ดูเหมือนว่า “ลิกอร์” จะไม่ใช่ชื่อของนครศรีธรรมราชในภาษาโปรตุเกส

ลิกอร์

ลิกอร์ ไม่ใช่ชื่อที่ชาวโปรตุเกสบัญญัติเรียกเมืองนครศรีธรรมราชด้วยเหตุว่าลิ้นแข็งพูดคำว่านครไม่ได้ 
.
แต่คือชื่อแท้ดั้งเดิมภาษาพื้นเมือง ที่ชาวมลายูเรากำหนดชี้ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ สงบ สง่า มั่งคั่ง และยิ่งใหญ่ไว้ประหนึ่งคือไข่แดงของคาบสมุทร
.
ชื่อนี้จึงยังมีเรียก มีใช้ในพี่น้องมุสลิมเป็นปกติ ผมได้ยินครั้งแรกจากนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชชาวมุสลิม เมื่อครั้งไปเยี่ยมคารวะในวันเข้ามารับตำแหน่งใหม่ และคุ้นหูบ่อยขึ้นเป็นคำตอบจากใครๆ ผู้รู้ภาษามลายูเมื่อพยายามถามว่านครศรีธรรมราชนี้ ท่านเรียกว่าอย่างไร ?
.
ด้วยว่า “เลอกอห์” ที่ออกเสียงตามสำเนียงแขกนี้ มีทั้งคำแปลและความหมาย อาการโพล้งเอาว่าคำนี้เพี้ยนมาจากคำนั้นเพื่อลากเข้าความของชื่อบ้านนามเมืองเรา ทั้งชื่อนี้และอีกหลายชื่อจึงควรคลี่คลายด้วยการตั้งคำถามก่อนจะ(สรุปว่า)เพี้ยนเป็นอื่นว่า เป็นภาษาอะไร ? แปลว่าอะไร ? ให้ความหมายอย่างไร ? สอดคล้องกับบริบทอะไรในพื้นที่ ?
.
การที่ “เลอกอห์” ยังคงตกค้างทั้งชื่อและความหมายอยู่กับชาวมุสลิมนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวโปรตุเกสกับชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกลุ่ม
.
เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วแต่โบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคเดียวกันกับที่โปรตุเกสเข้ามา หลักฐานมีปรากฏชัดด้วยตำแหน่ง “พระยาราชบังสัน” ตำแหน่งแม่ทัพเรือรวมถึงความเชี่ยวชาญในทางทะเลนั้น เราต่างยกย่องเชื่อถือผู้มีเชื้อสายอิสลาม

บรรยากาศยามเช้าที่ปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช

จึงไม่แปลกที่ชาวโปรตุเกสจะได้ยินชื่อนี้จากชาวเลพื้นถิ่นผู้ชำนาญร่องน้ำและเกาะแก่ง ก่อนจะจดแจ้งลงในแผนที่ แล้วมามีความเข้าใจด้วยว่าเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรในครอบครองว่าผู้เขียนคือผู้บัญญัติ ทั้งที่แท้ก็ได้ยินได้ฟังมาจากชาวเรานั่นแลฯ