โรคระบาด ในตำนานพระธาตุเมืองนคร

โรคระบาด, ตำนานพระธาตุ

“…การหาหลักฐานทางโบราณคดีนั้น
ถ้าไม่มีอะไรดีกว่านิทาน ก็ต้องรับเอานิทานเข้าประกอบ
หนังสือนี้จึ่งอาจเปนประโยชน์ได้บ้างในทางโบราณคดี…”

พระนิพนธ์คำนำตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

เป็นอย่างใจความสำคัญของพระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ยกมาจากคำนำหนังสือตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับหลวงนรินทร (ม.ล. สำเนียง อิศรางกูร ณ อยุธยา) พิมพ์ในงานปลงศพนางเทพนรินทร (สงวน อิศรางกูร ณ อยุธยา) ผู้ภรรยา เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๗๑ ว่า “นิทาน” (อาจ)เป็นประโยชน์(ได้บ้าง)ในทาง “โบราณคดี” ทั้งนี้ก็จนกว่าจะมีหลักฐานชั้นต้นอื่นใดที่ยอมรับกันในทางโบราณคดีมาประกอบการอธิบาย และแม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว “นิทาน” จะไม่สามารถเป็นหลักฐานทางตรงในทางโบราณคดีได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “นิทาน” ยังสามารถใช้เป็นกระจกสะท้อนภาพของชุดความคิดในทางคดีอื่น

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับที่กล่าวถึง เป็นสำนวนร้อยแก้วโครงเรื่องคล้ายกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราช แต่ส่งอิทธิพลต่อความรับรู้ของชาวนครศรีธรรมราชมากกว่า เป็นต้นว่า ในตำนานเมืองฯ เขียนชื่อบุคคลว่า “นางเหมมาลา” แต่ในตำนานพระธาตุฯ เขียนเป็น “นางเหมชาลา” ซึ่งแม้ว่า “มาลา” จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นสตรีมากกว่า “ชาลา” แต่อย่างหลังนี้ กลับเป็นที่รู้จักและใช้กันต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การสกัดให้เห็นภาพสะท้อนอื่นใดจากตำนานกลุ่มนี้ จึงควรเริ่มที่ “ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช”

ตำนานพระธาตุฯ มีหลายภาพสะท้อนความเป็นนครศรีธรรมราชในอดีตอยู่หลายด้าน แต่ที่จะสกัดออกมาในที่นี้ คือเรื่อง “โรคระบาด” ซึ่งแลดูทันเหตุทันการณ์กับสภาพปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดก็พลอยจะได้อาศัยเป็นกรณีเปรียบเทียบ

หาก “ยารักษาโรค” เป็น ๑ ในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ 
ก็ย่อมแสดงชัดว่า “โรค” เป็นเหตุตั้งต้นแห่งปัจจัยนี้ 
และดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงอื่นด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้แบ่งช่วงเวลาในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชไว้ในบทนำหนังสือตำนานพระธาตุและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช (ฉบับกรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่พุทธศักราช ๒๕๖๐) ออกเป็น ๔ สมัย โดยจะขอคัดลำดับเรื่องราวในแต่ละสมัยมาแสดง ดังนี้ 

๑. สมัยก่อนสร้างเมืองนครศรีธรรมราช


กล่าวถึงพระเจ้าอังกุศราช เจ้าเมือง “ชนทบุรี” ยกทัพขึ้นเหนือเพื่อรบชิงพระทันตธาตุจากพระเจ้าโกสีหราชแห่งเมือง “ทนทบุรี” ท้าวโกสีหราชเสียเมืองและสิ้นพระชนม์ นางเหมชาลาเป็นพระราชธิดากับเจ้าทันตกุมารจึงนำพระทันตธาตุลอบหนีออกจากเมือง ลงสำเภาโดยมีเป้าหมายว่าจะไปเมืองลังกา ระหว่างทางเกิดพายุร้ายสำเภาแตก ทั้งสองขึ้นฝั่งได้และฝังพระทันตธาตุไว้ที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ส่วนตนเองก็แอบซ่อนตัวอยู่

ในช่วงเวลาต่อมา พระอรหันต์พรหมเทพเหาะผ่านมาแลเห็นรัศมีพระธาตุจึงลงมานมัสการ เยาวกษัตริย์ทั้งสองจึงออกมานมัสการและเล่าเรื่องความเป็นมาและที่จะเดินทางไป พระอรหันต์ได้ทำนายว่า สถานที่ตรงนี้ต่อไปภายหน้าจะมีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระยาศรีธรรมโศกราชจะมาตั้งขึ้นเป็นเมือง และพระอรหันต์ได้สนับสนุนให้ทั้งสองนำพระทันตธาตุลงเรือที่ท่าเรือเมืองตรังไปถึงเมืองลังกาได้อย่างปลอดภัย

เจ้าเมืองลังกาไปประดิษฐานพระทันตธาตุไว้ในปราสาท และเมื่อทราบความประสงค์ของเยาวกษัตริย์ทั้งสองว่าต้องการเดินทางกลับบ้าน จึงทำหนังสือถึงเจ้าเมืองทนทบุรีห้ามทำร้ายเจ้าทั้งสอง พร้อมแต่งสำเภาให้ทรัพย์สมบัติกับพระสารีริกธาตุกลับไปด้วย ๑ ทะนาน เมื่อเดินทางผ่านมาถึง “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ได้หยุดแวะและแบ่งพระสารีริกธาตุออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งฝังไว้ที่เดียวกันกับที่เคยฝังพระทันตธาตุ อีกส่วนหนึ่งได้นำกลับไปยังเมืองทนทบุรีของตน

๒. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๑


กล่าวถึงการเกิด “ไข้ยุบลมหายักษ์” ที่เมืองใหญ่หงสาวดี พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเจ้าเมืองจึงพาผู้คนพร้อมพระมเหสีและพระโอรส ๒ พระองค์ พระนามว่า เจตราช กับ พงษ์กษัตริย์ ลงสำเภาแล่นใบมาถึงริมทะเลแห่งหนึ่งจึงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นที่นั้น

ครั้งนั้น พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในประเทศอินเดียทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเช่นเดียวกัน (คือพระเจ้าอโศกที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์) ได้ก่อพระเจดีย์ขึ้น ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ไม่มีพระธาตุจะบรรจุ จึงส่งทูตมายังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อขอแบ่งพระธาตุไป

พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งนครศรีธรรมราช เมื่อแรกก็ไม่รู้จะหาพระธาตุได้จากที่ใด แต่ต่อมามีชายชราอายุ ๑๒๐ ปี พอจะทราบเรื่องการฝังพระธาตุโดยเยาวกษัตริย์ทั้งสองในอดีตจึงชี้สถานที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ที่อยู่ในตัวเมืองของพระองค์นั้น แต่ก็ต้องหาผู้มีวิชาอาคมจึงสามารถนำพระบรมธาตุขึ้นมาได้ และแบ่งให้แก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชผู้สร้างพระเจดีย์ให้มีพระธาตุบรรจุได้ครบทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์

ส่วนที่ “หาดทรายแก้วชเลรอบ” ภายในเมืองของพระองค์นั้นน โปรดให้สร้างเจดีย์พระธาตุขึ้นตรงที่ ๆ เคยฝังพระธาตุแต่ก่อน ขณะนั้นพระพุทธสิหิงค์ลอยน้ำมาจากลังกา มาทางเกาะปีนังแล้วมาถึงหาดทรายแก้วที่ก่อเจดีย์พระธาตุ

แต่การก่อเจดีย์พระธาตุยังไม่เสร็จก็เกิดไข้ห่าลง ผู้คนจึงอพยพลงสำเภาหนีแต่ก็ไม่พ้นตายกันหมด เมืองนครศรีธรรมราชจึงร้างไปเป็นครั้งที่ ๑

๓. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ 


มีเรื่องราวสั้น ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาโดยไม่แสดงความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวตอนใด โดยตำนานพระธาตุฯ ได้กล่าวถึงตัวเลขศักราช ๑๑๙๖ พระญาศรีไสณรงค์กับน้องชื่อธรรมกษัตริย์ มาจากทิศตะวันตกมาเป็นเจ้าเมือง พระพุทธสิหิงค์จากลังกามาประทักษิณพระธาตุอยู่ ๗ วันแล้วไปเชียงใหม่ ครั้นพระยาศรีไสยณรงค์สิ้นพระชนม์ พระอนุชาก็เป็นเจ้าเมืองแทน ถึงศักราช ๑๑๙๘ เจ้าธรรมกระษัตริย์ก็สิ้นพระชนม์ 

เรื่องในตำนานจริง ๆ ควรจะเริ่มเมื่อกล่าวถึงท้าวศรีธรรมโศกราชเจ้าเมือง “อินทปัตบุรีย์” กับน้องชื่อจันทรภาณุ และท้าวพงษ์สุราหนีไข้ห่า มาถึงพระธาตุที่ก่ออิฐค้างไว้ จึงได้ก่อพระธาตุจนเสร็จและสร้างกำแพงเมืองโดยรอบ ให้ผ้าขาวชาวหงสาวดีไปนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาทำบุญฉลองพระธาตุ การเฉลิมฉลองพระธาตุทราบไปถึงพระราชบิดาของท้าวอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงให้ท้าวอู่ทองยกทัพลงมา ท้าวศรีธรรมโศกราชก็ยกทัพขึ้นไป กองทัพหน้าของทั้งสองปะทะกันถึงล้มตายแถบบริเวณ “บางตะภาร” ท้าวศรีธรรมโศกราชรู้สึกรันทดใจจึงขออ่อนน้อมยอมเป็นไมตรี ทั้งสองทัพก็เลิกแล้วต่อกัน

ศักราช ๑๒๐๐ ท้าวศรีธรรมโศกราชสิ้นพระชนม์ จันทรภาณุได้เป็นเจ้าเมืองแทน โดยใช้พระนามว่า ศรีธรรมโศกราช และท้าวพงษ์สุราได้เลื่อนเป็นจันทรภาณุ กองทัพชวายกทัพมา เอาชนะเมืองนครศรีธรรมราชได้ ต้องยอมเป็นเมืองส่งส่วยไข่เป็ดแก่ชวา แต่ต่อมาไม่นานก็มีคนดีชื่อพังพการเข้ารับราชการทหาร คิดต่อสู้ชวาโดยการขุดคูรอบเมืองพระเวียงขับไล่ชวาไปได้ จึงได้รับส่วนแบ่งให้ครองเมืองครึ่งหนึ่ง ต่อมาท้าวศรีธรรมโศกราช สิ้นพระชนม์ ก็เกิดโรคระบาด คนตาย เมืองร้างไปเป็นครั้งที่ ๒ 

๔. สมัยเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๓


ตำนานเมืองฯ กับตำนานพระธาตุฯ กล่าวต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด โดยตำนานเมืองได้อ้างอิงไปถึงเรื่องเจ้านายเชื้อสายกษัตริย์ผู้แยกตัวออกมาจากส่วนกลาง ซึ่งก็ควรหมายถึงกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ก่อนปีการสถาปนากรุงอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ มาตั้งศูนย์อำนาจอีกแห่งหนึ่งขึ้นที่เมืองเพชรบุรี โดยมีคำเรียกผู้ครองเมืองด้วยภาษาที่มีความหมายสูงสุดว่า “พระเจ้าอยู่หัว”

ตำนานเมืองฯ ได้กล่าวถึงพระนามกษัตริย์ แสดงถึงอำนาจส่วนกลางที่แยกมาตั้งอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ว่า “พระพนมทะเลศรีมเหศวัสดิทราธิราช” กับพระอนุชาผู้ได้สืบอำนาจองค์ต่อมาพระนามว่า “รัตนากร” ทั้งสองพระองค์เป็น “พระเจ้าหลาน” ของ “พระปู่พระย่า” ที่มีอำนาจปกครองอยู่ที่ส่วนกลาง 

พระเจ้าอยู่หัวเมืองเพชรบุรีได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งบ้านเมืองต่าง ๆ ขึ้น ตามชายฝั่งอ่าวไทย ประมาณตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช 

เรื่องในตำนานเมืองฯ และตำนานพระธาตุฯ พอสรุปให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ว่า เมื่อศักราช (พุทธศักราช) ๑๘๑๕ (ตามตำนานพระธาตุฯ) มีพระราชโองการจากกษัตริย์ส่วนกลาง สนับสนุนชาวพื้นเมืองสองพี่น้องแห่งบ้าน “จรุงสระ” หรือบ้าน “ท่าวัง” กับบ้าน “ลานตะกา” ให้ช่วยกันสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาใหม่ มีลูกหลานทายาทครองเมืองสืบต่อกัน ๑ – ๒ คน ซึ่งตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นมา ได้มีการบูรณะก่อสร้างเสนาสนะ ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานภายในวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องไม่มีว่างเว้น

หลังจากนั้น ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจากส่วนกลางมาครองและการทำนุบำรุงวัดพระธาตุฯ ในปี พ.ศ. ๑๘๖๑, ๑๙๑๙, ๒๐๓๙, และปีสุดท้ายคือ ๒๑๙๓ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้พระยาบริบาลพลราช เจ้าเมืองตะนาวศรีมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ในท้ายของการวิเคราะห์โครงเรื่องเพื่อแบ่งยุคสมัยของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ อาจารย์พิเศษฯ ได้ยกข้อวินิจฉัยของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เกี่ยวกับจุดเวลาของการแต่งตำนานมาแสดงด้วยว่า คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นรัชกาลถัดจากศักราชสุดท้ายที่ตำนานกล่าวถึง

เมื่อพิจารณาจากการลำดับโครงเรื่องข้างต้นแล้ว อาจกล่าวได้โดยสรุปว่า เมืองนครศรีธรรมราชมีชาตะและมตะด้วยเหตุเดียวกันในแต่ละสมัย นั่นคือ “โรค” ในตำนานพระธาตุฯ กล่าวถึงโรคในทำนองโรคระบาดนี้ ด้วยชื่อเรียกเฉพาะว่า “ไข้ยุบลมหายักษ์” หรือ “ไข้ยุบล” (ตำนานเมืองฯ เรียก “ไข้ยมบน”) กับชื่ออย่างศัพท์โบราณว่า “ไข้ห่า” 

เป็นที่น่าสนใจว่าทั้งชื่อของไข้ยุบลมหายักษ์ ยุบล หรือห่า ล้วนไม่สื่อถึงอาการของโรคให้เข้าใจได้ทันที แต่กลับทำให้เห็นสภาพการณ์ว่าเป็นโรคระบาดที่มีผลทำให้ผู้คนล้มตายมาก “มหายักษ์” ให้ภาพว่าเป็นโรคอันใหญ่ อันยิ่งอันถอดไม่ออก ส่วน “ห่า” คือการแสดงให้เห็นว่าจำนวนคนป่วยคนตายจากไข้นี้มีมาก  

อาจารย์ดิเรก พรตตะเสน ได้อธิบายความหมายของชื่อไข้นี้ด้วยบทความ “ยมบน” ในวารสารรูสะมิแลว่า ไข้ยมบน (ใช้ตามตำนานเมืองฯ) มีความหมายเดียวกันกับ “พระยมเรียก” ที่เมื่อ “ยมบนทีไร ประชากรมนุษยภูมิตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ตายผล็อยยเหมือนใบไม้ร่วงเป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น” กับทั้งยังได้อธิบายต่อไปถึงอาการของไข้ว่าเป็นอย่างสำนวนมุขปาฐะชาวนครว่า “ขี้ทีรากที” หรือ “อหิวาตกโรค” นั่นเอง

ในขณะเดียวกันก็มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับไข้นี้อีกกระแส อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือห่าลง จีนถึงไทย ตายทั้งโลก โดยได้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดในรัฐโบราณเข้ากับประวัติศาสตร์โลกว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ตรงกับปีที่มีการระบาดใหญ่ของความตายสีดำ (Black Death – กาฬโรค) ในยุโรปและก่อนหน้านั้นเล็กน้อยในมณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน ทำให้โรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองหนีมาจากเมืองอู่ทองนั้นอาจเป็นโรคเดียวกันโดยอาศัยการเชื่อมโยงกันของการค้าข้ามสมุทร

เช่นเดียวกันกับบริบทของนครศรีธรรมราช ในฐานะที่เป็นเมืองท่าสำคัญของคาบสมุทรมลายู ที่ปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองท่าอื่นทั่วโลกไปไม่ได้ จึงเป็นไปได้ว่า “ไข้ยุบล” หรือ “ไข้ยมบน” ที่ปรากฏในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชนั้น จะคือ “กาฬโรค” ด้วย


ดูคลิปย้อนหลังรายการ “รวมเรื่องเมืองนคร” ตอน โรคระบาด ในตำนานพระธาตุเมืองนคร ได้ที่นี่

ติดตามLive สดรายการ “รวมเรื่องเมืองนคร” ได้ทุกวัน พฤหัสษบดี เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น ได้ทางเพจ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช


 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298

ฅนต้นแบบเมืองนคร นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร

            เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็ว คือสิ่งที่ประชาชนต้องการที่จะทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ว่าข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันมาในโลกออนไลน์ บางส่วนก็เป็น Fake new หรือผู้ส่งสารขาดทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถสร้างความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายแก่สังคมได้ เมื่อประชาชนไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ทางนครศรีสเตชั่นมีโอกาสได้พูดคุยกับหมอพ้ง นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ผู้ที่ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ชาวนครผ่านทางโซเชียลมีเดีย สื่อสารในสไตล์ที่เข้าถึงชาวบ้านให้สามารถเข้าใจสถานการณ์โควิด-19 ได้ง่ายขึ้น  มาทำความรู้จักฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้กัน

อีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจของคุณหมอ กับการทำหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม

นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม พื้นเพเป็นคนกรุงเทพมหานคร ในวัยเด็กมีความตั้งใจอยากเป็นหมอ ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ย้ายมาอยู่ภาคใต้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมีโอกาสฝึกงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และได้ไปศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นกลับมาทำงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี  คุณหมอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชที่มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จากวิสัยทัศน์ของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนปัจจุบัน นพ. ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ต้องการให้ รพ. มหาราช พัฒนาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำ ที่เป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเพื่อชาวใต้ ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้วหลายส่วน เช่น แผนกหัวใจและหลอดเลือด การผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจ สามารถทำได้ตลอด 24 ชม. แผนกกระดูกและข้อ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม ผ่ากระดูกสันหลัง ผ่าส่องกล้อง

ด้วยความที่คุณหมอเป็นหมอผ่าตัด จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับคนไข้ค่อนข้างน้อย ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2562  จากการชักชวนของรองผอ. ฝ่ายการแพทย์  พญ. จันทรจิรา ก๋งอุบล คุณหมอมีโอกาสได้เข้ามาดูแลในส่วนของการร้องเรียนระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย กับบุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนงานหัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา คุณหมอเห็นว่าประเด็นหลักที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งนั้นเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน คุณหมอจึงได้ไปอบรมเพิ่มเติมทางด้านนี้ และอยากที่จะสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีในสายตาคนคอน ให้ชาวนครรักโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันก็อยากให้บุคลากรรู้สึกผูกพันธ์กับรพ. เช่นกัน

แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสุขภาพมากที่สุด จากสื่อที่มี เช่น แผ่นพับ วิทยุ ช่องทีวีท้องถิ่น คุณหมอคิดว่ามีกระบวนการจัดการค่อนข้างช้า เลยอยากใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Live Facebook  ผ่านทางเพจ สุขศึกษา ร.พ.มหาราช เมืองคอน ในช่วงแรกเน้นการนำเสนอประเด็นง่ายๆ เกี่ยวกับสุขภาพ  ปัจจุบันเน้นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สื่อสารในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ในสไตล์สบายๆ เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน

นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่เข้มข้น ในสไตล์ที่ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย เข้าถึงผู้ชมมากขึ้น

            รูปแบบการ Live ของคุณหมอเปลี่ยนไปตั้งแต่มีการแพร่ระบาด เพราะประชาชนตื่นตระหนก มีความสับสนในข้อมูลที่ได้รับ ไม่รู้ว่าอันไหนข้อมูลจริง สำหรับทางการแพทย์ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดก็จะเน้นที่การป้องกันเป็นหลัก จากที่คุณหมอได้ฟังข้อมูลมาก็พบว่า มีบางจุดของการนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ นั่นคือ คำศัพท์ที่ยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ คุณหมอเลยอยากที่จะเป็นตัวกลางในการนำคำพูดของอาจารย์หมอท่านอื่นๆ มาปรับให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เพื่อรู้เท่าทันโควิด-19

งานนี้เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคุณหมอไปโดยปริยาย แฟนเพจจึงกลายเป็นเหมือนเพื่อน อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคุณหมอที่ทำให้คนจดจำได้คือ เลือกใส่เสื้อผ้าตามสีของวัน มีคอนเซ็ปท์จากแนวคิดที่ว่า ผู้สูงวัยนิยมส่งสวัสดีทักทายกันในแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งคุณหมอได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นวิธีการป้องกันอัลไซเมอร์ที่ดีอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นสไตล์การสื่อสารของคุณหมอ แม้กำลังอ่านตัวอักษรอยู่ก็ตาม เราได้ถอดคลิปบางส่วนจากการไลฟ์ของคุณหมอมาฝากกัน

            “ไวรัสสายพันธุ์นี้มีมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น มนุษย์พยายามคิดค้นวัคซีน ตามที่เห็นก็มีหลากหลายยี่ห้อ ทางฝั่งของโควิดก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน ยังคงพัฒนาสายพันธุ์ มีการกลายพันธุ์ อย่างต่อเนื่อง และแน่นอนในตอนนี้ถ้าใครตามข่าวสาร ในประเทศไทยเองก็มีเกือบจะครบทุกสายพันธุ์แล้วครับ แต่ที่แน่ๆ การพัฒนาของไวรัสตามมาด้วยการแพร่เชื้อที่เร็วขึ้น อาการรุนแรงขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตมีมากขึ้น มาตรการการป้องกันที่ทุกคนปฏิบัติกันมา ต้องทำกันต่อไป อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์ป้องกัน หมั่นล้างมือ และรีบลงชื่อจองคิวฉีดวัคซีนกันนะครับ”

เรื่องสำคัญที่คุณหมออยากจะฝากถึงพี่น้องชาวนคร

มาดูในฝั่งของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดนครศรีธรรมราชกันบ้าง ในช่วงนี้ยังวางใจไม่ได้ ถ้าดูจากตัวเลขสถิติในภาพรวมของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม แน่นอนว่าในจำนวนนั้นอาจมีบางส่วนเดินทางกลับนครศรีธรรมราช ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีคำสั่งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจดูตามบ้านเรือนประชาชนในแต่ละพื้นที่

เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดเข้าสู่ระบบกักตัวอย่างถูกต้อง แต่ก็อาจมีบางส่วนที่ไม่หลุดรอดได้ จากตัวเลขจะเห็นว่าทิศทางของจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของวัคซีนก็ดำเนินการได้ช้ากว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประชาชนจึงต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม งดการเดินทางที่ไม่จะจำเป็น ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แม้ว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยนี้อย่างเคร่งครัด

แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนงานหลายอย่างที่คุณหมอได้วางแผนไว้ อย่างคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะเชิญคุณหมอ คุณพยาบาล ทีมงานที่ทำงานและเชี่ยวชาญด้านโรคนั้นๆ โดยตรง  มาร่วมกันไลฟ์ผ่านทางเพจเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนก็ต้องระงับไว้ก่อนชั่วคราว ในส่วนของทางรพ.มหาราชเอง ก็มีการพยายามที่จะพัฒนาแบบก้าวกระโดด เพื่อที่จะสามารถรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด อยากที่จะเป็นที่พึ่งของชาวใต้ทุกคน โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ให้สามารถเดินทางมารักษาได้อย่างสะดวก และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลายอย่าง

ไม่ว่าจะบทบาทไหนคุณหมอก็ทำอย่างเต็มที่ สำหรับบทบาทที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ คุณหมอเลือกใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย สามารถวิเคราะห์กลุ่มผู้ฟังได้ว่าเป็นกลุ่มใด ข้อมูลที่นำเสนอน่าจะประมาณไหน มีการปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวให้กลมกลืนไปกับผู้ฟัง เป็นการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารอย่างที่ประชาชนต้องการในภาวะวิกฤตเช่นนี้   

ดูคลิปย้อนหลังรายการ “ฅนต้นแบบเมืองนคร” ตอน นพ. ปรานปวีณ์ โรจน์เจริญงาม นักสู้โควิดชุดกราวน์ ขวัญใจชาวนคร ได้ที่นี่

ติดตามรายการ “คนต้นแบบเมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์เวลา ๑๙.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ทางเพจ Nakhonsi Station ที่นี่นครศรีธรรมราช