หนังตะลุง ศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย ที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นภาคใต้แต่ละยุคสมัย เมื่อเวลาผ่านไปน้อยคนนักที่รู้จักและมีโอกาสได้ชมศิลปะพื้นบ้านนี้ อย่างการแกะรูปหนังตะลุงต้องอาศัยช่างฝีมือผู้มีความชำนาญ ส่วนการแสดงหนังตะลุงไม่ใช่ฝึกกันได้ง่ายๆ และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายคนหลายองค์ประกอบ เช่นเดียวกับแขกรับเชิญฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจวัฒนธรรมพื้นบ้าน เริ่มจากความชื่นชอบสู่ความตั้งใจในการสืบสานหนังตะลุงให้เป็นที่รู้จัก คุณพงศธร ส้มแป้น เยาวชนดีเด่นแห่งชาติสาขาศิลปวัฒนธรรม
ความชื่นชอบ พรสวรรค์ และแรงบันดาลใจ
คุณพงศธร เล่าว่า จากคำบอกเล่าของคุณแม่นั้นคุณพงศธรชื่นชอบหนังตะลุงตั้งแต่วัยเด็ก ช่วงวัยประถมมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหารนครศรีธรรมราชกับทางโรงเรียน ได้นำเงินค่าขนมทั้งหมดที่คุณแม่ให้ไปซื้อหนังตะลุง ส่วนตัวชอบฟังรายการแสดงหนังตะลุงทางสถานีวิทยุที่ออกอากาศทุกวัน โดยที่คุณพ่อมักจะวาดหนังตะลุงลงบนกระดาษให้คุณพงศธรเล่น เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบหนังตะลุงอย่างจริงจัง จึงเริ่มติดตามการแสดงอยู่เรื่อยๆ ตามโอกาสต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังพากษ์เทปที่บันทึกเสียงการแสดงหนังตะลุง พร้อมกับการเชิดหนังตะลุง การแสดงรูปแบบนี้หาดูได้ง่ายกว่าหนังตะลุงพากย์สดที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่ามาก คุณพงศธรค่อยๆ ซึมซับศิลปะการแสดงหนังตะลุงโดยไม่รู้ตัว ถึงขนาดที่ว่าสามารถแสดงได้โดยที่ไม่เคยดูเทปนั้นมาก่อน
ช่วงอายุประมาณ 11-12 ปี คุณพ่อพาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน (คุณสุชาติ หรือที่รู้จักในนาม “หนังสุชาติ” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง) ในตอนนั้นคุณพ่อได้ฝากฝังคุณพงศธรให้เป็นลูกศิษย์กับหนังอาจารย์สุชาติ เริ่มฝึกฝนกับหนังพากย์เทปมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้รับงานแรกในชีวิตมีญาติเป็นผู้ว่าจ้าง สร้างความตื่นเต้นให้กับคุณพงศธรอย่างมาก จากนั้นได้มีโอกาสแสดงหนังตะลุงตามงานศพ เมื่อคุณพ่อเห็นพรสวรรค์ทางด้านนี้จึงสร้างโรงหนังตะลุงขึ้นเพื่อให้ฝึกฝน เมื่อเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมต้น มีอาจารย์ในโรงเรียนท่านหนึ่งได้เปิดสอนวิชาหนังตะลุง คุณพงศธรจึงไม่พลาดโอกาสนี้ ในช่วงแรกอาจารย์ให้ศึกษาผ่านรูปแบบหนังตะลุงพากย์เทป ระหว่างนั้นคุณพงศธรก็หารายได้พิเศษผ่านการแสดงหนังตะลุงพากย์เทปเช่นกัน
จุดเปลี่ยนในชีวิตกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพื่อยืดหยัดในการแสดงหนังตะลุง
วันหนึ่งคุณพงศธรได้ข่าวว่ามีคณะหนังตะลุงจากพัทลุงมาทำการแสดงแถวละแวกบ้าน จึงได้มีโอกาสทำความรู้จักกับหนังอาจารย์ทวี พรเทพ คำพูดของอาจารย์ที่เชิญชวนให้แวะไปที่บ้าน เหมือนเป็นการจุดไฟในการแสดงหนังตะลุงให้ลุกโชนขึ้น ช่วงปิดเทอมปีนั้นคุณพงศธรตัดสินใจเดินทางไปหาหนังอาจารย์ทวีเพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์และฝึกฝนอย่างจริงจัง ในช่วง 20 วันแรกอาจารย์ให้คุณพงศธรดูการแสดงหนังตะลุงตามงานต่างๆ ของคณะ งานแรกที่ได้แสดงให้กับอาจารย์ทวีคือ งานฉลองเรือพระที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หากช่วงไหนที่ไม่มีงาน อาจารย์ทวีจะพาไปที่ศูนย์การเรียนรู้หอศิลป์หนังตะลุง สถานที่เผยแพร่สืบทอดเรื่องราวเกี่ยวกับหนังตะลุง ก่อตั้งโดยอาจารย์กิตติทัต ศรวงศ์ ครูช่างที่มีความสามารถในการแกะตัวหนังตะลุง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณพงศธรได้ฝึกการแสดงหนังตะลุงอย่างจริงจัง แม้ในช่วงเปิดเทอมก็ได้แบ่งเวลาไปฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
จนมาถึงจุดพลิกผันของชีวิตในวัยประมาณ 15 ปี ทางบ้านไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ ในขณะที่ทางบ้านยื่นขอเสนอให้ช่วยงานที่บ้าน ทางฝั่งของอาจารย์อยากให้ศึกษาต่อแต่ต้องย้ายไปอยู่ที่พัทลุง คุณพงศธรได้ตัดสินใจเดินทางไปพัทลุงโดยที่ไม่ได้บอกทางบ้าน เมื่อไปถึงก็ได้ทำงานกับคณะหนังตะลุงในตำแหน่งลูกคู่หนัง (ทำหน้าที่เล่นดนตรี) เพื่อเก็บเงินเพื่อส่งตัวเองเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุงโดยมีอาจารย์คอยช่วยเหลือจุนเจือ ที่นั่นมีร้านน้ำชาที่บรรดาคณะหนังตะลุงเกือบ 20 คณะจะมานั่งดื่มน้ำชาและพูดคุยกันทุกเช้า ทำให้คุณพงศธรมีโอกาสได้เจอกับคณะที่ตัวเองชื่นชอบ และเริ่มไปเป็นลูกคู่ให้กับคณะอื่นๆ การแสดงหนังตะลุงแบบจริงจังครั้งแรกเกิดขึ้นที่งานสมโภชเจ้าแม่กวนอิม ในตอนแรกคุณพงศธรตั้งใจจะแสดงหนังตะลุงพากย์เทป แต่พอไปถึงทางผู้จัดงานได้เตรียมโรงหนังตะลุงพร้อมเครื่องดนตรีไว้ให้ คุณพงศธรกับเพื่อนที่ไปด้วยกันจึงตัดสินใจทำการแสดงสด นับเป็นก้าวแรกที่สร้างความตื่นเต้นและประทับใจไม่น้อย
ในช่วงที่เรียนวิทยาลัยนาฏศิลปได้เทอมแรก คุณพงศธรตั้งคำถามกับตัวเองว่า หลังจากเรียนจบแล้วจะทำอะไรต่อไป ตอนนั้นมีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูสอนวิชาภาษาไทย ก็มาคิดว่าเมื่อเรียนจบสาขาปี่พาทย์จะสามารถสอนหนังสือได้หรือไม่ จึงตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัยเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนพัทลุงพิทยาคม หลังจากที่มีโอกาสได้ออกโรงแสดงหนังตะลุงแล้ว ต้องผ่านพิธีที่เรียกว่า “ครอบมือหนังตะลุง” เพื่อแสดงการยอมรับนับถือครูหนังแต่ครั้งบุพกาล ถือเป็นการผ่านพิธีโดยสมบูรณ์ หลังจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมได้เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีโอกาสรู้จักและขอฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์จำเนียร คำหวาน นายหนังตะลุงชื่อดังของอำเภอท่าศาลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณพงศธรนั่นเอง
ดูหนังตะลุงอย่างไรให้สนุกและได้ความรู้
หนังตะลุง เป็นการแสดงเรื่องราวผ่านตัวละครหนังตะลุง แต่ละเรื่องจะถ่ายทอดองค์ความรู้ สะท้อนเรื่องราวต่างกันไป มักจะมีคติสอนใจแฝงอยู่ เนื้อเรื่องที่นำมาแสดงหนังตะลุงมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ในยุคก่อนได้รับอิทธิพลจากการแสดงรามเกียรติ์ ยุคต้นมีการนำบทละครมาจากวรรณคดีไทย ยุคกลางนำเค้าโครงวรรณกรรมประเภทบทละครนอก มาประพันธ์ใหม่กลายเป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน ส่วนยุคปลายเป็นการแสดงหนังตะลุงลูกทุ่งมีการผสมผสานตัวละครในชีวิตจริงจึงไม่มีบทยักษ์ปรากฏ
คุณพงศธร เล่าว่า วรรณกรรมหนังตะลุงได้มาจากการแสดงของอาจารย์หลายท่านที่ตัวเองนับถือ ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้เพื่อเป็นการสืบทอดผลงานของอาจารย์ แต่ก็มีบางส่วนที่เกิดจากการผสมผสานเรื่องราวที่ชอบแทรกเข้ามา เช่น การแสดงบางตอนของคณะที่ชื่นชอบ เค้าโครงวรรณกรรมไทย รวมถึงซีรีย์ต่างประเทศ สำหรับตัวละครหนังตะลุง ส่วนตัวคุณพงศธร แบ่งเป็น 5 หมวด คือ
- รูปครู เช่น พระอิศวร ฤาษี เป็นตัวละครศักดิ์สิทธิ์
- รูปยอด เช่น ยักษ์ เจ้าเมือง นางเมือง ขุนผล เป็นตัวละครที่มียศถาบรรดาศักดิ์
- รูปเดิน เช่น พระเอก นางเอก ตัวร้าย เป็นตัวละครที่ใช้ดำเนินเรื่อง
- รูปกาก เช่น ไอ้เท่ง หนูนุ้ย ยอดทอง ตัวละครที่เป็นตัวตลก
- รูปเบ็ดเตล็ด เช่น ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ
การที่จะดูหนังตะลุงให้สนุก ผู้ชมต้องตั้งใจชมการแสดง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากดูเพื่ออะไร เช่น เพื่อความบันเทิง เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของคนสังคม เพราะเนื้อหาที่นำมาแสดงของแต่ละคณะนั้นต่างกัน นายหนังแต่ละคนมีความถนัดและรูปแบบการถ่ายทอดไม่เหมือนกัน
การแสดงหนังตะลุงถูกถ่ายทอดผ่านองค์ความรู้ บริบททางสังคม และประสบการณ์ของบรรพชน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแต่ละยุคสมัย คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก หากมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา ทางเราอยากที่จะเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อสืบสานให้คงอยู่ต่อไป
ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณพงศธร ส้มแป้น ย้อนหลังได้ที่นี่
ชมรายการ Live สด “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่
*****************************************
ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ