“…แต่ก่อนนั่งฟังเล่นแต่คำกล่าว
เขาพูดจายักเยื้องเป็นเรื่องราว
ว่าครั้งคราวเมืองแตกสาแหรกกระจาย
ทรงพระปาฏิหาริย์บันดาลเหตุ
อาเพศให้เห็นซึ่งพระฉาย
ถ้าอยู่ดีมิได้เห็นเป็นอันตราย
เงานั้นหายไม่ได้เห็นเป็นธรรมดา…”
นายแก้ว กรมพระคลังสวน แต่งนิราศนครศรีธรรมราชในคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๒ ความตอนหนึ่งตามที่ยกมาข้างต้น กล่าวถึง “คำกล่าว” ว่าด้วย “เรื่องราว” เกี่ยวกับเงาขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช มีใจความสำคัญว่า หากบ้านเมืองปกตินั้น จะไร้เงาพระธาตุเจ้า ทว่าปรากฏเงาขึ้นเมื่อใด เป็นสัญญาณหมายว่ากำลังจะเกิด “อาเพศ” ต่อบ้านเมืองขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นว่า ศึกสงคราม โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น
ความเชื่อของคนพื้นถิ่นเกี่ยวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีอยู่มาก อาทิ กา ๔ ฝูง ทำหน้าที่พิทักษ์รักษายังทิศทั้ง ๔, ศิลาจารึกอักษรปลวะ ภาษาทมิฬ ในวิหารโพธิ์ลังกา ผู้ใดอ่านได้ไปตลอด จะปลุกตื่นยักษ์และครุฑเชิงบันใดพระม้า, ฝนตกในเขตวัดคือน้ำพระพุทธมนต์จากบาตรน้ำมนต์ทองคำบนยอดกรงแก้ว และที่ “ยักเยื้องเป็นเรื่องราว” จนลือไปทั่วสารทิศแต่โบราณคือความเชื่อว่า “ไร้เงา” ดังได้ชี้รายละเอียดไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่านี้ เป็นมูลเหตุให้มีการพิสูจน์ความจริงในปัจจุบัน ด้วยการตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายเหตุผลไว้หลายประการ บ้างว่าเป็นปรากฏการณ์ทางความมืดและเงา ทำให้วัตถุรูปทรงเรียวแหลม เมื่อยิ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่รับเงา จะปรากฏเงาขนาดใหญ่ขึ้นและจางลงในที่สุด หรืออธิบายว่าเงาของส่วนปลียอดในตำแหน่งปล้องไฉนขึ้นไปนั้น ทอดไปตกบนพระเจดีย์รายและหลังคาพระวิหารธรรมศาลาไม่ถึงพื้น
คำกล่าวนี้เริ่มต้นที่ใดไม่ปรากฏ แต่จากการค้นคว้าเอกสารโบราณพบว่า มีการกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างแพร่หลายในยุคใกล้เคียงกัน คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังได้ยกนิราศนครศรีธรรมราชมาแล้วข้างต้นฉบับหนึ่ง และพบความพิสดารในนิราศแพรกไพร ซึ่งแต่งโดยพระครูคง ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๙ อีกฉบับหนึ่งว่า
“…มาแต่โบราณ
ยินเล่าลือมา
พระฉายฉายา
เจดีย์บ่เห็น
เพราะแสงทิวา
กรทับทองเป็น
ศรีสุวรรณกระเด็น
ดั่งกระจกจับตา
เงาพระเจดีย์
ทับที่หลังคา
วิหารศาลา
ไม่ดูให้ทั่ว
มัวมืดจักขวา
นานเห็นเงาปรา
กฎเกิดตกใจ
ฤดูเหมันต์
พระสุริโยฉัน
ย้ายราศีไกล
จึ่งเงาเจดีย์
มิทับอันใด
ดูไปเห็นง่าย
ถึงชายทางหลวง
เขาปักระกำ
ไว้กว่าจะค่ำ
กลัวคนจะล่วง
ข้ามเงาเจดีย์
มีโทษกระทรวง
บ้างพูดล่อลวง
ว่าไม่มีเงา
ชวนพากันเชื่อ
มิได้เอื้อเฟื้อ
เพราะปัญญาเขลา
ผู้มีปัญญา
บ่ได้ถือเอา
คำคนโฉดเขลา
เล่าลือกันไป…”
จะเห็นว่าใช่เฉพาะแต่ปัจจุบันที่มีการพิสูจน์ความเชื่อนี้ ในอดีตก็มีการแถลงข้อยุติไว้ด้วยแล้วโดยละเอียดด้วยเช่นกัน พอสรุปความได้จากนิราศข้างต้นว่า ที่ลือกันในข้อที่พระธาตุไร้เงานั้น เป็นจริงก็แต่ในฤดูร้อนและฤดูฝน ด้วยเพราะเงาไปตกบนหลังคาพระวิหารธรรมศาลา แต่เมื่อถึงเหมันต์ คือช่วงฤดูหนาวกลางเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนั้น เงาพล่ายมาตกบนพื้นหาดทรายแก้วช่วงระหว่างพระวิหารธรรมศาลาและปากตูเหมรังสี จนกรมการเมืองต้องกั้นเขตแดนไว้ห้ามผ่านกับทั้งคาดโทษผู้ละเมิด
ในแง่งามของความเชื่อนี้ มีผู้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า “พระธาตุ” นั้น ความจริงหมายถึง “พระบรมสารีริกธาตุ” อันประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงไม่มีทางที่จะปรากฏเงาขึ้นอย่างไรได้ เว้นเสียแต่ถูกทำลายแล้วอัญเชิญออกมา ถึงคราวนั้นก็คงต้องเรียกว่า “อาเพศ” หนีไม่พ้นเสียได้
ดังนั้น ผู้มีปัญญา (จึง)บ่ได้ถือเอา คำ(ของ)คนโฉดเขลา (ที่)เล่าลือกันไป
หากควรแต่จะขบคิดให้ตกว่า หาก “ไร้เงา” ก็ “ไร้ตัว”
“ไร้ตัว” ก็ “อนัตตา” หรือความอัศจรรย์อันแท้จริงจะเร้นอยู่ในข้อนี้