค้าสามารถสร้างยอดขายได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งรวมไปถึงแบรนด์ธุรกิจต่าง ๆ ครับ แต่แม้ว่าโลกออนไลน์จะการันตียอดขายและรายได้ให้กับธุรกิจได้จริง แต่ทว่าหากคุณไม่ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับผู้อื่นก็อาจจะยากขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะค้าขายออนไลน์คุณจำเป็นที่จะต้องสร้างตัวตนและรู้วิธีการทำการตลาดออนไลน์เสียก่อน สำหรับบทความนี้เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์ในช่องทางของ Line OA ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำการตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักครับ ถ้าพร้อมแล้วเรามาเรียนรู้ไปพร้อม ๆกันเลย

ทำไม Line OA จึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจในการทำการตลาดออนไลน์

โค้ชแชมป์ ปรีดี โรจน์ภิญโญ

“คุณปรีดี โรจน์ภิญโญ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ โค้ชแชมป์” ผู้เชี่ยวชาญในการทำการตลาดออนไลน์ในแพลตฟอร์มอย่าง Line OAได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ในประเทศไทยคนไทยนิยมใช้แอพพลิเคชั่น Line กันเป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบันพบว่ามีบัญชีผู้ใช้งานถึงกว่า 47 ล้านบัญชี และพบว่าคนไทยใช้ไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารในชีวิตประจำวันครับ และที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การทำการตลาดใน Line OA มีความน่าสนใจก็คือ ไลน์เป็นแอพพลิเคชันทางโซเชี่ยลมีเดียชนิดเดียวเท่านั้นที่คุณสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ด้วยการสื่อสารเพียงครั้งเดียว และยังใช้ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนักครับ นี่จึงเป็นความน่าสนใจของบรรดาร้านค้าหรือเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆให้หันมาสนใจทำการตลาดออนไลน์บน Line OA กันมากขึ้น

4 เทคนิคการทำการตลาดออนไลน์เบื้องต้นบน Line OA

สำหรับเทคนิคที่น่าสนใจในการทำการตลาดออนไลน์บน Line OA โค้ชแชมป์ได้สรุปไว้เป็นแนวทางที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1.การสร้าง

การสร้างในที่นี้หมายถึงการสร้างบัญชี Line OA เพื่อเริ่มต้นการใช้งานนั่นเอง ซึ่งโค้ชแชมป์ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้งาน Line OA ไว้ดังนี้

เหตุที่เราต้องใช้ Line OA ก็เพราะการที่เราจะสร้างยอดขายให้เกิดขึ้นได้เราจำเป็นต้องหาลูกค้าใหม่เข้ามาเรื่อย ๆจึงจะมียอดขายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่หากเราต้องการความยั่งยืน “ลูกค้าเก่า” คือคำตอบที่คุณต้องการ แล้วช่องทางเดียวที่เราจะสามารถคุยกับลูกค้าเก่าได้ก็คือช่องทางใน Line OA โดย Line OA จะช่วยให้เราประชาสัมพันธ์ได้ง่ายด้วยฟังก์ชั่นการ broadcast ที่จะทำให้เราสื่อสารถึงคนหมู่มากด้วยการส่งข้อความเพียงครั้งเดียว และเรายังสามารถพูดคุยกับลูกค้าได้โดยตรงได้นี่ก็คือข้อดีของLine OA ที่โซเชี่ยลอื่นไม่มี 

2.การชวน

การชวนก็คือการเชื้อเชิญให้ลูกค้าเข้ามาติดตามบัญชี Line OA ของเราโดยลูกค้าที่เข้ามาติดตามสามารถสั่งซื้อสินค้าที่เขาต้องการรวมไปถึงการพูดคุยกับคุณผ่านช่องทางนี้ได้ครับ โดยการเชิญชวนให้คนเข้ามาติดตาม Line OA มีวิธีการชวน 2 แบบดังนี้

  • ใช้การชวนโดยการกดลิ้งค์
  • ใช้กลยุทธ์ในการชวนว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาติดตามร้านเรา

กลยุทธ์ในการเชิญชวนให้คนเข้ามาติดตามใน Line OA

กลยุทธ์ในการนำคนเข้ามาให้ติดตาม Line OA ที่โค้ชแชมป์แนะนำก็คือ “เราต้องบอกสิ่งที่เขาจะได้ว่าเมื่อเขาเข้ามาติดตามเราผ่านช่องทาง Line OA แล้วเขาจะได้อะไรจากเรา” โดยข้อเสนอที่น่าสนใจที่จะดึงดูดให้คนมาติดตามเราได้มากขึ้นอาจจะเป็นโปรโมชั่นต่าง ๆที่ลูกค้าจะได้รับที่ไม่มีในช่องทางอื่น เป็นการนำเสนอคุณค่าให้แก่พวกเขาวิธีการหนึ่งครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่โค้ชแชมป์แนะนำก็คือ อย่าไปให้ความสำคัญกับปริมาณของผู้ติดตามแต่ให้คัดเลือกเอาเฉพาะผู้ที่สนใจและต้องการที่จะซื้อสินค้าของเราจริง ๆเท่านั้น อย่าสนใจแต่เพียงจำนวนแต่ให้คำนึงถึงคุณภาพด้วย จากนั้นก็ค่อย ๆทะยอยย้ายลูกค้าเข้ามาแล้วเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครับ

แต่ถ้าเป็นลูกค้าใหม่ เขาอาจไม่ได้อินกับสินค้าของเรามากนัก เราจำเป็นต้องกระตุ้นความอยากรู้โดยให้ดึงพวกเขาเข้าไปดูรายละเอียดใน Line OA หรือใช้การจัดโปรโมชั่นใน Line OA มาช่วยสร้างความน่าสนใจ และเมื่อพวกเขามาอยู่ใน Line OA แล้วก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะประชาสัมพันธ์ครับ

ในบางกรณีเราต้องถามตัวเองว่าลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าของเราเพราะอะไร เราสามารถขายสินค้าในเชิงคุณค่าด้านอื่น ๆได้หรือไม่ เช่นเอาไปเป็นของฝาก ถ้าทำเช่นนี้ได้เราจะขายสินค้าให้กับลูกค้าได้เรื่อย ๆ ในทุกเทศกาล

2.การใช้

การใช้ในที่นี้ก็คือการใช้งาน Line OA ในการทำการตลาด ซึ่งวิธีการที่ใช่ก็คือการ broadcast ครับ โดยหากจะให้อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือการประชาสัมพันธ์ในทำนองเดียวกับที่เราฟังข่าวสารตามช่องทางต่าง เชานสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์นั่นเอง แต่สำหรับการ broadcast ในช่องทาง Line OA คือการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของแชทร้านค้าที่จะส่งถึงผู้ติดตามทั้งหมดที่ติดตามคุณครับ จุดเด่นที่ทำให้การประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Line OA มีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารในข่องทางโซเชี่ยลอื่น ๆก็คือการที่คุณสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างง่ายดายด้วยการ broadcast เพียงครั้งเดียวซึ่งโซเชี่ยลมีเดียอื่น ๆทำไม่ได้ครับ

ส่วนค่าบริการในการ broadcast นั้น ทาง Line OA จะคิดค่าบริการในอัตรา 4 สตางค์ต่อ 1 ข้อความ และมีบริการฟรีให้เดือนละ 1,000 ข้อความ ส่วนวิธีการคิดจำนวนครั้งก็คือหากคุณมีผู้ติดตาม 1,000 คน และคุณ broadcast เรื่องใดเรื่องหนึ่งไปหาพวกเขาทั้งหมดก็คือจำนวนข้อความ 1,000 ข้อความครับ และถ้าเกือนนั้นคุณจะ broadcast เรื่องอื่นให้พวกเขาอีกจึงจะเริ่มคิดค่าบริการในอัตราที่กำหนดนั่นเอง

4.การเก็บข้อมูล

การเก็บข้อมูลของลูกค้ามีผลต่อการขายสินค้าออนไลน์อย่างคาดไม่ถึงครับ โดยทาง Line OA มีวิธีการจัดเก็บข้อมูลจองลูกค้าอย่างง่าย ๆไว้ให้บริการเราโดยการใช้ แท็กซึ่งเป็นเสมือนลาเบลที่เราจะสามารถระบุข้อมูลของลูกค้าได้เลยว่าลูกค้าแต่ละรายเคยซื้อสินค้าอะไรกับเราบ้าง เพื่อให้เราสามารถนำเสนอข้อเสนอที่โดนใจพวกเขามากขึ้นสำหรับการซื้อสินค้าในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งจะไปเพิ่มความประทับใจให้แก่พวกเขาได้ครับเพราะเขาจะรู้สึกว่าคุณจำพวกเขาได้และเข้าใจความต้องหารของเขา และมีโอกาสที่พวกเขาจะไปบอกต่อแบบปากต่อปากทำให้เราก็จะได้ลูกค้าเพิ่มโกยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากนี้เรายังสามารถดูประวัติการพูดคุยใน Line OA ได้ เพื่อดูพฤติกรรมในการซื้อของลูกค้าครับ

นอกจากนี้ใน Line OA ยังมีฟังก์ชั่นโน้ต ที่จะช่วยบันทึกข้อมูลทั่วไปของลูกค้าได้  โดยเราสามารถเก็บข้อมูลของพวกเขาเช่นชื่อ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความประทับใจได้เพราะลูกค้าจะรู้สึกว่าเราจำเขาได้นั่นเอง ยิ่งคุณเก็บข้อมูลฐานลูกค้าไปเรื่อย ๆและดูแลพวกเขาดีเป็นอย่างดี คุณจะได้ยอดขายเพิ่มโดยไม่ต้องเสียค่าการตลาดเพิ่มเลย และหากคุณออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา ลูกค้าเก่าจะมาซื้อเพราะความเชื่อใจต่อตัวคุณครับ

เทคนิคการใช้ฐานข้อมูลของลูกค้าโดยการทำ Cross sale

Cross sale คือการแลกเปลี่ยนฐานลูกค้าระหว่างกันของร้านค้าหรือแบรนด์ 2 แบรนด์ เมื่อคุณเริ่มมีลูกค้าเก่ามากขึ้น คุณสามารถสร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างคุณกับแบรนด์อื่น ๆโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลฐานลูกค้าที่คุณทั้ง 2 ต่างก็มีได้ครับแทนที่คุณจะมาคอยมองหาลูกค้าใหม่ ๆ เราสามารถแลกกลุ่มลูกค้าระหว่างกันได้โดยตรง ซึ่งอาจนำสินค้าจากร้านพันธมิตรมาขายในร้านของเรา เราก็จะได้สินค้าใหม่ ๆ มาขาย โดยร้านที่เป็นพันธมิตรก็ได้ออเดอร์ ได้ลูกค้าเพิ่ม สำหรับลูกค้าก็จะได้ซื้อสินค้าใหม่ ๆ จากร้านที่เขามั่นใจครับ

จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วยการลงมือทำเท่านั้นครับ อย่ากลัวที่จะลงมือทำเพราะไม่มีใครหรอกที่จะประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงมือทำหรือไม่เคยล้มเหลวมาก่อน เรียนรู้สิ่งที่ทำและปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด การลงมือทำเป็นก้าวแรกเสมอก่อนที่เราถึงจะเติบโตและประสบความสำเร็จในที่สุด

ติดตาม Live สดรายการ “ช่องทางสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้” ทางแฟนเพจ nakhonsi station ที่นี่นครศรีธรรมราช ทุกคืนวันอังคาร เวลา 19.30-20.30 น.

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

 

ดูเหมือนว่า “ลิกอร์” จะไม่ใช่ชื่อของนครศรีธรรมราชในภาษาโปรตุเกส

ลิกอร์

ลิกอร์ ไม่ใช่ชื่อที่ชาวโปรตุเกสบัญญัติเรียกเมืองนครศรีธรรมราชด้วยเหตุว่าลิ้นแข็งพูดคำว่านครไม่ได้ 
.
แต่คือชื่อแท้ดั้งเดิมภาษาพื้นเมือง ที่ชาวมลายูเรากำหนดชี้ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ สงบ สง่า มั่งคั่ง และยิ่งใหญ่ไว้ประหนึ่งคือไข่แดงของคาบสมุทร
.
ชื่อนี้จึงยังมีเรียก มีใช้ในพี่น้องมุสลิมเป็นปกติ ผมได้ยินครั้งแรกจากนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชชาวมุสลิม เมื่อครั้งไปเยี่ยมคารวะในวันเข้ามารับตำแหน่งใหม่ และคุ้นหูบ่อยขึ้นเป็นคำตอบจากใครๆ ผู้รู้ภาษามลายูเมื่อพยายามถามว่านครศรีธรรมราชนี้ ท่านเรียกว่าอย่างไร ?
.
ด้วยว่า “เลอกอห์” ที่ออกเสียงตามสำเนียงแขกนี้ มีทั้งคำแปลและความหมาย อาการโพล้งเอาว่าคำนี้เพี้ยนมาจากคำนั้นเพื่อลากเข้าความของชื่อบ้านนามเมืองเรา ทั้งชื่อนี้และอีกหลายชื่อจึงควรคลี่คลายด้วยการตั้งคำถามก่อนจะ(สรุปว่า)เพี้ยนเป็นอื่นว่า เป็นภาษาอะไร ? แปลว่าอะไร ? ให้ความหมายอย่างไร ? สอดคล้องกับบริบทอะไรในพื้นที่ ?
.
การที่ “เลอกอห์” ยังคงตกค้างทั้งชื่อและความหมายอยู่กับชาวมุสลิมนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวโปรตุเกสกับชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกลุ่ม
.
เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วแต่โบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคเดียวกันกับที่โปรตุเกสเข้ามา หลักฐานมีปรากฏชัดด้วยตำแหน่ง “พระยาราชบังสัน” ตำแหน่งแม่ทัพเรือรวมถึงความเชี่ยวชาญในทางทะเลนั้น เราต่างยกย่องเชื่อถือผู้มีเชื้อสายอิสลาม

บรรยากาศยามเช้าที่ปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช

จึงไม่แปลกที่ชาวโปรตุเกสจะได้ยินชื่อนี้จากชาวเลพื้นถิ่นผู้ชำนาญร่องน้ำและเกาะแก่ง ก่อนจะจดแจ้งลงในแผนที่ แล้วมามีความเข้าใจด้วยว่าเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรในครอบครองว่าผู้เขียนคือผู้บัญญัติ ทั้งที่แท้ก็ได้ยินได้ฟังมาจากชาวเรานั่นแลฯ

ฅนต้นแบบเมืองนคร คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา

            ปากพนัง เมืองแห่งวิถีชีวิตชาวประมง อดีตเมืองท่าที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของความเจริญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ปากพนังถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกตามลำน้ำปากพนังที่ไหลผ่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและเป็นเส้นทางคมนาคม เมื่อความรุ่งเรืองในอดีตค่อยๆ เลือนลางสวนทางกับเวลาที่ดำเนินไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเศษเสี้ยวหนึ่งในอดีตยังคงหลงเหลืออยู่  และควรค่าแก่การอนุรักษ์ อยากที่จะทำบางอย่างเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการมูลนิธินครอาสา กับงานต้นแบบ “นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง”

จากร่องรอยในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงยุคเฟื่องฟูของลุ่มน้ำปากพนัง

            ในอดีตลุ่มน้ำปากพนัง มีความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรม เป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ แต่เดิม “ลุ่มน้ำปากพนัง” ประกอบด้วย 7 อำเภอ คือ ปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ จุฬาภรณ์ และร่อนพิบูลย์ กลุ่มลุ่มน้ำปากพนังใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตอำเภอวังอ่าง อำเภอชะอวด ไหลผ่านอำเภอเชียรใหญ่ อ.ปากพนัง ลงสู่อ่าวไทยบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง แหลมตะลุมพุก เป็นบริเวณที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ

นักเดินเรือมักจะเดินทางหลบคลื่นลมทะเลอยู่บริเวณหมู่เกาะกระ ก่อนจะเทียบท่าที่ปากพนัง หนึ่งในคู่ค้าสำคัญของนครศรีธรรมราชคือ ชาวจีน ที่ไม่เพียงมีบทบาททางการค้าเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนหลายแห่งในเมืองนคร ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้ ร่องรอยเรื่องราวต่างๆ ของเหตุการณ์ในอดีต ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีสมบูรณ์ (วัดหอยราก พ่อท่านเจิม)  อีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงยุคทำนาข้าวอันรุ่งโรจน์ของปากพนังคือ โรงสีข้าว (โรงสีไฟ) จำนวนมากถึง 14 โรง  “โรงสีเตาเส็ง” เป็นโรงสีแรกของ​ปากพนัง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเปิดกิจการ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448  

เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดวิถีชีวิตมนุษย์

            ไม่มีอะไรยั่งยืนและคงอยู่ได้ตลอดไป ในอดีตที่ครั้งหนึ่ง พื้นที่แห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งโรจน์มาก ผลผลิตข้าวในอำเภอนี้เคยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ สร้างรายได้จำนวนมาก เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคสมัย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปตามเช่นกัน กิจการโรงสีไฟที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เหลือเพียงซากปล่องไฟที่ตั้งตระหง่านไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจ

ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งของลุ่มน้ำปากพนัง อยู่บริเวณปากอ่าวของแหลมตะลุมพุก ทำให้มีน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไป พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของปากพนังที่เคยปลูกข้าวได้จึงได้รับผลกระทบ เปลี่ยนสภาพไปเป็นนากุ้ง จนเกิดเป็นยุคที่การทำนากุ้งเฟื่องฟู แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่หันไปประกอบอาชีพทำการประมง จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์มีพระราชดำริในการสร้างประตูระบายน้ำ “โครงการอุทกวิภาชประสิทธิ” เพื่อช่วยเหลือบรรเทา ความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำให้ความเจริญรุ่งเรืองเกี่ยวกับการทำเกษตรเริ่มกลับมา

แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำมูลนิธินครอาสา

            คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ลูกหลานชาวนคร อ.ปากพนัง ซึมซับการทำงานสายการเมืองและจิตอาสามาจากบิดาที่เคยเป็นอดีตเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง หลังจากจบการศึกษาในวัย 25 ปี ได้มีโอกาสเข้าสู่การเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปากพนัง จากนั้นได้ขึ้นมาเป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมืองหลายสิบปี นอกจากมุมการเมือง อีกมุมหนึ่งคุณนนทิวรรธน์ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา  ที่ผ่านมาได้ทำหลากหลายกิจกรรมร่วมกับชาวนครศรีฯ ทั้งกิจกรรมทางพุทธศาสนาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น 

            มูลนิธินครอาสา ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2557 โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวในพื้นที่ตลาดปากพนัง เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อความกินดีอยู่ดีของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ในช่วงที่กระแสการปั่นจักรยานกำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ทางมูลนิธิได้จัดกิจกรรม “ปั่นจักรยานบ้านพ่อ สู่อ้อมกอดแม่” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เมืองปากพนัง กิจกรรมนี้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557  และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ยกเว้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19    

งานต้นแบบ นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง

            คุณนนทิวรรธน์ได้นำเอาคำสอนตามหลักศาสนาพุทธที่ตัวเองนับถือ มาเป็นตัวตั้งในการดำเนินชีวิตและการทำงาน อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างฐานความสุขจากการประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเอง อยากเห็นนครศรีธรรมราชเป็นนครเกษตรกรรม เพราะลุ่มน้ำปากพนังที่มีพื้นที่ในการทำเกษตร ปัจจุบันมีการปลูกข้าวกันเยอะขึ้น มีข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ ในอดีตเกษตรกรมีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่จะใช้ในการพัฒนาแปลงเกษตร แต่ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อย่างที่อำเภอหัวไทร เกษตรกรใช้โดรนในการฉีดพ่นยาแทนการใช้แรงงานคน ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะยาว และลดการสูญเสียผลผลิต อย่างส้มโอทับทิมสยาม อีกหนึ่งความภูมิใจของคนลุ่มน้ำปากพนัง แม้ไม่ใช่พันธุ์ส้มโอดั้งเดิมในพื้นที่อำเภอปากพนัง  แต่ก็กลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

            เมื่อเรามองย้อนไปในอดีตก็จะเจอร่องรอยที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้ เรื่องราวของชาวลุ่มน้ำปากพนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ต้องปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แม้ในช่วงที่เผชิญปัญหา แต่เมื่อได้รับการแก้ไข และเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงเป็นการสร้างฐานความมั่นคงต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ยังเป็นการสร้างฐานความสุขให้กับตัวเองและชุมชนเช่นกัน  

วันนี้ วันพระ ชวนมาดูภาพวันพระ เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ของเมืองนครศรีธรรมราช

วันพระ ภาพเก่า

“…ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ
คือมนุษยสมบัติ แลสวรรค์สมบัติ
มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นแล…”

จากคำอุทิศถวายทองคำหุ้มยอดพระบรมธาตุเจดีย์ ของเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัด) กับทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ (นวล) พระนัดดาในพระเจ้านครศรีธรรมราชกับหม่อมทองเหนี่ยวนี้ ทำให้เห็นความวิริยะในการจะเข้าถึงเป้าหมายของพระพุทธศาสนาที่สำคัญสุดนั่นคือ “พระนิพพาน”

พระนิพพานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นจุดหมายปลายทางของพุทธบริษัทที่จะว่าไกลก็ไกล ใกล้ก็ใกล้ เว้นแต่พระบรมศาสดาแล้ว บรรดาพุทธศาสนิกชนจะถึงได้ก็ด้วยอาศัยพระธรรมเป็นผู้ชี้ทาง

สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชเรา ได้อาศัยเอาพระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่พึ่งเสมือนตัวแทนแห่งพระบรมศาสดามานานนักหนาแล้ว อย่างน้อยก็ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ จึงจะขออ้างเอาเพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ ของพระยาตรังคภูมาภิบาล กวีชาวนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นขึ้นสักบทหนึ่ง ความว่า

“งามบัลลังก์ทรงองค์พระเจดีย์
ไม่วายเว้นแสงพระสุรีย์ส่อง
สูงสามสิบเจ็ดวายอดหุ้มทอง
ดั่งชี้ห้องสุราลัยให้ฝูงชน”

ตรงคำว่า “ห้องสุราลัย” นี้เอง ที่อาจจะคือห้องเดียวกันกับ “พระนิพพาน” ซึ่งอาการเรียวแหลมประหนึ่งปลายลูกศรขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้เอง เฝ้าชี้ทางชี้มรรคแก่ชาวเมืองนครอยู่ตาปีตาชาติ

จึงไม่แปลกที่บรรพบุรุษจะศรัทธาซาบซึ้งว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์คือพระบรมศาสดา เพราะ โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเราตถาคต

ภาพนี้ ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ชาวฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เป็นบรรยากาศการฟังธรรมของชาวนครศรีธรรมราชในวันพระหนึ่งไม่ทราบข้างและเดือน แต่พอจะสังเกตจากบริบทแวดล้อมได้ว่าเป็นมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระวิหารโพธิ์ลังกา

นอกจากนี้ จะขอชวนมาดูบรรยากาศวันพระเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วด้วยภาพดังกล่าว โดยขอชี้จุดให้สังเกตเป็นข้อๆ ไป ดังนี้

๑. พระเจดีย์รายเปลือย
๒. พระเจดีย์รายทรงระฆังคว่ำ(ลังกา) อย่างสุโขทัย
๓. พระเจดีย์องค์ใหญ่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันพังเหลือแต่ฐานเขียงแล้วสร้างจำลองขึ้นใหม่)
๔. วิหารศาลาโล่ง
๕. พระสงฆ์ ธรรมาสน์และพานบูชากัณฑ์เทศน์
๖. จารีตการฟังธรรมของชาวนคร
๗. การแต่งกาย (เข้าวัด) ของชาวนครในสมัย ร.๖
๘. พระพุทธรูปรายผนัง
๙. ปลายนิ้วพระบาทพระนอนประจำพระวิหาร

การเข้าวัดฟังธรรม เป็นปกติวิสัยของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เมืองพระ” ในแต่ละท้องถิ่นแห่งที่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แยกย่อยออกต่างกัน จะมากน้อยก็ด้วยการเลือกรับและคติความเชื่อดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ อย่าง “ในพระ” ที่หมายถึงบริเวณโดยรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีธรรมเนียมการ “สวดด้าน” หรือ “สวดหนังสือ” กันในพระวิหารพระระเบียง เป็นต้นฯ

มือใหม่เริ่มขายออนไลน์ Lazada #ช่องทางสร้างอาชีพเพิ่มรายได้

 

แนะนำเคล็ดลับขายดีบน Lazada จากพี่เฟรนด์ อรรถพล กิตติธรรมสาร ผู้แต่งหนังสือ กลยุทธ์และวิธีขาย ให้รวยได้จริงที่ Lazada

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 19.30-20.30 น.

จัดโดย เพจ Nakhonsi Station ที่นี่ นครศรีธรรมราช

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=327144705570209&id=101902355344480

Lazada มี 2 ระบบ

1) Lazada.co.th สำหรับคนเข้ามาซื้อของ

2) Seller Center สำหรับผู้ขายสินค้า

1. การสมัคร พิมพ์ใน Google ว่า “สมัคร Lazada” เพื่อเข้าสู่หน้าสมัคร หลังจากนั้นดำเนินตามขั้นตอนการสมัคร ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

2. การตั้งชื่อร้าน

ควรเป็นคำค้นที่หาง่ายๆ ใช้ชื่อร้านสั้นๆ ชื่อร้านมีผลต่อการออกแบบโลโก้หรือตราสินค้าให้ลูกค้าจดจำง่ายๆ ต้องคิดเสมอว่าลูกค้าค้นหาคำอะไร เช่น อาหารทะเลสด ควรใช้ อาหารทะเลแห้งหรอย ปลาหมึกแห้ง 100 กรัม

3. รูปสินค้า ต้องมีบรรจุภัณฑ์สวยๆ ใส่โลโก้เข้าไป จัดวางสินค้าแล้วถ่ายรูปชัดๆ ให้มีแสงส่องสินค้า

4. ควรใส่ข้อความโปรโมชั่นที่เน้นส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นให้ตัดสินใจขาย เช่น ซื้อตอนนี้ ลด….บาท/ ซื้อ 2 แถม 1/
ถ้าซื้อ 2 ชิ้น ลดอีก 5% / ซื้อ 5 ชิ้น ส่งฟรี เป็นต้น

5. ใส่ข้อความชวนให้ดูน่าซื้อ

6. เมื่อเริ่มขายแล้ว ต้องพยายามทำให้ลูกค้ากดดู และกดซื้อ จนติดใจกลับมาซื้อ และแชร์หรือรีวิว อาจชวนเพื่อนๆ หรือญาติๆ ให้คนรู้จักเข้าไปซื้อ และช่วยรีวิว หรือแชร์ในเฟสบุ๊ก/ LINE

7. ไม่ควรใส่แค่รูป โดยไม่มีรายละเอียด ไม่มีข้อความส่งเสริมการขาย/ กระตุ้นจูงใจให้ซื้อ

8. LazAroi เป็นตราโลโก้ที่เน้นผลิตภัณฑ์ชุมชน

9. ควรทำ  Card (การ์ด) หรือ Coupon (คูปอง) ที่ทำให้ลูกค้าจำได้ว่านี่คือร้านเรา ที่บอกเขาว่ามีส่วนลด หรือให้ช่วยรีวิวแล้วจะมีส่วนลด ทั้งนี้ Lazada จะให้เราสร้างคูปองติดตามร้านค้าให้ส่วนลดสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้วกลับมาติดตามหรือรีวิว

10. ใน 1 ร้าน อย่าขายสินค้าคนละประเภท เพราะ เลข 1 บัตรประชาชนใช้ได้ 20 ร้านค้า (แต่ควรจะคนละเบอร์โทร/ อีเมล) ดังนั้น ควรจัดหมวดหมู่ในร้านค้าเราให้เหมาะสม เช่น เปิดร้านปลาแห้ง แล้วไม่ควรนำเซรั่มเข้ามาขายด้วย ลองนึกดูว่าเราไปร้านกาแฟ แล้วมีเซรั่มวางบนโต๊ะ ควรจะมีขนบอบแห้งหรือสินค้าควบคู่กับกาแฟ ไปรษณีย์ไทยจะมีตู้กระจกขายของหลายอย่างซึ่งคนมาใช้บริการจะใช้บริการส่งของมากกว่ามาซื้อของ….เป็นการวางสินค้าที่เสียโอกาสในการขาย

11. ห้าม สินค้าผิดกฎหมาย ละเมิดลิขสิทธิ์/ คัดลอก

12. ห้ามนัดเจอซื้อขายนอก (ต้องซื้อขายผ่านระบบเท่านั้น) อาหาร/เครื่องสำอางที่ไม่มี อย. รับรอง

13. การขนส่ง เราจะเลือกได้เพียง 1 เจ้า มี 2 แบบ คือ Drop Off (เราไปส่งเอง เช่น ไปส่งที่ Kerry, ไปรษณีย์ไทย, Flash โดยเราไม่ต้องจ่ายค่าขนส่ง แค่ไปบอกร้านว่าเรา Drop Off) และ Pick Up (มีรถมารับ) การตั้งค่าขนส่ง อยู่ที่เราตั้งว่าเราออก หรือลูกค้าออก เวลาลูกค้ากดซื้อของ ระบบจะคิดค่าขนส่ง

14. ค่าธรรมเนียมชำระเงิน ทาง Lazada จะจ่ายให้เราทุกวันพุธ ถ้าลูกค้ารับของวันจันทร์-อาทิตย์ จะไปจ่ายพุธหน้า หรือมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ตรงวันพุธ วันจ่ายก็จะเลื่อนไป

15. กรณีลูกค้าไม่รับของ เช่น การเก็บปลายทาง เราควรโทรหาลูกค้าก่อนว่าเขาจะจ่ายได้ไหม ของที่ให้ตรงกับจำนวนตามที่เขาต้องการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ระวังชื่อคนแปลกๆ ที่อยู่แปลกๆ ควรติดต่อกับ Lazada ให้ยกเลิกได้

16. ขายดีได้อย่างไร

1) เป็นสินค้าค้นหายอดนิยม/ อยู่ในกระแส เช่น ปีใหม่ที่ผ่านมา วัตถุมงคลไอ้ไข่ซึ่งมีคนค้นหาสิ่งนี้มากๆ

2) ขายถูกที่สุด แต่ไม่แนะนำ เพราะไม่ยั่งยืน

3) เราเข้าใจระบบของ Lazada เพื่อความรวดเร็วในการซื้อขาย การตอบ การขนส่ง การส่งเสริมการขาย/ กระตุ้นให้ซื้อ (ซื้อ 2 แถม 1/ ซื้อ 2 ลดอีก 10%, ซื้อ 10 ชิ้น ฟรีค่าขนส่ง)

4) จับกลุ่มลูกค้าให้ได้ เน้นลูกค้าที่สนใจจริง ถ้ามาถามแล้วหายไป ต้องระวัง จะทำให้เสียเวลา

17. วิธีตรวจสอบสินค้า / การสร้างความมั่นใจของลูกค้า

1) ดูมาตรฐาน (มอก., อย. จริงๆ แล้ว Lazada ควบคุมได้ แต่ก็ไม่ 100% เช่น สินค้าจากจีน) อย่างไรก็ตาม LazAroi เป็นตราโลโก้ที่เน้นผลิตภัณฑ์ชุมชน นั่นคือ ชุมชนสามารถนำสินค้าการเกษตรขายได้ แต่ก็ต้องดูข้อกำหนดในระบบ Lazada ก่อนลงสินค้าด้วย

2) ดูรีวิวหรือการแสดงความเห็นของคนที่เคยใช้บริการ

3) ถามแล้วตอบกลับไว

4) ดูโลโก้ Lazmall (การันตรีสินค้าแท้)

5) หน้าโปรโมชั่นของ Lazada ที่มีสินค้านั้นขึ้น หรือมีโลโก้วันลดราคา เช่น 06-06 Sale (ลดวันที่ 6 เดือน มิ.ย.)

สรุป เตรียมตัวอย่างไร

1) การถ่ายภาพต้องดูดึงดูดใจ ถ้าแทรกคลิปวิดีโอจะได้ยิ่งดี (สร้างคอนเทนต์หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ เช่น ภาพการหยิบจับ การแกะสินค้า การใช้งานสินค้า พูดแนะนำสินค้า อะไรที่สื่อว่าอร่อย แสดงภาพการนำน้ำพริกไปทำอาหารเมนูต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ใน Lazada สามารถแปะลิงก์ยูทูปที่เราลงวิดีโอได้ด้วย)

2) การจัดส่ง จะส่งแบบไหน Drop Off หรือ Pick Up

3) หมั่นสร้างสรรค์กลยุทธ์ส่งเสริมการขายกระตุ้นการซื้ออย่างสม่ำเสมอ

4) หมั่นออกแบบและเปลี่ยนรูปแบบสินค้าที่ดูน่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ

ติดตามชมผ่าน Youtube ย้อนหลัง

https://www.youtube.com/channel/UCulmpolV5St8U5g0fGXWQxA

เพจ Nakhonsi Station ที่นี่ นครศรีธรรมราช

https://web.facebook.com/NakhonsiStation

ลงทะเบียนขายสินค้าชุมชน https://forms.gle/jMTDQMWc4fbdrPnD8

ขอบคุณ สรุปเนื้อหาคลิปจาก อ.ปุณยวีร์ ศรีรัตน์

พระธาตุไร้เงา : อัศจรรย์หรือเพียงแค่ “คำคนโฉดเขลา เล่าลือกันไป”

พระธาตุไร้เงา

“…แต่ก่อนนั่งฟังเล่นแต่คำกล่าว

เขาพูดจายักเยื้องเป็นเรื่องราว

ว่าครั้งคราวเมืองแตกสาแหรกกระจาย

ทรงพระปาฏิหาริย์บันดาลเหตุ

อาเพศให้เห็นซึ่งพระฉาย

ถ้าอยู่ดีมิได้เห็นเป็นอันตราย

เงานั้นหายไม่ได้เห็นเป็นธรรมดา…”

นายแก้ว กรมพระคลังสวน แต่งนิราศนครศรีธรรมราชในคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๒ ความตอนหนึ่งตามที่ยกมาข้างต้น กล่าวถึง “คำกล่าว” ว่าด้วย “เรื่องราว” เกี่ยวกับเงาขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช มีใจความสำคัญว่า หากบ้านเมืองปกตินั้น จะไร้เงาพระธาตุเจ้า ทว่าปรากฏเงาขึ้นเมื่อใด เป็นสัญญาณหมายว่ากำลังจะเกิด “อาเพศ” ต่อบ้านเมืองขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นว่า ศึกสงคราม โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ความเชื่อของคนพื้นถิ่นเกี่ยวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีอยู่มาก อาทิ กา ๔ ฝูง ทำหน้าที่พิทักษ์รักษายังทิศทั้ง ๔, ศิลาจารึกอักษรปลวะ ภาษาทมิฬ ในวิหารโพธิ์ลังกา ผู้ใดอ่านได้ไปตลอด จะปลุกตื่นยักษ์และครุฑเชิงบันใดพระม้า, ฝนตกในเขตวัดคือน้ำพระพุทธมนต์จากบาตรน้ำมนต์ทองคำบนยอดกรงแก้ว และที่ “ยักเยื้องเป็นเรื่องราว” จนลือไปทั่วสารทิศแต่โบราณคือความเชื่อว่า “ไร้เงา” ดังได้ชี้รายละเอียดไว้แล้ว

อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่านี้ เป็นมูลเหตุให้มีการพิสูจน์ความจริงในปัจจุบัน ด้วยการตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายเหตุผลไว้หลายประการ บ้างว่าเป็นปรากฏการณ์ทางความมืดและเงา ทำให้วัตถุรูปทรงเรียวแหลม เมื่อยิ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่รับเงา จะปรากฏเงาขนาดใหญ่ขึ้นและจางลงในที่สุด หรืออธิบายว่าเงาของส่วนปลียอดในตำแหน่งปล้องไฉนขึ้นไปนั้น ทอดไปตกบนพระเจดีย์รายและหลังคาพระวิหารธรรมศาลาไม่ถึงพื้น

คำกล่าวนี้เริ่มต้นที่ใดไม่ปรากฏ แต่จากการค้นคว้าเอกสารโบราณพบว่า มีการกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างแพร่หลายในยุคใกล้เคียงกัน คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังได้ยกนิราศนครศรีธรรมราชมาแล้วข้างต้นฉบับหนึ่ง และพบความพิสดารในนิราศแพรกไพร ซึ่งแต่งโดยพระครูคง ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ อีกฉบับหนึ่งว่า

“…มาแต่โบราณ

ยินเล่าลือมา

พระฉายฉายา

เจดีย์บ่เห็น

เพราะแสงทิวา

กรทับทองเป็น

ศรีสุวรรณกระเด็น

ดั่งกระจกจับตา

เงาพระเจดีย์

ทับที่หลังคา

วิหารศาลา

ไม่ดูให้ทั่ว

มัวมืดจักขวา

นานเห็นเงาปรา

กฎเกิดตกใจ

ฤดูเหมันต์

พระสุริโยฉัน

ย้ายราศีไกล

จึ่งเงาเจดีย์

มิทับอันใด

ดูไปเห็นง่าย

ถึงชายทางหลวง

เขาปักระกำ

ไว้กว่าจะค่ำ

กลัวคนจะล่วง

ข้ามเงาเจดีย์

มีโทษกระทรวง

บ้างพูดล่อลวง

ว่าไม่มีเงา

ชวนพากันเชื่อ

มิได้เอื้อเฟื้อ

เพราะปัญญาเขลา

ผู้มีปัญญา

บ่ได้ถือเอา

คำคนโฉดเขลา

เล่าลือกันไป…”

จะเห็นว่าใช่เฉพาะแต่ปัจจุบันที่มีการพิสูจน์ความเชื่อนี้ ในอดีตก็มีการแถลงข้อยุติไว้ด้วยแล้วโดยละเอียดด้วยเช่นกัน พอสรุปความได้จากนิราศข้างต้นว่า ที่ลือกันในข้อที่พระธาตุไร้เงานั้น เป็นจริงก็แต่ในฤดูร้อนและฤดูฝน ด้วยเพราะเงาไปตกบนหลังคาพระวิหารธรรมศาลา แต่เมื่อถึงเหมันต์ คือช่วงฤดูหนาวกลางเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนั้น เงาพล่ายมาตกบนพื้นหาดทรายแก้วช่วงระหว่างพระวิหารธรรมศาลาและปากตูเหมรังสี จนกรมการเมืองต้องกั้นเขตแดนไว้ห้ามผ่านกับทั้งคาดโทษผู้ละเมิด

เงาพระบรมธาตุเจดีย์ทอดไปทางทิศตะวันตก

ในแง่งามของความเชื่อนี้ มีผู้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า “พระธาตุ” นั้น ความจริงหมายถึง “พระบรมสารีริกธาตุ” อันประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงไม่มีทางที่จะปรากฏเงาขึ้นอย่างไรได้ เว้นเสียแต่ถูกทำลายแล้วอัญเชิญออกมา ถึงคราวนั้นก็คงต้องเรียกว่า “อาเพศ” หนีไม่พ้นเสียได้

ดังนั้น ผู้มีปัญญา (จึง)บ่ได้ถือเอา คำ(ของ)คนโฉดเขลา (ที่)เล่าลือกันไป

หากควรแต่จะขบคิดให้ตกว่า หาก “ไร้เงา” ก็ “ไร้ตัว”

“ไร้ตัว” ก็ “อนัตตา” หรือความอัศจรรย์อันแท้จริงจะเร้นอยู่ในข้อนี้

ฅนต้นแบบเมืองนคร อ.พัชรี สุเมโธกุล พัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เมื่อนำมาผสมผสานกับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ไม่เพียงแต่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเท่านั้น แต่สามารถนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ส่งเสริมให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีความน่าสนใจ ใครกันจะเป็นผู้ที่มองเห็น เข้าใจและเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน ผลักดันองค์ความรู้ชาวบ้านผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าออกสู่ตลาดสากล ทางเรารู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายโครงการชุมชนท้องถิ่น บุคคลที่เป็นฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ อาจารย์พัชรี สุเมโธกุล  

เริ่มต้นจากงานอาสาสมัครสู่งานพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

            ก่อนที่จะมาเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาชุมชน อาจารย์พัชรีย์มีความฝันอยากเป็นนักข่าว ชื่นชอบศาสตร์ด้านการเขียน จบปริญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ ปริญญาโท ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ปริญญาเอก tourism management and hospitality

ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ทำงานด้านส่งเสริมพัฒนาชุมชนมาเป็นเวลา 12 ปี  พื้นเพเดิมอาจารย์เป็นคนสตูล เนื่องจากทางบ้านทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชน จึงมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่น อาจารย์ทำงานเชิงพื้นที่เป็นอาสาสมัครช่วยเครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดสตูล ควบคู่กับงานด้านวัฒนธรรม จนได้มีโอกาสช่วยราชการกองทัพภาค 4 ร่วมพัฒนาท้องถิ่นตามชายแดนภาคใต้ใน 7 จังหวัด ซึ่งทำร่วมกับนักศึกษา อยากที่จะใช้องค์ความรู้ของตัวเองและนักศึกษา เข้าไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อย่างกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นแค่ชมรม กลุ่มอาชีพในชุมชน  ก็ผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้พัฒนาตัวเองและเป็นที่รู้จักมากขึ้น  อาจารย์มีความคิดว่าถ้าต้องการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เข้าไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชน สอบถามเกี่ยวกับวิถีชีวิต ปัญหาที่พวกเขาพบซึ่งกระทบต่อการดำรงชีพ  เมื่อเก็บข้อมูลมากพอแล้วจึงใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน

เพราะแต่ละชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างกัน

            ก่อนที่จะเข้าถึงชุมชน ต้องเข้าใจในความต่างของแต่ละชุมชนก่อน เพราะบางพื้นที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยว ต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนควรจะใช้ผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว หรือใช้การท่องเที่ยวนำผลิตภัณฑ์ บางชุมชนสามารถจัดสรรในสัดส่วนที่เท่ากันได้ ยกตัวอย่างกรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ อำเภอท่าศาลา เป็นชุมชนแรกที่อาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาถึง 8 ปี ในฐานะวิทยากรของกรมการท่องเที่ยว แม้สภาพแวดล้อมของชุมชนในตอนนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดสูงอีกด้วย แต่อาจารย์ก็เห็นถึงพลังการร่วมมือของผู้คนในชุมชน

แม้ว่าครั้งแรกที่เปิดเวทีเสวนามีชาวบ้านมานั่งฟังแค่ 4 คน แต่หลังจากนั้นชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่อาจารย์ให้ความสนใจคือ ชาวบ้านทำการประมงจับปลาได้ในปริมาณที่เยอะมาก แต่ไม่สามารถจัดการกับจำนวนปลาที่เหลือจากการบริโภคและจำหน่ายในพื้นที่ได้ นอกจากนำไปแปรรูปเป็นปลาเค็มเพียงอย่างเดียว แม้พยายามจะอธิบายถึงแนวทางการแก้ปัญหา แต่ในตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กำลังจะทำ เป็นระยะเวลาถึง 4 ปีที่อาจารย์เก็บรวมรวบข้อมูล เพื่อขอทำวิจัยให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะชาวบ้านที่นั้นรักป่าชายเลนมาก

โปรเจคแรกคือ ปลูกป่าสปาโคลน มีการส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลกลับมา ทำให้ชุมชนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 อาจารย์ได้ทำเรื่องของบวิจัย เพื่อยกระดับเป็นโมเดลบ้านแหลมโฮมสเตย์ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ ผลิตภัณฑ์ของที่นี่คือ ใบโกงกางทอด โลชั่นใบโกงกาง และชาใบโกงกาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกตัวของชุมชนบ้านแหลมมีงานวิจัยรองรับและผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

ทำให้ชื่อเสียงของชุมชนโด่งดังไกลไปถึงระดับโลก จนสำนักข่าว CNN มาขอสัมภาษณ์ถึงชุมชน หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้คือ โคลนจากป่าชายเลน เนื้อโคลนสีดำละเอียดที่อยู่ลึกลงไปจากผิวดินกว่า 1 ฟุต นำมาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อรับรองว่าไม่มีสารตกค้าง ผลิตภัณฑ์มาสก์โคลน ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของประเทศ ที่น่าภาคภูมิใจคือ สินค้ามีการนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ ในปัจจุบันการจัดจำหน่ายสินค้าดำเนินการโดยชุมชน มีช่องทางการขายเป็นของตนเอง

ค้นหาอัตลักษณ์ ก่อนที่จะถอดอัตลักษณ์

            ก่อนที่จะนำเสนอและสร้างโปรเจคขึ้นมา ต้องทำให้คนในชุมชนมองเห็นภาพและเข้าใจก่อน การทำงานเพื่อชุมชน ไม่ต้องคิดไปก่อนว่าจะเอาโปรเจคอะไรไปนำเสนอชุมชน อย่าไปคิดแทนชาวบ้าน แค่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชนในฐานะที่ปรึกษา แน่นอนว่าการที่จู่ๆ มีคนแปลกหน้าเข้าไปคลุกคลี สอบถามข้อมูล พูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้าไปยัดเยียดความคิดของตัวเองให้ชาวบ้าน อาจเกิดข้อโต้แย้งได้ ต้องเปิดใจรับฟัง เรียนรู้ และมีความบริสุทธิ์ใจ

เรื่องนี้ถือเป็นความตั้งใจเบื้องต้นของอาจารย์ การเข้าไปในฐานะที่ปรึกษา ต้องค้นหาเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงในสิ่งที่ชุมชนเป็น เพราะมุมมองแต่ละคนต่างกัน นักวิชาการอยากให้เพิ่มมูลค่าสินค้า แต่ชาวบ้านบางคนอาจไม่สนใจ เพราะพึงพอใจกับวิถีชีวิตนี้อยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้เกียรติชุมชนที่เราเข้าไป ให้เกียรติชาวบ้านในฐานะคณะกรรมการดำเนินงาน หรือผู้ช่วยนักวิจัยชุมชน เพราะพวกเขาคือ เจ้าขององค์ความรู้ นักวิชาการมีหน้าที่แค่นำเอาทฤษฎี เครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาชุมชน

            อย่างบางชุมชนมีทรัพยากรทางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประเด็นคือ สถานที่ท่องเที่ยวหรือผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นจุดเด่นของชุมชน บางสิ่งที่ชุมชนนำเสนอไป นักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องการก็ได้ หน้าที่ของนักวิชาการคือ ต้องค้นหาสิ่งนั้นให้เจอ ก่อนที่จะนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อผลิตสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น สำคัญคือ อย่าสร้างความหวังให้ชุมชน เพราะสิ่งที่กำลังทำคือต้นแบบเพื่อที่จะพัฒนาต่อ ต้องอธิบายให้คนในชุมชนเข้าใจถึงเป้าหมายแต่ละขั้น

ยกตัวอย่าง โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มี 2 ชุมชนที่ในตอนนี้อาจารย์เข้าไปดูแล คือ ชุมชนท่าดี อ. ลานสกา ซึ่งอาจารย์สนใจผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผักกูดและแตงโม และชุมชนขอนหาด อ. ชะอวด เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมชุมชน ที่ให้ทุกครัวเรือนเป็นฐานการเรียนรู้ เน้นพัฒนากลุ่มอาชีพOTOP และผู้ประกอบการท้องถิ่น ในสองชุมชนนี้อาจารย์เน้นในเรื่องผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นต้องเกิดประโยชน์กับพวกเขา

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นฐานองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

            หนึ่งในเป้าหมายพัฒนาเครือข่ายชุมชน นอกจากผลิตสินค้าและบริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย การสร้างสรรค์งาน ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว สินค้าทุกชนิดต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มโอกาสขายในระดับสากล และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในตอนนี้ทางโครงการกำลังดำเนินการอยู่  แน่นอนว่าเบื้องหลังการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งมาจากทีมงานที่ต้องเข้าใจและมองเห็นในสิ่งเดียวกัน

เกณฑ์ในการคัดเลือกทีมงานของอาจารย์ เน้นในเรื่องการปรับตัวเข้าหาชาวบ้าน เพื่อการเข้าถึงชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องยอมรับในกฎกติกาของชุมชน ทีมงานโครงการมีทั้งฝ่ายการตลาด เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ฝ่ายการจัดการ ฝ่ายบัญชี การท่องเที่ยว มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และฝ่ายดูแลมาตรฐานการส่งออก หลังจบงานวิจัยของแต่ละชุมชน ทางทีมงานจะทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง

เป้าหมายหลักของโครงการคือ ชุมชนที่ได้เข้าไปพัฒนาแล้วต้องยืนได้ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่สามารถพัฒนาชุมชนให้กลายมาเป็นชุมชนต้นแบบแล้ว พวกเขาต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อพาคนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม ชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ก็จะเป็นรากฐานในการพาชุมชนอื่นๆ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแกร่ง

ไม่ว่าอาจารย์จะไปพื้นไหนก็ต้องเข้าให้ถึงหัวใจของผู้คนในพื้นที่นั้น ดึงเอาคุณค่าและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ที่สั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ ผสานกับงานวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความรู้ทางธุรกิจ โครงการนี้จึงไม่แค่พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมท่องเที่ยวเพื่อยกระดับชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับจิตวิญญาณ ความคิด ถ่ายทอดความเป็นชุมชนออกมาได้อย่างงดงามและภาคภูมิใจ