เรามักมองว่าการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลอง ณ สถานที่ใดในปากใต้ หรือโครงเรื่องทำนองที่ทรัพย์สมบัติเหล่าหนึ่งหมายมาสมทบทำพระธาตุแต่การเสร็จลงเสียก่อน จึงทำอนุสรณ์สถานไว้ตรงนั้นตรงนี้ เป็นสัญลักษณ์แสดงเครือข่ายความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
นั่นก็จริง แต่มีข้อสังเกตบางประการที่ควรมองเพิ่มคือ เจดียสถานเหล่านั้น ไม่ได้มีอายุร่วมสมัยกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร แต่มักจะถูกสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เรื่อยมาจนปัจจุบันก็ยังเห็นมี.ในระยะเวลาตั้งแต่ขอบล่างดังกล่าว เป็นช่วงเดียวกันกับที่อำนาจจากรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เดิมมีแต่เพียงในนาม พยายามเข้าแทรกแซงและมีอิทธิพลเหนือเมืองนครศรีธรรมราชภายหลังการประกาศตนเป็น “เมืองสิบสองนักษัตร” ปกครองเมืองน้อยใหญ่รายรอบได้เบ็ดเสร็จ
เมื่อพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเครื่องมือสำคัญของการผนึกความรู้สึกของผู้คนให้เป็นปึกแผ่น การจะควบคุมศูนย์กลางได้สำเร็จ จึงต้องมุ่งไปที่การสลายผนึกนั้นลงอย่างแยบคายและอาศัยจังหวะที่เหมาะสม
การสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลองและตำนานอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวโยงกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครที่แพร่หลายในคาบสมุทรนี้ อีกมุมหนึ่งจึงอาจเป็นวิธีการตามนโยบายแยกแล้วปกครอง ที่กรุงศรีอยุธยาใช้ในการถ่ายโอนอำนาจจากเมืองใหญ่มาสู่ราชสำนัก
โดยจังหวะที่อาศัยนั้น น่าเชื่อว่าเป็นระลอกของการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์แต่ละคราว อย่างครั้งเก่าสุดที่พบจารึกศักราชบนแผ่นทองคำหุ้มปลียอด ตกในพุทธศักราช ๒๑๕๕ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในแผ่นดินเดียวกันนี้ มาคู่ขนานกับเหตุการณ์การพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาที่ภูมิทานเลณฑุบาตถวายข้าพระโยมสงฆ์เมืองพัทลุง
การกัลปนาครั้งนั้น ถือเป็นการกัลปนาวัดในหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งใหญ่ ที่ได้รวมเอาวัดทั้งหมดตั้งแต่หัวเขาแดงเรื่อยไปตามสันทรายจนถึงเขาพังไกรขึ้นกับวัดหลวง
ศาสนาและการเมืองจึงเป็นเครื่องมือให้แก่กัน เมื่อศาสนามีคุณวิเศษในการรวบรวมศรัทธา ผู้ปกครองที่ต้องการสิ่งเดียวกันนี้หรือประสงค์จะแยกออกจากศูนย์รวมในจุดใด ก็จำเป็นต้องผลิตซ้ำแล้วอาศัยความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดศูนย์รวมศรัทธาในที่แห่งใหม่ โดยผู้คนแทบจะไม่รู้สึกแปลกแยกออกจากฐานคิดเดิมของตนฯ