คุณ ศุภชัย แกล้วทนงค์  ศิลปะสร้างสรรค์ สร้างบ้านสร้างเมือง ครีเอทีฟนคร ฅนต้นแบบเมืองนคร

ความคิดสร้างสรรค์แทรกอยู่ในทุกมิติของวิถีชีวิต เห็นได้ชัดจากศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ในขณะที่ช่องว่างระหว่างปัจจุบันกับอดีตห่างกันมากขึ้น นับเป็นเรื่องดีที่มีผู้ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงความทันสมัยและความดั้งเดิมไว้ด้วยกันผ่านศิลปะสร้างสรรค์ อย่างที่ฅนต้นแบบเมืองนครศิลปินชาวใต้ท่านนี้ ได้นำเอาความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ และกระบวนการคิด มาผสานกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างชีวิตชีวาให้กับวงการศิลปะและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของเมืองนครศรีธรรมราช คุณ ศุภชัย แกล้วทนงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มครีเอทีฟนคร

ความชื่นชอบเกี่ยวกับศิลปะ และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต

คุณศุภชัย เกิดที่อำเภอเชียรใหญ่ ชื่นชอบศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก ชอบวาดรูป และทำงานประดิษฐ์ต่างๆ เมื่อจบระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นี่ทำให้คุณศุภชัยได้เรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานออกแบบ ในชั้นปีที่ 3 ที่ได้เรียนวิชาออกแบบยานยนต์ ก็ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกอาชีพหลังจากเรียนจบ

หลังจากที่ทำงานในสายงานนี้มาระยะหนึ่งก็อยากทำให้ถึงที่สุด ความคิดของคุณศุภชัยในตอนนั้นมองว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่เป็นต้นแบบหรือผู้นำด้านการออกแบบยานยนต์ จึงอยากที่จะเปลี่ยนมาทำงานเชิงสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นคือ การออกแบบงานหัตถกรรม คุณศุภชัยได้ไปเดินงานแสดงสินค้าหัตถกรรมที่จัดขึ้น จนไปเจอกับผลงานการออกแบบหัตถกรรมโดยบริษัทคนไทยที่โดนใจอย่างมาก เกิดเป็นแรงบันดาลใจบางอย่าง หากจะเป็นต้นแบบของงานออกแบบ ก็ต้องเริ่มจากสิ่งที่มีอย่างวัสดุท้องถิ่น งานหัตถกรรมพื้นบ้าน แล้วใส่งานดีไซน์เข้าไป การเปลี่ยนสายงานครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตก็ว่าได้

จากนั้นคุณศุภชัยได้ทำงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ของใช้ในโรงแรมให้กับ Banyan Tree Gallery ในเครือโรงแรม Banyan Tree ซึ่งมีสาขาอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 10 ปีครึ่ง การที่ได้มีโอกาสทำงานออกแบบหัตถกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในชุมชนและท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้านเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างมาก ได้เรียนรู้งานผ้าทอ งานไม้ และงานเซรามิก วิธีการประสานงานกับชุมชน ผลงานที่ออกมาจึงเป็นลูกผสมระหว่างความเป็นไทยและสากล

เมื่อนักออกแบบอิสระทำงานร่วมกับชุมชน

หลังจากที่ลาออกจากงาน คุณศุภชัยก็ได้ย้ายกลับมาอยู่นครศรีธรรมราช เหตุผลเพราะ อยากให้ลูกเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายของสังคมเมืองใหญ่ อยากมีเวลาดูแลคุณพ่อคุณแม่ให้มากกว่าเดิม อิ่มตัวกับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง และอยากใช้ความรู้และประสบการณ์มาทำงานร่วมกับชุมชน คุณศุภชัยมองว่า นครศรีธรรมราชมีต้นทุนทางทรัพยากร งานหัตถกรรม และวัฒนธรรมที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ ช่วงแรกที่กลับมาอยู่บ้านได้ผันตัวเองมาเป็นนักออกแบบอิสระ ได้เข้าอบรมโครงการอัตลักษณ์สร้างสรรค์ จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียนรู้การทำหัตถกรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะของนครศรีธรรมราช ทำให้มีโอกาสได้เจอกับช่างทำกรงนก โจทย์ของโครงการคือ นักออกแบบต้องจับคู่กับผู้ประกอบการท้องถิ่น แล้วสร้างสรรค์ผลงานโดยการสื่ออัตลักษณ์ท้องถิ่นลงไปในชิ้นงานนั้น จึงออกแบบกรงนกซึ่งต่อยอดจากทรงเทริดมโนราห์

ในปี 2015 ได้เข้าร่วมการประกวด Innovative Craft Award จัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในโจทย์แรงบันดาลใจจากมรดกภูมิปัญญา ใช้เทคนิคดั้งเดิมในการทำกรงนกมาออกแบบโคมไฟโดยเลียนแบบรูปทรงของ “ลูกจาก” พื้นท้องถิ่นภาคใต้ ผลงานที่สร้างสรรค์โดยคุณศุภชัยในครั้งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจนกลายเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงโด่งดัง ทำให้คนอื่นๆ เริ่มหันมามองการพัฒนางานวัสดุจากธรรมชาติในการนำมาสร้างสรรค์งานสินค้าใหม่ จากนั้นคุณศุภชัยได้จดทะเบียนบริษัทและนำผลงานร่วมสมัยจากการประกวด ซึ่งอาศัยทักษะฝีมือของช่างทำกรงนกในท้องถิ่นมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ตลอดระยะเวลา 6 ปี ชิ้นงานมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จุดเริ่มต้นจากกรงนก เป็นโคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ ต่อยอดเป็นงานตกแต่งทั้งชิ้นเล็กและใหญ่ หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนมาสักระยะ ทำให้เห็นว่าการทำงานของนักออกแบบโดยใช้วัสดุจากชุมชนสามารถตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจได้จริง

การรวมกลุ่มครีเอทีฟนคร ผ่านงานศิลปะสร้างสรรค์ สร้างบ้านสร้างเมือง

กลุ่มครีเอทีฟนครเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขา ก่อนหน้านี้ทางคุณศุภชัยเองก็ต้องการค้นหาว่าที่นครศรีธรรมราชมีใครบ้างที่ทำงานด้านนี้ แค่รวมกลุ่มกันเฉยๆ คงไม่ตอบโจทย์ จำเป็นจะต้องมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มนักสร้างสรรค์เมืองนคร เดิมทีความคิดแรกอยากที่จะทำ Art Map เพื่อปักหมุดแกลอรี่ สตูดิโองานออกแบบ แต่พอมาคุยกันอีกทีก็อยากให้สมาชิกมีส่วนร่วมด้วยกัน จึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ นิทรรศการศิลปะจัดวาง กิจกรรมเวิร์คช้อป โดยใช้งานสร้างสรรค์เป็นตัวนำ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานสถาปัตยกรรม งานศิลปะ หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น นักจัดดอกไม้  นักเขียน Food Stylist สัญลักษณ์ของกลุ่มครีเอทีฟนครมีนัยยะที่ซ่อนอยู่ รูปแผนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชสื่อให้เห็นอัตลักษณ์ของเมืองนคร ซึ่ง CREATIVE NAKHON  เป็นการสร้าง CREATIVE SPACE ขึ้นมา และสัญลักษณ์ก็ดูคล้ายกับการยิงปืน (Shooting) ที่สื่อความหมายถึงการพุ่งไปสู่เป้าหมายนั่นเอง

ทางกลุ่มจัดงานครั้งแรกที่ “ปารีทัส อาร์ต คลับ (Paretas Art Club)” อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย 13 ศิลปิน ปีที่ 2 จัดที่ อำเภอพรหมคีรี “สีดิน สตูดิโอ (See-Din Studio)” ภายใต้คอนเซ็ปท์ The Fruits Story สื่อให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของเมืองนคร ในปีที่ 3 ทางกลุ่มครีเอทีฟนครได้รับเชิญจากทางสถาปนิกทักษิณให้ร่วมงาน “อาษา มา-หา นคร (Asa ma-ha nakhon)”  งานนิทรรศการทางสถาปัตยกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองนคร ภายใต้ธีม “ค้นหาคุณค่าของเมืองนคร”  ในแต่ละปีทางกลุ่มครีเอทีฟนครจะคัดเลือกพื้นที่ในการจัดงาน

ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่อยากจะให้สถานที่ในชุมชนถูกพัฒนาไปในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 4  ในปี 2021 นับเป็นความโชคดีตรงที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีโครงการ “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District)” โครงการยกระดับย่านสำคัญต่างๆ โดยใช้ศิลปะเข้ามาผสานไปกับวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งย่านเหล่านี้มีร่องรอยประวัติศาสตร์เป็นต้นทุนอยู่แล้ว นครศรีธรรมราช ย่านท่ามอญ และท่าวัง ก็เป็นหนึ่งในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำร่อง 15 จังหวัด เตรียมจัดกิจกรรมเทศกาลงานสร้างสรรค์ ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 4 ภายใต้ธีม RE-SET  คิดใหม่ ในย่านเก่า ในรูปแบบที่ให้ผู้เข้าชมได้มีประสบการณ์ร่วมกับพื้นที่

แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องหันกลับมาทบทวน เตรียมพร้อมที่จะก้าวเดินไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ อีกส่วนหนึ่งคือ การมองเห็นคุณค่าของสิ่งดั้งเดิมที่มีอยู่ นำมาจัดระเบียบใหม่ นำเสนอใหม่ เกิดการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ความคาดหวังของกลุ่มครีเอทีฟนคร คือ อยากเห็นร้านค้าเพิ่มขึ้น ชุมชนมีชีวิตชีวามากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น กลายเป็นย่านท่องเที่ยวใหม่ในนครศรีธรรมราช

แรงบันดาลใจใหม่ๆ จากสิ่งที่มีในชุมชน ผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ พัฒนาต่อยอดผลักดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ระดับสากล สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ผู้คนในท้องถิ่น เป็นการออกแบบชีวิตที่สมดุล ชีวิตที่มีความสุข การรวมกลุ่มของนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ในพื้นที่ จึงไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเท่านั้น เป็นการสร้างและส่งต่อแรงบันดาลให้แก่คนในชุมชนเช่นกัน

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ คุณ ศุภชัย แกล้วทนงค์  ย้อนหลังได้ที่นี่

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ