PEA​ บรรเทาภาระค่าไฟฟ้า​ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมผู้มีบัตรฯ ให้สามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (1 ครัวเรือนใช้ได้เพียง 1 สิทธิ) กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมดและหากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่มีบัตรฯ และประสงค์จะขอรับสิทธิ สามารถลงทะเบียน ขอรับสิทธิได้ที่ สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA Shop PEA Mobile Shop Application PEA Smart Plus และ www.pea.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง (ผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนอีก)

ข่าว : กองสื่อสารองค์กร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สังเกตไหม ? ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช น้ำไม่เคยท่วมถึง

สังเกตไหม ?

ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

น้ำไม่เคยท่วมถึง

 

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต
.
เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์
.
แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล
.
ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”
.
บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?
.
น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง
.
สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
.
พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้
.
มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน
.
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต
.
ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”
.

น้ำท่วมนครศรีธรรมราช

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลงฯ