ถ่านลาน : วิธีแห่งคนสู้ชีวิต อาชีพท้องถิ่นอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

“เรียนจบกลับไปทำงาน ขุดดินเผาถ่าน อยู่เมืองกาญจน์บ้านเรา… บอกกล่าวให้เขารู้กัน อาชีพผมนั้น ทุกวันเผาถ่าน…” นี่คือเนื้อเพลงคนเผาถ่าน ต้นฉบับขับร้องโดยมนต์รัก ขวัญโพธิ์ไทย ที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินและได้ฟัง สะท้อนให้เห็นถึงอาชีพเผาถ่านของผู้คนเมืองกาญจนบุรี และในพื้นที่อื่น ๆ ของสังคมไทย อันเป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม

เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการใช้ไฟในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การนำไม้หรือเศษวัสดุมาเป็นเชื้อเพลิงจึงได้รับความนิยม แต่ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายพันปี มนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการทางความคิดในการกักเก็บความร้อนและลดปัญหาเขม่าควันดำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเศษไม้ จึงคิดค้นกรรมวิธีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งออกมาในรูปแบบของถ่านที่ผู้อ่านหลายท่านเคยใช้ในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นถ่านเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร ดูดซับคลอรีน ฟอกอากาศ และปรับสภาพดิน เป็นต้น ฉะนั้นวันนี้ผู้เขียนจึงขอนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับอาชีพเผาถ่านลานแห่งอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชกัน

แต่เอ๊ะ ! ถ่านลาน คืออะไร ? ถ่านลาน คือ กรรมวิธีการเผาถ่านรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ใช้เตาในการเผา มีเพียงพื้นที่ลาน

ขั้นตอนที่ 1 จัดเตรียมพื้นที่ให้มีลักษณะโล่งเตียน (ขนาดตามความต้องการ)

ขั้นตอนที่ 2 จัดเตรียมไม้สำหรับการเผา ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาใช้มี 2 ประเภท คือ หัวไม้(เบญจพรรณ) ราคาถูก และไม้ปลีก (ไม้ยางพารา) จากโรงงานแถบบ้านทานพอ ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง และบ้านหนองดี ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อได้ไม้มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็นำมาจัดเรียงทับซ้อนกัน ขนาดกว้างคูณยาวตามต้องการ

แต่สำหรับพื้นไม้แถวด้านล่างสุด ต้องนำเศษไม้มารองรับให้ห่างจากพื้นดิน เพื่อเพิ่มช่องระบายอากาศ

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อจัดเรียงไม้ทับซ้อนกันเสร็จ ให้นำทางมะพร้าวหรือทางปาล์ม มาทับด้านบน จากนั้นนำขี้เลื่อย และขี้เถ้ามากลบรอบกองฟืนที่เตรียมไว้ตามลำดับ โดยระหว่างที่กลบนั้นต้องนำแผ่นไม้มากั้นทั้งสี่ด้าน และต้องคอยอัดเศษขี้เลื่อยขี้เถาลงไป เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟมายังผนังไม้กั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา

ขั้นตอนที่ 4 เจาะขี้เลื่อยขี้เถาที่กลบไว้ด้านใดด้านหนึ่งให้มีขนาดประมาณ 30 x 30 (หรือมากน้อยกว่านี้ตามความเหมาะสม) จากนั้นนำยางมาจุดเป็นเชื้อนำไฟ ก่อนจะกลบขี้เลื่อยขี้เถาลงไป พร้อมทั้งเจาะช่องระบายอากาศไว้ด้านล่าง และรอเวลาให้ไฟค่อย ๆ ลุกลามไปทั่วทั้งกองฟืน

ขั้นตอนที่ 5 ระหว่างที่ไฟค่อย ๆ ลุกลาม คนทำแต่ละคนต้องหมั่นตรวจสอบสีของควันอยู่เสมอ หากควันสีขาวหมายความว่า ปกติ แต่หากควันสีเขียว (หรือสีเหลือง) เมื่อไหร่จำต้องเร่งนำขี้เถาไปกลบและฉีดน้ำด้านบนให้ชื้น เพื่อลดความร้อนภายในอันจะส่งผลให้ถ่านแหลกกลายเป็นผุยผง

จะรู้ได้อย่างไรว่ากองฟืนด้านในถูกเผาไหม้กลายเป็นถ่านตามที่ต้องการ ?

ให้สังเกตจากการยุบของกองถ่านด้านบน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเป็นอย่างมาก

ขั้นตอนที่ 6 เมื่อไฟลุกลามไปทั่วทั้งกองฟืนและปราศจากควันไฟ นั่นแสดงให้เห็นว่าไม้ด้านล่างกลายเป็นถ่านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คนทำต้องนำสายยางอัดลงไปจากด้านบนสู่ด้านล่าง เพื่อฉีดน้ำดับความร้อน จากนั้นพักไว้ประมาณ 1-2 วัน ก็ให้ยกเครื่องร่อนมาตั้งไว้ใกล้ ๆ โดยในอดีตใช้วิธีการร่อนแบบเดียวกับการร่อนแร่ แต่ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นเครื่องร่อนถ่านขึ้นมา เพื่อประหยัดเวลาและใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงได้ดีทีเดียว

เครื่องร่อนถ่านมีขนาดยาวประมาณ 3.60 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีความลาดชันเล็กน้อย เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายถ่านลงไปสู่ตะกร้า โดยชั้นบนสุดจะมีขนาดของช่องตาข่าย ประมาณ 2.5 ซ.ม. x 1.3 ซ.ม. ส่วนชั้นที่สองจะมีขนาดของช่องตาข่าย ประมาณ 0.5 ซ.ม. x 0.5 ซ.ม.

ขั้นตอนการร่อน เริ่มต้นจากการเปิดเครื่อง ซึ่งใช้ระบบกลไกมอเตอร์อย่างง่าย จากนั้นนำถ่านมาเทไว้ด้านบนของ เครื่องร่อนเพื่อทำการแยกขนาดของถ่าน ซึ่งถ่านที่มีขนาดใหญ่จะตกตะกอนอยู่ด้านบน ส่วนผงถ่านที่มีขนาดเล็กจะตกลงมาสู่ด้านล่าง

โดยขนาดของถ่านที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ คือ ถ่านชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งจะไหลลงมาสู่ตะกร้าด้านล่าง

ส่วนเศษถ่านชั้นล่างสุด สามารถนำมาจำหน่ายได้เช่นกันแต่ราคาจะถูกมาก รวมทั้งยังใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาถ่านลานครั้งต่อไปได้อีกด้วย

หากรวมระยะเวลาตั้งแต่การจัดเตรียมไม้จนกระทั่งถึงกระบวนการร่อนถ่าน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้การเผาถ่านลานจำเป็นต้องใช้ระบบหมุนเวียน กล่าวคือ ต้องทำมากกว่าหนึ่งกองฟืน จึงจะทำให้ประหยัดเวลาและคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของแรงงาน ปริมาณของไม้ และสภาพดินฟ้าอากาศ

เนื่องจากอาชีพเผาถ่านลานต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเฝ้าคอยดูแล หากเร่งความร้อนมากจนเกินไปจะทำให้ถ่านกลายเป็นผงละเอียดจำหน่ายไม่ได้ราคา แต่หากเร่งรีบเสียก่อนก็จะทำให้การเผาไหม้ไม่เต็มร้อย ก่อให้เกิดการขาดทุน คนทำงานเผาถ่านลานจึงต้องทนอดหลับอดนอนในยามค่ำคืนเพื่อตรวจตราดูควันไฟ และต้องทนแดดแผดเผาในยามกลางวัน ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่ย่ำแย่ ต้นทุนสูง โดยเฉพาะไม้มีราคาแพง แต่ราคาถ่านปรับขึ้นได้เพียงอัตราร้อยละ 6.5

ซึ่งราคาถ่านจะคิดเป็นกระสอบ ๆ ละ 320 บาท (บางแห่งราคาสูงถึง 400 บาท) ส่วนเศษผงถ่านจะอยู่ที่กระสอบละ 60 บาท โดยจะมีบริษัทจากกรุงเทพฯ ประมาณ 3-4 บริษัทมารับผลผลิตอยู่เสมอ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 กระสอบต่อสัปดาห์

ค่าจ้างของลูกน้อง ขึ้นอยู่กับการทำงาน และได้รับค่าตอบแทนในอัตรากระสอบละ 60 บาท (หากทำคนเดียวตั้งแต่จัดเตรียมและร่อนถ่าน) หากมีความขยันขันแข็งก็สามารถเผาถ่านได้หลายกระสอบต่อสัปดาห์

ดังนั้นหากคำนวณความคุ้มค่าของการลงทุนของนายจ้างและการลงแรงของลูกจ้าง ก็ถือว่าอยู่ในระดับ “พอเลี้ยงชีพ” ไม่ขาดทุนหรือได้กำไรมากนัก แม้จะเป็นอาชีพที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงหลายประการ และพบเห็นได้ยากในสังคมปัจจุบัน แต่อย่างน้อยก็เป็นอาชีพหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และยังคงมองเห็นถึงความสุขใจจากรอยยิ้มของคนทำงานเผาถ่านลานอยู่เสมอ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณพี่มร ลุงคม และพี่ ๆ คนเผาถ่านลานทุกคนสำหรับข้อมูลและน้ำใจที่มีให้แก่กัน ขอขอบพระคุณด้วยใจสัตย์จริงครับ !