ห้ามคนนครทูนของด้วยศีรษะ

การทูนสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ทั้งหลาย นับเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของพ่อค้าแม่ค้าสมัยก่อน บางคนเชี่ยวชาญถึงขั้นปล่อยมือสองข้างออกจากภาชนะบนศีรษะแล้วเดินเฉิดฉายยิ่งกว่านางแบบเพิ่งหัดประกวด

แต่อัตลักษณ์ของการทูนสิ่งของกลับถูกห้ามในเมืองนครศรีธรรมราช ดังข้อความที่ปรากฏอยู่ในรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ระบุว่า

“…ประการที่ 2 การที่นำสิ่งของไปมาค้าขายไม่เลือกว่าของชนิดใดใช้ทูนด้วยศีรษะทุกอย่าง ที่สุดจนถึงตะกร้ากุ้งสดปลาสดก็ทูนบนศีรษะ ในเวลาเมื่อทูนของเช่นนี้ไป น้ำคาวกุ้งปลาไหลนองลงมาบนศีรษะบ้างตามตัวบ้าง…จะหวีผมให้เรียบร้อยดีก็ไม่อยู่ได้ก็ประเดี๋ยว แต่พอนำของขึ้นทูน ผมก็หลบหลู้ไปเสียหมด…ข้าพระพุทธเจ้า (เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) – ผู้เขียน) จึงได้ชักนำหมู่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้แต่งตัวนุ่งห่มให้เรียบร้อย ในเวลาเมื่อมาทำการในออฟฟิศ

และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกคำสั่ง ห้ามมิให้ราษฎรใช้ทูนสิ่งของด้วยศีรษะ ในเวลาเมื่อผ่านเข้ามาในบริเวณกลางเมือง และให้ใช้หาบหามแทนทูนด้วยศีรษะ เวลาที่ห้ามใหม่ ๆ ก็ปนอยู่บ้าง ครั้นมาภายหลังกลับนิยมเห็นว่า หาบดีกว่าทูน เพราะได้สองตะกร้า”

หากวิเคราะห์จากสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ซึ่งนำโดยชาติตะวันตก

การพระราชทานพระบรมราชานุญาต ห้ามมิให้ราษฎรใช้ทูนสิ่งของด้วยศีรษะ ในมณฑลนครศรีธรรมราช (หรือพื้นที่อื่น ๆ ในสยาม) นับเป็นวิธีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยอีกหนทางหนึ่ง เพราะการทูนสิ่งของบนศีรษะที่เปื้อนสกปรกเหม็นคาวทั้งเรือนร่างของผู้ทูนสิ่งของเองก็ดี ผู้สัญจรรอบข้างก็ดี หรือทรัพย์สมบัติสาธารณะก็ดี ย่อมส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาผู้เจริญแล้ว และย้อนแย้งกับความเป็นอารยชนคนไทยผู้มีความศิวิไลซ์

ถึงกระนั้นวัฒนธรรมการทูนสิ่งของของคนนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้จางหายไปจากความทรงจำมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันเรายังคงเห็นพ่อค้าแม่ค้าหรือชาวบ้านบางส่วนนำสิ่งของขึ้นทูนบนศีรษะเดินไปมาปะปนกับผู้หาบเร่แผงลอย รอคอยลูกค้าอยู่ริมถนนท่ามกลางความเจริญของบ้านเมืองในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21

___

ภาพปก : ขอบพระคุณภาพจาก www.gotonakhon.com